7 วิธีดูแลด้านลบในตัวเอง (ตอนแรก)

1 ยอมรับตัวเอง แต่ไม่จมปลัก : เราจะแก้ปัญหาใดได้ เราต้องมองให้เห็นปัญหาและสาเหตุของปัญหานั้นก่อน ก้าวแรกที่สำคัญของการแก้ไขพฤติกรรมและสิ่งลบในตัวเอง จึงเป็นการยอมรับสิ่งนั้นอย่างเต็มที่และเต็มใจ เริ่มจากการพิจารณาถึงผลเสียที่เคยเกิดขึ้นต่อตนและคนอื่น ใคร่ครวญด้วยหัวใจ ยอมรับความผิดพลาดที่ผ่านมา รักตัวเองให้มากพอที่จะพัฒนาตนและแก้ไขข้อบกพร่องที่ทำให้เราและคนรอบข้างเป็นทุกข์

.

ความกล้าหาญที่แท้จริงอยู่ในหัวใจเราทุกคน เมื่อยืดอกเผชิญหน้าปัญหาที่เกิดขึ้นจากตน ไม่พยายามหลีกเลี่ยง เบี่ยงเบน หรือผลักไสโทษคนอื่น เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวเราเอง หากแก้ไขอย่างขาดการยอมรับแล้ว ย่อมแก้ไม่ถูกจุด เพราะอาจพยายามโทษคนอื่นและสิ่งนอกตัว แต่ละเลยพฤติกรรมเดิมๆ ซึ่งพาให้เกิดปัญหาแบบที่เคยเกิดขึ้น

.

การมองโลกแง่ดีและคิดบวกต่อตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ แต่หากขาดการยอมรับด้านลบแล้ว เท่ากับยังเป็นการหลอกตัวเองและกลบเกลื่อนปัญหาไว้ ยอมรับตัวเอง หมายถึงเข้าใจตัวเองรอบด้าน ตามความป็นจริง ทั้งดีร้ายและความเคยชิน ส่งผลดีและเสียอย่างไร ไม่เฉพาะด้านที่อยากมอง

.

การยอมรับคือแลเห็นแต่ไม่ตอกย้ำ ยอมรับแต่ไม่ซ้ำเติมตัวเองจนเราไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เพราะการยอมรับไม่ใช่การจมปลัก เพียงต้องเห็นโทษจากสิ่งที่ทำอย่างเข้าใจ แต่ไม่ใช่เฝ้าโทษตัวเอง แม้รู้ว่าเรามีเสียอย่างไร มีด้านลบแบบไหน แต่หากเราเอาแต่ย้ำคิดว่า เพราะฉันเป็นคนเช่นนี้ เช่นนี้ จะยิ่งมีแต่ส่งเสริมให้เรายึดติดด้านลบนั้นเป็นตัวตน เป็นของตน ทั้งที่เรามีหลากหลายด้านในตัวเอง

.

ยอมรับคือแลเห็นและน้อมนำมาพิจารณาปรับปรุง เพื่อระวังไม่ให้กาย วาจา และใจไปส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ด้านลบให้เติบใหญ่ หากเราย้ำคิดตัวเองในทางลบและในทางหาข้ออ้าง เรายิ่งผูกปมในใจให้หนาแน่นมากขึ้นเท่านั้น แต่หากย้ำคิดแต่ในทางบวก เท่ากับเราก็ยังรักตัวเองไม่จริง เพราะยังปฏิเสธบางด้านที่มี

.

ในความเป็นจริงทางแก้ปัญหามักเรียบง่าย แต่ใจที่ขาดการยอมรับความจริงมักพยายามทำให้ซับซ้อน เพื่อปิดบังตัวเองไม่ให้เผชิญความบกพร่องของตน เราต้องกล้าหาญพอที่จะยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองก่อน การกระทำเพื่อแก้ไขด้านลบจึงจะเกิดขึ้นตามมา

.

.

