๙ แง่คิดประชาธิปไตยในกายจิต (ตอนแรก)

 

 

๙ แง่คิดประชาธิปไตยในกายจิต (ตอนแรก)

 

 

การเมืองมิใช่เรื่องนอกตัวเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องภายในตัวเราอีกด้วย ความขัดแย้งภายในจิตใจ เงื่อนปม ความคิด อารมณ์ และความสัมพันธ์ต่อตนเองด้านต่างๆ ทางจิตวิทยา เป็นเรื่องการเมืองของกายจิตดีๆ นี่เอง เปรียบเสมือนโลกหรือสังคมขนาดใหญ่ที่จะมีภาวะเป็นสุขหรือทุกข์อย่างไร อยู่ที่การปกครองและองค์ประกอบน้อยใหญ่ของโลกภายในแห่งนี้
.
บทความนี้นำเสนอ ๙ ข้อซึ่งเป็นแง่คิดและคำถามชวนเรากลับมาสังเกตดูตนเองว่า ในกายจิตเราเป็นประชาธิปไตยหรือไม่อย่างไร แล้วการเมืองภายในนี้ส่งผลต่อโลกรอบตัวเราอย่างไรบ้าง เพื่อการอยู่กับตนและผู้อื่นอย่างสันติในธรรม
.
.
๑ ร่างกายและจิตใจคือสังคมขนาดใหญ่ :
.
ก่อนที่เราจะเข้าใจว่าประชาธิปไตยในตัวเราเองนั้นคืออะไร เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในร่างกายและจิตใจนี้เป็นสังคมอย่างไร เราทราบดีว่า ร่างกายประกอบด้วยระบบน้อยใหญ่ต่างๆ มากมาย ทั้งแต่อวัยวะ ประสาท เลือด กล้ามเนื้อ เล็กลงไปถึงเซลล์ ทั้งหมดทำงานดังสังคมขนาดใหญ่ที่ต่างฝ่ายมีบทบาทโยงใยต่อกันและกัน
.
มีระบบภูมิคุ้มกันเป็นกระทรวงกลาโหม โดยมีเม็ดเลือดขาวเป็นทหารหาญ มีเส้นประสาทเป็นระบบราชการโยงใยไปทั่วมณฑล มีสมองเป็นศูนย์ราชการ และส่วนต่างๆ ดังกระทรวงทบวงกรมอีกหลากหลาย
.
ในจิตใจเองก็มีกลไกต่างๆ อาทิ กลไกปกป้องตัวเอง บุคลิกภาพย่อย ปมใจ ความเชื่อ ความกลัว ความรู้สึก นึก และคิด แบ่งออกเป็นจิตสำนึก จิตใต้สำนึก และอื่นๆ มากมาย สั่งสมอยู่ภายในและบ้างหมุนเวียนสลับเปลี่ยนกันมาเป็นสภาวะ ตามการปรุงแต่งขององค์ประกอบทั้งหลายแห่งจิต เชื่อมโยงกันดังสิ่งแวดล้อมของโลกใบหนึ่ง เป็นโลกภายใน
.
กล่าวในทางพุทธศาสนา ทั้งร่างกายและจิตใจต่างมิใช่ตัวตนอันคงที่และเป็นก้อนๆ หนึ่งเดียว แต่เป็นข่ายใยของปัจจัยต่างๆ ที่ร้อยเข้าหากัน เรียกว่าเป็น “อิทัปปจยตา” มิใช่อัตตา ซึ่งนอกจากร้อยระหว่างองค์ประกอบภายใน และระหว่างกายจิตแล้ว ยังโยงใยกับสังคมภายนอกด้วย
.
สังคมในตัวเราทั้งสองด้านนี้ต่างมีผลต่อชีวิตและโลกภายนอกตัว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สังคมในตัวเราเป็นอย่างไร เราก็ใช้ชีวิตในสังคมอย่างนั้น เมื่อเรียนรู้และสังเกตอย่างสนใจในโลกรอบตัวแล้ว เราต้องใส่ใจในโลกภายในด้วยเช่นกัน เพราะโลกที่เราต่างแบกของตัวเองไว้ต่างทำให้สังคมรอบตัวสดใสหรือมัวหมองลงได้ทั้งสิ้น
.
