“จักปราบปรามเสี้ยนหนาม คือโจร ด้วยการประหาร ด้วยการจองจำ ด้วยการปรับไหม ด้วยการตำหนิโทษ
หรือเนรเทศ อันการปราบปรามด้วยวิธีเช่นนี้ ไม่ชื่อว่าเป็นการปราบปรามโดยชอบ เพราะว่าโจร
บางพวกที่เหลือจากถูกกำจัดจักยังมีอยู่ ภายหลัง มันก็จักเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ แต่ว่า
การปราบปรามเสี้ยนหนามคือโจรนั้น จะชื่อว่าเป็นการปราบปรามโดยชอบ เพราะอาศัยวิธีการ
ดังต่อไปนี้
.
๑. พลเมืองเหล่าใด ในบ้านเมืองของพระองค์ ขะมักเขม้นในกสิกรรม และโครักขกรรม
ขอพระองค์จงเพิ่มข้าวปลูกและข้าวกินให้แก่พลเมืองเหล่านั้นในโอกาสอันสมควร.
๒. พลเมืองเหล่าใด ในบ้านเมืองของพระองค์ ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรม ขอพระองค์
จงเพิ่มทุนให้แก่พลเมืองเหล่านั้น ในโอกาสอันสมควร.
๓. ข้าราชการเหล่าใด ในบ้านเมืองของพระองค์ขยัน ขอพระองค์จงพระราชทาน
เบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนแก่ข้าราชการเหล่านั้นในโอกาสอันสมควร”
.
? ( พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ กูฏทันตสูตร , หัวข้อที่ ๒๐๖ )
.
.
เหตุที่พระพุทธเจ้าตรัสดังนี้ เพราะมิได้ทรงมองโจรผู้ร้ายเป็นอัตตาตัวตน ทว่าเล็งเห็นความเป็นอิทัปปัจจยตา คือความเป็นปัจจัยหนุนเนื่องทำให้บุคคลเหล่านั้นต้องผันตัวทำสิ่งเลวร้าย มาจากความอดอยาก ความเหลื่อมล้ำของสังคม ความทุกข์ทนในชีวิต และขาดการเห็นคุณค่าในตัวเองกับการหน้าที่ จึงเกิดเป็นปัจจัยบ่มเพาะความเลวร้ายให้เกิดขึ้น
.
เมื่อผู้นำของสังคม (หรือ พระเจ้ามหาวิชิตราช ในขณะนั้น) ได้ทรงรับทราบและทรงรับสั่งตาม สละทรัพย์ตนเป็นทาน อภิบาลคนทุกเหล่า ให้ความสำคัญเท่าเทียมกันในหมู่ข้าราชการ บ้านเมืองก็เกิดความรำ่รวย ประชาชนยินดีต่อกัน ใคร่ทำงานตามหน้าที่ ไม่มีการเบียดเบียนกัน ไม่มีโจรผู้ร้ายเกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้น สามารถ “ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอกไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่” ได้ ตามพระไตรปิฎก
.
– – – – – –
.
? บทความ “บทภาวนา อนัตตา” ตอนที่ ๗
หากจักประหารความเลวใด
จงประหารอัตตาเราเสียก่อน
นี่คือหัวใจสำคัญของพุทธะ
.
อย่าถือคนร้ายเป็นตัวตน จนหัวใจหมองไหม้ไฟโทสะ
อย่าถือตัวเองดีกว่าเขา จนเราหยาบช้าด้วยโลภะ
อย่าถือว่าคนอื่นเป็นดังคิด จนจิตมัวเมาในโมหะ
.
ไม่มีคนเลวร้ายบนโลก แต่มีความเลวร้ายก่อเกิด
ไม่มีเหตุการณ์เลวร้าย มีแต่กรรมสืบต่อร่วมกำหนด
สังคมมัวหมองด้วยควัน แผ่คลุมจากใจเราที่เผาไหม้
เมื่อเธอประทุษร้ายใคร ด้วยกาย วาจา หรือความคิด
ใจนั้นฆ่าตัวเอง และสร้างคนหลงผิดขึ้นอีกหนึ่ง
.
พระพุทธเจ้าสอนให้ประหารสิ่งเหล่านี้
โจรที่เธอเกลียด กลัว มีอยู่ในหัวใจ
พึงระลึกว่า ไม่มีใครที่เลวร้าย
ไปกว่ากิเลสในตัวเราเอง
.
แม้คนชั่วช้าในสายตาเธอตายเสียสิ้น
ด้านมืดก็พร้อมเผยธาตุแท้ในคนดี
แม้ประหารชีวิตจนโลกเหลือเพียงเธอผู้เดียว
อัตตาตัวเองก็เป็นโจรซ่อนในบ้าน
.
ความดีไม่ใช่ตัวตน ความเลวร้ายไม่ใช่ตัวคน
เรามิได้สูงส่งไปกว่าผู้ถูกลงทัณฑ์
จงมีโทษประหารแก่อัตตานั้น
.
เนตังมะมะ
เนโสหะมัสมิ
นะ เมโส อัตตาติ
นั่นไม่ใช่ของเรา
นั่นไม่เป็นตัวเรา
นั่นไม่ใช่ตัวตน
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๑
.
? ติดตามบทความ และการอบรม:
.
.
– – – – – – –
.
หมายเหตุ : “อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในพระโอวาท อันเปรียบด้วยเลื่อยดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ว่าพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า พึงตัดทอนอวัยวะใหญ่น้อยทั้งหลาย ด้วยเลื่อยอันมีด้ามสองข้างไซร้ ภิกษุผู้ที่ยังใจให้ประทุษร้ายในพวกโจรแม้นั้น. ย่อมไม่เป็นผู้ชื่อว่าทำตามคำสอนของเรา”
.
? ( พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มหาหัตถิปโทปมสูตร , หัวข้อที่ ๓๔๒ )