5. จิตโง่ คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของชีวิต
จิตฉลาด คิดว่าชีวิตเป็นเพียงการยืมมา
.
จิตเมื่อยังขาดการฝึกฝนจะถือว่าร่างกายนี้คือตัวฉัน คือสิ่งที่เป็นฉัน
เมื่อฝึกฝนพอสมควรแล้ว จึงจะรู้ว่ามันไม่ใช่เสียทีเดียว
.
ร่างกายนี้จะว่าเป็นของตนก็ไม่เชิง เป็นตัวตนก็ไม่ใช่ เป็นกล้ามเนื้อ เลือด ลม และธาตุต่างๆ ก่อตัวอยู่รวมกัน มาจากอาหารที่คนอื่นเป็นผู้ทำให้ วัตถุดิบทั้งหลายก็มีผู้ปลูก พืชสัตว์เหล่านั้นก็มีชีวิตของตัวเอง ได้รับการเลี้ยงดูจากเกษตรและธรรมชาติ
.
เรานำร่างกายของพืชและสัตว์มาประกอบอาหาร เมื่อดื่มกินเข้ามาก็แปรเปลี่ยนสภาพกลายเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหนังมังสา ร่างกายของพืชสัตว์เหล่านั้นก็เป็นผลพวงจากสิ่งอื่น มีแสงแดด ดิน และอากาศอยู่ในพวกเขา ซึ่งส่งทอดมาถึงร่างกายคนในตอนนี้
.
เรากำลังอาศัยร่างกายของพืช สัตว์ และธรรมชาติ หาใช่ของคนอย่างเดียวไม่
.
เซลล์ ระบบประสาท อวัยวะต่างๆ อาศัยอินทรีย์สารทั้งหลายหล่อหลอม มีส่วนที่ส่งผ่านมาทางแม่ พ่อ ญาติ บรรพบุรุษ สิ่งแวดล้อม อากาศที่หายใจ และอีกมากมายเป็นปัจจัยเกิดกลายเป็นร่างกาย ล้วนมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น
.
ร่างกายจึงไม่ใช่ตัวตนของใครเสียทีเดียว เป็นเพียงธรรมชาติ มาจากธรรมชาติ เกิดจากดิน น้ำ ลม และไฟ เพื่อกลับคืนสู่ความเป็นธาตุอีกครั้ง
.
จิตฉลาด จึงคิดว่าชีวิตเป็นเพียงการหยิบยืมมาจากธรรมชาติเท่านั้น หาใช่ของๆ ตนไม่ หาใช่สิ่งที่เป็นตัวตนของฉัน
.
จิตโง่ ยึดถือว่าร่างกายนี้เป็นตัวตนฉัน แล้วหลงคิดอย่างผิดเพี้ยนว่ามันสวยงามน่าหลงใหล ทั้งที่ความจริงแล้ว ร่างกายก็คือหนัง ไขมัน และขน ปกคลุมห่อก้อนเลือด กระดูก อุจราระ ฯ เอาไว้ แล้วสวมทับปกปิดด้วยเสื้อผ้าอีกที
.
ตามที่ผู้เขียนได้เรียบเรียงไว้ในบทความ “บทภาวนา อนัตตา” ตอนที่ 8 ดังว่า
.
“ก้อนเนื้อหุ้มก้อนเลือดห่อก้อนขี้
เธอไขว่คว้าอะไรในสิ่งเหล่านี้
เมื่อวันหนึ่งต้องเปื่อยยุ่ยหรือกลายเป็นเถ้า
ตรงไหนคือความเป็นตัวเรา
หล่อหลอมจากธรรมชาติ
เพื่อกลับคืนสู่ความเป็นธาตุ”
.
เมื่อตายแล้วก็เอาร่างกายไปไม่ได้ ความงดงามที่เคยลุ่มหลงก็เหลือเพียงความเน่าหนองและกลิ่นเหม็น
.
สิ่งใดก็ตาม หยิบยืมคนอื่นมา ยืมแล้วก็ต้องคืน ในเมื่อเราแค่ยืมธรรมชาติมาเดินเหินทำธุระต่างๆ บนโลกใบนี้ เมื่อถึงเวลาก็ต้องส่งคืนกลับไปให้กับเจ้าของที่แท้จริง
.
