๕ คำสอนพระพุทธเจ้า เพื่อรับมือคำด่าและท่าทีแย่ๆ

 

 

๑ ยอมรับความเป็นจริงแห่งชีวิต :
.
“การนินทาหรือการสรรเสริญนี้มีมาแต่โบราณ มิใช่มีเพียงวันนี้ คนย่อมนินทาแม้ผู้นั่งนิ่ง แม้ผู้พูดมาก แม้พูดพอประมาณ ผู้ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก บุรุษผู้ถูกนินทาโดยส่วนเดียว หรือถูกสรรเสริญโดยส่วนเดียว ไม่มีแล้ว จักไม่มี และไม่มีในบัดนี้” *(๑)
.
เป็นธรรมดาที่เราจะถูกดุ วิจารณ์ ตำหนิ ตัดสิน หรือมีท่าทีแย่ๆ ต่อเรา ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดกับเราลำพังคนเดียวบนโลก ไม่ได้เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเท่านั้นในตอนนี้ เราเป็นคนธรรมดาคนๆ หนึ่ง ย่อมทำผิดพลาดได้ ย่อมเผลอพลั้งทำสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ เป็นธรรมดาที่จะถูกตำหนิได้ เพราะเราเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น
.
เหตุที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าการนินทาหรือการสรรเสริญมีมาแต่โบราณ หรือเรียกว่าเป็นของเก่า เพราะเวลาเราโดนว่าหรือโดนชมเชย ใจมักรู้สึกไปเองว่าคำพูดหรือท่าทีเหล่านั้นมันสำคัญมาก ใหญ่โตมาก เป็นของเราแต่ผู้เดียว เหมือนโลกทั้งใบเราถูกตำหนิเพียงลำพัง ตรงนี้เป็นเพราะอัตตาเผลอคิดไปเอง
.
การถูกว่า ถูกกระทำในทางที่ไม่ชอบใจ เป็นเรื่องธรรมดาที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่นเดียวกันกับ ลาภ หรือสิ่งดีๆ ที่ได้มา ได้มี , ความเสื่อมลาภ , ยศ หรือฐานะ ตำแหน่งและชื่อเสียง , ความเสื่อมยศ , นินทา , สรรเสริญ , สุข และทุกข์ ทั้งหลายเหล่านี้มีเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เรียกว่าโลกธรรม ๘ คือความเป็นไปของการอยู่บนโลกทั้ง ๘ ประการ การถูกนินทาว่าร้ายและท่าทีแย่ๆ จากผู้อื่นต่างก็เป็นสิ่งที่ทุกผู้คนที่ต้องพบเจอ มิได้เกิดขึ้นแก่เราผู้เดียวเท่านั้น
.
คำสอนเรื่องโลกธรรมยังมิใช่แค่นั้น ท่านสอนอีกว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เพียงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป หมุนไปตามโลกเท่านั้น ไม่มีอะไรในแปดอย่างเหล่านี้ที่ยั่งยืน ไม่มีอะไรในแปดอย่างนี้ที่สามารถยึดเอาเป็นของเรา หรือเป็นตัวตนได้เลย
.
ผู้ที่ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับ “ย่อมยินดีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในความเสื่อมลาภ ย่อมยินดียศที่เกิดขึ้น ย่อมยินร้ายในความเสื่อมยศ ย่อมยินดีสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในนินทา ย่อมยินดีสุขที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในทุกข์ เขาประกอบด้วยความยินดียินร้ายอย่างนี้ ย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่พ้นไปจากทุกข์” *(๒) ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้
.
เราจะเห็นว่าการกระทำของคนอื่นอาจนำมาสู่ความทุกข์แก่ใจเราได้ แต่การที่เราไม่เข้าใจและไม่ยอมรับในความเป็นจริงนี้กลับยิ่งทำให้เราเป็นทุกข์ยิ่งกว่า เพราะเราไปยินดียินร้าย ไปกอดรัดคำพูดและท่าทีเหล่านั้นไว้ ไปยึดกุมเอาความทุกข์ที่เกิดมาเป็นตัวตน มาเป็นของๆ ตน มาเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ เมื่อนั้นจึงเป็นทุกข์ยิ่งกว่าลำพังคำพูดและการกระทำของอีกฝ่าย
