ข้อคิดและแนวทางเพื่อการ “พัก” อย่างแท้จริง

 

 

๑ ปริมาณและวันหยุดไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุด :
.
เราจะพักอย่างไรเพื่อให้กายจิตได้พักผ่อนอย่างแท้จริง บางครั้งเราก็ต้องการเวลาหยุดพักนานๆ วันหยุดที่ยาวต่อเนื่องกัน แต่เราได้พักในเวลาเหล่านั้นอย่างแท้จริงมากเพียงใด บางทีหยุดงานแล้วเราก็เลือกที่จะเดินทางท่องเที่ยวหรือตระเวนกิน เสพความบันเทิง และจับจ่ายใช้สอย แต่เราได้พักอย่างแท้จริงเพียงใด หลายครั้งการพักผ่อนหย่อนใจก็ทำให้เราเหนื่อยล้าหรือป่วยมากขึ้น
.
ภายนอกอาจได้หยุดพัก แต่หลายครั้งที่ภายในไม่ได้พักจริง จึงยิ่งพาภายนอกไม่ให้พัก เช่น หยุดทำงานก็หยิบมือถือขึ้นมาตรวจสอบสิ่งต่างๆ ในโลกอินเตอร์เน็ตโดยไม่จำเป็น หรือวันหยุดแล้วก็อยากไขว่คว้าสิ่งต่างๆ หรือคิดถึงอนาคตบ้างอดีตบ้างจนความคิดไม่ได้สงบลงเลย บางคนหลับลงแล้วยังทำงานต่อก็ยังมี
.
บางครั้งเราก็รู้ว่าภาระภายนอกและกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องทำช่างมากมายเหลือเกินจนไม่มีเวลาได้พักผ่อนหรือใส่ใจดูแลตนเองอย่างเพียงพอ
.
ในพระไตรปิฎก*(๑) กล่าวว่าภารกิจของพระพุทธเจ้าในแต่ละวันนั้นมีอยู่ห้าอย่างด้วยกัน มีได้แก่ ปุเรภัตตกิจ กิจก่อนเสวยอาหารตั้งแต่รุ่งเช้า อาทิ ทรงบิณฑบาต เสด็จไปอาณานิคมต่างๆ ตรวจดูจิตของสัตว์โลก อนุเคราะห์อุปัฏฐาก เป็นต้น ,  ปัจฉาภัตตกิจ กิจหลังเสวยอาหาร ให้โอวาทภิกษุและประทานกรรมฐานให้ฝึกฝน และทรงเยี่ยมหมู่ชนที่รวมกลุ่มมา เป็นต้น ,  ปุริมยามกิจ กิจยามค่ำ ตอบคำถามเหล่าภิกษุทั้งหลายจนถึงช่วงค่ำ จนถวายบังคมลาแล้ว ,  มัชฌิมยามกิจ กิจยามค่อนดึก ทรงต้องต้อนรับเทวดาน้อยใหญ่ที่มาประชุมกันและทรงวิสัชนาปัญหาให้ และกิจช่วงสุดท้ายคือ ปัจฉิมยามกิจ ช่วงปลายของราตรี ตรวจบุญกรรมของสัตว์โลกน้อยใหญ่ด้วยจิตของท่าน แล้วเป็นเช่นนี้ตามเหตุปัจจัยจนสิ้นสุดการทำหน้าที่เป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ของพระองค์
.
พระองค์ทรงงานหนักตั้งแต่ตะวันยังไม่ขึ้นดีจนถึงตะวันล่วงไปนานแล้ว จนเราอาจสงสัยว่าพระองค์มีวิธีการพักผ่อนอย่างไร ทรงพักตอนไหนเป็นหลักบ้าง จากข้อความในพระไตรปิฎกแล้ว ช่วงที่ทรงเข้าที่ประทับก็มีจะหลังเสวยอาหารและประทานกรรมฐานแก่ภิกษุแล้ว ๑ และเมื่อปัจฉิมยาม ท่านจะทรงเดินจงกรมเพื่อปลดเปลื้องผ่อนคลายเส้นสายพระวรกายจากการนั่งนานต่อเนื่องก่อน ๑ และทรงบรรทมอย่างมีสติ ๑ แล้วจึงลุกขึ้นเพื่อทรงตรวจสอบบุญกรรมของสัตว์ทั้งหลายก่อนจะเริ่มต้นกิจแรกของวันอีกครั้ง เพียงสามช่วงหลักเท่านั้นที่ทรงพักผ่อนในแต่ละวัน ตลอดการทำหน้าที่ยาวนานถึงสี่สิบห้าปีนับตั้งแต่ทรงตรัสรู้
.
บางคนไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าก็ต้องทรงพักผ่อนนอนหลับบ้าง เหมือนครั้งหนึ่งที่พระองค์ถูกสะเก็ดหินเจาะพระบาท (เท้า) แล้วเวทนาอันยิ่งทั้งหลาย เป็นไปในพระสรีระร่างกายท่าน แต่พระองค์ทรงมีพระสติสัมปชัญญะที่จะอดกลั้นซึ่งเวทนาเหล่านั้นไม่กระสับกระส่าย
.
“ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระองค์ถึงที่ประทับ แล้วทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า ท่านนอนด้วยความเขลา หรือมัวเมาคิดกาพย์กลอนอยู่ ประโยชน์ทั้งหลายของท่านไม่มีมาก ท่านอยู่ ณ ที่นั่งที่นอน อันสงัดแต่ผู้เดียว ตั้งหน้านอนหลับ นี่อะไร ท่านหลับทีเดียวหรือ”
.
“พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า เราไม่ได้นอนด้วยความเขลา ทั้งมิได้มัวเมาคิดกาพย์กลอนอยู่ เราบรรลุประโยชน์แล้วปราศจากความโศกอยู่ ณ ที่นั่งที่นอนอันสงัดแต่ผู้เดียว นอนรำพึงด้วยความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง ฯ ลูกศรเข้าไปในอกของชนเหล่าใด ร้อยหทัยให้ลุ่มหลงอยู่ แม้ชนเหล่านั้นในโลกนี้ ผู้มีลูกศรเสียบอกอยู่ ยังได้ความหลับ เราผู้ปราศจากลูกศรแล้ว ไฉนจะไม่หลับเล่า” *(๒)
.
ท่านทรงหลับเพื่อรักษาสภาพของพระวรกายให้เหมาะสมในการทำหน้าที่ แต่การพักผ่อนแต่ละครั้งนั้นเราจะเห็นว่ามิได้ใช้เวลานานเลย อีกทั้งในคำตอบของพระองค์นี่เองที่ได้แนะนำข้อคิดเพื่อการพักผ่อนที่ดีอีกด้วย
.
หลายคนเชื่อว่าถ้าเวลาพักนานๆ แล้วจึงจะดี เหมือนกับเวลานอนยิ่งมากก็จะยิ่งดี แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้นเลย ขอให้เราระลึกถึงช่วงที่หยุดจากการทำงานไปอย่างยาวนานและต้องกลับมาทำงานอีกครั้ง ความรู้สึกตั้งใจในการทำงานมักลดหายไป มีความเกียจคร้านไม่อยากเหนื่อยหรือทำงานต่อ มีความฝืดฝืนในการทำหน้าที่ เหมือนรถหรือเครื่องจักรที่หยุดการทำงานไปนานแล้วเปิดเครื่องขึ้นมาใหม่ก็ไม่อาจทำงานได้ตามปกติเพราะฝุ่นบ้าง สนิมบ้าง การเสื่อมสภาพของส่วนประกอบต่างๆ จึงมักจะต้องมีการอุ่นเครื่องหรือกระตุ้นการทำงานของเครื่องจักรที่หยุดพักไปนาน หรือตรวจซ่อมบำรุงแม้ไม่ได้ใช้งานเป็นระยะ
.
การพักนั้นยิ่งนานยิ่งไม่อิ่ม เหมือนทะเลที่ถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม ยิ่งพักมากเราอาจยิ่งอยากพักนานมากกว่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยให้ได้ฟื้นคืนพลังในการทำสิ่งใดๆ เท่าที่ควร อาจยิ่งเฉื่อยลงเท่านั้นเอง เพราะไม่ใช่การพักอย่างแท้จริง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ความอิ่มในการเสพสิ่ง ๓ อย่างไม่มี ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ในการเสพความหลับ ๑ ในการดื่มสุราและเมรัย ๑ ในการเสพเมถุนธรรม ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความอิ่มในการเสพสิ่ง ๓ อย่างนี้แลไม่มี” *(๓)
.
เหตุที่ยิ่งพักมากจนเกินไปยิ่งไม่ดี ก็เพราะด้วยการมีฝุ่น มีสนิม และการเสื่อมสภาพมาเกาะกุมจิตใจในการพักผ่อนนั้น ฝุ่นก็คือนิวรณ์อารมณ์เฉื่อยเนือย สนิมคือการติดเสพในอารมณ์เอกเขนก และการเสื่อมสภาพคือการเสื่อมไปของพละทั้งห้าในจิตใจ อันได้แก่ วิริยะ สติ สมาธิ ศรัทธา และปัญญา ดังนั้นการพักที่ดีจึงต้องพักไม่ให้มีฝุ่น มีสนิม และมีความเสื่อมสภาพเหล่านี้เกิดขึ้น จึงจะเป็นการพักผ่อนที่มีคุณภาพ ซึ่งระยะเวลาไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด
.
ปัจจัยภายนอกที่กำหนดให้เรามีงานมาก งานน้อย มีวันหยุด หรือไม่มีวันหยุด เป็นแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือคุณภาพและการพักผ่อนที่ถูกต้องเหมาะสม เราจะกล่าวถึงคำแนะนำในการพักที่ดีในข้อต่อไป
.
.
๒ การพักคือการหลีกเลี่ยงเหตุแห่งความดิ้นรนของกายจิต :
.
เราต้องเข้าใจเหตุ (สมุทัย) แห่งความทุกข์หรือในที่นี้คือความเหนื่อยล้า ก่อนที่จะเข้าใจว่าการพักให้หายจากความเหนื่อยล้า (นิโรธ) และทางออก (มรรค) นั้นเป็นอย่างไร ความเหนื่อยล้าที่ทำให้เราต้องพักมีสองส่วน ความเหนื่อยล้าจากกิจกรรมต่างๆ ตามปกติ และความเหนื่อยล้าจากอิทธิพลในจิตใจ
.
อาจมีบ้างที่เราเคยทำกิจกรรมบางอย่างที่รู้สึกสนใจหรือชื่นชม ลงมือทำติดต่อกันยาวนานแทบไม่ได้หยุดพัก แต่เรากลับรู้สึกมีพลังและไม่เหน็ดเหนื่อยในการกระทำเหล่านั้นเลย ลงมือทำแล้วเหมือนได้พักไปในตัว เพราะสิ่งที่อยู่ในจิตใจ ณ เวลานั้นเอื้อให้เกิดพลังกายใจที่ดีให้มีมากขึ้น หรือช่วยให้ผ่อนคลายความเหนื่อยล้าต่างๆ ออกไป
.
บางครั้งภายนอกได้หยุดพัก แต่ภายในไม่ได้พักผ่อนอย่างแท้จริง จึงเป็นเหตุที่ทำให้ยิ่งเหนื่อย หรือไม่ได้ฟื้นฟูสภาพกายใจให้พร้อมสำหรับการทำงานต่อเท่าที่ควร บางครั้งเราอาจเห็นว่าสถานการณ์ในช่วงนี้ก็ไม่ทำให้เราเหนื่อยมากนักเลย แต่เหตุใดข้างในกลับรู้สึกโรยล้า ขาดพลัง และอยากพักอยู่เรื่อยๆ นั่นเป็นเพราะว่าในจิตใจเรายังไม่ได้พักอย่างแท้จริง และบางสิ่งในจิตใจทำให้เราอ่อนล้ามากกว่าปัจจัยภายนอก
.
บางสิ่งข้างในที่ทำให้เราเหนื่อยล้านั้นก็คือความดิ้นรนทั้งหลายของจิตอันไม่อาจหาความนิ่งสงบลงได้ เหมือนวิ่งวุ่นอยู่ข้างในไม่สิ้นสุด เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วมีเวลาพักมากเท่าใดก็ไม่เพียงพอ เราจึงต้องพักหรือหลีกเลี่ยงจากเหตุที่ทำให้จิตดิ้นรนจนบั่นทอนพลังกายใจลง อาทิเช่น
.
พักจากความอยาก หากเราไม่ได้พักตนเองจากความอยากแล้ว เมื่อถึงเวลาว่างมันก็จะลากพาเราไปเรื่อยๆ จนไม่ได้พักผ่อนอย่างแท้จริง มันอาจชวนเราไปทำอย่างโน้น ไปทำอย่างนี้ ตามความอยาก ความน่าสนใจ ความเร้าแก่อารมณ์ ฯ ทำให้เราไม่ได้หยุดนิ่งเพื่อดูแลตนเองอย่างแท้จริง แต่ได้ไปดูแลความอยากแทน ซึ่งมักลงเอยด้วยความเหนื่อย ความป่วย หรือความเมามายขาดสติ
.
พักจากการกังวลถึงอนาคต สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันหน้ายังไม่มีอยู่จริง แต่ความกลัว ความวิตก และความสงสัยก็จะทำให้กายจิตเราไม่ได้ผ่อนพัก เพราะต้องคอยคิดคำนึงวางแผนต่างๆ นานา และคาดเดาคาดคะเน จนความคิดวุ่นวายไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน เราก็ไม่สามารถพักผ่อนอย่างเต็มที่ได้
.
พักจากการอาลัยสิ่งที่ล่วงเลย ไม่มีใครที่ฝืนกระแสความไม่เที่ยงแท้ของทุกสิ่งได้ ยิ่งหวนหาอยากให้กลับคืน ยิ่งทำให้ชีวิตและสิ่งที่มีอยู่สูญเสียไปทีละน้อย ความคิดคำนึงถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วอย่างขาดสติทำให้จิตเหนื่อยล้า การคิดถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้วอย่างไม่ก่อประโยชน์ มีแต่ทำให้จิตเศร้าโศกและหม่นหมองลง เราจึงลืมดูแลสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน
.
พักจากการสอดส่องและแบกรับ เราไม่อาจแบกทุกอย่างไว้ที่ตนเองได้ การพยายามรับผิดชอบสิ่งต่างๆ มากจนเกินไป ทำให้เราบีบคั้นตนเองทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ บางครั้งเราก็เอาเวลาในการดูแลตนเองไปสอดส่องกับเรื่องราวของคนอื่น ไปยุ่งเกี่ยวอย่างไม่เกิดประโยชน์ ไปวิจารณ์ เปรียบเทียบ หรืออิจฉาต่างๆ นานา จิตใจก็ไม่ได้อยู่กับเนื้อกับตัว วิ่งแล่นออกไปให้เหนื่อยโดยไม่จำเป็น
.
พักจากการแข่งดีและโอ้อวดตน เราไม่จำเป็นต้องอยากมีคุณค่าและตัวตนในทุกเรื่องและทุกสถานการณ์ การอยากมีคุณค่าและอยากแสดงตัวตนให้ได้รับการยอมรับบ่อยครั้งทำให้เราไม่ได้พักผ่อนเสียเอง กิเลสข้อนี้เรียกว่า “มานะ” ทำให้ต้องคอยประกาศเรื่องราวและตัวตนต่างๆ ของเราลงบนสังคมสมมติบนโลกอินเตอร์เน็ต ต้องพยายามเอาชนะในเรื่องต่างๆ จนไม่ได้ทำให้ใจให้สงบวาง
.
ดังที่ผู้เขียนเคยบรรยายไว้ในบทความคอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ ๔๒ เราสามารถใช้คำแนะนำที่พระองค์ทรงแนะนำพระโมคคัลลานะถึงสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้จิตถูกครอบงำด้วยถีนมิทธะ (เช่น ความง่วง ความซึม ความหดหู่ และความเหนื่อยล้า) ซึ่งสรุปสั้นๆ แล้วมีดังนี้
.
๑ ไม่ควรทำกิจหรือหน้าที่ด้วยความถือตัว หรือดูถูกตนเอง
๒ ไม่ควรพูดถ้อยคำอันเป็นเหตุให้เกิดความบาดหมางและไร้ประโยชน์
๓ ไม่ควรคลุกคลีกับกิจกรรม สถานที่และหมู่คนที่ไม่ส่งเสริมความสงบของจิตใจ *(๔)
.
ทั้งสามอย่างนี้เมื่อกระทำก็เท่ากับนำตนเข้าไปในความวุ่นวายและพาจิตไกลห่างจากสมาธิ “อันจะเป็นเหตุให้จิตอ่อนกำลังแล้วถูกครอบงำด้วยนิวรณ์ต่างๆ หากมิสามารถหลีกเลี่ยงอย่างสิ้นเชิง ให้รู้ลดละไม่นำจิตเข้าไปพัวพัน ลองทบทวนการคลุกคลีของตน อย่างเช่นการใช้โซเชียลมีเดีย ลองสังเกตว่าจิตถูกบั่นทอนให้ขาดสมาธิอย่างไร ฟุ้งซ่านอย่างไร ทำให้เกิดนิวรณ์แก่ใจอย่างไรบ้าง เมื่อคลุกคลีในโลกเสมือนจริงนี้” *(๙)
.
กล่าวโดยง่ายว่าทุกข้อข้างต้นต่างเป็นการหาเรื่องให้จิตไม่ได้พักผ่อน กระตุ้นให้เกิดการปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน วุ่นวาย เศร้าหมอง โกรธขึ้ง และวิตกกังวล ทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากเรารู้จักการพักอย่างหนึ่ง นั่นคือการพักจากการปรุงแต่งตามผัสสะหรือสิ่งที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
.
เราจะพักจากมูลเหตุของความเหนื่อยล้าที่มาจากใจตนเองได้เหล่านี้ เราต้องรู้สำรวมระวังการรับรู้ การคิด ด้วยสติและการหักห้ามใจ หากเรารู้ตัวว่าเราต้องการการพักผ่อนให้พอดีมากกว่านี้ เมื่อรู้ตัวแล้วว่ามีความอยากมาชักนำ มีความวิตกถึงอดีตและอนาคต มีความมั่นหมายที่จะแบกรับสิ่งใดจนเกินไป หรือมีความพยายามเอาชนะและโอ้อวดตนเกิดขึ้นก็ดี ให้เรารู้ตัวและกลับมามีสติที่ร่างกายหรือลมหายใจ เพียงเท่านั้นเราก็ได้พักแล้ว
.
การพักจากความอยาก พักจากความกังวลถึงอนาคต พักจากความอาลัยในอดีต พักจากการสอดส่องและแบกรับ พักการแข่งดีและโอ้อวด และพักปรุงแต่งจากผัสสะ การพักเหล่านี้แม้เพียงข้อเดียวก็ทำให้เราได้พักกายและใจอย่างแท้จริงแล้ว
.
การพักที่แท้จริงเช่นนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลาและความสมบูรณ์แบบ แม้เราพักได้เพียงข้อเดียวจากข้างต้น การพักผ่อนของเราในตอนนั้นก็มีคุณภาพขึ้นมหาศาล แม้ว่าเราพักสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้เพียงชั่วครู่เดียว ชั่วครู่นั้นกายจิตเราก็ได้พักมากแล้ว มากกว่านอนฟุ้งซ่านเป็นชั่วโมงเสียด้วยซ้ำ เมื่อเราฝึกพักแบบนี้บ่อยๆ กายจิตก็จะสามารถพักให้อยู่ในความสงบได้นานขึ้น
.
.
๓ พักผ่อน คือรู้การผ่อนปรน , ผ่อนคลาย คือรู้การปล่อยออกไป :
.
เหตุที่พักไม่เพียงพอและผ่อนคลายไม่เป็น คือการไม่รู้จักผ่อนปรนและคลายออกอย่างที่ควร ผ่อนปรนในที่นี้คือการยืดหยุ่นกับตนเอง ชีวิตที่ตึงย่อมยากที่จะรู้พักได้จริงๆ อาจเครียดจนนอนไม่หลับ อาจทำงานหักโหมจนไม่ได้ใส่ใจร่างกายเลย อาจกังวลใจกับบางเรื่องจนยากจะสงบใจ ก็เพราะการขาดความยืดหยุ่นนั่นเอง
.
ความยืดหยุ่นที่ว่านี้สะท้อนจากจิตมาถึงร่างกาย คนที่มีความเครียด มีกำแพงในใจ และเงื่อนไขต่อชีวิตต่างๆ มากมายนั้น แม้เวลานอนร่างกายของพวกเขาก็จะยังตึงอยู่มาก แขนขาบ่าไหล่มีความเกร็ง การหายใจก็มักจะถี่ ตื้น และหัวใจเต้นรัวเร็วบ้าง ผิดจังหวะบ้าง ไม่สม่ำเสมอ ทั้งหมดก็ส่งผลทำให้ร่างกายเหนื่อยง่าย อ่อนล้า เสื่อมสภาพลงเร็ว ทำให้อยากพักนานๆ แต่ก็ไม่รู้สึกสดชื่นอย่างแท้จริงเมื่อหยุดพัก
.
การขาดความยืดหยุ่นก็เกิดจากการไม่ยอมผ่อนคลายลง การผ่อนคลายประกอบด้วยคำสองคำ คือ ผ่อน กับ คลาย คำแรกหมายถึงหย่อนลง หรือเรียกภาษาพูดว่า “หยวนๆ” คำที่สอง หมายถึงการปล่อยออกไป หรือคลายออกไปนั่นเอง
.
บางครั้งเรารู้แก่ใจว่าควรพักอย่างไร ควรพักตอนไหน แต่เพราะวางไม่เป็น ผ่อนไม่ได้ คลายไม่ออก จึงไม่ยอมพักอย่างที่ควร เพราะชีวิตขาดการดำรงบนทางสายกลาง ดังครั้งที่พระองค์ทรงตรัสต่อพระปัญจวัคคีย์ว่า
.
“การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
.
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นไฉน? ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรค มีองค์ ๘ นี้แหละ คือปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ พยายามชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ ตั้งจิตชอบ ๑” *(๕)
.
ทางสายกลางมิใช่ทางตรงกลางเส้นเดียว แต่เป็นแปดเส้นที่ดำเนินควบคู่กันอย่างสมดุลและเหมาะสม ทางแปดเส้นก็คือมรรค ๘ ข้อข้างต้น หากข้อใดไม่เหมาะสมหรือเกินพอดี ย่อมยังไม่ใช่ทางสายกลาง อย่างเช่นข้อแรกคือปัญญาหรือความเห็น หากเราให้คุณค่าบางเรื่องจนเกินไป จนเราไม่อาจปล่อยวางในเรื่องเหล่านั้นได้ มันก็นำมาสู่ความตึงเครียดและความเหนื่อยล้าเกินพอดี การที่เราไปครุ่นคิดถึงบางเรื่องก็อาจเพราะเราเอาคุณค่าในตนเองไปผูกกับคนอื่นเกินไป หรืออาจจะเป็นงาน ความสำเร็จ ภาพลักษณ์ การยอมรับ ฯ เช่นนี้แล้วเราก็ขาดความยืดหยุ่นและการผ่อนคลาย เพราะจิตก็จะพะวงให้เราได้อย่างที่ยึดติดนั้น ย่อมมีความวุ่นวายเพราะความอยาก ความกังวล ความอาลัย การแบกรับ การแข่งดี และปรุงแต่งจากการรับรู้ไปต่างๆ นานา
.
การพักผ่อนจนวินัยหย่อนยานและการปล่อยใจหลงในความสบายเป็นความสุดโต่งไม่เกิดประโยชน์ การบีบคั้นตนเองด้วยการพยายามที่มากเกินไปจนพักผ่อนน้อยไม่เพียงพอก็เป็นความสุดโต่งอีกทาง ทางสายกลางระหว่างสองฝั่งนี้เท่านั้นจึงส่งเสริมให้เกิดความสงบเพื่อพ้นออกจากความทุกข์ หรือกล่าวคือการใช้ชีวิตบนทางสายกลาง คือการพักผ่อนในตัวมันเองแล้ว
.
เรายึดมั่นอะไรไว้มากเกินไป ลองปล่อยมันออกไปบ้าง ชีวิตเราไม่ได้มีคุณค่ามากขึ้นหรือน้อยลงเพราะการยึดสิ่งเหล่านั้นไว้เลย ไม่มีใครบังคับให้เราเกาะกุมสิ่งต่างๆ ไว้จนนอนไม่หลับหรือเหนื่อยล้า นอกจากกิเลสในใจเราเอง เมื่อเรารู้ตัวนั่นคือมีสติ เมื่อเราเข้าใจดังนี้ นั่นคือมีปัญญา สติและปัญญาจะบอกเราเองว่าเราควรทำอย่างไรให้ชีวิตเราพอดีมากขึ้น
.
ทุกสิ่งดำเนินไปตามวิถีของเหตุปัจจัยต่างๆ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากหรือไม่อยากเลย เฝ้าคาดหวังให้สิ่งต่างๆ เป็นไปตามใจเราเป็นศูนย์กลาง มันอาจเป็นไปได้ในบางกรณี แต่เหตุนี้เองที่ทำให้เราเหนื่อยล้า ยืดหยุ่นกับตนเองและกับความจริง เราไม่จำเป็นต้องได้และต้องเป็นในสิ่งที่เชื่อเสมอไป การผ่อนคลายไม่ยากเลยแค่เราผ่อนกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมายที่เราตั้งให้ตนเอง คนอื่น และโลกใบนี้ลงเสียบ้าง แค่เราลดการใส่ใจบางเรื่องที่มากเกินไปลง ความตึงเครียดและอ่อนล้าของกายจิตนี้ก็ลดลงแล้ว
.
.
๔ มีเมตตาธรรมไว้ เจริญความเมตตาอย่างไร้เงื่อนไข :
.
การมีเมตตาไว้ในกาย วาจา และใจอยู่เสมอๆ ให้ผลดีกับเราอย่างไม่น่าเชื่อ ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า
.
“เมื่อเมตตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้ตั้งมั่นโดยลำดับ สั่งสมดีแล้ว ปรารภด้วยดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ ประการ ๑๑ ประการเป็นไฉน คือ ย่อมหลับเป็นสุข ๑ ย่อมตื่นเป็นสุข ๑ ย่อมไม่ฝันลามก ๑ ย่อมเป็นที่รักแห่งมนุษย์ทั้งหลาย ๑ ย่อมเป็นที่รักแห่งอมนุษย์ทั้งหลาย ๑ เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา ๑ ไฟ ยาพิษหรือศาตราย่อมไม่กล้ำกรายได้ ๑ จิตย่อมตั้งมั่นโดยรวดเร็ว ๑ สีหน้าย่อมผ่องใส ๑ เป็นผู้ไม่หลงใหลทำกาละ (ตายด้วยจิตที่หลง) ๑ เมื่อไม่แทงตลอดคุณอันยิ่ง ย่อมเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้ตั้งมั่นโดยลำดับ สั่งสมดีแล้ว ปรารภด้วยดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ ประการนี้แล” *(๖)
.
เมตตาเจโตวิมุติ คือการเจริญเมตตาจิด แผ่ความเมตตาไม่มีประมาณและไม่มีเงื่อนไข ซึ่งนำไปสู่การพ้นจากความทุกข์ การมีเมตตาจิตไว้อยู่เสมอๆ เช่นนี้ ทำให้เกิดผลดีอย่างน้อยสิบเอ็ดประการข้างต้นนี้ เราจะเห็นได้ว่าข้อแรกๆ นั้นเกี่ยวข้องกับการนอนหลับหรือการพักผ่อนอีกด้วย ลองสังเกตว่าวันไหนที่มีความเครียดเยอะๆ และความโกรธสุมรุมใจ วันนั้นการนอนหลับจะไม่ค่อยดี อาจมีความฝันเยอะ กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ หรือนอนหลับแล้วตื่นขึ้นมาก็ไม่สดชื่นเท่าที่ควร หรือสังเกตง่ายๆ ระหว่างวันว่าวันไหนมีเรื่องรบกวนใจ การจะผ่อนคลายตนเองในวันนั้นก็มักจะทำได้ยาก
.
“ผู้ใดมีสติ เจริญเมตตาไม่มีประมาณ สังโยชน์ (กิเลสผูกใจ) ทั้งหลายของผู้นั้นผู้พิจารณาเห็นซึ่งธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิ (สภาวะที่กิเลสครอบงำ) ย่อมเป็นธรรมชาติเบาบาง ถ้าว่าผู้นั้นมีจิตไม่ประทุษร้ายซึ่งสัตว์มีชีวิตแม้ชนิดหนึ่ง เจริญเมตตาอยู่ไซร้ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีกุศล เพราะการเจริญเมตตานั้น อันพระอริยบุคคลมีใจอนุเคราะห์ ซึ่งสัตว์มีชีวิตทุกหมู่เหล่า ย่อมกระทำบุญเป็นอันมาก พระราชฤาษี ทั้งหลายทรงชนะซึ่งแผ่นดิน อันเกลื่อนกล่นด้วยหมู่สัตว์ ทรงบูชาอยู่ซึ่งบุญเหล่าใด… บุญเหล่านั้นย่อมไม่ถึงแม้เสี้ยวที่ ๑๖ แห่งเมตตาจิต อันบุคคลเจริญดีแล้ว” *(๗)
.
พึงฝึกกล่าวและระลึกขอบคุณ ขอโทษ บอกรักหรือเมตตา และชื่นชมในแต่ละวันให้มากไว้ อย่างน้อยก็ให้มากกว่าความโกรธ ความโลภ และความหลงทั้งหลาย การมีเมตตานั้นช่วยชะล้างกิเลสและความทุกข์ทั้งหลายให้เบาบางลงดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าข้างต้น เมื่อตะกอนใจเบาบางลงแล้ว การจะพักผ่อนก็ย่อมทำได้ง่ายขึ้น กายจิตย่อมผ่อนคลาย การนอนหลับย่อมเป็นไปด้วยดีไม่ถูกรบกวนด้วยความเครียดทั้งหลาย
.
