“มั่นคงจากข้างใน ต้องฝึกขัดใจตัวเอง”

 

“มั่นคงจากข้างใน ต้องฝึกขัดใจตัวเอง”

คอลัมน์ ไกด์โลกจิต

 

ยิ่งเราปล่อยใจเป็นดั่งปลาว่ายตามกระแสเมื่อใด ใจยิ่งอ่อนแอลงมากขึ้นเท่านั้น เมื่อฝึกใจเป็นดั่งปลาว่ายทวนกระแส ใจยิ่งเข้มแข็งและมั่นคงมากขึ้นเท่านั้น

กระแส นี้คืออะไร ? หมายถึงความเคยชินของจิตใจที่จะไหลไปตามกิเลส – สิ่งที่ทำให้จิตมัวหมอง ทั้งสิบอย่าง * จิตใจที่ไม่ได้ฝึกต้านทาน หักห้ามใจ และอดทนข่มกลั้นต่อความเคยชินของตัวเอง ย่อมปล่อยให้กระแสเหล่านี้พัดพาชีวิตไปพบกับความทุกข์ไม่จบสิ้น

เมื่อปล่อยใจไหลไปตามความเคยชิน ใจเราก็จะอ่อนไหวง่ายกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่มากระทบ เป็นดั่งต้นไม้ไร้รากที่พร้อมจะโค่นลงเมื่อลมพัดไหว มิอาจหาความมั่นคงใดจากตัวเองได้เลย

การไร้รากนั้นก็คือ เรามิใช่ที่พึ่งพาแก่ใจตัวเอง ขาดความมั่นคงในตัวเรา

การมิอาจเป็นที่พึ่งแก่ใจตัวเองได้ ยิ่งทำให้หวังพึ่งพาความมั่นคงจากสิ่งนอกตัว ซึ่งก็จะเป็นการส่งเสริมให้ใจไหลไปตามกระแสของกิเลสสิบอย่างมากกว่าเดิม สุดท้ายแล้วเราก็จะดึงดูดสิ่งลบและสิ่งที่จะทำร้ายตัวเรา เพราะตนถูกพัดพาโดยกิเลสเหล่านั้นไปหาผู้คนและสิ่งที่มีกิเลสแบบเดียวกัน

พระพุทธเจ้าท่านทรงตรัสในใจความว่า “การเลี้ยงชีพชอบ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีอาชีพผิด… ความไม่โกรธ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มักโกรธ… ความไม่โอ้อวด เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้โอ้อวด” **

น้ำมักไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำฉันใด กระแสแห่งกิเลสก็พัดพาใจไหลลงสู่ที่ต่ำลงฉันนั้น เว้นแต่ผู้ว่ายทวนน้ำ ฝืนความเคยชินของใจที่จะไหลไปกับสิ่งที่มากระทบ จึงจะขึ้นที่สูงจากที่ต่ำได้อย่างแท้จริง

นี่คือการขึ้นที่สูง ที่มิใช่การปีนป่ายของหนอนทั้งหลาย ที่คืบคลานตามกระแสหนอนตัวอื่นๆ ใครว่าดีก็ทำตาม ใครว่าดีก็เชื่อไป ท้ายที่สุดแล้วการปีนป่ายขึ้นไปนั้นก็ไม่ได้นำไปสู่การขึ้นที่สูงอย่างแท้จริง แต่กลับต่ำลงมาอย่างไม่รู้ตัว

กระแสของกิเลสทั้งสิบอย่างที่จะพัดพาใจเราลงที่ต่ำลงและทำให้เสียความมั่นคงจากข้างใน มีดังนี้

อย่างที่ 1. “โลภ” อันได้แก่ ความอยาก ความไม่รู้พอ ความคาดหวังอย่างขาดสติ

อย่างที่ 2. “โกรธ” อันได้แก่ ความไม่พอใจ ความหงุดหงิด รำคาญ และรวมถึงความไม่ชอบใจต่างๆ

