ตั้งคำถาม เพื่อสอนตัวเราและเด็กๆ
เนื้อหาต่อยอดจากการอบรม “ห้องเรียน วิถีครู” รุ่นที่ 6
คัมภีร์สอนเด็กที่ดีที่สุดนั้น ก็คือการกลับมาทบทวนประสบการณ์วัยเด็กของตัวเอง เราในวัยเด็กรู้ว่าการตั้งคำถามแบบใดของผู้ใหญ่จึงจะเป็นประโยชน์กับเขา รวมทั้งท่าทีแบบใดและวิธีการใดบ้างที่จะช่วยให้ผู้ใหญ่เกื้อกูลการเรียนรู้ของเด็กได้ ตัวเราในวัยเด็กนั้นมีคำตอบอยู่แล้ว ผ่านประสบการณ์ทั้งสุขและทุกข์ในห้องเรียนและครอบครัว
หากต้องการตั้งคำถามที่ทรงพลังกับเด็ก คุณครูต้องกลับมาถามตนเองก่อน เช่น ประสบการณ์วัยเด็กที่ผ่านมาสอนอะไรฉันบ้างในฐานะครู ? การที่ฉันในวัยเด็กจะเปิดใจกล้าพูดกล้าตอบกับผู้ใหญ่คนใด ต้องอาศัยเหตุปัจจัยใดบ้าง ?
อย่าเพียงถามว่า “จะถามคำถามอย่างไรให้เด็กกระตือรือร้นที่จะตอบ” แต่ต้องกลับมาถามตนเองว่า ฉันมีสิ่งที่ดีอะไรที่จะทำให้เด็กสนใจอยากเรียนรู้และพูดคุยกับฉัน ? ฉันจะสร้างพื้นที่ที่ทำให้เด็กรู้สึกวางใจในและมีสมาธิในการทบทวนสิ่งต่างๆ ด้วยกันอย่างไร ?
…และควรถามว่า ตอนฉันเป็นเด็ก ฉันก็อยากให้ผู้ใหญ่ พ่อแม่ และคุณครู ถามอะไรกับฉันบ้าง ?
ก่อนที่เราจะถามคำถามยากๆ หรือซับซ้อนให้กับเด็ก เราควรเริ่มต้นจากคำถามง่ายๆ ที่จริงใจและทำให้เขารู้สึกวางใจว่า ครูรับฟังทุกคำตอบของเขา ไม่ใช่เฉพาะคำตอบที่ถูกต้องตามใจครูเท่านั้น เพราะมิเช่นนั้นแล้ว เขาจะไม่กล้าคิดและไม่กล้าตอบ เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีหรือไม่ฉลาดพอที่จะตอบได้ ซึ่งบั่นทอนศักยภาพการเรียนรู้ของเขาอย่างมหาศาล
การสอนให้เด็กตอบคำถาม ต้องควบคู่ไปด้วยกับการสร้างพื้นที่ในการเรียนรู้ และกระตุ้นให้เด็กเห็นความสำคัญของการตั้งคำถาม หากเราสอนแบบเดิมๆ ที่เน้นให้เด็กได้คำตอบตามตำรา หลักการ และความเห็นของครู เด็กก็จะไม่กล้าตั้งคำถามและไม่กล้าตอบเพราะกลัวว่าเขาจะถูกลงโทษหรือเป็นที่อับอาย
การตั้งคำถามที่ดีสำหรับครู จึงต้องถามตัวเองก่อนที่จะถามเด็ก ฉันได้สร้างความสัมพันธ์และพื้นที่ปลอดภัยให้เขากล้าถามกล้าตอบแล้วหรือไม่ ? ฉันจะมีกระบวนการในการน้อมนำจิตใจเด็กให้ค่อยๆ พิจารณาและสนใจในสิ่งที่ฉันต้องการถามอย่างไร ? และ ฉันควรมีท่าทีอย่างไรเพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขาในการกล้าลองผิดลองถูกเรียนรู้ไปด้วยกัน ?
