8 หนทางอันประเสริฐที่มนุษย์ควรก้าวตาม “อริยมรรค” (ตอนสี่)

 

8 หนทางอันประเสริฐที่มนุษย์ควรก้าวตาม
“อริยมรรค” (ตอน : วิธีคิดแบบพุทธะ ภาค 3)

 

บทความนี้เป็นภาคต่อของ “วิธีคิดแบบพุทธะ ภาค 2” ผู้สนใจอ่านให้ครบถ้วนเนื้อหาที่ปูพื้นไว้สามารถย้อนอ่านได้ทางลิงก์

https://www.dhammaliterary.org/สัมมาสังกัปปะ2/

 

อ่านบทความตอนนี้ได้ในโพสต์ตามข้อความด้านล่าง
หรือเปิดอ่านในเว็บไซต์

https://www.dhammaliterary.org/สัมมาสังกัปปะ3/

 

#วิธีคิดแบบพุทธะ
#ดำริเพื่ออิสระและถูกต้อง #สัมมาสังกัปปะ #ภาคสาม

 

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ในเรือนของท่านสุทัตตะเศรษฐี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี หมายถึง เศรษฐีผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนยาก หรือที่พึ่งแก่ผู้ยากจน

พระพุทธเจ้าทรงเรียกภิกษุผู้ติดตามและอยู่ในละแวกนั้น เพื่อทรงสอนผ่านเรื่องราวการฝึกตนของพระองค์ก่อนตรัสรู้ ความว่า

เมื่อยังทรงเป็นเพียงพระโพธิสัตว์ หมายถึง ผู้ที่มีความสามารถในการตรัสรู้ และกำลังบำเพ็ญเพียรฝึกตนเพื่อตรัสรู้ ขณะนั้นท่านทรงมีความคิดว่า เราควรแยกความวิตก หรือความคิด ให้เป็นสองส่วน เพื่อจักได้พิจารณาอย่างชัดเจน

ความคิดที่ทรงแยกออกเป็นสองส่วน ประกอบด้วย อกุศลวิตก คือความคิดที่เป็นโทษ ได้แก่ กามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก

อีกส่วนคือ กุศลวิตก คือความคิดที่เป็นคุณ ได้แก่ เนกขัมมวิตก อัพยาบาทวิตก และอวิหิงสาวิตก

ท่านทรงแลเห็นว่า อกุศวิตก เกิดขึ้นมาตามธรรมดา ขณะที่ทรงกำลังพากเพียรฝึกตนอยู่ มีความคิดในทางกามบ้าง พยาบาทบ้าง และวิหิงสาบ้าง ปรากฏขึ้นมาตามลักษณะที่ได้แยกแยะไว้ด้วยความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งแล้ว

เมื่อความคิดเหล่านี้เกิดขึ้น ท่านก็มีสติกำหนดรู้การเกิดขึ้นของมัน จนเห็นชัดว่า กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ล้วนทำให้เกิดความเบียดเบียน แก่ตนเอง แก่ผู้อื่น หรือไม่ก็ทั้งสองฝ่าย ความคิดอันเป็นโทษเหล่านี้ยังบั่นทอนปัญญา คือยิ่งคิดยิ่งเขลาต่อธรรมหรือความเป็นจริง คิดแล้วทำให้เกิดทุกข์ และไม่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น หรือนิพพาน

เมื่อทรงพิจารณาโทษของอกุศลวิตก ความคิดลบอันเป็นโทษเหล่านั้นก็จางคลายเอง ทำให้ทรงมีความเพียรลดละกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกให้ดับสูญ แล้วทรงกำกับใจมิปล่อยให้เลื่อนลอยไปยังความคิดเหล่านั้นอีก

พระพุทธเจ้าตรัสสอนต่อว่า ยิ่งเราปล่อยใจระลึกนึกถึงกาม พยาบาท และวิหิงสา เราก็ยิ่งมีใจน้อมไปในทางอกุศลวิตกมากขึ้น กุศลวิตกซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกันก็จะเป็นอันเลือนหายไป

คนเลี้ยงโคทั้งหลายคอยระวังโคของตนไม่ให้ไปเหยียบย่ำข้าวกล้าที่ชาวบ้านเพาะปลูกไว้ ต้องคอยตี คอยต้อน ให้ออกไปไกลจากที่เขาปลูกเหล่านั้น เหตุผลก็เพราะว่า คนเลี้ยงโคตระหนักถึงโทษภัย เช่นการถูกจองจำ ติเตียน ค่าปรับ และการทำร้าย หากโคของตนทำให้ข้าวกล้าของชาวบ้านเสียหาย

พระองค์ก็ทรงเป็นเช่นคนเลี้ยงโค เมื่อได้เห็นโทษภัยของอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว และเห็นคุณประโยชน์จากการเลี่ยงออกมาจากกาม อันเป็นฝ่ายกุศลธรรม จึงมีความไม่ประมาท มีความพากเพียรในการฝึกตน ความคิดที่เป็นกุศลเช่น เนกขัมมวิตก อัพยาบาทวิตก และ อวิหิงสาวิตก ก็ย่อมเกิดขึ้น

เมื่อความคิดบวกอันเป็นคุณทั้งสามเกิดแล้ว ท่านก็ทรงกำหนดรู้ความคิดเหล่านั้นด้วยสติ จนแลเห็นว่ามันไม่ทำให้เกิดความเบียดเบียนแก่ใครเลย มิว่าความคิดปราศจากกาม ความคิดปราศจากความโกรธ และความคิดปราศจากการมุ่งร้ายเอาชนะ ทั้งสามต่างทำให้ปัญญางอกงาม มิทำให้เกิดทุกข์ และมุ่งไปสู่การหลุดพ้นหรือนิพพานด้วยกันทั้งสิ้น

พระพุทธเจ้าได้ทรงบรรยายกับภิกษุต่อว่า แม้ทรงพิจารณากุศลวิตกอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน ก็ไม่เห็นพิษภัยจากความคิดเหล่านี้เลย

เมื่อพระองค์ทรงตรึกตรองอย่างนั้นอยู่นาน จนร่างกายเหนื่อยล้า จิตก็เริ่มฟุ้งซ่านตามกำลังกายที่ถดถอย เมื่อนั้นสมาธิก็จางคลายจากจิตใจ ท่านจึงทรงดำรงจิตไว้อยู่ภายใน หมายถึง พาสติกลับมาอยู่กับตนเอง ระงับจากการคิดตรึกตรองแล้วกระทำกายใจให้สงบลง ประคับประคองจนเกิดสมาธิขึ้นมาอีกครั้ง เพราะทรงตั้งใจไว้แล้วว่า จิตของเรานั้นอย่างได้ฟุ้งซ่านเลย *(A)

ข้อความที่พระพุทธเจ้านี้ทรงตรัสสอนข้างต้นนี้ มีข้อคิดหลายประการ สำหรับผู้สนใจการฝึกเป็นนายเหนือความคิดตน และมุ่งพัฒนาตัวเองให้มีวิธีคิดแบบพุทธะ เป็นผู้ตื่นรู้เหนือทุกข์ทั้งหลาย

อย่างแรก ต้องแยกแยะความคิดให้ชัดเจนก่อน พึงรู้ว่าการคิดบวกที่แท้จริงเป็นอย่างไร การคิดลบที่แท้จริงเป็นอย่างไร ต้องมีความข้าใจและตัดสินใจแจ่มแจ้ง

อย่างที่สอง เมื่อความคิดเกิดขึ้น พึงเห็นว่ามันได้เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย เป็นธรรมดา แล้วมีสติกำหนดรู้กับมัน โดยไม่ไปยึดถือว่า นี่คือความคิดของฉัน ให้ทำอย่างพระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติให้สังเกต คือพึงระลึกรู้ว่ามันสักแต่ว่าเป็น กุศลวิตก หรือ อกุศลวิตก ที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย

อย่างที่สาม ความคิดลบทั้งหลายตามหลักพระพุทธศาสนา คือสิ่งที่คิดแล้วทำให้เกิดความเบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น หรือทั้งสองฝ่าย ไม่ส่งเสริมปัญญาที่ทำให้เข้าใจความเป็นจริง ทำให้เกิดความทุกข์ และไม่มุ่งไปสู่การหลุดพ้นหรือนิพพาน แม้เป็นการคิดที่มีสาระน่าสนใจเพียงใด ให้ความรู้สึกดี หรือสวยงามมากแค่ไหน แต่ถ้าคิดแล้วบั่นทอนฝ่ายใด ทำให้หลงผิดคิดเห็นไม่ตรงตามความจริง เกิดความทุกข์บีบคั้น หรือยิ่งส่งเสริมโลภ โกรธ หลงให้มัดใจมากขึ้น ความคิดนั้นก็คือความคิดลบ หรือ อกุศลวิตก

อย่างที่สี่ การจะละจากความคิดใดๆ ก็ตาม เราต้องตระหนักถึงโทษภัยของมัน แล้วเห็นคุณค่าของความคิดขั้วตรงข้ามของมัน ความคิดที่เกิดขึ้นเพราะการหลงในกาม ความโกรธ และความมุ่งร้ายเอาชนะ มีโทษอย่างไร ความคิดที่ละเว้นจากกาม ความโกรธ และความมุ่งร้ายเอาชนะ มีคุณอย่างไร หากใจเราได้ทราบดีย่อมกำหนดทิศทางใจได้แจ่มชัด

อย่างที่ห้า เมื่อใส่ใจความคิดใดมาก ความคิดแบบนั้นก็จะมีกำลังมากขึ้น และบั่นทอนความคิดในขั้วตรงข้ามให้จางหายไป เช่น เมื่อปล่อยใจให้คิดด้วยความโกรธมาก ความคิดที่มีเมตตาก็ย่อมลับเลือน การจะละจากการคิดลบก็ต้องฝึกตนด้วยความพากเพียรเพื่อใส่ใจในความคิดบวก หรือ กุศลวิตก ให้มากยิ่งขึ้น

อย่างที่หก มิว่าคิดตรึกตรองในทางที่ดีเพียงใดก็ตาม หากคิดมากเกินไปกายก็อ่อนล้า กำลังสมาธิก็ลดเลือนลง จากการคิดที่แน่วแน่ชัดเจนก็กลายเป็นการคิดที่ฟุ้งกระจายไม่ชัดเจน เรียกว่า ฟุ้งซ่าน ดังนั้นแล้ว ตามคำตรัสช่วงท้าย แง่หนึ่งก็เป็นการเตือนให้เราใช้ความคิดแต่พอดี คอยสังเกตระมัดระวังว่าการคิดนั้น เป็นการคิดที่มีสมาธิดีแล้ว หรือเป็นความฟุ้งซ่าน หากฟุ้งซ่านคิดได้ไม่ชัดเจนก็พึงสำรวมใจกลับมาภายใน กระทำกายใจให้สงบ ประคับประคองจิตให้กลับมามีสมาธิ ความฟุ้งซ่านจึงจะหยุดลง

อย่างที่เจ็ด ท่านทรงเน้นย้ำว่า เราจะต้องมีความเพียรและไม่ประมาท เพื่อจะฝึกตนให้เป็นนายเหนือการคิดใดๆ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การไม่หลงเชื่อความคิดใดโดยง่าย แม้จะเป็นการคิดที่เห็นแวบแรกว่าดูดีไม่มีภัย ท่านก็ยังทรงปฏิบัติให้เราเห็นเป็นตัวอย่างว่า เราควรพิจารณาทุกการคิดในหัวของเราให้ดี คำนึงถึงโทษ ผลกระทบต่อตนเองและคนอื่น พิจารณาไปยังผลภายหน้า รอบคอบไม่ประมาทต่อความคิด จึงเป็นนายแก่ความคิดได้

โดยสรุปแล้วนั้น ความคิดที่ชาวพุทธ หรือผู้เดินตามรอยพระพุทธเจ้าพึงละวาง ได้แก่

ความคิดที่เกี่ยวเนื่องด้วยกาม และ ส่งเสริมกาม
ความคิดที่เกี่ยวเนื่องด้วยพยาบาท และ ส่งเสริมพยาบาท
ความคิดที่เกี่ยวเนื่องหรือส่งเสริม ความมุ่งร้าย การเอาชนะ และความรุนแรง

เหตุใดการคิดเนื่องด้วยกามหรือการคิดถึงกาม จึงเป็นการคิดลบในทางพระพุทธศาสนา ? พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า “กามให้ความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่ง” ผู้พบกับกุศลธรรมคือสภาพอันเป็นคุณที่มีความสงบยิ่งแล้ว ย่อมไม่ปรารนากลับมาเวียนว่ายกับกามอีก

กาม หมายถึง ความหลงเพลิดเพลินในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ สิ่งใดเหล่านี้ที่น่ารักใคร่ปรารถนาก็เรียกว่า กามคุณ

ทรงอธิบายเพิ่มเติมว่า เพราะกามเป็นต้นเหตุ จึงเกิดปัญหาขึ้นแก่ชีวิตและสังคม อาทิ *(B)

ทำให้เป็นทุกข์ เพราะต้องขวนขวายให้ได้มาซึ่งอาหารทางอายตนะทั้งหลาย ทำให้การใช้ชีวิตต้องดิ้นรน เช่นถ้าเราอยากได้รถคันใหม่ที่สวยงาม เพราะเอื้อความสบายและความดูดี เราก็ต้องทำงานหาเงินเพื่อผ่อนหนี้ในแต่ละเดือน ทำให้ชีวิตมีรายจ่ายมากขึ้น
ทำให้เป็นทุกข์ เพราะความผิดหวังที่ไม่ได้มาซึ่งสิ่งที่อยากได้ใคร่มี เช่นไม่มีฐานะเพียงพอที่จะผ่อนรถคันใหม่ได้ ใจก็เป็นทุกข์ หรือได้มาแล้ว รถคันนั้นไม่ได้ดีดังหวัง นั่นก็เป็นทุกข์
ทำให้เป็นทุกข์ เพราะต้องคอยคุ้มครองดูแลรักษา เหมือนหากมีคันใหม่มาก็ต้องระแวงระแวดระวังตลอดว่าใครจะขโมยไปหรือมาทำความเสียหายหรือไม่ พลอยให้ใจไม่สงบ
ทำให้เป็นทุกข์ เพราะความเสียไปซึ่งสิ่งที่ไขว่คว้าหรือหลงใหล พาให้โศกเศร้าเสียใจ ลำบาก เครียด โกรธแค้น ยุ่งยากใจ
ทำให้เป็นทุกข์ เพราะความสัมพันธ์แตกแยก ด้วยอำนาจของกามที่พาให้ไขว่คว้า หวงแหน หรือคร่ำครวญเมื่อเสียไปซึ่งสิ่งที่อยากได้ใคร่ปรารถนา หรือเพราะความลุ่มหลงมัวเมา จากเดิมที่เคยมีความสัมพันธ์อันดีก็สิ้นสลายสายใยรักได้
ทำให้เป็นทุกข์ เพราะวิวาทกันหรือสงครามเกิดขึ้นในหมู่ประชาชนและระหว่างประเทศ เป็นผลให้เกิดการทำร้ายเบียดเบียนเข่นฆ่าชีวิตกัน
ทำให้เป็นทุกข์ เพราะสภาพสังคมเสื่อมทราม ไร้ขื่อแป ปราศจากกฎระเบียบ และความสงบสุข ถึงความโกลาหลวุ่นวาย ไม่อาจใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย เพราะด้วยกามเป็นต้นเค้าด้วยเช่นกัน
ทำให้เป็นทุกข์ เพราะผู้คนทั้งหลายจะประพฤติทางกาย วาจา และใจ ในทางทุจริต ไม่ดีงาม เป็นไปด้วยกิเลสตัณหา เป็นผลสุดท้ายทำให้ตกสู่อบายภูมิ ถึงทุคติ วินิบาต นรก

เมื่อเราหลีกพ้นจากกามเสียได้แล้ว เราก็จะพ้นไปจากปัญหาทั้งแปดประการนี้ ดังนั้นการคิดที่จะช่วยให้ปราศจากทุกข์ จึงเป็นการคิดที่พ้นเสียจากกาม คิดในทางเว้นจากกาม ไม่คิดเอื้อกาม การคิดในลักษณะเช่นนั้นจึงเรียกว่าเป็น เนกขัมมะ

พระพุทธเจ้าทรงถามพระสารีบุตรว่า กำลังของพระอรหันต์ (ภิกษุขีณาสพ – ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว) มีเท่าใดบ้าง มีอย่างไรบ้าง พระสารีบุตรทรงตอบท่านว่ามีอยู่ทั้งหมดสิบประการ *( C) โดยสามข้อแรกนั้น ได้ตอบว่า

“เป็นผู้พิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงโดยความเป็นของไม่เที่ยง ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้อที่ภิกษุขีณาสพเป็นผู้พิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงโดยความเป็นของไม่เที่ยงด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของภิกษุขีณาสพ…

“อีกประการหนึ่ง ภิกษุขีณาสพเป็นผู้พิจารณาเห็นกามทั้งหลาย เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง…

“อีกประการหนึ่ง ภิกษุขีณาสพเป็นผู้มีจิตโน้มไป น้อมไป โอนไปในวิเวก ยินดียิ่งในเนกขัมมะ เป็นจิตสิ้นไปจากธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดยประการทั้งปวง…”

คำตอบของพระสารีบุตรยืนยันกับเราเป็นอย่างดีว่า การพ้นไปเสียจากบ่วงทุกข์อันร้อยรัดทั้งหลายนั้น เราต้องเห็นความเป็นจริงของการปรุงแต่งทั้งหลายที่เรียกว่า สังขาร ต้องเห็นความเป็นจริงของ กาม อันเป็นของร้อนและดักให้ตกต่ำ ต้องน้อมใจไปในทางสงบจากกาม และเห็นคุณค่าใน เนกขัมมะ

การคิดที่เห็นทุกข์ของกาม เห็นคุณจากการเว้นกาม นี่ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ สัมมาสังกัปปะ หรือ วิธีคิดแบบพุทธะ ในส่วนของข้อแรกคือ เนกขัมมสังกัปปะ

นอกจากนั้นแล้ว เราก็ยังสามารถเจริญการดำริเช่นนี้ได้ด้วยการคิดในทางเสียสละ เน้นจาคะคือการให้ ไม่ละโมบโลภมาก คิดถือเอาในความสันโดษ คือเห็นค่าความพอเพียงและสิ่งที่มีอยู่ตามอัตภาพ ไม่พยายามวิ่งตามกระแสค่านิยมหรือแฟชั่นต่างๆ สิ่งใดมีแล้วเกินจำเป็นก็บริจาคให้ผู้ยากไร้ที่ลำบากกว่า ฯ การปล่อยความโลภออกจากใจเช่นนี้ ใจก็สงบเย็นและเป็น “เนกขัมมะ” ซึ่งยังหมายถึงความปลอดโปร่งจากสิ่งยั่วเร้าทั้งหลาย เหมือนกับคนบวชเนกขัมมะ ก็คือการให้โอกาสชีวิตได้อยู่ไกลห่างจากกามคุณทั้งหลายอันเป็นสิ่งยั่วเร้าบ้าง เพื่อให้จิตมีโอกาสทบทวนตนและความเป็นจริงของชีวิตอย่างกระจ่างชัดเจน

สำหรับข้อสองคือ อัพยาปาทสังกัปปะ อันหมายถึงการคิดในทางเว้นเสียจากพยาบาทหรือความโกรธขุ่นเคืองทั้งหลาย เหตุใดจึงต้องละเว้นจากความโกรธ ความพยาบาท หรือความขุ่มเคืองทั้งหลาย ? ขอยกตามคำตรัสของพระพุทธเจ้าดังว่า *( D)

“บุคคลฆ่าความโกรธเสียแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข ฆ่าความโกรธเสียแล้วย่อมไม่เศร้าโศก ดูกรท้าววาสวะ พระอริยะเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญ การฆ่าความโกรธอันมีรากเป็นพิษมียอดหวาน เพราะว่าบุคคลฆ่าความโกรธนั้นเสียแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก”

เพราะความโกรธมีรากเป็นพิษ แต่มียอดหวาน หมายถึง ให้ความรู้สึกสะใจหรือสาแก่ใจเมื่อได้ตอบสนองต่อความโกรธหรือระบายมันออกมา แต่ผลร้ายของการโกรธอย่างขาดสติกลับมียิ่งกว่านัก คิดในทางโกรธก็เหมือนมีกองไฟเผาไหม้อยู่บนหัวตัวเอง ย่อมแผดเผาให้พินาสไปทั้งกายใจของตน ผู้คน และสิ่งรอบข้างทั้งหลาย

พระองค์จึงทรงแนะนำให้เอาชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ เอาชนะความชั่วด้วยความดี อีกทั้งยังทรงเน้นย้ำว่า “บุคคลโกรธตอบบุคคลผู้โกรธ จัดว่าเป็นคนเลวกว่าบุคคลผู้โกรธ…

“บุคคลผู้ไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธ ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก บุคคลใดรู้ว่าบุคคลอื่นโกรธแล้ว มีสติสงบใจได้ บุคคลนั้นชื่อว่าประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือ แก่ตนและบุคคลอื่น” *(E)

ผู้เป็นฝ่ายเห็นความโกรธของคนอื่นก่อน มีโอกาสมากกว่าที่จะยับยั้งชั่งใจ และแลเห็นโทษจากความโกรธที่อีกฝ่ายกำลังแสดงให้ตนดู มากกว่าผู้โกรธก่อนซึ่งไม่ทันมีสติ หากมีโอกาสเช่นนี้แล้วแต่กลับไม่ใช้ ทั้งรับความโกรธนั้นมาด้วยอัตตาแล้วยังทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง นี่ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ถือว่า ผู้โกรธตอบเป็นฝ่ายที่แย่กว่า

เมื่ออีกฝ่ายกระทำไม่ดีต่อเรา หากโกรธแค้นอาฆาตอีกฝ่าย เท่ากับว่าตนเองก็กำลังซ้ำเติมตน ด้วยการทิ่มแทงจิตให้เป็นทุกข์มากขึ้น การละเว้นจากความโกรธหรือความพยาบาท จึงไม่ได้เป็นประโยชน์แก่คนอื่นเท่านั้น หากเป็นการรักตัวเองที่แท้จริง ไม่ยอมให้ตนต้องเป็นทุกข์ซ้ำเติมลงไป

…คนอื่นอาจพูดบาดหู แต่คนที่เก็บคำนั้นมาบาดใจตนก็คือตัวเราเอง คนอื่นอาจทำให้ร่างกายเราเจ็บปวดทรมาณ แต่คนที่นำความเจ็บนั้นมาบีบคั้นใจตนก็ไม่พ้นตัวเราเอง

การคิดแบบพุทธะคือการคิดที่เป็นอิสระจากกิเลส ดั่งข้อแรกที่เป็นไทจากกาม ข้อที่สองนี้ก็เป็นไทจากพยาบาท ถ้าสมองเรามีพยาบาทเป็นนายแล้ว เราจะใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขได้อย่างไร การคิดใดๆ มันก็หลงวกวนเวียนอยู่ในการจองเวรจองกรรมไม่สิ้นสุด นี่จึงมิใช่อิสระเลย

ท่านจึงทรงตรัสสอนวิธีคิดของเราว่า *(F)

“ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น
“ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น
“ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น
“ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงถึงการไม่นึกไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น
“ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน ให้มั่นในบุคคลนั้นว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นทายาท (ผู้รับผล) ของกรรมนั้น”

การคิดแบบพุทธะ มุ่งหมายเอาชนะความชั่วร้ายด้วยความดีงาม และแลเห็นสิ่งต่างๆ ตามกฎแห่งกรรม ในเมื่อการโกรธไม่ใช่กรรมอันควรแล้ว ก็ไม่ควรสุมไฟด้วยความโกรธลงไปอีก ซึ่งจะเป็นการเพิ่มเหตุแห่งทุกข์และปัญหาต่างๆ ให้เลวร้ายมากขึ้น

ตามกฎแห่งกรรมแล้ว คนที่คิดก็ดี พูดก็ดี หรือกระทำทางกายก็ดี ด้วยความโกรธ ความโกรธเหล่านั้นก็จะเป็นผลย้อนกลับคืนไปหาผู้กระทำ เราคิดด้วยความโกรธ ความโกรธนั้นก็เพิ่มความดันในเลือด บีบคั้นกายใจ ทำให้เป็นเครียดเป็นโรค และหมักหมมนิสัยความโกรธไว้จนเผลอกระทำตามอารมณ์ชั่ววูบในวันหน้า

หากเรารับมือกับความโกรธของคนอื่นหรือแม้แต่ของตนเอง ด้วยความเมตตา กรุณา อุเบกขา ฯ พลังที่ดีงามเหล่านี้ก็เป็นผลต่อกายใจของเราเอง

แม้เป็นความโกรธในใจตนเองก็ให้เมตตา กรุณา และอุเบกขาต่อตัวตนภายในที่โกรธนั้น ซึ่งอาจเป็นความเจ็บปวดที่สะสมในใจจากอดีตที่ผ่านมา กำลังพยายามเรียกร้องหรือปกป้องตนเอง โดยใช้ความโกรธเป็นอาวุธ แต่เมื่อเรามีสติแล้วเมตตาฯ ตน เราก็กำลังมีหนทางในการปกป้องตัวเองที่ดีกว่าแล้ว

มีเรื่องที่น่าสนใจในพระไตรปิฎกจุดหนึ่งคือตอนที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงขับไล่ภิกษุสงฆ์เพราะเหตุบางอย่าง ซึ่งในพระไตรปิฎกไม่ได้บอกว่าคือสาเหตุใด

หลังจากนั้นทรงออกบิณฑบาตยังกรุงกบิลพัสดุ์ แล้วเสด็จกลับมาเสวยพระกระยาหาร ก่อนเข้าไปยังป่ามหาวัน ประทับนั่ง ณ โคนต้นมะตูมหนุ่ม ขณะนั้นทรงเกิดความรำพึงว่า

“เราเองได้ขับไล่ภิกษุสงฆ์ไปแล้ว ในภิกษุเหล่านี้ มีพวกภิกษุใหม่บวชยังไม่นาน
เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้ เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่เห็นเราก็จะพึงเป็นอื่น เปลี่ยนแปลงไป
เหมือนลูกโคน้อยๆ เมื่อไม่เห็นแม่ก็จะพึงเป็นอื่น เปลี่ยนแปลงไปฉะนั้น และ
เหมือนพืชที่ยังอ่อนๆ ขาดน้ำพึงเหี่ยวเฉาไปฉะนั้น ทางที่ดี เราพึงอนุเคราะห์
ภิกษุสงฆ์ในบัดนี้ เหมือนกับที่เคยอนุเคราะห์มาแล้วในครั้งก่อนๆ เถิด”

จึงทรงเสด็จออกจากป่าในเวลาเย็น กลับโครธาราม ทรงแสดงฤทธิ์ให้ภิกษุเกิดความเกรงกลัวจนต้องทยอยเข้าเฝ้า ก่อนตรัสสอนว่า

“การที่ภิกษุทุศีลเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีพนี้เป็นการกระทำที่ต่ำทราม การที่ภิกษุทุศีลประพฤติเช่นนี้ ย่อมถูกชาวโลกด่าว่า ‘เจ้าคนนี้อุ้มบาตรเที่ยวขอชาวโลกมาเลี้ยงชีพ’

“กุลบุตรต่างเป็นผู้ตระหนักในเหตุ อาศัยความตระหนักในเหตุจึงเข้ามาใช้ชีวิต
เที่ยวขอก้อนข้าวนี้ มิใช่ถูกพระราชารับสั่งให้นำไปจองจำ มิใช่ถูกพวกโจรนำไปกักขัง มิใช่เป็นลูกหนี้ มิใช่ตกอยู่ในห้วงอันตราย มิใช่จะยึดเป็นอาชีพ แท้ที่จริง กุลบุตรเหล่านั้นเข้ามาบวชด้วยเหตุผลว่า ‘พวกเราต่างถูกชาติ (ความเกิด) ชรา (ความแก่) มรณะ (ความตาย) โสกะ (ความเศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) และอุปายาส (ความคับแค้นใจ) ทับถมครอบงำ จมปลักอยู่ในทุกข์ สาละวนอยู่กับทุกข์ ทำอย่างไรเล่า การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏได้’

“กุลบุตรนี้เป็นผู้บวชด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมาแล้วนี้ แต่แล้วกุลบุตรนั้นกลับ
เกิดความละโมบ กำหนัดยินดีอย่างแรงกล้าในกาม มีจิตพยาบาท คิดประทุษร้าย ลงลืมสติ ไม่รู้สึกตัว มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกระสับกระส่าย ไม่สำรวมอินทรีย์ บุคคลผู้เสื่อมจากโภคะของคฤหัสถ์ และไม่สามารถบำเพ็ญประโยชน์สำหรับความเป็นสมณะให้บริบูรณ์ได้ เราเรียกว่า เป็นเหมือนท่อนไม้ที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า” *(G)

จากที่อ่านมาถึงจุดนี้ เราคงพอตีความได้ว่า เหตุแห่งการขับไล่ภิกษุออกไปแล้วทรงเลือกออกมาพักผ่อนลำพังในตอนแรกนั้น เกิดจากความ “ทุศีล” คือการละเมิดพระธรรมวินัยของเหล่าภิกษุ ซึ่งถูกความโลภ โกรธ หลง ทำให้ขาดความสำรวมระวังจนทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเป็นสมณะ เรียกได้ว่า ประพฤติตนไม่สมกับเป็นลูกศิษย์ของท่าน

แทนที่ท่านจะทรงโกรธเคือง หรือทอดทิ้งพวกเขาไปเสีย กลับคิดถึงด้วยความใส่ใจ เห็นใจ และเข้าใจ เมื่อได้พักผ่อนจนสภาพพระวรกายและเหตุปัจจัยในการสอนพร้อมแล้ว จึงเสด็จดำเนินกลับไปทรงตักเตือนในเชิงดุ และตรัสสอนพวกเขาให้เห็นคุณค่าที่เลือกมาฝึกตน นี่ก็ถือเป็นตัวอย่างของ อัพยาปาทสังกัปปะ ต่อลูกศิษย์ของท่าน

ในคำตรัสสอนนี้ก็ยังสะท้อนให้เราเห็นว่า การสอนของท่านนั้นไม่ได้จี้ตรงยังความผิดอย่างเดียว แต่ยังตรัสให้ภิกษุเหล่านั้นเปลี่ยนวิธีคิดของตนเองว่าที่มาบวชนี้เป็นเพราะสาเหตุใด มีคุณค่าอย่างใด และชี้ให้เห็นว่าความประพฤตินี้มีสาเหตุจากอะไร

อีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนวิธีคิดแบบพุทธะในการไม่พยาบาทหรือจองเวรจองกรรมต่อกันด้วยปัญญา คือกรณีที่ พระปุณณะ ขออนุญาตพระพุทธเจ้าเดินทางไปบำเพ็ญภาวนาในแคว้นสุนาปรันตะ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตน

พระองค์ตรัสถามว่า ชาวสุนาปรันตะเป็นคนดุร้าย ถ้าเขาด่าว่า ท่านจะวางใจต่อคนเหล่านั้นอย่างไร ?

พระปุณณะทูลตอบว่า… จะคิดว่ายังดีนักหนาที่เขาไม่ตบตี

พระองค์ตรัสถามอีกว่า ถ้าเขาตบตีจะวางใจอย่างไร ?

พระปุณณะทูลตอบว่า… จะคิดว่ายังดีนักหนาที่เขาไม่ขว้างปาด้วยก้อนดิน

พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ถ้าเขาขว้างด้วยก้อนดิน จะวางใจอย่างไร ?

ทูลตอบว่า… จะคิดว่ายังดีนักหนาที่เขาไม่ทุบตีด้วยท่อนไม้

พระองค์ตรัสถามว่า ถ้าเขาทุบตีด้วยท่อนไม้ จะวางใจอย่างไร ?

ทูลตอบว่า… จะคิดว่ายังดีนักหนาที่เขาไม่ฟันแทงด้วยศัสตรา

ท่านตรัสถามต่อว่า ถ้าเขาฟันแทงด้วยศัสตรา จะวางใจอย่างไร ?

ทูลตอบว่า… จะคิดว่ายังดีนักหนาที่เขาไม่เอาศัสตราอันคมฆ่าเสีย

แล้วท่านก็ตรัสถามว่า ถ้าเขาเอาศัสตราอันคมปลิดชีพเสีย จะวางใจอย่างไร ?

พระปุณณะทูลตอบว่า… จะคิดว่า มีสาวกบางท่านเบื่อหน่ายร่างกายและชีวิตต้องเที่ยวหาศัสตรามาสังหารตนเอง แต่เราไม่ต้องเที่ยวหาเลย ก็ได้ศัสตราแล้ว

พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสชื่นชมที่มี “ทมะ” (ความข่มกลั้น) และ “อุปสมะ” (ความระงับใจ) สามารถไปอยู่ในแคว้นสุนาปรันตะได้ *(H)

คำตอบข้างต้นนี้ คือวิธีคิดที่ปราศจากพยาบาท เป็นตัวอย่างแก่เราได้ดีว่า แม้สถานการณ์จะดูเลวร้ายเพียงใดก็ตาม มันก็ยังมีแง่มุมดีๆ ให้เรามองเห็นเพื่อสามารถวางใจอย่างเป็นสุขได้เสมอ ผู้ที่จะสามารถคิดเช่นนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง ย่อมไม่พ้นต้องมี ทมะ กับ อุปสมะ ในใจตนเอง จึงข่มกลั้นและระงับใจมิให้ความโกรธ เกลียด กลัว หรือเครียด มาครอบงำตนเองได้

การคิดในแง่ดีที่เป็น “อัพยาปาทสังกัปปะ” ยังหมายถึงการไม่เพ่งโทษผู้อื่น การเพ่งโทษหมายถึง การเอาแต่โทษหรือประณามผู้อื่นเป็นต้นเหตุ และการจับจ้องแต่ส่วนที่เลวของผู้อื่นจนนำมาขยายความเกินเลย ดังคาถาธรรมบทที่กล่าวว่า

“โทษของผู้อื่นเห็นได้ง่าย ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก เพราะว่าบุคคลนั้นย่อมโปรยโทษของคนอื่น ดุจบุคคลโปรยแกลบแต่ปกปิดโทษของตนไว้ เหมือนพรานนกปกปิดอัตภาพด้วยกิ่งไม้ ฉะนั้น อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลผู้ตามเพ่งโทษผู้อื่น” *(I)

หากใจเราเอาแต่คิดถึงความชั่วร้ายของผู้อื่น หมกมุ่นในการคิดโทษผู้อื่น คิดขยายความไม่ดีของเขาจนเกินควร การคิดเหล่านี้ก็เป็น อกุศลวิตก ทำให้กิเลสหมกหมัมในกมลสันดานตนเองมากขึ้น

…อย่าเอาความเลวร้ายคนอื่นมาใส่ใจจนตนเองเลวร้ายกว่าเขาเสียเอง อย่าเอาแต่คิดถึงความมืดมนที่คนอื่นกระทำไว้ จนใจตนหม่นหมองและมืดมน

ท่านพุทธทาสได้สอนเป็นคำกลอนในเรื่องนี้ไว้ว่า

“เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา
จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู
ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย,

“จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว
อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเอย
ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง,

“ไม่ควรฟุ้ง ฟื้นฝอย หาตะเข็บ
ถ้าเผลอมัน กัดเจ็บ จะยุ่งขิง
เสียเวลา ไม่คุ้มค่า, ควรประวิง
ทุกๆ สิ่ง มองแต่ดี มีอยู่พอ”

มันอาจรู้สึกเหมือนไม่ยุติธรรม เมื่อเราไม่จ้องจับผิดหรือโทษประณามใคร แต่ความยุติธรรมมีอยู่เสมอในกฎแห่งกรรม อาจกล่าวได้ว่า พระเจ้าจะลงโทษเขาเอง หรือจักรวาลจะพิจารณาโทษเอง โดยที่เราไม่จำเป็นต้องโลภ โกรธ หรือหลงไปกับสถานการณ์หรือความชั่วร้ายของเขา จนสร้างกรรมทางใจเป็นผลลบต่อชีวิตของเราเสียเอง

สำหรับข้อสุดท้ายของ สัมมาสังกัปปะ คือ อวิหิงสาสังกัปปะ เป็นการดำริในอันไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่มุ่งหมายเอาชนะ แก่งแย่งแข่งดี หรือส่งเสริมความรุนแรงให้เกิดขึ้นมิว่าในทางใด แม้แต่การไม่ “บูลลี่” คนอื่น ก็อยู่ในคำว่า อวิหิงสา ด้วย

คำว่า “อวิหิงสา” ยังเป็นข้อหนึ่งของหลัก ทศพิธราชธรรม ซึ่งหมายถึง หน้าที่ที่พระราชาผู้ปกครองควรประพฤติ โดยตามความหมายจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ได้ให้ความหมายของ อวิหิงสา ของทศพิธราชธรรมไว้ว่า

“ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น เก็บภาษีขูดรีด หรือ เกณฑ์แรงงานเกินขนาด ไม่หลงระเริงอำนาจ ขาดความกรุณา หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใด เพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง — non-violence; non-oppression”

ดังนั้นการคิดแบบอวิหิงสา หรือ อวิหิงสาสังกัปปะ จึงยังครอบคลุมถึงการคิดที่ไม่หวังกดขี่ข่มเหง กลั่นแกล้ง เอารัดเอาเปรียบ หรือใช้อำนาจกับฐานะในทางที่มิชอบ ขณะที่วิหิงสาคือความรุนแรง อวิหิงสาสังกัปปะก็คือการคิดในสันติวิธี คิดเพื่อหาหนทางให้เกิดสันติสุขร่วมกัน มิใช่การมีผู้ชนะหรือมีผู้อยู่เหนือกว่าใคร

คาถาธรรมบทตอนหนึ่งได้ให้ข้อคิดไว้ว่า *(J)

“เมื่อพวกมนุษย์มีเวรกันอยู่ เราเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่ เมื่อพวกมนุษย์มีเวรกันอยู่ เราเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่ เป็นอยู่สบายดีหนอ

“ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมเป็นทุกข์ พระขีณาสพผู้สงบระงับ ละความชนะความแพ้ได้แล้วย่อมอยู่เป็นสุข”

ข้อความย่อหน้าแรก “เวร” คือความผูกใจเจ็บ การปราศจากเวร ก็คือการไม่มี พยาบาทสังกัปปะ และ พยาบาทวิตก ไม่มีความคิดแค้นเคืองใคร คนที่เป็นเช่นนั้นย่อมอยู่เย็นเป็นสุข

ผู้ที่พยายามชนะหรือหมายมั่นในการเอาชนะอีกฝ่าย ย่อมก่อเวรหรือผูกความเคืองใจให้เกิดขึ้นแก่กัน เพราะได้เบียดเบียนให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นทุกข์ อีกฝ่ายก็ย่อมอยากเอาคืนหรือพลิกเป็นผู้ชนะในวันหน้า ดังนั้นแล้ว ผู้ละจากอาสวะกิเลส ย่อมละจากความชนะความแพ้ จึงอยู่เย็นเป็นสุข

ผู้เขียนได้ฟังธรรมหนึ่งของท่านพุทธทาส มีข้อความหนึ่งในการเทศนานั้นที่ทำให้ผู้เขียนคลายจากความหมายมั่นในการต่อสู้ฟาดฟันลงไปมาก จากเดิมที่เป็นคนไม่ยอมอะไรง่ายๆ ข้อความนั้นคือ “ชนะหรือแพ้ ก็ไม่ถึงความสงบ”

ตราบใดที่ใจเรายังมีเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรง ตราบนั้นก็จะยังมีความพยายามเอาชนะหรือข่มเหงรังแก ไม่ตนเองก็ผู้อื่น ในทางหนึ่งทางใด เมื่อนั้นแล้วก็ต้องเป็นทุกข์เพราะการเปรียบเทียบ การแข่งขัน การชิงดีชิงเด่น โอ้อวดเกทับกัน การแสวงหาการยอมรับ ความอยากมีคุณค่า หรือการแพ้การชนะอยู่ร่ำไป ความสงบในชีวิตก็หายากยิ่ง

ความพยายามเอาชนะ มิได้ทำให้เราได้เติมเต็มสิ่งที่ใจต้องการอย่างแท้จริง

บ่อยครั้งที่เราควรคิดแก้ไขปัญหา แต่สมองกลับคิดวนแต่การหาทางเอาชนะอยู่ ทั้งที่เรื่องราวอาจไม่ได้ซับซ้อน แค่รอมชอมถอยคนละก้าวก็ได้ แต่เรื่องเล็กก็มักถูกทำให้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะการคิดอยากเอาชนะกัน อยากเป็นใหญ่กว่าอีกฝ่ายหรือเป็นผู้ถูกต้อง ส่วนหนึ่งมันก็มาจากความต้องการมีคุณค่านั่นแล

ตามข้อมูลจากอาจารย์บุษบง เจริญวัฒนะ และ เหมือนขวัญ เรณุมาศ ในวารสารสันติศึกษาปริทรรศน์ มจร. ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 บทความ “สันติวิธี : การจัดการความขัดแย้งตามแนวทางสันติวิธี” ได้สรุปหลักคิด 8 ประการของสันติวิธี ไว้ดังนี้

ปฏิเสธความรุนแรงอย่างสิ้นเชิง
โจมตีที่ตัวปัญหา ไม่ใช่ตัวบุคคล
สร้างความสัมพันธ์อันดี
ไม่มุ่งเอาชนะกัน แต่สร้างความร่วมมือกัน
ตอบสนองความต้องการของทุกฝ่าย
มองทุกคนมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน
เน้นทั้งเหตุผลและความรู้สึก
กล้าและสร้างสรรค์

ข้อที่แปดนี้ ได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า ความรุนแรงเกิดขึ้นเพราะความกลัว การใช้สันติวิธีจึงต้องก้าวข้ามความกลัว และกล้าเผชิญกับความเป็นจริง กล้าตั้งคำถาม กล้าคิด กล้ากำจัดอคติ กล้าที่จะสูญเสียผลประโยชน์บางอย่าง และกล้าหันหน้าเข้าหาเพื่อพูดคุยกัน ความกล้าหาญเหล่านี้ก็จะผลักดันให้เกิดการกระทำที่สร้างสรรค์เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน

หลักแปดข้อนี้ เราสามารถใช้เป็นหลักในการคิดเพื่อขจัดวิหิงสาในตนให้หมดไป เพื่อทำให้การใช้ชีวิตของเรานั้นเป็นไปอย่างกล้าหาญและสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์แก่ทุกๆ ฝ่าย มิใช่แค่ตนเองเท่านั้น

…ผู้ที่คิดอย่างสันติ จึงจะพบสันติในชีวิต ผู้ที่คิดใช้ความรุนแรง ย่อมหาความสงบในชีวิตไม่พบ

หากสังเกตให้ดีจักเห็นว่า อกุศลวิตก กับ มิจฉาสังกัปปะ ทั้งสามล้วนมีความโลภ โกรธ หลง เป็นแรงผลักดัน และเป็นไปเพื่อสนองความโลภ โกรธ หลง

กามวิตก / กามสังกัปปะ เป็นการคิดเพราะความโลภ สนองความโลภ
พยาบาทวิตก / พยาบาทสังกัปปะ เป็นการคิดเพราะความโกรธ สนองความโกรธ
วิหิงสาวิตก / วิหิงสาสังกัปปะ เป็นการคิดเพราะความหลง สนองความหลง

เมื่อเราไม่ได้คิดเพราะความโลภ โกรธ หลง ไม่ได้ใช้ความคิดเป็นเครื่องมือสนองกิเลสสามตัวนี้ การคิดนั้นก็อยู่ในแนวทางการคิดแบบพุทธะ หรือ สัมมาสังกัปปะ แล้ว โดยเฉพาะหากคิดในทางลดโลภ โกรธ หลงให้น้อยลง