อย่างที่ 3. “หลง” อันได้แก่ ความไม่รู้ ความหลงผิด และความยึดติดที่ผิดไปจากไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

อย่างที่ 4. “มานะ” คือ การยึดมั่นในคุณค่าของตัวเอง และการเปรียบเทียบกับผู้อื่น

อย่างที่ 5. “ทิฏฐิ” คือ การยึดมั่นในความคิดความเห็นและมุมมองของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคิดเห็นไปตามความโลภ โกรธ และหลง

อย่างที่ 6. “วิจิกิจฉา” คือ ความโลเล ไม่เปิดใจ ระแวงสงสัย และวิตกกังวล

อย่างที่ 7. “ถีนะ” คือ ความหดหู่ ความห่อเหี่ยว และความท้อแท้ใจ

อย่างที่ 8. “อุทธัจจะ” คือ ความฟุ้งซ่าน ขาดการโฟกัส และคิดไปเรื่อย ใจไม่หยุดนิ่ง

อย่างที่ 9. “อหิริกะ” คือ การขาดความละอายใจ ไม่รู้สำนึกผิด ขาดความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน

อย่างที่ 10. “อโนตตัปปะ” คือ การขาดสามัญสำนึก ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ไม่เกรงกลัวต่อการทำผิด ไม่เคารพตนและผู้อื่น
ลองสังเกตว่าเมื่อใดก็ตามที่ปล่อยใจไปกับหนึ่งในสิบอย่างนี้ เมื่อนั้นใจเราจะอ่อนแอลง แม้ว่าความโลภอาจทำให้เหมือนกับมีแรงผลักดันให้ทะเยอทะยาน แต่เมื่อเหตุการณ์ไม่เป็นดังใจ ไฟนั้นก็พร้อมจะมอดลง

การมีมานะหรือการยึดมั่นในคุณค่าของตน อาจทำให้รู้สึกมีความมั่นใจในช่วงขณะนั้น แต่เมื่อใดเจอคนที่ไม่สนใจในคุณค่าของเรา หรือจิตคิดเปรียบเทียบเมื่อใด เมื่อนั้นจิตใจก็พร้อมอ่อนไหวและระแวงคุณค่าของตนเองจะเสียไป

การไหลตามกระแสกิเลสทั้งสิบ ทำให้ใจแปรปรวนไม่แน่นอน นั่นคือขาดความมั่นคงจากข้างใน เมื่อนั้นการทำหน้าที่เพื่อช่วยเหลือคนอื่นหรือในกิจกรรมการงานของตน ก็ย่อมไม่คงที่ และศักยภาพที่มีก็ไม่เฉิดฉายออกมาได้อย่างแท้จริง เพราะกระแสเหล่านี้ก็จะทำให้จิตคอยวิ่งวุ่นไปต่างๆ นานา การโฟกัสกับหน้าที่ตรงหน้าย่อมไม่เต็มที่

การขัดใจ ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายในที วิธีการไม่ซับซ้อน โดยรวมอยู่ในคำว่า “ต้องฝืนใจตัวเองบ้าง” และ “อย่าให้ความเคยตัวเป็นนาย แล้วใจเป็นทาส”

การหลีกเลี่ยงจากบุคคล สิ่งแวดล้อม และการกระทำต่างๆ ที่ยุยงส่งเสริมในกิเลสทั้งสิบนี้ หรืออย่างน้อยก็ ความโลภ โกรธ และหลง ก็เป็นหนทางสำคัญในการฝึกขัดใจ

มีสิ่งใดเล่าที่ชวนให้โลภ โกรธ และหลง แล้วพ้นจากอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ในเมื่อต่างมีความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่ใช่ตัวตน-ไม่ใช่ของๆ ตนได้ทั้งสิ้น

การไม่หลงไปกับมายาความคิดและคำชวนเชื่ออันสวยหรู ที่กระตุ้นความโลภ โกรธ และหลง ในใจเรา จึงจะช่วยให้มั่นคงจากข้างใน เพราะไม่มีใครที่มีชีวิตมั่นคงอย่างแท้จริงได้ ด้วยสามสิ่งนี้