ดังที่ผมได้เล่าตัวอย่างในการอบรมวันที่สอง ของกิจกรรม “มหัศจรรย์การตั้งคำถาม” ก่อนพระพุทธเจ้าท่านจะทรงสอนในสิ่งที่ยาก ท่านใช้การตั้งคำถามที่เป็นขั้นเป็นตอนค่อยๆ จูงใจภิกษุให้ระลึกพิจาณาตาม
แม้จะเป็นคำถามปลายปิดโดยข้อความ แต่หากใช้ถูกจังหวะและมีกรอบการตั้งคำถามที่เหมาะสมแล้ว การตั้งคำถามปลายปิดก็ทรงพลังและชวนเปิดใจได้เช่นกัน สิ่งสำคัญอย่างแรกๆ ในการตั้งคำถามที่ทรงพลังคือคำว่า “เปิด” แต่เปิดในที่นี้ไม่ใช่คำถามปลายเปิดเสมอไป คำถามปลายปิดก็เปิดได้ หากพื้นที่เปิดกว้างและหัวใจทั้งสองฝ่ายก็เปิดรับ
สิ่งที่สำคัญมากกว่าตัวคำถามคือการเปิดใจของผู้ถาม และการเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนรู้หรือผู้ถูกถามมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น และการเปิดโอกาสให้ลองพิจารณาด้วยตนเอง แม้จะไม่มีคำตอบที่สอดคล้องกับครูหรือผู้ถามก็ตาม
การเป็นครูที่ดีไม่ใช่เพียงมีวิธีสอนที่ดี แต่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของนักเรียนรู้ หากครูไม่เป็นนักตั้งคำถามต่อตัวเอง ชีวิต และการทำงาน ก็จะตั้งคำถามกับนักเรียนได้อย่างผิวเผิน และสามารถสอนได้เพียงวิชาการ แต่ไม่สามารถสอนการมีชีวิตและการเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้แก่พวกเขาได้ เพราะท่านเองก็ขาดการเรียนรู้ในเรื่องนี้เช่นกัน
การตั้งคำถามที่ดีจะทำให้เกิดการฉุกนึก เปิดใจ และได้สติ ผู้ที่รู้จักการตั้งคำถามก็จะไม่ถูกกระแสของค่านิยม และอารมณ์ภายในจิตใจตนเองชักนำไปในทิศทางต่างๆ เราจะไม่ทำงานและใช้ชีวิตไปตามความเคยชิน แต่จะอยู่อย่างมีความหมายและเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้อื่น
เราควรกลับมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเชื่อ กับวิธีการเดิมๆ ที่เราใช้ในชีวิต การทำงาน รวมทั้งการสอนเด็กๆ อาทิเช่นว่า สิ่งๆ นี้เป็นคำตอบสุดท้ายแล้วจริงหรือ ? หากฉันไม่สอนแบบนี้ยังมีวิธีการอะไรที่ดีกว่า ? หากฉันสอนแบบนี้ต่อไป ผลเสียที่อาจเกิดขึ้นได้คืออะไร ? มีสิ่งใดในตัวฉันที่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้น ?
การตั้งคำถามที่ดีให้กับผู้เรียน คุณครูต้องถามตนเองว่า คุณค่าของการตั้งคำถามคืออะไร หากมิใช่เพียงได้คำตอบตามหลักการหรือตามที่ครูคิดไว้ ? หากพบกับคำตอบจากคำถามนี้ ผมเชื่อว่าคุณครูก็จะได้เจอกุญแจที่ช่วยในการไขหัวใจของเด็กๆ และตัวท่านเองเช่นกัน
คำถามยังเป็นเครื่องมือที่ดีในการช่วยออกแบบการเรียนรู้ ก่อนเริ่มร่างการสอน เราอาจต้องถามคำถามง่ายๆ เช่นว่า ฉันจะสอนอะไรในคาบนี้ ? จุดมุ่งหมายสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ในคาบนี้คืออะไร ?
นี่เรียกว่า คำถามหลัก เป็นเป็นหมายสำคัญของร่างแผนการสอน จากนั้นเราก็ตั้งคำถามแยกย่อยจากคำถามหลัก เพื่อให้เห็นแนวทางและขั้นตอนการสอนที่ชัดเจนมากขึ้น โดยอาจแยกย่อยออกมาเช่น ตัวอย่างที่ดีอะไรที่ควรยกขึ้นมาเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ? ฉันควรถามอะไรแก่ผู้เรียนเพื่อชวนเรียนรู้ในเรื่องนี้ ? หัวข้อหลักของคาบนี้จะเชื่อมโยงกับชีวิตจริงของเด็กได้อย่างไร ? ฉันควรใช้กิจกรรมหรือรูปแบบการสอนแบบไหน ? มีอุบายอะไรที่จะทำให้เด็กสนใจและไม่น่าเบื่อ ? ฉันจะทำให้เรื่องนี้เข้าใจง่ายที่สุดอย่างไร ?
