บทเรียนเล็กๆ บนเส้นทาง “ครูเขียนภาวนา” เดือนแรก

 

 

[ ภารกิจและกิจกรรมคอร์ส ครูเขียนภาวนา เดือนแรก ]

…ทบทวนธรรมะและบทเรียนจากบทความ “ศิลปะการเขียนหนึ่งลมหายใจ” บทแรกและบทที่สอง
…ฝึกเขียนภาวนา อย่างน้อย ๗ บันทึก พร้อมกับการทบทวนกิเลสและบทเรียน
…สรุปทบทวนอริยมรรคและโพชฌงค์ , กิเลส : นิวรณ์ ตัณหา และอุปาทาน

 

“จากหัวข้อ “ดวงตาลิขิต” ทั้งสองครั้ง การที่เราไปไม่ปรุงแต่งทางอารมณ์ ความคิด แต่มองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าด้วยสายตาที่เป็นธรรม เป็นกลาง ไม่ว่าเราจะอ่านคอมเมนท์จากครู หรือเพื่อน หรือจากที่อื่นๆ ก็ดี อย่าเอามาปรุงเป็นอารมณ์ให้แก่ตัวเอง ให้มองตัวอักษรอย่างที่มันเป็น และทำไปตามหน้าที่ ที่เราต้องทำ ก็น่าจะทำให้ภารกิจในทุกๆ เดือน สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ ธรรมะจาก “ไม่ใช่นาม ไม่ใช่ตน” คือการไม่ถืออัตตาตัวตนของตนเอง ในการทำสิ่งต่างๆ ว่าเป็นของตน ทำเพียงแต่ทำเท่านั้น ดังที่ใช้การเขียนที่เน้นไปในคำกริยา คือ เน้นที่การลงมือทำ”
.
โดย ม้าหมุน (นามปากกา)
.
“จากการเรียนรู้หนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทำให้เราตระหนักถึงการมีสติในการใช้ชีวิตประจำวัน อาจจะยังไม่ว่องไวขนาดที่หยุดการกระทำของตนเอง แต่ก็สามารถวิเคราะห์สิ่งที่เกิดว่าเกิดจากกิเลส หรือจากการยึดติดตัวตน ทำให้ลดและคลายความโกรธจากความคาดหวังต่อตนเองและผู้อื่นลงได้ และเริ่มศึกษาธรรมอีกครั้ง หลังจากที่ห่างหายไปเป็นเวลานานมาก”
.
โดย ต้นหญ้า (นามปากกา)
.
“มีสามครั้งที่หลุดไปจากมรรค ๘ มากที่สุดคือ
หนึ่ง… หลังบันทึก ๘ “ละเมียดล้ำลึก” และบันทึก ๙ “จิตว่างได้ยินหญ้าพูด” เป็นการเริ่มเขียนได้ถึงหนึ่งช.ม.ในช่วงแรกๆ จึงเกิดความประมาทว่าตนเขียนได้เยอะ ทำให้ย่อหย่อนในความเพียร มีสัมมาวายามะที่น้อยเกินไป ด้วยการเขียนภาวนาทำให้เรามีการสังเกตุที่ละเอียดขึ้น จึงเห็นความฟุ้งซ่าน ปรุงแต่ง กิเลสที่เกิดได้ไว้ขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่สติที่ยังไม่เพียงพอจึงทำให้หลงตามสิ่งเหล่านั้นไปและเกิดความทุกข์ขึ้น การหมั่นสังเกตุตนเองทำให้ได้ฉุกคิดและตระหนักว่าเป็นเพราะเราขาดความเพียรในการลงมือทำ ในการฝึกสติเพื่อให้สมดุลกับสมาธิและการสังเกตุที่มีมากขึ้น จึงได้เริ่มลงมือทำอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง
.
“สอง…หลังเขียนบันทึก ๑๐ “อนุสติ” เกิดความยึดมั่นถือมั่นว่าผลงานนี้เป็นของฉัน เป็นงานของฉัน รวมถึงหมายมั่นว่านี่คือตัวตนของฉัน เกิดความเห็นผิดยึดเอาสิ่งที่ไม่มีตัวตนว่ามีตัวตน มีมิจฉาทิฐิ ทำให้การเขียนบันทึกถัดไปเกิดกิเลสมานะ ถือตัวถือตน แข่งดี เกิดความอยากทำให้ได้ดี ไม่เป็นกลาง ขาดสติกำกับตามมา ต้องดูแลใจด้วยการพิจารณาไตรลักษณ์ “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” และเป็นกลางมากขึ้น
.
