คอลัมน์ ความหลังครั้งยุวชนสยาม #๕
ตอน “เตรียมค่าย”
เขียนโดย ประชา หุตานุวัตร
เขียนเสร็จเมื่อปลายเหมันต์ ปี ๒๕๔๘ แก้เกลาใหม่ ตุลาคม ๒๕๕๘
กระท่อมน้อยในทุ่งฝัน ชุมชนฟินด์ฮอน สก๊อตแลนด์
กลับมาเรื่องกลุ่มยุวชน หลังจากคิดเรื่องตั้งกลุ่มไม่นานความคิดเรื่องอยากทำค่ายฝึกกำลังคนก็เกิดขึ้น นี้เป็นผลโดยตรงจากข้อเขียนเรื่องค่ายฝึกกำลังคนของโกมล คีมทอง ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของท่าน อาจารย์พุทธทาสเรื่องก่อนจะทำประโยชน์ให้สังคมต้องพัฒนาตนเองก่อน
สมัยนั้นนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆนิยามออกไปทำค่ายอาสาสมัครในชนบทโดยสร้างโรงเรียนหรือถาวรวัตถุอื่นๆในชนบท แต่ชมรมปริทัศน์เสวนาที่โกมลสังกัดอยู่ได้ก่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์แนวทางนั้นขึ้น ว่าเน้นแต่วัตถุไม่ได้เน้นเรื่องสร้างคน โกมลได้ริเริ่มค่ายการศึกษาขึ้นที่คณะครุศาสตร์ ผมเข้าใจว่าน้าอาจที่ปรึกษาค่ายของเราและเป็นรุ่นเดียวกับโกมลก็ไปร่วมค่ายนี้ของโกมลด้วย
ข้อได้เปรียบของนักเรียนมัธยมรุ่นผมอีกอย่างที่ได้อ่านงานของโกมลก็คือ ทำให้เรารู้ว่าพวกหัวก้าวหน้า ในมหาวิทยาลัยนั้นเขาคุยอะไรกัน เขาเถียงประเด็นอะไรกันบ้าง พอก้าวเข้ามหาวิทยาลัยในปีต่อมา พวกเราก็เลยอยู่หัวขบวนในเรื่องความคิดความอ่านโดยปริยาย แต่ทั้งนี้ก็ยังมีปัจจัยอื่นเข้าเสริมด้วย โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับเรื่องเนื้อหาของค่ายและสายสัมพันธ์กับจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ค่อยๆโยงเข้ามา
ช่วงนั้นมีค่ายที่ค่อนข้างก้าวหน้าอีกแบบหนึ่งคือค่ายเยาวชนประชาธิปไตยของ ธัญญา ชุนชฎาธาร หรือพี่หงา ซึ่งเรารู้จักคุ้นเคยที่งานสัมมนาอุดมคติคนหนุ่มสาวที่เชียงใหม่ ที่มีขึ้นในเดือนพฤษจิกายน ปี ๒๕๑๔ แต่เราอาจรู้จักพี่หงามาก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปริทัศน์เสวนาแล้วก็ได้ เพราะจำได้ว่าพออ่านหนังสืองานศพของโกมล แล้วก็สืบเสาะตามที่อยู่ในหนังสือไปที่ร้านศึกษิตสยาม และได้พบกับสองสาวนักแสวงหาจากศึกษานารี ดังกล่าวมาแล้ว จากนั้นก็ได้ไปร่วมเสวนาเป็นครั้งคราว
คนที่เราหรือผมสนิทสนมด้วยมากที่สุดเป็นคนแรกเห็นจะเป็นพี่เชาวชาติ นัยนแพทย์ ตอนนั้นเป็นผู้ประสานงานจัดเสวนา ทำรายการตลอดครึ่งปี เราก็ไปตามรายการที่เราสนใจ จำได้ว่าแกชวนเพื่อนฝูงมางานสังคมนิทัศน์ของเราด้วย
