10 ชวนคิด คอลัมน์ ไกด์โลกจิต

 

 

ในวาระที่คอลัมน์นี้ได้มาถึงตอนที่ 64 ในปี พ.ศ. 2564 เมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยมีความยาวของเนื้อหารวมทั้งหมดมากกว่า 530 หน้าเอสี่แล้ว นับจากตอนแรกจนมาถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่าห้าปี

จึงขอเก็บเกี่ยวบางวรรควลีจากบางบทความที่ผ่านมา นำมาปักหมุดไว้ในตอนพิเศษนี้ พร้อมทบทวนชีวิตของผมเองในฐานะผู้เขียน บอกเล่าแชร์ความคิดเห็นแบบเล่าสู่กันฟัง โดยไม่ได้ร่างเค้าโครงไว้ล่วงหน้า

ผู้อ่าน/ผู้ติดตาม หากต้องการรู้เรื่องใดหรือต้องการให้เขียนเกี่ยวกับเรื่องใดเป็นพิเศษ โดยยังอยู่ในแนวทางของคอลัมน์นี้ สามารถเสนอผมมาได้ที่ช่องทางคอมเมนท์ หรือช่องทางติดต่ออื่นๆ

.
.
I “แม้อ่านหนังสือคู่มือสร้างสุข สร้างความสำเร็จ และเทคนิคพิชิตอุปสรรค มากมายเพียงใด หากไร้การทำและผลักดันด้วยตนเองแล้ว กองตัวอักษรและความรู้ต่างๆ ก็จะถมทับเราอยู่กับความมืดมน”
.

ข้อความนี้มาจากตอนแรกของคอลัมน์ในชื่อ …เราไม่ได้อับแสง แต่เราหลงลืมตัวเอง…

ตอนแรกของคอลัมน์นี้เปรียบเสมือนการตั้งธงไว้กลายๆ ว่า การเดินทางของอักษรในตอนต่อๆ เป็นการเดินกลับเข้าไปหาตัวเอง ตามหาแสงสว่างภายในที่หลงลืม

แม้จะเป็นความรู้ ธรรมะ หรือคำแนะนำต่างๆ แต่สุดท้ายแล้ว… มันคือการกลับมาถามใจตนแล้วตอบตัวเองให้ได้ในคำถามสำคัญต่างๆ ของชีวิต …คนที่เป็น ไกด์โลกจิต จริงๆ แล้วไม่ใช่ผู้เขียน แต่เป็นตัวเราเองและการฝึกฝนตนด้วยตัวเอง…

การขาดความรู้สึกมีคุณค่ากับความเคยชินในการพึ่งพาสิ่งนอกตัว มันทำให้เราหลงลืมแสงสว่างในตัวเอง ลืมความสำคัญของความพากเพียรและการทำสิ่งที่มีค่าให้กับตนอย่างต่อเนื่อง

เราจึงจะเห็นการเสพติดสิ่งต่างๆ เพื่อชดเชยความรู้สึกว่าตัวเอง “ไม่เอาไหน” ในหลายๆ ทาง หนึ่งในสิ่งเสพติดเหล่านั้นก็คือ ความรู้ การเข้าคอร์ส ครูอาจารย์ คลิปวิดีโอ หรือแม้แต่ “แสงสว่าง” จากสิ่งนอกตัว โดยปฏิเสธที่จะมีวินัยฝึกตนเองไปด้วย ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว สิ่งนอกตัวเหล่านี้ก็จะยิ่งทับถมจนไม่เห็นแสงที่มีอยู่แล้วภายใน

การอบรมที่ผมจัดทุกหลักสูตร จึงเน้นการปฏิบัติขัดเกลาตนด้วยตัวเอง ให้ฝึกฝนและฝึกฝืนด้วยความเพียร ไม่เน้นบรรยากาศหรือพลังของกลุ่มเป็นที่ตั้งหรือการพูดปลุกใจต่างๆ ต่อให้แม้จะทำให้มีเรียนจบไม่ครบทุกคนหรือเข้าเรียนไม่มากก็ตาม

หากพึ่งพาแต่บรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี เพื่อนที่ส่งเสริม กระบวนการอบรมที่สนุกหรือสบาย เมื่อเจอความยากลำบากที่เข้ามาทดสอบชีวิต เราก็อาจทิ้งสิ่งต่างๆ ที่เรียนรู้แล้ว เพื่อตามหาแสงสว่างจากนอกตัวต่อไปอีก ไม่จบสิ้น

ผู้มีความเพียรจึงล่วงพ้นจากทุกข์… คือหลักปฏิบัติที่สำคัญประการหนึ่งของพระพุทธศาสนา แม้กัลยาณมิตรจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโต แต่ถ้าไม่ปฏิบัติด้วยตนเองก่อนแล้วจะเรียกตนเป็นกัลยาณมิตรแก่คนอื่นได้อย่างไร หรือจะเรียกร้องหรือดึงดูดให้มีกัลยาณมิตรที่ฝึกตนเข้ามาในชีวิตได้อย่างไร

การขาดวินัยที่จะทำสิ่งดีๆ ให้กับตน คือสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่า เรายังสามารถรักตัวเองอย่างแท้จริงได้มากกว่านี้

( ผมเขียนมาถึงตรงนี้แล้วก็รู้สึกเหน็บแนมตัวเองเล็กน้อยที่มีวินัยในการนั่งสมาธิทุกวัน แต่ไม่มีเจตนาพอในการออกกำลังกายต่อเนื่อง )

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมได้ทบทวนและเห็นว่าควรแลกเปลี่ยนกันฟัง นั่นคือ การมีความรู้ ใช่ว่าจะเอาตัวรอดได้ ยิ่งรู้เยอะบางทียิ่งทุกข์มาก เพราะเอาความรู้นั้นมาพอกพูนตัวตนหรือยกมาบนหัวตนเอง มากเสียว่าจะใช้จริง

การรู้เยอะ จนเป็นการสะสม แทนที่เราจะเห็นโลกตามจริง อาจเห็นแต่เพียงสิ่งที่ตนเองคิดว่ารู้แล้วๆ ไม่เปิดรับอะไรใหม่ๆ ซึ่งบ่อยครั้งที่ว่ารู้มันก็แค่ด้านเดียว หรือไม่ได้เป็นความจริงเลย

ทางเดียวที่ความรู้จะเป็นเนื้อเป็นตัว ไม่ได้อยู่แต่ในหัว มิได้พอกพูนตัวตนให้หนาขึ้นไป คือการลงมือทำกับการฝึกฝนตนเอง เพราะการปฏิบัติเท่านั้นจึงทำให้รู้อย่างแท้จริงว่าที่คิดว่ารู้นั้นมันจริงไหม หรือแค่ทึกทักเอาเอง

ผมเองก็ยังต้องถามตัวเองอยู่เรื่อยๆ ว่า …อะไรที่ดีแต่สอนเขา อะไรที่ดีแต่รู้… ซึ่งก็ยังมีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

แม้ผมจะถือว่าตนพึ่งพาแสงสว่างจากภายในค่อนข้างมาก แต่เมื่อเจอกับความสูญเสียและความเสื่อมสูญหลายอย่างในช่วงสองปีแห่งโรคระบาดโควิดนี้ก็ได้เห็นว่าตนเองก็พึ่งพาแสงสว่งจากภายนอกอยู่ไม่น้อย

ความรู้สึกโดดเดี่ยว มีคุณค่ามหาศาล มันทำให้เรารู้ว่าต้องพากเพียรเพื่อตัวเองด้วย มิใช่เพื่อคนอื่นหรือเพื่อตอบสนองทางสังคมเท่านั้น

ความทุกข์กับการที่เราไม่อาจมีแสงสว่างดวงเดิมที่เติมกำลังใจแก่เราได้อีกแล้ว ไม่ใช่สัญญาณที่บอกให้เราไปตามหาจากที่อื่นอีก แต่เป็นโอกาสที่เราได้กลับมาจุดตะเกียงใจของตนด้วยตัวเองอีกครั้ง

.
.
II “มนุษยเรานี่เก่งนะ ทำให้ชีวิตที่ง่ายตามวิถีธรรมชาติให้ยุ่งยากซับซ้อนและก็ทนอยู่กับมันได้ แต่ความเก่งนี้แทนที่จะเพื่อช่วยให้ตัวเราและเพื่อนหลุดพ้นจากทุกข์ กลับก่อทุกข์เพราะเกาะกุมสิ่งต่างๆ อยู่ร่ำไป เอาความเก่งนั้นมาทำให้ชีวิตอยู่ยาก แทนที่จะทำให้ง่าย”
.

