เรื่องราวโดยย่อของ อ.ประชา หุตานุวัตร และ สถาบันธรรมวรรณศิลป์

 

เรื่องราวโดยย่อของ อ.ประชา หุตานุวัตร และ สถาบันธรรมวรรณศิลป์

ท่านเกิดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2495 เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “ยุวชนสยาม” สมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ณ สวนกุหลาบวิทยาลัย มีบทบาทเคลื่อนไหวในขบวนการนักเรียนนักศึกษาที่มุ่งมั่นแสวงหาหนทางในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้เป็นธรรม

ท่านเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาจึงลาออกไปเรียนรู้นอกรั้วมหาวิทยาลัยหลังจากเข้าเรียนได้ 3 ปี เพื่อแสวงหาครูอาจารย์และทำกิจกรรมที่ท่านสนใจ โดยมีอาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์เป็นครูคนสำคัญที่คอยสนับสนุนและให้คำแนะนำ แนวคิดทางสังคมของท่านค่อยๆ เปลี่ยนแปลงจากความศรัทธาต่อลัทธิมากซ์ (Marxism) ที่มีตั้งแต่ครั้งเป็นนักเรียน เปลี่ยนเป็นการเชื่อมั่นต่อสันติวิธีและอหิงสา กระทั่งได้ออกบวชโดยมีนามฉายาว่า “พระประชา ปสนฺนธมฺโม” แล้วได้ศึกษาธรรมะกับท่านพุทธทาสเป็นเวลากว่า 7 ปี

ในช่วงที่ออกบวชนั้นเองท่านมีผลงานทั้งการแปลหนังสือ ปาฎิหารย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ Miracle of Being Awake ของท่านติช นัท ฮัน, จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ The Turning Point เป็นต้น มีผลงานเขียน อาทิ อยู่อย่างขบถบนเส้นทางอุดมคติ , ศาสนธรรมสำหรับคนหนุ่มสาว เป็นต้น และเป็นผู้สัมภาษณ์ทำอัตชีวประวัติท่านพุทธทาสในชื่อ เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา

เมื่อลาสิกขาหลังจากบวชได้ประมาณ 11 ปี ท่านได้ตระเวนศึกษาอาศรมต่างๆ ในอินเดียที่ก่อตั้งขึ้นตามแนวคิดของมหาตมคานธี และช่วยงานเพื่อสันติภาพในศรีลังกา ก่อนจะศึกษาขบวนการทางศาสนาที่ประเทศญี่ปุ่น แล้วกลับมาเป็นผู้อำนวยการ “อาศรมวงศ์สนิท” เป็นระยะเวลาประมาณ 10 ปี และยังมีบทบาทในการพัฒนาบุคลากรที่ทำงานภาคประชาสังคมในประเทศต่างๆ อาทิ ประเทศพม่าอยู่หลายปี

ท่านมีความสนใจประยุกต์การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เข้ากับการเรียนการสอนพุทธธรรม มีความตั้งใจนำพุทธศาสนา โดยเฉพาะธรรมะและวิธีคิดที่ท่านได้ศึกษาจากท่านพุทธทาส และกระบวนทัศน์ใหม่ของประเทศฝั่งตะวันตกมาประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นในผลงานต่างๆ ของท่าน มิว่าในงานเขียนและการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งของท่าน

ในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นวาระครบรอบชาตกาลท่านพุทธทาส อาจารย์ประชาตัดสินใจก่อตั้งโครงการยุวโพธิชน เพื่อสร้างเสริมผู้นำชาวพุทธรุ่นใหม่สำหรับการสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามยิ่งกว่าเดิม โดยเป็นการสืบสานปณิธานของท่านพุทธทาสในการนำศีลธรรมกลับมาสู่สังคมและส่งเสริมเยาวชนให้เข้าถึงธรรมะชนิดถึงแก่น ผ่านการเรียนรู้ที่แตกต่างจากในห้องเรียน

หนึ่งในกิจกรรมสำคัญของโครงการยุวโพธิชนในขณะนั้นก็จะเป็นค่ายยุวโพธิชน ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ธรรมะที่ไม่ไกลตัว เน้นให้เยาวชนได้รู้จักตนเอง เรียนรู้คุณค่าแท้คุณค่าเทียม มีความเข้าใจสังคม ธรรมะ การภาวนา และการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น อีกทั้งยังมีการอบรมให้แก่พระภิกษุและครูในโรงเรียนต่างๆ อีกด้วย

โครงการธรรมวรรณศิลป์ ก็ได้ค่อยๆ ก่อเกิดเป็นหน่ออ่อน ในรูปแบบของการประกวดงานเขียนเยาวชนเพื่อเฟ้นหาเยาวชนที่มีแววทางความคิด ความเป็นผู้นำ การมีโยนิโสมนสิการ เป็นต้น โดยให้ทุนการศึกษาและโอกาสในการฝึกฝนพัฒนาตนเองผ่านการเข้าร่วมค่ายยุวโพธิชน ก่อนที่โครงการประกวดงานเขียนนี้จะเริ่มมีกิจกรรมอื่นๆ มากขึ้น อาทิ การเสวนา งานอ่านบทกวี วารสารออนไลน์ และค่ายธรรมวรรณศิลป์ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ค่ายธรรมวรรณกร เพื่อส่งเสริมให้การอ่านเขียนเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชีวิตในกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา นอกเหนือจากการประกวดชิงทุนการศึกษา

การเติบโตของโครงการนี้เองเกิดขึ้นเพราะการให้โอกาสของอาจารย์ต่อ(ครู)โอเล่ ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้ประสานงานโครงการ ให้ได้ทดลองริเริ่มกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการหาทุนรอนให้แก่โครงการ โดยยังพื้นที่ในการฝึกฝนตนเองผ่านการรับผิดชอบโครงการอีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2555 โครงการได้เริ่มพัฒนาหลักสูตร เขียนเปลี่ยนชีวิต และมีการจัดค่ายทดลองที่อาศรมวงศ์สนิท ซึ่งอาจารย์ประชาและพี่ๆ ในโครงการยุวโพธิชน – โดยตอนนั้นได้เปลี่ยนเป็น สถาบันยุวโพธิชน ได้สนับสนุนทุนรอนจัดซื้อหนังสือและการศึกษาความรู้ในการพัฒนาหลักสูตรของโครงการนี้ โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

ในช่วงประมาณเดียวกันนี้เองท่านก็ได้เดินสายช่วยทาบทามศิลปินกวีและนักเขียนบางท่านให้ร่วมเป็นกรรมการที่ปรึกษาของโครงการธรรมวรรณศิลป์ จนกระทั่งต่อมาในปลายปี 2556 อาจารย์ประชาได้อนุญาตให้นำโครงการนี้ออกจากร่มเงาของท่าน เพื่อพัฒนาเป็นสถาบันธรรมวรรณศิลป์ และดำเนินกิจกรรมบนแนวทางของตนเองที่ไม่ต้องการพึ่งพาแหล่งทุนต่อไป ซึ่งในเวลานั้นจึงได้เกิดหลักสูตร เขียนเปลี่ยนชีวิต อย่างเป็นจริงเป็นจังในปี 2557 ก่อนจะพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ขึ้นในเวลาต่อมา โดยมีกิจกรรมการอบรมหารายได้และกิจกรรมการกุศลเป็นสองด้านที่คานซึ่งกันและกัน

แม้จะไม่ได้อยู่ภายใต้ร่มเงาของท่านแล้ว แต่อาจารย์ประชา หุตานุวัตร ยังคงอยู่เบื้องหลังในการให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาในการก้าวเดินของสถาบันธรรมวรรณศิลป์ ทั้งเรื่องการดำเนินงาน การสอน และส่วนตัว ได้ให้เกียรติเป็นวิทยากรรับเชิญในบางหลักสูตร เป็นพ่อและครูที่เคารพของพวกเราอยู่เสมอ

 

* ภาพประกอบจากงานอ่านเสวนา “อ่านเขียนเพื่อพัฒนาชีวิต” จัดโดยสถาบันธรรมวรรณศิลป์ ณ TK Park ปี พ.ศ. 2554

เว็บไซต์ของเรา
www.dhammaliterary.org

#RIP #pracha_hutanuwatr