การถูกล่อลวงด้วยการเห็นภาพของสิ่งที่อยากได้ใคร่มี การถูกกระตุ้นให้โกรธด้วยการชักชวนให้มองว่าสภาพจริงของชีวิตช่างไม่สมบูรณ์แบบและเลวร้าย และการถูกหลอกให้มัวเมาอย่างหลงลืมความจริงว่า ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้และแน่นอน จนเป็นความหลง

ทั้งหมดเกิดจากการไม่ฝึกขัดใจของตนเอง

การขัดใจ ยังฝึกได้ด้วยการมี “ฐานของสติ” ที่กำหนดไว้เนืองๆ ตลอดทั้งวันและคืน เช่นการกลับมาอยู่กับลมหายใจบ่อยๆ หรือการกลับมามีสติที่จุดใดจุดหนึ่งของร่างกายอยู่ประจำ เมื่อใดคิด เมื่อใดล้างจาน เมื่อใดกำลังเกิดอารมณ์บางอย่าง ก็นำจิตกลับมามีสติที่ฐานตรงจุดนั้น และนำกลับมาที่จุดเดิมนั้นบ่อยๆ

เปรียบเหมือนการตัดภาพ สับสวิตช์ และหักเหใจ จากที่กำลังจะไหลไปตามอารมณ์ ความคิด หรือกิเลสนั้นๆ เราก็ตัดใจไม่ปล่อยตาม และนำมาอยู่ที่ฐานของสติ เรียกว่าเป็นการฝึก เจริญสติ ยิ่งทำบ่อยหน จิตใจก็จะยิ่งมีกำลังในการหักห้ามตัวเองมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

อาจใช้กลวิธีแบบการโปรแกรมจิต เพื่อช่วยให้การหักห้ามใจตัวเองดูมีพลังและปลูกฝังลงในจิตใจตนเองมากขึ้น เช่น การหายใจแรงๆ การตบขา การดีดนิ้ว การกดที่นิ้วมือ หรือการกำมือ ในการเรียกสติและดึงใจออกจากอารมณ์หรือความคิดที่เกิดขึ้น

การขัดใจยังฝึกได้จากการทำกิจวัตรอย่างมีระบบระเบียบ มีตารางเวลา หรือมีกิจกรรมดูแลตัวเองที่ทำอย่างสม่ำเสมอจนมีวินัย เพราะวินัยนั้นเอง คือใจที่เข้มแข็งพอที่จะเอาชนะความเคยชิน

การมีคำบริกรรม หรือคำกระตุ้นใจ ไว้บอกตัวเองเวลาที่ใจกำลังจะโน้มเอียงไปตามความเคยชิน หรืออารมณ์บางอย่าง เป็นกุศโลบายหนึ่งในการช่วยขัดใจตัวเอง อาจเป็นคำง่ายๆ เช่น “เอาอีกแล้ว” (กำลังจะหลงอีกแล้ว) “ว่างหนอ ว่างหนอ” (ไม่มีแก่นสารอะไรน่าไปโลภ โกรธ หรือหลงกับมัน) “เรื่องของเราอยู่ตรงนี้” (กายใจตัวเองคือภาระรับผิดชอบของตัวเอง กายใจของเขาคือความรับผิดชอบของเขา หาใช่ของๆ เรา) “สติๆ” หรือ “อนิจจาๆ” (เช่นนั้นแล เป็นไปตามความไม่เที่ยง”

เราอาจใช้หลักธรรม เป็นข้อความสั้นๆ ไว้ระลึกในใจ เป็นที่ยึดเหนี่ยวมิให้ใจไหลไปตามความหลง โดยส่วนตัวผู้เขียนใช้การระลึกในใจว่า “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” เพื่อเตือนใจให้เห็นว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันมิใช่ตัวตนหรือของๆ ตน”

