หลายๆ ครั้งในชีวิตที่เราต้องอยู่ในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัด อาจเจ็บไข้ได้ป่วยจนไม่อาจใช้ชีวิตตามปกติ ต้องเผชิญกับรถติดและชีวิตที่ไม่อาจไหลลื่นได้ตามที่ต้องการ ต้องอยู่ร่วมกับสถานการณ์หรือความเป็นไปอันมิได้ดั่งใจ อึดอัดขัดข้องกับเรื่องราวชีวิตที่ร้อยรัด ต้องเล่นไปตามกติกาและเงื่อนไขที่ไม่อาจกระดิกตัวอย่างง่ายดาย มันทำให้เราเป็นทุกข์เพราะริดรอนอิสรภาพอันมีค่าไป
.
มีความไม่แน่นอนในชีวิตมากมายที่ทำให้เราไม่อาจเป็นอิสระอย่างที่ใฝ่หวัง แล้วน้อยครั้งนักที่สิ่งนอกตัวเหล่านี้จะเป็นไปอย่างที่เราต้องการอย่างแท้จริง ทำอย่างไรเราจึงจะรู้สึกอิสระได้แม้ดำรงกับความไม่แน่นอนและข้อจำกัดของชีวิต ทางออกสำคัญทางหนึ่งคือการกลับมายังอิสระแท้จริงที่อยู่ใกล้ตัวเราเอง
.
.
๑ โซ่ตรวจและคุกภายใน
.
ในความเข้าใจของคนทั่วไป อิสระคือการสามารถทำอะไรๆ ได้ตามที่ต้องการ เป็นอิสระที่หลายคนมักพอใจและใฝ่หา แต่นั่นยังเป็นที่ภายนอก เป็นเสรีภาพในทางหนึ่งเท่านั้น แต่ยังไม่ใช่ของแท้ที่ดีที่สุด เพราะท้ายที่สุดการมีเสรีภาพเหล่านั้นก็ยังไม่เป็นอิสระจากสองอย่าง คือความทุกข์ และ เหตุของความทุกข์ ซึ่งยังคงดำรงอยู่เรื่อยไปแล้วเวียนวนซ้ำซากไม่สิ้นสุด แม้จะได้มาในสิ่งที่อยากได้ก็ตาม
.
อิสระมีสองประการ ได้แก่ภายนอกกับภายใน อย่างแรกคือการสามารถทำอะไรได้ตามความพอใจ ไม่ถูกปิดกั้น ขัดขวาง หรือห้ามไว้ สามารถเป็นในสิ่งที่อยากเป็น มีในสิ่งที่อยากมีได้ตามปรารถนา และสามารถพูดหรือแสดงออกอย่างไม่มีข้อจำกัด
.
ปัญหาของอิสระที่ภายนอกเช่นนี้ คือมักจะมีความอยากเกี่ยวข้องเสมอๆ โดยที่จะสังเกตได้จากข้อความที่พูดถึงอิสระจะมีความอยากอยู่ด้วย ไม่ปรากฏชัดเจนก็แอบซ่อนอยู่เบื้องหลัง คือการได้ เป็น ทำ หรือพูดตามที่ใจอยาก อิสระเช่นนี้ยังไม่แท้ เพราะมีความอยากเป็นเครื่องผูกมัด ยิ่งสนองตอบยิ่งถูกมัดแน่นขึ้น ดั่งงูที่รัดเหยื่อดิ้น
.
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “เราไม่พิจารณาเห็นแม้สังโยชน์ (กิเลสผูกมัดใจ) อันหนึ่งอย่างอื่น ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ประกอบแล้วแล่นไป ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนานเหมือนสังโยชน์ คือตัณหา (ความอยาก) นี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยสังโยชน์ คือ ตัณหาย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนาน”*(๑)
.
ตัณหาคือสิ่งที่ผูกมัดทำให้ถูกขังอยู่ในวงจรแห่งทุกข์ ทำให้เวียนว่ายตายเกิดร่ำไปและพบเจอกับความทุกข์ไม่สิ้นสุด
.
การได้ทำสิ่งที่อยากทำและพอใจที่จะทำ มักให้ความสุขอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แต่แล้วก็จะเลือนหายไป และการทำสิ่งที่อยากก็จะให้ผลลบหรือทุกข์ย้อนกลับมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ส่งผลให้เราจะต้องอยากซ้ำแล้วซ้ำอีกหรืออยากมากยิ่งขึ้นไป
.
ดังสุภาษิตในพุทธศาสนา “นตฺถิ ตณฺหาสมา นที” แม่น้ำจะเสมอด้วยตัณหาไม่มี คือเติมเท่าใดก็ไม่มีทางเต็มได้
.
อิสระที่เกิดจากการเติมเต็มความอยากมักทำให้รู้สึกอิ่มเอมและเปิดกว้างในช่วงเวลาหนึ่ง เหมือนได้โบยบินบนท้องฟ้าด้วยปีกอันติดขี้ผึ้ง ก่อนแสงแดดจะแผดเผาให้ปีกหลุดร่วงแล้วหล่นลงสิ้นใจ ผลที่ทำไปจากความอยากนั้นจะล้อมกลายเป็นกรอบขังเราไว้ในภายหน้า ดูตัวอย่างได้จากหนี้สิน ปัญหาสุขภาพ และผลกระทบต่างๆ จากการทำตามใจอยากนั้น
.
นอกจากตัณหาแล้ว เครื่องผูดมัดใจเราไม่ให้เป็นอิสระจริงแท้ ยังมีอยู่อีกเก้าอย่าง ได้แก่ ความถือเป็นตนของตน , ความลังเลสงสัย , ความติดดี , ความโกรธ/รำคาญ , ความติดใจในรูปธรรมอันประณีต , ความติดใจในนามธรรมอันประณีต , ความถือตน , ความฟุ้งซ่าน และความไม่รู้จริงหรือไม่ยอมรับความจริง รวมเรียกว่า สังโยชน์ *(๒) เป็นกิเลส คือความมัวหมอง ที่ผูกมัดใจเราทั้งหลายเอาไว้อย่างหนาแน่น
.
ด้วยสังโยชน์นี้เองที่ทำให้เราติดอยู่ในวงจรของการเวียนว่ายกับความทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าดั่งติดอยู่ในคุก ไม่เป็นอิสระแท้จริง แม้จะมีเสรีภาพในการทำสิ่งต่างๆ ตามใจปรารถนามากเพียงใดก็ตาม เครื่องผูกทั้งสิบอย่างก็จะล่ามเราไว้ให้ได้แต่เพียงวิ่งวนไปวนมาเท่านั้น
.