บางครั้งเราอาจโทษว่าชีวิตเป็นแบบนี้เพราะสังคมที่อาศัย เลวร้ายและย่ำแย่อย่างไร แต่มิได้เหลียวแลว่าชีวิตเป็นแบบนี้เพราะสังคมในร่างกายและจิตใจตนเอง ต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างไรด้วยเช่นกัน
.
.
๒ สมองเป็นเผด็จการหรือผู้ประสานงาน :
.
หากเรารังเกียจเผด็จการ เราต้องกลับมาดูก่อนว่าในตัวเรามีความเป็นเผด็จการอย่างไร เริ่มจากความสัมพันธ์ระหว่างสมองกับส่วนอื่นๆ ของกายใจ เรายึดติดในสมองของตนเอง จนหลงลืมร่างกายส่วนอื่นๆ หรือไม่ เราทำตามความคิดของตนเองจนหลงลืมความจำเป็นและเสียงเรียกร้องของร่างกายไปหรือเปล่า หรือเรากำลังใช้เหตุผลมากจนหลงลืมความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ไป นั่นคือใช้แต่สมองแต่หลงลืมหัวใจและร่างกายตนเอง
.
ตามธรรมชาติแล้วสมองมิได้เป็นศูนย์กลางของร่างกายตลอดเวลา อวัยวะหัวใจและร่างกายส่วนอื่นๆ ก็มีอิทธิพลส่งผลไปยังสมองด้วย เซลล์และส่วนต่างๆ มีการสื่อสารต่อกันอยู่เสมอ สมองนั้นเป็นเหมือนผู้ประสานงานที่คอยเชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของร่างกายเข้าด้วยกัน เป็นเหมือนผู้นำประชาธิปไตยที่ไม่ถือตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่ด้วยความคิดของเราแล้ว เราอาจกำลังเปลี่ยนให้สมองบ้าอำนาจเกินไปจนกลายเป็นเผด็จการต่อร่างกายของตัวเอง
.
เมื่อใดที่เราใช้ชีวิตโดยปล่อยให้ความคิดครอบงำ เราก็จะปฏิบัติต่อร่างกายและตัวเองดังทาสความคิด สมองก็จะทำงานในร่องวงจรเดิมๆ โดยไม่เหลียวแลว่าสภาพร่างกายส่วนต่างๆ นั้นกำลังเรียกร้องหรือส่งสัญญาณอะไร บ่อยครั้งที่มีคำเตือนออกมาจากร่างกายตนเองแล้ว แต่สมองไม่รับฟัง จะทำตามที่คิดไว้อย่างเดียว
.
สำหรับบางคนอาจมิใช่เรื่องการใช้ความคิด แต่เป็นการใช้ชีวิตด้วยอารมณ์จนหลงลืมเหตุผลและร่างกาย บางคนก็อาจใช้ร่างกายหรือสัญชาตญาณเป็นที่ตั้งจนหลงลืมปัญญา ต้องสังเกตว่าระหว่าง “ความคิด” กับ “ร่างกาย” และ “ความรู้สึก” สามส่วนนี้มีส่วนใดหรือไม่ที่เป็นนายเหนือจนกดขี่ส่วนอื่นๆ เราใช้หรือใส่ใจส่วนใดมากเกินไปจนก่อทุกข์แก่ตนหรือคนรอบข้าง
.
ประชาธิปไตยมิได้เริ่มจากการเลือกตั้ง แต่เริ่มจากการที่เราใส่ใจตัวเองอย่างยุติธรรม เรากำลังปล่อยให้บางส่วนของตนเองครอบงำและควบคุมกายใจส่วนอื่นๆ หรือไม่ เรากำลังยินยอมให้บางความคิด ความเชื่อ หรือบางความเคยชินบั่นทอนสังคมภายในตนเองอย่างไม่ชอบธรรมอยู่หรือเปล่า
.