“สาม…หลังบันทึก ๑๒ “เกิดดับ” เป็นการเขียนภาวนา 1.15 ช.ม -1.30 ช.ม ติดกันสามวัน เกิดความประมาทขึ้นอีกครั้ง ย่อหย่อนความเพียร และปล่อยใจไปกับความเพลิน ทำให้เกิดการกระทบทางใจขึ้น มีอารมณ์เข้มข้น เกิดโทสะ ปฏิฆะ และมานะ ดิ้นรนทรมานแม้ไม่ดิ้นรนอยากหาย เกิดความหดหู่ท้อใจ ดูแลใจด้วยการมีสติอยู่กับลมหายใจให้มาก และขอความช่วยเหลือจากครู ด้วยการถามถึงวิธีดูแลตนเอง เมื่อได้ทบทวนข้อคิดจากครูก็ดึงสติให้กลับมาได้เขียนอีกครั้ง”
.
โดย ใบบัว (นามปากกา)
.
“จากเดิมเข้าใจเพียงว่าการเขียนภาวนา คือการเขียนให้ช้าด้วยกายสงบ ใจสำรวม โดยมีลมหายใจช่วยในการกำกับการเขียน แต่ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นว่า การเขียนภาวนาด้วยความสงบนั้น จะต้องมีสติรู้ตัวอยู่ด้วย สติคือการที่เราตระหนักรู้ว่า ณ เวลานั้นๆ ว่า มีอะไรเกิดขึ้นกับกายกับจิตของเราบ้าง ไม่ว่าจะเป็นทางดีหรือไม่ดี หากเราดำรงสติให้มั่นคงต่อเนื่อง ด้วยการไม่เอาจิตไปเกาะ กับความคิดที่เกิดขึ้นและนำมาปรุงแต่งต่อ เราก็จะเกิดปัญญาเห็นความจริงตามที่เป็น ซึ่งหมายถึงเห็นกิเลสของเราและเห็นถึงข้อธรรมต่างๆที่เหมาะกับภาวะจิตของเรา ณ ขณะนั้น”
.
โดย เงาตะวัน (นามปากกา)
.
“หลังจากผ่านการเขียนภาวนามาได้ระยะหนึ่ง จึงได้พบความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีของใจตัวเอง ใจได้ถูกขัดเกลา ให้เกิดสติปัญญา มองเห็นโลกและชีวิตตามจริง จนเข้าใจสรรพสิ่งรอบตัวมากขึ้น สามารถลดอัตตาตัวตนลงได้ รู้ละ รู้วาง ยึดมั่นถือมั่นน้อยลง รู้เท่าทันอารมณ์และความรู้สึกที่เคยมักโกรธอยู่บ่อย ๆ ยับยั้งชั่งใจได้ดี ความรู้สึกโกรธมี แต่ท่าที ไม่ได้แสดงออกไป ทุกข์ในใจที่เคยแบกไว้หนักอึ้ง ถูก ปล่อยวาง ปลดเปลื้อง เบาบาง จางคลาย ชีวิตมีความสุขได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น (ไม่ต้องพึ่งพิงซีรีย์) ^^”
.
โดย ภูพิง (นามปากกา)
.
“ได้เห็นกิเลสของตัวเองชัดเจนขึ้น ซึ่งเมื่อแรกเริ่มต้นเขียน หัวข้อที่ 1 ดวงตาลิขิต เห็นความกลัว มีความไม่แน่ใจ ลังเล เห็นทางกายที่ใจ เกิดการบีบคั้น แปล็บหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขี้นในหัวข้อที่ไม่เข้าใจเนื้อหาหรือกระทบกับด้านที่เราไม่ยอมรับ ซึ่งจะเห็นได้ชัดตอนที่เขียนหัวข้อ “ทางสายกลาง” พร้อมกับการเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน เห็นการยึดเอาตัวตนของตัวเองเป็นใหญ่ เป็นที่ตั้ง มีอัตตา หรืออีโก้ คับแก้ว คับจอ ตัวตนเบ่งบาน ไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นๆๆ ที่อยู่รอบข้าง ในขณะนั้น เกิดการยึดมั่น ถือมั่น ความหลง การชื่นชมตัวเองเกินความเป็นจริง มีความคิดอวดเบ่ง โอ้อวด แต่เฉพาะเรื่องของตัวเอง ความสุข ความโกรธ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ทำให้เกิดความคับแคบทางใจและทางกาย เกิดการไม่เปิดรับความคิดเห็นของผู้อื่น ใจแคบ ตำหนิไม่ได้ มองแต่ผลประโยชน์ของตน เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ใจร้อน โกรธง่าย เมื่อไม่ได้ดั่งใจ
.
