“คล้ายฝัน” คอลัมน์ ความหลังครั้งยุวชนสยาม #๖

ความหลังครั้งยุวชนสยาม

คอลัมน์ ความหลังครั้งยุวชนสยาม #๖

ตอน “คล้ายฝัน”

เขียนโดย ประชา หุตานุวัตร

เขียนเสร็จเมื่อปลายเหมันต์ ปี ๒๕๔๘ แก้เกลาใหม่ ตุลาคม ๒๕๕๘

กระท่อมน้อยในทุ่งฝัน ชุมชนฟินด์ฮอน สก๊อตแลนด์

 

 

ผมจำเรื่องราวที่ทำค่ายจริงๆได้น้อยมาก รู้แต่ว่าเป็นช่วงที่ความรู้สึกเข้มข้นมาก มองย้อนไปคล้ายเป็นความฝันเสียมากกว่าความจริง คงเป็นลักษณะจมอยู่ในเหตุการณ์อย่างหมกมุ่นจนไม่ได้มีมุมมองของคนนอกเลย ถ้าจะให้ชัดขึ้นคงต้องอาศัยความจำของคนอื่นด้วย

เท่าที่จำได้ พอสอบเสร็จ เราก็แบ่งกันเป็นสองทีมใหญ่ๆ ทีมหนึ่งมนัสเรียกทัพหน้า ไปเตรียมค่ายที่สามโคก เพื่อรับพวกเราสามสิบกว่าคนที่จะมาอยู่ค่ายประมาณ ๒๐ วัน อีกคณะเรียกว่าทัพหลวง เตรียมเสบียงและอุปกรณ์ต่างๆและรับคนส่วนใหญ่ตามไป ผมไปกับทัพหน้า มนัสอยู่ทัพหลัง มนัสเคยเป็นโต้โผทำค่ายลูกเสือมาแล้ว จึงคล่องงาน พวกที่อยู่ทัพหน้าก็ทำหน้าที่ขุดส้วม เตรียมที่พักชายหญิง แยกจากกัน เตรียมที่อาบน้ำอาบท่า เตรียมที่ทางสำหรับทำอาหาร เราอาศัยวัดเป็นที่พักและประชุม พระมีไม่มาก รูปหรือสองรูปเท่านั้น ผมเข้าใจว่าตอนนี้มีรุ่นน้องชั้นมศ๔ เข้ามาร่วมจริงจังหลายคนแล้ว คนที่จำได้แม่นที่สุดก็คือประยุทธ  พฤกษางกูร จากเตรียมอุดมฯ ที่ไปเตรียมค่ายด้วยกัน

เนื่องจากค่ายฝึกกำลังคน ไม่เน้นการสร้างวัตถุ ช่วงเช้าของทุกวันจึงมีรายการบรรยาย ระหว่างนี้คนที่อยู่กรุงเทพฯ ก็ติดต่อเชิญวิทยากรให้ไปบรรยายในค่ายด้วย ผมเข้าใจว่าบางคนอาจเชิญไว้ก่อนสอบ บางคนก็มาเชิญช่วงนี้ เพราะได้ไปร่วมสัมมนาที่เชียงใหม่ซึ่งถือว่าเป็นการชุมนุมดาวนักกิจกรรมจากทั่วประเทศ ทำให้เรารู้จักคนสำคัญในขบวนการนักศึกษาเกือบหมด

