๘ วิธีเข้มแข็งจากภายใน ไม่ยากเลย (ตอนแรก)
บางครั้งเราต้องยิ้มแม้หัวใจกำลังร้องไห้ พยายามให้ภายนอกดูเข้มแข็งและสู้ต่อ แม้ภายในหวั่นไหวและเปราะบางเหลือเกิน บางครั้งเราก็หวังให้ตนเองมั่นคงกว่านี้ ไม่ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีกดังที่เคยเป็นมา เราต้องการความเข้มแข็งเพื่อยืนหยัดต่อความทุกข์ทั้งหลาย ซึ่งบางเวลามันดูเหมือนมากมายไม่รู้สิ้นสุด
.
เราไม่อาจพึ่งพาสิ่งนอกตัวให้เรามั่นใจและมั่นคงได้เสมอไป แม้สิ่งเหล่านั้นจะเคยวางใจได้ก็ตาม วันหนึ่งเราก็ต้องพบว่าตนเองอยู่ลำพัง บางครั้งเวลาก็มิได้ช่วยอะไร แต่เป็นใจเราที่เรียนรู้มากพอจะเติบโตจากสิ่งเหล่านั้น ให้เข้มแข็งมากพอที่จะพึ่งพาตนเองแล้วฝ่าข้าม เราเคยเข้มแข็งมากชนิดที่ไม่ต้องคอยวางแผนหรือกังวลกับสิ่งทั้งหลายมาก เมื่อตอนเป็นเด็ก เราจะนำความเข้มแข็งเหล่านั้นกลับมาได้อย่างไร
.
ความเข้มแข็งแบบหนึ่งเกิดขึ้นจากภายใน ขณะที่เรามักเรียนรู้ที่จะเข้มแข็งด้วยการสร้างกำแพงและเกราะหนาห่อหุ้มตนเองมาตลอด เข้มแข็งจากภายนอก จนใจก็ลืมไปว่าตนเองมีความกล้าหาญข้างในอย่างไร กำแพงอาจต้านทานและกั้นขวางบางอย่างได้ แต่บ้านจะมั่นคง ต้องมีหลักข้างในที่แข็งแกร่ง ชีวิตและหัวใจเราเองจะมั่นคงได้ มิใช่ด้วยความเข้มแข็งจากภายนอกเท่านั้น
.
บทความตอนนี้แนะนำหนทางชุดหนึ่งเพื่อบ่มเพาะความเข้มแข็งอันเกิดจากภายในตัวเราเอง ไม่ยากเลย ขอเพียง…
.
.
๑ พาใจกลับมาที่ร่างกาย : เมื่อพบปัญหาหรือความทุกข์ใจ จิตมักถูกกระแสของความคิด คำพูด และเหตุการณ์ทั้งหลาย พัดพาล่องลอย ทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆ อย่างที่ไม่อาจควบคุมได้ เหวี่ยงไปมา ประเดี๋ยวสุข ประเดี๋ยวทุกข์ พอมีสิ่งต่างๆ ภายนอกมากระทบใจ อารมณ์ก็เปลี่ยนไปอีก เสมือนว่าวต้องลมแต่ไร้มือช่วยจับดึง
.
สิ่งดังกล่าวคือการขาดความมั่นคงของใจ เราจะเข้มแข็งได้เมื่อใจมั่นคงเท่านั้น ความมั่นคงจะเกิดขึ้นได้เมื่อเรามีฐานให้แก่หัวใจ เพื่อมิให้กระแสของความคิด อารมณ์ และสิ่งเร้าทั้งหลายมีผลกับใจเรามากเกินไป เหมือนมีที่ผูกให้แก่ว่าวมิต้องลอยปลิวไปไกลตามแรงลม
.
ความคิดเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเร็วไว อารมณ์ก็มิแน่นอน หากเราเอาใจเราผูกไว้กับความคิดหรือความรู้สึก ใจเราก็ผันเแปรง่าย ยากที่จะรู้สึกมั่นคง ทำให้วิตกกังวลง่ายถ้าเราเอาตนเองผูกไว้กับการคิดมากเกินไป
.
