จดหมายจากการพลัดพราก

 

 

จดหมายจากการพลัดพราก
4 ข้อคิดความสูญเสียในพระไตรปิฎก

 

จิตของเราโดยธรรมชาติมีกลไกปกป้องตัวเองจากความทุกข์ต่างๆ เป็นการหนีบ้าง สู้บ้าง สยบยอมบ้าง ไม่ก็ชะงักงันไป เรียกว่าเป็นหลัก 4F (Fight Flight Freeze Fawn) หลักธรรมในพุทธศาสนาและคำสอนจากศาสนาและจิตวิทยาอันชอบด้วยธรรมอันดีแล้ว ย่อมช่วยขัดเกลาและโน้มน้าวพาใจกล้าหาญเผชิญกับทุกข์ อันเป็นความจริงของชีวิตที่หลีกหนีไม่ได้ ยิ่งหนียิ่งสู้ก็ยิ่งเป็นทุกข์ผูกรัดเป็นปมแก่ใจ
.
ปมในใจต่างๆ ของเรานั้นล้วนไม่ได้เกิดจากทุกขอริยสัจ หรือความจริงแห่งทุกข์แต่เกิดจากกลไกปกป้องตัวเองของเรานี่เอง ทำให้ทุกข์ตามธรรมชาติเป็นทุกข์ซ้ำซับซ้อน
.
“ทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์” * เป็นความเป็นไปที่เราต่างก็ต้องพบเจอ ไม่อยู่ในฐานะที่จะเปลี่ยนแปลงหรือหลบเลี่ยงได้ เมื่อใดจิตอยู่ในกลไกปกป้องตนเองสี่แบบอย่างขาดสติ จิตก็ยิ่งดิ้นรนจนทุกข์ทวี
.
จากกลไกปกป้องตนเองสี่แบบ บทความนี้ขอเชิญชวนเราใคร่ครวญในธรรมะสี่ข้อ ซึ่งเป็นข้อคิดจากพระไตรปิฎก ซึ่งเปรียบได้กับจดหมายจากการพลัดพรากส่งมาถึงเราเพื่อบอกกล่าวสิ่งเตือนใจและความเป็นจริงของชีวิตให้รับรู้
.
.
๑ ที่สุดของการยึดถือคือการพลัดพราก :
.
“สิ่งใดที่เกิดแล้ว มีแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความสลายไปเป็นธรรมดา” ** จะพยายามให้สิ่งนั้นไม่จากไป ไม่ดับไป เราไม่สามารถทำได้ ต่อให้แม้มีทรัพย์ ฐานะ และพลังอำนาจมากเพียงใด เราก็ไม่อาจห้ามสิ่งทั้งหลายมิให้เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ได้ อันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่เที่ยงแท้ ต้องเสื่อมไป และไม่ใช่ตัวตนคงที่
.
แต่เหตุใดจึงไม่อาจห้ามได้ “เพราะขันธ์ ธาตุ อายตนะก่อนๆ แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ขันธ์ ธาตุ และอายตนะ หลังๆ ก็ย่อมเป็นไป เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า การยึดถือนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุดทีเดียว” **
.
ตัวเราตัวเขาก็ประกอบด้วยสสารและองค์ประกอบต่างๆ รวมกันอยู่เรียกว่า “ขันธ์” มีระบบประสาทและความเชื่อมต่อของรับรู้ทางผัสสะทั้งหลาย เรียกว่า “อายตนะ” ปรุงแต่งและเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ลองดูให้ดีว่าเซลล์ต่างๆ ในตัวเราก็มีการเกิดแล้วดับไป อารมณ์หนึ่ง ความคิดหนึ่งเกิดขึ้น อีกอารมณ์และความคิดอื่นก็ดับไป เหมือนน้ำกลายรูประเหยเป็นไอแล้วกลายเป็นเมฆ สิ่งต่างๆ ทั้งหลายที่เป็นวัตถุก็มีขันธ์หรือธาตุที่ประกอบเป็นสิ่งนั้นๆ ที่เสื่อมลงตามเวลา
.