ข้อความนี้มาจากตอน… อยู่อย่างยึด ย่อมยาก

บทความตอนนี้อ่านอีกครั้งก็ยังรู้สึกว่าเตือนตนเอง ผู้อ่านอาจไม่ทราบว่ามีหลายบทความที่ผู้เขียน เขียนให้กับตนเองอ่านแต่นำมาแชร์ลงในคอลัมน์ด้วย นี่เป็นความลับข้อหนึ่ง

ผมได้ไอเดียในตอนนี้จากการฝึก เขียนภาวนา ดำรงอยู่กับการเขียนและลมหายใจเพื่อพิจารณาความอยากกับความยึดมั่นในตนเอง

บางมุมก็มองตนเองเป็นคนเรียบง่าย มิได้เรียกร้องชีวิตให้มีอะไรมากมาย แต่บางมุมก็สร้างเงื่อนไขด้วยความยึดถือไว้ให้ชีวิตซับซ้อนด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องหลักคิดที่ยังถือทิฐิอยู่มาก ต้องคิดตามให้ได้อย่างนี้อย่างนั้น และมีขอบเขตของความสัมพันธ์ที่อนุญาตให้คนอื่นเข้ามาได้อย่างยากเย็น

ในบทความนี้เองก็ได้แลกเปลี่ยนหลักยึดหนึ่งอย่างที่ครูอาจารย์ได้เตือนผมไว้ นั่นคือ “ความสันโดษ” พอใจในสิ่งที่มี ยินดีในความน้อย ไม่อยู่อย่างละโมบโลภมาก

หลักคิดง่ายๆ นี้ที่ทำให้ชีวิตเป็นสุขได้ไม่ยาก และทำให้รักษาฐานะความเป็นครูอยู่ได้จนถึงวันนี้ แม้ที่ผ่านมาจะหกล้มหน้าคะมำก้นหงายกี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็ตาม

มนุษย์มีความฉลาดหลายประการที่เหนือสัตว์ทั่วไป เหมือนมีพรสวรรค์แต่ไม่รู้จักใช้ให้เกิดคุณ กลับนำไปสร้างทางสู่นรกหรือความทุกข์ยากลำบากแทน

…เอาปัญญาไปสร้างขีปนาวุธ แทนที่จะแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน เอาความเพียรไปขยันเปิดโซเชียลมีเดียและคลิปออนไลน์ แทนที่จะฝึกสมาธิภาวนาหรือทำสิ่งที่ดีต่อกายใจตัวเองมากกว่า เอาความช่างสังเกตไปจับผิดผู้อื่น แทนที่จะจับสังเกตช่องโหว่งในชีวิตของตัวเอง…

ทุกวันนี้เราเอาความฉลาดที่ได้รับจากธรรมชาติมาทำให้ชีวิตยุ่งยากลำบาก หรือขาดโอกาสเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นมากเพียงใด…

มันก็น่าคิดว่า ทุกคนมีพรสวรรค์ แต่เรามักใช้มันสร้างปัญหาให้กับตัวเองโดยไม่รู้ตัว บางคนก็เก่งนะ สามารถลังเลทุกเรื่องราวทุกวี่วัน กลายเป็นขี้โลเล แต่ถ้าเราเปลี่ยนมันให้กลายเป็นความช่างสังเกตและความเป็นนักตั้งคำถาม มันจะส่งผลดีให้แก่ชีวิตตนกับคนอื่นมากเพียงใด

…ลองคิดดูดีๆ ว่า อะไรในตัวเราที่มักสร้างปัญหา แล้วเราจะพลิกให้มันเป็นพรสวรรค์ได้อย่างไร อย่ายึดติดว่ามันคือข้อด้อย มันอาจเป็นข้อเด่นที่เรายังใช้ไม่เป็นเท่านั้น

( ผมเขียนจากเรื่องความยึดติดมาถึงประเด็นนี้ได้ก็แปลกใจตนเองเช่นกัน )

.
.
III “ยิ่งเราตัวใหญ่ขึ้น ความสุขก็ยิ่งกลายเป็นของยาก เราจะมีเงื่อนไขต่างๆ เป็นกรอบให้ตัวเองและชีวิต เช่นว่า ฉันจะมีความสุขได้เมื่อฉันทำงานครบห้าวันในแต่ละสัปดาห์แล้วดูโทรทัศน์อยู่ที่บ้านในวันหยุดสองวัน ฉันจะมีความสุขได้เมื่อได้ทานอาหารร้านหรูและไปเที่ยวไกลๆ หรือ ฉันจะมีความสุขได้เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามที่ฉันหวัง
.
เพราะเมื่อเราตัวใหญ่ เราก็จะมองแต่สิ่งที่ใหญ่และพิเศษ เมื่อสายลมแห่งความอยากพัดพาตัวตนโตๆ ก็พร้อมที่จะเอียงและกระทั่งล้มลง ขณะที่ต้นข้าวไหวเอน และนกกระจอกบินถลา”
.

ข้อความตอนนี้อยู่ในบทความชื่อ… #ตัวเล็ก จึงทวนกระแสง่าย …เป็นตอนที่รีโพสบนเพจสถาบันฯ มากที่สุดตอนหนึ่ง

ตัวใหญ่ขึ้น แง่หนึ่งก็เหมือนการเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ตอนเด็กๆ เรามีความสุขง่ายๆ แค่มีใครเอามือปิดหน้า แล้วเปิดมือออกมาพร้อมทำเสียง แฮ่ เราก็ยิ้มหน้าบานหัวเราะคิกคักแล้ว

มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับจิตใจที่มีเงื่อนไขน้อยกว่า การมีความสุขจึงยากน้อยกว่า

เด็กเล็กๆ ไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะต้องมีตำแหน่งสูงๆ มีเงินเดือนมากมาย หรือเรียนจบได้ปริญญากี่ใบ มีคนเชิดชูเขาแค่ไหน เพื่อจะมีความสุข เขาตอบสนองโลกไปตามความต้องการพื้นฐานอย่างซื่อใส ตรงไปตรงมา

แต่เมื่อเราโตขึ้น เป็นเด็กที่โตขึ้น เป็นวัยรุ่น จวบจนเป็นผู้ใหญ่ เราก็เรียนรู้ว่าโลกไม่ได้มอบสิ่งที่ใครต้องการตรงๆ มาให้ เราจึงมีกติกามากมายมาผูกแก่ใจ ต้องเป็น…ต้องมี…ต้องได้…จึงจะมีความสุข ( หรือเห็นคุณค่าในตัวเอง )

การตัวใหญ่ขึ้น อีกแง่หนึ่งก็คือการพอกพูนอัตตาเอาไว้ หมายถึง สะสมความยึดติดว่า ฉันเป็นคนอย่างไร ฉันทำอะไรได้ ฉันมีดีอย่างไร ฉันเคยทำอะไรมาแล้ว …สิ่งเหล่านี้ที่ผูกติดไว้กับตัวตน มันพอกพูนให้เราตัวใหญ่ขึ้น มีอัตตาเทอะทะมากขึ้นเรื่อยๆ

เจ้าสิ่งที่พอกกายใจเรานี้มันทำให้ชีวิตทุกข์เนืองๆ …คนจะเข้าหาฉันต้องทำแบบนี้ๆ เห็นความสำคัญของฉันแบบนั้นๆ… เมื่อไม่ได้เป็นอย่างที่เคยเป็น ทุกข์ก็เกิดขึ้นชัดเจน ในเวลาที่ผิดหวัง ล้มเหลว หรืออะไรๆ มิเป็นดั่งใจ