“เห็นการยึดในอุปทาน ได้แก่ ติดคิด, ติดกรอบ,ความอยากดี ซึ่งผลที่ตามมาจะเหมือนกับการยึดตัวตนของตัวเองเป็นใหญ่
แก้ไข โดยการอยู่กับลมหายใจเข้าออกก่อน รอให้ผ่อนคลาย แล้วจึงเริ่มลงมือเขียนใหม่ ซึ่งถ้ายังไม่พร้อมก็อยู่กับลมหายใจต่อ ซึ่งจะได้เกิดความมหัศจรรย์ขึ้นในหัวข้อ “ทางสายกลาง” จากเดิมที่มีอาการมึนศรีษะ เมื่อเขียนจบอาการมึนศรีษะหายไปเลย”
.
โดย ต้นไม้ (นามปากกา)
.
“ได้นำสิ่งที่ได้จากการอบรมในครั้งนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง – เตือนตัวเองให้นั่งหลังตรงเสมอในชีวิตประจำวัน – บ่งบอกถึงความพร้อมความตั้งใจความกระตือรือร้น
ในการทำสิ่งต่างๆ เรียนรู้อะไรได้ดีขึ้นมาก ความจำดีขึ้น อ่านหนังสือเข้าใจง่ายขึ้น ทำอะไรได้นานขึ้น มีความตั้งใจ มีความเพียรในการทำสิ่งต่างๆ มีสติ มีสมาธิมากขึ้น – เปลี่ยนความเชื่อเปลี่ยนมุมมอง เห็นคุณค่าของการขัดใจตัวเอง – อยู่กับปัจจุบันได้บ่อยๆเตือนตัวเองเสมอๆ – รู้เท่าทันความอยาก ความยึดของตัวเอง เห็นความฟุ้งซ่านของตัวเองได้ง่ายขึ้น
.
โดย ณ นภา (นามปากกา)
.
“โพชฌงค์ข้อใดที่ได้พัฒนาหรือมีมากขึ้นจากการฝึกเดือน1
สติ สำนึกพร้อมกับปัจจุบัน ดีขึ้นมากนำไปใช้กับชีวิตที่ทำงานได้ , วิริยะ ไม่คิดว่าจะขยันเขียนให้จบตามที่กำหนดได้ และการทำการบ้านทบทวนต้องใช้เวลาความเพียรอย่างมาก , ปัสสัทธิ ความสงบ มีความนิ่งมากขึ้น ค่อยๆคิดค่อยๆย่อยความคิด จนเขียนทบทวน การเขียนสรุปการเรียนรู้ตอนนี้ ใช้ทั้งวิริยะ และความสงบ ที่อ่าน เขียน ไล่เรียง ทำความเข้าใจ ไปทีละนิด หากก่อนหน้านี้ จะรีบๆเขียนส่งครูให้เสร็จๆไปก่อน
สมาธิ ในการเขียนที่ผ่านมาตั้งใจและมีการกำกับด้วยจิตให้รู้การเขียนและลมหายใจและรู้อารมณ์ความรู้สึกที่เกิด ณ เวลานั้นด้วย ซึ่งต้องใช้สมาธิค่อนข้างสูง
.
“ข้อที่ควรพัฒนามากขึ้น ยังคงเป็นสมาธิ สติเช่นเดิมที่ยังไม่ต่อเนื่องถึงแม้จะดีขึ้นแต่ไม่คงที่สม่ำเสมอ การนั่งสมาธิทุกวันในรูปแบบที่ต้องทำ และระหว่างวันหากกำหนดลมหายใจรู้ ในกิจกรรมต่างๆเพิ่มขึ้น และที่ขาดมากคือธัมมวิจยะ การศึกษาธรรมะเพื่อใช้ในการพิจารณา มีน้อย ไม่แตกฉาน แค่มรรค 8 โพชฌงค์7 คงต้องให้แม่นก่อน ความรู้อื่นค่อยๆเพิ่มเติมต่อไปทีหลัง”
.
โดย อะไรดี (นามปากกา)
.
“แบ่งเวลาให้กับการเขียนภาวนาอย่างสม่ำเสมอ การใส่ใจในการทำงานที่มากขึ้น พูดคุยและเข้าใจกับคนไข้ได้ดีขึ้น ร่างกายไม่เกร็งเมื่อยล้าเท่าแต่ก่อน มีสติและสมาธิในการทำงานดีขึ้น การละวางตนในฐานะหมอลดลง การดูแลร่างกายและครอบครัวอย่างพอเหมาะ การดูซีรีย์ลดลงมากแต่ยังมีช่วงเข้าไปพักใจเมื่อมีสิ่งมากระทบแลัวยังไม่อาจยอมรับได้ การเห็นในคุณค่าของสิ่งที่มี สิ่งที่เป็น การเติมเต็มฝันเล็กๆน้อยๆอย่างพอเหมาะ การมีความสุขกับชีวิตที่ง่ายขึ้น
.
