รวมข้อความไขข้อคิดจากคอลัมน์ไกด์โลกจิต ประจำปีนี้ ทั้ง 8 ตอน
ขอบคุณผู้ติดตาม ผู้อ่าน และศิษย์เก่าสถาบันธรรมวรรณศิลป์ที่ให้การติดตามมาตลอดทั้งปี และจากนี้ไป
.
1 “ความกลัวนั้นเองทำให้ความตื่นตัวเป็นความ “ตื่นกลัว” ทำให้คิดมากหวาดระแวง วิตกกังวลไปต่างๆ จนเกินความเป็นจริง ความเครียดเกินครึ่งหนึ่งในชีวิตเกิดจากความคิดของเราเอง ความคิดที่ถูกผลักดันด้วยความกลัวอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งทำให้สิ่งที่เราเจอหรือระลึกถึง แลดูเลวร้ายไปกว่าความเป็นจริงเสมอ นอกจากการวิตกกังวล ความตื่นกลัวยังผลักดันให้เราพยายามมากเกินไปในเรื่องต่างๆ ทำให้เราแบกรับความคาดหวัง หมกมุ่นความดีพอหรือความสมบูรณ์แบบ กดดันตนเอง ไม่ยอมรับความจริง หักโหมจนโทรมทรุด ฯ หรือในทางกลับกันก็ทำให้เราไม่พยายามเลย เพราะกลัวที่จะผิดหวัง หรือกลัวที่จะต้องเสียใจ ทำให้ละเลยหรือปิดโอกาสตนเอง
.
“ความกลัวยังทำให้เรายึดติดกับบางสิ่งมากเกินไป การยึดติดนั้นเองที่ทำให้เกิดความตึงในการใช้ชีวิตที่เกินพอดี กลายเป็นความ “ตึงเครียด” หากเรามีความกลัวไม่ดีพออยู่ภายในระหว่างการทำงาน เราอาจยึดติดผลลัพธ์ของงานมากเกินไป จนนำมาสู่ความบาดหมางระหว่างเพื่อนร่วมงาน และตนอาจหักโหมบ้างานมากเกินไปจนกายใจเหนื่อยล้า ความยึดติดนั้นเองที่ก่อน้ำหนักให้เราแบกรับ กลายเป็นความเครียดสะสมในร่างกายและจิตใจ รวมทั้งความสัมพันธ์อีกด้วย จนถึงวันที่เกินขีดจำกัดจะรับไหว
.
“คนแต่ละคนมีความต้านทานต่อความตึงเครียดไม่เท่ากัน บางคนทนทานรับได้ยาวนาน บางคนทนรับได้น้อย หากเรามิได้คอยดูแลหรือสังเกตกายจิตให้ดี กว่าจะรู้ตัวว่ามีความเครียดสะสมมากก็อาจถึงเกณฑ์ที่เราเริ่มทนไม่ไหวแล้วหรือเลยเกณฑ์นั้นไปแล้ว ซึ่งจะเป็นจุดที่อาการต่างๆ จะแสดงออกมาอย่างชัดเจน ทั้งความป่วยไข้ทางกายที่อาจเกิดที่กล้ามเนื้อหรือโรคต่ออวัยวะภายใน หรือความป่วยไข้ทางจิตใจในรูปแบบของอาการทางจิตต่างๆ”
.
จากบทความ — รับมือความเครียดไม่ยาก หากรู้ 5 ข้อนี้ —
ใครต้องการดูแลความเครียดของตนเองและคนอื่น อ่านบทความนี้ได้
www.dhammaliterary.org/รับมือความเครียดไม่ยาก/
.
.
2 “บางสิ่งข้างในที่ทำให้เราเหนื่อยล้านั้นก็คือความดิ้นรนทั้งหลายของจิตอันไม่อาจหาความนิ่งสงบลงได้ เหมือนวิ่งวุ่นอยู่ข้างในไม่สิ้นสุด เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วมีเวลาพักมากเท่าใดก็ไม่เพียงพอ เราจึงต้องพักหรือหลีกเลี่ยงจากเหตุที่ทำให้จิตดิ้นรนจนบั่นทอนพลังกายใจลง อาทิเช่น
.
“พักจากความอยาก หากเราไม่ได้พักตนเองจากความอยากแล้ว เมื่อถึงเวลาว่างมันก็จะลากพาเราไปเรื่อยๆ จนไม่ได้พักผ่อนอย่างแท้จริง มันอาจชวนเราไปทำอย่างโน้น ไปทำอย่างนี้ ตามความอยาก ความน่าสนใจ ความเร้าแก่อารมณ์ ฯ ทำให้เราไม่ได้หยุดนิ่งเพื่อดูแลตนเองอย่างแท้จริง แต่ได้ไปดูแลความอยากแทน ซึ่งมักลงเอยด้วยความเหนื่อย ความป่วย หรือความเมามายขาดสติ
.
