๘ วิธีเข้มแข็งจากภายใน ไม่ยากเลย (ตอนสอง)

 

 

วิธีเข้มแข็งจากภายใน ไม่ยากเลย (ตอนสอง)

 

 

อย่าพยายามหนีความจริงและความรับผิดชอบ :

.

ความเข้มแข็งที่แท้จริงเกิดจากการกล้าเผชิญหน้าด้วยใจยอมรับ ยิ่งเราพยายามหนีปัญหาและหาทางลัด บอกปัดความรับผิดชอบ หรือตีกรอบเป็นกำแพงด้วยความคิดและข้ออ้าง ไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ยิ่งทำให้จิตใจเราอ่อนแอลง

.

เพียงแค่เรายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความรับผิดชอบ ตอนนั้นเราก็กล้าหาญมากแล้ว และมีโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมไปกับพัฒนาตนเอง ต้องมีความกล้าเท่านั้นจึงจะยอมรับความจริงและรับผิดชอบได้ คนที่ไม่กล้ายอมรับและรับผิดชอบสิ่งต่างๆ คือคนที่ไม่อาจเห็นความเข้มแข็งในตนเองได้เลย

.

หากเราพยายามแต่จะปกป้องตนเองและหาทางลัด เราอาจรอดไปจากเหตุการณ์นั้นได้ชั่วคราว แต่เราจะไม่เติบโต ไม่รู้สึกภาคภูมิกับตนเอง และเกิดเรื่องเดิมขึ้น เราก็จะทุกข์อีกและมีแนวโน้มว่าจะซ้ำร้ายกว่าเดิม

.

เมื่อใจรู้สึกทุกข์ หากขาดสติแล้วใจก็มักจะพยายามหนีความทุกข์หรือสร้างกำแพงขึ้นมาห่อล้อมใจไว้ เป็นไปตามความเคยชิน แต่ปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไขและตัวเราก็จะไม่เข้าใจความจริงของชีวิต เพราะปัญหาหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นคือความจริง การยิ่งพยายามหนีจากทุกข์ยิ่งทำให้เราหลอกตัวเอง ทำมากเข้าก็หลอกตัวเองเป็นชั้นๆ ทับซ้อนจนเป็นเงื่อนปมซับซ้อน

.

การเข้มแข็งจากภายในเกิดจากการเคารพตนเอง ภาคภูมิใจในตนเองได้ ยิ่งเรายอมแพ้แก่ความอ่อนแอข้างใน วงจรการหลอกตัวเองและการพยายามหนีจากทุกข์ก็จะดำเนินต่อไป ย้ำความอ่อนแอแก่ใจมากขึ้นๆ เมื่อถึงที่สุดทุกข์ก็จะทุกข์ยิ่งกว่าที่เป็นจริง ด้วยใจที่ไม่ยอมรับความจริงนั้น

.

ความรับผิดชอบคือคุณสมบัติสำคัญของผู้มีความเข้มแข็งจากข้างใน ความรับผิดชอบนี้เกิดจากการรู้หน้าที่ แต่ก็เกิดจากการยอมรับความจริงที่เป็นด้วย เพราะยอมรับความจริงเท่านั้น เราจึงรู้ว่าควรทำอะไรและไม่ควรทำสิ่งใด

.

การยื่นอกรับผิดชอบ ยังหมายถึงการน้อมใจยินดีรับทั้งส่วนที่ดีและไม่ดีในตนเอง ทั้งส่วนที่คนอื่นตำหนิและชื่นชม ทั้งส่วนที่ตัวเองพอใจและไม่พอใจ มิใช่แต่เพียงส่วนเดียวเท่านั้น ไม่กลัวที่จะเผชิญหน้ากับความผิดและความชอบจึงเรียกว่า รับผิดชอบ

.

หากเราทำสิ่งใดๆ แล้ว ไม่อาจเคารพหรือชื่นชมตนเองจากสิ่งที่ทำได้เลย นั่นก็ได้บ่งบอกแล้วว่าเรามีคุณค่าและความเข้มแข็งอยู่ข้างใน ซึ่งมีความหมายเกินไปกว่าจะทำสิ่งนั้นๆ

.

.

ใส่ใจที่คุณค่าอันแท้จริง :

.

ต้นไม้ยืนหยัดต้านทานพายุฝนได้ เพราะหยั่งรากลึกลงดินเป็นจุดยืนของตน คนเราจะเข้มแข็งต้านทานอุปสรรคทั้งหลายได้ย่อมต้องมีจุดยืนของตนเอง การมีจุดยืนคือการรู้ว่าจะทำสิ่งใดเพื่ออะไร

.

จินตนาการถึงการเดินที่เข้มแข็งและสง่า ตัวเราตรง เดินแน่วแน่ มุ่งไปยังจุดหมาย มือเท้าไกวพองาม ดวงตามองทางไม่เฉไฉ การที่เราจะทำสิ่งใดอย่างเข้มแข็งจากข้างใน ต้องทำให้เหมือนเช่นการเดินลักษณะนี้ ทำไปอย่างซื่อตรงต่อจุดหมาย แน่วแน่พยายาม และจดจ่อที่คุณค่าแท้จริง

.

การทำสิ่งต่างๆ ย่อมมีอุปสรรคเป็นธรรมดา บางเรื่องอาจทำให้เรารู้สึกท้อใจ หรือเหนื่อยหน่ายจนหมดแรงทำต่อ กำลังใจจากเพื่อนและคนรอบข้างสามารถช่วยเราได้ แต่จะดีมากหากเราสามารถเข้มแข็งจากข้างในตนเองเพื่อเอาชนะอุปสรรคปัญหาเหล่านั้น

.

เราไม่สามารถทำให้ทุกคนพึงพอใจและชื่นชมตัวเราได้ตลอดเวลา สิ่งที่สำคัญกว่าคือเป้าหมายแท้จริงของการทำสิ่งเหล่านั้น หากเราทำงาน คุณค่าแท้ของงานนั้นคืออะไร ความคิดเห็นจากผู้อื่นเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น แต่ประโยชน์จากสิ่งที่เราทำ คือคุณค่าแท้จริงที่ต้องใส่ใจ

.

ระหว่างการทำสิ่งที่ดีย่อมต้องพบความไม่แน่นอนมากมาย เราจะผ่านสิ่งเหล่านั้นไปได้อย่างแน่นอน เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่มีอะไรจะอยู่คงที่ตลอดไป ขณะที่ยังต้านทานกระแสลมเหล่านั้น ให้ตระหนักถึงจุดยืนของตนเอง บอกกับใจตนเองไว้อย่างหนักแน่นดั่งต้นไม้ที่หยั่งรากท้าลม เราทำสิ่งเหล่านี้เพื่ออะไร

.

การทำสิ่งนั้นๆ อาจมิใช่เพื่อให้เราเป็นที่รักแก่ทุกคนบนโลก แต่เป็นการที่ได้หยิบยื่นสิ่งดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร ครอบครัว หรือสังคม ขอเพียงใส่ใจคุณค่าแท้ของสิ่งที่กระทำ อย่ามัวมองแต่คลื่นที่เข้ามากระทบเรือชีวิต หรือสิ่งที่ไม่แน่นอนทั้งหลาย ซึ่งเราตั้งใจอย่างไรก็ไม่อาจควบคุมได้ดังใจ ให้มองดวงดาวหรือทิศทางที่จะพาเรือนี้ข้ามฝั่งไปให้ถึง และเชื่อมั่น

.

ให้มองไปที่เป้าหมาย แล้วพลังจะเกิดขึ้นกับหัวใจ หากสิ่งนั้นๆ ทำไปอย่างไม่มีเป้าหมาย เราก็ต้องตั้งให้แก่ตนเองแล้ว เริ่มตั้งแต่วันนี้

.

.

วางใจเป็นกลางไว้ :

.

เมื่อเราเข้มแข็งจากข้างใน นั่นหมายถึง เรามีฐานรากที่สมดุล ไม่เอียงซ้ายหรือขวาเกินไป ฐานรากในที่นี้หมายถึงเราวางใจตนเองไว้อย่างไร หากวางใจไว้อย่างเหมาะสมก็ย่อมมั่นคง หากวางไว้อย่างหมิ่นเหม่ ใจก็ย่อมซวนเซมิอาจรู้สึกแข็งแรง

.

การวางใจเป็นกลาง ต้องสมดุลระหว่างการปักใจเชื่อยึดถือสิ่งใดเป็นจุดยืน กับการเผื่อใจเว้นที่ว่างไว้สำหรับมุมมองความเข้าใจอื่นๆ หากเราปักใจกับอะไรมากเกินไป เท่ากับเราวางใจตนไว้ที่ปลายขอบด้านหนึ่ง ใจก็พร้อมจะเอียงและล้มลงง่าย ต้องรู้เผื่อใจว่าสิ่งทั้งหลายมิมีอะไรที่เที่ยงแท้ แน่นอน และยึดมั่นไว้ได้ตลอดไป แม้สิ่งนั้นๆ จะเป็นคุณค่าของชีวิตก็ตาม

.

เมื่อใจเราอยู่ตรงกลาง เมื่อนั้นจึงเกิดความเข้มแข็งที่แท้จริง ชนิดที่ไม่ต้องคอยเหวี่ยงวุ่นไปกับเรื่องต่างๆ มากมาย เราจะวางใจเป็นกลางได้ เมื่อเราใส่ใจสิ่งต่างๆ อย่างพอดี และมีขั้วตรงข้ามช่วยถ่วงดุลไว้ให้สมดุล หากเราใส่ใจคนอื่นมากเกินไป จนเราหวั่นวิตกง่ายกับคำวิจารณ์และเสียงต่างๆ จากผู้อื่น เช่นนั้นแล้วเราก็ต้องกลับมาใส่ใจตนเองให้มากขึ้น แต่ก็มิใช่เป็นการใส่ใจแต่เสียงตนเองผู้เดียว

.

วางใจเป็นกลางมิใช่ทำอะไรครึ่งๆ กลางๆแต่เป็นการรักษาใจให้เต็มที่ในแต่ละขณะ ไม่ปล่อยล่องลอยไปตามอารมณ์ ความคิด และสิ่งภายนอก สิ่งใด มากระทบ ก็รับรู้ไว้ด้วยใจสงบ ไม่เอาตนเข้าไปยุ่งจนวุ่นวาย และทำสิ่งที่ต้องทำอย่างจดจ่อจนสำเร็จตามหน้าที่

.

หากมิได้วางใจเป็นกลาง เมื่อนั้นเราจะทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ เพราะมิว่าสิ่งใดเข้ามารบกวนใจขณะทำอะไรอยู่ ใจก็จะหลุดจากสมาธิ เหวี่ยงและผันแปรไปกับสิ่งเหล่านั้น จนสิ่งที่ต้องทำจริงๆ มิได้ทำอย่างเต็มที่ด้วยสติเลย และเมื่อใจไม่เป็นกลางแล้ว ความคิดก็ย่อมครึ่งๆ กลางๆ เพราะไปยึดเอาบางด้านจนสุดโต่ง

.

เมื่อใจอยู่ตรงปลายขอบ เราย่อมถูกรบกวนด้วยความรู้สึกลังเลใจ กลัว คิดกังวล และเป็นทุกข์กับความคิดต่างๆ อยู่เรื่อยๆ เมื่อรู้พาใจมาวางไว้ตรงกลางแล้ว ไม่จม กับสิ่งตรงหน้า และไม่เอาตัวเข้าไปติดกับอะไร พาใจอยู่ตรงกลางไว้ เราจะเข้มแข็งได้อย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน

.

ลองการฝึกเป็นผู้สังเกต มองสิ่งทั้งหลายให้เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเช่นนั้นเอง มิใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นเฉพาะกับฉันหรือกับใคร  แค่สิ่งใดเกิดขึ้น เพียงรับรู้และเฝ้าดูตามความเป็นจริง คิดเห็นสิ่งใดก็พิจารณาอย่างรอบด้าน ไม่ยึดติดเพียงบางมุมเท่านั้น

.

.

ทำสิ่งใดให้นำตัวฉันไว้ที่ความว่าง :

.

การวางตัวฉันไว้ที่ความว่าง คือการไม่นำตัวเองเป็นที่ตั้งว่า ฉันเป็นผู้ทำสิ่งนั้น เป็นผู้โดนสิ่งนี้ เพียงแต่ให้รับรู้ว่า มีสิ่งใดเกิดขึ้น และ ต้องทำสิ่งใด ว่างจากการยึดติดว่านี่เป็นฉัน หรือของฉัน

.

ตราบใดที่ยังใช้ชีวิตและกระทำสิ่งต่างๆ ไปโดยมีตัวตนเป็นที่ตั้งอยู่ เมื่อนั้นย่อมมีบ้างที่เราจะอ่อนแอ ประเดี๋ยวเข้มแข็ง ประเดี๋ยวสั่นไหว บางครั้งอุบายวิธีการสร้างความเข้มแข็งก็ใช้ได้ บางครั้งก็ใช้ไม่ได้ เพราะการถือมั่นหมายความเป็นตัวตน ย่อมอาจทำให้สำคัญไปด้วยว่าบางสิ่งเป็นตัวฉัน พอมีสิ่งอื่นที่ขัดแย้งมากระทบก็เป็นทุกข์และอ่อนแอ หรือยึดติดด้วยว่าเพราะฉันเป็นคนอย่างนั้น ยึดมั่นว่าเป็นตัวตนแบบนี้ จึงไม่ยอมปรับปรุงตัวเอง

.

เมื่อใดวางฉันไว้ที่ความว่างแล้ว เราจะพบความหมายอีกระดับหนึ่งของความเข้มแข็ง ซึ่งไม่ต้องต่อสู้หรือหลบหนีสิ่งใด เราจะไม่มัวยึดติดว่าเพราะฉันเป็นเช่นนี้ แต่จะเห็นหนทางที่เป็นไปได้มากมายว่าจะปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร

.

การวางตัวฉันไว้ในความว่าง ฟังดูยากและไกลตัว แต่ไม่เคยมีใครที่จะยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตนอยู่ตลอดเวลา ระลึกถึงช่วงเวลาที่ตนเองผ่อนคลาย ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ได้คิดยึดติดว่าสิ่งไหนเป็นของฉัน ไม่ย้ำคิดว่าสิ่งใดทำฉันเจ็บ นึกถึงตอนที่เราไม่ได้ถือสากับอะไรมากมาย ตอนนั้นเรากำลังวางตัวฉันไว้ที่ความว่างแล้ว

.

เมื่อทุกข์แล้วก็เพียงไม่นำเอามาเป็นของตน เป็นเรื่องเฉพาะของตน แต่แลเห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนบนโลกนี้

.

เราเริ่มต้นวางตัวเองไว้ที่ความว่างง่ายๆ เริ่มด้วยการฝึกยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยใจเป็นกลาง ไม่ผูกติดหรือย้ำคิดว่า นี่เป็นเพราะฉัน นี่เป็นการทำต่อฉัน หรือนี่เป็นของๆ ฉัน

.

ทำสิ่งที่ต้องทำให้รับรู้แต่เพียงว่าร่างกายและจิตใจเป็นผู้ทำ มิใช่ฉันหรือตัวข้า ตัวกู เป็นผู้กระทำ รับรู้ความรู้สึกขณะทำนั้นเพียงแค่ว่าร่างกายรู้สึก หรือจิตใจรู้สึก มิใช่ตัวฉันรู้สึก หรือความรู้สึกนี้ของฉัน

.

เมื่อคิดมากไปแล้วจนบั่นทอนกำลังใจ ฝึกแยกตัวออกมาจากความคิดนั้น ด้วยการกำหนดรู้ที่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงในร่างกาย รับรู้แต่สักว่าเป็นความรู้สึก มิใช่ฉันรู้สึกและเป็นเจ้าของ

.

การฝึกดังที่กล่าวมานี้ เราได้เริ่มวางตัวฉันไว้ที่ความว่างแล้ว ฝากตัวตนไว้ที่ความว่างแล้ว

.

ในการทำสิ่งทั้งหลายไปตามความเคยชินแต่เดิม แม้เป็นการทำดีเพื่อผู้อื่นก็จะมีตัวตนเราเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ดี ทำให้เราสุขบ้างทุกข์บ้างกับการทำดีและสิ่งที่เจอระหว่างนั้น เมื่อไม่ใช่ตัวตนให้กระทบ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายนอกก็เพียงแค่เกิดขึ้นและดับไป มิต้องดิ้นรนพยายามให้ตนเองเข้มแข็งแล้ว

.

สิ่งต่างๆ ที่เราลงมือ ลงแรงกายใจ จะเป็นไปเพื่อประโยชน์และคุณค่าอันสูงสุด เพราะไม่มีตัวตนของตนเองเข้ามาแบกรับสุขทุกข์ มีกายกับใจอันเป็นธรรมชาติทำไปตามธรรมะหรือหน้าที่อย่างเหมาะสม

.

.

อนุรักษ์ ครูโอเล่

คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ ๓๗

 

? อ่านตอนแรก
: www.dhammaliterary.org/๘วิธีเข้มแข็งจากภายใน๑/

? ฝึกเขียนดูแลใจ เติมความสุข คลายความทุกข์

:  www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/