“จะวางใจตัวเองอย่างไรในการเรียนรู้ในเดือนต่อๆไป – ปล่อยวางการยึดติดในประสบการณ์ต่างๆที่ได้เรียนรู้มาลง ให้การเรียนรู้ในทุกขณะเป็นการเริ่มต้นใหม่เสมอ ไม่มีฉันในวันก่อน ไม่มีฉันในวันข้างหน้า มีเพียงขณะนี้อาศัยสติและสมาธิในการนำพา ทำด้วยความรัก ความพากเพียร น้อมนำข้อธรรมและกิเลสที่เกิดขึ้นมาพิจารณาทั้งในการเขียนภาวนา และชีวิตประจำวัน ศึกษาจากเพื่อนๆให้มากขึ้น”
.
โดย น้ำใส (นามปากกา)
.
“ทุกครั้งที่มีความลังเลเกิดขึ้นจะจัดการกับความคิดนั้นอย่างไร – กลับไปที่สัมมาทิฏฐิ (การเห็นชอบ) โดยเฉพาะในข้อ โยนิโสมนสิการ (รู้จักคิด) เมื่อเราเห็นชอบในสิ่งที่เราทำและวิเคราะห์ในเหตุและผลที่เราได้รับ เราจะหมดความลังเลที่เรามี , คำถาม – เราสามารถที่จะดำเนินชีวิตของเราให้อยู่ในทางโลกและทางธรรมได้อย่างไร เพราะดูภายนอกทางโลก (โดยเฉพาะในปัจจุบันซึ่งเต็มไปด้วยการแข่งขันและบริโภค) และทางธรรมขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง ตอบ – แท้ที่จริงแล้วทางโลกและทางธรรมเป็นหนึ่งเดียว เพราะธรรมะคือ ธรรมชาติ เราใช้หลักของ “ทางสายกลาง” (อุเบกขา) ไม่สุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง ใช้ไตรสิกขา – ศีล สมาธิ ปัญญา) มุ่งเน้นใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา
.
“เราจะปฎิบัติอย่างไรที่จะรู้เท่าทันกิเลส ตอบ – จะต้องฝึกให้มีสติมากขึ้น (อานาปานสติ) พยายามภาวนา รักษาและประคับประคองให้จิตมีความละเอียดมากขึ้นไม่เพียงแต่นั่งดูหรือตามลมหายใจ แต่ต้องตามดูตามรู้ทุกอริยะบทและหมั่นภาวนาอยู่เสมอเพื่อเจริญปัญญา (โดยเขียนภาวนา) ควบคู่กันไป เราจึงสามารถที่จะพัฒนาการเห็นของการเกิดและดับของกิเลส”
.
โดย อนัตตา (นามปากกา)
.
“ความหมายของความสำเร็จของตัวเอง เหมือนหรือต่างกันภายหลังจากการเขียนบันทึกไปแล้ว – คำตอบ ไม่เหมือนเดิมอีกเลย เพราะก่อนที่จะเขียนหรือเรียนหัวข้อนี้ ความสำเร็จเป็นเรื่องอนาคตและเป็นเรื่องที่ใหญ่ เป็นเรื่องของคุณค่า ชื่อเสียงและเงินทอง ดังนั้นการให้ความสำคัญจึงมีแต่ความอยาก..อยากที่จะได้รับคำชม และยกยอจากความสำเร็จในอนาคต จนลืมความเป็นปัจจุบันขณะ และไม่เคยพบกับความสำเร็จที่มีความสุขจริงๆ จากภายใน …ในทางกลับกัน การพบความสำเร็จในปัจจุบัน ดูเหมือนไม่ใช่ความสำเร็จในตอนต้น และมันไม่ใช่ความสำเร็จในความหมายของตัวเอง แต่เมื่อฝึกตามลมหายใจไปเรื่อยๆ อย่างรู้ตัวทีละขณะ ทีละขณะ กลับส่งผลให้ใจว่าง ใจสงบ และวินาทีนั้น มันคือความสำเร็จที่มีความสุข สว่าง ได้ทีนที ได้ในปัจจุบัน
.