ตอนนั้นงานกิจกรรมโรงเรียนที่โดดเด่นอีกงานหนึ่งคือการไปเชียร์กิฬาโดยเฉพาะฟุตบอลจตุรมิตร ระหว่างสวนกุหลาย เทพศิรินทร์ อัชสัมชัญ และกรุงเทพคริสเตียน มีการร้องเพลงปลุกใจ มีการเต้นของคนนำเชียร์ คล้ายในมหาวิทยาลัย เย็นๆก็มีการซ้อมเชียร์กันเป็นกิจลักษณะ พี่เชาวชาติเห็นพอดี ตอนมางาน จึงปรารถทำนองว่า “นี่เขากำลังจะเลิกกันแล้วในมหาวิทยาลัย ที่นี่ยังเอาจริงเอาจังกันอีก”
ผมจำได้เพราะว่าผมก็เคยกระตือรือร้นเรื่องเชียร์มาก่อน นัดไหนนัดนั้นต้องไปให้ได้ และต้องตะเบ็งกันสุดเสียง เพิ่งจะกลับหน้ามือเป็นหลังมือก่อนงานสังคมนิทัศน์ไม่นานนี้เอง มามองย้อนไปตอนนี้ ผมเข้าใจว่ากีฬาเป็นทางออกอย่างหนึ่งของคนสังคมสมัยใหม่ที่แปลกแยกไร้อัตลักษณ์ การร่วมเชียร์กีฬาอย่างเอาเป็นเอาตาย เป็นส่วนหนึ่งของการชดเชยความรู้สึกขาดที่ว่านี้ และทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นใคร ทำให้เรารู้สึกมีชุมชนสังกัด มีอัตตลักษณ์ร่วมได้ ส่วนอัตลักษณ์นั้นเป็นเรื่องตื้นลึกแค่ไหน เป็นการหนีความแปลกแยกแบบหนึ่ง
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือแล้วการทำงานสังคมล่ะ ไม่เป็นการหนีอีกแบบหนึ่งหรือ เป็นการแสวงหาของปลอมอีกแบบหนึ่งหรือเปล่า ทำเพื่อสังคมแบบไหนจึงจะไม่เป็นการหนี นี่มาถามเอาตอนแก่แล้วนะครับ
กลับมาเรื่องพี่อ๋าธัญญา พี่ผมเอ่ยถึงเพราะพี่อ๋าให้คำปรึกษาส่วนตัวพวกเราอยู่มากตอนคิดจะทำค่าย เป็นคนบอกเรื่องแหล่งทุนด้วย ว่าขอได้อย่างไรบ้าง เข้าใจว่าเป็นคนแรกที่บอกผมว่าจะเขียน โครงการขอทุนได้อย่างไร โดยเอารายงานค่ายของแกให้เราดู ในนั้นก็มีตัวโครงการอยู่ด้วย เราก็ลอกแบบแล้วก็เติมเนื้อหาของเราเอง
ตอนนั้นมีหน่วยงานของรัฐชื่อสำนักงานเยาวชนแห่งชาติ เป็นที่ให้ทุนนักศึกษาออกไปทำค่าย รวมทั้งมีรายชื่อสถานที่ในชนบทที่ต้องการความช่วยเหลือด้วย เราได้ทุนจากที่นี่ไม่มาก และไม่พอจึงต้องมีการหาทุนกันเองด้วย ตอนนี้ใกล้สอบไล่แล้ว และต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วย อันนี้จึงทำให้เกิดความเครียดขึ้นกับพวกเราหลายคน รวมทั้งผมด้วย เพื่อนหลายคนที่เข้ามาร่วมด้วยนั้น เป็นเด็กเรียนดีจากห้องราชาเช่นเดียวกัน เช่นสันติสุข ศุภมิตร วิญญู ทุกคนที่เอ่ยมานี้มีสิทธิที่จะได้ที่หนึ่งประเทศไทย ทุกคนทีสิทธิที่จะเรียนแพทย์ พวกเราที่อยู่มศ๕ทุกคนคงลำบากใจทั้งนั้น