เรามิอาจอยู่ได้ด้วยสมองอย่างเดียว ด้วยหัวใจอย่างเดียว หรือร่างกายอย่างเดียว เช่นที่ผู้นำมิว่าแบบใดก็มิอาจอยู่โดยไร้ประชาชน ต่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน และต่างต้องการการเคารพและให้เกียรติในคุณค่าที่มีของกัน เราเองได้ให้เกียรติส่วนต่างๆ ของกายใจนี้มากเพียงพอแล้วหรือไม่
.
เมื่อกายจิตตนเองได้รับการเหลียวแลอย่างไม่ยุติธรรมแล้ว หรือหากเราถือเอาความคิดเป็นศูนย์กลางจนเกินไป เมื่อนั้นเราเองก็อาจถือตนเป็นใหญ่ ยึดเอาสมองตัวเองเป็นที่ตั้งต่อคนอื่นๆ และความถูกต้อง ตราบใดที่มีการเอาตัวตนเป็นศูนย์กลาง เราเองกำลังเป็นเผด็จการอย่างไม่รู้ตัว
.
.
๓ ฟังเสียงข้างน้อยในใจบ้าง :
.
การฟังคือหัวใจสำคัญของการปกครอง รวมทั้งการปกครองหรือดูแลตัวเองก็ย่อมต้องใช้การฟังด้วยเช่นกัน การฟังที่ดี มิใช่การเลือกฟังแต่เพียงบางส่วน แต่คือการรับฟังทั้งหมดอย่างลึกซึ้ง แม้ในส่วนที่เราไม่อยากได้ยินและเสียงกลุ่มเล็กๆ ที่มักถูกละเลย
.
ในสังคมภายนอกมักมีคนชายขอบที่ถูกละเลยความใส่ใจ ในจิตใจเราเองก็มีคนชายขอบที่มักถูกละเลยการรับฟังจากเราเช่นกัน คนชายขอบเหล่านี้คือตัวตนและตัวแทนของความรู้สึกกับความต้องการพื้นฐานที่ถูกปิดกั้นหรือปล่อยปละ
.
“จิตสำนึก” คือส่วนของจิตที่รับรู้ เป็นเสมือนเมืองหลวงของประเทศ มี “จิตใต้สำนึก” เป็นดั่งจังหวัดอื่นๆ ที่ไกลออกไปตามลำดับ ประเทศมิใช่จังหวัดเมืองหลวงเพียงหนึ่งเดียว เหมือนกับความเป็นตัวเรานั้นมิใช่แค่บุคลิกภาพเดียว แต่ประกอบด้วยบุคลิกภาพย่อยและตัวตนหลากหลายมากมาย ซึ่งในจำนวนเหล่านี้ก็จะมีบางด้านที่ถูกใส่ใจมาก เรียกว่า “ตัวตนหลัก” ในจิตสำนึก และอีกหลายด้านที่ถูกใส่ใจน้อย เรียกว่า “ตัวตนรอง” ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึก
.
ตัวตนอย่างหลังนี้ก็จะมีอีกบางส่วนซึ่งเราแทบไม่ได้สนใจเลย อยู่ในจังหวัดของจิตที่ไกลออกไปตามชายแดนของความใส่ใจ พวกเขาจะคอยประท้วงและสื่อสารกับเรา เป็นเสียงเล็กๆ ดังในจิตใจเช่นว่า ควรใส่ใจอย่างนี้บ้างนะ หรือทำอย่างนี้บ้างนะ คอยเอ่ยถามบ้างว่า “นี่คือคุณค่าจริงๆ ของชีวิตแล้วหรือ” หรือบอกเตือนล่วงหน้าว่าทำอย่างนี้ต่อไปอาจเป็นอย่างไร แต่เราก็มิได้แลเหลียวหรือให้ค่าเสียงเหล่านั้นเท่าที่ควร
.
เสียงข้างน้อยในใจเหล่านี้มักจะเป็นความรู้สึก ความต้องการ และศักยภาพในตัวเราที่ถูกละเลย เมื่อส่วนใดของประเทศไม่ได้รับความใส่ใจก็ขาดการพัฒนา หรือเมื่อเราพยายามพัฒนาจากศูนย์กลางหรือเมืองหลวง โดยที่มิได้เข้าใจอัตลักษณ์ของภาคส่วนนั้นๆ ก็จะกลายเป็นการบั่นทอนและปิดกั้นคุณค่าของที่นั่น
.