ฉะนั้นเวลาเชิญวิทยากรมาค่ายจึงได้คนเด็ดๆ มาคุยหลายคน แต่ตอนนั้น อุดมการณ์ของกลุ่มยังไม่ตายตัว เราจึงมีคนมาพูดหลากหลาย ทั้งซ้ายทั้งขวา หรือพวกสายกลางด้วยก็ได้ ที่ผมจำได้ เราเชิญอาจารย์ระวี ภาวิไลมาสอนอานาปนสติ และสอนดูดาวด้วย ผมดูดาวพอเป็นกับเขาบ้างทุกวันนี้ก็ได้มาแต่ตอนนั้น นอกจากนั้นยังเชิญอุทิศ นาคสวัสดิ์มาบรรยายเรื่องดนตรีไทย และแสดงให้เราดูด้วย ในกลุ่มมีแนวโน้มเรื่องต่อต้านตะวันตกด้วย เข้าใจว่าได้อิทธิพลมาจากงานเขียนของท่านอาจารย์พุทธทาส มากกว่าคนอื่น ส.ศิวรักษ์ก็มา แต่จำไม่ได้แล้วว่าพูดเรื่องอะไร ผมรู้สึกว่าเริ่มรู้จักกันจริงๆครั้งแรก ก่อนหน้านั้นเห็นอาจารย์ที่ศึกษิตสยาม แต่ไม่ได้คุยกันมากมายนัก นี่ก็ไม่ได้คุยกันจริงจัง แต่จำได้ว่าพออาจารย์เห็นเราทำตัวแบบชาวบ้านได้ นุ่งกางเกงขาก๊วย ม้วนขาขึ้นมา เพื่อให้ทะมัดทะแมงกับการขุดดิน ดายหญ้า แกก็ทำให้เรารู้ว่าแกชมเรา ไม่ได้พูด แต่ด้วยสายตา

คนอื่นที่ผมจำได้ตอนนี้ก็มีสุเทพ ลักขณาวิเชียร หรือหลวงพี่สุเทพ ในตอนนี้ เป็นคนแรกที่ฟันธงว่าแนวทางอนาคตต้องเป็นสังคมนิยม พี่จรัล ดิษฐาอภิชัยก็รับเชิญมาด้วย พี่พิรุณ ฉัตรวณิชกุลนั้น มาถึงแค่ตัวอำเภอ แล้วไม่เจอกับคนที่ไปรับ เลยกลับไปก่อน ต่อว่าแกในภายหลัง แกจึงเล่าให้ฟัง แต่ตอนนั้นเราไม่ได้หวังแกมาก เพราะแกวางตัวเก๊กๆหน่อย ท่าทางเป็นนักวิชาการความคิดเสรีนิยม คือไม่ฟันธงว่าต้องไปทางไหน คอยปรามๆทางด้านพี่จรัล ที่ไปทางซ้ายชัดเจน แม้เจอกันตอนหลังที่มาเรียนที่จุฬาฯแล้วก็ยังเป็นแบบนี้ ผมจึงแปลกใจที่ตอนผมแยกจากขบวนการฝ่ายซ้ายมาอยู่กลุ่มอหิงสา พี่พิรุณเป็นหนึ่งในคนที่มาเกลี้ยกล่อมพวกเราให้กลับไปอยู่ฝ่ายซ้าย ผมเข้าใจว่าพี่เขาไปเป็นซ้ายจริงๆตอนไปอยู่อเมริกา

กลับมาเรื่องค่าย ตอนทับหลวงมา นั้นทั้งของและคนมากับเรือเอี่ยมจุ้น มนัสยืนหัวเรือมาเลย บรรยากาศฮึกเหิมคึกคักก็ว่าได้ เข้าใจว่าผมรู้สึกอิจฉานิดหน่อยที่มนัสออกจะเด่นๆกว่าคนอื่นอยู่ แต่ตามประสา “คนดี” ผมก็ต้องกดความอิจฉาลงไปสู่จิตใต้สำนึก

แล้วเราก็แบ่งงานกันสามสี่แผนก เท่าที่ผมจำได้ ชีฯเป็นหัวหน้าทำสะพานข้ามคลอง สมพล และศุภมิตร รับเรื่องทำป้ายประกาศให้คนมาเที่ยว ติดไว้ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  สมชัยคนนครฯเป็นหัวหน้านำลอกคูเล็กๆตัดจากแม่น้ำเข้ามาถึงเตาเผาโองโบราณ จำสมชัยได้ดี เพราะเขาพูด “ง” เป็น “ฮ” หมด และศิริวรรณชอบล้อเขาประจำ

