เพราะสิ่งที่เชื่อว่าดี จิตมักนำมาเป็นตัวแทนของตัวตนและคุณค่าของตนเอง
เราจึงหวังให้คนอื่นยอมรับในสิ่งที่ดีนั้นๆ มิว่าจะเป็นบุคคล สัตว์ สิ่งของ หรือนามธรรมใด เพื่อให้เรารู้สึกว่าตนเองได้รับความสำคัญไปด้วย
เมื่อถืออะไรเป็นตัวแทนของตนและคุณค่าของเราแล้ว เราก็ย่อมพยายามปกป้องสิ่งนั้น เสมือนปกป้องเลือดเนื้อของตน ใครดูหมิ่นเหยียดหยามหรือทำร้ายเจ้าสิ่งนั้นก็ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าคุณค่าของเราน้อยลงไปด้วย
ดังนั้นการทะเลาะวิวาทกันด้วยอุดมการณ์หรือความเห็นต่างอย่างไรก็มาจากความอยากมีตัวตนของทั้งสองฝ่าย มิว่าเรื่องใดๆ ที่เชื่อว่าดีก็ตาม
เมื่อมีคนเห็นต่าง เมื่อมีคนกล่าวโจมตี หรือไม่พอใจสิ่งที่เราเชื่อว่าดี เราจึงรู้สึกเจ็บปวดเหมือนกับตัวตนของเราได้รับบาดเจ็บ
เราต้องถามตนเองว่า อะไรกันแน่ที่ทำให้เราทุกข์ใจ สิ่งที่เขาเป็น สิ่งที่เขาทำ สิ่งที่เขาเชื่อ มันทำร้ายกายและใจเราจริงๆ หรือเป็นความคาดหวังและความเชื่อของเราเองที่ทำร้ายตัวเราให้เจ็บปวด
ในเมื่อเราก็รู้ดีอยู่แก่ใจว่า เขาไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือนเรา ไม่จำเป็นต้องทำหรือคิดเหมือนกันกับเรา ไม่จำเป็นต้องดีเหมือนกัน และไม่สามารถที่จะเป็นเหมือนเราได้ทุกคน เหตุใดเราจึงคาดหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
สิ่งที่ทำให้เราโกรธก็คือตัวเราเองที่พยายามรักษาตัวตนไว้ สิ่งที่ผลักดันให้เขาทำ คิด หรือเป็นเช่นนั้นก็คือความอยากมีตัวตนของเขาเอง
ดังนั้นความอยากมีตัวตนนั้นเองจึงเป็นศัตรูที่แท้จริงของเรา มิใช่ใครเลย
เมื่อเราลืมไปว่าแต่ละคนมีสิทธิที่จะชื่นชอบ ชื่นชม หรือศรัทธา ไม่เหมือนกัน เมื่อลืมไปว่าแต่ละคนมีความแตกต่างกันอยู่เป็นธรรมดา จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า การเหมารวม
ดังเช่นคำพูดประมาณว่า ทุกๆ คนต้อง… คนไทยทุกคนกำลัง… คนทั้งเมืองรู้สึก… ทั้งๆ ที่เราก็รู้ดีว่าคำพูดแบบนี้เป็นการขยายความเพื่อเร้าอารมณ์ และมีสิทธิ์ไม่ใช่ความจริงสูง เพราะเราไม่ได้นำความเห็นของทุกคนมาแยกแยะจริง
เมื่อเกิดการเหมารวมแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย คนที่ไม่ได้คิด พูด หรือกระทำแบบเดียวกันกับสิ่งที่เราเหมารวม จิตใจก็จะตีความว่าพวกเขาคือส่วนเกิน เป็นฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่พวกเดียวกัน ไม่ได้มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ไม่ใช่พวกของเรา
การกระทบกระทั่งทำร้ายกันเพราะความเห็นต่างก็เริ่มเกิดขึ้นจากเหตุนี้ด้วย
พระพุทธเจ้าตรัสว่า * ถ้อยที่ดีของเราก็เป็นถ้อยที่เลวร้ายสำหรับคนอื่นได้
เช่น
การพูดเกี่ยวกับความศรัทธาเป็นธรรมดาที่จะไม่เข้าหูสำหรับคนไม่มีศรัทธา
การพูดเกี่ยวกับศีล วินัย และการควบคุมตนเอง ก็เป็นการพูดที่ไม่น่าพึงใจสำหรับคนที่ไม่ใส่ใจเรื่องศีล วินัย และการควบคุมตนเอง
การพูดมากๆ ยาวๆ ก็เป็นการพูดที่เลวร้ายสำหรับคนไม่รู้จักฟัง
การพูดเกี่ยวกับการให้ ก็เป็นวาจาไม่ดีสำหรับคนขี้ตระหนี่
แม้เป็นถ้อยคำที่ดี แต่ผู้รับฟังไม่เหมาะสมแล้ว เขาก็ย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ เป็นธรรมดา
บทความนี้ก็อาจเป็นบทความที่ดีสำหรับบางคน เลวร้ายสำหรับใครบางคนก็ได้
สิ่งที่ดีสำหรับเรา อาจเป็นสิ่งที่เลวร้ายสำหรับคนอื่น เป็นธรรมดา เราไม่จำเป็นต้องเอาตัวตนของตนเองไปผูกกับสิ่งที่ไม่แน่นอนเหล่านี้เลย
คัดส่วนหนึ่งจากบทความ
“ใครไม่รู้ก็โกรธ และเกลียดชังเพราะความเห็นต่างและความขัดใจ…”
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 56
โดย ครูโอเล่ สถาบันธรรมวรรณศิลป์