“ความเป็นตัวเราไม่ใช่เป็นตัวเป็นตนคงที่ แต่เราแต่ละคนเป็นเรื่องราวที่ขับขานและดำเนินสืบไป เราจะเข้าใจตนเองได้ เราต้องย้อนทบทวนเรื่องราวที่สร้างตัวเราขึ้นมา พูดลงลึกอีกระดับหนึ่ง เราต้องตระหนักในเรื่องราวที่เราปรุงแต่งขึ้นที่กำหนดมุมมองต่อตนเองและชีวิต
“ปมความรู้สึกขาดแคลน เป็นปมใจร่วมสมัยในยุคที่เรารุ่งเรืองด้านวัตถุและเทคโนโลยี แต่คนเราต่างรู้สึกขาดแคลนอยู่ในใจ ยิ่งหามามากก็ยิ่งรู้สึกเหงา รู้สึกว่าตนเองดีไม่พอ และปัญหาความสัมพันธ์ก็ยากเหลือจะแก้ไข แม้เรามีสื่อสังคมออนไลน์ที่ติดต่อคนทั้งโลกได้เพียงปลายนิ้ว
“ผมเองเห็นปมใจเรื่องความขาดแคลนและความยากจนในตนเอง ก่อเกิดจากเรื่องราวในครอบครัว พ่อผมเป็นลูกคนละพ่อกับน้องอีกสามคน ปู่เป็นสามีคนแรกของย่าซึ่งหย่าร้างจากกัน ครอบครัวผม มีพ่อแม่ ผมและน้อง เป็นบ้านเล็กภายใต้บ้านใหญ่ ซึ่งน้องๆของพ่อมีโอกาสได้เรียนสูงกว่าและมีงานซึ่งรายได้ดีกว่ามาก ครอบครัวผมจึงค่อนข้างแลดูยากจนกว่าสมาชิกในตระกูล น้องๆมักต้องช่วยเหลือเรื่องหนี้สิน ค่าใช้จ่าย แก่ทางครอบครัวผม ในทางด้านชีวิตเด็กตัวน้อย ตอนชั้นประถมเมื่อผมย้ายโรงเรียนเข้ากรุงเทพฯ ผมรู้สึกว่าตนเองเป็นเด็กยากจนกว่าเพื่อน ทั้งตอนเรียนชั้นประถมและชั้นมัธยม เพื่อนมักมีสิ่งของล้ำค่าอย่างของเล่น โทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้าสวยๆ และต้องช่วยเหลือค่าใช้จ่ายบางอย่างแก่ผมหลายครั้งด้วยจนรู้สึกเกรงใจ เรื่องราวนี้ติดตัวผมมา พร้อมความรู้สึกด้อยกว่าเพื่อน
“แง่ดีผมเองตั้งใจว่าในโอกาสหน้าผมจะต้องพยายามช่วยเหลือเพื่อนและคนที่ตัวเองรู้จัก แง่ลบคือมีความรู้สึกตอกย้ำตัวเองว่าจนและมีเงินไม่พออยู่บ่อยหน อยากรักษาเงินไว้ ไม่กล้าใช้จ่ายเพื่อตนเองนัก แต่บางครั้งก็เหวี่ยงเป็นอีกด้านคือใช้จ่ายเงินมากเกินไป ด้วยความตั้งใจต้องการช่วยเหลือผู้อื่น ผมเสียเงินเก็บและบางครั้งก็อดอาหารเพื่อให้มีเงินซื้อของ หรือจ่ายค่าใช้จ่ายให้น้องที่ตนรู้จัก
“ผมจน ไม่ใช่เพราะมีเงินน้อย แต่เพราะความเชื่อที่ติดตัวมา ทำให้ท่าทีการมองตนเอง และท่าทีการใช้จ่ายไม่สมดุล ความรู้สึกด้อยและรู้สึกยากจน สะท้อนออกมาผ่านการแต่งตัวซอมซ่อ และบุคลิกหลังค่อม ไม่มั่นใจตนเองเวลาเข้าสังคม