.
เมื่อถูกนินทาว่าร้าย เมื่อถูกวิจารณ์ หรือได้รับท่าทีไม่ดีจากผู้อื่น ให้เราเพียงตระหนักว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นบนโลก ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตัวเรา บางคนถูกกระทำซ้ำร้ายยิ่งกว่านัก สิ่งเหล่านี้เป็นแค่ของไม่เที่ยงแท้ที่มาแล้วจากไป เป็นแค่สถานการณ์หนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นมิเป็นตัวเรามิใช่ของใคร
.
มิเพียงเท่านั้นกับโลกธรรมข้ออื่นๆ ก็ให้เรา “ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ลาภเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าลาภนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความเสื่อมลาภ … ยศ …ความเสื่อมยศ … นินทา … สรรเสริญ … สุข … ทุกข์ย่อมเกิดขึ้น…
.
“ทราบชัดตามความจริงว่า ทุกข์นี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า ทุกข์นั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แม้ลาภย่อมครอบงำจิตของท่านไม่ได้ แม้ความเสื่อมลาภ … แม้ยศ … แม้ความเสื่อมยศ … แม้นินทา … แม้สรรเสริญ … แม้สุข … แม้ทุกข์ย่อมครอบงำจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินดีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในความเสื่อมลาภ ไม่ยินดียศที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในความเสื่อมยศ ไม่ยินดีความสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในนินทา ไม่ยินดีสุขที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในทุกข์
.
“ท่านละความยินดียินร้ายได้แล้วเด็ดขาดอย่างนี้ ย่อมพ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมพ้นไปจากทุกข์” *(๒)
.
ในแง่นี้ กล่าวโดยง่ายว่า ให้ยอมรับความจริงว่าการถูกนินทาว่าร้ายและท่าทีไม่ดีไม่งามจากผู้อื่นเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้ เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนหรือความไม่แน่นอนเป็นธรรมดา ทุกข์ที่เกิดจากคำพูดคนอื่นก็ดี การกระทำของคนอื่นก็ดี ทุกข์เหล่านั้นก็ไม่เที่ยงแท้ มีมาก็จากไป ไม่แน่นอนเป็นธรรมดา ถ้าการกระทำของคนอื่นที่ไม่ดีไม่อาจครอบงำใจของเราได้แล้ว อันเนื่องมาจากการรู้เท่าทันตนเองและการยอมรับความจริง ทุกข์จากคนอื่นก็ไม่อาจครอบงำใจเราได้เช่นกัน เพราะตัวเราไม่ไปยินดียินร้ายกับสิ่งซึ่งไม่แน่นอนและไม่อาจควบคุมได้เหล่านี้
.
เราควรยินดีกับที่ตนเองยังสามารถถูกตำหนิ วิจารณ์ ว่าร้าย หรือตัดสิน เพราะสิ่งเหล่านี้เตือนว่าเราก็ยังเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ได้พิเศษ มีความสำคัญ หรือสูงส่งเกินไปกว่าผู้อื่นเลย เราเป็นคนธรรมดาที่ผิดพลาดและมีความบกพร่องได้
.
โลกธรรมคือการหมุนไปของโลกเท่านั้น เราไม่ใช่ศูนย์กลางของโลกและจักรวาล ไม่อาจห้ามสิ่งที่ธรรมดาที่เกิดได้ ไม่ให้เกิดมิได้ เราแค่รับรู้ ยอมรับ และไม่เอาใจไปยินดียินร้ายกับสิ่งเหล่านี้ ไม่เอาตัวตนเป็นศูนย์กลางและคว้าโลกธรรมมาเป็นของตน ฤดูกาลชีวิตก็จะหมุนเวียนไปตามวันเวลา สิ่งใดเข้ามาเองก็จะออกไปเอง ไม่ต้องไปผลักไส ทราบชัดเช่นนี้เราก็จะเป็นอิสระ
.
.
๒ ต้อนรับกัลยาณมิตรและเป็นมิตรแท้แก่ทุกคน :
.