อีกวิธีหนึ่งคือการตั้งคำถามเรียงตามลำดับการสอน ผมขอยกตัวอย่างคำถามที่ตั้งให้กับตนเอง เพื่อร่างลำดับกิจกรรมในการอบรม มหัศจรรย์การตั้งคำถาม เมื่อคืนวันที่ 24 – 25 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา
คืนแรก :
– ทำอย่างไรผู้เรียนจึงวางใจและเปิดรับต่อการเรียนรู้แบบกลุ่มใหญ่ ?
– ทำอย่างไรคนเราจึงเห็นความสำคัญของการตั้งคำถาม ?
– คำถามแบ่งเป็นกี่แบบ แต่ละแบบมีประโยชน์อย่างไร ?
– ผู้เรียนควรได้เริ่มฝึกตั้งคำถามอย่างไร จึงง่ายและสนุก ?
– ประเด็นใดที่ผู้เรียนควรได้ใช้ฝึกตั้งคำถาม ?
– ตัวอย่างใดที่จะชัดเจนและเป็นประโยชน์สำหรับการตั้งคำถาม ?
คืนสอง :
– วิธีการเขียนแบบใดที่จะช่วยต่อยอดการตั้งคำถาม ?
– ผู้เรียนจะทบทวนความเชื่อ/วิธีคิดของตนอย่างไร ?
– กรอบการตั้งคำถามที่ดีมีอะไรบ้าง ?
– ผู้เรียนควรนำการตั้งคำถามไปต่อยอดอย่างไร ?
– ผู้เรียนควรพัฒนาคุณสมบัติใดควบคู่กับการตั้งคำถาม ?
– ทำอย่างไรให้ผู้เรียนได้ฝึกแตกคำถาม
– ควรสรุปการเรียนสองคืนนี้อย่างไร ?
การที่ผมตั้งคำถามกับตัวเองก่อนที่จะสอนคนอื่น ทำให้ผมกลับมาพิจารณาว่าสิ่งที่เคยสอนในเรื่องเดียวกันนี้ในหลักสูตรอื่นๆ นั้นมีจุดไหนที่ต้องพัฒนาหรือ “อัพเดต” ให้ร่วมสมัย ชัดเจนขึ้น และดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา ทำให้ได้ดูทางเลือกที่มีมากกว่าหนึ่งคำตอบในการจัดการเรียนรู้หรือการบรรยายให้ตอบโจทย์เรื่องนั้นๆ และทำให้รู้สึกว่าแม้จะสอนในเรื่องเดิมๆ มันก็เป็นการเริ่มต้นใหม่ที่มีชีวิตชีวาได้เช่นกัน
การนำคำถามเป็นที่ตั้งในการออกแบบกิจกรรม แทนที่ผมจะนำองค์ความรู้และคำตอบที่มีเป็นที่ตั้ง ทำให้การเรียนการสอนมีชีวิตชีวา มีความเป็นมนุษย์ และทำให้ผมยังคงได้พัฒนาตนเองไปพร้อมกับการจัดกิจกรรมเช่นนี้ และทำให้ผมเลือกที่จะให้หลายสไลด์บรรยายนั้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ขึ้นมาด้วยกัน บนพื้นฐานคำถามร่างการสอนที่ผมวางไว้เบื้องหลัง
การหาคำถามที่ดีให้กับเด็ก ยังไม่ใช่แนวทางที่ดีสุดในการส่งเสริมให้เขารู้จักคิดพิจารณาอย่างแยบคาย นอกจากครูควรถามตัวเองก่อนแล้ว ก็ควรส่งเสริมให้เขารู้จักการตั้งคำถามที่ดี เห็นคุณค่าของถาม และมีความกระตือรือร้นที่จะตั้งคำถาม ควบคู่ไปกับการใช้กระบวนการแสวงหาคำตอบในเรื่องที่สนใจ
เมื่อเราเปลี่ยนวิธีการสอนจากเดิมที่พยายามปลูกปั้นให้เด็กๆ เป็นเพียงนักตอบคำถามและนักทำข้อสอบ เปลี่ยนเป็นการสร้างนักตั้งคำถามและนักแสวงหาคำตอบของชีวิต เมื่อนั้นเราก็ได้เปลี่ยนชีวิตของเขาและสังคมแล้ว
ในยุคที่มีผู้พยายามยัดเยียดคำตอบให้กับเขามากมาย อาทิ การเมืองที่ดีต้องเป็นอย่างไร ซื้อสินค้ายี่ห้อไหนจึงจะดูดี แฟชั่นอะไรที่จะช่วยไม่เป็นคนตกยุค ต้องมีหน้าตาและเป็นคนแบบไหนจึงมีคุณค่าและได้รับการชื่นชม ต้องเรียนจบอะไรและมีเงินแค่ไหนจึงเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ฯ แต่ทักษะการตั้งคำถามจะเป็นดั่งเชือกที่ช่วยดึงให้เขาว่ายทวนกระแสค่านิยมต่างๆ และสามารถเห็นคุณค่าในตัวเองและชีวิตได้อย่างแท้จริง