ในยามเป็นครูหรือผู้ต้องทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก พึงแลเห็นว่าพวกเขาก็ล้วนไม่พ้นไปจากสภาพของอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ต่างก็แปรปรวนไม่แน่นอน เป็นทุกข์ – มีความบกพร่องไม่สมบูรณ์แบบ และเป็นอนัตตา เป็นเพียงความว่างที่กองด้วยธาตุต่างๆ ที่มิใช่ของๆ เรา

หากเราไม่กลับมาหาความมั่นคงภายใน แต่อยากได้ความมั่นคงจากพวกเขา เช่น การยอมรับ ความเคารพนับถือ พฤติกรรมที่สอดคล้องกับกติกาและความคาดหวังของเรา ท่าทีที่เราชมชอบหรืออยากได้ การเป็นที่รัก เป็นต้น เราก็ไม่อาจเป็นที่พึ่งพาให้พวกเขาอย่างแท้จริงได้ และอาจเป็นฝ่ายพาเขาลงที่ต่ำไปกับกระแสกิเลสในใจเราเสียเอง

โดยสรุปแล้ว เครื่องมือในการขัดใจและสร้างความมั่นคงในตัวเรา อาจจำแนกเป็นสิบประการตามหลัก อนุสติ 10 คือเครื่องยึดเหนี่ยวใจและส่งเสริมสติให้เกิดขึ้นในตัวเรา อันจะทำให้เกิดความมั่นคง ความสงบ และความดับจากกิเลสต่างๆ มีอาทิ ***

1. “พุทธานุสติ” คือการระลึกถึงพระพุทธเจ้า และภาวะความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานในธรรม ซึ่งเป็นเมล็ดพันธ์ุที่ซ่อนอยู่ในตัวเราทุกคน เป็นพุทธภาวะที่ทุกๆ คนสามารถเข้าถึงได้
อาจลองใช้อุบายน้อมนำใจตนเองให้สงบลง และกระทำในใจว่า หากเป็นพระพุทธเจ้าหรือผู้ทรงตื่นรู้แล้ว ท่านจะรู้สึกเช่นไรในเหตุการณ์นั้น ท่านจะกระทำเช่นไร ท่านจะแนะนำเราว่าอย่างไร

2. “ธัมมานุสติ” คือการระลึกถึงหลักความเป็นจริง คำแนะนำ บทเรียนชีวิต และคาถาเตือนใจ ซึ่งไม่จำกัดว่าต้องเป็นคำสั่งสอนจากพระพุทธเจ้า ขอเพียงว่าต้องเป็นไปเพื่อขัดใจจากความโลภ โกรธ หลง และกิเลสทั้งหลาย

การระลึกถึงหลักความเป็นจริงและคำแนะนำสั่งสอนเหล่านี้ เพื่อเตือนใจเราให้ใช้ปัญญา มิใช่ตัณหาต่อสิ่งที่มากระทบหรือได้พบเจอ

3. “สังฆานุสติ” คือการระลึกถึงบุคคลผู้เป็นแบบอย่างที่ดี ครูอาจารย์ และผู้ปฏิบัติตนตามหลักธรรมที่ดีงาม เพื่อน้อมนำมาเป็นแบบอย่าง เพื่อเตือนใจตนเองว่าเราควรทำอย่างไร ไม่ควรทำอย่างไร เรียนรู้คุณและโทษจากพวกท่าน

การระลึกถึงสังฆานุสติ อาจใช้การกำหนดในใจ การมีเครื่องเตือนใจเช่นรูปเคารพ องค์พระ หรือวัตถุมงคลใดๆ ก็ตาม แต่สิ่งสำคัญคือการหมั่นน้อมนำใจระลึกสิ่งดีงามที่เป็นต้นแบบจากท่าน ทุกครั้งที่กราบไหว้บูชา น้อมนำมาใส่คอ หรือกระทำการใดต่อวัตถุมงคลนั้นก็ตาม จึงจะเกิดความมงคลต่อชีวิตและกำลังของจิตอย่างแท้จริง