มิตรแท้อาจเป็นผู้ตักเตือนเราในสิ่งที่เราไม่อยากฟัง อาจสอนสั่งในสิ่งที่ไม่อยากให้สั่งสอน มิตรแท้ในพุทธศาสนา เรียกว่า กัลยาณมิตร เขาคือผู้แนะนำ ผู้สอนสั่ง และมิตรแท้ ซึ่งความมีกัลยาณมิตรย่อมเกื้อหนุนให้เราอยู่บนเส้นทางชีวิตที่เหมาะสมหรือเรียกว่าอริยมรรค เพราะมิตรแท้ย่อมทำให้เราละอกุศลหรือกสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์และไม่มีคุณค่า และเพิ่มพูนในสิ่งที่เป็นกุศล ซึ่งหากเรามีกัลยาณมิตรแล้วก็ควรที่จะให้ความเคารพและรับฟังคำแนะนำของเขา จะช่วยให้เราหลุดพ้นจากเหตุแห่งทุกข์และปัญหาต่างๆ ได้ *(๓)
.
ลักษณะความเป็นกัลยาณมิตรนั้นก็ประกอบด้วย ๗ ลักษณะคือ น่ารักใคร่พอใจหรืออาจเรียกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย , น่าเคารพและเป็นที่พึ่งพาได้ , น่าชื่นชมเพราะด้วยความรู้ความสามารถและการพัฒนาตนเอง , รู้จักพูดอย่างเหมาะสม , รู้จักฟังและอดทนต่อถ้อยคำ , รู้จักสนทนาและสื่อสารในสิ่งที่ละเอียดและลึกซึ้งให้เข้าใจ และไม่ชักนำไปในทางที่ไม่ควรอันผิดจากอริยมรรค *(๔)
.
เหตุที่ต้องยกความมีมิตรแท้ที่ดีตามหลักพุทธศาสนาเช่นนี้ก็เพราะว่าบางครั้งกัลยาณมิตรก็มาสู่เราในทางที่ไม่ชอบหรือมากล่าวในสิ่งที่เราไม่พอใจ อาจเป็นคนที่เราไม่ได้รู้จักมาก่อน แต่มีกรรมหรือปัจจัยที่ต้องมาเตือนหรือสอนใจกันด้วยวิธีที่ไม่ต้องการ
.
เป็นธรรมดาที่คนจะเลือกฟังในสิ่งที่เชื่อ เลือกฟังในสิ่งที่ตนเองชอบ นอกนั้นก็มักจะฟังแต่ไม่ได้ยิน แม้ว่าสิ่งที่ไม่ได้เชื่อหรือไม่ได้ชอบจะมีประโยชน์และเป็นความจริงอีกด้านก็ตาม
.
คัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง ปรัชญาโบราณของจีนกล่าวไว้ในท่อนหนึ่งว่า “คำจริงไม่หวาน คำหวานไม่จริง” การที่มีผู้พูดถึงความผิดพลาดอันละเอียดอ่อนของเราก็สอดคล้องกับคุณสมบัติข้อหนึ่งของกัลยาณมิตร คือการสามารถพูดหรือสนทนาในสิ่งที่ลึกได้ ไม่ใช่พูดดีๆ กับเราอย่างตื้นเขินเท่านั้น แต่ด้วยกิเลสก็มักทำให้เผลอชอบแต่คนที่พูดดีๆ กับเรามากกว่า ทั้งๆ ที่คำพูดเหล่านั้นอาจไม่ได้เป็นจริงหรือไม่ได้มาจากการพิจารณาที่ลึกซึ้ง
.
สิ่งที่คนอื่นพูดและวิจารณ์เราไม่ได้เป็นความจริงเสมอไป แต่สามารถมองให้เห็นว่าในทุกสิ่งที่คนอื่นตำหนิเรา มักจะมีความจริงอยู่อย่างน้อย ๑ เปอร์เซ็นต์ เป็นสิ่งที่เราควรแก้ไขหรือเชื่อตาม คิดเช่นนี้แล้วเราก็จะไม่ทุกข์กับการตำหนิของคนอื่น เขาแค่เป็นครูคนหนึ่งที่มาสอนเราตามกรรมหรือปัจจัยกำหนดเท่านั้น
.
เราเป็นกัลยาณมิตรแก่ตนได้ก็ด้วยการเลือกคบหาสมาคมแต่บุคคลที่ส่งเสริมเราให้เดินบนเส้นทางที่ดีงาม เป็นผู้สามารถชี้ข้อบกพร่องของเราได้ และน้อมนำคุณสมบัติทั้ง ๗ ประการมาใส่ตน เป็นกัลยาณมิตรแก่ผู้อื่นได้ด้วยการรู้ “อดทนต่อคำพูด” ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้
.
อดทนเป็นและวางใจได้ แม้กำลังถูกตำหนิวิจารณ์หรือโดนท่าทีแย่ๆ เราก็กำลังสอนคนอื่นให้เห็นว่า “พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ พึงชนะคนไม่ดี ด้วยความดี พึงชนะคนตระหนี่ ด้วยการให้ พึงชนะคนพูดเหลวไหล ด้วยความจริง” ตามหลักธรรมในพุทธศาสนา ไม่นำกิเลสไปชนกับกิเลส ไม่นำสิ่งไม่ดีไปปะทะกับความไม่ดี ซึ่งยิ่งแต่จะซ้ำร้ายแก่ทั้งสองฝ่าย
.
.
๓ เป็นอย่างปริศนาธรรมห้าประการ :
.
