๕ วิธีเพิ่มความตระหนักรู้ในตนเองให้แก่เด็ก

 

 

วิธีเพิ่มความตระหนักรู้ในตนเองให้แก่เด็ก

 

ความตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Awareness) คือ การรู้เท่าทันตนและรับรู้กายใจตนเองอย่างมีสติ เป็นฐานสำคัญของการรู้จักตัวเอง (Self-Understanding) แล้วมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในช่วยพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ การมีความสุขและความพึงพอใจในตนเอง ส่งเสริมการแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม พัฒนาการเข้าสังคม และการรู้จักควบคุมพฤติกรรมของตนเอง

.

สิ่งนี้เป็นเสมือนรากฐานที่จะช่วยให้เด็กๆ เติบโตอย่างมีความมั่นคงทางจิตใจ ใช้ชีวิตอย่างเห็นคุณค่าของตนและของสิ่งรอบข้าง ไม่ทำสิ่งที่บั่นทอนแก่ตนเองและผู้อื่น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ครูและผู้ปกครองจะต้องส่งเสริมให้เด็กๆ ได้มีความตระหนักรู้ในตนตั้งแต่ช่วงเยาว์วัย เพื่อให้เขารักตัวเองอย่างเหมาะสมต่อไป ซึ่งจะมีผลทำให้รักผู้คนและสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างเคารพในคุณค่าอีกด้วย

.

บทความนี้จึงจะบอกเล่าวิธีการบางส่วนเพิ่มเติมความตระหนักรู้ในตนให้แก่เด็กๆ ในฐานะที่เราเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครองของพวกเขาก็ดี หรือเป็นคุณครูก็ดี หรือเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งก็ตาม

.

เป็นกระจกให้แก่พวกเขา :

.

ทักษะการให้ Feedback หรือการสะท้อนและให้คำแนะนำ เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้ปกครองและครู ซึ่งเป็นเสมือนตัวช่วยให้พวกเขาสังเกตตนเองอย่างชัดเจนคล้ายเป็นการสร้างกระจกให้แก่เด็กๆ ได้ทบทวนย้อนดูตนเองและสิ่งที่พวกเขาทำ ผ่านคำพูดจากตัวเราสะท้อนตัวเขาและเสนอแนะเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาเป็นและทำ

.

การสะท้อนเด็กๆ ที่ดีนั้นมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ ประการด้วยกัน ได้แก่ เฉพาะเจาะจงและแสดงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น , ชมเชยคุณสมบัติแต่ไม่มากเกินไป และ แยกแยะความรู้สึกออกจากพฤติกรรมและความคิด

.

การบอกกล่าวเด็กๆ ว่าตัวเขาทำสิ่งต่างๆ เป็นอย่างไร ควรหลีกเลี่ยงที่จะตัดสินหรือบอกกล่าวเชิงตำหนิ เช่นหนูเป็นเด็กดื้อมากเลย” , “ทำไมขี้เกียจอย่างนี้” , “คิดไม่เป็นเอาเสียเลย  เพราะจิตใจของเด็กจะไม่รู้จักสิ่งที่เขาเป็นเลย แต่นำเอาคำพูดตัดสินนั้นมาติดเป็นป้ายประทับตราจิตใจของเขา ทำให้เขายิ่งมีพฤติกรรมตอกย้ำด้านลบหรือสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง

.

การให้คำเสนอแนะที่ดีจึงต้องสื่อสารกับพวกเขาด้วยข้อเท็จจริงและเป็นรูปธรรมให้ได้มากที่สุด แทนที่จะบอกว่าเขาเป็นเด็กดื้อ หรือไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ให้พูดถึงพฤติกรรมและสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจงและชัดเจน เช่นบอกว่าลูกวิ่งเล่นไปทั่วบ้านเพลินจนเลยเวลากินข้าว ถ้ากินข้าวผิดเวลาท้องจะปวดเอานะหรือแม่บอกให้ลูกเลิกเล่นเกม ครั้งแล้ว แต่ลูกยังเล่นเกมไม่ปิดเลยนะ วันนี้มีการบ้านสามวิชา ถ้าดึกกว่านี้เวลาจะไม่พอ แม่ห่วงว่าลูกอาจจะเหนื่อยกว่าเดิมอีกนะ

.

ให้บอกกล่าวกับเขาด้วยเหตุด้วยผลของพฤติกรรมและสิ่งที่เราทำอย่างให้เด็กๆ เห็นภาพตามและเข้าใจได้ง่ายที่สุด การพูดเชิงตำหนิและตัดสินว่าเขาเป็นคนอย่างไร อาจเป็นการพูดที่ดูง่ายกว่า สั้นกว่า แต่พ่อแม่และครูจะต้องพูดแบบนี้อย่างไม่รู้สิ้นสุด เพราะคำพูดเหล่านี้ไม่ได้ทำให้พวกเขามีความตระหนักรู้ในตนเองได้เลย

.

การเป็นกระจกให้แก่พวกเขานั้น เราควรชมเชยพวกเขา แม้ในเวลาที่พวกเขาทำไม่ถูกใจเรา เพราะการชมเชยนั้นจะทำให้เด็กซึมซับการได้รับการยอมรับและการเห็นคุณค่าในตนเอง แล้วพวกเขาจะมีกำลังใจทำสิ่งที่เหมาะสม แต่การชมเชยนั้นไม่ควรเป็นคำชมเชยที่กลางๆ หรือกว้างเกินไป อาทิเช่นลูกเป็นคนเก่งมากเลยหรือลูกพยายามดีแล้วเพราะการชมเชยเหล่านี้นั้นไม่ได้เป็นกระจกที่ช่วยให้เขาเห็นว่าตนเองทำได้ดีอย่างไร หรือเก่งอย่างไร แต่ควรชื่นชมอย่างเฉพาะเจาะจงหรือให้ข้อมูลแก่พวกเขาเพิ่มเติมอย่างชัดเจนถึงพฤติกรรมและการกระทำที่ได้รับการชมเชยนั้น เช่นลูกโยนลูกบอลลงห่วงตั้ง ครั้งใน ครั้งหรือลูกสอบผ่าน วิชา ได้คะแนนเกิน คะแนนทั้งนั้นเลย

.