จิตที่ไม่รู้ว่า เจ้าของร่างกายที่แท้จริงเป็นใคร ก็รักตัวกลัวตาย ไม่อยากเสียความเป็นเจ้าของเลือดเนื้อนี้ไป เมื่อเวลานั้นมาถึง มิอาจปล่อยวาง
.
เมื่อไม่รู้ว่าเจ้าของร่างกายที่แท้จริงคือใคร ก็ประคบประหงมจนเกินพอดี หรือซ้ำร้ายก็ไปลุ่มหลงในร่างกายที่คนอื่นหยิบยืมธรรมชาติมาใช้เหมือนกัน
.
แต่ใช่ว่า เมื่อมิใช่เจ้าของแล้วก็ปล่อยทิ้งขว้างไม่ดูแล ไม่สนใจร่างกายเพราะไม่รู้สึกว่าเป็นของฉัน นี่ก็ยังไม่ถูกต้อง เป็นความโง่ของจิตอีกแบบหนึ่ง เมื่อเป็นผู้ยืมสิ่งของของเขามา เราก็ต้องระมัดระวังรักษาไว้เป็นอย่างดี จนถึงวันที่ต้องคืนเจ้าของกลับไป
.
ยืมมาใช้งานตามกาล ครอบครองชั่วคราวเพื่อรับผิดชอบ ดูแลรักษาเพื่อมีชีวิตตามอัตภาพที่เหมาะสมแก่งาน หน้าที่ และคุณค่าที่เกิดมา ดูแลกายเพื่อมิให้ก่อทุกข์เกินจำเป็นต่อตนและคนอื่น มิใช่ทะนุถนอมเพื่อหลงใหลยึดมั่น
.
นอกจากร่างกายแล้ว แม้แต่จิตใจ กับสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ก็มิใช่ของๆ เรา หรือตัวตนของใคร แม้จิตที่ปล่อยวางจากการถือมั่นในกายจะเป็นจิตที่ฉลาดขึ้นแล้ว แต่ก็อาจยังโง่หลงคิดว่า จิตคือตัวตนของตัวเอง ชีวิตคือตัวตนของตัวเอง อย่างนี้ก็ยังไม่ใช่ความจริงเสียทีเดียว
.
สิ่งที่เรียกว่าจิตนั้นก็ไม่ต่างจากร่างกาย เป็นสิ่งซึ่งประกอบด้วยธาตุธรรมชาติต่างๆ ขณะที่ร่างกายประกอบด้วยรูปธรรม จิตใจก็ประกอบด้วยนามธรรม เรียกว่า เจตสิก ก่อตัวเป็นปัจจัยเข้าด้วยกัน โดยมิได้เป็นของๆ ใคร
.
หากถือวิชาตามฝรั่งก็ต้องกล่าวว่า จิตสำนึก และ จิตใต้สำนึก มิใช่ของๆ ใคร แต่เป็นผลรวมของหลายเหตุปัจจัยก่อให้เกิดขึ้นมา มิว่าความคิด ความรู้สึก ความทรงจำ ความเชื่อ และมโนธรรมทั้งหลาย ต่างอาศัยเหตุปัจจัยนานาอันมิใช่ตัวตนหรือของๆ ตนเป็นผลทำให้เกิด
.
จิตที่ฉลาดแล้วจะรู้ตัวเองว่า ตัวตนที่แท้จริงของจิต ก็เป็นเพียงธรรมชาติเท่านั้น สิ่งที่เป็นจิตก็เพียงการรู้สึกรับรู้ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ต้องคืนทุกสิ่งเหล่านี้ กลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง
.
มิว่าจะเป็นความรู้สึกอันงดงามเพียงใด ความเชื่อและความคิดอันสวยหรูเพียงไหน ความสุขล้ำ ความทุกข์ทน ความทรงจำที่งดงาม ความปิติยินดี ฯ สุดท้ายเราก็ต้องคืนสิ่งเหล่านี้กลับไปหาเจ้าของที่แท้จริง แล้วเหลือแต่เพียงความว่าง
.
เพราะนามธรรมทั้งหลายที่เกิดแก่จิต มันมิใช่ของเราตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว มันแค่เกิดขึ้นตามปัจจัยในปัจจุบัน
.