ไม่มีสิ่งใดคงที่อย่างเที่ยงแท้ เมื่อใดมีการยึดถือว่านี่เป็นของฉัน นั่นเป็นตัวฉัน หรือนี่ต้องเป็นแบบนี้ เมื่อนั้นที่สุดปลายทางก็ได้กำหนดไว้แล้วว่าคือการพลัดพรากจากลา
.
ของหรือบุคคลใดที่ใจเราไม่ได้ผูกพัน เมื่อแตกสลายหรือตายจากไปใจเราก็ไม่ทุกข์เท่าไร นั่นเป็นเพราะว่าจิตไม่ได้คิดยึดถือ เมื่อพลัดพรากจึงเห็นเป็นธรรมดา แต่เมื่อใดเป็นสิ่งหรือบุคคลที่จิตยึดมั่นไว้แล้วด้วยตัวตน เมื่อพลัดพรากขึ้นจึงเศร้าโศกเสียใจ
.
แม้แต่ตัวเราเองที่ประกอบด้วยรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ รวมเรียกว่า เบญจขันธ์ หรือขันธ์ ๕ ก็มิใช่ของเราและตัวเราอย่างแท้จริง เป็นเพียงธาตุปัจจัยปรุงแต่งก่อเกิดและนำไปสู่ความล่วงลับที่ปลายทาง ต้องฟังคำที่ท่านตรัสเตือนว่า “พุทธมามกะผู้เป็นบัณฑิตรู้เห็นโทษแม้นั้นแล้ว ไม่ควรน้อมไปเพื่อความยึดถือว่าของเรา”
.
“โภคสมบัติทั้งหลาย ย่อมละทิ้งสัตว์ไปก่อนบ้าง สัตว์ย่อมละทิ้งโภคสมบัติเหล่านั้นไปก่อนบ้าง” ** เกิดมาได้มี ได้เป็น ได้ลิ้มลองในสิ่งอันน่าพอใจทั้งหลาย สิ่งเหล่านั้นก็มีแต่จะจากเราไปในวันหนึ่ง หรือไม่เราเองก็เป็นฝ่ายจากไปเสียก่อน เป็นเรื่องธรรมดา
.
เมื่อเราไม่เอาสิ่งทั้งหลายแม้แต่ร่างกายและคนใกล้ตัวว่าเป็นของฉัน เพียงยอมรับและเฝ้าดูรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นไปตามธรรมชาติ “จึงไม่เศร้าโศกในเวลาเศร้าโศก ดวงจันทร์ย่อมขึ้น ย่อมเต็มดวง ย่อมเสื่อมสิ้นไป ดวงอาทิตย์อัสดงคตแล้ว ย่อมจากไป” ** เฉกเช่นเดียวกับสิ่งทั้งหลายและชีวิตทั้งปวง
.
ธรรมะคือเรื่องธรรมดาที่คนไม่อยากยอมรับ ลองพาใจเรามาพิจารณาธรรมชาติที่จริงแท้ของเขาและสิ่งทั้งหลาย สังเกตถึงการได้มาและการเสียไปของสิ่งต่างๆ ในโลก เมื่อยอมรับด้วยใจเต็มเปี่ยม เราก็จะทุกข์น้อยลง และไม่โศกเศร้า
.
.
๒ จงมีตนเองและธรรมเป็นที่พึ่ง :
.
สิ่งที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่ามากเพียงใด หลีกหนีการเสื่อมถอยและการถูกทำลายไม่พ้น พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบกับต้นไม้แม้ต้นใหญ่กว่าต้นอื่นเพียงใด ก็ไม่อาจหนีพ้นความตาย พระสงฆ์หมู่ใหญ่เพียงใด หรือแม้พระสารีบุตรก็ไม่อาจหนีพ้น ต้องปรินิพพาน
.
“สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้วปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด” ***
.
เหตุใดพระองค์จึงตรัสเช่นนี้ เพราะสิ่งอื่นทั้งหลายในโลกไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้และยั่งยืน หากยึดมั่นเป็นที่พึ่งแล้วก็เหมือนจับที่เกาะเกี่ยวอันไม่มั่นคง จิตใจก็หวั่นไหวง่าย แม้เป็นทรัพย์ก็ดี ฐานะชื่อเสียงก็ดี หรือกระทั่งสิ่งที่เป็นคุณค่าภายในตัวเราก็ไม่ยั่งยืน ต้องพลัดพรากจากไปเช่นกัน ดังที่ท่านทรงตรัสถามพระอานนท์ก่อนหน้าว่า
.
“สารีบุตรพาเอาศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ หรือวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ปรินิพพานไปด้วยหรือ” ***
.
ความดีที่เรารักษาไว้ หลักการอันคร่ำเคร่ง คุณสมบัติน้อยใหญ่ สมาธิอันเป็นเลิศ ความเก่ง จนถึงปัญญาของตัวเรา อาจเป็นคุณค่าที่ทำให้เราพอใจและรักตัวเองอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แม้เป็นคุณค่าที่ทำให้ยินดีและเป็นสุขแท้มากกว่าทรัพย์นอกตัวก็จริงอยู่ แต่ท้ายที่สุดเราก็นำเอาไปด้วยไม่ได้เมื่อถึงเวลาต้องตายลง หรือแม้วันเวลาหนึ่งเมื่อร่างกายทรุดโทรมลง สิ่งเหล่านั้นก็ย่อมเลือนหายไป
.
เมื่อเรายึดเอาคุณค่าของตนเองไว้ที่สิ่งนอกตัวและในความเป็นตัวตนอันไม่ยั่งยืน เมื่อนั้นก็ยังมีความทุกข์จากการพลัดพรากและเสื่อมถอยของสิ่งเหล่านั้นอยู่ ไม่วันหนึ่งก็วันใด แม้เรายังมีสิ่งเหล่านั้นอยู่ก็ยังมีทุกข์จากการต้องเปรียบเทียบกับผู้อื่น ต้องหวนแหนรักษาไว้ ต้องคอยปกป้องไม่ให้เสื่อมถอย ไม่ว่าทรัพย์ภายนอกก็ดี หรือคุณสมบัติในตัวเราก็ดี เมื่อนั้นก็ยังเป็นทุกข์อยู่
.
ดังนั้นแล้วการพึ่งพาตนเองและธรรม ตามความหมายที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้นั้นคืออะไร ในเมื่อคุณสมบัติในตัวเราและสิ่งที่เราทำได้ก็ไม่ใช่สิ่งที่พึงยึดไว้เป็นที่ตั้งสูงสุด พระองค์ทรงตรัสต่อ ดังนี้
.
“ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่อย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ … ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ … ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรอานนท์ ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง อยู่อย่างนี้แล” ***
.
การมีตนเป็นที่พึ่ง มิได้หมายถึงเอาตัวตนของฉันเป็นที่ตั้ง หรือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองเท่านั้น การมีธรรมเป็นที่พึ่ง จึงไม่ได้หมายความว่าให้เอาหลักคิดความรู้และคำสอนทางศาสนาตามความเข้าใจของตนเป็นที่ตั้ง แต่ท่านทรงหมายถึง ให้ใช้ความเพียร การมีสติ ความระลึกรู้ตัว การพิจารณาเห็นกายใจตามความเป็นจริง การพิจารณาธรรมคือสภาวะความจริงตามความเป็นจริง และการขจัดละกิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลายเป็นที่ยึดเหนี่ยว
.
เราจะสังเกตได้ว่าสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสให้ยึดนั่นมิใช่ลักษณะของความเป็นตัวตน และเป็นการเน้นย้ำให้ยึดการขัดเกลาจิตใจ เพราะการถือในความมีตัวตนของตัวเอง และสิ่งต่างๆ ทั้งหลายนั้นยิ่งทำให้ทุกข์
.
การมีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่ได้มีความหมายต้องเฉพาะหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น เราผู้นับถือศาสนาต่างๆ สามารถกล่าวในความหมายเดียวกันได้ว่า มีพระเจ้าเป็นที่ยึดเหนี่ยว กลุ่มคนบางกลุ่มอาจใช้คำว่า วางใจในจักรวาล แทนก็ได้ หากยังคงมีจุดร่วมกันคือการมุ่งละการเอาตนเป็นศูนย์กลาง ยึดเหนี่ยวธรรมหรือพระเจ้าเป็นที่พึ่งแก่ตัว เพื่อลดความเห็นแก่ตนและวางจากการถือความเป็นตัวตน นี่ก็ถือว่าเป็นทางเดียวกัน หากเราถือว่าการมีธรรมเป็นที่พึ่งนี้คือธรรมของศาสนาพุทธเท่านั้น นั่นยังมิใช่ความหมายที่ถูกต้อง
.
ความพลัดพรากส่งข้อความบอกเราว่าสิ่งใดๆ ก็ไม่อาจยึดเหนี่ยวไว้ได้เลย ไม่เที่ยงแท้พร้อมจะแปรปรวนไปทั้งนั้น สิ่งที่เราควรใส่ใจและหันมายึดเหนี่ยวให้มากไว้ คือการใส่ใจโลกภายในตนเอง ด้วยการพิจารณากายใจเราให้รู้ความจริง มีสติกับตน อย่าได้หนีความทุกข์และความเหงาเปล่าเปลี่ยวภายในไปกับการจับจ่ายใช้สอย วัตถุภายนอกตัว ความสวยความงามและความเก่งของตัวเอง หรือกระทั่งบุคคลใดก็ตาม ไม่มีสิ่งใดเหล่านี้ที่จะอยู่กับเราได้ตลอดไป ยิ่งหมายคว้าสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ก็ไม่ช่วยให้เราพ้นจากทุกข์ได้
.
.
๓ ในเมื่อทุกคนจะต้องตาย ควรเมตตากัน :
.
หลายๆ ครั้งเราก็ทะเลาะกัน เพราะเอาสิ่งอันไม่จีรังยั่งยืนมาเปรียบเทียบแข่งกัน ฉันเก่งกว่าบ้าง ฉันมีคุณธรรมมากกว่าบ้าง ฉันรักชาติยิ่งกว่า หรือฉันด้อยมากเรื่องทักษะนั้น ความรู้นี้ ถึงแม้สิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรที่กล่าวได้ว่าเป็นของฉันหรือตัวตนฉันได้อย่างแท้จริงเลย
.
“สัตว์ที่ยืน นั่ง นอน หรือเดินอยู่ อายุสังขารหาได้เป็นไปตามด้วยไม่ วัยย่อมเสื่อมไปทุกขณะที่หลับตาและลืมตา” ****
.
เราจึงไม่ควรประมาทเสียเวลาไปกับการจ้องจับผิดผู้อื่น จ้องทำร้ายและบาดหมางต่อกัน เพราะเวลาชีวิตของเราเองก็ถอยหลังลงไปเรื่อยๆ ในทุกขณะที่หลับตาและลืมตา เราเดินเข้าไปหาความตายใกล้มากขึ้นตามลำดับ
.
ไม่พึงถือความผิดพลาดของผู้อื่นเป็นเรื่องจริงจังจนเป็นทุกข์ เพราะการกระทำทางกาย วาจา และใจของเขาเองก็อยู่ในกฎไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยงแท้ ย่อมมีเสื่อมลง และเป็นไปตามปัจจัยต่างๆ แม้แต่การกระทำดีๆ ของคนอื่นก็ไม่เอาเป็นตัวตนของเราหรือของๆ เราให้ยึดถือได้ตลอดไป
.
ในนิทานชาดกของพระไตรปิฎกยังกล่าวอีกว่า “เพราะวัยเสื่อมไปอย่างนั้นหนอ อัตภาพย่อมบกพร่อง หนทางที่คนเดิน เมื่อต้องมีความพลัดพรากจากกันโดยไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังเหลืออยู่ ควรมีเมตตาเอ็นดูกัน ส่วนที่ตายไปแล้ว ไม่ควรจะต้องเศร้าโศกถึง” ****
.
คนทะเลาะกันเพราะจิตไปยึดติดในท่าทีการกระทำและบางด้านของอีกฝ่ายในลักษณะความเป็นตัวตน คิดไปเองว่าฉันและเธอไม่เหมือนกัน จนหลงลืมว่าวันหนึ่งต่างฝ่ายต่างก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยและตายลงทั้งสิ้น เป็นเพื่อนร่วมทุกข์บนโลกใบนี้ทั้งสิ้น
.