ตอนหลังของค่ายศุกมิตรปรารภว่า ตอนขุดคูนี่เราคงทำของเครื่องปั้นดินเผาโบราณฉิบหายไปเยอะ เพราะไม่ได้มีความรู้เรื่อง อนุรักษ์เลย เสียมจอบที่ฟันแทงลงไปตอนลอกคู คงทำให้ของดีๆแตกพังไปไม่น้อย  แม้ตอนนั้นผมไม่อยากยอมรับเลย เพราะมันทำให้โจทย์ยากขึ้น แต่ก็ยังติดใจมาทุกวันนี้ว่าตัวเองต้องเป็นคนรับผิดในเรื่องนี้มากโขอยู่ เพราะไม่ได้มองมุมนี้เลย แต่ตอนนั้นคงไม่ได้เถียงเพื่อน เพราะเพื่อนคนนี้เป็นคนน่าเกรงใจเสมอ วางตัวเป็นผู้ใหญ่ และเป็นหัวหน้าห้องมาตลอด คุ้นเคยกันพอสมควร
อีกแผนกหนึ่งคือทำครัว เข้าใจว่าผลัดกันทำ จำฉากหนึ่งได้ดี เพราะความที่ผมทำครัวเป็นมาแต่บ้าน เพราะต้องช่วยพ่อทำกับข้าวเป็นประจำ พ่อจะสอนกลเม็ดให้บ้าง พอเห็นเพื่อนคำเคอะๆเขินๆ ผมก็ทนไม่ได้ จะเข้าไปทำเอง ศิริวรรณ(ว๊อง)อดรนทนไม่ได้ บอกว่าผมนี่อวดเก่งเกินไปทุกเรื่อง แล้วก็ไล่ผมออกจากครัวไป พอว๊องขึ้นเสียง ผมก็ถอยไปตามระเบียบ

ทั้งหมดนี้มีวิญญู เอี่ยมชีรางกูรเพื่อนที่เรียนห้องเดียววันมาหลายปี เป็นประธานค่าย

นอกจากทำอาหาร ฟังบรรยายและถกเถียงเรื่องความคิดความอ่านกันแล้ว รายการสำคัญอีกรายการหนึ่งคือการวิจารณ์ซึ่งกันและการ ที่ในบทความของโกมล เรียกว่า pure reading ทำไมเรียกอย่างนั้นผมก็ยังไม่เข้าใจ จำได้คร่าวๆว่ามีสมุดเล่มหนึ่งวางไว้บนศาลาวัด ตรงที่พวกเราไปนั่งพักได้ แล้วใครรู้สึกอย่างไรกับเพื่อนร่วมงานก็มาเขียนได้ ตอนนั้นผมเป็นคนเคร่งครัดและเรียกร้องคนอื่นมาก (ตอนนี้เมียก็ยังรู้สึกแบบนั้น) ไม่ค่อยเห็นใจคนที่ไม่เคยทำงานจับจอบจับเสียมจับพร้ามาก่อน คงได้เขียนอะไรว่าใครต่อใครมาก ทำให้มีคนร้องห่มร้องไห้ มีสองคนถึงกับต้องออกจากค่ายไป เพราะการวิจารณ์ของผม คนหนึ่งคือวรุฒ ท่าทางเป็นจิ๊กโก๋ อีกคนเป็นผู้หญิง จำชื่อไม่ได้แล้ว แต่งตัวสมัยใหม่หน่อย อวดร่างกายนิดๆ

ผมคงบ้าเคร่งครัด เพราะตีความงานของท่านอาจารย์พุทธทาสแบบแคบๆ หรือเพราะยึดติดดีมากเกินไป พอเรียกร้องตนเองมาก ก็เรียกร้องคนอื่นมากด้วย เป็นคนดีแบบคับแคบ จนเพื่อนต้องออกจากค่ายไป ต่อมายังเจอหน้าคนหลังอยู่บ่อยๆ เพราะเธอมาเข้ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ เข้าใจว่าถึงช่วงหนึ่งของค่าย คนเกือบทั้งค่ายออกจะเหม็นหน้าผมเอามากๆ แต่ผมคงรู้สึก สับสน เพราะใจหนึ่งก็คงอยากให้คนยอมรับ แต่อีกใจหนึ่งก็บอกตัวเองว่านี่เป็นบทของเราที่ทำหน้าที่นี้ คล้ายๆเป็นตำรวจด้านหลักการ