ยิ่งใหญ่ ยิ่งคล่องตัวยาก เวลาเจอเหตุการณ์ที่เลวร้าย หรือสถานการณ์ไม่ปกติ การปรับตัวก็มิใช่เรื่องง่าย เหมือนการลอดช่องแคบเมื่อโลกบีบทางชีวิตให้เหลือตัวเลือกไม่มาก ยิ่งตัวใหญ่ยิ่งรอดยาก

เพราะเราอาจไม่ยอมปรับวิธีคิด ปรับพฤติกรรม หรือแนวทางต่างๆ ที่เคยใช้มา เพราะเรายึดติดกับมันไปแล้ว เป็นตัวตนของตนไปแล้ว ทั้งๆ ที่ ไม่มีสิ่งใดให้ถือมั่นอยู่ เป็นตัวตนอันแท้จริงเลย

ช่วงวิกฤติโรคระบาดที่ส่งผลกับธุรกิจการงานและการใช้ชีวิตของทุกคน สอนเราในเรื่องนี้อย่างมาก ผู้เขียนเองก็เช่นเดียวกัน

กว่าจะรู้ตัวว่า ตัวเองตัวใหญ่แค่ไหน ก็ตอนชีวิตชะงักอยู่หน้าช่องแคบนั้นเอง จะยอมลดราวาศอก เอาทิฐิอัตตาออกไปบ้าง หรือจะติดตายจนตรอกทั้งที่ทางออกอยู่ข้างหน้า

ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แม้แต่ความเคยชินของเราเองก็ตาม

.
.
IV “สิ่งต่างๆ ในชีวิตที่เราสะสมและหวังให้มั่นคงนั้น แท้จริงก็เป็นเพียงธรรมชาติ เหมือนก้อนเมฆที่เป็นรูปร่างดั่งใจหวัง แต่วันหนึ่งเมื่อสายลมแห่งโชคชะตาและเหตุผลนานาก็ทำให้เมฆและสิ่งที่เราหวังรักษา เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
.
ขึ้นอยู่กับเราแล้วว่าจะถวิลหาหรือพยายามทำให้เป็นดั่งเก่า หรือเฝ้ามองดูเมฆและฟ้าของชีวิตที่แปรเปลี่ยนให้เห็นความงดงามและประโยชน์ที่จะทำให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้นกว่าเดิม”
.

ข้อความจากตอน… 4 ข้อคิด “ทำใจ” จากเมฆ

ไม่ผิดหากเราจะแสวงหาหรือยึดถือสิ่งใดเพื่อเติมเต็มความต้องการ ความมั่นคง ในจิตใจของตัวเอง แต่เราพึงรู้ความจริงว่า สิ่งทั้งหลายมันก็เหมือนเมฆ พร้อมจะแปรผันได้ตลอดเวลา

ชีวิตมนุษย์เหมือนฝันกลางวัน เราทึกทักบ้าง วาดหวังบ้าง อยากให้สิ่งทั้งหลายเป็นแบบนั้นแบบนี้ มีความอยากหรือตัณหาโลดแล่นในใจแทบตลอดเวลา เป็นชีวิตที่คอยเฝ้าดูก้อนเมฆ… หรือสิ่งที่ไม่มีตัวตนทั้งหลาย รอคอยให้มันเป็นรูปร่างดั่งใจ

ตัณหานั้นเองก็เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน เป็นเหตุทำให้เกิดความยึดมั่นขึ้น เช่นเดียวกันกับการสมมติเอาว่าก้อนเมฆเป็นก้อนหรือเป็นรูปร่างอะไร ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เมฆนั้นก็เพียงกลุ่มไอน้ำที่ลอยละล่องใกล้ๆ กันเท่านั้น มันไม่ได้เป็นก้อนด้วยซ้ำไป

ไม่มีสิ่งใดเป็นตัวเป็นตนอย่างถาวร หรือจะบอกอีกแบบก็ได้ว่า มันไม่มีอะไรเป็นตัวตนด้วยซ้ำไป ถ้าลองสังเกตดูให้ดี

การถือว่ามีตัวตนก็เพียงฝันกลางวันของมนุษย์เท่านั้น…

ลึกๆ เราก็รู้ดีในความจริงข้อนี้ มันจึงมีความรู้สึกโหวงๆ ข้างใน เพราะเราก็รู้ว่าแม้แต่กายใจก็ไม่ใช่ตัวตนที่ถาวร ประเดี๋ยวก็เปลี่ยนแปลง กาลล่วงลับก็ดับหาย เราจึงอยากมีสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งนอกตัวให้เป็นที่ยึดเหนี่ยว ให้พอคลายความรู้สึกว่างเปล่า

แต่เนื่องด้วยทุกอย่างที่คว้าไว้ก็เป็นดั่งเมฆ ช่วงหนึ่งเราจึงสุขนัก ช่วงหนึ่งเราจึงทุกข์หนัก สลับไปมาไม่จบสิ้น

ร่างกายผมเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในช่วงระหว่างเขียนคอลัมน์นี้ อายุมากตามวันเวลา เสื่อมโทรมลงตามปัจจัย แต่ก็เป็นครูชั้นดีที่สอนธรรมะแก่ตัวเอง และเป็นผู้ตักเตือนสิ่งที่ละเลยอยู่เสมอ

ผมยึดการงานกับความสัมพันธ์เป็นที่พึ่งแก่ตนมากทีเดียวตลอดช่วงที่ผ่านมา เสมือนเป็นสิ่งที่ให้ความหมายแก่การดำรงอยู่ ขาดไปไม่ได้ ซึ่งในช่วงห้าปีที่ผ่านมามันก็พังทลายลงไปหลายครั้งคราว ได้เริ่มต้นและล้มเหลว พบและพราก แต่งและหย่า ถูกศรัทธา…ถูกหมางเมิน , มีทีมงาน…มีคนเดียวลำพัง…

ท้ายที่สุด ความไม่สมหวังในสิ่งที่ยึดไว้เป็นที่ “พึ่งพิง” จะสอนให้เราให้กลับมาพึ่งตนเองอย่างแท้จริง แล้วเห็นว่าสิ่งทั้งปวงเหล่านั้น แค่เพียงที่ “พิงพัก” แก่ใจ เป็นแค่ของชั่วคราว

ผมได้เห็นว่าการทำงานบ้านเอง ในจุดเล็กๆ บางจุดที่ไม่คิดทำ ซึ่งเคยมีคนทำให้ เป็นนิสัย มันก็ทำให้เห็นการฝึกตัวเองในสิ่งเล็กน้อย กับความเพลิดเพลินที่ไม่เคยนึกฝัน อย่างการตอนลดเวลาทำงานเพื่อมาดูแลบ้านและสวน มันก็ทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นหลังจากหมกมุ่นอยู่ตรงหน้าจอ

การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดความงดงาม ถ้าเมฆค้างฟ้าอยู่แบบเดียวตามที่ต้องการทุกวัน เราจะรู้สึกว่ามันสวยงามอีกหรือไม่ ถ้ามันไม่เปลี่ยนแปลง คงไม่มีฝนตก ต้นไม้ก็ไม่งอกงาม โลกก็เหี่ยวเฉานัก

.
.
V “วิธีการเลือกอีกแบบหนึ่งคือการพิจารณาดูว่า สิ่งใดที่ไม่ได้เลือกหรือไม่ได้ทำ เราจะเสียดายและเป็นทุกข์ยิ่งยวดในภายหน้า สิ่งใดไม่เลือกแล้วไม่ตาย เลิกแล้วมีประโยชน์ มีสิ่งอื่นที่ดีกว่าทดแทนได้ และไม่ใช่คุณค่าที่เหมาะสมกับตัวเรา ก็อาจสามารถตัดตัวเลือกนั้นทิ้งไป แต่ท้ายที่สุดการลงมือทำจะเป็นสิ่งที่ให้คำตอบแก่เราเอง

“การตัดสินใจบางครั้งมันเจ็บปวดและยากลำบาก เป็นการเลือกที่ทารุณ แต่มันอาจเป็นการก้าวข้ามขอบของตนเอง เพื่อการเติบโตของทั้งเราและอีกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”
.