2 ฟังเสียงสะท้อนที่ไม่อยากฟัง : คนที่พูดไม่เข้าหูเรามากที่สุด อาจเป็นครูที่สำคัญต่อเรามากที่สุด เพราะกลไกการปกป้องตัวเองของอัตตา เมื่อเจอสิ่งที่สะกิดมุมลบที่ไม่อยากยอมรับ กลไกนั้นก็มีแนวโน้มจะสั่งให้ตัวเราปิดกั้นหรือตอบโต้

.

การเติบโตของชีวิตควรมีกัลยาณมิตร ซึ่งไม่ใช่เพียงมิตรเคียงข้าง แต่ยังเป็นใครบางคนที่สามารถพูดสะท้อนความเป็นตัวเราในเรื่องที่ไม่อยากฟัง คนเช่นนี้จึงสามารถเป็นครูแก่เรา ผู้ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องในตนที่อัตตาไม่ยอมให้เปลี่ยนแปลง

.

ความอยากในหัวใจ ได้แก่ อยากได้ อยากเป็น และอยากไม่เป็น กับความกลัวในจิต มักทำให้เฉไฉที่จะสบตากับความจริงในตัวตน เหตุการณ์หรือใครก็ตามที่ชี้ชวนให้เราแลเห็นความจริงที่ไม่อยากมอง มักทำให้เราหวั่นไหว ขลาดกลัว โกรธ ไม่พอใจ และปฏิเสธโดยทันทีอย่างขาดการไตร่ตรอง

.

ผู้ที่หวังการเติบโตของชีวิตเพื่อความสุขที่แท้จริง ต้องตระหนักในด้านมืดของตัวตน และยินยอมให้ครูหรือมิตรแท้ เปิดเปลือยเปลือกของอัตตา ให้เราเข้าใจตัวเองยิ่งกว่าที่ผ่านมา

.

แม้ตัวเราเองอาจมีโอกาสทำความเข้าใจตนได้ดีที่สุด แต่บางด้านถ้าไม่มีกระจกช่วยส่องก็ยากที่จะแลเห็น พฤติกรรมและความคิดด้านลบมักเกิดขึ้นซ้ำซากจนเคยชิน บางส่วนกระทำยามเผลอไผล หากไม่มีสติเพียงพอก็ยากจะสังเกตให้เห็นได้ และเรามักเข้าใจตนในด้านที่พอใจจะมอง

.

คนที่มองชีวิตมุมต่างจากเรา คนที่เกลียดชังเรา หรือมีอุดมการณ์แตกต่างกัน ย่อมยืนในจุดที่เห็นมุมหนึ่งของตัวเรา ซึ่งเราไม่สามารถเหลียวแลเห็นได้

.

ความผิดพลาดของชีวิตมักเกิดจากด้านที่เรามองไม่เห็นในตนเอง หรือไม่กล้าพินิจอย่างเต็มที่ แทนที่จะผลักไสคำไม่เข้าหูไปไกลๆ อาจนำมาเข้าใจตนอย่างรอบด้าน สุขเพราะเห็นเป็นกำไรที่มีคนที่ช่วยตรวจตราตัวเรา ดีกว่าทุกข์เพราะพยายามกำจัดเสียงวิจารณ์ออกไป

.

.

3 ให้ทางเลือกตัวเองด้วยสติ : ด้านลบมักเกิดจากพฤติกรรมซ้ำซากของกาย วาจา และใจ เป็นร่องวงจรของจิตและการใช้ชีวิต ทำไปตามความคุ้นเคยชินจนควบคุมไม่ได้ แม้เกิดขึ้นจากตัวเองก็ตาม

.

สิ่งสำคัญคือการฝึกสติและฝึกรู้เท่าทันในขณะที่พฤติกรรมด้านลบกำลังเกิดขึ้น ด้วยเพราะขาดสติ ร่องความเคยชินของจิตและสมองจะพาให้เรามีพฤติกรรมแบบเดิมๆ ที่เคยทำเป็นไปอย่างเกือบอัตโนมัติ ยิ่งเคยทำหลายครั้งหลายหน ก็ยิ่งเป็นวงจรให้ทำซ้ำซากอย่างเผลอไผล แม้รู้แก่ใจว่าไม่ดีก็ตาม

.