เนกขัมมวิตก / เนกขัมมสังกัปปะ ก็คือการคิดในทางตรงข้ามกับความโลภทั้งหลาย เช่น การคิดในทางเสียสละ คิดในทางความพอเพียง คิดถึงความเรียบง่าย คิดถึงโทษของสิ่งที่อยาก คิดเห็นความไม่เที่ยงแท้ของสิ่งที่ยั่วยวนใจ ฯ

อัพยาปาทวิตก / อัพยาปาทสังกัปปะ ก็คือการคิดในทางตรงกันข้ามกับความโกรธทั้งหลาย เช่น การคิดเมตตาเห็นอกเห็นใจ คิดในทางเชื่อมั่นความดีงามของอีกฝ่าย คิดทบทวนความผิดของตน คิดอย่างมีศรัทธาว่าจะต้องดีขึ้น คิดถึงความทุกข์ของอีกฝ่าย หรือการเป็นผู้เวียนว่ายในวังวนทุกข์มิต่างกัน ฯ

อวิหิงสาวิตก / อวิหิงสาสังกัปปะ ก็คือการคิดในทางตรงข้ามกับความหลงทั้งหลาย เช่น คิดวิเคราะห์เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดสถานการณ์นี้ขึ้นอย่างรอบด้าน คิดถึงความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน คิดในทางสร้างความร่วมมือและสันติให้เกิดขึ้น คิดในทางละตัวตนและไม่เห็นความเป็นตัวตน ฯ

หากสังเกตให้ลึกลงอีกจักเห็นว่า อกุศลวิตก และ มิจฉาสังกัปปะ ทั้งหมดมีรากจากอัตตา การเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ความเห็นแก่ตัว และความไม่เข้าใจในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอย่างแท้จริง

มิว่าการคิดเพื่อกาม พยาบาท หรือวิหิงสา ล้วนแล้วมี “ฉัน” อยู่ในนั้น เป็นไปเพื่อตัวฉัน ใจฉัน ชีวิตฉัน และของๆ ฉัน โดยเห็นตัวเองและผู้คน / สิ่งที่ข้องเกี่ยวนั้นเป็นความจีรังยั่งยืน เป็นสุข และเป็นตัวตน ผิดจากความจริงที่เรียกว่า ไตรลักษณ์

คิดเช่นนั้นก็นำมาสู่ความทุกข์อย่างไม่สิ้นสุด ดังที่เปรียบในบทความตอนก่อนหน้าว่า เป็นเหมือนการขับรถทางความคิดเข้าเมืองซอยตัน ยิ่งคิดยิ่งนุงนังกับกิเลส และพาชีวิตตีบตันหนทาง

ดังนั้นแล้ว คิดอย่างไม่มีอัตตา ไม่เอาตัวฉันเป็นศูนย์กลาง ไม่เป็นไปเพื่อความเห็นแก่ตัว คิดอย่างไม่ยึดถือว่าความคิดนี้เป็นตัวฉันหรือของฉัน คิดตริตรองเพื่อลดละการถือมั่นในความเที่ยงแท้ ความสุข และความเป็นตัวตน การคิดนั้นก็เป็น สัมมาสังกัปปะ ความคิดที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็น กุศลวิตก แล้ว

…เมื่อไม่มีฉันผู้ถือมั่นแล้ว ก็ไม่มีผู้โลภ โกรธ หรือหลง ให้คิดอกุศล การฝึกคิดอย่างไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้งจึงสำคัญมากในการคิดอย่างพุทธะ

จริงๆ แล้วความคิดก็เป็นแค่นามธรรม ที่มีเหตุปัจจัยต่างๆ ทั้งทางกาย ทางใจ และสิ่งแวดล้อม ช่วยกันส่งเสริมปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา ไม่มีความเป็นเจ้าของหรือตัวตนให้ยึดติด ดังเช่นพระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า *(K)

“เนกขัมมวิตกย่อมมีเหตุบังเกิดขึ้น มิใช่ไม่มีเหตุบังเกิดขึ้น อัพยาปาทวิตกย่อมมีเหตุบังเกิดขึ้น มิใช่ไม่มีเหตุบังเกิดขึ้น อวิหิงสาวิตกย่อมมีเหตุบังเกิดขึ้น มิใช่ไม่มีเหตุบังเกิดขึ้น…

“ความหมายรู้ในเนกขัมมะ (เนกขัมมสัญญา) บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยเนกขัมมธาตุ ความดำริในเนกขัมมะ (เนกขัมมสังกัปปะ) บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความหมายรู้ในเนกขัมมะ ความพอใจในเนกขัมมะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความดำริในเนกขัมมะ

“ความเร่าร้อนเพราะเนกขัมมะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความพอใจในเนกขัมมะ การแสวงหาในเนกขัมมะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความเร่าร้อนเพราะเนกขัมมะ อริยสาวกผู้ได้สดับ เมื่อแสวงหาเนกขัมมะ ย่อมปฏิบัติชอบโดยฐานะ ๓ คือ กาย วาจา ใจ

“ความหมายรู้ในอัพยาบาทบังเกิด (อัพยาปาทสัญญา) ขึ้นเพราะอาศัยอัพยาปาทธาตุ ความดำริในอัพยาบาท (อัพยาปาทสังกัปปะ) บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความหมายรู้ในอัพยาบาท ความพอใจในอัพยาบาทบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความดำริในอัพยาบาท

“ความเร่าร้อนเพราะอัพยาบาทบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความพอใจในอัพยาบาท การแสวงหาในอัพยาบาทบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความเร่าร้อนเพราะอัพยาบาท อริยสาวกผู้ได้สดับ เมื่อแสวงหาอัพยาบาท ย่อมปฏิบัติชอบโดยฐานะ ๓ คือ กาย วาจา ใจ

“ความหมายรู้ในอวิหิงสา (อวิหิงสาสัญญา) บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยอวิหิงสาธาตุ ความดำริในอวิหิงสา (อวิหิงสาสังกัปปะ) เกิดขึ้นเพราะอาศัยความหมายรู้ในอวิหิงสา ความพอใจในอวิหิงสาบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความดำริในอวิหิงสา

“ความเร่าร้อนเพราะอวิหิงสาบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความพอใจในอวิหิงสา การแสวงหาในอวิหิงสาบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความเร่าร้อนเพราะอวิหิงสา ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ เมื่อแสวงหาอวิหิงสา ย่อมปฏิบัติชอบโดยฐานะ ๓ คือ กาย วาจา ใจ…

“บุรุษพึงวางคบหญ้าที่ไฟติดแล้วในป่าหญ้าแห้ง เขาจึงรีบดับคบนั้นเสียด้วยมือและเท้า ก็เมื่อเป็นเช่นนี้สัตว์ มีชีวิตทั้งหลายบรรดาที่อาศัยหญ้าและไม้อยู่ ไม่พึงถึงความพินาศฉิบหาย แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง ก็ฉันนั้นเหมือนกัน รีบละ รีบบรรเทา รีบทำให้หมด รีบทำให้ไม่มีซึ่งอกุศลสัญญาที่ก่อกวนอันบังเกิดขึ้นแล้วเขาย่อมอยู่เป็นสุข ไม่มีความอึดอัด ความคับแค้น ความเร่าร้อน ในปัจจุบัน เบื้องหน้าแต่มรณะ เพราะกายแตก พึงหวังสุคติได้…”

ข้อความย่อหน้าแรก ท่านตรัสว่า การคิดบวกทั้งหลายที่เรียกว่า กุศลวิตก มันมีเหตุจึงเกิดขึ้น มิใช่ไม่มีเหตุจึงเกิดขึ้น ตรงนี้ก็เพื่อให้เราได้ละวางการถือมั่นในความเที่ยงแท้กับความเป็นตัวตนลงเสียก่อน แล้วพิจารณาว่ามันเป็นเพียงเหตุปัจจัยปรุงกันให้เกิดไม่คงที่ และไม่มีฉันหรือของฉัน

ใจความโดยสรุปนั้นกล่าวว่า เพราะเหตุแห่งการซึมซับและจำได้หมายรู้ในเนกขัมมะ อัพยาปาท และ อวิหิงสา เช่นการมีแบบอย่างที่ดี การได้สัมผัสถึงจากผู้อื่นหรือด้วยประสบการณ์ การอ่านหนังสือการฟังธรรม และการบ่มเพาะฝึกฝนใจในแนวทางทั้งสามนี้มาก่อน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ย่อมเป็นเหตุทำให้เกิดวิธีคิดในทางเนกขัมมะ อัพยาปาท และ อวิหิงสา ก่อนเป็นเหตุทำให้มีความพอใจ ความยินดี และการเสาะแสวงหาซึ่งสามประการนี้ ทำให้มีพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจ อันเป็นกุศล

ความคิดบวกก็เกิดขึ้นเพราะสัญญาอันเป็นบวก ความคิดลบก็เกิดขึ้นเพราะสัญญาอันเป็นลบ เป็นไปตามเหตุปัจจัยใช่คงที่มีอยู่แล้วตลอด เราจึงต้องสร้างเหตุปัจจัยเพื่อโน้มน้าวความคิดนึกให้เป็น สัมมา และ เป็นกุศล ต่อชีวิตตนเองเช่นนี้ ควรรีบฝึกตน เพื่อลดละ บรรเทา และทำให้หมดไปซึ่งสัญญาอันเป็นลบทั้งหลาย

สัญญา ก็คือความจำได้หมายรู้ ประกอบด้วยความทรงจำและความถือมั่นไว้ เราจะขจัดให้ กามสัญญา พยาบาทสัญญา และวิหิงสาสัญญาให้หมดไป เราก็ต้องกระทำให้ เนกขัมมสัญญา อัพยาปาทสัญญา และ อวิหิงสาสัญญา ให้เกิดขึ้นแทน เพื่อชีวิตจะได้เป็นสุข ไม่มีความอึดอัดคับแค้นใจ ปลอดโปร่งปราศจากกิเลสรบกวน ภายหน้าหลังม้วยมรณาก็ไม่ต้องไปสู่ทุคติ

การคิดไปในทางละกาม/ตรงข้ามกับกาม คิดละพยาบาท/ตรงข้ามกับพยาบาท คิดละวิหิงสา/ตรงข้ามกับวิหิงสา หรือเข้าหาสิ่งแวดล้อมและเสพสื่อต่างๆ ที่ส่งเสริม กุศลวิตก อยู่บ่อยๆ มีสติในการใช้ชีวิต และปฏิบัติภาวนาเพื่อส่งเสริมให้ใจเป็นกลางจากโลภ โกรธ หลง สัญญาอันเป็นกุศลก็จะมีกำลังมากขึ้น เหมือนเติมน้ำดีลงในโอ่ง น้ำเน่าเสียภายในก็จะเจือจางลง

หากสังเกตจากคำตรัสข้างต้นก็จะพอสังเกตวิธีคิดของพระพุทธเจ้า หรือเรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ได้อีกประการหนึ่งว่า พระองค์ทรงดำริบนหลัก “อิทัปปัจจยตา” และ “โยนิโสมนสิการ”

เพราะการพูดนั้นสะท้อนวิธีคิดของมนุษย์ การตรัสสอนของพระองค์ก็สะท้อนวิธีคิดที่ทรงใช้ รูปแบบภาษาในพระไตรปิฎกซึ่งเรียบเรียงจากคำตรัสของพระพุทธเจ้าและพระอริยสาวกก็สะท้อน สัมมาสังกัปปะ ให้เราศึกษา โดยเฉพาะวิธีคิดที่อยู่บนพื้นฐานเรื่อง อิทัปปัจจยตา และ โยนิโสมนสิการ

อิทัปปัจจยตา หรือ ปัจจยาการ หมายถึง ความเป็นไปตามปัจจัยหนุนเนื่องกัน โดยมีใจความว่า “อิมัส๎มิง สะติ อิทัง โหติ” เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี , “อิมัสสุปปาทา อิทัง อุปปัชชะติ” เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น , “อิมัส๎มิง อะสะติ อิทัง นะโหติ” เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี , “อิมัสสะ นิโรธา อิทัง นิรุชฌะติ” เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป

ท่านพุทธทาสกล่าวว่า อิทัปปัจจยตา เป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา เรียกสั้นๆ ก็ด้วยคำว่า ตถตา หมายถึง เช่นนั้นเอง เป็นอย่างนั้นเอง

การตรัสสอนและการคิดของพระองค์จึงไม่ใช่การยกขึ้นมาลอยๆ แต่เป็นการตริตรองไปตามเหตุปัจจัย สิ่งใดทำให้เกิดขึ้น สิ่งนั้นส่งผลอย่างไรต่อไป สิ่งใดทำให้ดับ สิ่งนั้นส่งผลอย่างไรต่อไป ไม่ได้ยึดถือในความเป็นตัวตนหรือของๆ ตน เห็นเป็นเพียงเหตุปัจจัยเท่านั้น

วิธีคิดนี้ยังสะท้อนอยู่ในคำว่า “ตถาคต” ที่พระองค์ทรงใช้แทนพระองค์เอง ซึ่งหมายถึง ผู้เป็นเช่นนั้นเอง ผู้ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างนั้นเอง

โยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาอย่างแยบคาย หรือ กระทำในใจอย่างแยบคาย แต่โดยความหมายลึกแล้ว คำแปลว่า แยบคาย มาจากคำว่า โยนิ ซึ่งมีความหมายหลายอย่างเช่น ต้นเค้า สาเหตุ แหล่งที่มา ปัญญา ดังนั้นนัยหนึ่งของ โยนิโสมนสิการ จึงมีความสื่อถึง การพิจารณาไปถึงต้นเค้าหรือสาเหตุอันแท้จริง จนเห็นภาพรวมทั้งหมดของเรื่องนั้นๆ อย่างถ่องแท้

เช่นเรื่องราวของพระวิปัสสีโพธิสัตว์ ผู้ซึ่งจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอดีต ตามคำบอกเล่าจากพระพุทธเจ้าแล้วนั้น *(L) พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เมื่อได้ออกผนวชเป็นบรรพชิตแล้ว จึงปลีกวิเวกเร้นกายอยู่ลำพังผู้เดียว แล้วเกิดพระปริวิตกว่า “โลกนี้ถึงความยาก ย่อมเกิด แก่ ตาย และเวียนตาย เวียนเกิด เออก็แหละบุคคลไม่รู้ชัดถึงอุบายเครื่องพ้นทุกข์ คือ ชราและมรณะนี้ การพ้นทุกข์ คือ ชราและมรณะนี้ จักปรากฏได้เมื่อไรเล่า”

จากนั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ จึงทรงดำริตามลำดับ ดังนี้

เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ชาติจึงมี ชาติมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย , เมื่อภพมีอยู่ชาติจึงมี ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย

เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ภพจึงมี ภพมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย , เมื่ออุปาทานมีอยู่ภพจึงมี ภพมีเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย

เมื่ออะไรมีอยู่หนอ อุปาทานจึงมี อุปาทานมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย , เมื่อตัณหามีอยู่ อุปาทานจึงมี อุปาทานมีเพราะตัณหาเป็นปัจจัย

เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ตัณหาจึงมี ตัณหามีเพราะอะไรเป็นปัจจัย , เมื่อเวทนามีอยู่ ตัณหาจึงมี ตัณหามีเพราะเวทนาเป็นปัจจัย

เมื่ออะไรมีอยู่หนอ เวทนาจึงมี เวทนามีเพราะอะไรเป็นปัจจัย , เมื่อผัสสะมีอยู่ เวทนาจึงมี เวทนามีเพราะผัสสะเป็นปัจจัย

เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ผัสสะจึงมี ผัสสะมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย , เมื่อสฬายตนะมีอยู่ ผัสสะจึงมี ผัสสะมีเพราะสฬายตนะ

เมื่ออะไรมีอยู่หนอ สฬายตนะจึงมี สฬายตนะมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย , เมื่อนามรูปมีอยู่ สฬายตนะจึงมี สฬายตนะมีเพราะนามรูปเป็นปัจจัย

เมื่ออะไรมีอยู่หนอ นามรูปจึงมี นามรูปมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย , เมื่อวิญญาณมีอยู่ นามรูปจึงมี นามรูปมีเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย

เมื่ออะไรมีอยู่หนอ วิญญาณจึงมี วิญญาณมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย , เมื่อนามรูปมีอยู่ วิญญาณจึงมี วิญญาณมีเพราะนามรูปเป็นปัจจัย

พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงดำริสรุปในส่วนนี้ว่า

“โดยความเป็นไปเพียงเท่านี้ สัตว์โลกพึงเกิดบ้าง พึงแก่บ้าง พึงตายบ้าง พึงจุติบ้าง พึงอุปบัติบ้าง ความเป็นไปนั้นคือวิญญาณมีเพราะนามรูปเป็นปัจจัย นามรูปมีเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย สฬายตนะมีเพราะนามรูปเป็นปัจจัย ผัสสะมีเพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย เวทนามีเพราะผัสสะเป็นปัจจัย ตัณหามีเพราะเวทนาเป็นปัจจัย อุปาทานมีเพราะตัณหาเป็นปัจจัย ภพมีเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ชรามรณะโสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสย่อมมีพร้อมเพราะชาติเป็นปัจจัย ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้”

พระพุทธเจ้าผู้ตรัสเล่า ได้ทรงย้ำว่าคำตอบจากการดำริพิจารณานั้นบังเกิดขึ้นจากการโยนิโสมนสิการที่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ได้ทรงกระทำ ข้อความข้างต้นนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า การใช้โยนิโสมนสิการนั้นสำคัญอย่างไร เป็นอย่างไร และเป็นหัวใจของการตื่นรู้และหลุดพ้นจากทุกข์อย่างไร

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ความสิ้นอาสวะจะมีได้แก่ภิกษุผู้รู้เห็น โยนิโสมนสิการ และ อโยนิโสมนสิการ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมนสิการโดยไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญขึ้น เมื่อภิกษุมนสิการโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป” *(M)

การคิดแบบโยนิโสมนสิการ คือการคิดที่มุ่งไปสู่การเห็นว่าทุกสิ่งเป็นเพียงเหตุปัจจัย มีเหตุให้เกิดขึ้นก็มีเหตุให้ดับไป มิใช่ความคงทนถาวร ล้วนแต่มีความเสื่อมไม่สมบูรณ์แบบ และไม่ใช่ตัวตนให้ยึดถือได้ โยนิโสมนสิการ จัดว่าเป็นหัวใจสำคัญของ สัมมาสังกัปปะ

วิธีคิดอย่างพระพุทธเจ้าคือการคิดที่ตรึกตรองเหตุและผล เป็นการคิดอย่างมีเหตุผลอย่างแยบยล เพราะนอกจากพิจารณาเหตุของผลแล้วก็คำนึงถึงเหตุแห่งเหตุที่ว่านั้น จนสุดสายทั้งต้นสายปลายเหตุไม่มีเหลือ ตามความหมายของ โยนิ ที่หมายถึง ต้นเค้า

การคิดเช่นนี้แตกต่างจากคิดแบบมีเหตุผลอย่างผิวเผินเช่นคนทั่วไป ซึ่งคิดประมาณว่าเพราะสิ่งนี้จึงเกิดสิ่งนี้เพียงคร่าวๆ ไม่ได้สืบเสาะจนถึงแก่นของปัญหา และมักติดไปที่การโทษตัวบุคคล หรือเพ่งโทษบางสิ่งบางอย่างที่ยังมิใช่เหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

เมื่อเกิดทุกข์หรือปัญหา เราอาจไตร่ตรองในใจหาเหตุผลแค่ชั้นเดียว เช่นว่า เขาเป็นฝ่ายผิด เพราะเขาเป็นผู้กระทำอย่างนั้น แต่ไม่ได้ใส่ใจดูเหตุผลต่อว่าเรามีส่วนในการกระทำนั้นอย่างไร มีสาเหตุหรือปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เขาต้องกระทำอย่างนั้น การคิดนั้นแทนที่จะนำมาสู่การคลายจากความทุกข์หรือการแก้ปัญหา ก็นำมาซึ่งความโกรธเคืองตามมา

หรือหากมิได้โทษใครอื่น แต่โทษการตัดสินใจผิดพลาดของตนเอง แต่ไม่ได้คำนึงต่อไปว่าเพราะเหตุใดจึงตัดสินใจผิด อาจคำนึงตรึกตรองเหตุที่ตัดสินใจผิดอยู่บ้าง แต่มิได้คิดลึกลงไปว่าเพราะอะไรจึงเกิดเหตุเช่นนั้นให้ตัดสินใจเช่นนั้น จนสุดสายต้นเค้าแห่งจุดเริ่มต้นที่แท้จริง การคิดนั้นก็จะยังไม่ได้นำมาสู่ปัญญา แต่อาจนำมาซึ่งการตอกย้ำตัวเองในทางลบต่างๆ

การคิดเป็นเหตุเป็นผลอย่างพุทธะ เมื่อคิดแล้วจะ “ว่าง” เพราะตรึกตรองจนสุดสายทั้งต้นกับปลายเหตุไม่มีเหลือ เห็นปัจจัยที่ก่อเรื่องราวนั้นขึ้นจนกระจ่าง จิตไม่ต้องปรุงแต่งอะไรต่อแล้ว ไม่มีอะไรให้น่าถือมั่น เกิดเป็นเพียงการปล่อยวาง แต่คิดเป็นเหตุเป็นผลอย่างคนทั่วไป คิดแล้วก็ยัง “วุ่น” เพราะยังคำนึงตรึกตรองไม่ถึงที่สุด จิตก็ยังไม่ปล่อยวางยังวิ่งวุ่นดิ้นรนและปรุงแต่งต่อไป

…วิธีคิดแบบพุทธะ คิดให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จึงเป็นการคิดให้ว่าง ตรึกตรองให้ปล่อยวาง มิใช่คิดให้วุ่นอย่างที่เราเคยคิดกัน

…กุศลวิตก และ สัมมาสังกัปปะ จึงเป็นการสอนให้เรารู้จักคิดให้เกิด “ปัญญา” มิใช่คิดแล้วเกิด “ปัญหา” ตามมา

…การคิดอาจเป็นทางสว่าง นำกาย วาจา ใจสู่ความผ่องใส หรืออาจเป็นทางมืดมน นำกาย วาจา ใจสู่ความขุ่นมัว อยู่ที่เราเลือกเป็นผู้กำหนดและฝึกฝนความคิดด้วยตนเองหรือไม่

ตามคำตรัสว่า “อกุศลวิตก 3 ประการนี้ กระทำความมืดมน ไม่กระทำปัญญาจักษุ กระทำความไม่รู้ ยังปัญญาให้ดับ เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน…

“กุศลวิตก 3 ประการนี้ ไม่กระทำความมืดมน กระทำปัญญาจักษุ กระทำญาณ ยังปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน” *(N)

“ภิกษุเป็นผู้มีความดำริไม่ขุ่นมัวอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละความดำริในกามได้แล้ว เป็นผู้ละความดำริในพยาบาทได้แล้ว เป็นผู้ละความดำริในวิหิงสาได้แล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีความดำริไม่ขุ่นมัวอย่างนี้แล” *(0)

พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนด้วยความเมตตา แนะนำหนทางละจากอกุศลวิตก กับ มิจฉาสังกัปปะ ทั้งหลายไว้ว่า…

1. “ควรพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นว่า วิตกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอกุศล แม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นโทษ แม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่มีทุกข์เป็นวิบาก แม้อย่างนี้ ดังนี้ เมื่อเธอพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นอยู่

“วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล”

หากแม้พิจารณาโทษแล้ว ความคิดอันเป็นอกุศลก็ยังเกิดขึ้นอีก ท่านก็ทรงแนะนำว่า…

2. “พึงถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้น เมื่อเธอถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะ อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี”

หากไม่นึก ไม่ใส่ใจ ความคิดอันเป็นอกุศลแล้ว แต่มันก็ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ท่านก็ทรงแนะนำต่อว่า…

3. “ควรมนสิการสัณฐานแห่งวิตกสังขารของวิตกเหล่านั้น เมื่อเธอมนสิการสัณฐานแห่งวิตกสังขารของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้”

คำว่า มณสิการสัณฐานแห่งวิตกสังขาร ที่ท่านทรงกล่าวถึง มีความหมายว่า การพิจาณาเหตุปัจจัยการปรุงแต่งแห่งความคิด สังเกตว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร มีอะไรเป็นสาเหตุ มีอะไรเป็นองค์ประกอบบ้าง แยกส่วนมันออกมาให้เห็น “อิทัปปัจยตา” แห่งการคิดนั้น จนมันไม่เหลือความน่ายึดน่าตามในความคิดเหล่านั้นอีกต่อไป

คล้ายกับการต่อสู้กับกองทัพที่ร้ายกาจ ในเมื่อไม่อาจสู้พร้อมกันทั้งหมดก็หาทางแยกพวกเขาออกเป็นกลุ่มๆ เหลือเพียงจำนวนเล็กๆ จากที่น่ากลัวก็ไร้พิษสงลง หรือเปรียบกับการเห็นอาหารหน้าตาสวยๆ น่าลิ้มลอง แต่ถ้าเราลองใช้ช้อนส้อมจิ้มเขี่ยแยกส่วนประกอบต่างๆ ของอาหารจานนั้นออกมากระจัดกระจาย ความน่ายั่วยวนมันก็ลดน้อยลง หรือเทียบกับรถยนต์ที่เคยดูโก้หรู หากโดนชนชิ้นส่วนกระจัดกระจาย ความโก้หรูน่าถือครองก็หายไป

ทว่าหาก มณสิการสัณฐานแห่งวิตกสังขาร แล้วก็ตาม ยังไม่อาจห้ามความคิดอกุศลทั้งหลายมิให้เกิดขึ้นได้ พระองค์ก็ทรงแนะนำวิธีสุดท้ายว่า…

4. “พึงกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับ จิตด้วยจิต เมื่อเธอกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตด้วยจิตอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศลประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้”

หนทางสุดท้ายที่ท่านทรงกล่าวมีใจความหมายถึง ให้ใช้ “ขันติ” กับ “ทมะ” คือความอดทน และความข่มกลั้นหักห้ามใจ เราอาจใช้การบีบมือ วางมือทาบหน้าอก อยู่กับลมหายใจ หายใจแรงๆ เปลี่ยนทิศทางสายตา หรือการกระทำอื่นๆ เพื่อ “ขัดใจ” ตัวเอง พร้อมกับการบังคับจิตด้วยจิตของตน

ทั้งหมดสี่ข้อที่กล่าวมา ท่านสรุปไว้ว่าผู้ที่ฝึกตนและกระทำตามอย่างนี้ ย่อมสามารถ “เป็นผู้ชำนาญในทางเดินของวิตก เธอจักจำนง วิตกใดก็จักตรึกวิตกนั้นได้ จักไม่จำนงวิตกใด ก็จักไม่ตรึกวิตกนั้นได้ ตัดตัณหาได้แล้ว คลี่คลายสังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้ว เพราะละมานะได้โดยชอบ” *(P)

ทั้งสี่ข้อนี่จึงเป็นหนทางในการฝึกความคิดให้สามารถคิดได้อย่างพระพุทธเจ้า ดังที่กล่าวไว้ในตอนก่อนหน้า เป็นผู้ตั้งใจคิดอย่างไรก็สามารถคิดเช่นที่ตั้งใจ หากไม่ตั้งใจคิดอย่างไรก็สามารถไม่คิดเช่นนั้น เป็นผู้กำหนดความคิด มิใช่ทาสความคิด ไม่ปล่อยการคิดนำไปสู่ตัณหา ไม่พาไปสู่ “สังโยชน์” คือการผูกรัดจิตกับกาม ภพ และอวิชชา ไม่ให้เกิด “มานะ” คือความถือตน ผู้กำหนดการคิดได้เช่นนี้ย่อมถึงที่สุดแห่งทุกข์ทั้งปวง

การจะรู้ว่าสัมมาสังกัปปะเป็นอย่างไร มิจฉาสังกัปปะเป็นอย่างไร ต้องอาศัย สัมมาทิฏฐิ การรู้จักแยกแยะ สัมมาสังกัปปะ กับ มิจฉาสังกัปปะ ออกจากกันมากขึ้นแล้วก็แสดงว่าความเห็นกำลังน้อมไปทาง สัมมาทิฏฐิ มากขึ้นด้วยเช่นกัน

อิงจากคำตรัสว่า “สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ ภิกษุรู้จักมิจฉาสังกัปปะว่า มิจฉาสังกัปปะ รู้จักสัมมาสังกัปปะว่าสัมมาสังกัปปะ ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ” *(Q)

วิธีคิด (สังกัปปะ) ที่มุ่งไปสู่ความถูกต้อง เกิดเป็นความคิด (วิตก) ที่ถูกต้อง ต้องยืนพื้นบนความเห็นหรือมุมมองต่อโลก (ทิฏฐิ) ที่ถูกต้อง

หากไม่เห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เราก็ย่อมคิดอย่างหลงผิดโดยเชื่อว่าสิ่งนั้นๆ จะเที่ยงแท้ เป็นสุขดั่งใจ และหมายมั่นเป็นตัวตนของตนได้ การคิดนั้นก็ดำเนินไปผิดทางที่ถูกต้อง ทำให้เกิดความทุกข์และกิเลสอีกมากมายตามมา

เมื่อไม่มีความเห็นเกี่ยวกับอริยสัจสี่ ได้แก่ ความเป็นทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การพ้นทุกข์ และทางพ้นทุกข์ เมื่อเกิดปัญหาเราก็จะคิดโทษสิ่งนั้นสิ่งนี้ไปต่างๆ นานา แล้วก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากปัญหาได้เสียที ต้องเจอกับทุกข์เดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก

การจะฝึกขัดเกลาความคิดของตนเองได้ เลี่ยงไม่พ้นที่ต้องฝึกสมาธิ ตามที่กล่าวไว้ในบทความตอนแรกของ สัมมาสังกัปปะ : วิธีคิดแบบพุทธะ และเรื่องราวก่อนการตรัสรู้ของพระพุทธเข้าดังที่ได้กล่าวในช่วงต้นของบทความตอนนี้ การมีสมาธิเราจึงจะนายผู้กำหนดความคิดและนามธรรมทั้งหลายแห่งใจได้ หากฟุ้งซ่านขาดสติไป เราก็จะไม่อาจควบคุมความคิดใดๆ ของตนเองได้เลย เปรียบเหมือนนั่งขับรถ แต่ใจไม่ได้อยู่ที่การขับรถ เครื่องยนต์ก็ย่อมแล่นต่อไปพาให้ไปสู่ทิศทางต่างๆ นานาๆ จนประสบอุบัติเหตุ

หากมีสมาธิในการขับรถยนต์ เฉกเช่นที่มีสมาธิในการคิดตริตรองสิ่งต่างๆ ตัวรถยนต์ซึ่งเปรียบกับการคิดนั้นก็ย่อมแล่นไปถึงจุดหมายปลายทางได้โดยสวัสดี เมื่อมีวิธีคิดที่ถูกต้อง พฤติกรรมทางกาย วาจา และใจ ย่อมเหมาะสมตามมา

สัมมาสังกัปปะ จึงนำมาสู่ข้อต่อไปในอริยมรรค คือ “สัมมาวาจา” สื่อสารอย่างตื่นรู้ ซึ่งจะเป็นตอนต่อไปของบทความชุดนี้

เกร็ดเสริมส่งท้าย… สมัยพุทธกาลนั้น พระสุทินน์ เดิมเป็นบุตรเศรษฐีผู้หนึ่ง ซึ่งได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วเกิดความเลื่อมใสอยากออกบวช แต่มีกฎพระวินัยในการขอบรรพชาอุปสมบทอยู่แล้วว่าจะต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่บุพการีก่อน เขาพยายามร้องขออ้อนวอนพวกท่านเท่าไร พ่อแม่ก็ไม่อนุญาต เพราะเหตุเป็นลูกคนเดียวและมีทรัพย์สมบัติที่หวงแหน จนสุดท้ายลูกต้องใช้อุบายอดข้าวอดน้ำ เป็นผลต่อรองได้สำเร็จ

กระนั้นโยมพ่อโยมแม่พระสุทินน์ก็ไม่ยอมแพ้ เมื่อพระกลับมาพำนักใกล้กรุงเวสาลีอันมีพระญาติของท่านอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยเวลานั้นแคว้นวัชชีอันเป็นที่พำนักในทีแรกเกิดข้าวยากหมากแพง การบิณฑบาตจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก พระสุทินน์จึงเลือกมาอยู่ใกล้บ้านเดิมเพื่อความสะดวกสบาย จึงเข้าทางโยมพ่อโยมแม่ทันที

ทั้งสองท่านต่างพยายามหาวิธีการต่างๆ เพื่อให้พระลาสิกขาออกมาดูแลทรัพย์สมบัติของตระกูล รบเร้าออกอุบายต่างๆ ก็แล้ว แต่พระสุทินน์ก็แน่วแน่ในการปฏิบัติพรหมจรรย์ ท้ายที่สุดจึงอ้อนวอนขอ “พืชพันธ์” หรือ หน่อ หมายถึง บุตรไว้สืบสกุลและดูแลทรัพย์ต่างๆ ของตระกูล ด้วยความตอนนั้นยังไม่มีพระวินัยกำหนดบทลงโทษและเห็นว่าน่าจะกระทำได้เพื่อให้ปัญหาจบลง จึงร่วมประเวณีกับภรรยาเก่าถึงสามหนจนนางตั้งครรภ์ได้บุตรชาย

เหตุการณ์นี้รู้กันแต่เฉพาะบางบุคคลเท่านั้น พระสุทินน์ก็มิได้ปริปากบอกเล่าให้ภิกษุรูปอื่นหรือพระพุทธเจ้าได้รับทราบ แต่หลังจากนั้นความรู้สึกผิดและความทุกข์ต่างๆ ก็รบกวนรังควานจิตใจของพระสุทินน์ เกิดเป็นความคิดเช่นว่า “เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ เพราะเราบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิต” เพราะความรู้สึกรบกวนใจเหล่านั้นจึงทำให้หน้าตาและกายาซูบผอมเศร้าหมอง มีจิตใจห่อเหี่ยวหดหู่

จนสหายภิกษุทั้งหลายก็เริ่มสังเกตการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงออกปากเอ่ยถามพระสุทินน์ เพราะเกรงว่าจะไม่ยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์แล้ว พระสุทินน์จึงได้ตอบว่าหาเป็นเช่นนั้นไม่ ก่อนสารภาพความจริงที่ได้เสพเมถุนร่วมสังวาสกับภรรยาเก่าให้สหายภิกษุได้ทราบความจริง

ดังนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงได้ตักเตือนเป็นการใหญ่ ด้วยข้อความเช่น “อาวุโส ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัดไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อมีความถือมั่น มิใช่หรือ?

“เมื่อธรรมชื่อนั้น อันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว เพื่อคลายความกำหนัด คุณยังจะคิดเพื่อมีความกำหนัด เมื่อทรงแสดงเพื่อความพราก คุณยังจักคิดเพื่อความประกอบ เมื่อทรงแสดงเพื่อความไม่ถือมั่น คุณยังจักคิดเพื่อมีความถือมั่น”

แล้วจึงนำความกราบเรียนพระพุทธองค์ให้ทรงรับทราบ พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งประชุมหมู่สงฆ์ พร้อมทั้งทรงตำหนิพระสุทินน์ในใจความเดียวกันกับที่สหายภิกษุได้ตักเตือนแล้วอีกครั้ง ด้วยข้อความเช่น

“ดูกรโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อมีความถือมั่นมิใช่หรือ?

“เมื่อธรรมชื่อนั้นอันเราแสดงแล้ว เพื่อคลายความกำหนัด เธอยังจักคิดเพื่อมีความกำหนัด เราแสดงเพื่อความพราก เธอยังจักคิดเพื่อความประกอบ เราแสดงเพื่อความไม่ถือมั่น เธอยังจักคิดเพื่อมีความถือมั่น”

พร้อมกันนั้นก็ได้ทรงตักเตือนถึงโทษของการเสพเมถุน การไม่ธำรงตนในหนทางที่ควร และทรงแสดงพระธรรมเทศนาเพิ่มเติม ก่อนทรงบัญญัติสิกขาบทข้อห้ามเรื่องการเสพเมถุน นับเป็นกรณีแรกอันเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงต้องตั้งกฎนี้ขึ้นเพื่อความประโยชน์ของการฝึกตนของหมู่สงฆ์และความเลื่อมใสของผู้คนทั้งหลาย *(R)

คำตรัสและข้อความตักเตือนที่สหายภิกษุของพระสุทินน์ได้กล่าวไว้ ก็เป็นนัยให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดทบทวนว่า เมื่อฟังธรรมะอ่านธรรมะจากพระพุทธเจ้าแล้ว ทั้งในบทความนี้หรือแหล่งอื่นก็ตาม เราควรรักษาความคิดของตนอย่างไรต่อไป จะยังคิดในทางลบหรืออกุศลจนทำให้สิ่งที่ได้เรียนรู้อันมีค่ามหาศาลต้องเสียเปล่า หรือจะคิดในทางที่ควรเพื่อความเจริญทั้งทางโลกและธรรมต่อไป

ในเมื่อพระศาสดาได้สอนเรื่องการคลายจากกำหนัด ความพราก และความไม่ถือมั่น ซึ่งเป็นทางของการดับทุกข์แล้ว เราจะยังคิดในทางก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตตนกับคนอื่นอีกมากเพียงใด

พระพุทธเจ้าตรัสสอนการคิดอย่างพุทธะแล้ว เราจะปล่อยให้การคิดต้อยตามกิเลสจนมัดใจให้ทุกข์ไม่จบสิ้นอย่างที่เคย หรือคิดตามอย่างท่านจนความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเบ่งบานขึ้นในใจ

อีกบทเรียนที่ดีจากเรื่องราวของพระสุทินน์ บางครั้งเราก็หลงผิด คิดผิดเพี้ยนหรือตัดสินใจไม่ถูกต้องได้เป็นธรรมดา ประสาผู้ยังมีอาสวะกิเลสพอกพูน ยังมีอวิชชาบังปัญญาอยู่ แม้ฉลาดเฉลียวเพียงใดก็คิดผิดตัดสินใจพลาดกันได้ ดังนั้น จึงควรมีมิตรแท้ที่คอยช่วยเตือน เหมือนสหายภิกษุที่ช่วยกันเตือนพระสุทินน์ให้ตาสว่าง ควรมีครูอาจารย์ผู้คอยชี้ทางที่ถูกต้องและสามารถกำราบใจมิให้ลุ่มหลง

แบบอย่างที่ดีของพระสุทินน์ก็คือการยอมรับความผิดพลาด แล้วเปิดใจสารภาพออกมาในที่สุด การที่เราไม่อยู่กับความคิดของตนเพียงลำพัง จนตัดสินผิดพลาดเหมือนตอนพระสุทินน์เลือกเสพเมถุนตามใจโยมพ่อโยมแม่ แต่เปิดใจปรึกษาเล่าให้ผู้อื่นรับฟังหรือร่วมเสนอแนะแนวทาง เราอาจเกิดปัญญาแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดมากกว่าคิดเองเพียงคนเดียว

สาเหตุที่พระสุทินน์คิดตัดสินใจผิดพลาด นอกเหนือจากการไม่ปรึกษาภิกษุรูปอื่นหรือทูลขอคำแนะนำจากพระพุทธเจ้าก่อน ยังเกิดขึ้นเพราะความเห็นหรือ ทิฏฐิ ยังไม่เป็น สัมมาทิฏฐิ มากเพียงพอ และขาด โยนิโสมนสิการ ทำให้การตัดสินใจแก้ไขปัญหาจึงยังไม่ถูกต้อง เพราะพระลืมว่าโยมพ่อโยมแม่มิอาจรบกวนท่านได้ตลอดไป เมื่อเวลาผ่านไปท่านก็อาจสามารถตรัสสอนโยมพ่อโยมแม่ให้ปล่อยวางได้ และที่สำคัญอีกจุดหนึ่งคือการเลือกพำนักใกล้หมู่ญาติตั้งแต่ต้นเพราะความสะดวกต่อการดำรงชีพจนไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมา เลือกทางง่ายแต่ไม่ทันคำนึงผลยากที่รอคอย

หากกล่าวตามท่านพุทธทาสก็ต้องกล่าวว่าการฝึกใจตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา คือการทำให้ใจสูงขึ้น สูงจนพ้นอยู่เหนือทุกข์และปัญหาที่คนทั่วไปต้องประสบวนเวียน ดังนั้นแล้ว การคิดแบบพุทธะคือการคิดที่ทำให้ใจเราสูงขึ้น ถ้าคิดแล้วทำให้ใจต่ำลง จนเกลือกกลั้วคลุกคลีสิ่งต่ำทรามทั้งหลาย นั่นก็ไม่ใช่วิธีคิดที่ควรเลย

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่หยิบยกมาเพื่อชวนผู้อ่านทบทวนการคิดของตนเอง เป็นอุทาหรณ์ย้ำเตือนและชี้แนวทางในการคิดเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ เพื่อบ่มเพาะความเป็นพุทธะในใจให้เบ่งบาน เพราะเมล็ดพันธุ์แห่งการตื่นรู้มีอยู่ในจิตใจของทุกคนอยู่แล้ว

การมีวิธีคิดที่เหมาะสม คิดไม่สนองความโลภ โกรธ หลงใดใด คิดโดยไม่เอาตัวเองเป็นใหญ่ คิดอย่างเป็นกลางและสืบค้นต้นเค้าแห่งปัญหาจนถึงแก่น สังกัปปะเหล่านี้ก็จะเป็นดั่งปุ๋ยบำรุงเมล็ดพันธุ์ในใจสืบไปจนถึงวันเบ่งบานเมื่อปัจจัยเพียบพร้อม

.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 69
.
> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/
.
> > > สนับสนุนโครงการ ผ่านคอร์สของเรา
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/

 

[ อ้างอิง ]

*(A) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๙. เทวธาวิตักกสูตร ว่าด้วยความวิตก ๒ ส่วน เรื่องวิตก [๒๕๒]
*(B) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๔. จูฬทุกขักขันธสูตร ว่าด้วยกองทุกข์ [๒๑๑ – ๒๑๘]
*(C) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต พลสูตร [๙๐]
*(D) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สักกปัญจกะที่ ๓ ฆัตวาสูตรที่ ๑ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๙๔๔]
*(E) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘ พรหมทัตตเถรคาถา [๓๕๘]
*(F) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต อาฆาตวรรคที่ ๒
*(G) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ๘. ปิณโฑลยสูตร ว่าด้วยการเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีพ
*(H) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ๓. ปุณโณวาทสูตร (๑๔๕) [๗๕๔]
*(I) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ–ธรรมบท–อุทาน–อิติวุตตกะ–สุตตนิบาต คาถาธรรมบท มลวรรคที่ ๑๘ [๒๘]
*(J) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต คาถาธรรมบท สุขวรรคที่ ๑๕ [๒๕]
*(K) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ๒. สนิทานสูตร [๓๕๗ – ๓๖๐]
*(L) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓๙ – ๔๑]
*(M) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๒. สัพพาสวสังวรสูตร ว่าด้วยการสังวรในอาสวะทั้งปวง [๑๑]
*(N) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต ๘. อันธการสูตร [๒๖๖ – ๒๖๗]
*(0) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต [๒๐]
*(P) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๑๐. วิตักกสัณฐานสูตร ว่าด้วยอาการแห่งวิตก [๒๕๘]
*(Q) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ๗. มหาจัตตารีสกสูตร (๑๑๗) อริยวสสูตรที่ ๒[๒๕๙]
*(R) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ ปาราชิกกัณฑ์ ปฐมปาราชิกสิกขาบท เรื่องพระสุทินน์ [๑๐ – ๒๐]