จิตฉลาด แค่เฝ้าดูและรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นภายใน สักแต่ว่าเป็นเพียงธรรมชาติ มิใช่ไขว่คว้าเอามาเป็นตัวฉัน หรือของๆ ฉัน อะไรจะเกิดขึ้น มันแค่เกิดขึ้นตามปัจจัย เรียกว่า อิทัปปัจจยตา มิได้ทำให้ฉันดีหรือฉันแย่ แค่เป็นมา เพื่อเป็นไป
.
สิ่งที่เรียกว่า ชีวิต ก็มิใช่ตัวตน แต่เป็นเพียงความรู้สึกที่เรารับรู้ผ่านอายตนะเท่านั้น ได้แก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
.
ชีวิตก็คือภาพ เสียง สัมผัส กลิ่น รส และความรู้สึกที่รับรู้ก่อนจะตีความเป็นความหมายต่างๆ มิได้มีตัวตนมาตั้งแต่ต้น แค่จิตที่ยังโง่เขลายึดเอาสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้เหล่านี้เรียกว่าเป็นชีวิตของฉัน
.
ผู้เขียนได้เคยบรรยายไว้ในบทภาวนา อนัตตา ตอนที่ 27 ดังว่า
.
“ชีวิตคือสายลมพัดผ่านไป
รู้ถึงลมเพราะสัมผัส กระเพื่อมไหว
รู้ว่าตัวเองมีชีวิต มิหาไม่
เพราะมีการรับรู้ที่กายและใจ”
.
ลองระลึกตามดู เรารู้ว่าตัวเองยังไม่ตาย มิใช่เพราะมีร่างกาย ทรัพย์สิน ความรัก หรือสถานะใดใด แต่รู้ว่ายังไม่ตาย เพราะว่ายังมีการรับรู้
.
ชีวิตไม่ใช่กาย ไม่ใช่ใจ มิใช่ทั้งสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายเลย ตรงไหนที่เรียกได้ว่าคือชีวิต อดีตก็ไม่มีอยู่แล้ว อนาคตก็เป็นเพียงความคิด มีเพียงแค่ปัจจุบันเท่านั้น ปัจจุบันที่กายใจนี้ดำรงอยู่ ณ ที่ซึ่งมีการรับรู้เกิดขึ้น นั่นคือชีวิต
.
ในเมื่อกายที่ดำรงก็มิใช่ตัวตน ใจที่ดำรงก็มิใช่ของๆ เรา ปัจจุบันก็เป็นเพียงความเป็นไป ชีวิตจึงจะเป็นของๆ ใครได้เล่า
.
เมื่อรับรู้อย่างนี้ โดยความไม่ถือเอาเป็นตัวตนของตน จิตก็คลายจากความโง่มากขึ้นแล้ว ความทุกข์ใจก็จะเหลือให้เกิดขึ้นน้อยมาก ถ้าจิตฉลาดพอเห็นว่า ชีวิตเป็นเพียงการรับรู้ เหมือนสายลมที่พัดผ่านเข้ามาแล้วจางหายไป จึงไม่อาจมีอะไรให้ยึดถือเป็นตัวตนและของตน
.
มันเป็นเพียงธรรมชาติเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่รับรู้ สิ่งที่เรียกว่าชีวิต เกิดขึ้นตามธรรมดา เป็นไปตามปัจจัยนำมา สักแต่เป็นธรรมชาติเท่านั้น
.
เรามิจำเป็นต้องดิ้นรนไปขึ้นภูขึ้นเขาหรือเข้าป่า เพื่อใกล้ชิดธรรมชาติ เพราะสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่นี้ คือธรรมชาติอยู่แล้ว มิมีตัวตนหรือความเป็นของๆ เรา ไม่ได้อยู่เหนือกฏเกณฑ์แห่งความเป็นธรรมดา ธรรมชาติอยู่ตรงนี้กับกายใจตลอด
.
ความรู้สึกห่างไกลจากธรรมชาติ ไม่ใช่เพราะกายอยู่ในเมืองคอนกรีต แต่เพราะยังมีความเห็นแก่ตัวตน เห็นแก่ความเป็นของๆ ตน จิตจึงโง่เขลาต่อความจริงและรู้สึกห่างเหินกับธรรมชาติที่เป็นจริง
.
