ร่างกายเป็นโรค… ฉันเป็นโรค…

 

มิใช่ไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือภัยจากธรรมชาติ ที่พึงเห็นว่าเป็นโรค แต่ร่างกายนี้เองที่พึงเห็นเป็นโรค เราไม่ค่อยกล่าวกันว่าไวรัสเป็นโรค เชื้อรา แบคทีเรีย ฯ เป็นโรค ในการพูดสื่อสารทั่วไป แต่เรามักจะพูดกันว่า ฉันเป็นโรค… ร่างกายเป็นโรค… นั่นก็เป็นปริศนาธรรมให้ทายกันในชีวิตประจำวันแล้ว เพราะไวรัสไม่ใช่โรคในทางธรรมะ แต่ร่างกายเรานี้เองที่เป็นโรค และการยึดมั่นในตัวตนฉันนี่เองที่เป็นโรค…
.
ความไม่มีโรค สำหรับคนทั่วไป คือการมีร่างกายที่แข็งแรงและไม่เจ็บป่วย แต่ในทางธรรมะหรือความเป็นจริงแล้ว ความไม่มีโรค คือการพ้นจากอำนาจของร่างกาย ซึ่งเป็นโรคอย่างแท้จริง เหตุใดพุทธศาสนาจึงกล่าวว่า ร่างกายคือโรค ลองพิจารณาจากคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ตรัสว่า
.
“กายนี้มีรูป (เป็นวัตถุ) เป็นที่ประชุมมหาภูต (ธาตุ) ทั้งสี่ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญด้วยข้าวสุกและขนมสด ต้องอบและขัดสีกันเป็นนิจ มีความแตกกระจัดกระจายเป็นธรรมดา ท่านควรพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ เป็นดังผู้อื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า เป็นของมิใช่ตน
.
“เมื่อท่านพิจารณาเห็นกายนี้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ เป็นดังผู้อื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า เป็นของมิใช่ตนอยู่ ท่านย่อมละความพอใจในกาย ความเยื่อใยในกาย ความอยู่ในอำนาจของกายในกายได้” *[๓]
.
ร่างกายเป็นโรค ไม่ใช่เพราะมีไวรัสหรือเชื้อใดใดมาราวี แต่ร่างกายเป็นโรคอยู่แล้วตามหลักธรรม เพราะร่างกายนั้นมิใช่ตัวตน ไม่เที่ยงแท้ มีแต่จะเสื่อมลงไป มีแต่ความเป็นทุกข์ และไม่อาจถือมั่นไว้ได้ ตามหลักไตรลักษณ์
.
“ความอยู่ในอำนาจของกายในกาย” คือการหลงยึดหรือพอใจในร่างกาย ทำให้เราหวงแหน กังวลกับรูปร่าง ทำให้กลัวตาย ทำให้คิดว่าเนื้อหนังมังสาอันห่อหุ้มเลือดหนองและกระดูกนี้เป็นตัวตนของฉัน เป็นต้น ทั้งที่ร่างกายเป็นโรค คือมีแต่ความเสื่อมไปมิอาจมีตัวตนเที่ยงแท้ให้พอใจได้เลย
.
การพ้นไปจากร่างกายมิใช่การทำลายร่างกาย ด้วยคำว่ากายหรือร่างกายในทางธรรมมักหมายถึง ร่างกายที่ถูกถือความเป็นตัวฉันและของๆ ฉัน เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ดังคำกล่าวของพระอานนท์ต่อภิกษุณีในกาลหนึ่งว่า “กายนี้เกิดขึ้นด้วยอาหาร อาศัยอาหาร… เกิดขึ้นด้วยตัณหา(ความอยาก) อาศัยตัณหา… เกิดขึ้นด้วยมานะ(ความถือตน) อาศัยมานะ” *[๔]
.
การพ้นไปจากร่างกายหมายถึงการไม่ตกอยู่ในอำนาจของความยึดติดและหลงใหล เห็นเป็นเพียงธรรมชาติอย่างถูกต้องตามความจริง เมื่อไม่เห็นเป็นไปตามความจริงอย่างถูกต้องแล้ว เราก็ย่อมเกิดโรคทางจิตใจขึ้น โรคในโลกนี้มีอยู่สองแบบคือ โรคทางกาย (กายิกโรค) และ โรคทางจิตใจ (เจตสิกโรค) ท่านพุทธทาสทรงแบ่งเพิ่มอีกว่านอกจากโรคทางจิตใจแล้ว ก็ยังมีอาการป่วยทางสติปัญญา เรียกว่า โรคทางวิญญาณ ซึ่งโรคทั้งสองอย่างหลังนี้ต่างก็เกิดจากอวิชชาคือการไม่เข้าใจความจริงอย่างที่เป็น
.
โรคทางจิตใจและวิญญาณร้ายกว่าโรคทางร่างกายนัก เพราะโรคทางจิตนี้ทำให้เกิดโรคทางกายอีกที โรคทางกายมิได้เกิดจากเหตุปัจจัยภายนอกอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากอาการป่วยข้างในใจอีกด้วย ซึ่งได้แก่อาการที่เกิดจากโลภ โกรธ และหลงนั่นเอง รวมถึงความเครียด ความกลัว ความหึงหวง ความลังเลสับสน การติดดี การแข่งดี และอกุศลทั้งหลายซึ่งก็ล้วนก่อตัวมาจากกิเลสสามอย่างนั้น เรียกว่า อกุศลมูล
.
โรคร้ายทางจิตทำให้ก่อกรรมย้อนกลับมาเป็นผลร้ายต่อเราในวันหน้า เช่น การใช้ชีวิตที่ไม่พอดี ขาดการดูแลสุขภาพ การคิดวิตกจนเครียด การทำร้ายตนเอง เป็นต้น ด้วยพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจซึ่งนำมาสู่ความเสื่อมโทรมทางร่างกายและสังคมมากขึ้น อาการป่วยทางร่างกายอาจพอรักษาได้ แต่อาการป่วยทางจิตใจรักษายากกว่า แม้รักษากายได้แต่ใจยังป่วยอยู่วันหน้าก็จะป่วยซ้ำเติมมากกว่าเดิม
.
มีชาดกหนึ่งในพระไตรปิฎกกล่าวความว่า “จริงอยู่ คนถูกงูเห่ากัด หมอบางคนก็รักษาหาย คนถูกผีสิง หมอผีที่เก่งบางคนก็ขับออกได้ แต่คนถูกความอยากทำลาย ใครๆ ก็เยียวยาไม่ได้ เพราะว่า คนที่ล่วงเลยกุศลธรรมแล้วจะเยียวยาได้อย่างไร” *[๕]
.
ความป่วยทางจิตใจที่เราทุกคนก็มีเชื้ออยู่ในตัว ทำให้เราวุ่นวายกับการพยายามเป็นผู้ไม่มีโรคอย่างผิดๆ เพราะความกลัวและความระแวงในสิ่งรอบตัว มิว่าจะเป็นเชื้อไวรัสแบคทีเรียทั้งหลาย เหตุการณ์ไม่พึงใจ ธรรมชาติ หรือแม้แต่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยคิดว่านั่นคือโรค นั่นคือปัญหา ทั้งที่โรคและปัญหาที่แท้จริงคือร่างกายที่เราลุ่มหลง อาการป่วยทางจิตและวิญญาณที่เรียกว่า กิเลส และการรับรู้โลกที่ขาดสติไม่ถูกต้องตามความจริง นี่คือโรคที่เราต้องดูแลรักษาและระแวดระวังยิ่งกว่าไวรัสตัวใด
.
การที่จะรักษาโรคใดๆ ได้ เราต้องรู้ว่าความป่วยนั้นอยู่ที่ใด เชื้อโรคที่ว่าอยู่ตรงไหนเพื่อจักรักษาอย่างถูกต้อง โรคทางจิตก็เช่นเดียวกัน เราจะเยียวยาตนเองจากความป่วยภายในที่ชื่อว่ากิเลสนี้ พึงทราบว่าโรคนี้เกิดขึ้นที่ใด จะว่าอยู่ที่ใจก็ไม่เชิง จะว่าอยู่ข้างในก็ไม่ใช่เพราะข้างในก็เป็นเพียงเลือดเนื้อหนอง คำตอบที่ถูกต้องคือเกิดขึ้นบนการรับรู้ และการปรุงแต่ง รวมเรียกว่า ขันธ์ห้า ดังคำตรัสด้านล่างนี้
.
“ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่งรูป (ภาพ รส กลิ่น เสียง สัมผัส และสิ่งที่เรารับรู้ด้วยอวิชชา) นี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นความตั้งอยู่แห่งโรค เป็นความปรากฏแห่งชราและมรณะ. ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่งเวทนา (อารมณ์) ฯลฯ แห่งสัญญา (ความจำได้และเคยชิน) ฯลฯ แห่งสังขาร (การคิดปรุงแต่ง) ฯลฯ แห่งวิญญาณ (การรู้) นี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นความตั้งอยู่แห่งโรค เป็นความปรากฏแห่งชราและมรณะ
.
“ความดับโดยไม่เหลือ ความสงบระงับความดับสูญแห่งรูป นี้เป็นความดับโดยไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นความสงบระงับแห่งโรค เป็นความดับสูญแห่งชราและมรณะ. ความดับโดยไม่เหลือ ความสงบระงับ ความดับสูญแห่งเวทนา ฯลฯ แห่งสัญญาแห่งสังขาร ฯลฯ แห่งวิญญาณ นี้เป็นความดับโดยไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นความสงบระงับแห่งโรค เป็นความดับสูญแห่งชราและมรณะ” *[๖]
.
ร่ายกายจิตใจที่คิดว่าเป็นตัวตนของเรา ล้วนประกอบด้วยขันธ์หรือองค์ประกอบทั้งห้า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ขันธ์ที่ถูกยึดถือไว้ในความมีตัวตนและเป็นของตนเรียกว่า “อุปาทานขันธ์” ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรคทางจิตและวิญญาณ
.
เราจะไปพ้นจากโรคอย่างแท้จริง เราต้องสงบและระงับการรับรู้ที่ขาดสติและการยึดถือร่างกายว่าเป็นของฉัน เป็นตัวตนฉัน เพราะการรับรู้อย่างลุ่มหลงและมืดบอดเป็นปัจจัยทำให้มีอารมณ์ การคิด และการปรุงแต่งไปในทางที่ก่อทุกข์ นำไปสู่ความเสื่อมโทรมและความตาย นี่คือความป่วยเพราะโรคทางจิตและวิญญาณ มิใช่เพราะไวรัสหรือเชื้อใดใดเลย การปรุงแต่งและยึดมั่นนั่นเองคือเชื้อโรคที่แท้จริง
.
นอกจากพึงเห็นกายเป็นดังโรคแล้ว อารมณ์กับความน่าพอใจก็เป็นโรคอย่างหนึ่ง เป็นความป่วยที่คนเราเฝ้าถวิลหาและไขว่คว้าอย่างไม่รู้ว่ามันนำมาสู่ความทุกข์มากเพียงใด ก็ด้วยเพราะขาดการมองเห็นอารมณ์ที่ถูกต้องตามความเป็นจริงเช่นเดียวกันกับร่างกาย
.
หากว่า “เห็นอารมณ์เป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นสุข โดยความเป็นตัวตน โดยความเป็นของไม่มีโรค… ย่อมทำตัณหาให้เจริญขึ้น… ย่อมทำอุปธิ (สภาวะกลั้วกิเลส) ให้เจริญขึ้น… ย่อมทำทุกข์ให้เจริญ … ย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ (โศกเศร้า) ปริเทวะ (อาลัยคร่ำครวญ) ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส (แค้นเคือง) เรากล่าวว่า เขาย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ได้เลย ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ
.
หากว่า “เห็นอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น โดยความเป็นของไม่
เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นสภาพมิใช่ตัวตน โดยความเป็นโรค
โดยความเป็นภัย… ย่อมละตัณหาได้… ย่อมละอุปธิได้… ย่อมละทุกข์ได้… ย่อมพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมพ้นจากทุกข์ได้” *[๗]
.
หากเราไม่ต้องการป่วยเป็นโรคทางจิตและวิญญาณ พึงมองร่างกายและอารมณ์อันน่าใคร่น่าพอใจทั้งหลาย ให้เห็นความจริงดังข้อคิดเหล่านี้ พึงระลึกและเฝ้าสังเกตให้เห็นว่าร่างกายและอารมณ์หรือความน่าพอใจทั้งหลาย เป็นโรค เป็นภัย ไม่เที่ยงแท้ เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนอันยึดครองได้อย่างไร เราจะมีสุขภาวะทางจิตและวิญญาณดี เป็นอิสระจากการยึดถือให้เป็นทุกข์ ร่างกายก็จะไม่ถูกโรคทางจิตทำให้ทรุดโทรม แม้ป่วยหรือเผชิญกับโรคทางกายก็จะไม่หวั่นไหวเศร้าโศก
.
กล่าวได้ว่าทุกคนแสวงหาสุขภาวะทางกายใจที่แข็งแรงและหนทางไปพ้นจากความทุกข์ความป่วยไ้ข้ทั้งหลาย เรียกว่า ความไม่มีโรคและนิพพาน หากเราปรารถนามีสุขภาวะอนามัยที่แข็งแรงอย่างยั่งยืนแท้จริง ต้องไปพ้นจากการเชื่อแบบคนทั่วไปว่า สุขภาพดีคือการมีร่างกายที่แข็งแรง ความไม่มีโรคคือการไม่มีเชื้อโรคหรือความเจ็บป่วย ความสุขสบายใจคือความพ้นจากทุกข์ ซึ่งยังเป็นความเข้าใจที่ยังไม่ถ่องแท้
.
“กายนี้แลเป็นดังโรคเป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ ท่านนั้น (นักบวชชื่อ มาคัณฑิยะ) กล่าวว่า… ท่านพระโคดม ความไม่มีโรคนั้นคืออันนี้ (ร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง) นิพพานนั้นคืออันนี้ (จิตใจที่สุขสบาย) ก็ท่าน (มาคัณฑิยะ) ไม่มีจักษุของพระอริยะ อันเป็นเครื่องรู้ความไม่มีโรค อันเป็นเครื่องเห็นนิพพาน (จึงหลงผิดไปยึดถือในร่างกายและความสุขใจ)” *[๘]

 

 

อ่านฉบับเต็มได้ที่
๔ ธรรมะรับมือสรรพโรค – คอลัมน์ ไกด์โลกจิต
https://www.dhammaliterary.org/ธรรมะรับมือสรรพโรค/