บางส่วนจากข้อสอบการสะท้อนตนเอง กลุ่มเรียนเดือน ก.ค. ชุดที่ ๑

“จากบันทึกแรก ผมได้เห็นว่าตัวเองมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆเริ่มมีความคิดขึ้นเรื่อยๆ จากที่ตัวเองเป็นคนที่ไม่ค่อยจะตั้งใจเรียนก็เริ่มที่จะสนใจเรียน สนใจอนาคต สนใจครอบครัวมากขึ้น ทำให้ผมเข้าใจว่าผมต้องมีการพัฒนาตัวเองต่อไปขึ้นเรื่อยๆบ้างครั้งอาจจะมีเหนื่อยมีท้อแต่เมื่อลองมองคนที่ช่วยผลักดันเรามาถึงตอนนี้คงเหนื่อยกว่าที่เราเป็นตอนนี้ ต่อจากนี้ผมก็จะพยายามพัฒนาตัวเองให้ได้ทำงานอย่างที่ต้องการ
การเรียนรู้ในห้อง ทำให้ผมรู้ว่าตัวเองเป็นคนที่ชอบสังเกตผู้อื่นและใส่ใจผู้อื่น แต่ตัวผมเองเป็นคนที่ชอบพูดไม่คิดพูดไปแล้วจะมาคิดทีหลังว่าจะรู้สึกอย่างไรซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าที่ผมพูดไปนั้นทำให้ผู้ฟังโกรธหรือคิดอะไรหรือเปล่าแต่เมื่อผมพูดไปแล้วผมจะนิ่งแล้วมาคิดว่าไม่น่าพูดไปเลย อย่างเช่นตอนกิจกรรมจับมือเพื่อนแล้วให้ทำเป็นวงกลมมีเพื่อนจับมือผิดแล้วผมดันไปเผลอพูดว่าทำไมจับมือข้างเดียวกัน ผมรู้สึกผิดมากที่ทำให้เพื่อนรู้สึกแย่ หลังจากกิจกรรมนี้ทำให้ผมรู้ตัวเองว่าให้คิดก่อนที่จะพูดอะไรออกไปว่าเขาจะรู้สึกอย่างไรและกิจกรรมสี่ทิศทำให้รู้ว่าผมเป็นคนที่แคร์คนอื่น ไม่มีความเป็นผู้นำ และขี้โมโห ผมจึงตั้งใจที่จะพัฒนาตัวเองในสิ่งที่ตัวเองขาดไปให้ได้

สิ่งที่ผมยกตัวอย่างนั่นคือ “เปลวเทียน” ซึ่งไฟก็เปรียบได้เหมือนกับอารมณ์ของผมที่เป็นคนอารมณ์ร้อน ขี้โมโห และเมื่อโมโหจะเป็นคนที่พูดอะไรตรงไปตรงมาไม่คิดถึงผลเสีย และเทียนก็คือตัวผมที่คอยประคับประครองให้ไฟนั้นอยู่ในขอบเขตไม่ลุกลามไปไหม้สิ่งของเสียหาย สิ่งที่ผมคิดว่าที่ผมเป็น เปลวเทียน เพราะว่าถ้าผมเป็นไฟอย่างเดียวก็อาจจะทำความเสียหายได้มากกว่าที่ให้ประโยชน์กับผู้อื่นก็เหมือนกับไม่มีเทียนที่คอยให้ไฟอยู่ในขอบเขตของเทียน และถ้าผมเป็นเทียนอย่างเดียว ผมก็เหมือนดั่งเทียนที่ไม่มีไฟที่ไม่สามารถให้แสงสว่างได้ในยามค่ำคืน เป็นเทียนที่ต้องคอยให้คนมาจุดไฟเพื่อสร้างประโยชน์ เปลวเทียนก็เหมือนผมมีสองสิ่งนี้อยู่ในตัว จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ ถ้าผมขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปผมจะเป็นแบบเหตุการณ์ที่ผมเคยพบเจอ…”

 

/ นายโชติวิชญ์ ถนอมศรีเดชชัย นักศึกษา ม.บูรพา (เทคโนโลยีการศึกษา)

 


 