เช่นเดียวกันหากเราละเลยในเสียงข้างน้อยของจิตใจ เราก็หลงลืมว่าแท้ที่จริงแล้วเรายังเป็นคนอย่างไร ต้องการอะไร และมีคุณค่าอยู่มากเพียงใด หรือหากพยายามเปลี่ยนแปลงเสียงเล็กๆ ในใจเหล่านั้นให้หายไปโดยยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ เราอาจไม่มีวันรู้เลยว่า ความรู้สึกขาดแคลนอยู่ลึกๆ ในจิตใจหรือการที่ชีวิตไร้ความสุขแท้จริง เกิดจากอะไร
.
เมื่อเสียงชายขอบ ถูกละเลยมากเข้า เมื่อนั้นก็จะก่อตัวกลายเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย หากเราปฏิเสธอาการของร่างกายบ่อยถี่ในเรื่องเดิมๆ เมื่อนั้นโรคร้ายก็บังเกิด หากละเลยคุณค่าบางเรื่องของตัวเอง เมื่อนั้นตัวตนที่ถูกทอดทิ้งในจิตใจก็จะเรียกร้องหนักหน่วงมากขึ้นกลายเป็นตัวตนร้ายๆ ในจิตใจและแสดงออกผ่านพฤติกรรมที่ไม่รู้ตัว
.
ความเป็นตัวเราแท้จริง มิใช่เพียงตัวตนหลักที่ยึดถือเท่านั้น ตัวตนรองที่ถูกทอดทิ้งก็เป็นส่วนหนึ่งของตัวเราด้วย บางทีพวกเขาในตัวเราเหล่านั้นอาจมีสิ่งที่เราไม่ชอบ อาจเคยผิดพลาดล้มเหลว อาจด้วยบางเหตุการณ์ในวัยเด็กทำให้เราปฏิเสธบางด้านของตนเองไป แต่พวกเขายังอยู่ในกายจิตนี้เสมอ
.
.
๔ ให้ฝ่ายค้านของเราทำหน้าที่ :
.
เป็นธรรมดาที่เรามักรับฟังเสียงที่ใหญ่กว่า โน้มน้าวใจมากกว่า หรือเป็นพวกเดียวกับตน จนหลงลืมเสียงข้างน้อยและฝ่ายค้าน ประชาธิปไตยจึงกลายเป็นการปกครองแบบพวกมากลากไป สำหรับตัวเราเองแล้วหากเราฟังแต่ความคิดและความรู้สึกที่เด่นชัด โน้มน้าวใจมากกว่า หรือคุ้นชินกว่า เราก็กำลังปกครองตนเองด้วยประชาธิปไตยแบบเดียวกัน เป็นเผด็จการด้วยเสียงข้างมาก
.
เมื่อใดก็ตามที่จิตสำนึกขาดการรับฟังเสียงคัดค้านรอบตัว เมื่อนั้นย่อมนำมาซึ่งปัญหาในภายหลัง แต่เรามักรังเกียจเสียงคัดค้าน เหมือนที่รัฐบาลแทบทุกสมัยมักพยายามต่อสู้กับฝ่ายค้าน ด้วยความกลัวต่างๆ ในจิตใจมิผิดแผกจากเรา
.
เราต้องให้ฝ่ายค้านทำหน้าที่ของเขา แล้วมองเขาเป็นพวกเดียวกับเรา ปล่อยให้เสียงคัดค้านต่างๆ ในกายใจเกิดขึ้นไปตามธรรมชาติ รับฟังเสียงขัดแย้งต่างๆ ในจิตใจอย่างยอมรับเขาและมองเป็นเพื่อนเรามิใช่ศัตรู
.
อาการของโรคร้ายที่เกิดก่อในร่างกายก็มิใช่ผู้ร้าย เป็นเพียงผู้ส่งสารจากคนชายขอบของกายใจเท่านั้น ซึ่งหมายมั่นสื่อสารให้เราใส่ใจบางสิ่ง มิได้หวังมาทำร้าย เช่นเดียวกันกับความทุกข์ในใจ เขาเหมือนเด็กน้อยที่เปราะบางและเจ็บปวด รอให้เราโอบกอดมิใช่เฆี่ยนตีด้วยความคิด
.
เวลาเราใช้ชีวิตหรือมีความคิดอย่างสุดโต่งไปทางใดเกินไป ในหัวใจและร่างกายเราจะส่งสัญญาณสื่อสารเป็นคำเตือน คำค้าน หรืออาการย้อนแย้งบางอย่าง หากเรารับฟังเสียงเหล่านั้น เราอาจปรับเปลี่ยนตนเองได้ทันการณ์ก่อนจะเลวร้ายลง เหมือนทุกครั้งที่นโยบายรัฐกำลังจะก่อผลเสีย จะมีนักวิชาการ ฝ่ายค้าน หรือชุมนุมประชาชนออกมาคัดค้านอย่างเนืองแน่น