“หัวข้อไหนที่สะท้อนตัวตนของตัวเองมากที่สุดและได้นำไปปรับใช้ในชีวิตอย่างไรบ้าง – คำตอบ : หัวข้อ กวีธรรมความบกพร่องต่างๆ เป็นกระจกแห่งคุณานุภาพ ที่เลือกหัวข้อนี้ เพราะว่าขณะที่เขียนบันทึก ซึ่งมีการปรับแก้เป็นครั้งที 2 ยิ่งทำให้เห็นว่า การยอมแก้ไขในความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องเจ็บปวด หรือเรื่องเสียหน้าใดๆ หรือแสดงความไม่ฉลาดออกมาต่อสังคม แต่เป็นการน้อมรับ ยอมรับความผิดพลาดที่ตัวเองเป็นคนกระทำด้วยความเข้าใจ ซึ่งเมื่อเรายอมรับว่า ความบกพร่องนี้เป็นประโยชน์ให้เราได้ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และจะเกิดการพัฒนาจิตใจเราให้สูงขึ้นไปจากเดิม ความบกพร่องจึงได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนนึงของชีวิตตัวเอง เราไม่อยากยึดแต่ความถูก ความดี ความเก่ง และผลักใสความผิด ความโกรธ ความไม่เก่งของตัวเองเหมือนที่ผ่านมา หมั่นฝึกเห็นและยอมรับสิ่งเหล่านี้ด้วยความช้า ความมีสติ จึงส่งผลให้ใจเริ่มอ่อนโยนต่อตัวเอง.และเริ่มเห็นว่าเราเริ่มให้อภัยผู้อื่นตามมา”
.
โดย คินซึเงะ (นามปากกา)
.
“มีโพชฌงค์ที่พัฒนาหรือมีมากขึ้น จากการฝึกเดือนนี้
สติ: ระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันขณะ มากขึ้น โดยผ่านตัวอักษรที่กำกับโดยลมหายใจออก และเห็นภาวะอาการกายอยู่เนืองๆ พร้อมกันไปด้วย , ธัมมวิจยะ: ได้พิจารณาธรรม แต่เป็นในแง่มุมมองที่ต่างออกไป ที่ไม่ใช่ ธรรมะ ตามตัวหนังสือ หรือนิยามที่เคยได้ศึกษาได้ยินได้ฟังมา ไม่ใช่โดยผ่านการจำ และความคิด แต่ผ่านการบันทึกทบทวนบริบทโดยการลงมือทำเอง
, วิริยะ: มีความเพียรในการกระทำอย่างต่อเนื่อง(มีขาดช่วงติดภารกิจแต่กลับมาสานต่อได้ทันเวลา โดยครูเมตตาช่วยเหลือด้วยการแจ้งขอบเขตที่ต้องทำให้ทราบล่วงหน้าด้วย จึงทำให้สามารถวางแผนการทำงานได้ลงตัวพอดี) และตั้งใจทำตามภายใต้กติกา การสะท้อน และกรอบเวลา ที่กำหนด โดยไม่ให้มากเกินไป(ไม่โลภจนเกิดความเครียด(จริงๆแล้วลึกลงไปในความอยาก คือ อยากทำให้ครบทุกโจทย์ที่ครูให้มา แต่เงื่อนเวลาตัวเองให้เท่านั้น ก็วางใจและพอใจ ตามนั้น)
.
“สมาธิ: มีใจตั้งมั่น และกำกับจิต มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นธรรมที่ยังต้องเพิ่มและพัฒนาอีกมาก
อุเบกขา: มีใจเป็นกลาง มีมากตอนที่เปิดใจรับ คำธรรม ที่ไม่ใช่ในรูปแบบในนิยามความหมายที่เคยได้ยินได้ฟังมา , รู้ละวางขณะเมื่อได้รับการสะท้อน และอยากตอบกลับในทันที อยากอธิบาย(มีเหตุผลเกิดขึ้นในหัวมากมาย)ในทันที แต่เกิดความรู้สึกระลึกให้ละวางขณะนั้นว่า ให้ทบทวนก่อน แล้วค่อยตอบกลับไป”
.
โดย ภณามา (นามปากกา)
.
“การเขียนภาวนาเดือนที่ผ่านมาให้คุณค่าต่อตนเองอย่างไร?