การเป็นนักตั้งคำถามที่ดีของครูและผู้ใหญ่ ก็จะช่วยให้เรามีความมั่นคงจากข้างใน และเป็นหลักที่ยึดพึ่งพิงแก่คนรอบตัว เพราะจิตเราจะไม่มัวแสวงหาความมั่นคงปลอมๆ จากสิ่งนอกตัวทั้งหลาย จนจิตใจแกว่งไกวไม่แน่นอน และที่สำคัญเราก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กๆ ว่า การมีชีวิตอย่างมีความหมายและมั่นคงนั้นเกิดขึ้นจากอะไร
วิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ในการส่งเสริมให้เด็กๆ กระตือรือร้นในการตั้งคำถาม คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามและการแสวงหาคำตอบ นอกจากติดกติกา คำคม หรือคำสั่งต่างๆ ไว้ตามบริเวณที่ต่างๆ ในโรงเรียนแล้ว ตามจุดต่างๆ อาจมีป้ายคำถามที่ชวนให้เขาได้สงสัย พูดคุย และตามหาคำตอบ มันอาจจะเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์หรือวิชาการที่เขาจะต้องเรียนอยู่แล้ว หรืออาจเป็นปริศนาคำทายให้ทายเล่นๆ ก็ได้ หรืออาจเป็นคำถามเกี่ยวกับชีวิต ความสัมพันธ์ เพื่อน ธรรมชาติ และการอยู่ร่วมกันในโรงเรียนก็ได้
อาจลองเปลี่ยนจากการติดกฎข้อห้าม เป็นการติดคำถามให้เขาคิดด้วยตนเองแทน อาทิเช่น วางรองเท้าแบบไหนจึงงามตา ? รอซื้ออาหารแบบไหนแม่ค้าไม่สับสน ? ดูซ้าย ดูขวา ก่อนข้ามถนนหรือยัง ? เข้าเรียนอย่างไรจึงทันเพื่อนและเข้าใจเนื้อหาไม่ตกหล่น ?
คุณครูไม่จำเป็นต้องได้คำตอบจากพวกเขาโดยตรง แต่เมื่อเราให้สมองและจิตใจของเด็กๆ ได้ซึมซับคำถามที่ดีและตั้งคำถามที่มีประโยชน์กับตนเองบ่อยๆ แล้ว เขาจะเป็นคนที่มีวิจารณญาณ สิ่งนี้ก็จะนำมาสู่ จิตสำนึก และความรับผิดชอบต่อไป ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากการบังคับ แต่เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ
คำถามที่ดีไม่จำเป็นต้องมีคำตอบเดียวที่ถูกต้อง บางคำตอบอาจเป็นการกวนประสาท ความคิดพิเรน หรือเห็นต่างจากแนวทางที่ครูเชื่อมั่น แต่สิ่งเหล่านั้นล้วนนำมาสู่การเรียนรู้ได้ทั้งสิ้น เมื่อครูมีกระบวนการในการชวนเขาคิดต่อ พูดแลกเปลี่ยน หรืออย่างน้อยก็ปล่อยให้เขาได้คิดและเรียนรู้จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้น
ทุกคนสามารถตั้งคำถามที่เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อตัวเองและผู้อื่นได้ไม่ยาก ซึ่งมิว่าเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม ขอเพียงเราไม่หยุดที่จะฝึกตั้งคำถามอย่างมีสมาธิ ลองแตกแขนงแยกย่อยคำถามให้กว้างและลึกลงไป และให้พื้นที่จิตใจได้ใช้เวลาใคร่ครวญ อยู่กับตนเอง และเห็นคุณค่าของการมีคำถามที่ดี
คำถามที่ดี แม้ยังไม่เห็นคำตอบที่ชัดเจนในวันนี้ ขอเพียงเรากล้าถามตนเอง ก็ช่วยทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้แล้ว
ครูโอเล่ สถาบันธรรมวรรณศิลป์
คอลัมน์ #ไกด์โลกจิต
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต
https://www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/
ติดตามกิจกรรมอบรม