ในทางกลับกัน หากลดละวางในกิเลสผูกใจเหล่านี้ แม้ภายนอกจะไม่มีเสรีภาพเท่าใด ต้องอยู่ในกฏเกณฑ์หรือกรอบหนาแน่นมากเพียงไหน ใจก็เป็นอิสระได้ ไม่เป็นทุกข์ ไม่ถูกล่ามไว้ให้วิ่งวนไปวนมา มิว่าอยู่ในที่ใด ที่นั่นก็จะเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ
.
อิสระภายในคือการปลดปล่อยตัวเองออกจากสังโยชน์ รวมทั้งสิ่งผูกมัดหรือกักขังตัวเราไว้ที่อยู่ภายในจิตใจเรานี่เอง เมื่อแกะปล่อยในสิ่งเหล่านี้แล้ว เราก็จะเป็นอิสระในทุกที่ที่เราอยู่ มีเสรีภาพในปัจจุบันขณะ โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกเลย
.
การไม่ต้องถูกความอยากและความยึดถือใดๆ ชักนำ คือเสรีภาพที่ยั่งยืนยิ่งกว่าการจะทำอะไรก็ได้ตามใจอยากยึด เมื่อใดเราถูกสองกิเลสนี้ครอบงำ ใจเราก็จะต้องวิ่งแล่นตามให้คิด พูด หรือทำ เพื่อตอบสนองต่อความอยากและความยึดถือเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีความสุขเมื่อสนองตอบเป็นรางวัลชั่วคราว เพื่อยอมรับในความทุกข์ภายหน้าอันเป็นผลพวงแท้จริง นี่มิใช่อิสระที่พึงปรารถนา
.
ความยึดถือทั้งหลายยังรวมถึงกับดักทางความคิดอีกด้วย เราคิดอะไรแบบใดจึงเป็นทุกข์ มีความเชื่อแบบไหนทำให้จำกัดตัวเองไว้ หรือคิดอะไรแล้วทำให้ไม่ลงมือทำในสิ่งที่ควร ความคิดเหล่านั้นก็คือโซ่ตรวนที่ผูกมัดเราไว้
.
การคิดที่จำกัดตัวเราไว้ มักจะเป็นการคิดที่นิยามหรือตัดสินตัวเราในทางแคบเกินไป เช่น การคิดว่าไม่มีความสามารถ ไม่มีโอกาส หรือไม่มีคุณค่า หรือเป็นการคิดที่สร้างเงื่อนไขให้กับตนเองมากจนเกินไป เช่น จะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้จึงจะมีความสุขหรือมีคุณค่าได้ จะต้องทำแบบนั้นแบบนี้ จึงจะเรียกว่าทำดีพอ นี่คือการการคิดที่สร้างเงื่อนไขให้กับตนเอง ริดรอนเสรีภาพของตนเอง
.
การคิดโทษคนอื่น โทษปัจจัยภายนอก นั่นก็อาจเป็นความคิดที่เป็นโซ่ตรวจได้เช่นกัน หากไม่ทำให้เราย้อนกลับมาทบทวนความผิดพลาดของตนด้วย
.
สังเกตได้ว่าความคิดหรือความเชื่อที่เป็นโซ่ตรวนจะปรุงแต่งมาจากสังโยชน์ทั้งสิบประการ มาจากความอยากได้ใคร่มี , ความถือเป็นตนของตน , ความลังเลสงสัย , ความติดดี , ความโกรธ/รำคาญ , ความติดใจในรูปธรรมอันประณีต , ความติดใจในนามธรรมอันประณีต , ความถือตน , ความฟุ้งซ่าน และความไม่รู้จริงหรือไม่ยอมรับความจริง ทำให้ความคิดเหล่านั้นนำมาซึ่งความทุกข์และจำกัดอิสรภาพแห่งใจ
.
เราคิดอะไร เราทำอะไร หรือพูดอะไรที่มีกิเลส เป็นความอยากหรือความยึดติดทั้งหลายครอบงำหรือเป็นแรงผลักดัน ความคิดเหล่านั้นมักทำให้เรากักขังตัวเองโดยไม่รู้ตัว
.
พฤติกรรมและการใช้ชีวิตที่เกิดจากสังโยชน์ทั้งสิบก็จะเป็นกรงขังที่จองจำตัวเราไว้ด้วยเช่นกัน โดยจะแบ่งออกมาเป็นสี่แบบคือ การกระทำด้วยความลุ่มหลง การกระทำด้วยความคิดมาก การกระทำด้วยการติดดี และการกระทำด้วยความเห็นแก่ตัว สี่ลักษณะเหล่านี้คือพฤติกรรมและการใช้ชีวิตที่มีสังโยชน์เป็นรากเหง้า
.
อิสระในพุทธศาสนา เรียกว่า วิมุตติ และ นิโรธ คือการหลุดพ้นและการดับจากเหตุแห่งทุกข์ การพ้นเสียได้จากเครื่องฉุดรั้งที่ทำให้เราเวียนว่ายตายเกิดและเป็นทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นั่นคืออิสระที่เหนือว่าอิสระทั้งหลายที่ได้ทำตามความอยาก
.
ความไม่เข้าใจในเหตุแห่งความทุกข์ ทำให้คนเราคิดไปว่า ถ้าได้ทำตามความอยาก เป็นในสิ่งที่อยาก พูดหรือแสดงออกในสิ่งที่อยากแล้ว จะทำให้พ้นจากความทุกข์ได้ เราจึงวิ่งหาเสรีภาพอยู่ในคุกที่จิตใจเราสร้างขึ้นมาเอง โดยที่ยังไม่เข้าใจความเป็นจริง
.
การตามหาเสรีภาพจากภายนอกเพียงส่วนเดียว ไม่ช่วยให้เราได้พบกับอิสระจากโซ่ตรวนอย่างแท้จริง ทำให้หลงผิดคิดไปว่าสภาพการณ์ภายนอกและสิ่งทั้งหลายนอกตัว ซึ่งล้วนแล้วเป็นอนิจจังคือไม่เที่ยงแท้จะทำให้เราไม่เป็นทุกข์ หากเป็นไปตามที่เราอยากจะให้เป็น การหลงในอิสระภายนอกเช่นนี้ทำให้เราหลงลืมความจริงไปว่า คุกและโซ่ตรวจนั้นอยู่ในใจของเราเอง สิ่งภายนอกล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจัง ที่ไม่อาจคาดหวังให้เป็นไปดังใจเสมอได้
.
