“ทุกอย่างที่ผมได้เลือก ได้ผ่าน ได้เรียนรู้ ล้วนเป็นคุณให้ผมก้าวจากก้าวหนึ่งมาสู่อีกก้าวหนึ่งได้อย่างมีคุณค่าเสมอ มาถึงตอนนี้ผมมองย้อนไป ก็ไม่มีอะไรที่ผมเสียใจกับการตัดสินใจที่ผ่านมาในชีวิต มีก็อยากขอโทษคนนั้นคนนี้ที่เราได้ทำร้ายเขา มากบ้างน้อยบ้าง หรือคนนั้นคนนี้ที่เราอาจจะทำร้ายในภายภาคหน้า ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เพราะเรายังรู้ไม่แจ้งแทงไม่ตลอดนั่นเอง กล่าวคือว่ากันถึงที่สุด เราก็ยังถูกครอบงำด้วยอวิชชาของเรานั่นเอง
คนรุ่นผมน่าจะพูดถึงการเลือกของเราได้อย่างภาคภูมิใจต่อสาธารณะ อย่างน้อยเราก็ได้ใช้ชีวิตของคนรุ่นเราเป็นเดิมพันเพื่อทดลองพิสูจน์อุดมการณ์หนึ่ง และเพื่อนรักในกลุ่มของเรา (ยุวชนสยาม) หลายคนก็ได้เสียชีวิตไปในการนี้ แม้อุดมการณ์นั้นจะล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ แต่การทดลองนั้นก็มีคุณค่า
เมื่อผมคิดถึงประยุทธ์ สมพร ฤทธิชัย และคนอื่นๆ ที่ตายจากไปทีไร นอกจากผมจะอุทิศส่วนกุศลเท่าที่ผมเพียรสร้างมาให้เขาเหล่านั้นแล้ว ผมก็ได้บอกตัวเองว่า หน้าที่ของผมก็คือการทำให้การตายเหล่านั้นไม่เป็นหมัน ด้วยการรักษา “จินตนา บริสุทธิ์ ดุจสายลม” (มาจากเพลงประจำกลุ่มยุวชนสยาม) เอาไว้ แม้ผมจะไม่เชื่อในกรอบอุดมการณ์นั้นแล้วก็ตาม โดยหวังว่าความเจ็บปวดที่ตนเองและหมู่คณะได้ลุยผ่านมา จะทำให้เรามีปัญญาและกรุณามากขึ้น และไร้เดียงสาน้อยลงในการทำร้ายคนอื่นในนามของคุณงามความดี
แต่ “ใครเลยจะรู้ได้” ในเมื่อเราท่านก็ยังไม่สามารถทะลุทะลวงม่านหมอกของอวิชชาได้เด็ดขาดจริงจัง
การเกิดเป็นมนุษย์นั้นงดงาม
การแสวงหาอย่างไม่ท้อถอยทำให้การเกิดนั้นสมค่า
ความจริงใจต่ออุดมคติทำให้เราเคารพตนเองได้
แต่มนุษย์นั้นน่าสงสารเสมอ”
เขียนโดย อ.ประชา หุตานุวัตร , 2548
เรียบเรียงจากข้อความส่งท้ายในต้นฉบับ “ความหลังครั้งยุวชนสยาม”
ขออุทิศบุญกุศลจากคุณงามความดีที่สถาบันได้ดำเนินผ่านกิจกรรมต่างๆ กว่าสิบห้าปี แด่อาจารย์ประชา หุตานุวัตร – ผู้ริเริ่มก่อตั้งสถาบันธรรมวรรณศิลป์ จากการประกวดงานเขียนธรรมะเยาวชน สนับสนุนให้เติบใหญ่เป็นโครงการพัฒนาจิตใจผ่านกิจกรรมน้อยใหญ่มิว่าการอบรมเพื่อรู้จักตนเอง การส่งเสริมการเจริญสติผ่านการเขียน บทความธรรมะ และกิจกรรมการกุศลต่างๆ จนถึงทุกวันนี้
จินตนาอันบริสุทธิ์ของท่านจะดำรงในเนื้องานของสถาบันแห่งนี้ต่อไปจากรุ่นสู่รุ่นอีกยาวนาน
สถาบันธรรมวรรณศิลป์
www.dhammaliterary.org