เมื่อมาทำอาศรมฯแล้วในเกือบยี่สิบปีต่อมา ผมจึงได้บทเรียนจากครั้งนั้นอย่างจริงจังในเรื่องคนเกของกลุ่ม และนำมาปรับใช้และเตือนน้อง กล่าวคือเป็นธรรมชาติของกลุ่มทุกกลุ่มที่ต้องมีฝ่ายตรงกันข้าม ที่คิดต่างออกไปจากคนที่นำกลุ่มอยู่ อาจจะทำตัวเป็นฝ่ายต่อต้านด้วยซ้ำไป ถ้าคนที่ดูแลกลุ่ม หรือนำกลุ่มฉลาดพอ รักษาคนส่วนน้อยฝ่ายตรงข้ามนี้ได้ และใช้ความตึงของการต่อต้านให้เป็นประโยชน์ จะทำให้กลุ่มไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง และเหมือนกับว่ามีกระจกเงาให้ทุกๆคนในกลุ่มเห็นตัวเองด้วย  แต่คนที่เป็นฝ่ายนำมักมีแนวโน้มที่จะขจัดฝ่ายตรงข้ามส่วนน้อยนี้ออกไป ซึ่งไม่ช้าก็จะเกิดฝ่ายตรงข้ามใหม่ขึ้นอีก นี่ผมออกนอกเรื่องอีกแล้ว

แต่ก่อนจะมาถึงตอนคนออกจากค่ายนี้ มีอีกตอนที่ความขัดแย้งระหว่างมนัส ชีฯ และใหญ่ ถึงขีดที่ทุกคนคุยกันแล้วไม่ลงตัว ผมจำได้ว่าคุยกันที่วิหารเก่า จนทุกคนร้องห่มร้องไห้ ผมจำได้ว่ามี ๔ คนที่เป็นแกนนำ ผมจำไม่ได้ว่าอีกคนเป็นใคร ผมยังเข้าใจว่าตัวเองไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งด้วย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อสี่ขุนพล ได้ร้องไห้กันก็ปรับความเข้าใจกันได้ ความสัมพันธ์ก็แน่นแฟ้นขึ้นอีกระดับหนึ่ง ตอนท้ายๆค่ายคนเหม็นหน้าผมมาก ผมเข้าใจว่ามนัสกับใหญ่ วิศิษฐ์เป็นคนเรียกประชุมเพื่อเคลียเรื่องคนเหม็นหน้าผมก่อนจะปิดค่าย

อีกคนหนึ่งที่เป็นคนสำคัญอย่างเงียบๆในค่ายก็คือ พี่สุ หรือสุภาพร ลิ้มสัมพันธ์ เป็นรุ่นพี่เรียนอยู่ปีหนึ่งที่ธรรมศาสตร์ รุ่นน้องพี่นิ เป็นเพื่อนกับพี่สภาพร ลิ้มมณี เข้ามาค่ายผ่านทางพี่สถาพร พี่สุไม่ได้มีบทบาทมาก วางตัวเงียบๆ เป็นผู้ใหญ่ที่คนเกรงใจ ส่วนมากให้คำปรึกษาเป็นส่วนตัวกับคนที่มีปัญหา ผมรู้สึกสนิทสนมด้วย  น้าอาจเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นหลักให้ทุกคน วางตัวสมกับที่เป็นครู เวลาทำงานร้องเพลงลูกทุ่งสนุกสนาน ผมเองตอนนั้นไม่ชอบลูกทุ่ง ออกจะดูถูก เพราะพื้นทางบ้าน พี่ๆจะเป็นแฟนชรินทร์ นันทนาคร สุเทพวงศ์กำแหง ผมยังถามว่าทำไม่น้าอาจร้องเพลงลูกทุ่ง แกก็ว่า เพราะไปทำค่าย จะเข้ากับชาวบ้านต้องร้องเพลงลูกทุ่งเลยติดมา ตอนหลังมาอ่านที่พิชิต จงสถิตวัฒนาเขียนวิเคราะห์เพลงลูกทุ่งด้วยทฤษฎีชนชั้นแล้วนั่นแหละ จึงเปลี่ยนความคิด แต่ถ้าพูดถึงความรู้สึกแล้ว เพลงลูกกรุงรุ่นนั้นและก่อนนั้นขึ้นไปยังเป็นรุ่นที่ซึ้งใจจนทุกวันนี้ แม้จะสนุกกับเพลงลูกทุ่งมากขึ้นแล้วก็ตาม