รูปแบบที่คนอื่นจะกล่าวกับเรามีอยู่ ๕ แบบคือ กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร , กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง , กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือคำหยาบคาย , กล่าวด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และมีจิตเมตตาหรือมีโทสะ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสสอนขณะประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันว่า มิว่าคนอื่นจะกล่าวมาแบบไหน ให้พึงกำหนดใจไว้ว่า “จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาลามก (ไม่เหมาะสม) เราจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตา ไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง” *(๕)
.
แล้วจึงตรัสยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้กำหนดใจไว้เช่นนี้ให้เหมือนกับ “แผ่นดิน” มิว่าคนอื่นจะเอาจอบมาขุดหรือจะปัสสาวะรดแผ่นดินอย่างไร แผ่นดินก็ยังหนักแน่น ลึกประมาณมิได้ และกว้างใหญ่เช่นเดิม คนอื่นที่นำจอบมาขุดหรือมาปัสสาวะรดก็จะเหนื่อยและจากไปเอง ให้เรากระทำอย่างแผ่นดินเช่นเดียวกัน มีจิตและการกระทำที่สม่ำเสมอเหมือนแผ่นดิน หนักแน่นไว้ และทำใจให้กว้างใหญ่เท่า
.
การทำร้ายเราด้วยคำพูดหรือการกระทำใดก็เหมือนการเขียนรูปบน “อากาศ” มิอาจเป็นตัวตนและสิ่งที่ให้ยึดถือเอาได้ คำพูดและการกระทำใดๆ ก็เป็นเพียงอนัตตาเท่านั้น เราอย่าไปยึดถือเอาหรือยินดียินร้ายจนเป็นทุกข์ แต่ให้ทำใจให้กว้างใหญ่เหมือนอากาศ แผ่เมตตาและความดีออกไปไม่พยาบาท
.
ท่านยังทรงตรัสเปรียบเทียบเหมือนการเผา “แม่น้ำ” คงคา การกระทำที่บั่นทอนจากผู้อื่นมิอาจทำอะไรเราได้ หากทำใจให้เหมือนแม่น้ำ คำพูดและท่าทีเหล่านั้นก็จะเหมือนการพยายามจุดไฟเผาแม่น้ำ ย่อมเหนื่อยเปล่าไปเอง ให้เราทำใจให้เย็น ลึก และกว้างไว้ เจริญอยู่ในเมตตาจิต หมายอนุเคราะห์ผู้คนรอบข้างและคนที่เข้ามาให้เกิดแต่ประโยชน์ เหมือนแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตไม่เลือกข้าง
.
เมื่อฝึกใจดีแล้วก็จะเป็นเหมือน “กระสอบหนังแมว” หรือสิ่งที่หุ้มห่อด้วยหนังสัตว์ไว้ ซึ่งผ่านการฟอกจนนุ่ม เมื่อถูกตีกระทบก็จะไม่ดังก้อง ตรงจุดนี้เป็นปริศนาธรรมที่เปรียบได้กับจิตของผู้ฝึกตนดีแล้ว ผ่านการฟอกมา เมื่อถูกวิจารณ์ ตำหนิ หรือการกระทำที่ไม่ดีก็ไม่ถือดีถือร้าย ไม่มีอาการกิริยาที่เป็นโทสะหรือความเสียใจ เหมือนหนังสัตว์ที่ถูกฟอกจนนุ่มนวลก็ไม่เกิดเสียงดังก้องแม้ถูกกระทบ
.
ปริศนาธรรมอย่างที่ห้าที่ท่านทรงตรัสสอนไว้คือการถูก “เลื่อย” จากโจร แม้จะต้องถูกเลื่อยหั่นร่างกายออกมาจากกันก็อย่าได้มีใจคิดร้ายพยาบาท หากมิเช่นนั้นแล้วก็จะไม่ถือว่าได้ทำตามคำสอนของท่าน ให้แผ่เมตตาจิตกลับไปยังผู้ทำร้ายและคนอื่นๆ ไม่มีประมาณ ไม่คิดจองเวรต่อกัน ตั้งใจที่จะประกอบกรรมอันเกิดแต่ประโยชน์ต่ออีกฝ่ายเท่านั้น ทรงย้ำให้ใส่ใจถึงโอวาทเปรียบเทียบด้วยเลื่อยนี้อย่างเนืองนิตย์ *(๕)
.
ปริศนาธรรมในข้อสุดท้าย นอกจากหมายถึงการใช้เมตตาธรรมนำหน้า แม้ต่อผู้ที่ทำร้ายเราจนถึงแก่ความตายแล้ว ยังหมายถึงการละวางซึ่งอัตตาตัวตน ยิ่งเราละวางตัวตนได้มากเท่าใด ตั้งจิตไว้ในทางที่เป็นกุศลและเมตตาเพียงใดแล้ว เรายิ่งทุกข์น้อยลงจากการทำร้ายของคนอื่นมากเท่านั้น เสียงและการกระทำใดๆ จากอีกฝ่ายก็จะเพียงกระทบที่ร่างกาย แต่ไม่ได้สะเทือนใจ
.