“สิ่งที่เราเห็นตัวเราในกระจกนั้น ข้าพเจ้าว่ามันคือสิ่งที่ตัวเราอยากให้เป็นหรือคิดว่าเราเป็นซะมากกว่า มันเป็นภาพมายา ภาพที่อยากให้คนอื่นเห็นว่าเราเป็นแบบนี้ ทั้งเสื้อผ้า ร่างกาย การแต่งหน้าแต่งตา หนวดเครา ทรงผม ล้วนเป็นสิ่งปรุงแต่งให้เราสร้างสรรค์ตัวตนของเราขึ้นมา เนื้อหนัง ร่างกายและรูปร่างที่ได้มาตั้งแต่กำเนิดไม่อาจเลือกได้ แต่เราก็ขอเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ตกแต่งมันใหม่ ให้ได้สมดังใจอีก
เรื่องที่ว่า เราเห็นตัวเราจริงๆ หรือไม่จากกระจก ข้าพเจ้ามีความคิดอย่างนี้ว่า ไม่ว่าเราจะส่องกระจกในท่าไหนเพื่อมองหน้าดูตา สำรวจแขน สำรวจร่างกาย ดูความสูงต่ำดำขาวของตัวเอง เราก็ไม่มีวันมองตัวเราเองได้รอบด้าน ไม่สามารถมองได้ทุกแง่ทุกมุม หรือแม้แต่เราจะมองตัวเอง ด้วยตาตัวเอง ไม่ผ่านกระจกสะท้อน จะก้มจะเงย มองซ้ายมองขวา เราก็มองไม่ได้รอบด้านอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นแผ่นหลัง ใบหน้าที่เห็นแต่ปลายจมูกรำไร คอก็มองไม่เห็น อาจารย์อ่านถึงตรงนี้อาจเกิดความคิดโต้แย้งว่า ก็ส่องกระจกงัย เราก็เห็นแล้ว ใช่แล้ว อาจารย์พูดถูก เราเห็นภาพคอ ภาพหู ภาพจมูก ภาพลูกกะตา และภาพรวมทั้งหมดคือใบหน้าของเรา หรือแม้แต่แผ่นหลัง ผ่านกระจกเงาเป็นสื่อกลางได้ แต่อยากจะถามว่า เราเห็นหูของเราเองจริงๆสักครั้งบ้างไหม เห็นคอของเราเองจริงๆเองกับตาของเราได้ไหม ใบหน้างามๆ ของเราเองจริงๆ สักครั้งได้หรือไม่ มองเห็นแบบที่เรามองเห็นแขนของเรา มองเห็นมือของเราเอง มองเห็นเท้าของเราเอง มองเห็นแบบที่เรามองเห็นผู้อื่น เป็นตัว เป็นตน หน้าตา คอ หู แบบนี้ แบบนี้ ได้ไหม? มันไม่อาจเป็นไปได้ ถึงแม้จะใช้กระจกก็ตาม นั่นคือคนเราไม่สามารถมองเห็นตัวเองให้ครบทุกสัดส่วน แบบที่เราใช้ตาเรามองผู้อื่นได้ ต่อให้เป็นภาพสามมิติ ภาพก็คือภาพ ก็ไม่เหมือนร่างกายคนคนหนึ่งที่ยืนอยู่ตรงหน้าให้เรามองอยู่ดี…

เราเองนั้นแหละที่จะรู้ว่าเราคิดและเห็นคนอื่นเขาเป็นอย่างไร ในโลกของเราเอง ในความคิดของเราเอง บางอย่างที่คนหนึ่งๆเป็นหรือที่คนหนึ่งๆกระทำลงไป บางครั้งเราก็ไม่อาจเข้าใจเหตุผลที่กระทำนั้นๆได้ เราก็จะคิดๆหาเหตุผลว่าน่าจะอย่างโน่นอย่างนี้ เห็นไหมว่าเราเห็นได้แต่ความคิดของเราเอง เหตุผลของเราเองไปตามประสาคนอื่นเขาเห็นตัวเรา มองตัวเรา และในทางกลับกัน เราก็เห็นตัวเขา มองตัวเขา แล้วจิตกับใจเราก็คิด ก็ปรุง ก็แต่ง ตามความรู้ ความจำเดิม ที่จะพยายามอธิบายเขา วินิจฉัยเขา ระบุเขาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นเดียวกัน จิตกับใจเขาก็คิด ก็ปรุง ก็แต่ง ตามความรู้ ความจำ เดิม ที่จะพยายามอธิบายเรา วินิจฉัยเรา ระบุเราว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถึงแม้เราจะมองเห็นตัวเราเองในกระจกได้ จิตใจเราก็จะคิด จะปรุง จะแต่ง เงาสะท้อนตัวเราในกระจก ตามความรู้ความเข้าใจเดิมๆ ความจำเดิมๆ และพยายามจะอธิบายตัวเอง และระบุตัวเราเองว่าเป็นใคร ว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ อีกเช่นกัน
การที่จะเข้าใจสิ่งต่างๆ พึงระลึกไว้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดก็คือจิตและใจของคนเรานั่นเอง ที่ควรรู้ควรดูควรตามให้เห็น ให้เข้าใจได้ด้วยตนเอง และกระจกก็ไม่อาจสะท้อนจิตใจและความรู้สึกนึกคิดของคนเราออกมาได้อีกด้วย”

 

/ นายนันทิพัฒน์ ขุมทอง (เทคโนโลยีการศึกษา)