หากยึด ‘สุข’ ก็ไม่พ้น ‘ทุกข์’
หนึ่งในเนื้อหาช่วงท้ายของกิจกรรม “เขียน ปล่อย วาง” ครั้งที่ 5
สุข และ ทุกข์ ต่างก็เป็นเหรียญสองด้านของสิ่งเดียวกัน การปรารถนาในสุขก็ต้องยอมรับอีกด้านของมัน นั่นก็คือความทุกข์ แท้จริงความสุขก็เป็นเพียงความทุกข์ในรูปแบบที่เราทนกับมันได้มากกว่า มีเปลือกที่ดูสวยงาม หรือเราพอใจกับมันได้มากกว่าความทุกข์ในรูปแบบอื่น
การใฝ่หาในสุขโดยหวังว่าจะไม่มีทุกข์นั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะแม้แต่ความสุขที่ประเสริฐเพียงใด ก็มิพ้นไปจากการเสื่อมสลาย ความไม่สมบูรณ์แบบ และการไม่อาจที่ยึดเป็นของๆ ตนได้อย่างแท้จริง
การยึดในความสุข ก็จะพาให้ชีวิตต้องดิ้นรนตามหาความสุขที่มากกว่า หรืออย่างน้อยๆ ก็เท่ากัน นั่นก็เป็นทุกข์ คือมีภาระ ความยากลำบาก และความไม่พอใจ เมื่อได้น้อยกว่าที่เคย หรือน้อยกว่าที่วาดหวังไว้ จิตใจก็เป็นทุกข์เช่นกัน
เมื่อยึดสุขตามใจอยาก เจอสิ่งใดที่ไม่ได้ให้ความสุขอย่างที่อยากได้ มันก็เป็นทุกข์เพราะความไม่พอใจ
สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตหรือที่เรียกว่าปัญหา อาจมิใช่ปัญหาโดยแท้จริงก็ได้ เพียงแค่มันเป็นสถานการณ์ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้ทำให้เราเกิดความสุขอย่างที่อยากได้เท่านั้นเอง เราจึงมองมันในทางลบ มากกว่ามองไปตามความจริง
การฝึกภาวนาในทางพุทธศาสนา จึงให้เผชิญหน้าและก้าวข้ามไปจากทั้งสองขั้ว เพราะมิว่าจะยึดในสุขหรือทุกข์ ชีวิตเราก็ยังต้องเวียนว่ายในท้องทะเล ณ ที่ซึ่งจิตใจเราจะถูกคลื่นโยนขึ้นลงอย่างไม่จบสิ้น
ความสุขยิ่ง ที่กล่าวถึงในพระพุทธศาสนา คือการเป็นอิสระแม้แต่ความสุข ซึ่งไม่พ้นจากการเป็นไตรลักษณ์ – อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา
สุขนี้ไม่เพียงแค่ความรู้สึกสุขทั่วไป หากรวมถึงความเบาสบาย ความสงบ และความไหลลื่น ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้จากการทำสมาธิ และจากการพัฒนาจิตใจจนมีสุขภาวะที่ดีขึ้น แต่สุขเหล่านี้ก็ยังมิใช่ที่สุด เป็นเพียงดอกไม้รายทางบนถนนไปสู่ยอดเขาแห่งการตื่นรู้ – การพ้นทุกข์อย่างแท้จริง
สำหรับผู้ปฏิบัติที่หลงเชยชมดอกไม้ริมทางเสียเนิ่นนาน สุดท้ายแล้ว สัตว์ร้ายในป่านั้นก็จะลากเขาลงไปจากทางเดิน เปรียบดังความเสื่อมจากการปฏิบัติและการรักษาจิตตนเอง ย่อมเกิดขึ้นเมื่อหลงมัวเมากับความสุข
การปล่อยวางจากความทุกข์ ต้องฝึกคู่ไปกับการปล่อยวางในความสุขด้วย แม้จะเป็นภาวะที่ดีหรือสิ่งที่สุขเพียงใด สิ่งเหล่านั้นก็เพียงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตามเหตุปัจจัย ซึ่งไม่ขึ้นกับตัวฉันเป็นสำคัญ ไม่อาจเป็นของๆ ฉันได้ชั่วนิรันดร์ และต่างก็เป็นทุกข์หรือความบกพร่องอยู่ในนั้น
พึงทำความเข้าใจว่า นั่นไม่ใช่สุข เป็นเพียงภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ที่พอใจ มันเกิดขึ้นมาตามเหตุปัจจัยแล้วก็จะจากเราไป สิ่งที่ดูตรงข้ามกันนี้ นั่นก็ไม่ใช่ทุกข์ เป็นเพียงภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ที่ไม่พอใจ มันเกิดขึ้นมาตามเหตุปัจจัยแล้วก็จะจากเราไป เช่นเดียวกัน
การยึดในความสงบ ก็จะไม่พ้นจากความวุ่นวาย โดยเฉพาะหากหวังความสงบจากสิ่งนอกตัว แต่ไม่ได้กระทำความสงบให้เกิดขึ้นภายใน เพราะมิมีสิ่งใดที่จะรบกวนจิตใจไปมากกว่ากิเลสที่อยู่ในใจตน
ความข้อนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนระลึกได้จากการนั่งสมาธิในวันหนึ่ง ขณะนั้นเป็นช่วงที่ต้องย้ายบ้านหนีพิษเศรษฐกิจ มาอยู่บ้านเช่าหลังเล็กๆ ในชุมชนที่มีเสียงดังจากเพื่อนบ้านรบกวนแทบทุกวัน
ยิ่งยึดในความสงบและไม่สบอารมณ์กับการถูกรบกวนมากเท่าใด จิตใจก็ยิ่งไม่สงบมากขึ้นเท่านั้น และบ่มเพาะโทสะให้เกิดขึ้นภายในจิตใจ ซึ่งไม่มีประโยชน์ใดต่อตนเองเลย ทำให้เสียงในหัวบางทีก็วุ่นวายไม่แพ้ภายนอกด้วยซ้ำ
สุดท้ายเมื่อมิอาจสื่อสารหรือทำสิ่งใดเพื่อแก้ไขได้ จึงปล่อยวางจากความอยากได้ความสงบ และกลับมาสงบกับตนเอง เปลี่ยนให้เสียงเหล่านั้นเป็นเพียงเสียงธรรมชาติ เหมือนนกร้องคุยกัน เป็นต้น ความอยากสงบที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทำให้วุ่นวายใจ เมื่อไม่อยากสงบแล้ว จิตใจกลับมาสงบมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อนั้นจึงได้รู้ว่า ไม่มีสิ่งใดกวนใจตน ยิ่งกว่ากิเลสของตนเองแล้ว
ความอยากสงบทำให้ใจวุ่นวาย ความอยากสุขก็ทำให้ใจนั้นเป็นทุกข์ เมื่อละจากความอยากสงบจิตใจจึงสงบ เมื่อละจากความอยากสุข เมื่อนั้นใจจึงได้พบกับสุขแท้
การปล่อยวางจากความอยาก มิใช่การยอมจำนน และไม่ใช่ไม่มีเป้าหมาย จริงๆ แล้วคือการไม่ยอมจำนนต่อโซ่ตรวนที่ใจผูกมัดตัวเอง และมีเป้าหมายของการเป็นอิสระ ที่ยิ่งใหญ่กว่าเป้าหมายธรรมดาทั่วไปในโลก
ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างยิ่งที่จะปล่อยวางแม้แต่ความสุขหรือสิ่งที่ดี แต่ท้ายที่สุดแล้วหากเรามิยอมปล่อยวาง ความจริงของโลกก็จะบังคับให้เราต้องปล่อยมันไปในท้ายที่สุดอยู่ดี เมื่อวันเวลานั้นได้มาถึง
เราจึงควรฝึกไว้เสียแต่ตอนนี้ ฝึกปล่อยวางแม้แต่ในสิ่งที่ดีที่ใจหวงแหน เริ่มจากของง่ายใกล้ตัว อย่างเช่นลมหายใจและความสุขทั้งหลาย เพื่อรับมือได้เป็นอย่างดีกับความจริงของชีวิตที่มิอาจเลี่ยงได้ – มีพบก็มีพราก เจอเพื่อจากลา มิว่าจะเป็นสุข ทุกข์ สิ่งใด บุคคลไหน ภายนอกหรือภายใน ก็ไม่มีข้อยกเว้น
ครูโอเล่
สถาบันธรรมวรรณศิลป์
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต
https://www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/
ติดตามกิจกรรมอบรม