สติ ช่วยให้วงจรนั้นชะงัก ทำให้เกิดช่องว่างขณะการทำไปตามความเคยชินเดิมๆ ในเสี้ยววินาทีหรือระหว่างที่ชะงักนั้น คือช่วงเวลาสำคัญของชีวิต ซึ่งเรากำลังมีทางเลือกว่า จะเลือกทำแบบเดิม หรือจะเลือกกระทำแบบที่ดีกว่า

.

มนุษย์ต่างต้องการมีอิสระ แต่เรากลับขังตัวเองไว้ในร่องวงจรการคิด การพูด และการกระทำแบบเดิมๆ ที่ก่อปัญหาแก่ตัวเองและคนรอบข้าง หากต้องการมีอิสระแท้จริง เราต้องมีสติ เพื่อให้ตัวเองไม่ถูกครอบงำและจำกัดชีวิตด้วยอารมณ์และความเคยตัว

.

บางครั้งเราอาจรู้สึกว่า กว่าสติจะมา ปัญหาก็เกิดแล้วหรือเผลอทำไปแล้ว นั่นมิใช่ปัญหา มิว่าสติจะเกิดเมื่อใด ตอนนั้นคือเวลาที่สำคัญที่สุดแล้ว รู้ตัวช้าหรือเร็ว ย่อมดีกว่าไม่รู้ตัว เมื่อรู้แล้วเมื่อใดเรายังมีโอกาสแก้ไข และลดทอนผลกระทบที่เกิดขึ้น สติมาเมื่อใดตอนนั้นเรามีอิสระแล้ว อิสระที่จะเลือกให้ชีวิตดีกว่าที่ผ่านมา

.

การฝึกสติเหมือนการฝึกเล่นกีฬาหรือเล่นเกม แรกๆ เราอาจไม่เก่ง เชื่องช้า เงอะงะ สติไม่ทันการณ์ แต่เมื่อฝึกมากขึ้น เราย่อมคล่องแคล่ว สติย่อมเร็วขึ้นทันท่วงที

.

แทนที่เราจะปล่อยให้กาย วาจา และใจ ไหลไปตามร่องเดิมๆ เราต้องฝึกยับยั้งตัวเอง คือกระตุกให้เรานิ่งด้วยสติ และชั่งใจคือทบทวนจนตระหนักให้ดีก่อนที่จะคิด พูด และทำ มิเช่นนั้นแล้วชีวิตอาจย่อยยับเพราะช่างมันปล่อยให้ด้านลบของตัวเองเป็นผู้ทำลายชีวิตของตน

.

จะ ยับยั้ง หรือ ย่อยยับ อยู่ที่เราเป็นผู้เลือกเอง แต่จะเลือกได้ก็ต่อเมื่อมีสติเท่านั้น

.

.

4 ดูแลความกลัวเบื้องหลัง : บางครั้งเราก็ไม่เข้าใจตัวเองว่าเหตุใดจึงทำเช่นนั้น แม้เรารู้ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ดี แต่ก็ยังทำครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ทันสังเกตว่าทุกพฤติกรรมด้านลบ มักมีความกลัวซ่อนเบื้องหลัง เมื่อมีปัจจัยมากระตุ้นความกลัวโดยไม่รู้ตัว กลไกของจิตใจก็จะพยายามปกป้องตัวเองด้วยวิธีที่เคยทำมาก่อน

.

ความกลัวมีหลายอย่าง ทั้งความกลัวที่หยาบ เช่น กลัวผี กลัวโดนตี กลัวไม่ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ และความกลัวที่ละเอียด เช่น กลัวการสูญเสีย กลัวความโดดเดี่ยว กลัวไม่ดีพอ เป็นต้น ซึ่งเรามักมีความกลัวที่ละเอียดอยู่ในจิตใจอย่างไม่รู้ตัว

.

บางคนแสดงความก้าวร้าวกับคนรอบตัวครั้งแล้วครั้งเล่า แม้ยามใจสงบลงจะรู้ตัวว่าสิ่งที่กระทำออกไปนั้นไม่ดี แต่ก็อดไม่ได้ที่จะทำอย่างเก่า ใครเหล่านั้นบางคนกลัวถูกทอดทิ้ง ดั่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อตอนวัยเด็กมาแล้ว เขาแสดงความก้าวร้าวเพื่อให้คนอื่นเข้าใจความเจ็บปวดในหัวใจ ซึ่งยังมีรอยแผลนี้อยู่แม้ล่วงวัยมา

.