จากตอนชื่อ… 7 วิธีเลิกฝันกลางวัน แล้วผลักดันชีวิต

ครั้งแรกก็คิดว่าจะเลือกเพียงย่อหน้าที่สองมาลงไว้ แต่อ่านดูซ้ำแล้วก็รู้สึกเสียดายหากจะตัดย่อหน้าแรกออกไป

 

ผมจำได้ว่าบทความนี้ถูกแชร์ขึ้นมาบนเฟสบุ๊คอีกครั้งโดยศิษย์เก่าคนหนึ่ง แล้วภรรยาเก่าของผมก็คอมเมนท์ประมาณว่า คนเขียนควรทำให้ได้ดังที่เขียนด้วย

ผมไม่ได้ว่าอะไรและกดไลค์ให้คอมเมนท์นั้นไป เห็นด้วยว่าแม้เป็นผู้เขียนก็ยังต้องเรียนรู้ที่จะเลิกฝันกลางวัน เหมือนมนุษย์ทั่วไป แล้วผลักดันชีวิตไปในทางที่ถูกต้อง

แต่บางครั้ง…หรืออาจหลายครั้ง เราต้องยอมตัดสินใจไม่ถูกต้อง อาจจะในสายตาคนอื่นหรือแม้แต่ในสายตาของตัวเองด้วย เพื่อเรียนรู้จากมันและเพื่อการเติบโตของทุกๆ คนที่เกี่ยวข้อง

ผมเลือกที่จะช่วยคนที่ผมเห็นว่าต้องช่วยเหลือดูแล เพราะรู้สึกว่าตนอาจจะต้องเสียดายหรือเสียใจถ้าไม่ได้ทำ ต้องทำแม้จะไม่ถูกต้อง …มันอาจไม่ใช่ความจริงก็ได้ อาจแค่รู้สึกไปเอง เพราะปมรู้สึกผิดที่เคยเห็นแก่ตัวมากกว่าเห็นแก่คนอื่นก็ได้

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครที่ฟันธงได้อย่างแท้จริงว่า ทางที่เราจะเลือกเดินไปจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดหรือไม่…

เราต้องเลือกเอง และลิ้มรสชาติของผลลัพธ์ด้วยกายใจตนเองเท่านั้น

เราไม่รู้หรอกว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่รู้แน่ๆ อยู่อย่างน้อยสองอย่าง คือ 1 มันมีความทุกข์อยู่แน่นอน ไม่มีทางเลือกใดในชีวิตที่จะมีแต่ข้อดีหรือข้อได้อย่างเดียว มันมีข้อเสียและข้อแลกเปลี่ยนอย่างแน่นอน 2 ไม่ว่าทางที่เลือกนั้นจะเป็นอย่างไร มันก็คือ “ชีวิต”

ในฐานะผู้เขียนและผู้สอนคนอื่น น่าจะยอมรับหลายครั้งแล้วว่า ชีวิตผมที่ผ่านมา ( ทั้งในชาตินี้หรืออาจชาติที่ล่วงมาด้วย ) ตัดสินใจผิดพลาดมากกว่าตัดสินใจถูกต้อง

แต่ทุกครั้งที่เลือกผิด มันก็ทำให้เราแข็งแกร่งมากขึ้น โลเลน้อยลง ถ้าเรากล้าเลือกและกล้ายอมรับผลที่ตามมา

อย่างน้อยที่สุด เราได้ตัดสินใจด้วยตนเอง แม้มันจะแลกกับน้ำตาหรือความทุกข์ทั้งตนกับคนอื่นด้วยก็ตาม การตัดสินใจด้วยตัวเอง ทำให้เราเคารพตัวเองได้ ต่อให้แม้ว่าเส้นทางที่เลือกไป มันจะไม่เรียบหรูเท่าคนอื่นที่เขาเลือกกันก็ตาม

สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ต้องยอมรับให้ได้ว่า ทางเลือกนั้นมันดีและเลวอย่างไร ใครจะตำหนิมาก็สามารถตำหนิได้ ไม่ใช่หาแต่ข้ออ้างมายกปกป้องตน นั่นยังไม่ใช่วิถีคนแกร่งที่จริงแท้

.
.
VI “ความสมบูรณ์แบบไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดเสมอไป หลายครั้งที่เราบีบคั้นตัวเองหรือจำกัดตนอยู่อย่างนั้น เพียงเพราะหวังได้ยึดเหนี่ยวความสมบูรณ์เพื่อให้เรารู้สึกมั่นคงและแน่ใจกับชีวิต แต่บ่อยครั้งมันก็ทำให้เราไม่กล้าลงมือทำอะไร หรือไม่กล้าที่จะวางในสิ่งที่ควรวาง”
.

ข้อความนี้มาจากบทความ… 7 คุณค่าชีวิตดั่ง “ดวงตะวัน”

ความคาดหวังให้อะไรก็ตามสมบูรณ์แบบ อาจจะเรียกอีกอย่างว่า… อยากให้ดีพอ

การอยากให้สิ่งใดก็ตามดีพอ เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เราทุกคนมีได้ บางครั้งมันก็เป็นแรงผลักดันมหาศาลให้กับเรา มิว่าจะเป็นเรื่องงาน ความสัมพันธ์ ครอบครัว หรือการฝึกภาวนา

พอๆ กับที่เป็นแรงกดดันมหาศาล และเป็นกรงขังด้วยเหมือนกัน

การที่เราอยากให้สิ่งต่างๆ ดีพอ แม้จะเป็นเรื่องนอกตัว มันก็มักจะกลับมาตอบอัตตาตัวเอง คือหวังทำให้เรารู้สึกว่า… ฉันดีพอ …หรืออย่างน้อยก็มีหลักยึดหรือเครื่องประกันว่า ฉันจะดีพอ หากฉันมีหรือทำสิ่งนั้นได้

เราเรียกร้องจะมีคู่แท้ คนที่รักและดูแลอย่างสมบูรณ์แบบ นั่นก็เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเอง ดีพอ จึงมีคนแบบนี้เข้ามาอยู่ในชีวิต เราอยากให้ผลงานออกมาเลิศเลอ เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายอย่างเต็มเปี่ยม พยายามทำทุกวิถีทางให้งานสมบูรณ์แบบ นั่นก็อาจเป็นไปเพื่อให้รู้สึกว่าตนเองนั้น ดีพอ

แต่มันจะต้อง ดีพอ กันอีกมากแค่ไหน จึงจะพอใจอย่างแท้จริง …สมบูรณ์แบบเพียงใดจึงจะไม่ทุกข์อีกต่อไป

อาจจะถามตนเองว่า การที่สิ่งๆ นั้นหรือคนนั้นๆ สมบูรณ์แบบอย่างที่ใจเราต้องการ มันคือสิ่งที่ดีที่สุดแล้วจริงๆ หรือไม่

ความไม่ดีพอ มันแย่หรือ…

หนึ่งในวิชาที่ผมสอน คือเรื่องของการสะกดจิตบำบัด ในหลักสูตร “ห้องเรียน พลังแห่งจิต” จุดเริ่มต้นที่ผมพบเจอกับวิชานี้ เนื่องด้วยวันหนึ่งผมได้รับ Feedback คำสะท้อนจากคนอื่นว่า การพูดเวลาจัดกิจกรรมค่ายของผมนั้นมันเรียบเกินไป เป็นเสียง Mono-tone ฟังแล้วน่าเบื่อ

ด้วยว่ามีปมไม่มั่นใจในการพูดของตัวเองอยู่แล้ว จึงพยายามค้นคว้าหาข้อมูลว่าจะแก้ไขเสียงของตัวเองอย่างไร จนพบคำพูดหนึ่งว่า… เสียง Mono-tone เหมาะสำหรับการสะกดจิต

รู้สึกเหมือนเจอทางสว่างเมื่อเห็นข้อความนี้ จากเดินที่รู้สึกว่าเสียงตนเองนั้นแย่ แต่กลับได้เห็นว่า สิ่งที่ดูไม่ดีพอนี้จริงๆ ก็มีคุณค่าและที่ทางของมันอยู่