ผมเข้าใจว่าpure reading นี่มีวิจารณ์ตัวเองด้วย เพราะผมเคยพูดสารภาพในที่ประชุมเย็นวันหนึ่งว่าผมชอบผู้หญิงหลายๆคนพร้อมกัน การพูดตรงๆจากความรู้สึกแบบนี้ ผมเข้าใจว่าผมได้อิทธิพลจากพี่นิ ถ่ายทอดแนวคิดแบบจริงใจกับตนเองของเอ๊กซิสเต็นเชียลิสต์ ผมพูดแล้ว คนรับไม่ได้มาก โดยเฉพาะผู้หญิง มีประยุทธที่ปกป้องผมว่าที่พูดนี่เป็นความรู้สึกธรรมดาที่คนเป็นกันทุกคน

มามองย้อนกลับไปตอนนี้  ส่วนหนึ่งที่เป็นอย่างนั้น คงเป็นเพราะยังไม่ได้รักใครจริงจังสักคนนั่นเอง ตอนนั้นในค่ายคนที่สวยถูกใจผมคนหนึ่งก็คือจีราพร แต่ชีฯจีบเสียก่อน และเธอคงชอบตอบด้วย ผมจึงถอย นอกจากนั้นก็มีรุ่นน้องอีกสองสามคนที่ถูกใจ แต่เขาวางตัวห่างๆ เราก็รุกไม่เป็นก็เลยเฉยๆกันไป

คนที่มีเสน่ห์สำหรับสาวๆและทำให้ผมอิจฉาคือสมพล เขาเป็นคนตรงข้ามกับผม คือเป็นคนทีอารมณ์ขัน หยอกเป็นล้อเป็น มีลูกเล่น แต่งตัวมีแบบของตัวเอง แต่ผมก็ชอบเขาด้วย และเขาเป็นคนแต่งเพลงยุวชนสยามที่ทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น และเพลงนี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของตำนานยุวชนสยามไป ผมเห็นได้ชัดว่าเพื่อนหญิงคนหนึ่งชอบสมพล แต่สมพลยังวางตัวกลางๆ 

อีกคนที่ผมทึ่งในสติปัญญาเป็นพิเศษคือใหญ่ วิศิษฐ์ เขาอ่านหนังสือที่ผมยังไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน และไม่รู้ว่าสำคัญอย่างไรด้วย จำได้ว่าเขาพกเรื่อง เมตาฟิสิกส์ ของรัสเซล มาค่ายด้วย ธีรพล พันธรังสี เพื่อนนักอ่านอีกคนถึงกับออกปากว่าอ่านหนังสือภาษาอังกฤษขนาดนี้กันเชียวหรือ ผมเข้าใจว่าสันติสุขกับใหญ่มาคุ้นกันที่ค่ายนี้และเป็นเพื่อนซี้กันแต่นั้นมา

ทั้งหมดนี้เป็นความทรงจำเกี่ยวกับค่ายเท่าที่ผมพอจำได้ อันที่จริงกลุ่มยุวชนสยามเริ่มมีบทบาทต่อสังคมจริงๆก็หลังจากออกจากค่ายไปแล้วต่างหาก