เปลี่ยนคำถาม เปลี่ยนชีวิต

 

“เปลี่ยนคำถาม เปลี่ยนชีวิต”

เนื้อหาต่อยอดจากการอบรม “ห้องเรียน วิถีครู” รุ่นที่ 6

 

การตั้งคำถามต่อตนเองเป็นการกำหนดวิธีคิดและการตัดสินใจ ซึ่งจะส่งผลไปยังท่าทีที่มีต่อสถานการณ์ในชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม จิตใจนั้นมีการตั้งคำถามอยู่แล้วเป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะเมื่อกำลังเผชิญกับจุดหวั่นไหว – ขอบรอยต่อระหว่างพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่เสี่ยง รวมถึงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตในช่วงวัยต่างๆ

คำถามที่ดีมักทำให้เกิดการสะกิดใจให้ฉุกคิดและตัดสินใจอย่างเหมาะสม ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การต่อยอด และการเติบโตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะคำถามเป็นเครื่องมือของธรรมชาติที่มอบให้มนุษย์ไว้ใช้รับมือกับความเปลี่ยนแปลง เป็นเครื่องมือในการแสวงความรู้และสร้างมิตรแท้ที่เติบโตไปด้วยกัน มิว่าเขาจะอยู่ในฐานะนักเรียน เพื่อน หรือกระทั่งตัวเราเองก็ตาม

ขณะเดียวกันคำถามที่ไม่ดีมักเป็นการตอกย้ำและกักขังเราไว้ในวิธีคิดและวิธีการแก้ปัญหาที่วกวนไม่สิ้นสุด โดยไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ความสุข และการบรรลุจุดหมายเท่าที่ควร

การถามอย่างตอกย้ำเช่นว่า “ทำไมจึงเป็นแบบนี้” “ทำไมจึงเป็นแบบนั้น” ซึ่งทำให้เรากล่าวโทษสิ่งต่างๆ มิว่าตนเองหรือผู้อื่น แต่ไม่ทำให้เห็นหนทางในการก้าวออกจากความมืดมนตรงหน้านั้นเลย มันเป็นคำถามที่ไร้ประโยชน์เพราะแค่ทำให้เราโกรธ เศร้าหมอง และอยากเอาชนะ แต่ไม่เกิดปัญญา

การโฟกัสไปที่ปัญหาและถามซ้ำๆ ไม่สิ้นสุด เช่น “ทำอย่างไรจึงจะแก้ไขเรื่องนี้ได้” “ทำอย่างไรจึงจะทำได้สำเร็จ” อาจไม่ใช่คำถามที่เหมาะสม หากเมื่อถามแล้วคำตอบก็ยังเวียนวนในแบบเดิม และไม่ช่วยให้เกิดมุมมองที่นำไปสู่การพัฒนาให้ดีขึ้น

การตั้งคำถามโดยโฟกัสไปยังปัญหามากเกินไปก็เปรียบเหมือนการอยู่ในบ้านที่ไฟกำลังลุกไหม้ แต่มัวจ้องไปยังกองเพลิง แทนที่จะมองหาทางออก

ลองกลับมาตั้งคำถามใหม่ว่า ตอนนี้ยังมีโอกาสอย่างไร ? ประสบการณ์นี้สอนอะไรกับฉันบ้าง ? ฉันจะเริ่มต้นใหม่อย่างไร ? มีสิ่งใดที่ยังเหลืออยู่บ้างในตอนนี้ ? คำถามปลายเปิดทางใจที่พาให้สามารถเปิดทางออกจากกองเพลิงได้

คำถามประเภทปลายปิดที่ปิดทั้งใจและข้อความ เช่น “ฉันจะดีขึ้นกว่านี้ได้ไหม” “ชาตินี้จะทำได้ไหม” ก็ไม่ได้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเห็นคุณค่าในตนเอง และการถามคนอื่นในลักษณะเดียวกันก็ไม่ทำให้เกิดการสื่อสารที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการเติมเต็มความต้องการ

การตั้งคำถาม เปรียบเหมือนการเลือกเคาะประตู หากเคาะแล้วประตูบ้านนั้นไม่เปิดออก เราอาจต้องให้เวลาแล้วรอคอย เพราะคำถามที่ดีหลายข้อต้องใช้เวลาในการใคร่ครวญ เรียนรู้ และอยู่กับตนเอง การเร่งรัดให้ตอบคำถามโดยไม่ได้เผื่อเวลาในการพิจารณา อาจได้เพียงคำตอบที่ตื้นเขิน

แต่หากรอแล้วรอเล่า เคาะซ้ำบ่อยครั้ง ประตูบานนั้นก็ไม่เปิดออก การเลือกไปเคาะบ้านใหม่หรือหาหนทางอื่น จึงเป็นการเลือกที่ดูเหมาะสมกว่า เช่นเดียวกัน เมื่อคำถามเดิมๆ ที่เคยถามตนเองและคนอื่น ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เหตุใดจึงเราจะเฝ้าย้ำคำถามเดิมๆ ไม่สิ้นสุด

เดิมผมเองก็เฝ้าถามในการทำโครงการธรรมวรรณศิลป์ในแต่ละปีว่า “ปีนี้อยากทำกิจกรรมอะไร” “จะขอทุนได้เท่าไหร่” “จะขอทุนจากที่ใดบ้าง” และการดำเนินงานของเราก็วนเวียนอยู่กับการขอทุนและความเครียดในการหาทุนให้ทันเวลา ปีแล้วปีเล่า

กระทั่งวันหนึ่งเมื่อวิธีการนี้นำมาสู่ความล้มเหลว ผมจึงเริ่มตั้งคำถามใหม่ว่า ทำอย่างไรให้การทำกิจกรรมเพื่อสังคมมั่นคงและพึ่งพาตนเองได้ ? ซึ่งนั่นก็นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่ทำให้เราลดการขอทุนต่างๆ จนกระทั่งดำเนินงานโดยไม่พึ่งพาสปอนเซอร์ในทุกวันนี้

ตอนผมอายุน้อย ยังเป็นหนุ่มที่เศร้าหมอง ผมมักถามตนเองว่า “ทำไมใครๆ ก็ทิ้งฉันไปในเวลาที่ต้องการ” ซึ่งยิ่งคิดยิ่งถามก็ทำให้ถลำลึกลงในหลุมแห่งความซึมเศร้ามากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อได้จับปากกาเยียวยาตนเอง คำถามในใจนี้ก็เริ่มเปลี่ยนไป… ไม่ใช่ใครๆ ก็ทิ้งฉันไป แต่ฉันก็ทอดทิ้งตัวเองไปอย่างไร ? แล้วคำถามนี้ก็นำผมมาสู่การรักตัวเอง

“เมื่อไหร่จะเจอคนที่ใช่” “ทำไมมีแต่คนแย่ๆ เข้ามา” การถามตนเองแบบนี้ก็ไม่ก่อให้เกิดแสงสว่างในชีวิต เพราะเราจดจ้องไปยังความมืดและความรู้สึกผิดหวังมากเกินไป จนหลงลืมแสงสว่างซึ่งจริงๆ แล้วก็อยู่ใกล้ตัว

เราต้องเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นการตั้งคำถามด้วยอารมณ์ ให้เป็นการตั้งคำถามด้วยปัญญาแทน ทุกครั้งที่เราถามคำถามด้วยอารมณ์ มันมักเป็นเพียงการตอกย้ำ เฝ้าบ่น และคิดวนเวียน แต่การถามด้วยปัญญา แม้ยังไม่เจอคำตอบ ก็เหมือนเจอแสงสว่างนำทางแล้ว คำถามที่ทรงพลังเพียงได้ถามแม้ยังไม่เจอคำตอบ การเปลี่ยนแปลงก็เริ่มเกิดขึ้น

เราอาจเปลี่ยนคำถามให้กับตนเองใหม่เช่น ฉันเป็นคนที่น่ารักอย่างไร มีคุณสมบัติใดที่ดีในตัวฉัน ? ฉันเป็นคนที่ใช่ให้กับตัวเองแล้วหรือยัง ? ฉันต้องการดึงดูดคนแบบใดเข้ามาและฉันจะเป็นเช่นนั้นก่อนอย่างไร ?

คำถามที่ถามแล้วถามอีกแต่ไม่ทำให้อะไรๆ ดีขึ้นเลย มันก็ไม่ต่างจากการพยายามเอาลูกกุญแจที่ผิดพยายามไปไขแม่กุญแจครั้งแล้วครั้งเล่า เราต้องลองถามใหม่ หรือถามให้ลึกและกว้างขึ้นกว่าเดิม

การตั้งคำถามเป็นส่วนหนึ่งของการฝึก “โยนิโสมนสิการ” – การพิจารณาอย่างแยบคาย เพื่อสืบสาวลงไปสู่ต้นเหตุและนำไปสู่การหาทางออกจากทุกข์และปัญหาต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่ “วิชชา” คือความตื่นรู้

คำถามที่ดีไม่ได้เกิดขึ้นจากความโลภ โกรธ และหลง แต่เกิดเพราะสติ สมาธิ และปัญญา คำถามที่เกิดขึ้นจากกิเลสและความขาดสติ มักเป็นการเพียงบ่น การตอกย้ำ การถามอย่างฟุ้งซ่าน การตั้งคำถามลอยๆ และการถามเพื่อที่จะเอาชนะ ซึ่งไม่นำไปสู่ปัญญาและการพ้นทุกข์ อาจทำให้เราถือมั่นในทิฐิคือความคิดความเห็นของตนเองมากขึ้น

คำถามที่ดีจะไม่ทำให้เราโลภ โกรธ และหลงมากขึ้น แต่จะทำให้เราได้สติ สมาธิ และปัญญามากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยการกลับมาอยู่กับตนเอง และการทดลองเปลี่ยนแปลงคำถามเจอเราได้เจอกับลูกกุญแจที่ใช่

ประสบการณ์ล่าสุดของผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือการพยายามแก้ไขปัญหาแมวจรมาถ่ายหลังบ้าน – สำนักงานโครงการของเรา วันละเฉลี่ย 4 ก้อน คำถามแรกๆ ของเราคือ “จะไล่แมวอย่างไร” “จะทำอย่างไรไม่ให้มาอึที่นี่” ซึ่งเราก็ทดลองใช้สารพัดวิธีการตั้งแต่ลูกเหม็น พริกไทย น้ำส้มสายชู สารเคมี ตะโกนไล่ ฯ โดยไม่มีวิธีใดได้ผล และทำให้การอยู่อาศัยเป็นเรื่องยากขึ้นเมื่อต้องดมกลิ่นสารต่างๆ เหล่านี้เสียเอง และทำให้เกิดความเครียดขึ้นมาในใจ

เราตั้งคำถามใหม่เป็น “จะป้องกันไม่ให้แมวเข้ามาได้อย่างไร” แต่เมื่อดูแล้วคงเป็นไปได้ยาก และวิธีการที่ทำได้ก็จะต้องทำให้บ้านเสียข้อดีที่ความเปิดโล่งและความเป็นธรรมชาติไป ด้วยความที่เหล่าแมวพวกเขาเคยใช้พื้นที่บ้านนี้ก่อนเราเข้าไปอยู่ยาวนาน จึงทำให้เกิดคำถามใหม่ในใจผมว่า “พวกเขาก็เหมือนเราอย่างไร” “หากเราเป็นฝ่ายถูกไล่เสียเองจะทำให้รู้สึกอย่างไรบ้าง” ซึ่งนั่นก็นำมาสู่การเรียนรู้สังเกตนิสัยของพวกเขา จนทำให้เห็นว่าเราก็คล้ายพวกเขาเสียเหลือเกิน

จึงเริ่มทดลองคำถามใหม่ว่า “จะทำอย่างไรให้ถ่ายเป็นที่เป็นทาง” “จะอยู่ร่วมกันอย่างไร” เราเปิดดินหลังบ้านสำหรับขุดฝังและทำให้พวกเขารู้ว่าตรงนี้ถ่ายได้ จึงช่วยลดความลำบากในการล้างทำความสะอาด แม้จะเป็นภาระที่ต้องทำทุกวัน แต่ความเครียดก็ลดลงเป็นอย่างมาก

จนกระทั่งพวกเราได้ไอเดียว่า อาจลองให้อาหารพวกเขาดู เผื่อพวกเขาจะไม่มาถ่ายที่นี่ และบางท่านก็แนะนำให้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้พวกเขาเมตตา

ผลปรากฎว่าพวกเขาไม่ปล่อยอึหลังบ้านเราได้สักพัก ก่อนจะกลับมาถ่ายใหม่ ความรู้สึกดีใจที่มีในตอนแรกก็พลันหายไป แต่สิ่งที่ดีที่เริ่มสังเกตเห็นก็คือ อุจาระของพวกเขาดูมีสุขภาพที่ดีขึ้น และการที่พวกเราเป็นผู้ให้อาหาร ความผูกพันก็เริ่มเกิดขึ้น และความรู้สึกชังในการต้องเก็บฝังอึของพวกเขาก็ลดลงไป

แม้จะมีผู้แนะนำการไล่แมวออกไปไม่ให้ถ่าย ผมก็เริ่มสงสัยว่า “หากเราทำให้แมวจรไม่อึที่นี่สำเร็จ พวกเขาจะไปอึที่ใด และจะทำให้ชุมชนหรือชาวบ้านหลังอื่นลำบากแทนพวกเราหรือไม่” ในขณะที่พวกเราได้กลายเป็นผู้ให้อาหารแมวจร ซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านต้องลำบาก แบบเดียวกับที่เราเคยลำบากมาก่อนทั้งตอนเพิ่งย้ายมาและหลังก่อนหน้า คงจะดีกว่าหรือไม่หากเราในฐานะผู้ให้ทานแล้วก็เป็นฝ่ายเก็บผลลัพธ์ของอาหารเหล่านั้นเสียด้วย มิให้ไปสกปรกที่อื่นในหมู่บ้าน

ทั้งหมดนี้ทำให้ผมเริ่มใคร่ครวญว่า “โจทย์นี้เป็นบททดสอบเราและโครงการอย่างไร” “การดูแลพวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาจิตใจของเราด้วยหรือไม่” และ “หากถือว่าการดูแลแมวจรเหล่านี้เป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการกุศลของสถาบันฯ จะช่วยแก้ปัญหาชุมชนอย่างไร และต้องทำอะไรบ้าง”

จากคำถามทั้งหลายที่ได้ทดลองและหาคำตอบ สุดท้ายแล้วไม่ช้าก็เร็วเราจะได้เจอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ขอเพียงเราไม่ถามคำถามเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่ายึดติดในคำถามเดียว และอย่ายึดติดในคำตอบเดียว ปล่อยให้การตั้งคำถามเป็นดั่งการเดินทางของความคิดและจิตใจ การแสวงหานี้ย่อมนำเราไปสู่ปลายทางแห่งปัญญาที่เราไม่อาจคาดคิดไว้ในตอนแรก

 

ครูโอเล่ สถาบันธรรมวรรณศิลป์

คอลัมน์ #ไกด์โลกจิต

 

 

คอลัมน์ ไกด์โลกจิต

https://www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/

 

ติดตามกิจกรรมอบรม