ยิ่งเราผูกใจยึดติดกับ อนิจจัง สิ่งที่ไม่อาจเที่ยงแท้แน่นอนเหล่านั้น เรายิ่งหลงลืมความเป็นจริงของโลก ทำให้ อวิชชา คือความไม่รู้จริงและความไม่ยอมรับในความจริงของธรรมชาติ เพิ่มพูนทบทวี ทำให้เกิดตัณหาและอุปาทาน คือความอยากและความยึดติด ล้อมกำแพงติดกรงขังตัวเราเองไว้มากยิ่งขึ้นไป
.
ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ในคำกลอนชื่อ โลกอนิจจัง ดังนี้
.
“ตามธรรมดา ถ้าไม่มี ความเปลี่ยนแปลง
มาบังแฝง คนจะเบื่อ จนเหลือที่
จะเป็นคน ทนอยู่ ในโลกนี้
หนักเข้ามี แต่อยาก จะดับไป
ดับจากโลก เพราะโลก มันน่าชัง
แต่ใครบ้าง รู้สึก เช่นนี้ได้
เพราะโลกมี อนิจจัง บังเอาไว้
คนเราใช้ อนิจจัง ขังตัวเอง”
.
.
๒ อิสระแท้เข้าถึงได้ในชีวิตนี้
.
หากศึกษาธรรมะแต่เพียงผิวเผินเราจะรู้สึกว่าการพ้นจากทุกข์และเหตุแห่งทุกข์ตามหลักพุทธศาสนา ซึ่งเป็นอิสระอันแท้จริง เป็นสิ่งที่ยากและไกลตัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว อยู่ใกล้ตัวเรามากนัก และเข้าถึงได้ง่ายๆ อย่างไม่รู้ตัวหลายครั้งหลายคราวในชีวิตที่ผ่านมา
.
การเป็นอิสระจากกิเลสและเครื่องผูกมัดทั้งหลาย มีอยู่ห้าแบบคือ เป็นอิสระเพราะการข่มกลั้น , เป็นอิสระเพราะคุณสมบัติที่ดีช่วยค้ำจุน , เป็นอิสระด้วยการปล่อยวาง , เป็นอิสระเพราะความสงบรำงับ และเป็นอิสระเพราะการดับเหตุแห่งทุกข์สิ้นเชิง *(๓)
.
สองอย่างแรกคือ อิสระเพราะการข่มกลั้นและคุณสมบัติที่ดี เป็นอิสระแบบชั่วคราว เป็นสิ่งที่เราพอทำได้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ส่วนอีกสามอย่างหลังคืออิสระที่ถาวรมากยิ่งขึ้นไปตามลำดับ เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความเพียรในการฝึกฝนตนเอง
.
เป็นอิสระเพราะการข่มกลั้น ก็คือการที่เราหักห้ามใจตนเอง มีความอดทน มีความอดกลั้น มีความไม่ยอมแพ้ ต่อกิเลสและเครื่องผูกมัดใจต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น มีความอยากเกิดขึ้นแล้วก็อดทนและหักห้ามใจ เราก็เป็นอิสระแล้วเพราะไม่ต้องวิ่งแล่นทำตามตัณหา เมื่ออดทนและอดกลั้น เราก็เป็นนายเหนือผู้ควบคุมแล้ว แทนที่จะให้ความอยากนั้นควบคุมเรา
.
เมื่อเกิดความคิดที่บั่นทอนตนเองหรือจำกัดตนเองไว้ไม่ให้เป็นอิสระ เรารู้ตัวว่าคิดเช่นนั้นแล้ว และมีความไม่ยอมแพ้ต่อความคิดนั้น ไม่ยอมทำตาม ไม่ยอมคิดต่อ อดทนต่อกระแสความคิดลบที่เกิดขึ้นไว้ วินาทีนั้นเอง เราก็เป็นไทจากความคิดเดิมๆ เหล่านั้นแล้ว
.
อิสระจากการข่มกลั้น เป็นเหมือนการเอาก้อนหินมาทับหญ้าไว้ เมื่อนำหินออกไปหญ้าก็งอกงามขึ้นใหม่ เหมือนเราเลิกอดทนข่มกลั้นไว้เมื่อใด ความคิด ความอยาก หรือกิเลสเหล่านั้นก็จะผุดโผล่ขึ้นมาใหม่ จึงเรียกว่าเป็นอิสระชั่วคราว
.
ในอีกมุมหนึ่ง หากเราเอาหินทับหญ้าไว้ได้นานพอ มีความอดทนข่มกลั้นไว้นานพอและต่อเนื่อง หญ้าก็ตายได้เช่นกัน กิเลสและความคิดลบทั้งหลายที่ผูกมัดใจเราไว้ก็ตายจากไปได้เช่นกัน ไม่มีอะไรที่อยู่คงทนเที่ยงแท้ตลอดไป แม้แต่เครื่องผูกมัดใจต่างๆ ทั้งภายนอกและภายใน
.
ระยะเวลาของการฝึกอดทนข่มกลั้นจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้อิสรภาพแบบนี้คงทนยั่งยืนจนเกิดเป็นอิสระแบบต่อๆ ไป
.
อิสระแบบที่สองคือมีคุณสมบัติที่ดีช่วยค้ำจุน คือการที่เราใช้ข้อดีที่มีอยู่แล้วมาหักล้างกันกับกิเลสหรือสิ่งผูกมัดใจที่เกิดขึ้น หรือฝึกฝนพัฒนาตนเองจนเกิดคุณสมบัติที่เป็นคู่ตรงข้ามกับสิ่งผูกมัดใจนั้น เป็นต้นว่า เมื่อมีความโกรธครอบงำใจ เราก็ใช้เมตตาธรรม การระลึกถึงสิ่งที่ดีของอีกฝ่าย หรือความรักความปรารถนาดี หักล้างกันกับความโกรธนั้น อิสระจากอำนาจของความโกรธก็จะเกิดขึ้นได้เพราะคุณสมบัติที่ดีมาช่วยค้ำจุนหรือหักล้าง
.
