วิถีการคิดที่ผิดเพี้ยน

 

วิถีการคิดที่ผิดเพี้ยน

 

วิธีคิดของคนมีหลายเหตุปัจจัยประกอบเข้าด้วยกัน อาจมี “อวิชชา” คือความโง่หรือไม่ซื่อตรงต่อความจริง เข้ามาผสมเจือปนได้ตลอด อาจมีโลภะ โทสะ โมหะ หรือ “โลภ โกรธ หลง” ทำให้การคิดผิดเพี้ยนไปจากเหตุอันควร

การคิดทั่วไปมักเกิดจากการปรุงแต่งจากสิ่งที่รับรู้ผ่านอายตนะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อรับรู้อย่างขาดสติ เป็นไปด้วยอวิชชาคือความไม่รู้จริงในธรรมชาติ สิ่งใดมากระทบก็มัวเมารู้สึกรู้สา เกิดเป็น “ตัณหา” คือความอยาก และนำไปสู่ “อุปาทาน” คือการยึดติด

วิธีคิดที่ผิดเพี้ยนก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว เพราะการคิดใดๆ ของเราต่อจากนั้นก็จะเป็นการคิดที่รับใช้อวิชชา รับใช้ตัณหา รับใช้อุปาทาน แต่ไม่ได้รับใช้ความจริง ไม่ได้รับใช้ความถูกต้อง

วิถีทางแห่งการคิดที่ผิดเพี้ยนไปนี้ก็คือการมี “อคติ” นั่นเอง แต่คำว่า อคติ นั้นไม่ใช่เป็นเรื่องความคิดความเห็นอย่างภาษาปากที่คนไทยใช้ แต่ในทางพุทธศาสนานั้น หมายรวมในความประพฤติ ทัศนคติ และการคิดอีกด้วย

หากแปลตรงตัว คำว่า อคติ หมายถึง ผิดที่ผิดทาง หรือความเป็นไปอันไม่สมควร แปลแบบไทยก็ใช้คำว่า “ลำเอียง” เพียงแต่ “ลำ” ในที่นี้ ภาษาธรรมเปรียบได้ดั่ง ลำเรือ-นาวาชีวิต หรือ ลำต้นของต้นไม้ก็ได้

หากลำเรือเอียงเกินไปก็พลิกคว่ำ ลำต้นของไม้เอียงเกินไปก็ล้ม ชีวิตจึงต้องตั้งอยู่บนทางสายกลาง ทั้งความประพฤติ วาจา และใจ ซึ่งประกอบกันดังลำเรือหรือลำต้นไม้

วิธีคิดที่เหมาะสม เป็น สัมมาสังกัปปะ จึงต้องอยู่บนทางสายกลาง มิโน้มเอียงทางหนึ่งทางใดมากจนเกินไปตามกิเลส

สิ่งที่ทำให้ลำเรือชีวิตโน้มเอียงจนเกินไป แบ่งออกเป็นสี่ประเภท ได้แก่ *(G)

1. ลำเอียงเพราะชอบ…ฉันทาคติ
2. ลำเอียงเพราะชัง…โทสาคติ
3. ลำเอียงเพราะหลง…โมหาคติ
4. ลำเอียงเพราะกลัว…ภยาคติ

สี่อย่างนี้เองทำให้ความคิดของเราไม่ถูกต้อง เพราะโน้มไปทางฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากจนเกินไป เมื่อวิธีคิดไม่สมดุล ไม่เป็นกลาง การกระทำก็พลิกคว่ำ ทำชีวิตหกคะเมนระเนระนาด

อคติ ทำให้เราไม่ซื่อสัตย์ต่อความเป็นจริง เราจึงไม่สามารถตัดสินใจหรือเลือกด้วยความเหมาะสมได้ มีความคิดความเห็นไปทางหนึ่งทางใดมากเกินไป เพราะต้องตามใจกิเลส

เปรียบชีวิตดังการขับรถ วิธีคิดก็คือคนที่นั่งขับหรือสารถี ผู้นี้จริงๆ มีความสามารถอยู่แล้ว มีสติปัญญาอยู่แล้ว แต่แทนที่เขาจะขับไปอย่างถูกต้องตรงเป้าหมาย กลับต้องตามใจผู้โดยสารหรือเสียสมาธิเพราะพวกเขา

“คุณฉันทา” ก็อยากไปที่ชอบๆ อยากกินลม ชมวิว อยากดูเส้นทางที่สวยถูกใจ คอยรบเร้าออดอ้อน “คุณโทสา” บ่นโวยวาย หงุดหงิดรำคาญ เกลียดรถราคันอื่น คอยสั่งเร่งเร้าให้ขับแซงไปมาหรือเร่งความเร็วเกินควร

“คุณโมหา” บอกทางมั่ว ชี้ถูกชี้ผิด ดูแผนที่ไม่ออก บางครั้งก็หลับตลอดทางชวนง่วงตาม “คุณภยา” ตื่นตกใจ หวาดหวั่นกับเส้นทาง สะดุ้งแล้วสะดุ้งเล่า วิตกกังวลจนคนขับกลัวตัวสั่นไปด้วย

เมื่อชีวิตดำเนินไปด้วย อคติ ย่อมถึงเป้าหมายช้า เสียเวลา หลงทาง หรืออาจไปไม่ถึงจุดหมาย เพราะเลือกทางไปไม่ถูกต้อง หรือขับขี่ไม่เหมาะสม ด้วยความชอบ ความชัง ความหลง และความกลัว พาให้ลำเอียงเบี่ยงเบนไป

นี่คือปัญหาของวิธีคิดทั่วไป เป็นสาเหตุที่ว่าทำไม เราจึงคิดไม่ตรงตามความเป็นจริง โดยเฉพาะตอนที่ความชอบ ความชัง ความหลง หรือความกลัว กำลังเข้มข้นรุนแรงอยู่ ความนึกคิดกับการตัดสินใจยิ่งไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย

…วันหน้าเมื่ออารมณ์ทั้งสี่เหล่านี้ลดหายไป ตัวเราเองยังสงสัยได้เลยว่าทำไมเมื่อวันนั้นจึงคิดและทำแบบนี้

วิธีคิดที่ถูกต้อง เป็น “สัมมาสังกัปปะ” จึงเป็นความคิดที่ไม่โน้มเอียงไปตามอารมณ์ หรือฉันทะ โทสะ โมหะ และภยะ ตั้งอยู่เป็นกลางอย่างมั่นคงด้วย ฌาน หรือ สมาธิที่แนบแน่น ประดุจพลขับสารถีที่แน่วแน่จดจ่อในการขับรถไปให้ถึงจุดมุ่งหมาย มิหวั่นไหวกับสิ่งรบกวนรอบๆ ตัว

การคิดของคนทั่วไปเป็น อคติ ได้ง่ายเพราะขาดการฝึกจิตให้มีสมาธิ รับรู้โลกผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจอย่างขาดสติ เป็นไปด้วย “อวิชชา” ยังไม่มี “สัมมาทิฏฐิ” เรียกว่าเห็นโลกอย่างโง่ๆ จนเกิดอารมณ์หลงมั่นหมาย แล้วยึดถือว่าสิ่งที่คิดเหล่านั้นเป็นความจริง นี่ก็เป็นสาเหตุของ “มิจฉาสังกัปปะ” วิธีคิดที่ไม่ถูกต้อง

 

อ่านฉบับเต็มได้ที่

www.dhammaliterary.org/สัมมาสังกัปปะ/

 

ติดตามกิจกรรมได้ที่

ตารางกิจกรรม