“พักจากการกังวลถึงอนาคต สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันหน้ายังไม่มีอยู่จริง แต่ความกลัว ความวิตก และความสงสัยก็จะทำให้กายจิตเราไม่ได้ผ่อนพัก เพราะต้องคอยคิดคำนึงวางแผนต่างๆ นานา และคาดเดาคาดคะเน จนความคิดวุ่นวายไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน เราก็ไม่สามารถพักผ่อนอย่างเต็มที่ได้
.
“พักจากการอาลัยสิ่งที่ล่วงเลย ไม่มีใครที่ฝืนกระแสความไม่เที่ยงแท้ของทุกสิ่งได้ ยิ่งหวนหาอยากให้กลับคืน ยิ่งทำให้ชีวิตและสิ่งที่มีอยู่สูญเสียไปทีละน้อย ความคิดคำนึงถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วอย่างขาดสติทำให้จิตเหนื่อยล้า การคิดถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้วอย่างไม่ก่อประโยชน์ มีแต่ทำให้จิตเศร้าโศกและหม่นหมองลง เราจึงลืมดูแลสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน
.
“พักจากการสอดส่องและแบกรับ เราไม่อาจแบกทุกอย่างไว้ที่ตนเองได้ การพยายามรับผิดชอบสิ่งต่างๆ มากจนเกินไป ทำให้เราบีบคั้นตนเองทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ บางครั้งเราก็เอาเวลาในการดูแลตนเองไปสอดส่องกับเรื่องราวของคนอื่น ไปยุ่งเกี่ยวอย่างไม่เกิดประโยชน์ ไปวิจารณ์ เปรียบเทียบ หรืออิจฉาต่างๆ นานา จิตใจก็ไม่ได้อยู่กับเนื้อกับตัว วิ่งแล่นออกไปให้เหนื่อยโดยไม่จำเป็น
.
“พักจากการแข่งดีและโอ้อวดตน เราไม่จำเป็นต้องอยากมีคุณค่าและตัวตนในทุกเรื่องและทุกสถานการณ์ การอยากมีคุณค่าและอยากแสดงตัวตนให้ได้รับการยอมรับบ่อยครั้งทำให้เราไม่ได้พักผ่อนเสียเอง กิเลสข้อนี้เรียกว่า “มานะ” ทำให้ต้องคอยประกาศเรื่องราวและตัวตนต่างๆ ของเราลงบนสังคมสมมติบนโลกอินเตอร์เน็ต ต้องพยายามเอาชนะในเรื่องต่างๆ จนไม่ได้ทำให้ใจให้สงบวาง”
.
จากบทความ — ข้อคิดและแนวทางเพื่อการ “พัก” อย่างแท้จริง —
ใครรู้สึกเหนื่อยล้า หรือสงสัยว่า เพราะอะไรยิ่งพักจึงยิ่งไม่พอ ลองอ่านบทความนี้
www.dhammaliterary.org/พักอย่างแท้จริง/
.
.
3 “มิใช่ไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือภัยจากธรรมชาติ ที่พึงเห็นว่าเป็นโรค แต่ร่างกายนี้เองที่พึงเห็นเป็นโรค เราไม่ค่อยกล่าวกันว่าไวรัสเป็นโรค เชื้อรา แบคทีเรีย ฯ เป็นโรค ในการพูดสื่อสารทั่วไป แต่เรามักจะพูดกันว่า ฉันเป็นโรค… ร่างกายเป็นโรค… นั่นก็เป็นปริศนาธรรมให้ทายกันในชีวิตประจำวันแล้ว เพราะไวรัสไม่ใช่โรคในทางธรรมะ แต่ร่างกายเรานี้เองที่เป็นโรค และการยึดมั่นในตัวตนฉันนี่เองที่เป็นโรค
.
“ไวรัสนั้นมิใช่ศัตรูของเราเลย เชื้อทั้งหลายที่มีชีวิตและคล้ายมีชีวิตก็เพียงเพื่อนร่วมทุกข์บนโลกใบนี้ ต่างต้องการความอยู่รอด ต่างถูกชักนำไปตามกรรมและปัจจัย เช่นเดียวกันกับเรา
.
“ในแง่หนึ่งพวกเราเองก็เป็นดั่งไวรัสหรือเชื้อโรคสำหรับโลกนี้ เพราะเราเข้ามาอาศัยร่วม แพร่ขยาย และบั่นทอนให้โลกทรุดโทรมลงทีละน้อยในอัตราเร่ง จนสิ่งทั้งหลายที่เคยพอดี พอเพียง และพอใช้ได้เสียสมดุลไป ทรัพยากรเริ่มขาดแคลน สภาพอากาศแปรปรวน กล่าวได้ว่ากรรมที่พวกเราสร้างขึ้นร่วมกันทำให้โลกป่วยไข้ เราเองจึงเป็นไวรัสหรือเชื้อโรคเช่นกัน
.
“ความไม่มีโรค สำหรับคนทั่วไป คือการมีร่างกายที่แข็งแรงและไม่เจ็บป่วย แต่ในทางธรรมะหรือความเป็นจริงแล้ว ความไม่มีโรค คือการพ้นจากอำนาจของร่างกาย ซึ่งเป็นโรคอย่างแท้จริง เหตุใดพุทธศาสนาจึงกล่าวว่า ร่างกายคือโรค ลองพิจารณาจากคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ตรัสว่า
.
