“การเห็นความทุกข์จากมาตรฐานที่ตนสร้างขึ้น เป็นก้าวแรกๆ ที่สำคัญในการผ่อนปรนเงื่อนไขของชีวิต มิว่าจะเป็นเงื่อนไขการรักตัวเอง หรือเงื่อนไขอื่นๆ ก็ตามที่ผูกมัดตนไว้
“สำหรับผม การจดบันทึกเป็นเครื่องมือสำคัญ เพราะเรื่องเงื่อนไขหรือมาตรฐานรักตัวเอง เป็นนามธรรมซึ่งซ่อนเร้นอย่างแนบเนียนในชีวิต เราต้องย้อนทบทวนรูปธรรมของชีวิต – ความสุขกับความทุกข์ในชีวิตที่ผ่านมาหลายเรื่อง จึงจะเห็นแบบแผนของความทุกข์และคุกที่คุมขังใจ
“ความตระหนักในเงื่อนไขการรักตัวเอง คือความเข้าใจว่านี่เป็นแค่เครื่องมือหนึ่งที่จิตสร้างขึ้นเพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเท่านั้น เราไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือนี้ตลอดก็ได้
“แม้จะมีเหตุการณ์และสิ่งนอกตัวเป็นเหตุปัจจัยทำให้เชื่อว่า ฉันจะมีคุณค่าได้ ฉันต้องเป็นอย่างไร แต่กระนั้นสิ่งที่กำหนดเงื่อนไขจริงๆ ก็คือการตีความของจิตนั่นเอง การเขียนบันทึกย้อนกลับไปในอดีตทำให้ได้ทบทวนการตีความนี้และเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่
“ในเมื่อจิตสร้างเงื่อนไขนี้ขึ้นมาเอง จิตก็สร้างเงื่อนไขใหม่ได้ หรือเลือกทำให้สมดุลมากขึ้น ด้วยการแลเห็นว่า “ฉันไม่จำเป็นต้อง…” เพื่อมีค่าเพียงอย่างเดียว “แต่ฉัน…” บ้างก็เป็นคนมีค่าเช่นกัน
“ผมไม่จำเป็นต้องมีค่า เมื่อผู้อื่นเห็นค่าหรือเป็นที่รักอย่างเดียว เพราะแม้หนังสือที่ใครๆ ก็ทิ้งร้างไม่หยิบอ่าน หนังสือเล่มนั้นก็ยังบรรจุเนื้อหาอันมีค่าอยู่ แม้ถูกเกลียด ถูกวิจารณ์ ถูกหมางเมิน มันไม่ได้เป็นสิ่งที่บ่งบอกคุณค่าในตัวเสมอไป
“อีกทั้งเรายังไม่จำเป็นต้องมีค่าทุกที่ ทุกสถาน หรือตลอดเวลา
เราไม่มีค่ากับบางคน บางสถานการณ์ หรือบางเรื่องก็ได้ มันเป็นธรรมดา หนังสือที่ดีอาจไม่ได้มีค่าในมือทุกคนและทุกเวลา และมันก็ไม่ใช่เรื่องแย่เลย
“ความทุกข์ในอดีตทำให้เห็นความเป็นจริงสุดโต่งไปในทางหนึ่งทางใด เมื่อย้อนพิจารณาด้วยใจเป็นกลางแล้ว ความเห็นที่เคยตีกรอบสร้างเงื่อนไขอย่างคับแคบไปก็จะกว้างขวางมากขึ้น เรียกว่าเข้าใจชีวิตตามที่เป็นจริงมากขึ้น จึงรักตัวเองตามที่เป็นจริงโดยลำดับ
“การเยียวยาตนเองของผมในช่วงนั้น ยังทำให้ตระหนักว่า เราไม่เห็นจำเป็นต้องอ้อมค้อมต่อความต้องการพื้นฐานในใจเลย โดยเฉพาะความรัก ในเมื่อใจโหยหารัก ไยจึงมัวคอยพยายามยัดเยียดความรักให้คนอื่น หรือรอคอยความรักจากคนอื่น ไยไม่ทำสิ่งที่ต้องการให้คนอื่นทำกับตัวเอง
“ผลของความตระหนักนี้ ทำให้ผมเขียนบทความสอนในชุดอบรม “ห้องเรียน วิถีครู” ในเวลาต่อมาชื่อว่า “กระหายน้ำก็ดื่มน้ำ” เปรียบเปรยว่าคนเราไม่ยอมดูแลความต้องการภายในซื่อๆ ตรงๆ แต่อ้อมค้อมผ่านความเคยตัวและวิธีการต่างๆ มากเกินไป เช่นหิวน้ำกลับซื้อกาแฟมาดื่ม ต้องการพักผ่อนกลับดูโทรทัศน์ ต้องการความรักกลับช้อปปิ้ง สุดท้ายตัวเองก็ไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริง หรือได้รับเพียงน้อยนิดเท่านั้น แล้วอาจหมดเปลืองเวลา เงินทอง หรือยิ่งทำให้สิ่งที่ต้องการห่างไกลออกไป”
✏️ จากหนังสือ “ดังนั้น จึงเป็นครู”
โดย ครูโอเล่ อนุรักษ์ เม่นหรุ่ม
สถาบันธรรมวรรณศิลป์
ติดตามกิจกรรมและสั่งซื้อสมุดหนังสือเพื่อสมทบโครงการ
ได้ที่ไลน์ @khianpianchiwit หรืออินบ็อกเพจ “สถาบันธรรมวรรณศิลป์”