เมื่อเรากลับมาเอาใจไว้กับร่างกาย เราจะรู้สึกว่าตนเองมีความเข้มแข็งและมั่นคงอยู่อย่างไม่น่าเชื่อ แค่เพียงรู้สึกตัวที่ร่างกาย กำหนดจิตอยู่ที่ลมหายใจหรือความรู้สึกของร่างกายส่วนหนึ่ง เท่านี้เราก็ได้จับเชือกของว่าวหัวใจแล้ว
.
เมื่อใดที่ใจตกอยู่ในกระแสของความคิด ความรู้สึกมากมาย และคำพูดหรือสิ่งต่างๆ ภายนอกตัว ให้เราพาใจกลับมาที่ร่างกาย เสมือนให้ร่างกายนี้เป็นบ้านให้ใจอาศัยหลบพายุ พักจากความคิดทั้งหลายอยู่ในบ้านแห่งนี้ แล้วเราก็จะรู้สึกปลอดภัยเพียงพอที่จะเข้มแข็งด้วยตนเองมากขึ้น พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆ ด้วยความเข้าใจและกล้าหาญ
.
.
๒ หักห้ามใจให้เป็น : ชนะใดไม่สู้เท่ากับชนะใจตนเอง ซึ่งชนะใจในที่นี้มิใช่การให้บีบคั้นหรือกดข่มหัวใจตนเอง แต่ย่อมาจากความหมายว่า ชนะกิเลสของใจตนเอง กิเลสนั้นหมายถึงสิ่งที่ไม่ดีและทำให้ทุกข์ทั้งหลาย ซึ่งรวมทั้งความอยากและความเคยชินด้วย ซึ่งคนเรามักตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกิเลสในใจตนเอง จนขาดความเข้มแข็งที่แท้จริง
.
สิ่งใดที่ยั่วยวนให้เราเข้าไปหา และสิ่งที่กระตุ้นให้อยากทำ อยากพูด หรืออยากคิด ชนิดที่ไม่ก่อประโยชน์ใดๆ สิ่งเหล่านั้นทำให้เราเป็นทาสผู้อ่อนแอ ยิ่งเราสนองตอบด้วยการคิด พูด และทำตามความยั่วยวนให้อยากเหล่านั้น ใจก็ยิ่งอ่อนแอมากขึ้น หลังจากนั้นเมื่อมีสิ่งอื่นๆ มากระทบ เราก็จะหวั่นไหวตามง่าย เพราะเคยชินที่จะต้อยตามความอยากที่ถูกยุเย้า
.
เราจึงต้องฝึกหักห้ามใจตนเอง ด้วยการฝึกชะลอการตัดสินใจบ้าง หากใจเรารู้สึกอยากทำ อยากพูด หรืออยากคิดที่ไม่เกิดประโยชน์ใด หรือเป็นทุกข์เสียมากกว่า ทำให้ตัวเราช้าลงก่อนที่จะเลือกตอบสนองหรือไม่ตอบสนอง ให้ตัวเรามีช่วงเวลาขณะจิตได้ทบทวน และอยู่กับตนเอง เมื่อเราชะลอการทำตามความอยากลงได้ แม้เพียงเล็กน้อย เราก็เริ่มเข้มแข็งแล้ว เริ่มต้านกระแสกิเลสของใจได้แล้ว
.
บางสิ่งแม้รู้ว่าไม่ดี สิ้นเปลือง หรือนำมาซึ่งปัญหาแต่ก็อดห้ามใจไม่ได้ การชะลอการตัดสินใจ เป็นวิธีการง่ายๆ ช่วยห้ามใจ เพื่อประวิงเวลาให้อารมณ์อยากทำ อยากพูด และอยากคิด ลดน้อยลงไปก่อน เราจะสามารถคิดด้วยเหตุผลได้ดีมากขึ้น หลายเรื่องเราแค่อยากทำไปเพราะอารมณ์ เมื่ออารมณ์หมดแล้วความคิดก็เปลี่ยนไป
.