บางคราวเราก็เผลอพูดทำร้ายความรู้สึกอีกฝ่าย แม้เป็นคนที่รักเพียงใดก็ตาม เพราะในหัวใจกลัวการสูญเสีย กลัวการถูกหักหลังและทอดทิ้ง เพราะพฤติกรรมตรงหน้าเข้ามาสะกิดแผลในใจ แล้วเราก็อาจทำให้การพลัดพรากนั้นเกิดขึ้นหรือบั่นทอนความสัมพันธ์ลง แม้บางครั้งปัญหาจริงๆ ยังไม่ได้เกิดขึ้นเลยก็ตาม

.

บางคนตามใจคนอื่นจนหลงลืมความต้องการและคุณค่าในตัวเอง แม้ถูกทำร้ายจากอีกฝ่ายมากเท่าใด ก็ยังไม่อาจยืนหยัดเพื่อตัวเองหรือปฏิเสธอีกฝ่ายได้ เพราะเบื้องลึกในจิตใจกลัวถูกทอดทิ้ง กลัวอ่อนแอ หรือไม่อยากต้องอยู่คนเดียวลำพัง เพราะไม่แน่ใจว่าจะดูแลตัวเองได้ หรือเข้มแข็งพอ

.

บางคนรู้ว่าการทำงานหนักไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อกายและใจ แต่ก็ยังหักโหมจนเสียสุขภาพและผิดหวังยามผิดพลาดแม้เรื่องเล็กน้อยสำหรับคนอื่น ด้วยเขามีความกลัวตัวเองดีไม่พอ หรือบางคนกลัวความล้มเหลว บางคนไม่ยอมลงมือทำอย่างเต็มที่เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย ขาดวินัย ด้วยมีความกลัวแบบเดียวกันในหัวใจ แค่แสดงออกต่างกัน

.

ความกลัวที่ละเอียดเช่นนี้มีได้ทุกคน มักผลักดันให้เรามีพฤติกรรมที่บั่นทอนตัวเองและผู้อื่น โดยเฉพาะเวลาที่มีปัญหาหรือความทุกข์เกิดขึ้น เมื่อฝึกสติและทบทวนตัวเองเพียงพอ เราจะเห็นความกลัวที่แอบซ่อน ชัดเจนมากขึ้น เมื่อนั้นเราจึงสามารถเป็นอิสระจากความกลัวนั้นได้

.

อย่ากลัวที่จะเรียนรู้และเยียวยาความกลัวกับบาดแผลในหัวใจ คนทุกคนสามารถเข้าอบรมเพื่อเยียวยาตัวเอง หรือปรึกษาจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญได้ ทุกคนมีบาดแผลในหัวใจ มีความกลัวและความไม่รู้ในจิตอยู่มากมาย เมื่อกลับมาใส่ใจดูแล เมื่อนั้นเราจะทำให้ตัวเองและคนอื่นเป็นทุกข์น้อยลง และความสุขจะไม่ใช่เรื่องยากเหมือนที่เคยอีกต่อไป

.

อย่ากลัวที่จะสบตากับความกลัวและด้านมืดแห่งตัวตน เมื่อเรามองให้ดีในนั้นจะมีแสงสว่างที่เราจะไม่อาจเห็นได้เลยหากไม่มีความมืดมิด ดังแสงดวงดาวหรือหิ่งห้อยน้อยในยามค่ำคืน ฉะนั้น

.

.

#คอลัมน์ #ไกด์โลกจิต

ตอนที่ ๓๑

.

โดย อนุรักษ์ ครูโอเล่

อ่านตอนสอง

www.dhammaliterary.org/ดูแลด้านลบในตัวเอง1/

การอบรม “โอบกอดด้านมืดแห่งตัวตน”

www.dhammaliterary.org/โอบกอดด้านมืดแห่งตัวตน/