“กายนี้มีรูป (เป็นวัตถุ) เป็นที่ประชุมมหาภูต (ธาตุ) ทั้งสี่ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญด้วยข้าวสุกและขนมสด ต้องอบและขัดสีกันเป็นนิจ มีความแตกกระจัดกระจายเป็นธรรมดา ท่านควรพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ เป็นดังผู้อื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า เป็นของมิใช่ตน
.
“เมื่อท่านพิจารณาเห็นกายนี้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ เป็นดังผู้อื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า เป็นของมิใช่ตนอยู่ ท่านย่อมละความพอใจในกาย ความเยื่อใยในกาย ความอยู่ในอำนาจของกายในกายได้”
.
“ร่างกายเป็นโรค ไม่ใช่เพราะมีไวรัสหรือเชื้อใดใดมาราวี แต่ร่างกายเป็นโรคอยู่แล้วตามหลักธรรม เพราะร่างกายนั้นมิใช่ตัวตน ไม่เที่ยงแท้ มีแต่จะเสื่อมลงไป มีแต่ความเป็นทุกข์ และไม่อาจถือมั่นไว้ได้ ตามหลักไตรลักษณ์
.
“ความอยู่ในอำนาจของกายในกายคือการหลงยึดหรือพอใจในร่างกาย ทำให้เราหวงแหน กังวลกับรูปร่าง ทำให้กลัวตาย ทำให้คิดว่าเนื้อหนังมังสาอันห่อหุ้มเลือดหนองและกระดูกนี้เป็นตัวตนของฉัน เป็นต้น ทั้งที่ร่างกายเป็นโรค คือมีแต่ความเสื่อมไปมิอาจมีตัวตนเที่ยงแท้ให้พอใจได้เลย”
.
จากบทความ — 4 ธรรมะรับมือสรรพโรค —
ศึกษาความรู้ดีๆ เพื่อการวางใจท่ามกลางโรคระบาด ด้วยธรรมะของพุทธเจ้า
www.dhammaliterary.org/ธรรมะรับมือสรรพโรค/
.
.
4 “การตัดสิน หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า judge คือการตีตรา ตีความ ตัดสินที่จะมีมุมมอง พิจารณา และให้คุณค่าอย่างไร
.
“เราอยู่กับการตัดสินทุกๆ วัน และแทบทุกชั่วโมง บางลัทธิและบางคำสอนร่วมสมัยสอนให้เราไม่ตัดสินอะไร “Don’t Judge Everything” แม้จะมีการตัดสินอยู่เนืองๆ ในจิตใจ รวมทั้งการตัดสินว่านี่คือการตัดสินหรือไม่ตัดสิน บางลัทธิและความเชื่อของบุคคลก็สุดโต่งไปในทางตัดสินทุกสิ่งบนโลกใบนี้ที่ตัวเองได้รับรู้ “Judge Everything” ด้วยจุดยืนและความคิดที่ตนยึดถือไว้
.
“พุทธศาสนาเป็นกลางระหว่างสองแนวคิดดังกล่าว ไม่ได้สอนให้เราตัดสินทุกสิ่ง มิได้บอกให้เพิกเฉยไม่ตัดสินสิ่งที่ควร แต่เน้นให้รู้จักการตัดสินที่เหมาะสมและรู้เท่าทันในการตัดสินตีความของตนเอง
.
“การตัดสินนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น เราจำเป็นต้องคิดและตัดสินใจว่าจะให้คุณค่ากับเรื่องต่างๆ อย่างไร จะมีท่าทีแบบไหน วันนี้จะใส่เสื้อผ้าชุดไหน อาหารที่ซื้อมารับประทานเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ชีวิตวันนี้จะมีคุณค่าได้อย่างไร คนๆ นี้เหมาะสมกับเราหรือเปล่า หรือจะรับฟังด้วยท่าทีตัดสินหรือไม่ตัดสินก็ต้องตัดสินใจ
.
“การตัดสินและการตัดสินใจอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่น้อยครั้งที่เราจะย้อนกลับมาพิจารณาให้รู้เท่าทัน จึงมักเผลอตัดสินตีความไปอย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาใหม่ หรือไม่ส่งเสริมกุศลให้เกิดขึ้น และการพยายามไม่ตัดสินที่มากจนเกินไปบางครั้งก็ทำให้เราไม่สามารถตัดสินในเวลาที่ควร
.
“การตัดสินตีความเกิดจากการรับรู้ผ่านอายตนะหรือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจ เรียกว่า ผัสสะ เกิดอารมณ์คือ เวทนา จากการรับรู้นั้น ปรุงแต่งกับความจำ ความเชื่อที่มีมา และเชื้อของกิเลสกับกุศลน้อยใหญ่ เกิดเป็นความคิดตัดสินต่างๆ จนนำไปสู่การกระทำต่อไป ทำให้กล่าวได้ว่าการตัดสินทั้งหลายล้วนแล้วแต่เริ่มต้นจากการรับรู้
.