เราจะวางใจตนให้ได้อย่างที่ท่านสอน เราก็ต้องมีสติและรู้หักห้ามใจ ท่านมิได้ตำหนิว่าหากเราโต้ตอบสิ่งที่คนอื่นกระทำต่อตน แต่ทรงชี้ให้เห็นว่าถ้ารับมือและโต้ตอบด้วยโทสะ หรือความโกรธ ความแค้น หรือความขุ่นเคือง เรายิ่งมีแต่จะทุกข์ และทำให้สิ่งต่างๆ แย่ลงเท่านั้น เราต้องหักห้ามใจมิให้รับมือกับกิเลสด้วยกิเลส มิให้รับมือกับความเลวร้ายด้วยความเลวร้าย เรามีคุณค่ามากกว่านั้น
.
การละวางตัวตนคือหัวใจสำคัญของการรับมือกับสิ่งไม่ดีจากผู้อื่น ยิ่งเราเอาตัวตนไปรับมากเท่าใด ทุกข์ก็ยิ่งเกิดมากเท่านั้น เพราะไปแบกรับคำพูดต่างๆ ที่เป็นเพียงการสั่นสะเทือนในอากาศหรือเป็นเพียงภาพที่กะพริบบนหน้าจอชั่วคราว มาเป็นของๆ ตน และตัวตนเรา
.
การฝึกรับมือกับคำวิจารณ์และการกระทำที่ไม่ดีจากคนอื่นคือหนทางหนึ่งในการฝึกละวางอัตตา เขากำลังเป็นครูในแบบที่ไม่ชอบเท่านั้นเอง
.
.
๔ มีสติในการรับรู้และละวางจากความอยาก :
.
จากคำแนะนำที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าความทุกข์จากคำพูดและการกระทำของคนอื่นนั้นไม่ได้มาจากคนอื่นแต่ฝ่ายเดียว แต่ยังเกิดขึ้นเพราะจิตหรือตัวเราเองด้วย เราจะรับมือกับท่าทีแย่ๆ จากคนอื่นได้นั้น เราต้องฝึกที่ใจตน โดยเฉพาะการมีสติที่การรับรู้โลกและการรู้เท่าทันกิเลสในจิตใจ
.
พระไตรปิฎกส่วนเดียวกันกับคำแนะนำในข้อล่าสุดได้เล่าอีกว่า มีครั้งหนึ่งที่ภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า พระโมลิยผัคคุณะ ได้คลุกคลีกับภิกษุณีเป็นเวลานานและบ่อยครั้ง จนพระรูปอื่นๆ ต้องเข้าไปตำหนิ เมื่อตำหนิแล้วท่านก็โมโหโกรธเป็นอย่างมาก บางครั้งฝ่ายที่โกรธก็เป็นฝ่ายภิกษุณีที่ไม่พอใจที่พระรูปอื่นมาตำหนิ พระโมลิยผัคคุณะ
.
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงตรัสเรียกท่านมาแล้วสอบถามว่าที่พระรูปอื่นกล่าวกันเป็นความจริงหรือไม่ เมื่อท่านยอมรับแล้ว พระองค์จึงตรัสย้ำความตั้งใจที่ท่านมาบวชว่าก็เพราะด้วยศรัทธา การกระทำเช่นนั้นไม่สมควรแก่ท่านผู้มีศรัทธา พร้อมกับทรงแนะนำว่าเมื่อถูกตำหนิแล้ว แม้ต่อหน้าภิกษุณี ให้ท่าน “ละความพอใจและวิตกอันอาศัยเรือน” ให้กำหนดความตั้งใจว่าจิตเราจะไม่หวั่นไหวแปรปรวน จะไม่ปลดปล่อยวาจาที่ไม่สมควร และจะอนุเคราะห์ส่งเสริมแต่สิ่งที่ดีแก่อีกฝ่ายเท่านั้น *(๕) เหมือนคำแนะนำในข้อก่อนหน้า
.
“ละความพอใจและวิตกอันอาศัยเรือน” คำว่า อาศัยเรือน หรือ “เคหสิตา” พระพุทธเจ้าทรงตรัสหมายถึง เบญจกามคุณ คือความเพลิดเพลินจากการรับรู้ทั้งห้าทางร่างกาย ส่วนความพอใจหรือ “ฉนฺทา” คือความพอใจด้วยตัณหา (ความอยาก) และพอใจด้วยปฏิฆะ (ความไม่ชอบใจ) วิตกก็คือจิตนึกคิดและตีความไปตามอำนาจของความอยากและความไม่ชอบใจ
.
พระพุทธเจ้าทรงตรัสแนะนำให้กำหนดจิตตนว่าจะไม่หวั่นไหวแปรปรวน ซึ่งแปรปรวนหรือ “วิปริณตํ” นั้นคือจิตที่ถูกกำหนดโดยความพอใจด้วยอำนาจตัณหา และจิตที่โกรธโดยความพอใจ ด้วยอำนาจปฏิฆะ ปรุงแต่งไปให้ไหวหวั่น เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งที่ทำให้ใจเราแปรปรวนไม่ใช่คำพูดหรือท่าทีของคนอื่นเสียทีเดียว แต่มาจากความอยากและความไม่ชอบใจที่ปรุงแต่งมาจากความเพลิดเพลินในการรับรู้ผ่านอายตนะต่างๆ ของเรา
.
การไม่มีสติที่การรับรู้ผ่านช่องต่างๆ ของร่างกายอันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย คือปัญหาที่ทำให้เราอ่อนแอและอ่อนไหวไปกับคำพูดและท่าทีของผู้อื่น เพราะเมื่อไม่มีสติแล้ว ใจก็จะเอนเอียงตามสิ่งที่รับรู้เป็นความเพลิดเพลิน จนปรุงแต่งเป็นความอยากและความไม่ชอบใจ นำมาซึ่งอารมณ์ขุ่นมัวบ้าง เบิกบานบ้าง ตามโลกธรรมที่รับรู้ ทุกข์ก็เกิดขึ้น