.
ในฐานะที่ตัวเราคือผู้ปกครองของจิตและกายตนเองจะเลือกเป็นผู้นำที่มองฝ่ายค้านและผู้ชุมนุมเป็นศัตรูผู้ร้าย หรือมิตรผู้ช่วยให้เราไม่ประมาท การฟังฝ่ายค้านในตนเองมากขึ้นยังผลให้เราฟังคำเตือนและคำวิจารณ์จากผู้อื่นด้วย มิใช่ทุกคำวิจารณ์ที่มีประโยชน์แต่ทุกคำเตือนที่กระทบใจมักมีอย่างน้อยเสี้ยวหนึ่งที่เป็นประโยชน์
.
ประชาธิปไตยจึงมิใช่เรื่องของการตะเบ็งเสียงให้ดังกว่าเพื่อได้รับชัยชนะ แต่เป็นการรับฟังอย่างจริงใจและเปิดกว้างสำหรับทุกภาคส่วน ยิ่งเป็นเรื่องของมนุษย์แล้ว เรามิอาจใช้แต่เหตุผลและความคิดของตัวเองเป็นที่ตั้ง เรายังต้องใช้ความกรุณาและความเห็นอกเห็นใจต่อกันและกัน
.
เราเป็นผู้ปกครองกายใจตนเองที่ดูแลสิ่งทั้งหลายในความเป็นเรานี้อย่างกรุณาและเห็นใจเพียงพอมากเพียงใด หากเราเห็นใจตนเองอย่างแท้จริง พฤติกรรมทางกาย วาจา และใจย่อมไม่ทำร้ายตนเองทั้งทางตรงและทางอ้อม หากมิเป็นเช่นนั้นแล้วเราย่อมได้ยินฝ่ายค้านในตนเองแสดงออกตอบโต้ หากตัวเราไม่ทุกข์คงไม่แสดงออกในทางร้าย หากร่างกายเราไม่ขาดความรัก คงไม่เจ็บป่วยเพียงนี้
.
หากเราสงสัยว่าเมื่อรับฟังและให้คุณค่ากับทุกด้านในตัวเองแล้ว จะก้าวเดินอย่างไรต่อ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นหรือเพื่อคลี่คลายปัญหาใดๆ ขอเราอย่าพยายามใช้สมองบางส่วนหรือหัวใจบางตัวตนคิดหาคำตอบ แต่ให้เปิดประชุมสภากายใจ รับฟังผู้แทนแต่ละภาคส่วนของชีวิตร่วมหาหนทาง ให้เวลาได้ใคร่ครวญและฟังเสียงส่วนน้อยโดยไม่ยึดติดคำตอบใดเป็นพิเศษ แต่น้อมรับทุกคำตอบเหล่านั้นไว้
.
จึงเรียกว่าพาประเทศชีวิตก้าวหน้าสู่อนาคตใหม่ด้วยประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
.
.
๕ ความขัดแย้ง เกิดจากการขาดความรู้เท่าทันในตัวเรา :
.
เมื่อเราศึกษาสังคมภายในอย่างลึกซึ้งแล้ว จะเห็นว่าปัญหาทางสังคมเริ่มต้นจากข้างในกายจิตแต่ละคนอย่างไร การทะเลาะวิวาทและความขัดแย้งต่างๆ ทั้งในโซเชียลมีเดียจนถึงในสนามการเมืองล้วนเริ่มต้นจากการขาดความรู้เท่าทันในตนเองทั้งสิ้น
.
แม้ตัวเราอาจห่างไกลจากความขัดแย้งเหล่านั้นก็ตาม แต่ใช่ว่าเราเองจะไม่มีส่วนร่วม เพราะปรากฏการณ์ทางสังคมต่างเป็น “กรรมร่วม” ที่ก่อร่วมกันด้วยทั้งสิ้น
.
พุทธศาสนา* ได้ชี้ว่าการทะเลาะวิวาทเริ่มต้นมาจากการปรุงแต่งต่อเวทนาของจิตใจเราตามลำดับ ดังนี้
.