ในเมื่อทุกคนต่างต้องตาย เราจึงควรเมตตาต่อกัน ใช้เวลาที่ยังมีอยู่ของชีวิตตนเองเพื่อความสงบสันติแก่ตัวเองและผู้อื่น การยิ่งจงเกลียดจงชังให้ร้ายต่อกัน มิเคยทำให้ใจถึงความสงบสันติได้เลย และมีแต่พาชีวิตล่วงไปอย่างไร้ความหมาย
.
สิ่งที่ล่วงไปแล้วไม่อาจคว้ามา สิ่งที่ยังมีอยู่คือสิ่งที่เราควรใส่ใจอย่างแท้จริง คนที่ยังอยู่กับเราคือคนที่เราควรเมตตาต่อกัน เพราะวันหน้านั้นเราก็ต้องแยกทางจากกัน ต่างมีความตายเป็นจุดหมายปลายทาง โกรธเกลียดและจ้องจับผิดกันไปก็เท่านั้น
.
.
๔ เราต่างผ่านการพลัดพรากมาแล้วมากมาย :
.
ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงตรัสถามภิกษุทั้งหลายเป็นปริศนาธรรมว่า
.
“สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำตาที่หลั่งไหลของพวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนานนี้ กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ สิ่งไหนจะมากกว่ากัน ฯ” *****
.
ประโยคแรกที่ท่านทรงกล่าวถึง เป็นการปูพื้นความเข้าใจว่า สิ่งทั้งหลายในโลกนี้จะหาที่สุดของจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสูญไม่ได้ อยู่ในความเป็น “สงสาร” คือวัฏจักรเกิดดับ เพราะสสารทั้งหลายไม่อาจถูกทำลายหายไปหมดสิ้น เพียงกลายรูปและเปลี่ยนแปลงเท่านั้น เหมือนกับร่างกายเรา เกิดจากธาตุต่างๆ ก็มาประกอบเข้าด้วยกันผ่านมารดาบิดาและธรรมชาติรอบตัว เมื่อตายจากไปแต่ก็เพียงย่อยสลายกลับคืนสู่สสารธาตุต่างๆ คืนสู่ฟ้าดิน
.
ดังนั้นแล้วจึงมีการเวียนว่ายตายเกิด เราคือ “ผู้ท่องเที่ยวไป” ในคำตรัสของท่านซึ่งหมายถึงการเวียนว่ายตายและการวนเวียนในวงจรแห่งความทุกข์ต่างๆ ข้ามชาติภพมาแล้วนับไม่ถ้วน
.
ต้องลองตรึกตรองดูว่าเฉพาะชีวิตชาติภพนี้เราต้องเสียใจและเป็นทุกข์มากเพียงตลอดระยะเวลาชีวิตหลายสิบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่แรกเกิดเราก็พบกับความทุกข์อันได้แก่ความไม่สบายตัว ความไม่สบายใจ ความหิวโหย ความผิดหวัง ความดิ้นรนอยากได้ดังที่หวัง ร้อนเกินไปเราก็ทุกข์ เย็นเกินไปเราก็ทุกข์ สมหวังก็เดือดร้อนใจตามมา มีทุกข์มากมายเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า
.
หากรินเก็บน้ำตาตั้งแต่แรกเกิดจนมาถึงวันนี้จะได้ปริมาณน้ำตามากเพียงใด แล้วถ้าเราเก็บรวมปริมาณน้ำตาทั้งหมดจากชาติภพที่ผ่านมา หรือนับจำนวนครั้งที่เศร้าโศกเสียใจ จะเป็นปริมาณมหาศาลเพียงใด เทียบกับน้ำในมหาสมุทรทั้งหลายแล้วอย่างใดกันแน่ที่น้อยกว่า
.
เราทุกคนต่างเคยผ่านเรื่องเลวร้าย ทุกข์ทน และความพลัดพรากอันเศร้าโศกมานับไม่ถ้วนมากกว่าที่เราคิดนัก พระพุทธเจ้าทรงตอบจากปริศนาธรรมที่ทรงตรัสว่า
.
“น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกเธอ ผู้ท่องเที่ยวไปมา ฯลฯ โดยกาลนานนี้แหละ มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย
.
“พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของมารดาตลอดกาลนาน น้ำตาที่หลั่งไหลออกของเธอเหล่านั้น ผู้ประสบมรณกรรมของมารดา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ นั่นแหละ มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย
.
“พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของบิดา … ของพี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว … ของบุตร … ของธิดา … ความเสื่อมแห่งญาติ …ความเสื่อมแห่งโภคะ … ได้ประสบความเสื่อมเพราะโรค ตลอดกาลนาน น้ำตาที่หลั่งไหลออกของเธอเหล่านั้น ผู้ประสบความเสื่อมเพราะโรค คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ นั่นแหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย
.
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้” *****
.
เราผ่านการพลัดพรากจากครอบครัว ญาติมิตร ผู้เป็นที่รัก สิ่งอันมีค่าทั้งหลาย มาแล้วทุกชาติภพที่ผ่านมา นับรวมกันมีน้ำตาแห่งความเศร้าโศกกองรวมกันมากกว่ามหาสมุทรทั้งหลาย การจากลาที่อาจเกิดขึ้นกับเราไม่นานนี้หรือกำลังจะเกิดขึ้นต่อไป เป็นเพียงหนึ่งในนับไม่ถ้วนแห่งการพลัดพรากที่เราได้เผชิญ
.
แม้แต่ในเวลานี้เมื่ออ่านบทความ ลมหายใจแล้วลมหายใจเล่าของเรา ได้ผ่านเข้ามาแล้วล่วงเลยไป ความคิดและอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นและดับหายไป การพบเจอได้เกิดขึ้นในจิตแล้ว การพลัดพรากได้เกิดขึ้นในจิตแล้ว มันมากมายเพียงใดกับการเวียนว่ายตายเกิดและการเจอะเจอทุกข์ในจิตนี้
.
การระลึกตรึกตรองเช่นนี้มิใช่การมองโลกในแง่ร้าย แต่เป็นการพิจารณาความจริงตามสภาพความจริงที่มี เพื่อยอมรับและวางลง มิใช่เพื่อจ่อมจมกับความทุกข์ การยอมรับที่แท้จริงจะทำให้เราวางลง แล้วเบื่อหน่ายต่อการเวียนว่ายในสงสาร
.
ยิ่งพยายามหนีจากความจริงเหล่านี้ ใจเราก็ยิ่งย้ำทุกข์ เหมือนหนูที่อยากหนีจากกงล้อที่ตนเองวิ่งวนด้วยการวิ่งต่อไป ยิ่งไปเกาะเกี่ยวเอาสิ่งทั้งหลายอันไม่เที่ยงแท้ ใจก็เป็นทุกข์ซ้ำ ความพลัดพรากเพียงส่งจดหมายบอกแก่เรา เป็นข้อความแห่งธรรมอันสงบ ลองหยุดตนเองลงจากความไขว่คว้าทั้งหลาย แล้วอ่านข้อความธรรมนั้นด้วยใจสงบ
.
เราต่างพลัดพรากมาแล้วมากมาย แม้ในนาทีนี้ก็ตาม น้ำตาจากภพชาติที่ล่วงมากองรวมกันมากมายนัก เราจะต้องเวียนว่ายและเจอะทุกข์เช่นนี้อีกมากเพียงใด กว่าเราใส่ใจขจัดเหตุแห่งทุกข์อยู่ในใจตนเอง
.
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น” *****
.
การจะหลุดออกจากวงเวียนแห่งการเวียนว่ายตายเกิดนี้ ต้องพึ่งตนและมีธรรมเป็นที่พึ่ง มุ่งขัดเกลาจิตใจละวางเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลาย คลายจากกำหนัดคือความเพลิดเพลินยินดีในอยากยึดทั้งปวง
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ ๔๕

 

> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/
.
> > > สามารถสนับสนุนกิจกรรมและบทความ ผ่านการเข้าร่วมคอร์สของเรา
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/

 

* พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ปฐมเทศนา
** พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
*** พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
**** พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑ (อนนุโสจิยชาดก)
***** พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค (อัสสุสูตร)