.
พระองค์จึงตรัสสอนเน้นย้ำว่า ไม่ว่าภิกษุณีที่ท่านเข้าไปสนทนา จะถูกใครๆ ทำร้ายด้วยฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ หรือศาสตราอาวุธใด ไม่ว่าตัวท่านเองจะถูกตำหนิต่อหน้าภิกษุณีเหล่านั้น หรือจะถูกทำร้ายด้วยฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ หรือศาสตราวุธใดเสียเอง ท่านก็ต้องละความพอใจและวิตกอันอาศัยเรือน และหมายมั่นที่จะรักษาใจมิให้หวั่นไหวแปรปรวน ไม่เปล่งวาจาใดๆ ที่ไม่สมควร อนุเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ ด้วยเมตตาจิต ไม่มีโทสะ *(๕)
.
เราเองก็สามารถที่จะกระทำตามอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงชี้แนะได้เช่นเดียวกัน ด้วยการเริ่มมีสติในการรับรู้โลก ไม่ปล่อยใจให้หวั่นไหวและปรุงแต่งไปกับสิ่งที่รับรู้ ด้วยความสำรวมระวัง ไม่เผลอใจไปยินดียินร้ายกับโลกธรรมอย่างขาดสติ ใจก็จะไม่วิตกหรือตีความต่างๆ นานาไปกับคำพูดและท่าทีอันไม่เที่ยงแท้แน่นอนของคนอื่น
.
การกระทำเช่นนี้ดูเผินๆ เหมือนกับการยอมจำนนไม่ต่อสู้ แต่จริงๆ แล้วเป็นการต่อสู้ที่กล้าหาญมากกว่าคือการต่อสู้กับกิเลสในตนเอง ต่อสู้กับความโกรธ ความอยาก ความไม่ชอบใจ และอัตตาตน เพื่อไม่พาตนลงสู่ที่ต่ำด้วยการก่อกรรมทำชั่วด้วยกาย วาจา และใจ เพื่อความเป็นสุขและสงบ แม้ต้องอยู่ท่ามกลางการกระทำหรือคำพูดที่บั่นทอน
.
การปรุงแต่งไปกับคำพูดและการกระทำของคนอื่นมีแต่จะทำให้เป็นทุกข์ และไม่เข้าใจความเป็นจริงของชีวิต บ่อยครั้งที่จิตมักปรุงแต่งตีความจากสิ่งที่รับรู้อย่างเกินความเป็นจริง เช่นคิดว่าคำพูดที่คนอื่นเตือนแก่เราเป็นเพราะเขามุ่งร้าย เป็นต้น สิ่งที่จิตปรุงแต่งด้วยอารมณ์และการขาดสติมักไม่สอดคล้องกับความจริงเสมอ
.
สำรวมให้ดี อย่าปล่อยใจให้หวั่นไหวแปรปรวนไปกับความพอใจและวิตกอันอาศัยเรือนเหล่านี้ ระวังการปรุงแต่งไปตามอารมณ์ทำให้คิดตีความต่างๆ ไปเอง แค่รับรู้โลกสักแต่ว่ารับรู้ความเป็นจริงที่เกิดตรงหน้า คำพูดและการกระทำของคนอื่นไม่ได้ทำให้เราสูงขึ้นหรือต่ำลง แต่อยู่ที่การก่อกรรมด้วยกาย วาจา และใจของเราเอง
.
.
๕ ไม่อยากเจอคนแบบไหน อย่าทำแบบเดียวกันนั้น :
.
“สตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น” *(๖)
.
สิ่งที่เราได้พบเจอนั้นเป็นการกระทำที่สืบเนื่องมาจากอดีตและปัจจัยอันมากมายที่เกิดจากกรรมร่วมกันกำหนด บางทีเราอาจคิดว่า ตนไม่เคยทำแบบนี้เลย ทำแต่สิ่งที่ดี แต่ทำไมจึงต้องเจอกับคนแบบนี้ หรือเหตุการณ์แบบนี้ เป็นเพราะเรายังไม่ได้เข้าใจความจริงว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากกรรมและปัจจัยทั้งหลาย บนความเป็นไปของโลกที่มีความไม่แน่นอน ความทุกข์ และความสูญเสียเป็นธรรมดา
.
การที่เราได้พบเจอกับผู้คนที่กระทำในสิ่งที่ไม่ดี อาจนินทาว่าร้าย มีท่าทีที่บั่นทอน ทำร้ายเราทางตรงหรือทางอ้อม สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีกรรมเป็นเครื่องกำหนด เคยกระทำมาอย่างไรในอดีต ก็มาพบเจอกับผู้คนแบบนั้น รับการกระทำแบบเดียวกันนั้น
.