เพราะอาศัยเวทนาจึงมีตัณหา , เพราะอาศัยตัณหา จึงมีการไขว่คว้า , เพราะอาศัยการไขว่คว้า จึงมีการได้มา , เพราะอาศัยการได้มา จึงมีการปลงใจรัก , เพราะมีการปลงใจรัก จึงมีความกำหนัดด้วยความพอใจ อาจเป็นเรื่องความรัก พรรคพวก ชื่อเสียง อุดมการณ์ ผลประโยชน์ ฯลฯ
.
เพราะมีความกำหนัดด้วยความพอใจ จึงมีความสยบมัวเมา , เพราะมีความสยบมัวเมา ก็มีการจับอกจับใจยิ่งขึ้น , เพราะมีการจับอกจับใจ จึงมีความตระหนี่ ยึดไว้เป็นของตน , เพราะมีความตระหนี่ จึงมีการหวง , เพราะมีการหวงนี้ จึงมีการทะเลาะวิวาทกระทบกระทั่ง , ดังนั้น บาปอกุศลธรรมต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม ย่อมเกิดขึ้น
.
กลไกที่ปรุงแต่งเหล่านี้ก็คือสภาพของสังคมในจิตใจเราที่เกิดขึ้นหมุนเวียนไปในแต่ละเรื่องราวของชีวิต มิว่าเป็นเรื่องของการเมือง ความคิด ความรัก หรือเรื่องอื่นใด หากเราไม่รู้เท่าทันและรู้ดูแลเราก็ได้ส่งต่อความรุนแรงในรูปแบบหนึ่งให้กับสังคมแล้ว มิว่าจะเป็นการโพสต์ลงสื่อโซเชียล การคอมเมนท์วิจารณ์ ท่าทีต่อผู้อื่น การกระทำต่อตัวเองและสิ่งสาธารณะ
.
ไฟเหล่านี้เผาไหม้เริ่มจากจิตใจก่อนลุกโหมลามไปในสังคม ดับไฟและทำลายเชื้อความรุนแรงในตัวเราก่อน แล้วกายจิตจะเป็นพื้นที่ว่างมิเป็นเชื้อให้ไฟจากคนอื่นลามไหม้ไปต่อ ดุจดั่งการเผาหรือทำลายตัดทางมิให้ไฟป่าลุกลาม
.
ทั้งตัณหาคือความอยากและเวทนาคือความรู้สึก ต่างก็เป็นตัวตนองค์ประกอบของจิตใจเรา เป็นประชาชนและประเด็นทางสังคมในจิตใจเราเองที่ต้องการภาวะผู้นำปกครองดูแลและพัฒนาให้เป็นกุศล
.
เราทุกคนต่างมีความเข้มแข็งในตัวเอง แต่ความเข้มแข็งนั้นก็มีรูปแบบทั้งเผด็จการที่เราปล่อยปละให้บางอารมณ์ บางความคิด และบางตัวตนชักนำ บีบคั้น ครอบงำ และกุมอำนาจบังเหียนขับเคลื่อนชีวิตไปในทิศทางของความเสื่อมและสุดโต่ง แล้วเราก็มีความเข้มแข็งแบบประชาธิปไตยที่พร้อมยอมรับทุกด้านในตัวเราอย่างเป็นกลางและกรุณา พร้อมที่จะขับเคลื่อนองค์ประกอบแห่งชีวิตไปอย่างสมดุลและสันติ
.
จิตสำนึกที่กำลังคิดอ่านบทความนี้ คือตัวแทนของประชาชนในกายจิตเราซึ่งมีประชากรเกินคณานับ เราจะใช้อำนาจอย่างชอบธรรมต่อตนเองอย่างไร สิ่งที่เราทำนี้ก็จะเป็นผลไปยังคนรอบตัวและสังคมเช่นเดียวกัน
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ ๔๐

 

> > > อ่านบทความนี้ ตอนสอง

> > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/
.

> >  สามารถสนับสนุนกิจกรรมและบทความ ผ่านการเข้าร่วมคอร์สของเรา
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/

 

* มหานิทานสูตร (๑๕) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค