ฟังเสียงข้างน้อยในใจบ้าง…” ประชาธิปไตยในกายจิต

 

ฟังเสียงข้างน้อยในใจบ้าง :
.
การฟังคือหัวใจสำคัญของการปกครอง รวมทั้งการปกครองหรือดูแลตัวเองก็ย่อมต้องใช้การฟังด้วยเช่นกัน การฟังที่ดี มิใช่การเลือกฟังแต่เพียงบางส่วน แต่คือการรับฟังทั้งหมดอย่างลึกซึ้ง แม้ในส่วนที่เราไม่อยากได้ยินและเสียงกลุ่มเล็กๆ ที่มักถูกละเลย
.
ในสังคมภายนอกมักมีคนชายขอบที่ถูกละเลยความใส่ใจ ในจิตใจเราเองก็มีคนชายขอบที่มักถูกละเลยการรับฟังจากเราเช่นกัน คนชายขอบเหล่านี้คือตัวตนและตัวแทนของความรู้สึกกับความต้องการพื้นฐานที่ถูกปิดกั้นหรือปล่อยปละ
.
“จิตสำนึก” คือส่วนของจิตที่รับรู้ เป็นเสมือนเมืองหลวงของประเทศ มี “จิตใต้สำนึก” เป็นดั่งจังหวัดอื่นๆ ที่ไกลออกไปตามลำดับ ประเทศมิใช่จังหวัดเมืองหลวงเพียงหนึ่งเดียว เหมือนกับความเป็นตัวเรานั้นมิใช่แค่บุคลิกภาพเดียว แต่ประกอบด้วยบุคลิกภาพย่อยและตัวตนหลากหลายมากมาย ซึ่งในจำนวนเหล่านี้ก็จะมีบางด้านที่ถูกใส่ใจมาก เรียกว่า “ตัวตนหลัก” ในจิตสำนึก และอีกหลายด้านที่ถูกใส่ใจน้อย เรียกว่า “ตัวตนรอง” ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึก
.
ตัวตนอย่างหลังนี้ก็จะมีอีกบางส่วนซึ่งเราแทบไม่ได้สนใจเลย อยู่ในจังหวัดของจิตที่ไกลออกไปตามชายแดนของความใส่ใจ พวกเขาจะคอยประท้วงและสื่อสารกับเรา เป็นเสียงเล็กๆ ดังในจิตใจเช่นว่า ควรใส่ใจอย่างนี้บ้างนะ หรือทำอย่างนี้บ้างนะ คอยเอ่ยถามบ้างว่า “นี่คือคุณค่าจริงๆ ของชีวิตแล้วหรือ” หรือบอกเตือนล่วงหน้าว่าทำอย่างนี้ต่อไปอาจเป็นอย่างไร แต่เราก็มิได้แลเหลียวหรือให้ค่าเสียงเหล่านั้นเท่าที่ควร
.
เสียงข้างน้อยในใจเหล่านี้มักจะเป็นความรู้สึก ความต้องการ และศักยภาพในตัวเราที่ถูกละเลย เมื่อส่วนใดของประเทศไม่ได้รับความใส่ใจก็ขาดการพัฒนา หรือเมื่อเราพยายามพัฒนาจากศูนย์กลางหรือเมืองหลวง โดยที่มิได้เข้าใจอัตลักษณ์ของภาคส่วนนั้นๆ ก็จะกลายเป็นการบั่นทอนและปิดกั้นคุณค่าของที่นั่น
.
เช่นเดียวกันหากเราละเลยในเสียงข้างน้อยของจิตใจ เราก็หลงลืมว่าแท้ที่จริงแล้วเรายังเป็นคนอย่างไร ต้องการอะไร และมีคุณค่าอยู่มากเพียงใด หรือหากพยายามเปลี่ยนแปลงเสียงเล็กๆ ในใจเหล่านั้นให้หายไปโดยยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ เราอาจไม่มีวันรู้เลยว่า ความรู้สึกขาดแคลนอยู่ลึกๆ ในจิตใจหรือการที่ชีวิตไร้ความสุขแท้จริง เกิดจากอะไร
.
เมื่อเสียงชายขอบ ถูกละเลยมากเข้า เมื่อนั้นก็จะก่อตัวกลายเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย หากเราปฏิเสธอาการของร่างกายบ่อยถี่ในเรื่องเดิมๆ เมื่อนั้นโรคร้ายก็บังเกิด หากละเลยคุณค่าบางเรื่องของตัวเอง เมื่อนั้นตัวตนที่ถูกทอดทิ้งในจิตใจก็จะเรียกร้องหนักหน่วงมากขึ้นกลายเป็นตัวตนร้ายๆ ในจิตใจและแสดงออกผ่านพฤติกรรมที่ไม่รู้ตัว
.
ความเป็นตัวเราแท้จริง มิใช่เพียงตัวตนหลักที่ยึดถือเท่านั้น ตัวตนรองที่ถูกทอดทิ้งก็เป็นส่วนหนึ่งของตัวเราด้วย บางทีพวกเขาในตัวเราเหล่านั้นอาจมีสิ่งที่เราไม่ชอบ อาจเคยผิดพลาดล้มเหลว อาจด้วยบางเหตุการณ์ในวัยเด็กทำให้เราปฏิเสธบางด้านของตนเองไป แต่พวกเขายังอยู่ในกายจิตนี้เสมอ
.
.
ให้ฝ่ายค้านของเราทำหน้าที่ :
.
เป็นธรรมดาที่เรามักรับฟังเสียงที่ใหญ่กว่า โน้มน้าวใจมากกว่า หรือเป็นพวกเดียวกับตน จนหลงลืมเสียงข้างน้อยและฝ่ายค้าน ประชาธิปไตยจึงกลายเป็นการปกครองแบบพวกมากลากไป สำหรับตัวเราเองแล้วหากเราฟังแต่ความคิดและความรู้สึกที่เด่นชัด โน้มน้าวใจมากกว่า หรือคุ้นชินกว่า เราก็กำลังปกครองตนเองด้วยประชาธิปไตยแบบเดียวกัน เป็นเผด็จการด้วยเสียงข้างมาก
.
เมื่อใดก็ตามที่จิตสำนึกขาดการรับฟังเสียงคัดค้านรอบตัว เมื่อนั้นย่อมนำมาซึ่งปัญหาในภายหลัง แต่เรามักรังเกียจเสียงคัดค้าน เหมือนที่รัฐบาลแทบทุกสมัยมักพยายามต่อสู้กับฝ่ายค้าน ด้วยความกลัวต่างๆ ในจิตใจมิผิดแผกจากเรา
.
เราต้องให้ฝ่ายค้านทำหน้าที่ของเขา แล้วมองเขาเป็นพวกเดียวกับเรา ปล่อยให้เสียงคัดค้านต่างๆ ในกายใจเกิดขึ้นไปตามธรรมชาติ รับฟังเสียงขัดแย้งต่างๆ ในจิตใจอย่างยอมรับเขาและมองเป็นเพื่อนเรามิใช่ศัตรู
.
อาการของโรคร้ายที่เกิดก่อในร่างกายก็มิใช่ผู้ร้าย เป็นเพียงผู้ส่งสารจากคนชายขอบของกายใจเท่านั้น ซึ่งหมายมั่นสื่อสารให้เราใส่ใจบางสิ่ง มิได้หวังมาทำร้าย เช่นเดียวกันกับความทุกข์ในใจ เขาเหมือนเด็กน้อยที่เปราะบางและเจ็บปวด รอให้เราโอบกอดมิใช่เฆี่ยนตีด้วยความคิด
.
เวลาเราใช้ชีวิตหรือมีความคิดอย่างสุดโต่งไปทางใดเกินไป ในหัวใจและร่างกายเราจะส่งสัญญาณสื่อสารเป็นคำเตือน คำค้าน หรืออาการย้อนแย้งบางอย่าง หากเรารับฟังเสียงเหล่านั้น เราอาจปรับเปลี่ยนตนเองได้ทันการณ์ก่อนจะเลวร้ายลง เหมือนทุกครั้งที่นโยบายรัฐกำลังจะก่อผลเสีย จะมีนักวิชาการ ฝ่ายค้าน หรือชุมนุมประชาชนออกมาคัดค้านอย่างเนืองแน่น
.
ในฐานะที่ตัวเราคือผู้ปกครองของจิตและกายตนเองจะเลือกเป็นผู้นำที่มองฝ่ายค้านและผู้ชุมนุมเป็นศัตรูผู้ร้าย หรือมิตรผู้ช่วยให้เราไม่ประมาท การฟังฝ่ายค้านในตนเองมากขึ้นยังผลให้เราฟังคำเตือนและคำวิจารณ์จากผู้อื่นด้วย มิใช่ทุกคำวิจารณ์ที่มีประโยชน์แต่ทุกคำเตือนที่กระทบใจมักมีอย่างน้อยเสี้ยวหนึ่งที่เป็นประโยชน์
.
ประชาธิปไตยจึงมิใช่เรื่องของการตะเบ็งเสียงให้ดังกว่าเพื่อได้รับชัยชนะ แต่เป็นการรับฟังอย่างจริงใจและเปิดกว้างสำหรับทุกภาคส่วน ยิ่งเป็นเรื่องของมนุษย์แล้ว เรามิอาจใช้แต่เหตุผลและความคิดของตัวเองเป็นที่ตั้ง เรายังต้องใช้ความกรุณาและความเห็นอกเห็นใจต่อกันและกัน
.
เราเป็นผู้ปกครองกายใจตนเองที่ดูแลสิ่งทั้งหลายในความเป็นเรานี้อย่างกรุณาและเห็นใจเพียงพอมากเพียงใด หากเราเห็นใจตนเองอย่างแท้จริง พฤติกรรมทางกาย วาจา และใจย่อมไม่ทำร้ายตนเองทั้งทางตรงและทางอ้อม หากมิเป็นเช่นนั้นแล้วเราย่อมได้ยินฝ่ายค้านในตนเองแสดงออกตอบโต้ หากตัวเราไม่ทุกข์คงไม่แสดงออกในทางร้าย หากร่างกายเราไม่ขาดความรัก คงไม่เจ็บป่วยเพียงนี้
.
.

จากส่วนหนึ่งของบทความ “๙ แง่คิดประชาธิปไตยในกายจิต”
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ ๔๐
โดย ครูโอเล่ สถาบันธรรมวรรณศิลป์
.
ติดตามกิจกรรมได้ที่ไลน์ @khianpianchiwit
และเพจเฟสบุ๊ค “สถาบันธรรมวรรณศิลป์”

 

๙ แง่คิดประชาธิปไตยในกายจิต (ตอนแรก)