เมื่อเรารู้แล้วว่าโซ่ตรวนภายในที่ผูกมัดตนเองไว้คืออะไร เราก็เพียงพิจารณาดูสิ่งตรงข้ามหรือสิ่งที่จะช่วยคัดง้างกับเจ้าโซ่ตรวนนั้น แล้วเหลียวมองดูตนเองว่าสิ่งดีๆ ที่จะช่วยค้ำจุนใจหรือหักล้างกับกิเลานั้น มีอยู่แล้วในตนเองหรือไม่ มีข้อดีอะไร มีศักยภาพอย่างไร และธรรมะอะไรอยู่ในตัวที่นำมาใช้หักล้างกับกิเลสหรือโซ่ตรวนต่างๆ ที่จำกัดตนไว้ พึงนำสิ่งเหล่านั้นออกมาใช้ด้วยการคิด การพูด และการกระทำ ใช้แสงสว่างในตัวเราเองเอาชนะความมืด
.
หากไม่มีคุณสมบัติหรือธรรมภายในที่จะช่วยหักล้างได้ หรือมีแต่ไม่มากเพียงพอ พึงสังเกตตนเองว่ายังขาดคุณสมบัติเรื่องใด เราก็เพียงพัฒนาให้ตนเองมีคุณสมบัติที่ดีเช่นนั้นให้มากยิ่งขึ้น แม้บ่มเพาะขึ้นได้เพียงนิดเดียวแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์ก็ช่วยให้เรามีอิสระมากขึ้นแล้ว เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างใหญ่โตหรือเพิ่มพูนคุณค่าในตนเองอย่างมหาศาลเพื่อเอาชนะกิเลส แค่ความดีงามเล็กๆ ที่มากขึ้น ก็ประหนึ่งแสงเทียนดวงน้อยๆ ที่ทำให้ห้องมืดมนพลันสว่างขึ้นแล้ว
.
บางครั้งอิสระแบบนี้ก็เกิดขึ้นเพราะประจวบเหมาะมีสถานการณ์หรือสิ่งดีๆ จากภายนอกมาช่วยหักล้างกับภาวะด้านลบที่มีอยู่ เช่น เศร้าเสียใจอยู่ก็มีกำลังใจจากผู้คนรอบข้างมาช่วยกระตุ้นพลังบวกในตัวเราให้ฟื้นคืน จนเป็นอิสระจากความเศร้าหมองที่เกาะกุม ตรงนี้ก็เป็นข้อดีของการมีปัจจัยภายนอกที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดอิสรภาพภายในจิตใจ ซึ่งบางครั้งเราทำลำพังด้วยตัวเองไม่ได้
.
สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลอิสรภาพภายใน จึงเป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เราสามารถเอาชนะโซ่ตรวนภายในจนปลดปล่อยตนเองให้เป็นไท หากเราสามารถเปลี่ยนหรือย้ายสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับจิตใจเรามากกว่าได้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องไม่ลืมว่าสิ่งสำคัญที่พระพุทธศาสนาเน้นย้ำ คือการพึ่งพาตนเองและการกลับมาเปลี่ยนแปลงที่ตนเอง ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงภายนอกตัว อีกทั้งเราไม่สามารถทำให้สิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวเป็นไปได้ดังใจเสมอไป
.
การเป็นอิสระเพราะคุณสมบัติที่ดีช่วยเกื้อหนุนหรือมีคู่ตรงข้ามช่วยหักล้างก็เหมือนกับการปล่อยโคหรือสัตว์กินพืช หรือกินหญ้าทั้งหลาย เข้ามาในที่ดินที่มีหญ้าอยู่รก สัตว์เหล่านั้นก็ช่วยแทะเล็มกินหญ้าให้ค่อยๆ หายไปได้ และเหมือนกับการเติมน้ำดีลงในโอ่งที่เต็มไปด้วยน้ำเสีย น้ำดีก็จะช่วยหักล้างเจือจางน้ำเสียนั้น อาจต้องใช้เวลาในการค่อยๆ เติมเต็มคุณสมบัติและสิ่งที่ดีลงในใจตนเอง แต่เราก็สามารถเป็นอิสระมากขึ้นได้ตามลำดับ หากเราไม่ใจร้อนจนเกินไปและให้โอกาสตนเอง เราก็จะเห็นวันนั้น วันที่ใจเราเป็นอิสระมากยิ่งกว่าตอนนี้
.
อิสระสองแบบแรกนี้ คือจากการข่มกลั้นและการใช้คุณสมบัติคู่ตรงข้าม เป็นอิสระที่เราเจอได้ไม่ยากในชีวิตประจำวัน แม้เป็นอิสระเพียงชั่วคราว แต่หากกระทำมากเข้าอย่างต่อเนื่องก็จะนำไปสู่อิสระอีกสามแบบที่เหลือได้ คือจากการปล่อยวาง จากความสงบรำงับ และจากการตัดขาดโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นเหมือนกับการถอนรากถอนโคนหญ้าออกไปไม่ให้โตขึ้นมาอีก
.
.
๓ ใช้ชีวิตแบบใด จึงมีอิสรภาพ :
.
สิ่งที่จะช่วยให้เราเข้าถึงอิสระแท้ในสามแบบที่เหลือมากขึ้นได้ คือการฝึกฝนตนเอง และการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ขอยกตอนหนึ่งในพระไตรปิฎกมาบอกเล่า ดังนี้ *(๔)
.
ครั้งหนึ่งนักพรตชื่อ กุณฑลิยะ ได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้า เล่าถึงการได้ไปพบกับการอวดอ้างของบรรดาสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ต่างพูดว่ามีอานิสงค์อย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ได้เห็นว่าอานิสงค์ของสิ่งที่พวกพราหมณ์เอ่ยถึงเหล่านั้นก็นำไปสู่ความขุ่นข้องขัดแย้ง จึงได้เอ่ยถามพระพุทธเจ้าว่าท่านเองมีอานิสงค์อะไร
.
ท่านทรงตอบว่า มีวิชชาและวิมุติ คือความรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมชาติและความเป็นอิสระหรือการหลุดพ้น เป็นผลของการกระทำความดีที่ผ่านมา
.
นักพรตจึงถามต่อว่า ทำอย่างไรจึงมีวิชชาและวิมุติอย่างบริบูรณ์ พระองค์ทรงตรัสตอบว่า “โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์”
.
กุณฑลิยะ ได้รับคำตอบแล้วก็เอ่ยถามว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์?”
.
“สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์”
.
“ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์?”
.
“สุจริต ๓ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์”
.
“ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มาก
แล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์?”
.
“อินทรีย์สังวรอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์”
.
โพชฌงค์ทั้งเจ็ดนั้นเป็นคุณสมบัติและสภาวะที่ดีที่ส่งเสริมให้ตื่นรู้ หลุดพ้น และเป็นอิสระ ประกอบด้วย สติ , สมาธิ , ธัมมวิจยะ (ศึกษาธรรม) , ปิติ (ความอิ่มใจ) , ปัสสัทธิ (ความสงบ) , อุเบกขา และวิริยะ
.
สติปัฏฐานทั้งสี่คือการตามรู้ในกาย เวทนา จิต และธรรม จนเห็นความเป็นไปของกาย เวทนา จิต และสภาวะธรรมชาติทั้งหลายอย่างรู้ตัว เป็นการภาวนาโดยมีฐานทั้งสี่เป็นที่ตั้งของสติและเป็นแหล่งพิจารณาให้เกิดปัญญา
.
หลักการสุจริตสามคือการทำความดี สิ่งที่เกิดประโยชน์ และถูกต้องตามธรรม ด้วยกาย วาจา และใจ *(๕) ส่วนอินทรีย์สังวร คือการสำรวมระวังในการรับรู้ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
.
กุณฑลิยะ นักเรียนใฝ่รู้ผู้ช่างสงสัย เมื่อได้รับคำตอบมาดังนี้แล้วก็ยังถามต่อว่า อินทรีย์สังวรเป็นอย่างไร ทำไมจึงช่วยให้สุจริต ๓ บริบูรณ์ได้
.
พระพุทธเจ้าทรงเมตตาตอบเพิ่มเติมว่า “…เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว หรือฟังเสียงด้วยหู หรือดมกลิ่นด้วยจมูก หรือลิ้มรสด้วยลิ้น หรือถูกต้องโผฏฐัพพะ (สัมผัส) ด้วยกาย หรือรู้ธรรมารมณ์ (อารมณ์และภาวะทางใจ) ด้วยใจแล้ว เป็นสิ่งที่ชอบหรือน่าพึงพอใจ… ก็ไม่ยินดี ไม่ขึ้งเคียด ไม่ยังความกำหนัดให้เกิด และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดีในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว
.
“อนึ่ง เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว หรือฟังเสียงด้วยหู หรือดมกลิ่นด้วยจมูก หรือลิ้มรสด้วยลิ้น หรือถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย หรือรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่ชอบหรือไม่น่าพึงพอใจ… ก็ไม่เก้อ ไม่มีจิตตั้งอยู่ด้วยอำนาจกิเลส ไม่เสียใจ มีจิตไม่พยาบาท และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดีในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว”
.
เมื่อจิตคงที่ มั่นคงดีภายใน ไม่ขึ้นกับอำนาจของกิเลส ไม่ยินดี ไม่เสียใจ ไม่พยาบาท หรืออยากได้ใคร่มี เป็นไปอย่างอิสระ หลุดพ้นดีแล้ว ย่อมส่งเสริมให้การกระทำทางกาย วาจา และใจ เป็นการกระทำที่สุจริต ไม่ก่อโทษ ไม่ก่อทุกข์ และไม่เกิดผลเสียใดๆ จึงเรียกได้ว่าการสำรวมระวังในการรับรู้ ทำให้เกิดการกระทำที่ถูกต้องและเป็นอิสระ
.
หากเราต้องการมีชีวิตที่มีเสรีภาพ ต้องเริ่มจากการมีอินทรีย์สังวร เราสามารถมีอินทรีย์สังวรได้ก็ด้วยการมีสติเมื่อรับรู้ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ปล่อยให้ไหลไปตามอารมณ์ การคิด และการปรุงแต่งจากการรับรู้เหล่านั้น การกระทำของเราก็จะไม่ถูกผูกมัดไว้ด้วยโซ่ตรวนภายใน
.
หากรับรู้โลกผ่านอายตนะทั้งหลายอย่างขาดสติแล้ว เมื่อนั้นความอยากและความยึดติดก็จะเกิดขึ้น เราก็จะถูกร้อยรัดไว้ด้วยการปรุงแต่งที่สร้างขึ้นมา การกระทำทั้งหลายก็จะไม่ถูกต้อง ไม่สมดุลพอดี และไม่เหมาะสม เพราะรับรู้โลกผิดตั้งแต่ต้น การคิด การพูด และการกระทำก็ผิดตาม เหมือนติดกระดุมเม็ดแรกผิดไปแล้ว เม็ดอื่นๆ ต่อมาก็จะพลาดตาม
.
การกระทำทางกาย วาจา และใจที่ถูกต้อง เหมาะสม และพอดี ก็จักช่วยส่งเสริมให้การพิจารณากาย เวทนา จิต และธรรม หรือสติปัฏฐานสี่เป็นไปได้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ เมื่อนั้นแล้วต้นกล้าแห่งการตื่นรู้ หรือโพชฌงค์ ๗ ก็จะเติบใหญ่ เพราะการฝึกเจริญสมาธิภาวนา กับการมีสติสังเกตเห็นความเป็นไปในกาย เวทนา จิต และธรรม ย่อมทำให้เราได้หล่อเลี้ยงต้นกล้าแห่งสติ สมาธิ ธัมมวิจยะ ปิติ ปัสสัทธิ อุเบกขา และวิริยะให้เติบโต
.
พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึง โพชฌงค์ ๗ ไว้ว่า
.
“โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อละธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์
.
“ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์เป็นไฉน? จักษุเป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ เครื่องผูก เครื่องจองจำ คือ สังโยชน์เหล่านั้น ย่อมเกิดที่จักษุนี้ หู …จมูก … ลิ้น … กาย …ใจเป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ เครื่องผูก เครื่องจองจำ คือ สังโยชน์เหล่านั้น ย่อมเกิดที่ใจนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้ เรียกว่าธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์” *(๖)
.
สังโยชน์ คือกิเลสหรือความมัวหมองทั้งหลายที่ผูกมัดจิตใจไว้มิให้เป็นอิสระจากทุกข์ ซึ่งที่ตั้งของเครื่องผูกใจเหล่านี้ เปรียบเสมือนที่ผูกโซ่ล่ามตัวเราไว้ ท่านกล่าวว่าก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของเรานั่นเอง
.
เมื่อไม่มีสติในการรับรู้โลก อายตนะก็กลายเป็นที่ล่ามโซ่ผูกตัวเราไว้ให้เวียนว่ายตายเกิดกับความทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งการมีสติ สมาธิ ธัมมวิจยะ ปิติ ปัสสัทธิ อุเบกขา และวิริยะก็จะช่วยให้เราปลดพันธนาการตนเองออกมาได้
.
พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสอีกว่า “มรรคาใด ปฏิปทาใด ย่อมเป็นไปเพื่อความดับตัณหา เธอทั้งหลายจงเจริญมรรคานั้น ปฏิปทานั้น มรรคาและปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความดับตัณหาเป็นไฉน? คือ โพชฌงค์ ๗” *(๗)
.
ตัณหาหรือความอยากนั้น เป็นตัวที่ทำให้เราเกิดความยึดมั่น เกิดความยุ่งยาก และเงื่อนไขต่างๆ ในชีวิตที่ย้อนมาผูกมัดตัวเราเอง เมื่อละออกไปเสียได้ ความยึดมั่นก็จะไม่มี ความยุ่งยากก็จะหายไป เราก็จะไม่ถูกเงื่อนไขต่างๆ ที่สร้างขึ้นเองผูกมัดอีกต่อไป
.
ดังนั้นแล้ว ชีวิตที่จะมีอิสระและเสรีภาพอย่างแท้จริง ต้องเป็นชีวิตที่ส่งเสริมให้เราได้ใช้กาย วาจา และใจเพื่อทำให้มีคุณสมบัติดีๆ ทั้งเจ็ดประการ คือการมีสติ มีสมาธิ ความมุ่งมั่นตั้งใจ ความสงบ ความวางใจเป็นกลาง การศึกษาธรรม ความอิ่มใจหรือรู้จักพอใจ เรียกว่า โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ให้เจริญมากยิ่งขึ้นต่อไป
.
หากเรายังรู้สึกว่าการจะทำให้มี โพชฌงค์ เกิดขึ้นบริบูรณ์ไม่ใช่เรื่องง่าย การจะทำให้มีอินทรีย์สังวรไม่ใช่เรื่องง่าย การจะทำให้ชีวิตส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงแนะนำเพิ่มเติมว่า
.
“เมื่อเรือเดินสมุทรที่ผูกด้วยเครื่องผูก คือหวาย แช่อยู่ในน้ำตลอด ๖ เดือน เขายกขึ้นบกในฤดูหนาว เครื่องผูกต้องลมและแดดแล้ว อันฝนตกรดแล้ว ย่อมจะเสียไป ผุไป โดยไม่ยากเลย แม้ฉันใด เมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ สังโยชน์ทั้งหลายย่อมสงบหมดไป โดยไม่ยากเลย ฉันนั้นเหมือนกัน”(*๘)
.
การเจริญอริยมรรคก็คือการใช้ชีวิตด้วยหลักมรรคทั้งแปดประการ นั่นก็คือการมีความเชื่อที่เหมาะสม พอดี และเป็นประโยชน์ , การคิดที่เหมาะสม พอดี และเป็นประโยชน์ , การสื่อสารที่เหมาะสม พอดี และเป็นประโยชน์, ความประพฤติที่เหมาะสม พอดี และเป็นประโยชน์ , การหาเลี้ยงชีพที่เหมาะสม พอดี และเป็นประโยชน์ , ความเพียรที่เหมาะสม พอดี และเป็นประโยชน์ , มีสติ และ มีสมาธิ อย่างเหมาะสม พอดี และเป็นประโยชน์ ทั้งหมดนี้รวมกันก็จะช่วยให้เครื่องผูกใจของเรานั้นเปื่อยยุ่ยและผุสลายลงไปอย่างง่ายดาย
.
เพียงปรับการใช้ชีวิตใหม่ให้ทั้งแปดด้านของชีวิตได้รับการดูแล ทำให้ดีขึ้น และมีความสมดุลพอดี ที่ทุ่มเทใส่ใจกับด้านใดมากเกินไปก็ลดน้อยลงมาให้เกิดประโยชน์ ที่ละเลยหรือไม่ค่อยใส่ใจในด้านใดก็เพิ่มเติมปรับเปลี่ยนให้เปลี่ยนแปลง
.
ปริศนาธรรมที่พระองค์ตรัสถึงว่า “แช่อยู่ในน้ำตลอด ๖ เดือน” มีนัยหมายถึงการใช้ระยะเวลาในการบ่มเพาะตนเองผ่านการใช้ชีวิตบนหลักมรรค ๘ แม้ในช่วงแรกการแก้คลายจากสังโยชน์ที่รัดรึงไว้จะเป็นเรื่องยากนัก แต่หากดำรงชีวิตบนทางสายแปดประการนี้ต่อไป เมื่อถึงเวลาหนึ่งที่ปัจจัยทั้งหลายเพียบพร้อม มันก็จะเปื่อยยุ่ยไปเอง ดั่งในปริศนาธรรรมที่เขายกเรือขึ้นตากแดดตากลมในฤดูหนาว อีกทั้งยังเจอฝนตกรดใส่ เครื่องผูกย่อมจะเสียไป ผุไป โดยไม่ยาก
.
การจะใช้ชีวิตบนหลักแปดประการนี้อย่างมั่นคงแข็งแรงได้ ต้องมีชีวิตที่ตั้งอยู่ในศีลคือการครองตนในหลักที่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบว่า “พืชคามและภูตคาม (สิ่งทั้งปวง) ทั้งหมดนั้น อาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่บนแผ่นดิน ย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ พืชคามและภูตคามเหล่านี้ ย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ด้วยประการฉะนี้ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันแล อาศัยศีลตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญ ทำให้มากซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย” *(๓)
.
ศีล ที่พระองค์ทรงสอน หมายถึง ปาริสุทธิศีล ๔ คือการครองตนอย่างไม่บกพร่องสี่ประการ ดังนี้
.
“ปาฏิโมกขสังวรศีล” คือความไม่บกพร่องในการสำรวมระวังในกฏข้อห้ามทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับตนเองตามบริบทและหน้าที่ , “อินทรียสังวรศีล” คือความไม่บกพร่องในการสำรวมระวังในการรับรู้ผ่านอายตนะ , “อาชีวปาริสุทธิศีล” คือความไม่บกพร่องในการทำงานหาเลี้ยงชีพอย่างเหมาะสมในทางที่เหมาะควร และสุดท้าย “ปัจจัยสันนิสิตศีล” คือความไม่บกพร่องในการบริโภคกับการใช้สอยปัจจัยดำรงชีพอย่างเหมาะสมและเหมาะควร
.
การใช้ชีวิตอยู่บนศีลธรรมที่ดี มีหลักในการครองตน มีวินัยในการกำกับดูแลพฤติกรรมของตนเอง และรู้จักความพอประมาณ เมื่อนั้นแล้วเราย่อมก้าวไปบนเส้นทางแปดประการที่เรียกว่า อริยมรรค อันแปลว่าหนทางสู่ความเจริญได้อย่างมั่นคงและแน่วแน่ หนทางเช่นนี้เองที่นำเราไปสู่เสรีภาพภายในที่แท้จริง ซึ่งมิใช่เรื่องที่ยากเลย เชือกหวายใดที่ผูกมัดใจไว้ มันมิอาจผูกพันเช่นนั้นได้ตลอดไป เพียงแค่เราต้องก้าวต่อไปทีละก้าวน้อยๆ อย่างไม่ย่อท้อ
.
.
๔ พัฒนาตนดีแล้วก็ต้องระวัง
.
อิสระของคนทั่วไปและผู้เริ่มต้นฝึกฝนจิตใจตนเอง ยังมิได้บรรลุธรรมมากเพียงพอที่จะละวางจากสังโยชน์ทั้งหลายได้อย่างไม่หวนกลับไปหาอีก อิสระและการหลุดพ้นที่เกิดขึ้นจึงยังเป็นเรื่องชั่วคราว มีจิตใจที่เติบโตขึ้นแล้วก็อาจแห้งเฉาลงได้ ที่เคยสลัดหลุดไปแล้วก็อาจหวนยึดใหม่ ลักษณะเช่นนี้พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า ผู้มีจิตหลุดพ้นในสมัย คือเป็นอิสระแต่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว เป็นไปแค่เฉพาะกาล ยังมิได้เป็นไปโดยตลอดไม่ย้อนกลับ
.
ในที่นี้ขอยกสิ่งที่ต้องระวังสามประการด้วยกัน ซึ่งสามารถทำให้อิสรภาพที่จิตใจมีถึงความเสื่อมถอยลงไป ทำให้สังโยชน์หรือเครื่องผูกมัดใจอย่างใดที่คลายออกไปบ้างแล้วย้อนกลับมาผูกพันใหม่ อันได้แก่
.
หนึ่งไม่พิจารณาจิตใจตนเองในช่วงแรกที่จิตใจเรายังถูกผูกมัดด้วยกิเลสแน่นหนาเราเห็นทุกข์เกิดขึ้นอย่างชัดเจนตั้งใจหมายมั่นที่จะพัฒนาตนตอนนั้นเราอาจทบทวนจิตใจและสิ่งที่ตนเเป็นอย่างดีคอยดูแลอย่างระมัดระวังและหมั่นขัดเกลาด้วยความพากเพียรแต่ครั้นแล้วเมื่อเราพัฒนาตนเองมากพอจนจิตใจคลายจากความทุกข์และบางสิ่งซึ่งเคยถูกผูกมัดก็มีความประมาทไม่พิจารณาจิตใจตนเองต่อ
.
จนในที่สุดสิ่งที่เคยหลุดพ้นก็ย้อนกลับมาจ่อมจมใหม่ เมื่อเกิดความยึดมั่นและกิเลสเข้าเกาะกุมก็ไม่รู้สึกตัว หลงคิดว่าตนพัฒนาตนองมาดีแล้ว ปล่อยวางแล้ว ทำให้การพัฒนาที่เคยสั่งสมมาและอิสระที่มีก็ถูกบั่นทอนลงไป
.
ในข้อนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ความเป็นผู้ชอบทำการงาน , ความเป็นผู้ชอบคุย , ความเป็นผู้ชอบนอน , ความเป็นผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ และไม่พิจารณาจิตที่หลุดพ้นแล้วอย่างไร ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ผู้มีจิตหลุดพ้นในสมัย” *(๙)
.
คำว่า ความเป็นผู้ชอบทำงาน และ ความเป็นผู้ชอบคุย มิได้หมายความว่าการมีความเพียรในการทำงานเป็นสิ่งที่ไม่ดี และมิได้หมายความว่าการเป็นผู้ช่างพูดช่างเจรจาเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่มีความหมายว่า การใส่ใจทำงานหรือกิจต่างๆ มากเกินไปจนหลงลืมการพัฒนาตนเอง และการชอบพูดคุยจนส่งจิตออกไปนอกตัวมิได้สำรวมระวังกลับมาที่ตนเอง ต่างเป็นสิ่งที่บั่นทอนอิสรภาพแห่งใจและการพัฒนาตนเอง เช่นเดียวกันกับการชอบนอนหลับพักผ่อนกับการชอบคลุกคลีกับหมู่คนจนหลงความน่าเพลิดเพลิน มิได้ให้เวลากลับมาพิจารณาตนเอง
.
พระพุทธเจ้ายังตรัสสอนที่คล้ายคลึงกันอีกว่า “ความเป็นผู้ชอบทำการงาน , ความเป็นผู้ชอบคุย , ความเป็นผู้ชอบนอน , ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย และความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ผู้มีจิตหลุดพ้นในสมัย” *(๑๐)
.
ในคำตรัสนี้มีข้อแตกต่างจากชุดแรกอยู่สองส่วน ได้แก่ ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย หมายถึง ไม่สำรวมระวังในการรับรู้ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ กับความเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในโภชนะ ทั้งสองอย่างนี้รวมกันในความไม่สำรวมระวัง
.
โภชนะ หมายถึง การบริโภค ซึ่งรวมทั้งการกินและการเสพ ความไม่สำรวมในการบริโภคนี้ก็ทำให้ความอยากพอกพูน ทำให้จิตไม่อยู่บนทางสายกลางที่ส่งเสริมอริยมรรค ทำให้เกิดอารมณ์รบกวนใจ ทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรงหรือมีภาวะไม่มั่นคง และทำให้มีความเฉื่อยเนือยไม่มีกำลังจิตที่จะพิจารณาหรือพัฒนาตนเอง
.
ดังนั้นแล้ว การไม่สำรวมระวังในการรับรู้และการบริโภค จึงเป็นข้อที่สองของสิ่งที่เราต้องระวัง หากเราไม่ต้องการให้อิสระที่มีหรือคุณสมบัติใดๆ ที่เราได้พัฒนาตนเองเสื่อมถอยลง จนกลับไปยึดติดกับสังโยชน์และสิ่งผูกใจทั้งหลายที่เคยคลายมาแล้ว
.
ข้อที่สาม คือการขาดวินัยและความเพียร ในเมื่ออิสระและสิ่งที่เราได้พัฒนาตนเองนั้นยังเป็นภาวะชั่วคราวอยู่ ยังไม่ใช่การหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิงแล้ว เมื่อไม่มีวินัยและความเพียรในการฝึกฝนและทบทวนตนเองอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ได้บ่มเพาะตนก็ย่อมแห้งเฉาเสื่อมถอยลง เปรียบดั่งการดูแลต้นไม้ในไร่สวน หากไม่มีวินัยในการให้น้ำและทะนุบำรุงดูแล ต้นไม้ที่โตขึ้นมาแล้วก็ย่อมจะแห้งเฉาและตาย
.
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เครื่องผูกมัดจิตให้เฉื่อยเนือยขาดวินัยและความเพียร มีอยู่ห้าประการได้แก่ การไม่ปราศจากความกำหนัด พอใจ รัก กระหาย เร่าร้อน และตัณหา ในกาม คือความน่าใคร่อยากปรารถนา , การไม่ปราศจากความกำหนัด พอใจ ฯ ในร่างกาย , การไม่ปราศจากความกำหนัด พอใจ ฯ ในรูป หรือวัตถุ มวลสาร และธาตุทั้งหลาย , การไม่ปราศจากความกำหนัด พอใจ ฯ ในการพักผ่อนนอนหลับ และความปรารถนาที่จะเกิดเป็นเทวดา หรือในภพภูมิและสิ่งที่ดีกว่า ล้วนแล้วแต่ผูกมัดจิตใจไว้ไม่ให้มีความเพียรมากพอที่จะฝึกฝนตนเองจนเป็นอิสระ *(๑๑)
.
กล่าวโดยสรุปง่ายๆ ว่า ความลุ่มหลงและความอยากได้ใคร่มีเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ฉุดใจให้เฉื่อยเนือยลงจนขาดความเพียรและวินัย คือความลุ่มหลงฯ ในความน่าหลงไหลเพลิดเพลินจากการรับรู้ ในร่างกายตนเองหรือผู้อื่น ในรูปธรรมและวัตถุทั้งหลายทั้งปวง ในการนอนหลับพักผ่อน และในการฝันกลางวัน
.
ความลุ่มหลงนั่นเองที่ทำให้ใจขาดกำลัง ทำให้พลังความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองหรือทำสิ่งที่ดีพลอยหดหายไปด้วย หากเราปรารถนาที่จะมีกำลังใจและวินัยอยู่เสมอ เราจักต้องสำรวมระวังการรับรู้และใจมิให้ไปลุ่มหลงในสรรพสิ่งต่างๆ เมื่อนั้นจิตใจเราก็จะมั่นคงอยู่ในปัจจุบัน เช่นนั้นแล้วก็จะมีพลังที่จะมุ่งมั่นและทำสิ่งต่างๆ อย่างต่อเนื่องเอง เปรียบเหมือนกับเวลาเรายืนบนพื้น หากยืนไม่มั่นคง ขาอ่อนแรง หรือขาข้างหนึ่งยกโอนเอน กำลังที่จะผลักหรือต้านทานแรงต่างๆ ก็ย่อมมีน้อยลง
.
ธรรมะและข้อคิดทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่สรุปรวมอยู่ในธรรมอย่างเดียวกัน คือความไม่ประมาท ซึ่งเป็นธรรมะอย่างสุดท้ายที่พระองค์ทรงฝากไว้แก่ภิกษุและลูกศิษย์ของท่านทั้งหลายที่ได้พัฒนาตนเองมาดีแล้ว แต่ก็ยังต้องคุ้มครองตนจากสิ่งบั่นทอนอย่างน้อยสามข้อนี้
.
เมื่อเรากำมือได้ เราก็แบมือได้ เมื่อมีความหมายมั่นได้ ก็ปล่อยวางได้เช่นกัน แต่ในเมื่อฝึกแบมือ คลายจากการยึดถือมาพอควรแล้ว มิว่านานเพียงใด หากไม่ระวังในมือนั้น เราก็สามารถเผลอกำใหม่
.
ทั้งการกำและการแบ คือเสรีภาพที่จิตมีอยู่แล้ว เราคือผู้เลือกเองว่าจะยึดติด หรือปล่อยให้เครื่องผูกมัดจิตที่เรียกว่าสังโยชน์กักขังอิสรภาพต่อไปหรือไม่ มิใช่ปัจจัยภายนอกเป็นผู้กำหนด หากเป็นตัวเราเอง ลองย้อนมองที่มือตนเองในตอนนี้ เรากำลังเลือกอะไร
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ ๕๕
> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์–ไกด์โลกจิต/
> > > สามารถสนับสนุนโครงการ ผ่านคอร์สของเรา
*(๑) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ–ธรรมบท–อุทาน–อิติวุตตกะ–สุตตนิบาต ๕. กามสูตร
*(๒) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก–เอกาทสกนิบาต สังโยชนสูตร
*(๓) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๓ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาวรรค วิเวกกถา สาวัตถีนิทาน
*(๔) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค กุณฑลิยสูตร ตถาคตมีวิชชาและวิมุติเป็นผลานิสงส์
*(๕) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค หมวด ๓
*(๖) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เอกธัมมสูตร โพชฌงค์ ๗ ย่อมเป็นไปเพื่อละธรรมเป็นที่ตั้งสังโยชน์
*(๗) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
นิโรธสูตร ปฏิปทาเป็นไปเพื่อดับตัณหาคือโพชฌงค์
*(๘) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค นาวาสูตร ผู้เจริญอริยมรรคทำให้สังโยชน์สงบหมดไป
*(๙) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก–ฉักกนิบาต ๙. สมยวิมุตตสูตรที่ ๑
*(๑๐) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก–ฉักกนิบาต ๑๐. สมยวิมุตตสูตรที่ ๒
*(๑๑) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก–อัฏฐก–นวกนิบาต วินิพันธสูตร