4. “สีลานุสติ” คือการเตือนตัวเองให้อยู่ในศีลธรรมอันดี ในกรอบที่เหมาะสม และกฎกติกาที่เกี่ยวข้อง ทบทวนถึงการรักษาครรลองที่ดีของตนเองที่ผ่านมา รวมถึงผลลัพธ์ที่ได้ เพื่อเป็นกำลังใจในการฝืนต้านทานกระแสของกิเลสและความเคยชิน

ศีล ไม่ใช่เพียงศีล 5 ศีล 8 แต่หมายถึงการมีกรอบหรือครรลองในการใช้ชีวิต มิให้กระทำไปตามความเคยชินและกิเลสต่างๆ การมีตารางเวลาและกรอบการใช้ชีวิต หรืออาจเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงเช่น การกำหนดการใช้จ่าย ก็เป็นการฝึกขัดใจตนเองและสร้างวินัย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ใจกล้าแกร่งและมีพลังในการเอาชนะใจมากขึ้น

5. “จาคานุสติ” คือการระลึกถึงการให้ การเสียสละ และการละวาง เช่น เจอเหตุการณ์หรือบุคคลที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ ก็ระลึกว่าถือเป็นการทำบุญ เป็นการเสียสละความโลภ ความโกรธ และความหลงของตัวเอง ถือว่าช่วยเขาไป เพื่อเอาชนะกิเลสในใจของเราเป็นเป้าหมายสำคัญ

ยิ่งเราหวังได้รับ ใจเราก็ยิ่งแปรปรวน จิตที่นึกถึงการให้ย่อมมีความสุขและความสงบมากกว่า

6. “เทวตานุสติ” ตามภาษาบาลีหมายถึงการระลึกถึงเทวดา และการระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา แต่คำว่าเทวดาในที่นี้ เราให้ความหมายได้ว่าเป็นสภาวะที่ดีกว่า เป็นคนที่ดีกว่า มีชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งก็อาจดูคล้ายคลึงกับวิธีใช้ภาพฝันที่เป็นเหยื่อล่อของมิจฉาชีพ ที่ไว้ใช้ดึงดูดความโลภจากประชาชน แต่การเป็นดั่งเทวดาในที่นี้ คือผู้ที่มีกิเลสที่เบาบางลง มีความสุข ความสงบ และความพอใจในชีวิตอย่างที่เป็นจริง มีสภาวะทางจิตใจที่สูงส่ง จึงทำให้มีชีวิตที่ดีกว่ามนุษย์ทั่วไปที่ยังหลงกับเรื่องวัตถุและกายหยาบ

การระลึกถึงเทวดาหรือสภาวะที่ดีกว่า เป็นเหมือนการน้อมนำจิตอยู่กับเป้าหมายในการพัฒนาตัวเอง เพื่อมิให้หวั่นไหวยามที่ใจถูกกระทบ หรือมีสิ่งยั่วเร้าให้โลภ โกรธ และหลง

7. “มรณสติ” คือการระลึกถึงความตาย ดังใจความว่าเราทุกคนและทุกสิ่งทั้งหลายล้วนมีความตายเป็นจุดหมายปลายทางที่รออยู่ ไม่มีสิ่งใดพ้นจากความเสื่อมสูญ และการที่ต้องจากลา การระลึกถึงความตายก็เพื่อเตือนตัวเราถึง “อนิจจัง” ไม่ให้ไปหลงยึดติด สุขหรือทุกข์ กับสิ่งที่อย่างไรก็ต้องตายจากหรือเสื่อมสูญไปมิช้าก็เร็ว

การระลึกถึงความตาย ยังรวมถึงการตระหนักว่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ทั้งสิ่งเลวร้ายก็มีความตายรอมันอยู่ และสิ่งที่ดีงามก็มีความตายรออยู่เช่นกัน ต่างก็จะผ่านไปตามเหตุปัจจัยมิช้าก็เร็ว

8. “กายคตาสติ” คือการระลึกถึงร่างกาย การมีสติกลับมาที่ร่างกายตนเอง และการพิจารณาความเป็นจริงที่ร่างกายสอนเรา บอกกับเราทั้งทางตรงและทางอ้อม