“หากการรับรู้นั้นไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของอวิชชาคือความไม่รู้จริงในธรรม มิได้ถูกปรุงแต่งด้วยความโลภ ความโกรธ และความหลง การตัดสินตีความที่จะมีตามมาก็จะเป็นการตัดสินที่ชอบธรรม ชอบในที่นี้หมายถึงถูกต้อง ธรรมในที่นี้หมายถึงความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นเช่นนี้เมื่อการรับรู้โลกเป็นไปอย่างมีสติ
.
“การขาดสติที่ผัสสะและเวทนาทำให้เกิดการตัดสินที่ไม่ควร ทำให้เผลอตัดสินไปตามความโลภ ความโกรธ และความหลง ที่เป็นอกุศลมูลหรือมีเชื้ออยู่ในจิตใจ ทำให้คิดตีความมากเกินไป แคบเกินไป หรือไม่ถูกจุด ก็เป็นผลทำให้เราตัดสินคนอื่นอย่างผิดๆ หรือทำให้เราไม่เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกลาง
.
“พุทธศาสนานั้นสอนให้เรารู้จักการตัดสิน โดยเฉพาะการตัดสินว่าอะไรเป็นกุศลและอกุศล แต่การที่เราจะตัดสินได้นั้นเราต้องไม่ถูกอกุศลครอบงำการรับรู้และการคิดเสียเอง มิเช่นนั้นแล้วเราก็จะตัดสินตามอารมณ์และอคติที่มี ทำให้การคิดนั้นเป็นมโนกรรมที่เป็นอกุศล”
.
จากบทความ — 4 ธรรมะในการตัดสินตีความ —
อ่านบทความนี้เพื่อพิจารณาการตัดสินของตนเองในชีวิตประจำวัน
www.dhammalierary.org/ธรรมะในการตัดสินตีความ/
.
.
5 “การหวังว่าผู้เรียนจะรักหรือชอบเรา มันทำให้เราคาดหวังในท่าทีของพวกเขา ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วพวกเขาไม่จำเป็นต้องรักเราเพื่อเป็นนักเรียนที่ดีเลย ความอยากเป็นคนที่ได้รับการเห็นคุณค่า ทำให้เราสร้างเงื่อนไขมาผูกมัดลูกศิษย์ไว้ เมื่อพวกเขาเป็นตัวของตัวเองและมีความคิดเห็นเป็นของตนซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับเรา ใจก็เป็นทุกข์
.
“ในทางกลับกัน เมื่อหวังว่าอีกฝ่ายจะพึงพอใจในตัวเรา ทำให้อาจไม่กล้าสะท้อนหรือสอนอย่างตรงไปตรงมาในสิ่งที่ควร เพราะกลัวว่าเขาจะเกลียด เกรงใจอีกฝ่าย หรือกังวลว่าพวกเขาจะมองเราเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การทำหน้าที่บกพร่อง เพราะตามใจผู้เรียนเกินไป ขาดความชัดเจนเด็ดขาด หรือไม่อาจตัดสินถูกผิดให้ชัดเจนแก่ผู้เรียนได้ การทำหน้าที่เป็นครูเช่นนี้ คือการทำงานเพื่อแลกกับความรักเป็นค่าจ้าง เราจะมิอาจสอนตนและใครๆ ให้รักตนเองเป็นอย่างแท้จริงได้เลย
.
“การเป็นครูแก่คนอื่น ต้องพร้อมที่จะถูกเกลียด จึงทำหน้าที่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เช่นเดียวกันกับคุณครูผู้เคยสอนเรา รวมถึงคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองของเราด้วย บ่อยครั้งที่ท่านต้องตัดสินใจอบรมสั่งสอนหรือดูแลในแบบที่เราไม่ต้องการ ในแบบที่ทำให้เด็กน้อยคนนี้โกรธขุ่นเคืองท่าน หรือเศร้าหมองน้อยใจ แต่ท่านก็จำเป็นต้องทำเช่นนั้นเพื่อประโยชน์แก่ตัวเด็กน้อยคนนี้เอง มิใช่เพื่อให้รักท่านมากขึ้น โดยอาจมิได้บอกกล่าวถึงเหตุผลใดใด
.
“การเป็นครู รวมทั้งการเป็นพ่อแม่ของลูก สอนเราถึงการเป็นผู้ให้ที่เสียสละและคำนึงถึงการเติบโตของอีกฝ่ายเป็นสำคัญ โดยทั่วไปแล้วมนุษย์จะถูกผลักดันด้วยความต้องการการมีคุณค่า การถูกเห็นหรือการยอมรับ และการมีตัวตน เป็นความต้องการให้ดิ้นรนทะยานอยากเพื่ออยู่รอดทางใจ รองมาจากความต้องการอยู่รอดทางกาย แต่การเป็นครูและพ่อแม่ทำให้เราต้องก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ เพื่อช่วยเหลือคนอื่นซึ่งบางครั้งต้องยอมเสียสละแม้แต่คุณค่าในตนเอง ให้เขาโกรธด่าเราเพื่อพูดความจริงในสิ่งที่อีกฝ่ายอาจไม่อยากได้ยิน หรือเพื่อสอนในวิถีทางที่เขาเกลียดที่สุดแต่ได้ประโยชน์แก่เขามากที่สุด
.
“พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบในเรื่องการเลือกสื่อสารหรือเลือกสิ่งที่จะสอนไว้ว่า
.
“คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์ไม่กล่าว , คำพูดที่จริง ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์ไม่กล่าว , คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์เลือกกาลกล่าว , คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ถึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์ไม่กล่าว , คำพูดที่จริง ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ถึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์ไม่กล่าว , คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์เลือกกาลกล่าว
.
“แม้ไม่เป็นที่รักที่พอใจแก่ผู้ฟัง แต่หากเป็นประโยชน์ เป็นความจริง และถูกต้องแล้ว พระองค์ก็ทรงเลือกตรัสในเวลาอันเหมาะสม มิได้ทรงสอนในสิ่งถูกใจแก่ผู้ฟังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น อีกทั้งยังได้ตรัสแก่พระอานนท์ถึงธรรมห้าอย่างในการแสดงธรรมแก่คนอื่นพึงคำนึงไว้ ได้แก่ กล่าวชี้แจงไปตามลำดับ , ยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจ , แสดงด้วยความเมตตา , ไม่แสดงด้วยเห็นแก่อามิส และแสดงไปโดยไม่ให้กระทบตนและคนอื่น
.
“การแสดงธรรมโดยไม่เห็นแก่อามิสนั้น มิใช่เพียงสินจ้างที่เป็นเงินหรือของตอบแทนทางวัตถุอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการหวังผลตอบแทนที่เป็นนามธรรมต่างๆ ด้วย เช่น การยอมรับ ความรัก การเชิดชู ฯ การหวังในอามิสเหล่านี้ ทำให้การสอนนั้นอาจถูกผลักดันด้วยความโลภ โกรธ และหลง ซึ่งจะทำให้การสอนนั้นมีความผิดเพี้ยนไปครรลองที่ควรเป็น ครูที่ดีในธรรมจึงไม่พึงทำหน้าที่เพื่อหวังแก่อามิสทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อให้การทำหน้าที่เป็นไปโดยประโยชน์แก่ผู้อื่นและสังคมอย่างแท้จริง”
.
จากบทความ — 5 บทเรียนและธรรมะบนเส้นทางการเป็นครู —
การเป็นครูที่ดีต้องรู้อะไร อ่านได้ในบทความที่สกัดจากบทเรียนของผู้เขียน
www.dhammaliterary.org/ธรรมะบนเส้นทางครู/
.
.
6 “การเบียดเบียนผู้อื่นที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือการกล่าวโทษอีกฝ่ายเกินพอดี และการเฝ้าเพ่งเล็งในข้อบกพร่องของผู้อื่น ซึ่งไม่เป็นเพียงการเบียดเบียนเขาเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำร้ายตนเองอีกด้วย
.
“พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงเรื่อง กำลัง หรือ อำนาจ ดังนี้ “ทารกทั้งหลายมีการร้องไห้เป็นกำลัง , มาตุคาม (ผู้หญิง) ทั้งหลายมีความโกรธเป็นกำลัง , โจรทั้งหลายมีอาวุธเป็นกำลัง , พระราชาทั้งหลายมีอิสริยยศเป็นกำลัง , คนพาลทั้งหลายมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง , บัณฑิตทั้งหลายมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลัง , พหุสุตบุคคลทั้งหลายมีการพิจารณาเป็นกำลัง , สมณพราหมณ์ทั้งหลายมีขันติเป็นกำลัง”
.
“การเพ่งโทษ คือการคิดร้าย การหวังประทุษร้าย การกล่าวถึงผู้อื่นด้วยจิตอกุศล และการเฝ้าตำหนิหรือมองแต่แง่ลบของผู้อื่น คนพาลดังคำที่ท่านกล่าวถึงคือคนที่มีจิตใจต่ำทรามหรือยังถูกครอบงำด้วยกิเลสอยู่มาก มักเป็นผู้ชอบวิวาทและก่อความเบียดเบียนแก่ผู้อื่น ย่อมใช้การเพ่งโทษคนอื่นเป็นการสร้างอำนาจให้กับตนเอง ย่อมเบียดเบียนผู้อื่นด้วยการเพ่งโทษเขาอยู่เสมอๆ
.
“ในทางกลับกัน ผู้เป็นบัณฑิต คือบุคคลที่มีปัญญาพาออกจากทุกข์ มีการไม่เพ่งโทษคนอื่นเป็นอำนาจของตนเอง ไม่เที่ยวเทียวให้ร้ายใคร ไม่คิดอกุศลต่อคนอื่น หรือเพ่งจับผิดข้อบกพร่องของใคร ย่อมมากด้วยความเคารพและมีจิตใจที่สงบมั่น แตกต่างจากบุคคลพวกแรกที่มิอาจหาความสงบร่มเย็นให้แก่จิตใจได้เลย เพราะมัวแต่ควานหาข้อผิดพลาดของผู้อื่น
.