จิตที่โง่จะรู้สึกโดดเดี่ยว เฝ้าโหยหาสิ่งที่ไม่มี รู้สึกขาดแคลนอยู่ตลอดหรือลุ่มหลงไปว่ามีอะไรมากมายเป็นของตน เพราะลืมว่าทั้งกายใจก็เป็นเพียงธรรมชาติเท่านั้น ธรรมชาติอันกว้างใหญ่หาที่สุดมิได้ มีธาตุต่างๆ เป็นเพื่อนมากมาย ไม่ได้โดดเดี่ยวหรือแแปลกแยก แต่ก็ไม่มีอะไรที่ยึดเอาเป็นของตนได้เช่นกัน
.
เรามีชีวิตด้วยชีวิตของธรรมชาติ หายใจก็ด้วยลมหายใจของธรรมชาติ มีร่างกายก็ด้วยร่างกายของโลก มีจิตใจก็ด้วยความรักและนามธรรมในจักรวาล หากสิ่งแวดล้อมพังทลาย ระบบนิเวศเสื่อมสลาย โลกไม่อาจอยู่อาศัย หรือจะเรียกว่า ธรรมชาติตายแล้ว คนเรา มนุษย์ทั้งหลายก็ไม่อาจมีชีวิต
.
เราก็แค่มาหยิบยืมกายใจจากธรรมชาติ มีชีวิตด้วยชีวิตของธรรมชาติ หายใจกับลมหายใจแห่งธรรมชาติ เพื่อทำหน้าที่เฉพาะกาล แล้วคืนเจ้าของกลับไปเมื่อหมดเวลา
.
ทุกอย่างที่เคยเชื่อว่า ฉันมี ฉันเป็น แท้จริงฉันก็แค่ยืมมาเท่านั้น
.
.
6. จิตที่โง่ คาดหวังสิ่งทั้งหลายจนเป็นทุกข์
จิตที่ฉลาด ยอมรับความไม่แน่นอน
.
อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เมื่อเผชิญความทุกข์ ความล้มเหลวผิดพลาด และความผิดหวังอันทิ่มแทงใจ จิตโง่เขลาก็เฝ้ารำพันว่า ทำไมหนอ ทำไมต้องแบบนี้ แต่จิตฉลาดจะรำพึงว่า อนิจจา ตถตา
.
ความจริงตามหลักพุทธศาสนา ทุกสิ่งมีลักษณะร่วมสามประการ คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา
.
อนิจจัง หมายถึงไม่แน่นอน ไม่เที่ยงแท้ ไม่คงอยู่ถาวร พร้อมจะเปลี่ยนแปลง
.
ทุกขัง หมายถึงเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ บกพร่อง ไม่สมบูรณ์แบบ ใครยึดมั่นก็เป็นทุกข์
.
อนัตตา หมายถึงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ความเป็นของๆ ใคร มิใช่อยู่ในอำนาจที่ควบคุมได้เสมอไป
.
จิตฉลาด คือจิตที่ตื่นแล้ว จนเข้าใจว่าทุกสิ่งก็เป็นไปตามลักษณะทั้งสามอย่างนี้ มิว่าจะรัก เกลียด เฉยๆ หรืออะไรก็ตาม ไม่มีแม้สักอย่างเลยนอกจากความหลุดพ้นที่หลุดรอดออกจากลักษณะทั้งสามข้างต้น ต่อให้แม้เป็น บุญ หรือคุณงามความดีที่ตนกระทำก็ตาม หรือแม้แต่คุณค่าของชีวิต มีสั่งสมก็มีเสื่อมสูญด้วยกันทั้งสิ้น
.
ส่วนจิตโง่นั้น คือจิตที่หลับตาจากความจริง จนเชื่อว่าทุกๆ อย่าง หรือบางสิ่งที่เขาผูกพันจะเที่ยงแท้ เป็นสุข และเป็นตัวตนของตน ขัดแย้งกับลักษณะทั้งสามอย่างข้างต้น
.