การชมเชยพวกเขาอย่างชัดเจนจะเป็นกระจกชั้นดีที่ทำให้พวกเขาได้ตระหนักรู้ในพฤติกรรมเชิงบวกของตน เราสามารถชื่นชมในคุณสมบัติของพวกเขาได้ แต่ไม่ควรมากจนเกินไป เพราะจะทำให้พวกเขายึดติดในคุณสมบัตินั้นๆ เพื่อทำให้ตนเองรู้สึกมีคุณค่า จนเมื่อวันใดเขาไม่สามารถเป็นแบบนั้นได้ก็จะรู้สึกแย่กับตนเอง หรือจะทำให้พวกเขาบีบคั้นตนเองมากเกินไป

.

อีกองค์ประกอบที่สำคัญในการสะท้อนพฤติกรรมของเด็กๆ คือการแยกแยะความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรมออกจากกันให้ชัดเจน คุณครูและพ่อแม่มักเผลอพลาดให้คำแนะนำแก่ลูกๆ โดยที่ยังมีอารมณ์ปะปนอยู่ บ้างก็เป็นอารมณ์ของตนเอง บ้างก็เป็นอารมณ์ของลูก ดังนั้นเขาจึงไม่สามารถมองที่ตนเองอย่างชัดเจนได้ หากเรายังไม่ช่วยเขาในการแยกแยะสิ่งเหล่านี้

.

อารมณ์ที่เราต้องระวังและแยกแยะในการเสนอแนะแก่ลูกๆ มากที่สุดคือ อารมณ์ของตัวเราเอง พ่อแม่สามารถแสดงความรู้สึกให้ลูกๆ รับฟังได้ แต่ต้องแยกให้เด็กสามารถสังเกตและเข้าใจได้อย่างชัดเจน อาทิเช่นแม่เห็นลูกวิ่งชนโต๊ะจนจานตกแตก แม่รู้สึกตกใจและโกรธมากหรือแม่เสียใจมากเลยที่ชุดที่แม่ซื้อให้ในวันเกิดขาดแบบนี้แทนที่เราจะตำหนิหรือตัดพ้อต่อลูกว่าแม่อุตส่าห์จัดโต๊ะไว้ทำไมทำแบบนี้หรือใช้ของให้มันดีๆ หน่อยสิ ขาดหมดเลยเห็นไหม

.

หากเราใช้การตัดพ้อ ตำหนิ หรือสะท้อนตัวเขาโดยมีอารมณ์เราปะปนอยู่มาก เขาก็ยังรับรู้อารมณ์ผ่านน้ำเสียงและท่าทีจากผู้ใหญ่ได้อยู่ดี แต่เขาจะไม่สามารถแยกแยะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและสิ่งที่เขาเป็นออกจากอารมณ์ความรู้สึกจากผู้ใหญ่ได้ เขาอาจซึมซับอารมณ์ของผู้ใหญ่มาเป็นตัวตนของตนเองหรืออาจตำหนิตนเองว่าทำอะไรก็ผิด

.

หากเราต้องการให้ลูกเข้าใจพฤติกรรมของตนเองและรู้เท่าทันด้านอารมณ์ เราต้องให้ข้อเสนอแนะอย่างช่วยแยกแยะพฤติกรรม ความคิด และความรู้สึกออกจากกัน ด้วยการบอกว่าเราสังเกตว่าเขารู้สึกอย่างไร ทำให้เขาคิดและมีพฤติกรรมอย่างไร เช่นแม่สังเกตว่าลูกกำลังโกรธมากๆ เลย จึงร้องโวยวายใส่น้องและขว้างสมุดเรียน

.

การพูดของเรานั้นกำลังเป็นกระจกสะท้อนให้จิตใจของเขาได้รับรู้และค่อยๆ สงบลงหรืออย่างเปิดใจว่ามีคนที่คอยสังเกต รับฟัง และพร้อมที่จะพูดคุยกับเขาอย่างเข้าใจ เราสามารถพูดคุยเรื่องอารมณ์กับลูกๆ ได้เสมอ บ่อยครั้งที่เราอาจได้คำตอบอย่างไม่คาดคิดจากเด็กหรือเขาอาจเป็นผู้รับฟังที่วิเศษให้แก่เราได้ หากเรารู้วิธีที่จะสื่อสารกับพวกเขาอย่างเหมาะสม

.

การเป็นกระจกให้แก่พวกเขาคือส่วนที่สำคัญมากในการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่เด็กๆ พวกเขายังมีพัฒนาการทางสมองและจิตใจยังไม่เต็มที่ จึงยากที่จะคุมสติและพิจารณาตนเองได้อย่างชัดเจน ผู้ปกครองและครูจึงควรทำหน้าที่สื่อสารให้เสมือนเป็นภาพยนตร์ที่ฉายให้พวกเขาเห็นและทบทวน แต่ผู้ใหญ่ก็ต้องฝึกแยกแยะอารมณ์ออกจากสถานการณ์และพฤติกรรมของเด็กเสียก่อน

.

.

รับฟังพวกเขาให้มากและเปิดพื้นที่สนทนาอย่างลึกซึ้ง :

.

ความตระหนักรู้ในตนเอง มีองค์ประกอบเป็นพื้นฐานสำคัญอยู่สองประการด้วยกันได้แก่ การมีสติ และการยอมรับ ผู้ใหญ่บางคนอาจไม่ค่อยเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เสนอแนะความคิดเห็นจากตัวเขาเองเท่าที่ควร และไม่ยอมรับในสิ่งที่เด็กรู้สึกนึกคิด เพราะเชื่อว่าเด็กยังคิดไม่ได้ ยังเล็กเกินไป ยังหาเหตุผลที่ไม่ถูกต้อง แต่หารู้ไม่ว่าการที่เปิดโอกาสให้เขาได้คิดเอง และได้บอกเล่าออกมา เป็นสิ่งที่ช่วยให้พวกเขาได้เห็นความคิดของตนเอง ได้เข้าใจตัวเอง ได้ฝึกเชื่อมโยงและทบทวนสิ่งต่างๆ และได้บ่มเพาะจินตนาการและพลังสร้างสรรค์ในตัวของพวกเขาก่อนที่มันจะหายไปเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่

.

การเปิดโอกาสให้เด็กได้คิด แสดงความเห็น แลกเปลี่ยนมุมมองกับพ่อแม่หรือคุณครู เป็นการสร้างพื้นที่แห่งความไว้วางใจให้แก่กัน ส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างเรากับพวกเขา หลังจากนี้พวกเขาจะกล้าคิด กล้าตอบ และกล้าปรึกษากับเราเมื่อเจอโจทย์ที่ยากมากขึ้น

.

การพูดออกมานั้นยังทำให้เด็กได้เรียบเรียงความคิดของตนเองและได้มองเห็นสิ่งที่ตนเองคิดอย่างชัดเจนแทนที่จะวนไปในหัวของพวกเขา เราสามารถเชื้อเชิญให้พวกเขาได้ค่อยๆ ทบทวนลงลึกในความรู้สึกผ่านประสบการณ์ต่างๆ ที่พวกเขาได้เผชิญ โดยควรหลีกเลี่ยงการพูดถึงแต่ความรู้สึกผิวเผินที่เกิดขึ้นภายนอก เช่นถามแค่ว่าวันนี้หนูสบายดีไหม

.

ความรู้สึกของใจเด็กๆ และผู้ใหญ่ เหมือนภูเขาน้ำแข็งที่มีหลายชั้น หากเราไม่ให้พื้นที่ในการพูดคุยรับฟังกันมากพอ เราก็จะเข้าใจกันแค่ความรู้สึกที่อยู่ผิวเผินชั้นบน แต่ไม่ได้ทำให้ต่างฝ่ายต่างตระหนักรู้ในความรู้สึกที่ซ่อนลึกไปกว่านั้น ซึ่งบ่อยครั้งปัญหาเริ่มสะสมจากความรู้สึกที่อยู่ก้นภูเขาน้ำแข็งนี้

.

เราสามารถทำให้เด็กตระหนักรู้ทางอารมณ์ของตนเอง ด้วยการพูดคุยกับเขาในเรื่องความรู้สึกจากเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ที่พวกเขาได้เจอในวันนี้ จนถึงเหตุการณ์ที่อาจทำให้เขาสะเทือนใจ ลองใช้คำถามปลายเปิด คือคำถามที่ลงท้ายหรือขึ้นต้นด้วยคำว่าอย่างไร” , “อะไร” , “เพราะอะไร” , “เมื่อไหร่หรือสิ่งใดถามเพื่อเปิดประตูหัวใจเขาทีละน้อย เพื่อพูดคุยกับเด็กๆ อย่างลงลึกในเรื่องราวต่างๆ

.

เราต้องให้คุณค่ากับทุกความรู้สึกและความคิดที่เขามี แม้มันฟังดูเหลวไหลสำหรับเราก็ตาม แต่สิ่งเหล่านั้นคือความจริงที่พวกเขารับรู้ และกำลังพยายามทำความเข้าใจ ผู้ใหญ่ควรให้คุณค่ากับสิ่งที่เขาพูดและไม่ตัดสินด้วยคำว่า ลูกไม่ได้คิดแบบนี้หรอก หรือ ลูกไม่ควรคิดแบบนี้ แต่ให้รับฟังเขาหรือถามว่า เพราะอะไรเขาจึงคิดแบบนี้หรือรู้สึกแบบนี้ หรือชวนเขาคิดทบทวนต่อว่า ถ้าเป็นแบบนี้แล้วจะเป็นอย่างไร

.

การฟังของเราจะเป็นกระจกที่จะค่อยๆ ช่วยให้พวกเขาเกิดความตระหนักรู้ในตนเองมากขึ้น แต่เราต้องฟังให้มากพอและชวนเขาคุยกับเราให้มากพอ จนเขาไว้วางใจที่จะเล่ามุมมองและความรู้สึกต่างๆ ให้พวกเรารับฟัง

.

เราสามารถพูดคุยเกี่ยวกับตัวละครที่อยู่ในเกม การ์ตูน หรือภาพยนตร์เพื่อให้พวกเขารู้จักตนเองมากขึ้นได้อีกด้วย ด้วยการถามเชื่อมโยงตัวเขาเองกับตัวละครเหล่านั้นว่า ลูกเหมือนตัวละครตัวไหน ลูกกับตัวละครตัวนี้มีอะไรเหมือนกัน ลูกอยากเป็นเหมือนตัวละครตัวไหน เพราะอะไร

.

สิ่งต่างๆ ที่พวกเขาสนใจ เราสามารถหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อสนทนาพูดคุยกัน ให้ได้เคียงข้างหัวใจของเขา และใช้สิ่งเหล่านั้นเป็นกระจกส่องสะท้อนตัวตนของเขาได้ การที่เด็กๆ ชอบตัวละครบางตัวอาจเพราะเขามีลักษณะบางอย่างที่ตรงกัน หรือเป็นเพราะความต้องการที่เขามีอยู่ลึกๆ ในใจ เด็กที่ถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนที่โรงเรียนอาจชอบตัวร้ายที่ทรงพลัง เพราะในใจของเขานั้นต้องการมีอำนาจและพลังมากพอที่จะปกป้องตนเองและได้รับการยอมรับ

.

พื้นที่ของการสนทนากันอย่างลึกซึ้ง จะเป็นพื้นที่ที่บำรุงความรักระหว่างสองฝ่าย หล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ต่อกัน และโอบอุ้มการเติบโตของเด็กๆ อย่างอบอุ่น ทำให้เขาเห็นคุณค่าในตนเองว่า เขามีดีพอที่จะมีใครสักคนใส่ใจเขาและรับฟังอย่างลึกซึ้ง มีดีมากพอที่จะได้รับการยอมรับความรู้สึกนึกคิดและสิ่งที่เขาเป็น และมีดีมากพอที่จะเชื่อใจและวางใจ เขาเองก็จะยอมรับตัวเองมากขึ้นอีกด้วย

.

.

เรียนรู้ร่วมกันจากข้อผิดพลาด :

.

จากการศึกษาวิจัยพบว่า ทัศนคติของพ่อแม่ที่มีต่อความล้มเหลว มีผลต่อทัศนคติของลูกต่อความฉลาดเฉลียว* มุมมองเชิงลบของพ่อแม่ที่มีต่อความผิดพลาดของลูกนั้นส่งเสริมทำให้เขามองตนเองว่าความเก่งและความสามารถในตัวเขาไม่สามารถพัฒนาเพิ่มเติมได้มากกว่านี้ มองว่าตนเองทำได้แค่นี้ หรือตอกย้ำความคิดเชิงลบต่อตนเองว่า ฉันไม่เอาไหน ฉันไม่เก่งพอ

.

ความผิดพลาดของเด็กนั้นเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ใหญ่สามารถทำให้เขารู้จักตนเองและสำรวจทัศนคติที่เขามีเพื่อช่วยเหลือให้เขามีมุมมองที่เหมาะสมต่อตนเองและความสำเร็จ เราไม่ควรด่วนตำหนิความผิดพลาดที่เกิดขึ้น รวมทั้งไม่ควรด่วนชื่นชมว่าเขาพยายามดีแล้วหรือทำเต็มที่แล้ว

.

เราสามารถช่วยให้เขาตระหนักรู้ในตนเองผ่านความผิดพลาดของชีวิต ผ่านการถามคำถามปลายเปิดและผ่านการสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ลองชวนเขาสำรวจความรู้สึกและความคาดหวังที่เขามีอยู่ ด้วยการชวนเขาบอกเล่าความรู้สึก ให้โอกาสได้แสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมาโดยไม่ต้องรีบบอกว่าไม่ต้องเสียใจการที่เขาได้ยอมรับความรู้สึกจริงๆ ที่เกิดขึ้นจะเพิ่มพูนความตระหนักรู้ตนทางด้านอารมณ์และช่วยให้เขารับมือจัดการกับมันได้ มากกว่ารีบบอกให้เขาปฏิเสธความรู้สึกของตนเองไป

.

เมื่อเราสังเกตว่าเขาพร้อมที่จะรับฟังคำเสนอแนะแล้ว ให้เรา Feedback เด็กด้วยการพูดเชิงเหตุและผลอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมว่าเพราะเหตุใดจึงทำให้เกิดผลอย่างนี้ขึ้น โดยไม่ระบุว่าเขาดีไม่ดีอย่างไร จุดนี้จะช่วยให้เด็กยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดโดยไม่นำมาบั่นทอนคุณค่าของตนเอง

.

เราไม่ควรด่วนชื่นชมเขาว่าพยายามดีแล้วหรือทำเต็มที่แล้วเพราะถ้อยคำเหล่านี้ไม่ได้สนับสนุนพลังบวกของจิตใจเด็กโดยตรง และไม่ได้ส่งเสริมความกระตือรือร้นหรือเจตจำนงที่จะพัฒนาตนเอง แต่ส่งเสริมความคิดของเด็กว่าเขาทำได้แค่นี้ จากการศึกษา** พบว่าการด่วนชื่นชมความพยายามในสถานการณ์ที่เด็กพบกับความล้มเหลว ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกดีขึ้นเลย แต่ทำให้รู้สึกด้อย

.

เมื่อพูดคุยกันถึงความรู้สึกและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ก้าวต่อไปที่เราควรทำร่วมกับเขาคือการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดนี้ ลองดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนทั้งต่อเด็กและผู้ใหญ่อย่างไร เราไม่ควรตอกย้ำว่าเขาเป็นคนผิดและเขาคือคนที่ต้องเรียนรู้ แต่แสดงให้เขาเห็นว่าการเรียนรู้จากความผิดพลาดจะต้องทำอย่างไร โดยมีเราเป็นแบบอย่าง

.

ชวนเขาทบทวนด้วยคำถาม และชี้ชวนให้เขาเห็นด้วยการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิด พูดคุยกันถึงความงดงามของสิ่งที่เขาได้ทำตลอดเวลาที่ผ่านมาของเรื่องนี้ ชี้ให้เขาเห็นว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็มีโอกาสและสิ่งที่ดีอย่างไร

.

เราเองในฐานะผู้ใหญ่ต้องมีมุมมองที่ถูกต้องด้วยว่า ความสำเร็จนั้นไม่ได้อยู่ที่ปลายทางและไม่ได้ผูกมัดในเรื่องเดียว แต่ระหว่างทางของการลงมือทำมีความสำเร็จอยู่แล้ว เรียกว่าความสำเร็จระหว่างทาง คือสิ่งที่เขาได้ฝึกฝนพัฒนาตนเอง สิ่งดีๆ ที่เขาได้ทำและพบเจอก่อนจะถึงปลายทาง  บางทีสิ่งที่ผู้ใหญ่คิดว่าเขาผิดพลาดหรือล้มเหลวก็อาจไม่ใช่เป้าหมายที่เขาต้องการจริงๆ ก็ได้ เขาอาจมีเรื่องอื่นหรือสิ่งอื่นที่เขาสนใจอยู่ในใจ เราเองก็ต้องเปิดกว้างต่อความสำเร็จของเขาด้วยเช่นกัน

.

การพูดคุยกันและเรียนรู้ด้วยกันจากความล้มเหลว สิ่งเหล่านี้จึงจะเป็นกำลังใจให้เขาก้าวต่อไป อย่างรู้เท่าทันตนเองและสิ่งที่เกิดขึ้น โดยไม่ปฏิเสธผลักไสความรู้สึกและยึดติดความสำเร็จบางด้านมากเกินไป

.

ในฐานะผู้ใหญ่เอง มิว่าเป็นครูหรือพ่อแม่ เราจะช่วยให้เด็กผ่านพ้นความล้มเหลวต่างๆ ได้ เมื่อเราเองได้ให้เวลาตนลองทบทวนความผิดพลาดของชีวิตที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน และระมัดระวังมิให้เราหวังให้เด็กๆ สำเร็จเพื่อตอบสนองความภูมิใจของตัวเราเอง

.

.

เข้าใจความต้องการของเด็ก ก่อนยัดเยียดความต้องการให้แก่เขา :

.

ความเป็นผู้ให้ที่มากเกินไปของผู้ใหญ่ ทำให้เด็กสับสนในตนเองได้ไม่แพ้การที่เขาไม่รู้จักตัวเอง หากความเป็นผู้ให้ของเรานั้นไม่ได้มาจากความเข้าใจในความต้องการของเด็กอย่างแท้จริง และไม่ได้เป็นไปเพื่อส่งเสริมให้เขารู้จักความต้องการของตน

.

เด็กๆ ในช่วงปฐมวัยของชีวิตนั้น เขาไม่สามารถสื่อสารความต้องการของตนเองอย่างชัดเจนให้เราเข้าใจได้ง่าย มีแค่ร้องงอแงในลักษณะที่แตกต่างเท่านั้น เราจึงต้องคาดเดาสิ่งที่เขาต้องการและเติมเต็มความต้องการพื้นฐานให้แก่เขาในสิ่งที่เรารู้ว่ามันดีแก่กายและใจ แต่เมื่อเขาเติบโตขึ้น จิตสำนึกแบ่งแยกตัวเองออกจากพ่อแม่และสิ่งรอบตัวได้มากขึ้นทำให้เป็นตัวของตัวเอง เริ่มเรียนรู้การสื่อสารและบอกกล่าวความต้องการของตนเอง รู้จักที่จะปฏิเสธ และตระหนักถึงพื้นที่ส่วนตัว เมื่อนั้นคือตอนที่พ่อแม่ต้องเรียนรู้ที่จะถอยออกมาก้าวหนึ่ง เพื่อให้ปีกน้อยๆ ของหัวใจนี้ได้ค่อยๆ ยกแล้วกางออก

.

หากพ่อแม่ยังคงดูแลเขาเหมือนเด็กทารกคนหนึ่ง ขาดการรับฟังความต้องการและชวนเขาคิดลำดับความสำคัญสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเขาเอง เขาจะไม่สามารถตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเองได้เลย และกลัวการปฏิเสธหรือไม่สามารถปฏิเสธจนมีปัญหาตามมาในอนาคต

.

การเข้าใจความต้องการของตนเองนั้นเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้การตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิตและเปิดหนทางไปสู่ความสุขและความพึงพอใจในตนเอง การไม่เข้าใจความต้องการของตัวเองนำมาสู่ปัญหาต่างๆ มากมายตั้งแต่ความขัดแย้งกับคนรอบข้าง การตัดสินใจที่ผิดพลาด การเสพติดสิ่งต่างๆ จนถึงการขาดความสุขในชีวิต ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาสำคัญในชีวิตผู้ใหญ่ด้วยกันทั้งสิ้น

.

เพราะเราเองก็ใช้เวลาชีวิตช่วงวัยเด็กไปกับความต้องการของสังคมและพ่อแม่ เราปลูกฝังให้พัฒนาทักษะการคิดและการแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศ ได้เรียนรู้วิชาการจนถึงดาวนอกโลก แต่เราแทบไม่เคยมีโอกาสได้ทบทวนความรู้สึกและความต้องการจริงๆ ของตนเองเลย จนกระทั่งต้องตัดสินใจเลือกเรียนต่อแล้วทั้งที่ยังแทบไม่มีโอกาสได้รู้จักตนเอง

.

ความห่วงของผู้ใหญ่บางครั้งมาจากความกลัวที่อยู่ในลึกในจิตใจตน ทำให้เป็นพ่อแม่แบบเฮลิคอปเตอร์ต้องคอยเจ้ากี้เจ้าการ ควบคุมดูแลสิ่งต่างๆ และเป็นผู้ให้จนก้าวก่ายพื้นที่ส่วนตัวและยัดเยียดความต้องการของตัวเราเองให้แก่พวกเขา

.

การเข้าใจความต้องการของตนเองในวัยเด็กต้องผ่านการฝึกอย่างน้อย เรื่องได้แก่ การจัดลำดับความสำคัญ และ การฝึกตัดสินใจ

.

เราสามารถช่วยให้เด็กๆ เพิ่มพูนความสามารถในการรู้เท่าทันตนเองได้ ด้วยการฝึกให้เขาจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ มิว่าจะเป็นของเล่น การบ้าน กิจกรรมต่างๆ ฝึกเขาเลือกว่าระหว่างสิ่งนี้กับสิ่งนี้อันใดสำคัญกว่ากันอย่างไร หรือถ้าสิ่งนี้เสียไปหรือหายไปจะเกิดผลอย่างไร เด็กๆ จะเริ่มรู้จักความต้องการของตนเองได้เมื่อเขาได้ฝึกคิดถึงความสำคัญของสิ่งต่างๆ จากมุมมองของพวกเขาเอง เราต้องปล่อยให้เขาได้คิดและแสดงความรู้สึกของเขาออกมา แม้มันอาจขัดแย้งกับมุมมองของผู้ใหญ่อยู่บ้าง แต่ลองรับฟังเขาและแลกเปลี่ยนอีกมุมมองให้เขาตระหนักอย่างใจเย็น

.