ผมเองมาถึงตอนนั้นตัดสินใจแน่แล้วว่าจะเข้าครุศาสตร์ จะไปเรียนกับครูสุมน ของโกมล คีมทอง เรื่องสอบเข้ามหาวิทยาลัยจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เข้าใจว่าผมยังติดเรื่องสอบมศ๕ต้องให้ได้คะแนนดีอยู่ แม้จะรู้ว่าไม่มีทางได้ติดอันดับหนึ่งใน๕๐แล้ว แต่ก็ยังไม่อยากเสียท่ามากเกินไป ตอนสอบไล่ชั้นมศ๔ขึ้นมศ๕นั้นก็หวั่นๆอยู่ว่าจะหล่นออกจากห้องราชาหรือไม่ แม้ปากจะแข็งว่าไม่สนใจเรื่องนี้แล้วก็ตาม เมื่อผลออกมาจะยังติดห้องราชาอยู่ แต่เป็นอันดับท้ายๆก็ยังใจเสียอยู่ เพราะตอนสอบจากชั้นมศ๓ ขึ้นมศ๔นั้นอยู่ในอันดับต้นๆ แม้จะมีการแอบเปิดหนังสือตอบอยู่วิชาหนึ่ง ที่ไม่ได้ดูหนังสือ เพราะต้องช่วยงานที่บ้านขายเป็ดไก่ในช่วงตรุษจีน ก็ยังหลอกตัวเองได้ว่า เรายังมีโอกาสหนึ่งในใต้ฟ้าตามภาษากำลังภายใน
ในที่สุดผมก็ตัดสินใจจัดเวลาให้ตนเองดูหนังสือสองเดือน โดยที่ปีนั้นทั้งปีแทบจะไม่ได้เรียนเลยก็ว่าได้ ใจกายแตกสานซ่านเซ็นไปอยู่นอกห้องเรียนหมด แต่มาถึงตอนนี้เราก็รู้วิธีสอบเสียแล้ว เพราะโรงเรียนนี้เขาสอนให้เป็นนักสอบจริงๆ วิธีที่จะเป็นนักสอบก็คือการเรียนข้อสอบ แทนที่จะเรียนหนังสือเรียน เราฝึกเรียนข้อสอบกันมาตั้งแต่ชั้นมศ.ต้นแล้ว ยิ่งพี่ชายผมเป็นนักเรียนกวดวิชา วิทยายุทธเหล่านี้ก็ถ่ายทอดมาถึงผมไม่ยากนัก
คนที่เรียนดีมีความรู้ แต่ถ้าไม่ได้เรียนข้อสอบก็อาจจะสอบไม่ได้ดีก็ได้ แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะไม่หวั่นไหวที่หนีเรียนประจำ โดยเฉพาะวิชาที่เราไม่เก่งกาจนัก โดยเฉพาะพวกวิทยาศาสตร์ที่ต้องใช้การคำนวณที่ซับซ้อน ผมจึงเร่งทำงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับค่ายอย่างเต็มที่ เพื่อให้เหลือเวลาสองเดือนเต็มเพื่อเตรียมตัวสอบ สองเดือนนี้ผมไม่ได้กลับบ้านเป็นส่วนมาก ขังตัวเองอยู่กับเพื่อนที่เก่งในวิชาที่เราอ่อน คือนิตย์ จันทรมังคลศรี
ผมก็ตลุยทำข้อสอบย้อนหนังไป๑๐ปีทั้งข้อสอบไล่และสอบเข้ามหาวิทยาลัย วิทยายุทธทุกอย่างที่พี่ชายสอนมาก็เอามาใช้หมดเรื่องที่เกี่ยวกับคำนวณข้อไหนที่ผมไม่เข้าใจผมก็ถามนิตย์ ๆ อธิบายดีกว่าครูบาอาจารย์บางคน เขาเข้าใจความคิดที่อยู่เบื้องหลังโจทย์นั้นๆด้วย นิตย์ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีสิทธิเป็นหนึ่งในใต้ฟ้าของรุ่นนั้น เขาเป็นคนแรกที่อธิบายทฤษฎีสัมพัทธภาพ ของไอไสตน์ให้ผมฟัง ผมยังจำได้ว่าที่รู้สึกทึ่ง ว่า “มึงไปรู้เรื่องพวกนี้ได้ไงวะ กูยังไม่เคยได้ยินเลย” ทุกวันนี้ผมก็ยังไม่ได้เข้าใจทฤษฎีพวกนี้ทะลุปรุโปร่งอะไร
กลับมาเรื่องหาทุนเตรียมค่าย จำได้ว่าไปขอทุนอาจารย์สุลักษณ์ แกก็ให้หนังสือที่เหลือ อาจจะเป็นประเภทขายไม่ออกมาขายหาทุน คือเรื่องหนังสือที่มาจากการสัมมนาเรื่องเอกลักษณ์ของไทย เราก็ต้องไล่ขายครูบาอาจารย์ในโรงเรียนนั้นเอง ผมจำได้ว่าอ่านไม่ค่อยสนุกและไม่ค่อยรู้เรื่องด้วย แต่วิเชียร อำนาจวรประเสริฐ บอกว่าเป็นหนังสือดี และช่วยขายให้ด้วย วิเชียรนั้นดูจะเป็นรุ่นน้องปีหรือสองปี ผมจำไม่ได้แล้ว และรู้จักกันอย่างไรก็จำไม่ได้ด้วย รู้แต่ว่าเขาเป็นนักอ่านและมาช่วยงานบรรณรักษ์ ที่ห้องสมุดโรงเรียนเป็นประจำ เขาเป็นคนเด่นอีกคนในรุ่นเขา แต่ผมเข้าใจว่าเขาไม่ได้มาเข้าค่ายยุวชน ค่ายแรกที่สามโคก
อีกเรื่องที่น่าจะได้เล่าไว้ก็คือเรื่องหาที่ตั้งค่าย ผมจำได้คร่าวๆว่าเราได้ชื่อสถานที่ที่จะตั้งค่ายมาจากสำนักงานเยาวชนแห่งชาติ แล้วเราเลือกที่สามโคกเพราะไม่ต้องมีงานก่อสร้างมากมาย ค่ายฝึกกำลังคนเน้นการใช้แรงงานเป็นหลัก ไม่เน้นการสร้างถาวรวัตถุ ผมจำได้ว่าคนที่ไปสำรวจค่ายคนแรกกับผมคือปิติวงศ์ จากโรงเรียนเตรียม เราต้องไปหานายอำเภอสามโคกก่อน เพราะนายอำเภอเป็นคนเสนอเรื่องขึ้นไปให้สำนักงานเยาวชนแห่งชาติว่าต้องการพัฒนาเตาเผาถ่านโบราณแห่งนี้ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่ผมจำได้เพราะเมื่อเราไปถึงอำเภอ เราไม่กล้าเข้าไปหานายอำเภอทันทีเพราะนายอำเภอกำลังคุยอยู่กับคนอื่น ปิติวงศ์บอกให้ผมช่วยกันส่งกระแสจิตเรียกให้นายอำเภอหันมาหาเรา
ครั้งที่สองผมจำได้ว่าไปหานายอำเภอที่บ้าน แต่คราวนี้ไปกับวันชัย เนื่องพลี ทั้งสองครั้งเราไปในชุดนักเรียนกางเกงขาสั้น นายอำเภอคุยกับเราอย่างดี แต่จำไม่ได้ว่าวันชัยโยงเข้ามาหาพวกเราได้อย่างไร แต่ตอนหลังมีข่าวลือที่ไม่ไว้ใจวันชัย หาว่าเป็นสายของสันติบาล และโยงไปถึงเรื่องน่าเศร้าในสองปีต่อมาเกี่ยวกับน้องสาวของวันชัยด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมรู้สึกว่าตัวเองได้ทำบาปแบบฝ่ายซ้ายอย่างน่าละอาย กับหลายคน
สรุปเฉพาะตอนนี้ว่าตกลงเราเลือกทำค่ายที่อำเภอสามโคก ต้องนั่งเรือจากตัวอำเภอออกไปสักครึ่งชั่วโมงเห็นจะได้
เงาของความจำอีกตอนเรื่องเตรียมค่ายก่อนเตรียมสอบก็คือผมไปถึงวัดกับเพื่อนชั้นมศ๕อีกคนหนึ่ง แต่เป็นเพื่อนที่อยู่แผนกศิลป์ ชื่อสมหมาย จำได้แต่ว่า เขาสนใจเรื่องโบราณคดี และเหมือนจะมีความรู้ด้านนี้ด้วย อาจจะต่อมาทางมนัส รู้แต่ว่าผมถามเขาว่า ไอ้ทางอิฐโบราณในวัดนั้น สมัยก่อนเขาใช้อะไรเชื่อม เพื่อนคนนี้บอกว่าใช้น้ำอ้อยผสมกับอะไรสักอย่าง เมื่ออยู่โรงเรียนผมชอบคุยกับเพื่อนคนนี้เพราะคุยเก่ง จำได้ว่าเราหลบไปคุยกันเวลาเรียนก็มี ตรงระเบียงตึกเรียนชั้นมศ.๕ตแนนั้น มีที่ยื่นออกมาเป็นมุขเล็กๆ เราต้องมุดรอดใต้ฉากเข้าไปนั่งคุยกันในมุขนั้น คนเดินผ่านไปมามองไม่เห็น ที่มีที่นั่งพอดีสองสามคน นึกย้อนไปตอนนี้ก็ยังไม่เข้าใจว่าซ่อนเขาไปทำไม แม้จะคุยกันสนุก แต่เขาก็ไม่ได้ไปค่ายด้วย จำไม่ได้ว่าทำไม
ย้อนมาถึงช่วงก่อนดูหนังสือสอบนี้ เรื่องที่ผมจะเข้าเรียนครุศาสตร์นั้นเกือบ จะกลายเป็นเรื่องโจทขานไปทั่วโรงเรียนแล้ว เพื่อนห้องเดียวกันหลายคนก็ไม่เชื่อ แต่ที่สำคัญก็คือ อาจารย์สุดารัตน์ (พี่แดง) เป็นห่วงมาก ไม่อยากให้ผมเข้าครุศาสตร์ กลัวผมผิดหวัง และเห็นว่าที่โกมลเขียนถึงครุศาสตร์นั้นวาดภาพสวยเกินไป ถึงกับลงทุนพาผมไปคณะครุศาสตร์ ไปคุยกับเพื่อนรุ่นพี่ของอาจารย์อีกที เผื่อผมจะเปลี่ยนใจ จำได้ว่าพบกันที่ห้องสมุดของคณะ ผมว่าผมอยากเรียนด้านภาษา ไม่อยากเรียนวิทยาศาสตร์แล้ว พี่แดงว่าถ้างั้นให้ไปเรียนอักษรศาสตร์ มองย้อนไปตอนนี้ ก็เหมือนกับว่าพี่แดงมีญาณหยั่งรู้ว่าถ้าผมเข้าครุศาสตร์ ผมจะเรียนไม่จบ
แต่ตอนนั้นผมกำลังคลั่งไคล้อุดมคติกระมัง หรือมองอีกทีก็เหมือนโคถึก ฉุดอย่างไรก็ไม่อยู่ แต่ก็ไม่เคยลืมความกรุณาของพี่แดง ที่พวกเราหลายคนรักและสนิทสนมเหมือนพี่สาว ตอนหลังได้รู้จักกับน้องๆ และพ่อแม่ของพี่แดงด้วย ยังจำได้ว่ารู้สึกทึ่งแม่ของพี่แดง นี่เป็นแบบฉบับผู้หญิงเก่งแบบอีสานโดยแท้ ขึ้นเหนือลงใต้ค้าขายคนเดียว พกปืนติดตัวด้วย ตรงข้ามกับพ่อที่ท่าทางเป็นคนหัวโบราณ ชอบอีกอย่างเวลาพี่แดงพูดภาษาอีสานไพเราะมาก ตอนหลังเพื่อนสนิทผม คือบรรจงก็ชอบกับน้องสาวพี่แดงอยู่พักใหญ่ตามภาษาเด็ก พอเข้ามหาวิทยาลัย ต่างก็แยกย้ายกันไปเติบโตตามทางของตนเอง