“ท่านทั้งหลายไม่เข้าถึงพุทธธรรม ก็เพราะว่า “พระพุทธเจ้าตามทัศนะของท่าน” ขวางท่านอยู่”

 

Walking_the_Noble_Way

 

“ท่านทั้งหลายไม่เข้าถึงพุทธธรรม ก็เพราะว่า

“พระพุทธเจ้าตามทัศนะของท่าน” ขวางท่านอยู่”

 

 

มีปริศนาธรรมข้อหนึ่งกล่าวว่า หากพบพระพุทธเจ้าระหว่างทางนั้นจะทำเช่นไร คำตอบคือ จงฆ่าพระพุทธเจ้าเสีย
.
กล่าวมาอย่างนี้ หากเผลอตัดสินโดยไม่ได้ยั้งคิดด้วยสติปัญญาก่อนแล้ว เราอาจมองว่านี่เป็นการยั่วยุให้ทำร้ายพระสงฆ์องค์เจ้าใช่ไหม หรือหากคิดปรุงแต่งเกินเลยไปอีกอาจไพล่เห็นว่านี่ต้องเป็นทัศนคติคนศาสนาอื่นต้องการบ่อนทำลายศาสนาพุทธเป็นแน่ หากแต่ตามจริงแล้ว นี่ปริศนาธรรมในศาสนาพุทธนี้เอง ซึ่งมุ่งตรงไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตากันแน่
.
แล้วที่ผ่านมาก็มีเพียงคนศาสนาเดียวที่บ่อนทำลายศาสนาพุทธ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว นั่นคือพุทธศาสนิกชนและพระสงฆ์องค์เจ้าเอง ที่ยึดเอาศาสนาพุทธไปผิดทางและสอนธรรมะไปผิดทิศ นั่นแล
.
คำกล่าวของปริศนาธรรมข้างต้น ไม่ได้หมายถึงให้เราประทุษร้ายพระพุทธเจ้าหรือสงฆ์องค์ไหน แม้จะเป็นสงฆ์แท้หรือเทียมก็ตาม หากแต่หมายถึง ขจัด “พระพุทธเจ้าตามทัศนะของท่าน” ออกไปเสียให้พ้นทาง เพราะนี่คือเหตุหนึ่งที่ทำให้เราทั้งหลาย ไม่เข้าถึงพุทธธรรม คือไม่เข้าใจหลักธรรมตามที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้ หรือปฏิบัติเท่าใดก็ไม่อาจพ้นทุกข์
.
กล่าวให้ชัดเจนขึ้นคือ การยึดมั่นใน “พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์” อย่างสำคัญมั่นหมายเป็นตัวเป็นตนนั่น คือภูเขาลูกใหญ่ที่บดบังเราจากพุทธธรรมไว้ ทึกทักไปเองว่านั่นคือ “พระพุทธเจ้าของกู พระพุทธแบบที่กูเชื่อ พระธรรมที่กูศรัทธา พระสงฆ์ของกู ศีลที่กูสะอาด อาจารย์ที่กูเคารพ ศาสนาของกู” ทั้งหลายเหล่านี้เป็นต้นที่พาเราไปไกลสุดกู่จากพระนิพพาน
.
พระนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราชอบแนวคิดไหนหรือหลักการไหนเราพึงพอใจ หรือครูอาจารย์ที่ใดสอนสั่ง เหล่านั้นล้วนแต่เป็น พระพุทธเจ้าตามทัศนะของเราที่บดบังเราจากพุทธธรรมทั้งสิ้น นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตาขึ้นอยู่กับนำเราไปสู่หนทางหลุดพ้นทุกข์สิ้นเชิงหรือก่อทุกข์มากมี เพราะป่ากว้างใหญ่ พระพุทธเจ้าเพียงหยิบใบไม้มากำมือ เอาแค่เพียงธรรมะที่สามารถหลุดพ้นจากทุกข์ได้แล้ว ธรรมะอย่างอื่นมิใช่สิ่งจำเป็นที่จะต้องใส่ใจ
.
เราทั้งหลายมิจำเป็นต้องนำหลักธรรมใดใดมาชี้วัดตัดสินว่า นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา เสมอไป แค่ดูให้ดีว่า การเชื่อและปฏิบัติแบบใดของพวกใดที่นำมาสู่ความสุขอย่างแท้จริงด้วยปัญญา และลดละความทุกข์อย่างแท้จริง แล้วพวกอื่นที่เชื่อแบบใด ปฏิบัติและรวมหมู่อย่างไร ก่อให้เกิดความทุกข์และความสุขจอมปลอมที่ต้องใช้เงินและความหลงซื้อมา
.
แต่ละนิกายในพุทธศาสนาย่อมมีวิธีการเล่าเรื่องราวและลักษณะเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันในบางจุดบ้างและหลายจุดบ้าง แต่มิว่าแบบใดเหล่านั้นล้วนแต่สามารถเป็น “พระพุทธเจ้าในทัศนะของท่าน” อันขวางทางท่านจากธรรม คือสำคัญมั่นหมายยึดเอาว่า พระพุทธเจ้าเป็นแบบนั้นแบบนี้ เป็นอัตตาตัวตนตามแต่ที่พอใจ มีรูปร่างลักษณะ มีที่อยู่ดินแดนแห่งหน หรือยศตำแหน่งอะไร ยึดมั่นเอามันก็พาให้การปฏิบัติและใจหลงทาง
.
เราจึงเห็นว่าพุทธศาสนิกชนจำนวนหนึ่งไปหลงอยู่กับรูปเคารพสักการะ ถือว่าอิฐปูนเป็นพระพุทธเจ้า คิดเอาเองว่าพระองค์นั้นซึ่งนิพพานไม่เหลือแล้วยังมีตัวตนตามต้นไม้ หรือเสด็จอยู่ใน นิพพานที่มีความหมายของภพภูมิที่เป็นอัตตา บางพวกก็ทึกทักเอาว่าพระพุทธเจ้าสอนไม่หมดบ้างก็มี กล่าวกันว่าไตรลักษณ์ไม่ใช่ความจริงทั้งหมดก็มี
.
หากเราพบพระพุทธเจ้าบนทางเดิน หรือ พบเจอว่าท่านกำลังนั่งอยู่ในศูนย์กลางกาย และในคติความคิดใดใด ก็จงฆ่าท่านเสีย คือฆ่าภาพลักษณ์และอัตตวาทุปาทานที่จิตตนคิดให้เสียสิ้น
.
พระพุทธเจ้าที่เห็นเป็นท่านก็ไม่ใช่พระพุทธเจ้า ความว่างที่เราทึกทักเอาว่า “ว่าง” ก็มิใช่ความว่าง พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ที่เราคิดว่า “ใช่” ก็ไม่ใช่อย่างที่ยึด หากจิตยื้อยุดว่าจะให้มัน “ใช่” นั่นก็เพราะภูเขามันบังตาเราอยู่อย่างนั้น
.
พระองค์ท่านใช้สรรพนามแทนตนว่า “ตถาคต” ผู้ใดเข้าใจซึ้งถึงความหมายแล้ว ย่อมฆ่าท่านที่เป็นอัตตาได้อีกก้าวหนึ่ง
.
ยิ่งยึดเอาพระสงฆ์เป็นของกูมากเท่าใด ความเป็นพระสงฆ์ยิ่งเสื่อมถอยลงเท่านั้น ยิ่งยึดเอาพระพุทธเจ้าตามใจกูมากเพียงใด ศาสนาพุทธยิ่งเสื่อมถอยลงมาเท่านั้น ยิ่งมองธรรมะเป็นไปเพื่อส่งเสริมตัวกูของกูเพียงใด ธรรมะยิ่งหมองลงเพียงนั้น บุญใดเอามาเสริมส่งตัวกูของกูแล้วบุญนั้นก็อกุศล วัดใดเอาอัตตาเป็นที่ตั้งแล้ว ย่อมเสื่อมความเป็นวัดลงไปฉันนั้น
.
ชื่อหัวข้อบทความนี้ นำมาจากคำท่านพุทธทาส ในหนังสือ “ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม” ท่านที่ต้องการศึกษาเพื่อเข้าใจภูเขาที่บังจิตบังตาเราทั้งหลายอยู่ สามารถหาอ่านในหนังสือเล่มนี้เพื่อเข้าใจในข้อความที่กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายไม่เข้าถึงพุทธธรรม ก็เพราะว่าพระพุทธเจ้าตามทัศนะของท่านขวางท่านอยู่” มากยิ่งขึ้น
.

.
บทวามคอลัมน์ #ไกด์โลกจิต

โดย อนุรักษ์ ครูโอเล่

 

 

สถาบันธรรมวรรณศิลป์
www.dhammaliterary.org
ภาพประกอบ : what-buddha-said.net/