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการขอทุนครูอาจารย์ไปศึกษาต่อเรื่องการสะกดจิต จนมาเป็นผู้สอนในเรื่องนี้ในปัจจุบัน รวมทั้งประยุกต์เทคนิคต่างๆ มาใช้ในการสอนเรื่องอื่นๆ ด้วย

สิ่งที่ดีไม่พอ จริงๆ มันก็มีความ “ดี” อยู่ แค่มันไม่ “พอ” ตามมาตรฐานหรือเกณฑ์ชี้วัดบางอย่างเท่านั้น แต่ถ้าเรามองให้ถูกจุดหรือวางไว้ในทางที่ใช่ สิ่งนั้นๆ ก็อาจดีเกินพอก็ได้

อย่างไรก็ตาม มิได้แปลว่า ให้เราพอใจกับความไม่ดี แล้วหนีจากการพัฒนาตนเอง นั่นไม่เรียกว่า “ยอมรับ” แต่เรียกว่า “กลัว” เพราะแม้แต่เรื่องเสียงพูดของผมเอง ผมก็ยังฝึกอยู่เรื่อยๆ ให้มันดีขึ้น ทั้งการออกเสียงและการเล่นกับจังหวะต่างๆ มิใช่ให้ดีพอสำหรับตนหรือใคร แต่เพื่อให้ใช้งานในอาชีพของตนเองได้เหมาะสมมากขึ้น

ดีพอ หรือ สมบูรณ์แบบ อาจไม่สู้ “ประโยชน์” หากดีเลิศเพียงใดแต่ไม่คุ้มค่าหรือไม่เกิดประโยชน์แล้ว มันก็อาจไม่มีความหมาย

ไม่ดีพอ และ ไม่เป็นประโยชน์ ก็อาจจะต้องพัฒนาฝึกฝนเสียหน่อย อย่าเพิ่งท้อแท้หรือตัดสินตัวเองไปก่อนกาล… ก่อนที่จะพยายามอย่างถึงที่สุด

“พอดี” ก็เป็นสิ่งสำคัญที่น่าตรึกตรอง อาจจะสำคัญมากกว่า ดีพอ หรือสมบูรณ์แบบด้วยซ้ำไป

.
.
VII “หัวใจจะรู้สึกอย่างไร เมื่อต้องให้ทางคนที่เรารักห่างไกลจากเราไป แม้จะดีกว่ากับอีกฝ่ายก็ตาม
.
แม่และพ่อด้วย บางทีก็ต้องใช้ความเข้มแข็งปกป้องใจตนเอง ด้วยท่าทีที่ดูแข็งกร้าวต่อเรา หรือเฉยชาต่อบางความรู้สึกของลูก ท่านทำเพื่อดูแลหัวใจตัวเองให้เข้มแข็งเพียงพอที่จะปล่อยเราไป”
.

ข้อความจากตอนที่ชื่อ… 8 คุณค่าที่เรามีดั่ง “แม่”

คนที่รักเรา หรืออย่างน้อยก็ใส่ใจซึ่งกันและกัน เขาไม่จำเป็นต้องมีท่าทีที่ดีงามต่อเราตลอดเวลา บางครั้งมันก็ทำให้รู้สึกแย่ เสมือนดั่งว่าไม่ได้แคร์หรือรักกันแล้ว แต่เราอาจไม่ทันสังเกตว่า ลึกๆ ข้างในเขากำลังสู้กับตัวเองอย่างไร และพยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุดเพื่อเราแค่ไหน

ซึ่งบางทีเขาเองก็อาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ…

นี่ก็เป็นบทเรียนชีวิตข้อหนึ่งจากความสัมพันธ์กับคู่ครองหรือคนรักของผมที่ผ่านมา เมื่อมาอ่านบทความที่ตนเขียนอีกครั้ง มันก็ทำให้ทบทวนทั้งตนเองหรือคนที่เคยอยู่ร่วมกัน

สิ่งที่แสดงออกภายนอก มิได้บ่งบอกสิ่งที่รู้สึกข้างในเสมอไป น้ำเสียงที่แข็งกร้าวบางคราวก็ซ่อนใจที่อ่อนไหว ท่าทีที่โหดร้ายบางเวลาก็เพียงกำลังปกป้องตัวเองจากความเจ็บปวด เขาอาจทำกับเราไม่ดีเท่าไรในช่วงเวลาของการแยกทาง ขณะเปิดประตูให้ต่างฝ่ายต่างก้าวไปตามที่ใจของเราเลือก

ไม่ง่ายที่จะปล่อยให้คนที่เราห่วงใย หรือแม้แต่ตัวเอง เป็นในสิ่งที่เราไม่อยากให้เป็น ทำในสิ่งที่ไม่อยากให้ทำ หรือพบเจอกับเรื่องที่ไม่อยากให้เจอ ขณะที่รักเกินกว่าจะห้าม หรือไม่อาจตกลงปลงใจกับตนได้อย่างเต็มเปี่ยมว่าจะทำเช่นไร

แต่ท้ายที่สุด มิว่าใครๆ ต่างก็ต้องเป็น ทำ และเจอ ในสิ่งทั้งหลายที่เราหรือแม้แต่ตัวเขาก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น มันเลี่ยงไม่ได้

แม้ร่วมทางกันมากเพียงใด สุดท้ายวันหนึ่งก็ต้องทำใจให้เข้มแข็งพอที่จะปล่อยมือจากเขาไป ตอนนั้นที่ต่างฝ่ายต่างต้องดูแลจิตใจตัวเองด้วยวิถีทางที่แตกต่างกัน

บางทีเราก็ไม่รู้ว่าจะหาความเข้มแข็งมาจากไหนเพื่อตัดใจจากสิ่งที่เคยเป็นที่พักพิงแก่ใจ หนทางร้ายๆ จึงหยิบยื่นข้อเสนอเข้ามาให้เลือกในเวลานั้น

มิเพียงต่อบุคคล แต่ต่อสิ่งทั้งหลายที่มีชีวิตหรือเป็นนามธรรม หากเรายึดไว้นานๆ หรือพักพิงเป็นที่พึ่งพาไปเรื่อยๆ วันหนึ่งที่จะต้องตัดใจหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไม่อาจเลี่ยง เราก็ต้องหาพลังที่จะก้าวข้ามจากความรู้สึกหวั่นไหวและหว้าเหว่ที่มีอยู่ลึกๆ ในหัวใจ ยามไม่มีที่พึ่งเหลืออยู่

บางเรื่องใช้เวลาไม่มาก บางเรื่องก็นานแสนนาน…

คนเราจำนวนมากตกในหลุมพรางของความเลวร้าย เพียงเพราะไม่อาจทำใจจากความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนของโลกใบนี้ ผมเองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น

เราเข้มแข็งพอไหมที่จะปล่อยให้ชีวิตเดินต่อไปโดยไม่มีเขา หรือสิ่งนั้นๆ แต่หากยังไม่พอก็ไม่เป็นไร… เราไม่จำเป็นต้องดีพอหรือเข้มแข็งมากที่สุดก็ได้ อ่อนแอหรืออ่อนไหวก็ไม่ได้เสียหายมากมาย มันก็แค่ชีวิต สิ่งที่เราเจอและต้องเจอต่อไปเป็นแค่ชีวิต มันไม่ต้องเลิศเลอหรือสมบูรณ์แบบก็เป็นชีวิต

เข้มแข็งน้อยๆ ก็มีข้อดี เราก็จะไม่ก้าวร้าวหรือทำตัวโหดร้ายกับคนอื่นเกินไปนัก ล้มตัวลงนอนหมดแรงบ้าง อย่างน้อยก็ได้พักผ่อนและเรียนรู้ที่จะยืดหยุ่นต่อกายใจ แต่ก็อย่านานเกินไปนัก ยังมีอะไรอีกมากมายรอเราอยู่ข้างหน้า

ความเป็นพ่อเป็นแม่มีอยู่ในตัวเรา เราเรียนรู้ที่จะปกครองตัวเองก็จากการดูแลของผู้ปกครองในวัยเด็ก อะไรที่เราไม่ชอบ จากสิ่งที่พวกท่านทำต่อเราในช่วงวัยเด็กนั้น เราก็อย่าทำกับตัวเอง… อย่าตีตัวเองมากเกินไป อย่าทอดทิ้งให้เหงาอยู่เดียวดาย อย่ามัวแต่ตัดสินโดยไม่ให้ความรัก…