????คำตอบ ได้คุณค่าคือ เหมือนได้ปฏิบัติดั่งการเดินจงกรมในกระดาษ ซึ่งแต่ละบันทึก ในตอนท้ายมักเกิดการขัดเกลาให้เกิดสภาวะเป็นกลาง และเข้าใจการทำงานของใจชัดเจนมากขึ้น เกิดความโปร่งโล่ง และปล่อยวาง อารมณ์ ที่เป็นร่องเดิมได้ง่ายขึ้น ยอมรับถึงอุปกิเลสที่เกิดที่ใจ เมื่อยอมรับจึงปล่อยวางและเปลี่ยนพฤติกรรม คล้ายกับการเดินจงกรมปกติ มักเกิดสภาวะแบบนี้เช่นกัน ทำให้ได้เรียนรู้ว่าเมื่อเขียนภาวนาอย่างถูกวิธี และใช้เวลาตามควรแก่การงาน ก็เป็นเหตุให้เกิดดวงตาเห็นธรรมทีละขณะได้เช่นกัน อันนำมาซึ่งการลอกเปลือกอาสวะกันต่อไป
.
????คำถาม2 เข้าใจตนเองมากขึ้นอย่างไรบ้างจากการเขียนภาวนา ????คำตอบที่เห็นชัดเจนมาก คือ การยึดถือคุณงามความดี ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จึงมักทำทุกสิ่งอย่างแม้แต่การภาวนาให้สมบูรณ์ เพราะความอยากพ้นทุกข์ถาวร พอยึดมากไปจึงเกิดพฤติกรรม หลีกหนี เฉยชาต่อสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ยึดไว้ หนีสภาวะ อยากดี อยากถูกต้อง และเมื่อได้เห็นอาการเหล่านี้บ่อยๆในการบันทึก จึงยอมรับและปล่อยวางลงได้บ้างเท่าที่สติจะรู้ทัน อนุญาตให้เขียนตามเหตุปัจจัย จนเกิดความเป็นกลางในตอนท้าย รู้เท่าทัน การเกิดดับ เมื่อผัสสะกระทบ ครั้นเมื่อนิวรณ์แทรกก็เกิด ความอยากไม่อยาก และยึดจนทุกข์ในที่สุด ส่วนเมื่อมีสมาธิ สติพอสมควร ก็รู้ทันเมื่อผัสสะ ไม่ให้ค่า ณ ขณะนั้น เกิดปัญญา มีความเป็น กลาง ส่งผลให้ เมตตา อ่อนโยน นอบน้อม ยืดหยุ่นทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ได้บ่อยขึ้นค่ะ”
.
โดย เบิกบาน (นามปากกา)
.
“การเขียนภาวนาในเดือนนี้อยู่บนมรรค ๘ อย่างไร มีตอนไหนหรือไม่ที่หลุดไปจากมรรค ๘ – สัมมาทิฏฐิ – ครูช่วยสะกิดให้ดูว่าเราพลัดพรากจากอะไรบ้างในขณะเขียน และสิ่งเหล่านั้น เองที่ทำให้เราเห็นการเกิดดับ เราได้เห็นว่า ตัวหนังสือพาอารมณ์มา พอเปลี่ยนคำ อารมณ์ก็จางไป การเขียนช้าลง ทำให้เห็นการเกิดดับนั้นชัดขึ้น – สัมมาสังกัปปะ – เดี๋ยวมากไป เดี๋ยวน้อยไปค่ะ ยังไม่มีจุดที่พอดี – สัมมาวาจา – ติดประดิดประดอย บางทีก็ชอบเล่นคำ โดยเฉพาะตอนจิตฟุ้งๆ ชอบความคล้องกันของคำ ชอบของสวยงาม เหมือนอยากได้ผลงาน ซึ่งสังเกตว่า ถ้าขณะเขียนเกิดความนิ่งขึ้นได้ การประดิษฐ์คำจะไม่เกิด – สัมมากัมมันตะ – ครูเตือนตั้งแต่ต้นๆ เลยค่ะว่า เราไปให้ความสำคัญกับสิ่งที่ไม่ค่อยสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกลับละเลยที่จะพิจารณา กำลังหาจุดที่พอดีค่ะ
สัมมาอาชีวะ – ตอนนี้ไม่พอดีเลยค่ะ ยังแบ่งเวลาไม่ได้ สุดโต่งในการทำๆๆๆ จนไม่มีเวลาพักผ่อน – สัมมาวายามะ – ความเพียรและวินัยยังไม่พอ โดยอ้างว่าไม่มีเวลา ไม่มีสมาธิ เหนื่อย ง่วงนอน การทำการบ้านแต่ละชิ้นรู้สึกว่าต้องใช้ความพยายามเหลือเกิน (เห็นได้จากการส่งการบ้านไม่ครบตามจำนวน) ข้อนี้ อ่อนมากๆ ค่ะ
.