เพียงแค่เราเจริญเมตตาเพียงเสี้ยวนาที จิตก็ได้พักจากกิเลสและสิ่งรบกวนทั้งหลายให้ดิ้นรนเป็นทุกข์ เท่ากับเราก็ได้พักผ่อนกายจิตแล้วในช่วงเวลานั้น ขอให้เราเห็นความสำคัญของการมีเมตตาต่อกัน แม้สิ่งนั้นจะรบกวนเราหรือทำร้ายกันอย่างไร หากเราเมตตาต่อตนเองจริง ย่อมไม่นำอารมณ์ลบและกิเลสทั้งหลายมาทำร้ายกายจิตตนเองด้วยความโกรธ ความแค้น การผูกใจเจ็บ หรือการคิดลบอกุศลทั้งหลาย การมีเมตตาเพียงแค่ชั่วครู่เดียว มีคุณค่าแก่กายและจิตมากนัก ดังความว่า
.
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุซ่องเสพเมตตาจิต… หรือ เจริญเมตตาจิต… หรือ ใส่ใจเมตตาจิต… แม้ชั่วการเพียงลัดนิ้วมือเดียวเท่านั้น (ชั่วขณะดีดนิ้ว) ภิกษุนี้เรากล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของพระศาสดา” *(๘)
.
.
๕ การภาวนาในชีวิตประจำวันคือการพักผ่อนอย่างแท้จริง :
.
การพักผ่อน มิใช่การหยุดทำหน้าที่และพักสิ่งที่ควรทำเสมอไป เราสามารถพักผ่อนในขณะที่อยู่ในการทำงานได้ ซึ่งอาจเป็นการพักผ่อนที่มีคุณภาพมากกว่าที่คิดหากเราสามารถพักผ่อนตามแนวทางที่แนะนำไว้ข้างต้นนี้และที่จะกล่าวต่อไป
.
ลำพังเพียงการทำงานอย่างมีสติด้วยความรู้ตัว เท่ากับเราได้ทำงานและได้พักไปในตัวแล้ว เพราะหากเราทำงานอย่างขาดสติ จิตย่อมไม่ได้จดจ่อกับงานอย่างเดียว แต่มีกิเลส ความอยาก ความหมายมั่นต่างๆ ทำให้กายจิตต้องใช้พลังงานและการกระทำมากกว่าที่ควร
.
เราไม่จำเป็นต้องมีเวลาพักผ่อนนานๆ เพื่อผ่อนคลาย แต่เราสามารถผ่อนคลายตนองในช่วงระหว่างการทำกิจต่างๆ ได้ ด้วยการกลับมาอยู่กับลมหายใจเป็นช่วงๆ อาจทุกครึ่งชั่วโมงลองกลับมาอยู่กับลมหายใจหนึ่งนาที แล้วจึงทำงานต่อ หรือหากการทำกิจนั้นกระชั้นชิดต้องทำอย่างต่อเนื่องนานก็พึงหยุดเมื่อครบสองชั่วโมง เพื่อให้เวลาอยู่กับลมหายใจอย่างมีสติสักสามนาทีหรือห้านาทีตามที่สะดวก แล้วจึงทำกิจนั้นต่อไป
.
เราไม่จำเป็นต้องรอให้มีเวลาว่างๆ เป็นชั่วโมงแล้วจึงทำสมาธิภาวนา มีเวลาเพียงหนึ่งนาทีก็สามารถทำได้และเกิดประโยชน์อีกด้วย การทำอย่างสม่ำเสมอนั้นช่วยให้เราผ่อนคลายและพักจิตจากสิ่งยั่วเร้าอันไร้ประโยชน์ แม้จะทำทีละน้อยก็ตาม
.
การทำงานอย่างมีสติรู้ตัวและมีสมาธิภาวนาควบคู่ ย่อมทำให้เราสามารถปฏิบัติงานบนทางสายกลางหรือบนความพอดีในด้านต่างๆ ได้ โดยไม่บีบคั้นตนเองมากเกินไปในการกระทำ หลีกเลี่ยงการใส่ใจที่ไม่ก่อประโยชน์ และไม่ปล่อยปละละเลยสิ่งที่ต้องใส่ใจ เท่านี้กายจิตก็ได้พักจากความเหนื่อยที่ไม่จำเป็นแล้วทั้งในตอนนี้และในวันหน้า เพราะเมื่อขาดสติจนทำผิดพลาดย่อมต้องเหนื่อยในอนาคตมากขึ้น
.