โทษของความโง่ก็คือความหนักอึ้ง เพราะจิตเมื่อถูกครอบงำด้วยความโง่ก็จะแบกรับโลกไว้ด้วยความคาดหวังที่ตนสร้างขึ้น หนักเพราะเต็มไปด้วยความคิดความรู้สึกต่อความสมหวังความผิดหวังประดามี เฝ้าคิดเฝ้าคำนึงว่าเหตุใดต้องเป็นแบบนั้นเป็นแบบนี้
.
เวลาคาดหวังสิ่งต่างๆ หรือแบกรับมันไว้ด้วยความหมายมั่น เมื่อนั้นเราจะรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเลวร้ายกว่าความเป็นจริง หรือดีเลิศเลอกว่าความจริง ไม่เห็นความเป็นธรรมดา ปรุงแต่งไปเองว่ามันช่าง…เสียเหลือเกิน ทั้งในความเป็นจริงแล้วสถานการณ์นั้นๆ อาจแค่เรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่งบนโลก
.
ทุกข์หรือความหนักอึ้ง เกิดขึ้นก็เพราะการไม่เห็นความจริงตามที่เป็นจริง แต่เห็นผ่านความอยาก ความคาดหวัง และการเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นมันขัดแย้งกับใจตน ไม่เป็นไปตามความอยาก ความคาดหวัง และการเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ความไม่พอใจก็เกิดขึ้น นั่นก็เป็นทุกข์ เป็นความหนัก
.
เมื่อสมปรารถนา ความพอใจก็เกิดขึ้น นั่นก็เป็นทุกข์ เป็นความหนักเช่นกัน เพราะต้องคอยหวงแหนรักษาไว้ ทำให้ความหมายมั่นก็ยิ่งมากมีตามมา พาลพาหลงคิดผิดเพี้ยนไปว่า โลกจะต้องเป็นไปตามใจฉันอยากให้เป็น ยิ่งพลอยอยากไขว่คว้าตามมาไม่รู้จบสิ้น
.
มันยิ่งทุกข์ ยิ่งหนัก มากยิ่งขึ้นไป โดยที่เราแทบไม่รู้สึกตัว รู้ตัวอีกทีก็แบกเอาไว้มหาศาลแล้ว ล้นพ้นทั่วตัว ผูกพันอาลัยเกินกว่าจะปล่อยวาง
.
การเอาตัวตนเป็นที่ตั้งก็คือ การคิดว่าโลกนี้ต้องหมุนรอบตัวฉัน เป็นไปอย่างที่ฉันต้องการ เป็นไปอย่างที่เชื่อ หรือสามารถควบคุมจัดการให้เป็นไปอย่างที่หวัง เมื่อพยายามให้ทุกอย่างเป็นไปตามปรารถนามากเท่าใด ตัวตนหรืออัตตาก็ยิ่งใหญ่ขึ้น เพื่อหวังสร้างแรงโน้มถ่วงมากพอจะดึงดูดสิ่งที่อยากได้ใคร่มีเข้ามา
.
เราทุกคนที่ยังไม่ละอัตตาตัวเอง ต่างมีความอยากตัวใหญ่ทั้งสิ้น จะยอมตัวเล็กก็ไม่ได้เดี๋ยวแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ เดี๋ยวโดนเอาเปรียบ เดี๋ยวไม่มีที่ยืนในสังคม เราต่างที่มีจิตโง่ ต่างพยายามทำให้ตัวเองใหญ่ขึ้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง บ้างก็ทำบุญจนติดบุญ บ้างก็ทำดีจนติดดี พอกพูนอัตตาด้วยสิ่งที่ถือว่ามีคุณค่า และหวังว่ามันจะดึงดูดสิ่งดีๆ ที่ปรารถนาเข้ามาหาตน
.
ดาวเคราะห์กับดาวฤกษ์ไม่ได้ดึงดูดสิ่งดีๆ เข้าหาตัว แต่ชักนำดาวหาง อุกกาบาต และดาวเคราะห์น้อย เข้ามาพุ่งชนสร้างความทุกข์และรอยบาดแผล ยิ่งใหญ่โตก็ยิ่งเป็นเป้าพุ่งชนง่าย เช่นเดียวกันกับอัตตาของคน
.
การใช้ชีวิตด้วยจิตโง่ สวนทางกับการเข้าใจความเป็นจริง อยู่กับความคาดหวังและความยึดมั่นต่างๆ เราก็ยิ่งตัวใหญ่ขึ้น ตัวใหญ่ขึ้น อำนาจอัตตามากมี ความอยากความยึดมั่นมากมี แทนที่จะดึงดูดความสุขและความสงบ ผลก็คือยิ่งดึงดูดความทุกข์ที่ไม่สิ้นสุดเข้ามา รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นหลุมดำไปแล้ว
.
ความทุกข์ทางใจทั้งหลายอยู่บนพื้นฐานเดียว คือการไม่ยอมรับธรรมชาติ คือความอยากเอาชนะธรรมชาติ หวังว่าตัวเองจะใหญ่พอที่จะเอาชนะความเป็นจริง หรือแข็งขืนต้านทานไว้ให้ได้นานที่สุด
.
รู้ว่ามีสมหวัง ก็มีผิดหวัง แต่ใจก็ยังเป็นทุกข์ เพราะใจนั้นก็ยังแอบหวังว่าจะมีข้อยกเว้น หวังว่าจะไม่ผิดหวังในลักษณะแบบนั้นแบบนี้ตามที่ตนต้องการ นี่คือความแข็งขืนไม่อยากให้เป็นไปตามธรรมชาติ
.
จิตที่ฉลาดไม่พยายามเอาชนะธรรมชาติ ไม่หวังตัวใหญ่ ไม่ฝักใฝ่ในอำนาจ ยอมที่จะตัวเล็กลง ตัวเล็กลง หลอมละลายตัวตน เพื่อไม่ต้องมีที่ตั้งแห่งทุกข์
.
จิตโง่ก็จะพยายามใหญ่ พยายามต่อสู้กับความเป็นจริงที่มิอาจเลี่ยง หวังเอาชนะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ผลก็คือตัวใหญ่ขึ้น เมื่อตัวใหญ่อัตตาอ้วนขึ้นก็เป็นเป้าให้ความทุกข์ยิงเข้าใส่ง่ายขึ้นเท่านั้น
.
ของสองชิ้น ชิ้นหนึ่งเล็กน้ำหนักเบาบาง ชิ้นหนึ่งใหญ่น้ำหนักมหาศาล ทำจากวัสดุเดียวกัน ตกลงมาด้วยความสูงเท่ากัน หล่นบนพื้นผิวแบบเดียวกัน ความเสียหายจะเกิดขึ้นตรงไหนมากกว่ากัน
.
จิตใหญ่โต เวลาตกลงมาก็จะเจ็บปวดมาก เพราะน้ำหนักมันเยอะ แรงกระแทกก็มาก ผิดพลาดผิดหวังทีก็ราวกับโลกพังทลาย ฟื้นตัวยาก ยอมรับความจริงลำบาก แตกต่างกับจิตเล็กๆ เวลาล้มเหลวผิดพลาดมันก็ไม่เจ็บปวดมากเท่าใด เจ็บแล้วก็หายไว แพ้เป็น ยอมเป็น และยืดหยุ่นกับสิ่งที่เกิด
.
ยอมรับความเป็นไป แล้วทำในสิ่งที่ทำได้อย่างเต็มที่ มีเป้าหมายแต่เผื่อใจที่จะผิดหวัง ไม่สิ้นศรัทธาแต่กล้าล้มเหลว มองให้เห็นว่า ทุกๆ อย่างมิได้เป็นไปตามใจฉัน แต่เป็นไปตามอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาเท่านั้น คิดได้อย่างนี้ความทุกข์ความหนักอึ้งก็เกิดกับชีวิตน้อยลง
.
คนๆ นั้น หรือสิ่งๆ นั้น แม้จะมีค่ากับเราเพียงใด พวกเขาก็เป็นเพียงอนิจจัง ไม่อาจอยู่ในอำนาจการควบคุม ไม่อาจเป็นไปตามความเชื่อหรือความคาดหวัง พร้อมจะเปลี่ยนแปลงและเสื่อมสลาย
.
คนโบราณรู้วิธีที่จะเตือนใจตัวเอง ผ่านคำอุทานหรือคำรำพึง เวลาเรื่องร้ายเกิดแทนที่จะเฝ้าบ่นอย่างเช่นคนสมัยใหม่ว่า ทำไม ทำไม หรือด่าว่าอย่างหยาบคายกับสิ่งต่างๆ ก็เพียงใช้คำว่า อนิจจา อนิจจา หรือ ตถตา ตถตา
.