ขอให้เชื่อมั่นว่าเราพอดูแลตัวเองได้ จึงอยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ใหญ่แบบใครเขาก็ได้ คนอื่นๆ ที่เห็นว่าเขามั่นคง พึ่งตัวเองได้ บางทีลับหลังอาจจะเฆี่ยนตีด่าทอตัวเองไม่น้อยเลย

( กว่าจะถึงวันนี้ ผมนี่หลังลายเป็นทางม้าลายแล้วกระมัง )

.
.
VIII “ความกลัวที่อยู่ลึกที่สุดอย่างหนึ่งในหัวใจของคน คือความกลัวสูญเสียตัวตน กลัวตัวเองจะไม่มีอยู่อีกต่อไป
.
แต่เมื่อเราก้าวข้ามความกลัวนั้นมาได้ เราจึงจะพบตัวเราที่แท้จริง การเผารนแล้วกระโจนลง ชุบ ตนเอง คือการสละซึ่งการยึดติดและความถือมั่นทั้งหลายที่เคยมีมา หรือเรียกในทางจิตวิทยาว่า ก้าวข้ามพื้นที่ปลอดภัย”
.

จากบทความตอน… 5 ข้อคิดพัฒนาจิตและงานศิลป์ จากการตีมีดเหล็ก

เป็นบทความหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดในคอลัมน์ ไกด์โลกจิต เพราะกว่าจะเขียนเสร็จได้ต้องใช้ความเพียรค้นคว้าอย่างหนัก เชื่อมโยงทั้งหลักจิตวิทยา พุทธศาสนา ภูมิปัญญาการตีมีดเหล็ก สถานการณ์การเรียนการสอนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น เข้ากับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ครูอาจารย์ของผมหล่อหลอมให้

การเผารน ในข้อความข้างต้น คือกระบวนการตีมีดเหล็กที่ต้องนำเหล็กเผาไฟจนร้อน ก่อนถูกกระหน่ำตีจากฝีมือช่าง ครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วถูกขูด ลับ เกลา จนบางเฉียบได้รูปทรงและความคมที่พอดี

เหมือนกันกับชีวิตคนเราที่ต้องเจอความทุกข์ ความเจ็บปวด และเหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ครั้งแล้วครั้งเล่า เอามือกอดอกแล้วโดนกระหน่ำตีจากความผิดหวังหรือแพ้พ่ายนับไม่ถ้วน จนซึมซับบทเรียนและเติบใหญ่

เมื่อเหล็กที่ผ่านการถูกขัดเกลาได้ที่แล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนการชุบ คือนำเข้าเตาไฟให้ร้อนฉ่าอีกครา แล้วนำมาจุ่มน้ำเย็นในฉับพลัน ให้เหล็กมีดกล้าแกร่งไร้เทียมทาน

การชุบนั้นจึงเปรียบเหมือนกับการยอมสละความยึดติดทั้งหลายแล้วเปิดรับการเปลี่ยนแปลง กระโจนออกจากพื้นที่ปลอดภัยหรือความคุ้นเคยทั้งหลาย เพื่อเป็นอิสระจากความกลัวและแข็งแกร่งอย่างแท้จริง

ถ้าเหล็กไม่ยอมถูกเผา ไม่ยอมถูกกระหน่ำตี รอรีไม่เข้าเตาไฟ หรือไม่ยอมจุ่มในน้ำเย็นทันที เจ้าเหล็กนั้นก็จะไม่รู้ตัวเองเลยว่า เขาเกิดมาทำประโยชน์ได้มากเพียงใด ไม่อาจได้ค้นพบความเป็นมีดอันแข็งกล้าในตนได้เลย

เราจึงจะไม่อาจค้นพบตัวเองได้เช่นกัน ถ้าไม่ยอมเสี่ยงเลย อยู่แต่ในกรอบ ยึดเหนี่ยวแต่สิ่งที่ถือมั่น และไม่ยอมเปลี่ยน

จึงมีหลายคนมากมายที่คิดว่าตัวเองเป็นแค่ก้อนหินธรรมดาก้อนหนึ่ง ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว เขาแค่ยังไม่ยอมถูกขัดเกลาเท่านั้น

สิ่งที่ฉุดรั้งก็มักจะเป็นความกลัว กลัวทุกข์หรือความเจ็บปวดของการถูกกระหน่ำตีจากจักวาล โดยเฉพาะกลัวสูญเสียตัวตน ซึ่งเป็นกิเลสที่ล้ำลึกมากที่สุดอย่างหนึ่งในจิตใจของมนุษย์ทุกคน

เบื้องหลังความกลัวและความเลวร้ายต่างๆ ที่คนเราจะกระทำต่อกันหรือต่อตัวเองได้ มันก็หนีไม่พ้นเรื่องของอัตตา การถือมั่นในตัวตน และความกลัวที่จะสูญเสียตัวตนนั้นไป แอบอยู่ในด้านมืดทั้งหลายเหล่านั้น

ผมเองพยายามไม่เป็นครูที่สมบูรณ์แบบ แม้จะรับรู้ถึงความคาดหวังที่ตนเองมีต่อตัวเอง และความคาดหวังที่ลูกศิษย์ผู้ศรัทธามีอยู่ก็ตาม เพราะส่วนตัวแล้วศรัทธาว่า การยอมล้มเหลวหรือเปลื้องเปลือยความเป็นมนุษย์ที่บกพร่องให้คนอื่นเรียนรู้ คือหนทางหนึ่งในการตีเหล็กแห่งใจนี้

อย่างไรก็ดี การพยายามไม่เป็นครูที่สมบูรณ์แบบเกินไปของผม แง่หนึ่งก็เป็นความกลัวที่จะสูญเสียตัวตน ความเป็นคนธรรมดาที่ยังมีกิเลสด้วยเช่นกัน ยังยึดในความเป็นตัวตนที่คุ้นเคยและเป็นพื้นที่ปลอดภัย

ตีเหล็ก ตีเยอะไปก็พัง แต่ตีน้อยเกินไปก็ไม่ได้ทรง การฝึกตัวเองก็ด้วย เราใช้ข้ออ้างว่า ฉันไม่พยายามสมบูรณ์แบบ ปกป้องความขี้เกียจและกลัวการเปลี่ยนแปลงไม่ได้

แม้จะยอมรับความไม่ดีพอ แต่ก็ต้องกล้าหาญที่จะดีพอด้วยเหมือนกัน…

.
.
IX “ด้วยความกลัวในหัวใจ คนเรามักพยายามยึดให้ทุกสิ่งคงอยู่ ทำทุกอย่างแม้อย่างน้อยแค่ได้รู้ว่าสิ่งที่รักและหวงแหนนั้นจะยังคงเป็นเช่นที่อยากให้เป็น แต่ร่างกายก็พยายามสอนธรรมอยู่อย่างนั้นให้เรารับฟัง ไม่มีสิ่งใดคงที่และเที่ยงแท้ แม้แต่หัวใจเราเองก็ตาม
.
แต่คนเรามักไม่ค่อยได้ฟัง พยายามใช้ชีวิตและร่างกายอย่างเกินธรรมชาติเพื่อคว้ามาซึ่งสิ่งที่อยากได้และอยากเป็น จนกระทั่งวันหนึ่งความป่วยเท่าทวี เตือนเราหนัก สิ่งที่คว้ามาก็ต้องปล่อยลงแม้ใจไม่อยากก็ตาม”
.