“การใช้ชีวิตของคนเรานั้นย่อมต้องเกี่ยวข้องผูกพันกับโลกธรรมทั้งหลาย หนึ่งในนั้นคือการมีอำนาจ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของสถานะหรือยศ การยอมรับหรือสรรเสริญ และลาภทั้งหลายที่เป็นสมบัติภายในคือศักยภาพ กับสมบัติภายนอกคือวัตถุต่างๆ จิตเรามักถูกผลักดันให้แสวงหาในอำนาจเหล่านี้เพื่อทำให้รู้สึกมั่นคงและมีตัวตน ซึ่งบ่อยครั้งที่การเสาะแสวงในโลกธรรมเหล่านี้ทำให้เกิดการเบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม
.
“บางครั้งเราก็แสวงหาความมั่นใจตนเองด้วยการเพ่งโทษคนอื่น กลั่นแกล้งคุกคามเพื่อให้ตนเองรู้สึกมีอำนาจชดเชยความขาดแคลนในจิตใจ บางครั้งเราก็ต้องการการยอมรับเพื่อรู้สึกถึงความมีตัวตน จึงร่วมขบวนการก่นด่าสาปแช่งผู้อื่น หรือแสดงความเห็นคล้อยตามไปกับคนอื่นๆ ให้เป็นที่รับรู้ หลายครั้งที่การเพ่งโทษคนอื่นเป็นกลไกของจิตที่หวังให้ตัวเราเองรู้สึกมีคุณค่าและความมั่นคงมากขึ้น แต่เป็นเหมือนเกราะกลวงๆ ที่ไว้บังหน้า มิอาจให้ความมั่นคงทางจิตใจที่แท้จริงได้เลย
.
“ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่สอนให้เราไม่คอยจับผิดคนอื่น ด้วยเหตุผลหนึ่งคือ “โทษของผู้อื่นเห็นได้ง่าย ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก เพราะว่าบุคคลนั้นย่อมโปรยโทษของคนอื่น ดุจบุคคลโปรยแกลบแต่ปกปิดโทษของตนไว้ เหมือนพรานนกปกปิดอัตภาพด้วยกิ่งไม้ ฉะนั้น อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลผู้ตามเพ่งโทษผู้อื่น”
.
“ยิ่งเพ่งโทษคนอื่นมากเพียงใด เรายิ่งหลงลืม “อาสวะ” หรือกิเลสหม่นหมองที่หมักหมมอยู่ในตนมากเท่านั้น จึงยิ่งโทษคนอื่นเพียงใด เราก็ยิ่งเป็นผู้น่าถูกกล่าวโทษมากเท่านั้น เพราะขณะที่เรากล่าวโทษคนอื่นอยู่ จิตก็ส่งออกไปนอกตัว จึงไม่ทันได้หันกลับมาแลเหลียวพิจารณาตนเองอย่างถี่ถ้วน จึงกล่าวว่าโทษคนอื่นเห็นง่าย โทษตนเองเห็นยาก เมื่อมีการส่งจิตออกไปข้างนอกตัวบ่อยๆ แล้วการจะพิจารณาหรือรู้เท่าทันข้อบกพร่องของตนเองก็เป็นไปได้ยาก มัวแต่มองผู้อื่นจนลืมตนอยู่นั่นเอง”
.
จากบทความ — 4 ข้อต้องรู้ ถ้าไม่อยากทำร้ายคนอื่น —
เราอาจทำร้ายตนเองและคนอื่นโดยไม่รู้ตัว อ่านบทความนี้เพื่อความไม่ประมาท
www.dhammaliterary.org/ถ้าไม่อยากทำร้ายคนอื่น/
.
.
7 “ตัณหาหรือความอยากนั้น เป็นตัวที่ทำให้เราเกิดความยึดมั่น เกิดความยุ่งยาก และเงื่อนไขต่างๆ ในชีวิตที่ย้อนมาผูกมัดตัวเราเอง เมื่อละออกไปเสียได้ ความยึดมั่นก็จะไม่มี ความยุ่งยากก็จะหายไป เราก็จะไม่ถูกเงื่อนไขต่างๆ ที่สร้างขึ้นเองผูกมัดอีกต่อไป
.
“ดังนั้นแล้ว ชีวิตที่จะมีอิสระและเสรีภาพอย่างแท้จริง ต้องเป็นชีวิตที่ส่งเสริมให้เราได้ใช้กาย วาจา และใจเพื่อทำให้มีคุณสมบัติดีๆ ทั้งเจ็ดประการ คือการมีสติ มีสมาธิ ความมุ่งมั่นตั้งใจ ความสงบ ความวางใจเป็นกลาง การศึกษาธรรม ความอิ่มใจหรือรู้จักพอใจ เรียกว่า โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ให้เจริญมากยิ่งขึ้นต่อไป
.
“หากเรายังรู้สึกว่าการจะทำให้มี โพชฌงค์ เกิดขึ้นบริบูรณ์ไม่ใช่เรื่องง่าย การจะทำให้มีอินทรีย์สังวรไม่ใช่เรื่องง่าย การจะทำให้ชีวิตส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงแนะนำเพิ่มเติมว่า
.