“สัมมาสติ – มีอยู่บ่อยครั้งที่สติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว โดยเฉพาะเมื่อนิวรณ์ความง่วงนอนเข้าแทรก หรือมีอารมณ์อื่นๆ เข้ามากระทบ สิ่งที่เราคิดเขียน ก็จะถูกพาไปโดยง่าย แม้แต่การเขียนสะท้อน ก็ยังเห็นว่า เรายังไม่เห็นหลายๆ สิ่ง และครูต้องเตือนให้กลับมาดู หรือเขียนใหม่ อย่างช่วงที่เสียใจเรื่องแมว เรากลับหลีกหนีที่จะนำเรื่องแมวเข้ามาในการพิจารณา ทั้งที่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่เรากลับไม่รู้ตัวว่า ใจเรากำลังหลีกหนี
สัมมาสมาธิ – ต้องปรับปรุง เพราะรู้สึกสมาธิไม่มีเลยค่ะ
.
“ทั้งหมดนี้ อาจต้องแก้ที่ความเพียรและวินัยก่อนเลย เพราะเป็นรูปธรรมที่สุด ต้องจัดเวลาให้ลงตัว เพื่อให้สามารถน้อมนำสติมาอยู่กับการเรียนเขียนภาวนาได้อย่างเต็มที่ โดยที่ร่างกายไม่เหนื่อยจนเกินไป เพราะเมื่อเหนื่อยจนเกินไป บางครั้งเราก็ทำแบบอึดอัด อยากให้เสร็จเร็วๆ เพราะง่วงนอน หรือเพราะต้องไปทำงานอื่นที่ค้างอยู่ สมาธิไม่มี สติไม่เกิด และพากันตกร่องมิจฉาไปเสียหมด”
.
โดย เสี้ยว (นามปากกา)
.
“เราจะออกมาจากพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างไร – ตอบ ให้ข้ดจังหวะความเคยชินและความยึดติด สลัดความนึกคิดปรุงแต่ง อุปทาน รับรู้อาการบีบคั้น ความหวั่นไหว วางตัวตนลง ให้สภาวะเป็นเครื่องสอนเรา ศึกษาเพื่อปล่อยวางความทุกข์ในใจ ศึกษาจากความจริงตรงหน้า”
.
โดย จดๆจ้องๆ (นามปากกา)
.
“หลังจากเรียนเขียนภาวนามาครบ 1 เดือนอย่างต่อเนื่องทำให้มีความฟุ้งซ่านลดลง จับความคิดของตัวเองได้มากขึ้น มีสติกับการทำงานและเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างวันได้เร็วและวางลงได้เร็วเช่นกัน มองเห็นสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำมากขึ้น มองเห็นเหตุของความทุกข์ มองทุกสิ่งรอบ ๆ ตัวตามความเป็นจริงไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางและวางตัวตนของฉันลงได้ มองอารมณ์และกิเลสอย่างรู้เท่าทัน ทำให้มีความทุกข์น้อยลงและมีความสุขกับปัจจุบันมากขึ้น”
.
โดย แสงแห่งจันทรา (นามปากกา)
.
“วิธีคิดและจิตที่เปลี่ยนไป แรกๆ เลยตัวเองจะเป็นคนคิดลบ รู้สึกตลอดเวลาว่าตัวเองมีค่าแค่น้อยนิด มกมีความอิจฉาริษยา มีโทสะปนอยู่ในความคิดตลอด มีความน้อยเนื้อต่ำใจ จึงมักมองสิ่งอื่นใดในแง่ลบ ประมาณว่าฉันไม่มีดี เธอก็ต้องไม่ดีเหมือนกัน จริงๆ ไม่ได้อยากเป็นคนคิดลบ แต่จิตมันเร็วมากมักผุดจิตร้ายๆ มาก่อนจิตดีเสมอ เห็นได้บันทึก “บุญกุศล” ชิ้นแรกมีความยุ่งเหยิงในใจเยอะมาก มีความคิดอิจฉาที่เพื่อนๆ ส่งงานกันแล้วตัวเองยังไม่เริ่ม ทำให้งานชิ้นนี้ออกมาโดนครูตีอย่างแรง จึงได้เห็นตัวเองว่าใช้ไม่ได้ต้องวางใจใหม่ แล้วค่อยๆ พัฒนาจิตตนเองมาบทที่ ๘ ใจเบาขึ้นมากค่ะ”
.
โดย บุราณ เซ้นส์ (นามปากกา)
.