คำว่า “อนิจจา” ไม่ได้แปลตามพจนานุกรมที่หมายถึง คำที่เปล่งออกมาแสดงความสงสารสังเวช แต่หมายถึงการให้ยอมรับความจริงที่ว่า มันไม่เที่ยงแท้ เป็นแค่อนัจจัง เป็นแค่อนิจจัง
.
ส่วนคำว่า “ตถตา” หมายถึง ความเป็นเช่นนั้นเอง เป็นแค่นั้น อย่างนั้นเอง มันเกิดขึ้นเพราะว่ามันต้องเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา รวมอยู่ในคำสั้นๆ ธรรมดาว่า ตถตา
.
แม้แต่คำว่า “เวร” ซึ่งฟังดูเผินๆ เหมือนเป็นคำด่า แต่จริงๆ แล้วก็คือคำว่า “เวรกรรม” ซึ่งเป็นนัยให้ตัวเองยอมรับว่าเหตุการณ์นั้นมันเป็นผลจากเวรกรรมที่ทำมา หรือเวรกรรมที่มีต่อกันกับอีกฝ่าย
.
เช่นเดียวกันกับคำว่า “กรรม” เป็นไปตามเหตุปัจจัยของกฏแห่งกรรม ทำสิ่งใดไว้ในอดีต วันหน้าก็ได้รับผลย้อนกลับมาเช่นนั้น แค่ยอมรับ มิให้ถือโทษก่นด่าว่าใคร
.
หรือคำว่า “ปัดโธ่” หรือ “พุทโธ่” ก็คือคำที่แผลงเสียงมาจากคำว่า พุทโธ ซึ่งมีนัยความหมายสองประการ อย่างหนึ่งคือการถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ไม่ใช่เอาอัตตาและความคาดหวังของตนเป็นที่พึ่ง ใครทำอะไรฉันขุ่นเคืองก็ พุทโธ่ ! ให้สิ่งที่เคารพฉุดรั้งตัวเองไว้ไม่ให้ไหลตามโทสะ
.
การระลึกถึงพระไตรรัตน์ก็เป็นอุบายละวางจากอัตตา ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง น้อมใจให้พระพุทธเป็นที่ตั้งแทน
.
เป็นอย่างเดียวกันกับการอุทานว่า “พระเจ้า” “พระอัลลอฮ์” หรือ “พระราม” !
.
อีกนัยความหมายคือการเตือนตัวเองให้ตื่น เพราะ พุทโธ หมายถึง ผู้ตื่นแล้ว อุทานพุทโธเพื่อเขย่ากายใจนี้ให้ตื่น ให้มีสติ และมองความจริงอย่างที่เป็นจริง ก่อนอารมณ์จะชักนำพาไปไกล
.
มิว่าจะเป็นคำใดก็ตาม คำว่า เวร กรรม พุทโธ หรืออนิจจา ก็รวมอยู่ในคำๆ เดียวได้ คือคำว่า ตถตา หมายถึง เป็นเช่นนั้นเอง แค่นั่นเอง
.
จิตโง่หมกมุ่นอยู่กับ อัตตา แล้วก่นด่าโชคชะตาที่ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา ส่วนจิตฉลาดสนใจแค่เพียง ตถตา แล้วกำหนดโชคชะตาด้วยความเข้าใจความเป็นธรรมดาของโลก
.
สิ่งทั้งหลายที่คนคาดหวัง ผิดหวัง และเป็นสุขทุกข์ มันไม่แน่นอนมาตั้งแต่ต้น เป็นอนิจจังมาตั้งแต่ต้น ไม่อาจขึ้นอยู่กับตัวเราหรือความเป็นของเรามาตั้งแต่ต้น จะสุขหรือทุกข์กับมันไปเพื่ออะไร
.
สู้ใช้เวลาที่มีทำสิ่งที่มีคุณค่าเสียดีกว่า ก่อนจะต้องคืนกายใจให้แก่ธรรมชาติ
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 61
> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/
> > > ติดตามหลักสูตรอบรม และหนังสือออนไลน์
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/