ในมุมจิตวิทยากล่าวได้ว่าความชั่วร้ายหรือด้านมืดในตัวผู้อื่นที่เราโกรธ เกลียดและเพ่งเล็งล้วนแล้วเป็นกระจกที่สะท้อนจิตใจเราเอง และสิ่งที่เราก็เป็นโดยไม่รู้ตัว ก่อนเราจะชี้นิ้วตำหนิใคร พึงระวังไว้ว่านิ้วที่เหลือนั้นอาจกำลังชี้มาที่ตัวเราด้วยเช่นกัน หากเราไม่มีหรือไม่เป็นอย่างเช่นที่เขาเป็นแล้ว เราจะไม่รู้สึกโกรธ เกลียด และเพ่งเล็งในสิ่งนั้น แต่จะรับรู้ด้วยความเป็นกลางตามที่เป็นจริง
.
ตามหลักพุทธศาสนา การที่เรามาพบเจอกับใครหรือเหตุการณ์ใดก็ล้วนแต่เป็นไปตามกรรมที่ตนกระทำมา จะเป็นกรรมในอดีตก็ดี อดีตชาติก็ตาม เราอาจคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ตนเองไม่น่าเคยทำอะไรแบบนั้น แต่คนที่กระทำผิดก็มักไม่รู้ตัวว่าได้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องไป บางทีเราเองก็เช่นเดียวกันที่ไม่ทันรู้ตัว
.
มิว่าเพราะเหตใดก็ดี หากเราต้องการหลีกเลี่ยงไม่พบเจอกับพฤติกรรม คำพูด และความคิดแบบไหน ต้องหมั่นกระทำตรงข้ามกันหรือไม่ทำในทางเดียวกันกับสิ่งนั้น ดังคำแนะนำจากพระพุทธเจ้าซึ่งทรงตรัสอยู่ในพระไตรปิฎกว่า
.
“การงดเว้นจากมุสาวาทา เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้พูดเท็จ
การงดเว้นจากปิสุณาวาจา เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้กล่าวส่อเสียด
การงดเว้นจากผรุสวาจา เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้กล่าวคำหยาบ
การงดเว้นจากสัมผัปปลาปะ (การเพ้อเจ้อ) เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้พูดเพ้อเจ้อ
ความเป็นผู้ไม่เพ่งเล็ง เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มักเพ่งเล็ง
ความไม่พยาบาท เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีจิตพยาบาท
.
“ความไม่โกรธ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มักโกรธ
ความไม่เข้าไปผูกโกรธ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้เข้าไปผูกโกรธ
ความไม่ลบหลู่คุณท่าน เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มักลบหลู่คุณท่าน
ความไม่ยกตนเทียมท่าน เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มักยกตนเทียมท่าน
ความไม่ริษยา เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ริษยา
ความไม่ตระหนี่ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ตระหนี่
ความไม่โอ้อวด เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้โอ้อวด
ความไม่มีมารยา เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีมารยา
ความเป็นคนไม่ดื้อด้าน เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ดื้อด้าน
ความไม่ดูหมิ่นท่าน เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ดูหมิ่นท่าน
ความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ว่ายาก
ความเป็นผู้มิตรดี เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีความเป็นมิตรชั่ว
ความไม่ประมาท เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ประมาท” *(๗)
.
กิเลสและข้อเสียบางอย่างในตัวเราก็สะท้อนอยู่ในตัวผู้อื่นที่มาพบเจอ การมาเจอกันจึงเป็นเหมือนกระจกสะท้อนให้เราเห็นตนเอง พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสสอนให้เรามีเมตตาไว้ เพราะไม่ได้เมตตาอีกฝ่ายเท่านั้น แต่ยังเมตตาตัวเราเองที่มีกิเลสมิผิดแผกจากกันนัก
.
