“ทบทวนประสบการณ์ค้นตน หลักสูตร #เขียนเปลี่ยนชีวิต รุ่นที่ ๑๗
การเรียนเขียนค้นตนนี้ทำให้รู้สึกประหนึ่งว่ากำลังฝึกตนอยู่บนยอดเขาบู๊ตึ๊ง แต่ละขั้นบันไดที่ก้าวแต่ละก้าวมีแต่สูงชัน ถูกเคี่ยวกรำ และเหน็ดเหนื่อยขึ้นเรื่อยๆ
.
ด้วยการใช้ชีวิตที่ถูกหล่อหลอมให้เปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา เมื่อเขียนบันทึกเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ เราจึงนึกได้น้อยมาก ยึดติดในผลงานที่ต้องดี สำเร็จ เป็นงานของส่วนรวม ต้องดูยิ่งใหญ่ราวกับกำลังเขียนใบสมัครงานให้นายจ้างมองว่าเรามีคุณสมบัติดีและพิเศษกว่าคนอื่น
.
เราลืมนึกถึงเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่เคยริเริ่มภูมิใจ แม้ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่คนอื่นเคยทำมาก่อนก็ตาม พอครูแนะให้นึกถึงตรงนี้ สิ่งละอันพันละน้อยผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ได้หวนระลึกนึกถึงความสนุกในการลงมือทำบางอย่างโดยไม่สนใจผลลัพธ์มากกว่า ๓๐ เรื่อง
.
ส่วนใหญ่คนภายนอกมักมองตัวเราว่าเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง แต่เนื้อแท้ตัวเรากลับไม่มีความมั่นใจอะไรเลย ไม่ชื่นชมตัวเอง เชื่อว่าตนเองเป็นคนไม่มีศักยภาพ ไม่มีความถนัด หรือความสามารถพิเศษอะไร การได้ระลึกถึงเรื่องราวที่ตนได้ริเริ่มบางอย่างแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยในอดีต จึงช่วยเพิ่มความภูมิใจในตนเองได้ส่วนหนึ่ง
.
และแล้วกิจกรรมไพ่ปลุกตัวตน ก็ปลุกตัวเราสมกับชื่อกิจกรรมนั้น กิจกรรม “ฉันคือผู้เวียนว่ายฯ” เป็นปฐมบทของการริเริ่มสร้างสรรค์ของตัวเองเกิดขึ้นจากเสียงภายในที่พยายามส่งสัญญาณบอกใบ้แก่เราให้หาสิ่งใหม่ๆ มองเห็นศักยภาพที่มี และเริ่มต้นทำในทันทีอย่างเป็นอิสระ
.
หลังจากเขียน “กวีร้อยแก้ว” (ตามที่ครูเรียก) ครูก็แนะว่าให้วาดภาพประกอบด้วย โดยส่วนตัวเป็นคนที่กลัวการวาดรูปมาแต่ไหน แค่ให้หยิบสีมาระบายก็เครียดจนแทบอยากร้องไห้ ต่อรองแกมหยอกครูเล่นว่า ครูเริ่มตลกแล้วจะให้วาดภาพประกอบด้วยนี่นะ (บ้าไปแล้ว—รำพึงในใจ) แต่ครูก็สำทับว่า “ไม่ได้ล้อเล่นนาครับ”
.
พอจะต้องวาดจริงๆ ทีนี้ต้องทำอย่างไรล่ะ จึงเริ่มจากต้องรู้ก่อนว่าจะวาดภาพอะไร ไปหาข้อมูลของโครงต้นแบบเลียนแบบบางส่วนแล้วก็วาดไปตามแบบฉบับของเรา พอส่งงานไปอย่าได้นึกว่าจะจบง่ายๆ ค่ะ ครูให้อ่านตัวตนจากภาพที่วาด และให้ทำนายชะตาชีวิตของตนเองด้วย หลังจากนั้นมีการบ้านพิเศษเพิ่มอีกคือ ครูส่งรูปวาดมาให้อ่านตัวตนของผู้วาด แต่ยังไม่น่าแปลกใจเท่ากับคำถามที่ถามว่า “ผู้วาดวาดรูปนี้ในช่วงเวลาใด”
.
บททดสอบที่ครูให้ทำทั้งท้าทายและกดดัน เหมือนว่ายิ่งกลัวการริเริ่มมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องสร้างสรรค์คิดใหม่มากขึ้นเท่านั้น ถ้ากลัวการวาดภาพก็ให้วาดเสียจนไม่มีอะไรให้ต้องกลัวอีก และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ วันดีคืนดีคนที่กลัวการวาดภาพอย่างเราก็ครึ้มอกครึ้มใจวาดภาพถึง ๓ ภาพในวันเดียวได้ นับเป็นการเริ่มต้นของตัวเองที่น่าภูมิใจมาก
.
ระหว่างนั้นยังคงเขียนบันทึกหัวข้อหลักไปด้วย เพื่อค้นหาต้นเหตุของการไม่กล้าริเริ่มสร้างสรรค์ กระทั่งพบว่าเรามีตัวตนของ “ป้าตึง” คุณนายละเอียดช่างติ ผู้นิยมความสมบูรณ์แบบ และสะกดจิตตัวเองพบ “เมล็ดพันธุ์กุหลาบ” ที่ไม่กล้าเติบโตงอกงาม การค้นหาความหลากหลายในตนเองดำเนินไปอย่างเข้มข้นผจญภัย และค่อยๆ คลี่คลายด้วยการเขียนบันทึกและวาดระบายภาพ
.
การเข้าใจและรู้จักตัวเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญในชีวิต เราจะไม่รู้เลยว่าตัวเองสามารถทำอะไรได้อีกมากมาย หากมัวแต่เชื่อตัวตนเดิมๆ ที่ปิดกั้นพลังของการริเริ่มสร้างสรรค์ การตัดสินใจที่จะลงมือทำเรื่องยากๆ ที่ท้าทายความสามารถ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาต่อยอดสิ่งดีงามที่มีอยู่แล้วในตัวเราให้เติบโต
.
ท้ายที่สุดของความกลัวอะไรบางอย่างเพียงเราเผชิญหน้ากับมัน ความกลัวนั้นจะหายไปเอง เรายังพบว่าหากเราเดินไปจนถึงปลายทางแล้วต้องพบกับความล้มเหลว เราก็แค่ลุกขึ้นและเริ่มต้นทำใหม่อีกครั้ง โดยเรียนรู้จากความผิดพลาดที่ผ่านมา เพราะ “ถ้ามีชีวิตแล้วไม่ใช้นั่นก็ไม่ใช่ชีวิต หากเกิดเป็นเมล็ดพันธุ์แล้วไม่ขยาย งอกงาม เติบโต จะเรียกตัวเองว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ได้อย่างไร”
.
“เขียนค้นตน” รอบนี้ครูโหดจริงๆ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องขอบคุณไม้เรียวและไม้อื่นๆ ของครูที่ตีแสกหน้าไปหลายหน ทำให้ตระหนักซึ้งถึงคุณค่าและความจริงในตัวเองได้หลายประการค่ะ”
.
ไข่มุก อาชีพ ค้าขาย/หมอดู
www.dhammaliterary.org