บางครั้ง เราก็ต้องพาตัวเองออกมาจากสิ่งแวดล้อม หรือเหตุการณ์ก่อนก็เป็นสิ่งช่วยได้มาก สำหรับช่วงเวลาที่ใจเรามิอาจเข้มแข็งได้พอ พักให้ใจสงบก่อน เอาใจกลับมาที่ร่างกาย มีสติอยู่กับตนเอง แล้วจึงกลับไปคิดตัดสินใจหรือดูแลจัดการสิ่งที่เกิดขึ้น
.
.
๓ แน่วแน่จดจ่อ ทำทีละน้อย : นอกเหนือจากสติและการหักห้ามใจ การมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ต้องทำ เป็นการฝึกความเข้มแข็งจากภายในที่ละเลยไม่ได้ เราลองฝึกทำสิ่งต่างๆ ให้เหมือนการเดินมองตรงไปข้างหน้า ข้างหน้านี้มิใช่อนาคตแต่เป็นสิ่งที่ต้องทำและต้องใส่ใจ ทำไปเรื่อยๆ อย่างตั้งใจไม่ละสายตาจากทางที่เดิน แต่ทำไปทีละก้าวดังเท้าเดิน ไม่ลังเลและโลเล หากมัวแต่มองทางนี้ทีเรื่องนี้ที จิตเราก็จะขาดความมั่นคง เดินสะดุดล้ม หลงทาง หรือเสียเวลา
.
เมื่อรู้ว่าต้องสิ่งใด ให้แน่วแน่มองตรง ทำไปตามทางที่ต้องเดิน ทำไปเรื่อยๆ ทีละขั้นตอนอย่างตั้งใจ มิมัวเสียเวลาคิดลังเลสงสัยหรือวิตกระหว่างการลงมือทำ ให้ใจตั้งมั่นที่ความตั้งใจ สิ่งสำคัญคือการฝึกใส่ใจทีละน้อย คือไม่ยุ่งและใส่ใจหลายเรื่องเกินไปจนจิตต้องแบกรับความคิดกังวลต่างๆ
.
ให้แบ่งเป็นเรื่องๆ จัดลำดับความสำคัญ เลือกทำไปทีละอย่าง ทำไปทีละขั้นตอน คอยจับตาสิ่งที่เราควรใส่ใจ ให้ได้เหมือนดั่งกบ แม้จิตจะมีธรรมชาติคล้ายกบคอยกระโดดไปมา แต่ก็มีธรรมชาติดั่งกบเวลาต้องนิ่งดั่งหินเพื่อเล็งและรอเหยื่ออีกด้วย ใช้สายตาของใจเราจดจ่ออย่างนิ่งสงบ สิ่งใดทำได้ก็อย่ารีรอ ทำอย่างไม่โลเล ตวัดดั่งลิ้นของกบฉวยคว้าเหยื่อ สิ่งใดทำไม่ได้ก็รอคอยอย่างสงบ ทำสิ่งอื่นที่ควรทำอย่างตั้งใจไปก่อน
.
เมื่อสิ่งใดดูใหญ่และยากเกินไป ให้คิดใหม่ด้วยการซอยสิ่งเหล่านั้นให้เล็กลง ย่อยเป็นขั้นตอนสั้นๆ ง่ายๆ หรือย่อยให้เป็นองค์ประกอบต่างๆ และทำไปทีละขั้นตอนนั้น เหมือนกับการเดินทางไกล เมื่อยิ่งคิดว่าไกลเท่าใดมันก็ยิ่งยากมากเท่านั้น ให้มองเป็นระยะสั้นๆ ต่อๆ กันก็ใกล้ขึ้นแล้ว หรือมองว่าระยะทางไกลเพียงใด เริ่มต้นที่ก้าวเดียว
.
.
๔ ฝึกคิดในทิศทางใหม่ : การย้ำคิดแบบเดิมๆ ที่ผ่านมา มักทำให้เราย้ำทำในแบบเก่าๆ ซึ่งก็ทำให้เกิดผลลัพธ์ซ้ำๆ กับที่ผ่านมา หากการคิดในแบบใดทำให้เราอ่อนแอและไม่เข้มแข็งพอ หากการคิดในแบบใดเป็นผลให้เรามีการกระทำและพฤติกรรมพาให้ตนเองอ่อนแอลงทั้งกายใจ เราก็ต้องก้ามข้ามความคิดเดิมๆ เหล่านั้น เพื่อให้ตนเองเดินต่อในทิศทางที่ดีกว่า
.
