ข้อควรระวังและคำแนะนำ เพื่อ เขียนเปลี่ยนชีวิต
โดย อนุรักษ์ เม่นหรุ่ม C.Ht (ครูโอเล่) สถาบันธรรมวรรณศิลป์
คำแนะนำเหล่านี้เป็นข้อควรระวัง/ไม่พึงกระทำ และคำแนะนำ เพื่อให้การเขียนบันทึกในการอบรม เขียนเปลี่ยนชีวิต ทั้งระหว่างอบรมและการลงมือทำด้วยตนเอง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์ต่อตนเอง และหลีกเลี่ยงผลกระทบในทางลบ
ไม่ควรตีความและจำกัดกรอบด้วยชื่อหัวข้อ
ชื่อหัวข้อเป็นเพียงป้าย ไม่ควรพยายามตีความและจำกัดกรอบในการเขียนเพื่อดูแลตนเองด้วย ชื่อหัวข้อ หรือการพยายามคิดมากเกินไป ซึ่งทำให้การเขียนนั้นจำกัดอยู่ที่การคิด เข้าไม่ถึงหัวใจและจิตใต้สำนึก หรือปิดกั้นตนเองในการทบทวนบางประเด็นที่เกี่ยวข้อง
เหมือนการรู้จักเพื่อนคนใหม่ เราไม่ควรตัดสินเขาเพียงแค่ชื่อจริงหรือชื่อเล่นที่บอกเราเท่านั้น การเขียนลักษณะนี้จึงเป็นการฝึกให้เราไม่ด่วนตัดสินอะไรเร็วเกินไป
> ตัวเรายังมีความสามารถและความหมายมากกว่าชื่อของตนเองและมากกว่าภาพลักษณ์ภายนอก หัวข้อแบบฝึกหัดบันทึกและขั้นตอนต่างๆ ย่อมมีมากกว่าที่ตาเห็นหรือใจคิด รอให้เราสำรวจอย่างเปิดกว้าง
ไม่ควรพยายามคิดก่อนล่วงหน้า เพื่อวางโครงหรือแผนการ
การเขียนลักษณะนี้แตกต่างจากการเขียนเพื่อสร้างผลงาน ซึ่งต้องอาศัยความรัดกุมและความถูกต้องตามหลักการเขียนที่ดี แต่การเขียนลักษณะนี้เราต้องปล่อยให้ผู้เขียนมีประสบการณ์ตรงและเต็มที่กับช่วงเวลาขณะเขียนให้มากที่สุด โดยไม่ควรคิดล่วงหน้าจนทำให้เขียนคับแคบเกินไป หรือตีกรอบให้จิตใจจนมิได้สำรวจมุมมองอื่นๆ
การเขียนลักษณะนี้ให้เลี่ยงการคิดล่วงหน้า เน้นการอยู่กับปัจจุบันขณะที่เขียนนั้น เพื่อให้จิตใจเกิดการเรียนรู้และเห็นตนเองอย่างเต็มที่ไม่ถูกปิดกั้นไว้ด้วยกรอบการคิดตัดสินล่วงหน้า
> เปิดหัวใจให้กับความเป็นไปได้ที่ไม่จำกัด ฝึกใช้ชีวิตโดยไม่ต้องคิดมากบ้าง ฝึกที่จะมีชีวิตด้วยหัวใจและสองมือ
ไม่ควรมุ่งเป้าหมายจนละเลยขั้นตอนและสิ่งเล็กๆ
การเขียนลักษณะนี้แต่ละหัวข้อมีความสำคัญอยู่ที่กระบวนการขั้นตอนของหัวข้อนั้นๆ ซึ่งจะนำสิ่งที่มีอยู่ในจิตใจของผู้เขียนและกำกับจิตใจขณะที่เขียนนั้นตามเป้าหมายและหลักการเบื้องหลังของขั้นตอน ผลจะแตกต่างกันไปในผู้เรียนแต่ละคน การข้ามขั้นตอนหรือทำตามขั้นตอนไม่ถูกต้องก็จะมีผลทำให้ไม่ได้รับประโยชน์หรือไปถึงจุดมุ่งหมายของแต่ละหัวข้ออย่างเต็มที่
ไม่ควรมุ่งเป้าหมายคือการเขียนให้เสร็จ จนทำให้เราขาดความละเอียดในการดูแลเอาใจใส่ตนเอง ประโยชน์สำคัญของการเขียนเปลี่ยนชีวิตนี้ไม่ได้อยู่ที่หลังเขียนจบเท่านั้น แต่อยู่ในระหว่างขั้นตอนที่ลงมือทำ สิ่งเล็กๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างบันทึกที่เราอาจมองข้ามไป อาจเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้เข้าใจตนเองหรือมองเห็นทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น
> ทุกคำที่เขียนมีคุณค่า ทุกบรรทัดที่ย่างก้าวคือเส้นทางที่มีความหมาย ใส่ใจและทำตามขั้นตอนแต่ละข้ออย่างเต็มที่ ไม่คิดตีความหรือลังเล เขียนดั่งเดินทางไปยังที่ที่ไม่รู้จัก
ไม่ควรตามอารมณ์และความเคยชิน
การเขียนเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต เน้นการลงมือทำนำหน้าความรู้สึกและความนึกคิด กล่าวคือ ไม่รออารมณ์แล้วจึงเขียน ไม่รอคิดออกแล้วจึงเขียน แต่ให้การลงมือทำคือการเขียนน้อมนำความรู้สึกกับความนึกคิดที่หลากหลายให้ปรากฏ ด้วยว่าการเขียนแบบนี้เป็นทั้งการฟังเสียงหัวใจและการฝึกฝนหัวใจ จึงไม่ควรลงมือทำไปตามความรู้สึกเท่านั้น แต่ให้การลงมือทำเป็นการฝึกความรู้สึกของตนเอง ไม่หยุดเขียนเมื่อเบื่อหรือลังเลแต่ลงมือทำจนก้าวข้ามออกไปได้
ไม่ปล่อยให้ความเคยชินทางพฤติกรรมและความคิดเป็นตัวฉุดรั้ง เช่นไม่ควรรอหายขี้เกียจแล้วจึงลงมือทำ ไม่ควรเขียนไปตามความคิดแบบเดิมๆ แต่ไม่เปิดโอกาสให้ตนเองได้มองมุมต่าง เราสามารถเป็น รู้สึก และคิดได้มากมายและกว้างกว่าที่ตนเองเคยเชื่อเสมอ
> ให้ปากกาและการเขียนเป็นเสมือนไกด์พาใจและความคิดเดินทางสู่โลกภายใน
ไม่ควรละเลยการสะท้อนตนเองหลังบันทึก
ระหว่างการเขียน มีความรู้สึก ความนึก ความคิด บทเรียน และการเติบโตเกิดขึ้นได้มากมาย แต่หากผู้เขียนไม่ได้ย้อนทบทวนสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านั้นก็จะเลือนรางจางไปกับกระแสความคิด การทบทวนหลังบันทึกเป็นขั้นตอนสำคัญในการอบรม เขียนเปลี่ยนชีวิต ที่ไม่ควรละเลย และควรทำอย่างละเอียด ไม่ควรสะท้อนหลังบันทึกเพียงเพื่อให้เสร็จเพราะจะกลายเป็นการตอกย้ำตนเองได้ ควรให้เวลาตั้งคำถามและสำรวจตนเองหลากหลายด้าน สังเกต แล้ววิเคราะห์เชื่อมโยงรายละเอียดเข้าหาชีวิตจริงของตนเอง
ทั้งนี้การ “สังเกตตนเอง” กับ การ “ตัดสินตัวเอง” ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน การสังเกตตนเองหลังบันทึกคือการมองตนเองหลากหลายด้านเชื่อมโยงจากสิ่งที่เขียน แต่การตัดสินตนเองคือการย้ำคิดย้ำความเชื่อมุมมองแบบเดิมๆ ต่อตนเอง ซึ่งไม่ก่อประโยชน์
> ทบทวนหลังบันทึกอย่างใส่ใจ ชื่นชมในสิ่งที่ดี และสังเกตตนเอง แม้เป็นการเขียนในหัวข้อที่ยากลำบาก ตัวเราก็มีสิ่งที่ดีที่น่าชื่นชม และมีข้อคิดที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติมในตนเอง
ไม่ควรบีบคั้นตัวเองและหมกมุ่น
ระหว่างการเขียนหากสังเกตอาการเกร็งที่มือ เป็นสิ่งที่สะท้อนภาวะบีบคั้นและความเครียดแฝงที่ไม่รู้ตัว ซึ่งเกิดจากความตั้งใจมากเกินไป เกิดจากความกลัว วิตกกังวล การโฟกัสบางจุดมากเกินพอดี และอื่นๆ เมื่อสังเกตเห็นภาวะดังกล่าวให้รู้ผ่อนเบาแรงที่มือขณะเขียน กลับมาอยู่กับลมหายใจ เขียนต่ออย่างไม่กดดันตัวเอง แต่ก็ไม่ปล่อยปละละเลย
สำหรับการอบรมในหลักสูตร เขียนเปลี่ยนชีวิต จะมีกำหนดไม่ให้ลงมือทำและส่งการบ้านเกินจำนวนที่ครูระบุไว้ เพื่อป้องกันภาวะหมกมุ่น ย้ำคิดย้ำทำ และหลีกเลี่ยงการมุ่งเป้าหมายจนขาดความใส่ใจรายละเอียด ทั้งนี้ควรใส่ใจการตอบคำถามจากครูผู้สอนเพื่อกระตุ้นให้เราไม่หมกมุ่มกับตนเองและมุมมองแบบเดิมจนเกินไป
> ลงมือทำสิ่งที่มีประโยชน์และส่งเสริมตัวเองควบคู่ไปกับการเขียนบันทึก
ไม่ควรลังเลจนบั่นทอนตนเอง
ความกล้าหาญที่จะก้าวข้ามความลังเล ข้อสังสัย และความกลัว เป็นความสำเร็จระยะแรกๆ ของการเขียนเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต สิ่งเหล่านี้เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ขอบ” ของชีวิตและจิตใจ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ก้าวข้ามอุปสรรคของความลังเลสงสัยคือการลงมือทำนำหน้า เปิดใจสำรวจและทบทวน ปล่อยให้ทุกสิ่งเป็นไปอย่างที่เป็น และกล้าหาญนำตัวเองออกมาจากพื้นที่ปลอดภัยในจิตใจ ยอมรับทุกสิ่งตามที่เป็นจริง
เมื่อผู้เขียนได้ทบทวนหรือเห็นข้อคิดและแนวทางจากการบันทึก สิ่งที่ควรทำคือการถามตนเองว่าเราจะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร , เราจะนำข้อคิดเหล่านี้ไปใช้ต่อได้อย่างไร , เราเคยทำได้หรือเคยเป็นแบบนั้นในช่วงเวลาใดบ้าง ฯ แทนที่เราจะคิดลังเลงว่าจะทำได้ไหม จะเป็นไปได้หรือเปล่า หรือจริงไหม ซึ่งไม่ก่อประโยชน์ต่อตนเอง แต่ยิ่งย้ำวงจรความคิดเชิงลบและสับสน หรือนิวรณ์วิจิกิจฉาของจิตตามหลักพุทธศาสนา
> ฝึกชื่นชมความสำเร็จและให้กำลังใจตนเองทั้งก่อนเขียนและหลังเขียนเสร็จแต่ละหัวข้อ
ไม่ควรทำเพื่อตัวเองแค่นิดเดียว
การเขียนลักษณะนี้เหมือนกับการออกกำลังกาย การทำครั้งสองครั้งย่อมมีประโยชน์ต่อตนเองในตอนนั้น แต่เราจะแข็งแรงและเติบโตด้วยการออกกำลังกายหรือการเขียนได้ ต้องอาศัยการลงมือทำอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง ในเมื่อเราทำสิ่งต่างๆ เพื่องาน เงิน คนอื่น และสิ่งทั้งหลายนอกตัวมามากแล้ว การทำเพื่อตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยกว่ากันและทำได้เช่นเดียวกัน
การฝึกเขียนลักษณะนี้ยังเป็นการกลับมาใส่ใจตนเองมากขึ้น เห็นคุณค่าในตัวเรามากขึ้นว่ามีคุณค่าแก่การได้รับสิ่งที่ดีอย่างต่อเนื่องมากเพียงใด การรักตัวเองไม่ต้องรอเทศกาลและไม่ควรทำแต่ในบางวาระ การเขียนเพื่อรักตัวเองก็เช่นเดียวกัน ควรลงมือทำเพื่อดูแลและขัดเกลาตนเองอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่ประจำสม่ำเสมอก็ไม่ควรทิ้งร้างห่างไป หรือทำแค่ชิมลองครั้งสองครั้ง ซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และไม่ทำให้เข้าใจว่าการเขียนเปลี่ยนแปลงชีวิตได้อย่างไร
> เขียนเปลี่ยนชีวิตตนเองบ่อยๆ โดยสำหรับในการอบรมควรลงมือทำอย่างน้อย ๑๐ หัวข้อขึ้นไป แต่ให้มองว่าทุกหัวข้อที่ทำไม่ว่ากี่หัวข้อล้วนแต่เป็นของขวัญที่มีค่าที่ได้มอบให้แก่ตัวเองแล้ว
[ อ่านต่อ ]
หลักสูตร เขียนเปลี่ยนชีวิต
การเขียนบันทึกให้อะไร
ที่มาและหลักการ