เมื่อใดที่รู้ตัวว่ากิเลส ข้อเสียในตัวเรา และกรรมไม่ดีของตนเอง แม้เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ที่ผ่านมาเป็นหนึ่งปัจจัยผลักดันให้ตนต้องมาเจอกับคำพูด ท่าที และเหตุการณ์แย่ๆ จากคนอื่น เมื่อนั้นเราจะเป็นผู้มีเมตตาจิตมากยิ่งขึ้น ความเห็นใจและความเข้าใจจะเกิดขึ้นในจิตเรา ความโกรธเกลียด และเศร้าใจที่มีต่ออีกฝ่ายก็จะน้อยลง เพราะเราไม่ได้เพ่งโทษแต่คนอื่นและสิ่งนอกตัวอย่างเดียว ความเข้าใจนั้นเองและการสำรวมระวังจะทำให้เราเป็นผู้หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน กว้างใหญ่เหมือนอากาศ เย็นเหมือนแม่น้ำ เราจะทุกข์น้อยลงหรือไม่ทุกข์เลยแม้ต้องเจอกับสิ่งที่สามารถบั่นทอนก็ตาม
.
หากเรากระทำอย่างดีที่สุดแล้ว ยังต้องพบเจอกับบุคคลและการกระทำที่ไม่ดี เราไม่จำเป็นต้องพยายามหาหนทางตอบโต้หรือกระทำการใดต่ออีกฝ่ายให้ใจเป็นทุกข์ซ้ำเติม เพียงพึงระลึกว่า
.
“ไม่ใช่เราแต่ผู้เดียวเท่านั้นที่มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น โดยที่แท้ สัตว์ทั้งปวงบรรดาที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ล้วนมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น” *(๖)
.
เราไม่ต้องพยายามทำอะไรกับพวกเขาเลย กรรมจะให้ผลแก่พวกเขาเองหากเขากระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องจองเวรหรือโกรธเกลียดต่อกัน ใครทำสิ่งใดย่อมได้รับผลของสิ่งนั้นเอง ผู้เอ่ยวาจาด้วยโทสะและกิเลสใด ย่อมถูกเผาไหม้ในใจด้วยโทสะและกิเลสนั้นเอง อย่าเอาตัวเราไปเผารนกับเขาให้เป็นทุกข์ อย่าเอาใจเราไปแบกรับไว้ด้วยอัตตาให้เป็นทุกข์
.
เราอาจไม่รู้ว่าผลกรรมใดเป็นผลก่อให้เกิดสิ่งไม่ดีขึ้นในชีวิตเรา ก็เพียงรู้ว่า “อกุศลธรรมทั้งมวลเป็นเหตุให้ถึงความเป็นเบื้องล่าง กุศลธรรมทั้งมวลเป็นเหตุให้ถึงความเป็นเบื้องบน ฉันใด ความไม่เบียดเบียนก็ฉันนั้นแล ย่อมเป็นธรรมสำหรับความเป็นเบื้องบนของบุคคลผู้เบียดเบียน” *(๗)”
.
พึงใช้ชีวิตด้วยความไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น สัตว์นานา สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วยกรรมทางกาย วาจา และใจ กรรมเหล่านี้ก็จะรักษาเราเอง ดั่งปลูกต้นไม้ให้สูงใหญ่เป็นร่มเงา ช่วยให้มีชีวิตอยู่เย็นและเป็นสุข สำรวมระวังการรับรู้และทำกรรมทั้งสามอย่างดี ที่เหลือนั้นปล่อยให้เป็นไปตามโลกธรรมและกรรมกำหนด
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ ๔๘

 

> > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :

www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/
.
> > > สามารถสนับสนุนกิจกรรมและบทความ ผ่านการเข้าร่วมคอร์สของเรา

www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/

 

 

*(๑) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต [๒๗]

*(๒) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต โลกวิปัตติสูตร [๙๖]

*(๓) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต เสขสูตรที่ ๒ [๑๙๕]

*(๔) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต สขสูตรที่ ๒ [๓๔]

*(๕) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
โอปัมมวรรค กกจูปมสูตร [๒๖๘]

*(๖) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ฐานสูตร [๕๗]

*(๗) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑๐๖]