“เมื่อเรือเดินสมุทรที่ผูกด้วยเครื่องผูก คือหวาย แช่อยู่ในน้ำตลอด ๖ เดือน เขายกขึ้นบกในฤดูหนาว เครื่องผูกต้องลมและแดดแล้ว อันฝนตกรดแล้ว ย่อมจะเสียไป ผุไป โดยไม่ยากเลย แม้ฉันใด เมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ สังโยชน์ทั้งหลายย่อมสงบหมดไป โดยไม่ยากเลย ฉันนั้นเหมือนกัน”
.
“การเจริญอริยมรรคก็คือการใช้ชีวิตด้วยหลักมรรคทั้งแปดประการ นั่นก็คือการมีความเชื่อที่เหมาะสม พอดี และเป็นประโยชน์ , การคิดที่เหมาะสม พอดี และเป็นประโยชน์ , การสื่อสารที่เหมาะสม พอดี และเป็นประโยชน์, ความประพฤติที่เหมาะสม พอดี และเป็นประโยชน์ , การหาเลี้ยงชีพที่เหมาะสม พอดี และเป็นประโยชน์ , ความเพียรที่เหมาะสม พอดี และเป็นประโยชน์ , มีสติ และ มีสมาธิ อย่างเหมาะสม พอดี และเป็นประโยชน์ ทั้งหมดนี้รวมกันก็จะช่วยให้เครื่องผูกใจของเรานั้นเปื่อยยุ่ยและผุสลายลงไปอย่างง่ายดาย
.
“เพียงปรับการใช้ชีวิตใหม่ให้ทั้งแปดด้านของชีวิตได้รับการดูแล ทำให้ดีขึ้น และมีความสมดุลพอดี ที่ทุ่มเทใส่ใจกับด้านใดมากเกินไปก็ลดน้อยลงมาให้เกิดประโยชน์ ที่ละเลยหรือไม่ค่อยใส่ใจในด้านใดก็เพิ่มเติมปรับเปลี่ยนให้เปลี่ยนแปลง
.
“ปริศนาธรรมที่พระองค์ตรัสถึงว่า “แช่อยู่ในน้ำตลอด ๖ เดือน” มีนัยหมายถึงการใช้ระยะเวลาในการบ่มเพาะตนเองผ่านการใช้ชีวิตบนหลักมรรค ๘ แม้ในช่วงแรกการแก้คลายจากสังโยชน์ที่รัดรึงไว้จะเป็นเรื่องยากนัก แต่หากดำรงชีวิตบนทางสายแปดประการนี้ต่อไป เมื่อถึงเวลาหนึ่งที่ปัจจัยทั้งหลายเพียบพร้อม มันก็จะเปื่อยยุ่ยไปเอง ดั่งในปริศนาธรรรมที่เขายกเรือขึ้นตากแดดตากลมในฤดูหนาว อีกทั้งยังเจอฝนตกรดใส่ เครื่องผูกย่อมจะเสียไป ผุไป โดยไม่ยาก
.
“การจะใช้ชีวิตบนหลักแปดประการนี้อย่างมั่นคงแข็งแรงได้ ต้องมีชีวิตที่ตั้งอยู่ในศีลคือการครองตนในหลักที่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบว่า “พืชคามและภูตคาม (สิ่งทั้งปวง) ทั้งหมดนั้น อาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่บนแผ่นดิน ย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ พืชคามและภูตคามเหล่านี้ ย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ด้วยประการฉะนี้ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันแล อาศัยศีลตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญ ทำให้มากซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย”
.
“ศีล ที่พระองค์ทรงสอน หมายถึง ปาริสุทธิศีล ๔ คือการครองตนอย่างไม่บกพร่องสี่ประการ ดังนี้
.
“ “ปาฏิโมกขสังวรศีล” คือความไม่บกพร่องในการสำรวมระวังในกฏข้อห้ามทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับตนเองตามบริบทและหน้าที่ , “อินทรียสังวรศีล” คือความไม่บกพร่องในการสำรวมระวังในการรับรู้ผ่านอายตนะ , “อาชีวปาริสุทธิศีล” คือความไม่บกพร่องในการทำงานหาเลี้ยงชีพอย่างเหมาะสมในทางที่เหมาะควร และสุดท้าย “ปัจจัยสันนิสิตศีล” คือความไม่บกพร่องในการบริโภคกับการใช้สอยปัจจัยดำรงชีพอย่างเหมาะสมและเหมาะควร
.
“การใช้ชีวิตอยู่บนศีลธรรมที่ดี มีหลักในการครองตน มีวินัยในการกำกับดูแลพฤติกรรมของตนเอง และรู้จักความพอประมาณ เมื่อนั้นแล้วเราย่อมก้าวไปบนเส้นทางแปดประการที่เรียกว่า อริยมรรค อันแปลว่าหนทางสู่ความเจริญได้อย่างมั่นคงและแน่วแน่ หนทางเช่นนี้เองที่นำเราไปสู่เสรีภาพภายในที่แท้จริง ซึ่งมิใช่เรื่องที่ยากเลย เชือกหวายใดที่ผูกมัดใจไว้ มันมิอาจผูกพันเช่นนั้นได้ตลอดไป เพียงแค่เราต้องก้าวต่อไปทีละก้าวน้อยๆ อย่างไม่ย่อท้อ”
.