ข้อความจากบทความตอน… 4 สิ่งที่ความป่วยกายสอนหัวใจ

ผมเลือกข้อความข้างต้นนี้ เพราะมันสอดคล้องกันดีกับช่วงเวลานี้ที่กำลังเขียนบทความ เป็นหนึ่งเดือนแห่งการป่วยมาราธอน ด้วยอาการที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ก็มีสัญญาณของความเครียดและความอ่อนล้ามาก่อนหน้าแล้ว

กล่าวได้ว่าการเขียนครั้งนี้ก็คือสอนตัวเองเป็นหลัก (รวมทั้งแปดข้อที่ผ่านมา) เล่าออกมาดังๆ ให้ผู้อ่านได้รับฟังด้วยกันเป็นเพื่อน

แม้เรามีความรู้มากมาย ชนิดที่เขียนบทความเป็นร้อยเป็นพันตอนหรือรู้ทุกอย่างที่ผมสาธยายหลายหน้านี้ แต่ใช่ว่าจิตจะฉลาดพอที่จะรู้ทันความกลัวและความยึดมั่นของตนเอง

มีความรู้มาก กับ มีจิตที่ฉลาด ไม่เหมือนกัน…

จิตฉลาดเรียนรู้จากธรรมะที่ใกล้ตัวที่สุดอย่างกายกับใจตน ด้วยการรับฟังและใส่ใจ

ผมคิดว่าตัวเองฟัง แต่ก็ยังไม่ได้ใส่ใจมากพอ แม้จะไม่รังเกียจความป่วยหรือความอ่อนแอของร่างกาย ก็ต้องยอมรับว่าความป่วยที่รุมเร้าส่วนหนึ่งก็มาจากความยึดถือในหน้าของที่ตนเอง และความอยากประสบความสำเร็จ (เอาตัวและโครงการรอดพ้นจากวิกฤติ) เฉกเช่นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งทั่วไป

เคยหน้ามืดเกือบล้มหัวทิ่มระหว่างการสอนก็แล้ว โลกหมุนหน้าคะมำตรงหน้าจอคอมฯ ระหว่างทำงานก็ดี ผมก็ไม่ได้ใส่ใจมากนัก จนมาถึงช่วงนี้

น่าตลกมากว่า เดือนที่ป่วยมาราธอนอย่างนี้ กลับเป็นเดือนที่มีกำหนดการสอนเกี่ยวกับเรื่องร่างกาย… จึงได้เป็นครูที่แสดงตัวอย่างความไม่ดีพอให้ลูกศิษย์เรียนรู้อีกครา ช่างกล้าหาญแต่ก็น่าละอายด้วย

ถึงแม้มันจะไม่ได้กระทบพลังใจในการสอน และไม่ได้แสดงอาการออกมาเท่าไรต่อหน้าผู้เรียน หรือแม้จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วที่ต้องยึดมั่นในหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สัญญาณของร่างกาย กำลังสอนอะไรกับผมอยู่อย่างแน่นอน

หนึ่งในนั้นก็คือการมองความไม่เที่ยงแท้ และเตือนถึงความอยากได้อยากเป็นในจิตใจ

เตือนว่า… หน้าที่ กิจการ โครงการ เส้นทางชีวิต คู่ครอง ฯ มีอะไรบ้างที่เที่ยงแท้อย่างแท้จริง

ระหว่างนี้เอง ผมนึกถึงครูอาจารย์ที่ตอนนี้ป่วยเช่นเดียวกัน แต่เป็นมากกว่านัก น่าเป็นกังวลยิ่งกว่า แต่ก็ยังหน้าที่สอนได้ไม่ขาด และไม่บอกใครๆ อีกด้วยว่าตนเองเป็นอะไร

ท่านเตือนใจได้อย่างดีถึงความเข้มแข็งในช่วงเวลาที่เราต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอย่างซึ่งๆ หน้า ไม่เบือนหน้าหนีเลย ไม่ยอมหยุดพักจากหน้าที่อีกด้วย

เช่นเดียวกันกับสถานการณ์โควิดระบาดที่ก็เป็นครูชวนเราเผชิญกับความไม่แน่นอน จากเดิมที่คนทั่วไปจะพยายามซุกๆ ซ่อนๆ ความไม่แน่นอนเอาไว้ ภายใต้สิ่งทั้งหลายที่ดูเหมือนจะมั่นคง แต่จริงๆ แล้วไม่มั่นคงเอาเสียเลย

สถานการณ์ไม่คาดฝันมันเข้ามาเลิกพรมออก เปิดให้เห็นกันชัดเจนว่าปกปิดอะไรไว้ข้างใน

ในช่วงเวลาแบบนี้ ทำให้ผมเห็นว่า การทำหน้าที่เพื่อให้ มิใช่ทำหน้าที่เพื่อได้ เป็นสุขยิ่งกว่า เบาใจยิ่งกว่า

เพราะเมื่อใดที่ต้องปล่อยมือจากหน้าที่หรือสิ่งอันยึดมั่นทั้งหลายไป ต้องทิ้งกิจการ กิจวัตร คนรัก หรือแม้แต่ถึงเวลาที่ต้องปล่อยมือจากชีวิต ก็มิมีอะไรที่ต้องหวงแหนหรือกังวล

ยิ่งเราอยากได้ เพื่อมีอะไรไว้ยึด มันยิ่งทุกข์และหนักอึ้ง โดยเฉพาะยามวิกฤติ

แง่หนึ่งมันคือการดูถูกตัวเอง… ฉันไม่อาจอยู่ได้ ถ้าไม่มี… จริงๆ เราก็อยู่ได้ แต่ไม่อาจรู้ว่าจริงไหม ถ้าไม่ยอมปล่อยมือ

เมื่อถึงเวลา มันก็คือถึงเวลา… ถ้าเรายอมรับได้ ย่อมสามารถทำสิ่งที่ต้องทำได้ต่อให้แม้สถานการณ์จะไม่มีอะไรที่คาดเดาได้หรือคาดหวังได้เลยก็ตาม

.
.
X “ท่านทรงตรัสถามพระอานนท์ก่อนหน้าว่า “สารีบุตรพาเอาศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ หรือวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ปรินิพพานไปด้วยหรือ” *
.
ความดีที่เรารักษาไว้ หลักการอันคร่ำเคร่ง คุณสมบัติน้อยใหญ่ สมาธิอันเป็นเลิศ ความเก่ง จนถึงปัญญาของตัวเรา อาจเป็นคุณค่าที่ทำให้เราพอใจและรักตัวเองอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แม้เป็นคุณค่าที่ทำให้ยินดีและเป็นสุขแท้มากกว่าทรัพย์นอกตัวก็จริงอยู่ แต่ท้ายที่สุดเราก็นำเอาไปด้วยไม่ได้เมื่อถึงเวลาต้องตายลง หรือแม้วันเวลาหนึ่งเมื่อร่างกายทรุดโทรมลง สิ่งเหล่านั้นก็ย่อมเลือนหายไป
.
เมื่อเรายึดเอาคุณค่าของตนเองไว้ที่สิ่งนอกตัวและในความเป็นตัวตนอันไม่ยั่งยืน เมื่อนั้นก็ยังมีความทุกข์จากการพลัดพรากและเสื่อมถอยของสิ่งเหล่านั้นอยู่ ไม่วันหนึ่งก็วันใด
.
แม้เรายังมีสิ่งเหล่านั้นอยู่ก็ยังมีทุกข์จากการต้องเปรียบเทียบกับผู้อื่น ต้องหวนแหนรักษาไว้ ต้องคอยปกป้องไม่ให้เสื่อมถอย ไม่ว่าทรัพย์ภายนอกก็ดี หรือคุณสมบัติในตัวเราก็ดี เมื่อนั้นก็ยังเป็นทุกข์อยู่
.
ดังนั้นแล้วการพึ่งพาตนเองและธรรม ตามความหมายที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้นั้นคืออะไร ในเมื่อคุณสมบัติในตัวเราและสิ่งที่เราทำได้ก็ไม่ใช่สิ่งที่พึงยึดไว้เป็นที่ตั้งสูงสุด พระองค์ทรงตรัสต่อ ดังนี้
.
“ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่อย่างไร?
.
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ … ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ … ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
.
ดูกรอานนท์ ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง อยู่อย่างนี้แล” *
.
การมีตนเป็นที่พึ่ง มิได้หมายถึงเอาตัวตนของฉันเป็นที่ตั้ง หรือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองเท่านั้น การมีธรรมเป็นที่พึ่ง จึงไม่ได้หมายความว่าให้เอาหลักคิดความรู้และคำสอนทางศาสนาตามความเข้าใจของตนเป็นที่ตั้ง
.
แต่ท่านทรงหมายถึง ให้ใช้ความเพียร การมีสติ ความระลึกรู้ตัว การพิจารณาเห็นกายใจตามความเป็นจริง การพิจารณาธรรมคือสภาวะความจริงตามความเป็นจริง และการขจัดละกิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลายเป็นที่ยึดเหนี่ยว”
.