การเอาชนะความคิดของตนเองถือเป็นความเข้มแข็งที่สำคัญมากแล้ว เพราะการคิดมักกักขังจิตเราไว้ในความเชื่อแบบหนึ่ง ความเชื่อต่างๆ หรือมุมมองที่เรามองตนเอง ทำให้เห็นคุณค่าในตนเองน้อยกว่าที่เป็นจริง ทำให้มองเห็นตนเองแค่บางส่วนเท่านั้น ทำให้เราหลงลืมว่าแท้จริงเรามีความเข้มแข็งกว่านี้มากเพียงใด
.
การบอกตนเองซ้ำๆ และการบ่นย้ำๆ ที่เป็นทุกข์ ยิ่งทำให้ความคิดแบบเดิมผูกมัดใจเราให้เป็นทุกข์เท่านั้น ใจเราก็อ่อนแอลงเพราะความคิดบั่นทอนกำลังใจ แม้การบ่นจะเป็นสิ่งที่สื่อสารกับคนอื่น แต่ก็เป็นผลย้อนกลับมาที่จิตตนเองทั้งสิ้น ต้องฝึกชะลอการคิดและการบ่นลงด้วยการพาใจกลับมาที่ร่างกาย และฝึกคิดซ้ำในทิศทางใหม่อย่างมีสติ
.
หากเราเคยคิดว่าตนเองไม่ดีพออย่างนั้นอย่างนี้ เคยคิดว่าเราทำอย่างนั้นไม่ได้ ทำอย่างนี้ไม่ได้ เมื่อเริ่มคิดแบบนั้นก็พาใจกลับมาที่ร่างกายก่อน มีสติกับลมหายใจและความสงบก่อน จะทำได้ช้าหรือเร็วมิเป็นไร เมื่อใดเรากลับมามีสติ ตอนนั้นคือเวลาที่ล้ำค่าแล้ว
.
เมื่อใจมีสติแล้วจึงเริ่มคิดทบทวนใหม่ ลองมองตนเองในมุมกว้าง ไม่ตอกย้ำตนเองแต่ข้อบกพร่องและความคิดลบทั้งหลาย ให้คิดว่าตัวเรามีโอกาสพัฒนาตนเองอย่างไร ตัวเรามีสิ่งที่ดีอย่างไร ให้คิดไปในทางให้กำลังใจตนเอง คิดเสมือนว่าตัวเราคือคนที่เรารักและใส่ใจมากที่สุด
.
ความคิดมิใช่สิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เพราะความคิดเกิดจากใจปรุงแต่ง ทุกการคิดเกิดจากการเลือกของตัวเราเอง เพียงแค่เราเคยชินกับการปล่อยให้การปรุงแต่งความคิดเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้ตัว ใจจึงอ่อนแอลงเพราะสิ่งที่สร้างขึ้นย้อนกลับมาครอบงำและควบคุม
.
เมื่อเรารู้พาใจกลับมาที่ร่างกายให้มั่นคง มีสมาธิใส่ใจ และรู้หักห้ามใจตนเอง เราก็จะเป็นอิสระจากการคิดแล้ว เมื่อฝึกคิดอย่างมีสติ เราย่อมเป็นนายกุมบังเหียนความคิด ให้ความคิดรับใช้เป้าหมายและสิ่งที่เราต้องการ มิใช่ตัวเราเป็นทาสทำตามความคิดอีกต่อไป
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ ๓๖
ติดตามต่อตอนต่อไป ทางเพจและเว็บไซต์
? อ่านต่อตอนที่สอง
: www.dhammaliterary.org/๘วิธีเข้มแข็งจากภายใน๒/? ฝึกเขียนดูแลใจ เติมความสุข คลายความทุกข์
: www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/