การภาวนาในชีวิตประจำวันประกอบด้วยสองส่วนคือการเจริญสติ และการทำสมาธิภาวนา สองส่วนคือสิ่งที่ขาดจากกันไม่ได้ การเจริญสติคือการทำกิจต่างๆ ด้วยความรู้ตัวและสำรวมระวังในการรับรู้ ส่วนการทำสมาธิภาวนาคือการปฏิบัติสมาธิแยกจากกิจวัตรต่างๆ เป็นการเฉพาะ หากมีแต่การเจริญสติในชีวิตประจำวันแต่ไม่ฝึกสมาธิภาวนา สตินั้นก็ยากจะตั้งได้อย่างตลอดครบถ้วน อาจรู้ตัวแค่บางเรื่องบางอย่าง ยังไม่เท่าทันจิตใจและกิเลสอย่างเต็มที่ หากฝึกสมาธิภาวนาอย่างเดียวแต่ไม่สำรวมระวังในการใช้ชีวิตประจำวัน สมาธินั้นก็กลายเป็นความหมายมั่นในความเห็นหรือตัวตนของตนเอง หลงกับกิเลสได้มากขึ้น ไม่ได้นำสมาธิมาใช้ประโยชน์ที่ควร การดำรงตนก็จะไม่อยู่บนทางสายกลาง
.
หลายครั้งที่คนเราจะมีข้ออ้างไม่อยากภาวนาว่ามีธุระเยอะ ยุ่ง หรือเหนื่อยกับการงานหรืออุปสรรคชีวิตต่างๆ นานา แต่ไม่รู้จริงว่าการภาวนานี่เองก็คือการทำให้เราได้พักผ่อนจากสิ่งเหล่านั้นอย่างแท้จริง ได้เป็นอิสระและเบาจากเครื่องกังวลต่างๆ ทำให้เราสามารถกลับไปจัดการกับธุระและอุปสรรคต่างๆ ได้โดยมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็ไม่ทุกข์ไปกับสิ่งเหล่านั้น
.
แม้เรามีเวลาในการพักผ่อนน้อย แต่หากหมั่นพาจิตกลับมามีสติที่ลมหายใจอย่างสงบ คั่นเวลาระหว่างวันด้วยการฝึกสมาธิภาวนาสั้นๆ เป็นอย่างน้อย และนอนหลับอย่างมีสติด้วยแล้ว เวลาในการพักผ่อนน้อยจะไม่ใช่อุปสรรคของเราเลย
.
ผู้เขียนเองก็ใช้วิธีการอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ในการรักษาสภาพกายจิตในการทำงานโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มากภาระ เช่นครั้งหนึ่งผู้เขียนต้องสอนเยาวชนในค่ายยาวสิบวันเก้าคืน ต้องเตรียมการสอนและเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ และทำอาหารเองบางมื้อ อีกทั้งยังมีงานเอกสารต่างๆ อีกด้วย มีเวลานอนเพียงวันละสี่ชั่วโมงตลอดค่ายเท่านั้น แต่ไม่รู้สึกเหนื่อยล้าเลย เพราะอาศัยการทำสมาธิและการทำใจให้สงบระหว่างวัน เดินจงกรมบางช่วง นั่งสมาธิบางเวลา และทำใจให้สงบก่อนนอน ผู้เขียนกลับรู้สึกว่ามีความกระปรี้กระเปร่ามากกว่าวันที่ไม่มีงานมากและได้นอนยาวแต่ไม่ได้สำรวมจิตหรือฝึกสมาธิ
.
เราจึงไม่จำเป็นต้องรอวันหยุดยาวแล้วจึงใส่ใจทำสมาธิภาวนา ให้วันทุกวันที่ยุ่งเหยิงนั้นแลเป็นวันเจริญสติและวันฝึกสมาธิ ทำทีละน้อยอย่างตั้งใจแต่สม่ำเสมอ อาจดีกว่าทำสมาธิยาวๆ ปีละครั้งสองครั้งในวันหยุด วันที่ได้ฝึกสติและเจริญสมาธิภาวนา วันนั้นคือวันพักผ่อนของเราแล้ว แม้วันนั้นจะทำงานตามปกติด้วยก็ตาม
.
เพียงแค่เราพาใจกลับมาที่ลมหายใจในตอนนี้อย่างมีสติ สงบ และสำรวม เราได้พักผ่อนแล้ว ร่างกายผ่อนคลายลงแล้ว จิตใจเบาลงจากเครื่องกังวลทั้งหลาย การพักผ่อนที่แท้จริงได้เริ่มเกิดขึ้น
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ ๕๐
.
.
> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/
.
> > > สามารถสนับสนุนกิจกรรมและบทความ ผ่านการเข้าร่วมคอร์สของเรา
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/
.
.
*๑ อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี อัจฉราสังฆาตวรรคที่ ๖  อรรถกถาสูตรที่ ๓
*๒ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สกลิกสูตรที่ ๓
*๓ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต อติตตสูตร
*๔ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกบาตร โมคคัลลานสูตร
*๕ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ปฐมเทศนา
* ๖ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เมตตาสูตร
* ๗ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
* ๘ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
* ๙ บทความ แก้ง่วง (และใจห่อเหี่ยว) ด้วย ๘ วิธี ๓ คำแนะนำจากพระพุทธเจ้า
www.dhammaliterary.org/แก้ง่วงและใจห่อเหี่ยว/