“สิ่งที่ฉันได้รับทำให้ฉันได้รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วฉันยังไม่รู้อะไรจริงๆ เกี่ยวกับธรรมะ ไม่สามารถทบทวนตัวเองได้ผ่านข้อธรรมต่างๆ รวมทั้งสติที่ยังไม่ดีพอ ไม่มีความละเอียดถี่ถ้วน ทำให้ไม่ทันได้สังเกตตัวเองในหลายๆ จุด ฉันยังมีนิวรณ์อยู่มาก มีอยู่ในทุกๆ ข้อทั้งกามาฉันทะ การยึดติดในรูปแบบ ความสมเหตุสมผลของประโยค ติดกรอบความคิด ติดกรอบบความรู้ เพื่อทำให้ตัวเองดูดี ความพยาบาท จากการโดนให้ทบทวนคำว่า ฉันรู้ มันก็ทำให้เกิดการผูกใจเจ็บ อยากแก้แค้น อยากเอาคืน สุดท้ายมันก็ได้ย้อนกลับมาสู่ตัวเอง ต้องกลับมาทบทวนความพยาบาทในตน ได้เห็นว่าตัวเองมีความฟุ้งซ่าน คิดนั่นคิดนี่ คิดวางแผนการเขียน เห็นว่ายังมีความคิดอยู่มากมาย ความลังเลสงสัย ตอนเขียนบันทึกก็คิดว่าจะเขียนดีไม่เขียนดี กลายเป็นว่ากลัวโดนตำหนิ จนแอบซ่อนความจริงเอาไว้ และยังมีการยึดติดในหลากหลายรูปแบบ ทั้งติดตน เอาตัวเองเป็นใหญ่ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ติดกรอบความรู้ ความคิด รวมทั้งความสวยงาม รูปแบบที่ควรจะเป็น ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันก็ไม่มีอะไร มันก็แค่นั้นแหล่ะ”
.
โดย ณ สัค (นามปากกา)
.
“การเขียนภาวนาในเดือนนี้อยู่บนมรรค ๘ อย่างไร มีตอนไหนที่หลุดไปจากมรรค ๘ – สัมมาทิฎฐิ ดีขึ้นมากกว่าเริ่มแรกเขียนมากทีเดียว พอใจกับคำชมของครูสั้นลง รู้สึกตัวและเตือนตัวเองว่าอย่าให้ใจพอง หรือรู้สึกทุกข์หรือไม่พอใจกับคำติชมคำแนะนำที่ไม่ตรงกับใจคิดสั้นมาก จะรู้สึกตัวและเตือนตัวเองว่าลองคิดดูอีกมุมซิ – สัมมาสังกัปปะ อารมณ์เร่งรีบเขียนยังมีอยู่เป็นบางครั้งแต่ลดลง ความตั้งใจและคาดหวังสูงมากจากการเขียนลดลงมาก เมื่อรู้สึกตัวก็จะหยุดพักสักครู่ แล้วทำต่อ – สัมมาวาจา การเฟ้นหาคำสวยงาม การวางแผนการเขียนในหัวลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่กลัวผิด ไม่กลัวว่าประโยคไม่ดีไม่หรูอีกแล้ว – สัมมากัมมันตะ ความเข้าใจวิธีเขียนภาวนาดีขึ้น ลดการบีบคั้นตนเองลงอย่างมาก ไม่บังคับตัวเองให้เขียนรวดเดียวจบ และยอมให้ตัวเองหยุดพักสักครู่ – สัมมาอาชีวะ ดูใจ ฟังใจมากขึ้น มิได้ต้องการสร้างภาพลักษณ์อีกต่อไป
.
“สัมมาวายามะ : ความมุ่งมั่นในการฝ่าฝันอารมณ์และความเหนื่อยล้าน้อยลง ความเพียรพยายามน้อยลง เตือนสติตัวเองว่าความขี้เกียจ ความเบื่อหน่ายก็จะหายไป – สัมมาสติ : ไม่ค่อยมีสติ หลงไปกับอารมณ์ค่อนข้างง่าย การเฝ้าดูลมหายใจก็ช่วยได้ แต่ก็เป็นช่วงสั้นๆ ใจก็จะแวบไปที่อื่น – สัมมาสมาธิ : มาตระหนักว่าการมองของตนเองมักเป็นด้านเดียว ก็หลังการเขียนทบทวน “มั่นคงจากภายใน” ความมั่นคงเราอาจสร้างได้ ไม่ใช่แค่ความมั่นคงทางใจเท่านั้น แต่ความมั่นคงทางกาย (หลังตรง สง่าสงบ) และความมั่นคงทางวาจา (พูดช้าๆชัดๆ) ก็ช่วยได้”
.
โดย พบรัก (นามปากกา)

[ จากส่วนหนึ่งของการอบรมต่อยอดในหลักสูตร

“เขียนภาวนา” สถาบันธรรมวรรณศิลป์ ]