จากบทความ — อิสระแท้จริงที่ใกล้ตัว —
เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการถึงความเป็นอิสระที่แท้จริงในชีวิตที่อิสระยิ่งกว่าอื่นใด
www.dhammaliterary.org/อิสระแท้จริงที่ใกล้ตัว/
.
.
8 “บางครั้งเราก็เลือกวิธีการตัดการรับรู้ เพื่อจะได้ไม่หงุดหงิด เครียด หรือเศร้าเสียใจ
.
“ด้วยการปิดสื่อโซเชียล ไม่คุยกับบางคน บล็อกช่องทางการติดต่อ หรือเลือกที่จะไม่สนใจบางเรื่องราว
.
“นี่เป็นกลยุทธ์การหนี เป็นวิธีรับมือกับความทุกข์ตามปกติของมนุษย์
.
“มันไม่ได้แก้ไขที่ปัญหา เพราะเมื่อกลับมารับรู้ใหม่ ใจก็สามารถเจ็บช้ำและเป็นทุกข์ได้
.
“บางครั้งหนีไปจนสุดขอบโลก เพื่อวกวนกลับมาบรรจบที่เรื่องเดิม ลองนึกถึงการหนีเรื่องบางเรื่องในชีวิต สุดท้ายก็หนีไม่พ้น
.
“แล้วจะรับรู้อย่างไรไม่ให้หัวเสียหรือเป็นทุกข์ตาม จะเผชิญหน้าอย่างไรไม่ให้กระทบกระทั่ง…
.
“เราต้องทำความเข้าใจว่าเพราะเหตุใดการรับรู้จึงนำไปสู่ความบาดหมางและการทะเลาะวิวาท
.
“ศาสนาพุทธชวนเราพิจารณาจิตใจตนเอง เพื่อเห็นว่า…
.
“เพราะอาศัยเวทนาจึงมีตัณหา
เพราะอาศัยตัณหา จึงมีการไขว่คว้า
เพราะอาศัยการไขว่คว้า จึงมีการได้มา
เพราะอาศัยการได้มา จึงมีการปลงใจรัก
เพราะมีการปลงใจรัก จึงมีความกำหนัดด้วยความพอใจ
เพราะมีความกำหนัดด้วยความพอใจ จึงมีความสยบมัวเมา
เพราะมีความสยบมัวเมา ก็มีการจับอกจับใจยิ่งขึ้น
เพราะมีการจับอกจับใจ จึงมีความตระหนี่ ยึดไว้เป็นของตน
เพราะมีความตระหนี่ จึงมีการหวง
เพราะมีการหวงนี้ จึงมีการทะเลาะวิวาทกระทบกระทั่ง
.
“เมื่ออาศัยเหตุปัจจัยดังนี้แล้ว การทำร้ายซึ่งกันและกัน การใช้ความรุนแรง และความบาดหมางก็เกิดขึ้น
.
“มันจะไม่ปรุงแต่งเป็นทอดๆ จนนำไปสู่ความขัดแย้งและความโกรธเกลียดเลย หากเรามีสติ
.
“ถ้ามีสติตั้งแต่ต้น เมื่อรับรู้อะไรแล้วก็จะไม่ปรุงแต่งมาเป็นความพอใจหรือไม่พอใจ
.
“หากมีสติเมื่อมีเวทนาก็ไม่ปรุงแต่งเป็นความอยาก
หากมีสติตอนที่อยากก็จะไม่ไขว่คว้า ไม่ได้มา และไม่ปลงใจรัก
ถ้าพอมีสติเมื่อกำลังไขว่คว้า ได้มา หรือปลงใจรัก จิตก็จะไม่กำหนัดด้วยความพอใจหรือหลงมัวเมา
ถ้าพอรู้ตัวเมื่อหลงมัวเมา ความตระหนี่ ความหวง ก็จะยังไม่เกิดขึ้น
.
“เช่นนี้แล้วปัญหาที่ตามมาก็จะไม่มี
.
“ดังนั้นการรับรู้โลกอย่างมีสติ จึงเป็นกุญแจสำคัญ ในการหลีกเลี่ยงจากความทุกข์และความขัดแย้งใดๆ
.
“รับรู้อย่างไรไม่ให้โกรธเกลียด ไม่ให้เศร้าหมองหรือเป็นทุกข์ใจ ก็ต้องรับรู้ด้วยความมีสติ ระลึกรู้ทันการปรุงแต่งของใจที่คิดตีความต่างๆ นานา”
.
จากบทความ — ใครไม่รู้ก็โกรธ และเกลียดชังเพราะความเห็นต่างและความขัดใจ… — บทความน่าอ่านโดยเฉพาะช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งและขัดใจ
www.dhammaliterary.org/ใครไม่รู้ก็โกรธ/
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 57
> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์–ไกด์โลกจิต/
> > > สามารถสนับสนุนโครงการ ผ่านคอร์สของเรา