ปัญหาการขาดระเบียบวินัย ขาดความตั้งใจเพียรพยายาม และการขาดทักษะการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จในวัยรุ่นและแม้แต่ผู้ใหญ่เอง เริ่มมาจากการขาดทักษะการลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ที่เด็กควรได้ฝึกตั้งแต่อายุยังน้อย แทนที่ผู้ใหญ่จะต้องคอยเก็บทิ้งและสั่งให้ทำสิ่งต่างๆ

.

ของบางอย่างที่เป็นของลูกหรือลูกมีประสบการณ์กับสิ่งนั้นๆ ก่อนเราจะนำไปทิ้งควรมีการถามเขาก่อน และแม้เขาไม่ต้องการแล้ว ลองชวนเขานึกถึงประสบการณ์ที่เขามีต่อสิ่งๆ นี้ ช่วงเวลาดีๆ หรือมีความสุขที่เด็กอาจมีต่อสิ่งของนั้น ให้โอกาสหัวใจดวงน้อยได้ชื่นชม ขอบคุณ และอำลาสิ่งๆ หนึ่งที่เคยมีช่วงเวลากับเขา การจัดลำดับความสำคัญและการทบทวนประสบการณ์ต่อสิ่งของที่กำลังทิ้งไปเช่นนี้จะช่วยให้ลูกตระหนักเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่มี และรับมือกับการสูญเสียที่เขาจะได้เรียนรู้ทีละน้อยละน้อย

.

สิ่งสำคัญอีกประการที่จะช่วยให้เด็กรู้จักความต้องการของตนเองมากขึ้นคือการฝึกตัดสินใจ หากเด็กไม่เคยฝึกตัดสินใจเลยมิว่าในบ้านหรือในโรงเรียน ต่อไปเขาจะสามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับตัวเขาเองได้อย่างไร ผู้ใหญ่ต้องยินยอมให้เขาสุขทุกข์กับการตัดสินใจของเขาบ้าง โดยเป็นเสมือนโค้ชหรือเพื่อนเคียงข้าง ไม่ใช่กองเชียร์คอยชมเชยหรือฝ่ายค้านคอยตอกย้ำ แต่คอยรับรู้และรับฟังสิ่งที่เขาได้รับเมื่อตัดสินใจ และเป็นกระจกสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนว่ามีเหตุและผลอย่างไร

.

เราควรให้โอกาสเด็กๆ ฝึกตัดสินใจตั้งแต่เรื่องง่ายๆ ระหว่างการเลือกกินขนมอย่างนี้หรืออย่างนั้นดี การแต่งตัว การแบ่งเวลา จนถึงกิจกรรมที่อยากให้ทำร่วมกัน ในกระบวนการตัดสินใจนั้นเด็กก็จะได้ฝึกกลับมาทบทวนความรู้สึกและความต้องการของตนเอง เราสามารถใช้โอกาสนั้นสะท้อนหรือตั้งคำถามให้เขารู้เท่าทันตนเองมากขึ้นได้ว่า การที่เด็กตัดสินใจแบบนั้นเพราะเขารู้สึกอย่างไร หรือเพราะเขาชอบอะไร ให้ลองถามหรือพูดสิ่งที่สังเกตได้

.

อีกบทเรียนสำคัญที่ผู้ใหญ่จะต้องเรียนรู้จากเด็ก คือการรับมือการปฏิเสธที่เกิดจากการให้ของเรา มิว่าจะเป็นการให้สิ่งของ ให้คำแนะนำ หรือให้ทางเลือกก็ตาม หากเรารู้สึกแย่ที่ลูกปฏิเสธการให้ของเรา หรือรู้สึกน้อยใจแล้ว นั่นแสดงว่าในใจเราเองก็มีความต้องการที่ควรได้รับการเข้าใจและการดูแลจากตัวเราเองอยู่เช่นกัน ระวังอย่าใช้เด็กๆ เป็นเครื่องมือในการสนองตอบคุณค่าและความต้องการของตัวเราเอง ความต้องการของจิตใจเราเป็นหน้าที่ที่เราต้องดูแลตนเอง มิใช่เด็กๆ จะต้องรับผิดชอบ

.

.

ฝึกสมาธิร่วมกันกับเด็กๆ และเป็นแบบอย่างของการมีสติ :

.

เด็กๆ ดูเหมือนสมาธิสั้นในสายตาผู้ใหญ่ก็จริง แต่บ่อยครั้งที่เขาสามารถจดจ่อในการกระทำหรือความสนใจบางอย่างมากกว่าผู้ใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อ ตอนนั้นที่ใจของเด็กกำลังมีสมาธิ ซึ่งไม่ควรถูกขัดขวางด้วยคำตำหนิหรือการชักชวนให้เปลี่ยนความสนใจในทันที เราควรหยุดตนเองและสังเกตพวกเขา หากสิ่งที่เด็กกำลังสนใจและทดลองไม่ได้ก่อพิษภัยแต่อย่างใดแล้ว ลองให้ใจเราอยู่ตรงนั้นด้วยกัน ฝึกดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะไปกับพวกเขา

.

การถูกขัดขวางความสนใจและการจดจ่อที่พวกเขามี สามารถทำให้เด็กเป็นคนเสียความสนใจง่ายในเวลาต่อมา ถ้าผู้ใหญ่ไม่ได้เคารพพื้นที่และเวลาของพวกเขาก็มีแนวโน้มว่าจะคอยพยายามแทรกแซงความสนใจต่างๆ ของเด็กอยู่ตลอด ซึ่งบางหนเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใหญ่เองมิใช่ของเด็ก

.

กระนั้นก็มิใช่ให้เราปล่อยปละให้เด็กๆ ทำสิ่งต่างๆ อยู่ลำพัง โดยเฉพาะปัจจุบันพ่อแม่บางส่วนเลือกให้ลูกอยู่เงียบๆ กับหน้าจอโทรศัพท์ แท็บเล็ต หรือโทรทัศน์ เหล่านี้มิได้ส่งเสริมให้ลูกมีความตระหนักรู้ในตนเลย แต่เราควรที่จะอยู่ตรงนั้นกับสิ่งที่เด็กกำลังทำและให้ความสนใจ แล้วคอยเป็นกระจกสะท้อนภาพผ่านการพูดชี้ชวนและการรับฟัง

.

การฝึกสมาธินั้นมิใช่เพียงการพาลูกทำสมาธิด้วยการหลับตาและการดูลมหายใจแต่เพียงอย่างเดียว เราสามารถหากิจกรรมสันทนาการหรือเกมต่างๆ ที่ต้องใช้สติและสมาธิ เช่นการโยนลูกบอลให้กันพร้อมกับนับเลข หรือกิจกรรมเข้าจังหวะต่างๆ เป็นเครื่องมือช่วยส่งเสริมความตระหนักรู้ตนเองให้แก่พวกเขาได้

.

เขาจะเรียนรู้ถึงสมาธิอย่างดีเมื่อเราเป็นแบบอย่างของสติทั้งในการใช้ชีวิตประจำวัน และการมีส่วนร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน เราสามารถสื่อสารบอกกับเขาว่าเมื่อเรามีสติและสมาธิส่งผลให้การกระทำของเรานั้นเป็นอย่างไร และชี้ชวนให้เห็นว่าเมื่อเราพลาดเพราะขาดสติและสมาธินั้นให้ผลอย่างไร

.

เด็กๆ เองจะเรียนรู้การควบคุมอารมณ์และการแก้ไขสถานการณ์ที่ตึงเครียดต่างๆ ผ่านท่าทีและการกระทำของเรา หากเราต้องการให้เขามีวุฒิภาวะทางอารมณ์เพียงใด เราต้องเป็นแบบอย่างของสติและสมาธิให้เขาดูมากเท่านั้น ช่วงที่เขาทำในสิ่งที่ชวนให้เราฉุนเฉียว เหนื่อยหน่าย หรือตึงเครียด ช่วงนั้นเขาจะเห็นแบบอย่างของการแก้ไขปัญหาที่ดี มีการให้อภัย และพร้อมรับฟังคนอื่น ก็ด้วยการรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้นอย่างมีสติจากเรา

.

ผู้ใหญ่ในฐานะผู้ปกครอง พ่อแม่ หรือคุณครู จึงควรฝึกฝนสมาธิและเจริญสติอยู่อย่างสม่ำเสมอ พึงแลเห็นว่าสถานการณ์ที่ท้าทายระหว่างเรากับเด็ก คือโอกาสอันดีในการฝึกใจเรา มิใช่ปัญหาที่ต้องเอาชนะฝ่ายหนึ่ง พึงแลเห็นว่าเด็กๆ นั้นกำลังสอนให้เรารู้จักตนเองอยู่เช่นกัน เพราะท่าทีของเด็กที่รบกวนใจเรา หรือทำให้เราชื่นชม ต่างก็สะท้อนบางสิ่งที่มีอยู่ในความเป็นตัวเราทั้งสิ้น ดังคำกล่าวที่ว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น

.

สิ่งที่เด็กๆ ทำให้เราไม่พอใจเองก็ดี ตัวเราก็ทำหรือเป็นอยู่บ้างมากน้อยอย่างไร หรือท่าทีของเด็กน้อยเหล่านั้นมีสิ่งที่ดีอะไรที่ควรนำมาเป็นแบบอย่าง บางเรื่องตอนเราเป็นเด็กอาจเคยทำมากกว่านั้นก็ได้ ตอนนั้นผู้ใหญ่อบรมหรือรับมือกับสิ่งที่เราตอนเป็นเด็กกระทำอย่างไร ส่งผลกับตัวเราเองในทางที่ดีและไม่ดีอย่างไร

.

พ่อแม่หรือคุณครูที่จะดูแลลูกอย่างเมตตาและเข้าอกเข้าใจ ต้องเป็นผู้ใหญ่ที่มีความตระหนักรู้ในตนและเข้าใจตนเอง ต้องสังเกตอารมณ์ของตนเองได้ ต้องเรียนรู้จากสิ่งต่างๆ เพื่อรู้จักตนเองอยู่เสมอ และรับรู้ความต้องการที่มีในจิตใจของตนเองแล้วแยกมันระหว่างความต้องการส่วนตัวกับความต้องการของเด็ก

.

บ่อยครั้งที่ท่าทีการเลี้ยงดูที่ผิดพลาดมาจากตัวตนของผู้ใหญ่ที่ไม่รู้เท่าทัน และมาจากความต้องการที่ขาดไปในจิตใจของผู้ใหญ่ที่หวังให้เด็กเป็นเครื่องมือตอบสนอง พ่อแม่ที่มีปมทางจิตใจอย่างไม่รู้ตัวก็จะมีท่าทีที่แอบคาดหวังให้ลูกช่วยทดแทนบางสิ่งที่ขาดหายไปในตัวเอง ดังกรณีพ่อแม่ที่ยึดติดในความสมบูรณ์แบบก็จะเผลอส่งต่อความกดดันแก่ลูกๆ จนส่งผลเสียต่อชีวิต สามารถอ่านเรื่องนี้ได้ในบทความชื่ออย่าควบคุมลูกมากเกินไป : กรณีศึกษา แคเรน คาร์เพนเทอร์ และงานวิจัยอื่น” *** ในคอลัมน์ไกด์โลกจิตโดยผู้เขียนเดียวกันกับบทความนี้

.

เราที่มีหน้าที่ดูแลพวกเขา ไม่ได้กำลังใช้ชีวิตผ่านพวกเขา เราต้องใช้ชีวิตของเราเอง และปล่อยให้เด็กๆ ได้ใช้ชีวิตของพวกเขา เรามีหัวใจของตนเองที่ต้องดูแล พวกเขามีหัวใจของตนที่เขาต้องรู้จัก

.

การสร้างนิสัยให้ลูกมีสติและสมาธิในชีวิตประจำวัน ต้องเริ่มจากนิสัยของผู้ปกครองและคุณครูให้ดูเป็นตัวอย่าง

.

อีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญคือสร้างพิธีกรรมประจำบ้านหรือห้องเรียน เพื่อให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวหรือชั้นเรียนได้ฝึกสมาธิร่วมกันผ่านกิจกรรมบางอย่างเป็นประจำ ก็เป็นอุบายสำคัญในการฝึกสติของเด็ก เช่น การกำหนดทุกวันหนึ่งในแต่ละสัปดาห์ทุกคนรวมทั้งสมาชิกที่เป็นผู้ใหญ่ทุกตำแหน่งหน้าที่ ต้องมาสวดมนต์และทำสมาธิสั้นๆ ร่วมกัน แม้ว่าเด็กๆ อาจทำอย่างขลุกขลักบ้างก็มิใช่ปัญหา ตัวเราเองในฐานะผู้ใหญ่ใจต้องสงบก่อนและเปิดกว้างให้กับธรรมชาติของลูกก่อน

.

กิจกรรมแบบนี้มิได้ทำให้เด็กมีสติและสมาธิมากขึ้นภายในครั้งสองครั้ง แต่จะเป็นหลักหลอมรวมใจของบ้านมาอยู่ในความสงบและการมีที่พึ่งแห่งสติร่วมกัน ที่สำคัญคือสมาชิกทุกระดับของบ้านหรือชั้นเรียนต้องมาทำด้วยกัน และไม่ต้องตำหนิเด็กๆ ที่อาจให้ความร่วมมือได้ไม่เต็มที่บ้าง ทำใจเราให้เปิดกว้างและพร้อมให้อภัยเขาไว้ แต่ต้องกำชับตัวเราเองให้มีวินัยและรู้วางกิจวัตรต่างๆ ทำตามพิธีกรรมนั้นก่อน

.

การที่ผู้ใหญ่รู้จักวางภาระ การงาน และการหมกมุ่นอยู่กับสิ่งต่างๆ เพื่อมาฝึกสมาธิให้ลูกเห็น หรือมาเล่นกับพวกเขา เท่ากับผู้ใหญ่ก็ได้ส่งเสริมความตระหนักรู้ในตนเองของพวกเขาให้มากขึ้นแล้ว เด็กๆ จะมีแรงใจที่จะค้นหาและรู้จักตนเอง ต่อเมื่อเขารู้สึกว่าตนเองมีคุณค่ามากพอที่คนใกล้ตัวเขาจะให้ความใส่ใจ พร้อมที่จะปล่อยวางภาระต่างๆ มาอยู่กับปัจจุบันร่วมกันกับพวกเขา

.

เราต้องเชื่อว่าเรามีเวลาว่างมากพอที่จะฝึกสติและดำรงอยู่กับพวกเขาได้โดยไม่เสียสิ่งสำคัญของชีวิตไป เพราะเราอาจไม่มีเวลาและโอกาสแบบนี้แล้วเมื่อพวกเขาโตขึ้น ในฐานะผู้ใหญ่ที่ต้องอยู่กับภาระต่างๆ มากมาย ต้องสังเกตใจตนเองว่าได้เผลอมองพวกเขาเป็นภาระหรือไม่ ใจเรากล่าวโทษพวกเขาอยู่หรือเปล่า ทั้งที่ควรกล่าวโทษตนเอง

.

ชีวิตที่ต้องวิ่งวุ่นกับกระแสต่างๆ ภายในจิตใจและสังคม มักทำให้หลงลืมสิ่งดีเล็กๆ น้อยๆ ในระหว่างวันและในชีวิตประจำวัน มันอาจทำให้เราไม่เห็นว่าขณะที่กำลังเล่นกับเด็กๆ หรือยุ่งวุ่นวายกับการจัดการสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับพวกเขา ช่วงเวลาเหล่านี้มีคุณค่ามากเพียงใด

.

เรากำลังมองไปที่เป้าหมายหรือสิ่งที่อยากให้เป็น หรือควรมองไปยังสิ่งดีงามที่มีอยู่ในตอนนี้ พาใจมีสติกลับมาอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับเด็กๆ ของเราในตอนนี้ มิใช่สิ่งที่อยากให้เขาเป็นหรือสิ่งที่เราอยากได้

.

คุณภาพสติของเด็กๆ ขึ้นอยู่กับการมีสติและการรู้จักตนเองของเรา

.

.

อนุรักษ์ ครูโอเล่

คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ ๔๔

.

.

> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :

www.dhammaliterary.org/คอลัมน์ไกด์โลกจิต/

.

> > > สามารถสนับสนุนกิจกรรมและบทความ ผ่านการเข้าร่วมคอร์สของเรา

www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/

.

.

* http://pss.sagepub.com/content/early/2016/04/23/0956797616639727.abstract

** https://www.psychologytoday.com/intl/blog/the-science-success/201101/the-art-and-science-giving-your-kids-feedback

***https://www.dhammaliterary.org/อย่าบังคับลูกเกินไป/