ร่างกายสอนอะไร สอนเราว่า ไม่มีความจีรังยั่งยืนให้ยึดถือในตัวเราได้นี้ รวมทั้งตัวผู้อื่นด้วยเช่นกัน ต่างก็เป็นทุกขัง มีความไม่สมบูรณ์บกพร่อง เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ความป่วยไข้ และเป็นเพียงอนัตตา ที่สุดท้ายแล้วเราก็ต้องคืนกลับธรรมชาติไป

การกลับมาที่ร่างกาย รวมถึงการมีสติอยู่กับร่างกายในปัจจุบัน ซึ่งก็จะทำให้เราบรรเทาตัวเองจากการหลงไปตามกระแสของอารมณ์และกิเลสต่างๆ เพราะสิ่งที่โลภ โกรธ หลง นั้นคือจิตใจ ส่วนร่างกายนั้นอยู่กับปัจจุบัน การนำใจกลับมาอยู่กับร่างกายก็เหมือนเราเอาเชือกผูกกับตอไม้ริมฝั่ง ซึ่งจะไม่ไหลตามน้ำไปด้วย

9. “อานาปานสติ” คือการกลับมาระลึกรู้อยู่กับลมหายใจ ดังที่อธิบายข้างต้น เป็นการฝึกเจริญสติโดยใช้การระลึกรู้การหายใจของตนเองเป็นฐานของสติ เช่นสังเกตการกระทบที่ปลายจมูก การพองยุบของท้องเมื่อหายใจเข้าออก และการขยับของร่างกายทั่วทั้งตัวเมื่อหายใจ

การอยู่กับลมหายใจยังเป็นอุบายเตือนสติและอบรมจิตใจได้ในหลายๆ ทาง เช่นการตระหนักว่า มีเข้ามาก็มีจากไป ดังมีลมหายใจเข้าก็มีลมหายใจออก

10. “อุปสมานุสติ” ระลึกถึงความสงบระงับจากกิเลสทั้งหลาย การพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง คือนิพพาน ความว่าง การกลับสู่พระผู้เป็นเจ้า เป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล หรือยู่ที่ว่าเราจะใช้คำเรียกว่าอย่างไร ในแง่หนึ่งเป็นการน้อมนำจิตระลึกถึงเป้าหมายอันสูงสุดของจิตวิญญาณ ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดให้เจอกับความทุกข์อีกต่อไป หรือเรียกง่ายๆว่า ไม่ต้องทุกข์อีกแล้ว เพื่อให้ใจไม่โลเลเลี้ยวออกจากทางที่ควร มีเป้าหมายเป็นดั่งดาวประจำใจนำทาง

อีกแง่หนึ่งก็เป็นการน้อมนำสภาวะจิตใจอยู่กับความว่าง ไม่คลุกคลีกับอารมณ์และความคิดใดๆ รักษาใจให้เป็นกลาง เป็นการชิมลางนิพพาน หรือความว่างในชั่วขณะหนึ่ง เพื่อเป็นกำลังใจให้จิตได้รับรู้ว่า การเข้าถึงความดับทุกข์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง แม้ในการฝึกนิพพานชิมลอง อาจให้ความสงบเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่เมื่อทำอย่างต่อเนื่องก็จะกลายเป็นความยั่งยืนที่มีมากขึ้นเอง

 

ครูโอเล่

เนื้อหาส่วนหนึ่งจากหลักสูตร “ห้องเรียน วิถีครู” รุ่นที่ 56
ในหัวข้อ “มั่นคงจากข้างใน” เดือนกรกฎาคม 2567

ติดตามกิจกรรมได้ที่ไลน์ @khianpianchiwit
และเพจเฟสบุ๊ค “สถาบันธรรมวรรณศิลป์”

* พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๕ พระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๒ วิภังคปกรณ์ [๑๐๒๖]
** พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑๐๖]
*** พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต [๑๗๙]