“เมื่อผมได้ย้อนมองอดีต เยียวยาและทำความเข้าใจใหม่ จึงพบว่าตัวเองนั้น ร่ำรวย มากเพียงใด ซึ่งความรวยที่แท้จริงนั้นมิได้วัดที่เงินตราหรือทรัพย์สินเท่านั้น ทำได้ใช้ชีวิตใหม่อย่างมั่นใจตนเองมากกว่าที่ผ่านมา
“ย้อนมองเรื่องราว เหมือนพลิกหน้าวันก่อนเก่า เพื่อที่จะเขียนหน้าใหม่ เริ่มต้นบทใหม่โดยไม่ถูกจำกัดด้วยหน้ากระดาษอดีต
“เหตุการณ์ความทุกข์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เกี่ยวกับอิทธิพลของเรื่องราวต่อชีวิต ด้วยการที่จิตใจเล่าเรื่องนั้นให้ตัวเองฟังในรูปแบบที่ก่อความคิด ความเชื่อ และมุมมองที่ผิดพลาด เราก็ยิ่งเขียนชีวิตเราด้วยเค้าโครงเรื่องเดิม เราก็ยิ่งทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำอีกเพราะสิ่งเดียวกันนี้
“ไม่ใช่เพียงความทุกข์ ความสุขความสมหวังในอดีต ก็อาจสร้างเรื่องราวที่ทำให้เกิดมุมมองที่บิดเบี้ยวต่อตนเองและต่อโลกได้ เด็กน้อยในอดีตได้รับคำชื่นชมล้นเหลือจากครู และพ่อแม่ก็สอนเขาว่าจะต้องทำดีให้คนอื่นชื่นชม ขณะที่หลายครั้งเขาไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งที่ตนเองต้องการ พ่อแม่ไม่ยอมรับฟังสิ่งที่เขาต้องการสื่อสารอย่างแท้จริง แต่สอนเขาในเรื่องที่ดี ถึงการทำความดีและบุญคุณ เรื่องดีๆ นี้อาจทำให้เขามองตนเองว่าชีวิตจะมีคุณค่าต้องได้รับคำชื่นชมจากผู้อื่น จิตใจเขาจึงผูกติดกับเรื่องภาพลักษณ์แทนที่จะเห็นความดีงามภายใน
“เรามีชีวิตด้วยการเล่าเรื่องราว แล้วเราก็ถูกขีดเขียนด้วยเรื่องราวเหล่านั้น แทนที่เราจะเป็นผู้เขียน แต่ด้วยความไม่รู้ตัว ไม่รู้เท่าทันอิทธิพลของเรื่องราวที่สร้างตัวเรา สิ่งเหล่านั้นจึงกลายเป็นผู้กำกับคอยชี้ว่าเราต้องคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร เห็นโลกแบบไหน และต้องเล่นไปตามบทบาทใด
“กุญแจสำคัญของการปลดปล่อย เราต้องกลับมาหยิบพลังวิเศษ คือ อำนาจในการสร้างสรรค์หรือขีดเขียนเรื่องราวเหล่านั้น เราต้องจำให้ได้ว่าเราเป็นผู้สร้างเรื่องที่ลิขิตตัวเราขึ้นมาเอง และอำนาจในการเขียนนั้นอยู่ที่จิตเรา เมื่อนำมาใช้ได้ เราย่อมมีทางเลือกว่าจะวนเล่นซ้ำในบทเดิมหรือจะเขียนบทใหม่ให้กับตน”
???? บทที่ 4 คอร์สออนไลน์ฟรี “เขียนดั่งเป็นกระจก“
https://punnspace.com/p/writeforselfdiscovery/
???? “เขียนค้นตน” Self-Discovery Journal Course
คอร์สการเขียนเพื่อรู้จักตัวเองแบบเข้มข้น