จากตอน… จดหมายจากการพลัดพราก 4 ข้อคิดความสูญเสียในพระไตรปิฎก

ข้อสุดท้ายแล้วก็เลยคัดลอกข้อความมายาวๆ ประหนึ่งว่าเก็บกดมาหลายข้อ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วต้องการให้ข้อความข้างต้นทั้งหมดนี้คือข้อคิดส่งท้าย ซึ่งได้ปูทางมาตั้งแต่ข้อแรกของบทความ

สำหรับใครหลายๆ คนคงเชื่อว่าความรู้ความสามารถเป็นสิ่งที่เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ตามประสบการณ์และอายุ แต่สำหรับผมแล้วมันเป็นกราฟตัว U แบบคว่ำ หรือเรียกทรงภูเขาก็ว่าได้ ขึ้นไปสูงอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วค่อยๆ ลดน้อยต้อยต่ำลงมา

เราไม่ได้มีความรู้หรือความสามารถมากขึ้นตลอดกาล เมื่อถึงวันหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ก็จะถดถอยแล้วหายไป ไม่หวนคืน

ยิ่งไม่ได้ฝึกฝนตนเอง ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความประมาท ไม่หมั่นทบทวนวิชาความสามารถ หรือมีปัจจัยด้านสุขภาพเกี่ยวข้อง มันก็ยิ่งหายไปเร็วมากเท่านั้น

ผมเคยทุกข์อยู่ช่วงหนึ่ง ตอนที่รู้สึกว่าตัวเองได้ผ่านจุดสุดยอดของความสามารถในการจัดกระบวนการเรียนรู้ไปแล้ว รู้สึกทำได้แย่ลง สอนได้ไม่ดีเท่าก่อน ไม่สนุกอย่างเคย กำลังวังชากับไหวพริบปฏิภาณก็ถดถอย

จึงได้เห็นตัวเองว่าผูกเงื่อนไขการเห็นคุณค่าในตัวเองไว้กับสิ่งใด ยึดมั่นอะไรเอาไว้ในการเป็นครู กลัวไม่เก่ง กลัวเป็นคนไม่มีความสามารถ เพราะที่ผ่านมาพยายามเป็นคนเก่ง พยายามเป็นคนมีความสามารถ เพื่อได้รับการยอมรับจากคนอื่นมาตลอด

ใช้เวลาในการทำใจ ดูแลตัวเอง และยอมรับความจริง จนเริ่มปรับเปลี่ยนกระบวนการสอนใหม่ ให้เข้ากับปัจจัยทางกายจิตและความสามารถที่มีอยู่ ไม่ยึดติดวิธีการรูปแบบเดิม โดยที่สำคัญคือ รู้เท่าทันความอยากเก่งมากขึ้น

โง่ลงก็ไม่เป็นไร เป็นคนโง่บ้างก็ไม่เสียหาย…

สุดท้ายแล้วคุณค่าใดๆ ที่ยึดไว้ เราก็ไม่อาจเอาติดตัวไปได้เมื่อตายลง แม้แต่ภาวะอันประเสริฐ เช่น ความสงบ ความปิติ ความสุข หรือปัญญาทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากการฝึกสมาธิหรือกิจกรรมต่างๆ ก็ดี ไม่มีอะไรที่เอาไปได้เลย

แล้วยังสามารถเสื่อมถอยลงได้เสมอ ตามเหตุปัจจัย

เราจะฝึกใจของตนเองอย่างไร มิให้หวั่นไหวเมื่อคุณค่าต่างๆ ที่กอดรัดไว้กำลังพังทลายลง ไม่มีทางที่สิ่งดีๆ ต่างๆ จะเหมือนเดิมตลอดไป วันหนึ่งก็ต้องกล่าวอำลาแก่กัน

หากเราฝึกที่จะมีเพื่อไม่มี อยู่ร่วมเพื่อลาจาก หรือกล่าวอำลาสิ่งต่างๆ ไว้ล่วงหน้า มันอาจช่วยให้เราทำใจง่ายขึ้น หรืออย่างน้อยก็ตระหนักว่า เวลามีจำกัดนัก

ลองบอกลากันไว้ล่วงหน้าก็ได้ ( ลาก่อนครับ )

ไม่ใช่แค่ฝึกบอกลากับสิ่งนอกตัว กับร่างกายตัวเอง จิตใจ และสิ่งดีๆ หรือไม่ดีทั้งหลายที่มีอยู่ในตน นั่นก็ควรฝึกบอกลา ด้วยเช่นกัน ( ลาก่อนครับ )

บางทีมันก็น่าตกใจเมื่อเราต้องเจอกับคำว่า ลาก่อน หรือต้องเป็นฝ่ายพูดเอง… ผมเขียนเองก็ตกใจเองอยู่เนืองๆ

ตามความเชื่อแบบไทยๆ มันก็อาจดูเหมือนเป็นลางบอกเหตุ ( ซึ่งก็จริงเพราะทุกสิ่งก็ไม่พ้นความตายอยู่แล้ว ) แต่ความหวั่นไหวเล็กๆ นั่นเองคือจุดหวั่นไหวที่เราต้องรับรู้อย่างกล้าหาญ เพราะในใจยังมีความกลัวอยู่เฉกเช่นคนธรรมดาทั่วไป

สิ่งหนึ่งที่อาจช่วยให้เราเข้มแข็งในการรับมือกับความสูญเสียได้ก็คือ การตระหนักว่า การพลัดพรากกับความตาย เกิดขึ้นตลอดเวลา… ในจิตใจ ในร่างกาย มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอยู่เนืองๆ เช่น ความคิด ความรู้สึก กิเลส กุศล เซลล์ ลมหายใจ เป็นต้น

มีการพบมีการพราก หรือเรียกว่าการเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้วในตัวเราทุกคน ประเดี๋ยวเราก็พบกับอารมณ์หนึ่ง ประเดี๋ยวก็เจอไอเดียหนึ่ง ประเดี๋ยวก็มีหน้าตาแบบหนึ่ง สักพักก็หายไป จากกันไป

ผมเห็นว่าการฝึกเห็นความไม่เที่ยงหรือความพลัดพรากให้เคยชิน ความอยากยึดติดจะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ เอง จะไม่ต้องหวังปล่อยวางทีเดียวดัง โครม !

แต่อย่างไรก็ตาม อย่าหนีความรู้สึกเสียใจ หรืออยากหายจากความเสียใจเร็วเกินไป มันอาจทำให้เราปกป้องตัวเองจนกลายไปยึดติดกับสิ่งอื่นแทน โดยเฉพาะหากสิ่งนั้นที่ไปพึ่งพิง มิได้ทำให้เราคลายจากความทุกข์แท้จริง แต่กลบเกลื่อนแอบซ่อนไว้ข้างในโดยไม่รู้ตัว

ยอมรับและเผชิญกับมัน มิว่าความสูญเสีย หรือความเศร้าใจ หรืออารมณ์อันย่ำแย่เพียงใด เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งเหล่านี้แค่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา แล้วก็จะจากไปเช่นเดียวกัน

บทความนี้ก็ด้วย แค่มาเยือนสายตา ประดับประดาตบแต่งสติปัญญา แล้วก็ถึงเวลาต้องจากไป

.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 65
.
( จริงๆ ยังมีหลายข้อความหลายข้อคิดจากบทความคอลัมน์นี้ มีอีกหลายตอนที่ไม่ได้กล่าวถึง แต่คงไว้โอกาสหน้าค่อยหยิบยกนำมาทบทวนแล้วแลกเปลี่ยนกัน เดี๋ยวจะยาวเกินไป )

 

> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/

> > > ติดตามหลักสูตรอบรม และหนังสือออนไลน์
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/

 

อ้างอิง : * พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค