ขอน้อมนำธรรมเทศนาเมื่อ 55 ปีที่แล้ว ของท่านพุทธทาส มาเป็นคำอวยพรปีใหม่ไทย เพื่อความเป็นไท ของจิตใจผู้ปฏิบัติงานและผู้ติดตามงานของ สถาบันธรรมวรรณศิลป์ ซึ่งย่างก้าวครบ 14 ปีในปีนี้ ให้เกิดสันติสุขและพลังใจในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีต่อไปท่ามกลางอุปสรรคน้อยใหญ่ทั้งหลาย
ขันติ คือ ความอดทน สำหรับเบื้องต้นก็คือการอดทนต่อสิ่งต่างๆ เช่นสภาพแวดล้อมต่างๆ สิ่งที่มากระทบทางกาย เป็นต้น
“…มีความจำเป็นสำหรับพวกเราเป็นอย่างยิ่งโดยไม่ต้องสงสัย ขอให้นึกให้มากในเรื่องทำนองนี้ ที่มันซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่ภายใต้ความไม่ซื่อตรงต่อตัวเองของเรา คือความไม่ซื่อตรงต่อธรรมะของเราซึ่งเป็นสัจจะ (ข้อแรกของฆราวาศธรรม) แล้วเราก็ไม่มีการบีบบังคับตัวเองที่เพียงพอ (ทมะ-ข้อ 2 ของฆราวาศธรรม) จนไม่ต้องใช้ความอดกลั้นอดทนอะไร (ขันติ-ข้อ 3 ของฆราวาศธรรม) แล้วเราก็ไม่มีโอกาสสละสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อความจริงใจเป็นธรรมดา (จาคะ-ข้อ 4 ของฆราวาศธรรม) เรื่องก็ต้องล้มเหลวกันเพราะเหตุนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงจะถือความอดทนเป็นศูนย์กลางของธรรมหมวดนี้ (ฆราวาศธรรม – ธรรมะของผู้ครองเรือน) ของความอดทนทุกอย่างทุกประการ…”
“ขันติในลำดับสูงที่เรียกว่า อธิวาสนขันติ คือการอดทนต่อการบีบคั้นของกิเลส อธิวาสนขันติ เป็นเหตุให้บรรลุมรรคผลนิพพาน แต่พร้อมกันนั้นก็นำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน คนในโลกกำลังขาด อธิวาสนขันติ คือการอดทนต่อการบีบคั้นของกิเลส จึงได้หมุนไปในทางต่ำ หรือทางวัตถุนิยม ก็จมติดลงไปในวัตถุนิยมมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ต้องไปดูหนัง ดูละคร เมื่อไม่ได้ไปดูหนังดูละครมันก็เกิดความเจ็บปวดขึ้นมาในใจ คือการบีบคั้นของกิเลสที่อยากไปดูหนัง ทีนี้เมื่อไม่ใช้ อธิวาสนขันติ ต่อต้านการบีบคั้นของกิเลส ก็เป็นทาสของกิเลส และต้องไปดูหนัง มันจึงน้อมไปในทางต่ำ คือตามใจกิเลสมากขึ้นทุกที โลกก็จะหมุนไปในทางต่ำหรือทางล่มจม เพราะการไม่บังคับตนเอง ให้ทนต่อการบีบคั้นของกิเลส…”
“เมื่อไม่ได้อย่างใจ ก็เกิดการบีบคั้นของกิเลสขึ้นมา ถ้าเราไม่ต่อสู้ เราไม่เอาชนะให้ได้ ก็จะมีความล้มเหลวที่สูงขึ้นไปตามลำดับ… แม้แต่กิเลสเรื่องอาหารการกิน และเรื่องสิ่งเสพติด เช่น บุหรี่ เป็นต้น กระทั่งการติดวิทยุ ติดโทรทัศน์ เป็นต้น มันก็ล้วนเป็นอันตรายที่ร้ายแรงด้วยกันทั้งนั้น… ซึ่งล้วนเป็นการบีบคั้นของกิเลสทั้งนั้น ซึ่งจะเอาเราไปเป็นทาสของมัน เราจะต้องอาศัย อธิวาสนขันติ…”
“เราก็รู้แล้วว่า ขันติ เป็นอย่างไร ทีนี้ ในส่วนวิธีการ เราก็ต้องทำให้ได้ สร้างความอดกลั้นอดทนขึ้นมาให้ได้จริงๆ ตั้งแต่ทนลำบาก ทนตรากตรำ ทนเจ็บใจ และสูงสุดคือการอดทนต่อการบีบคั้นของกิเลส ซึ่งจะมีทุกโอกาส ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ความหลุกหลิก เหลาะแหละ ชอบหัวเราะร่วนอยู่เสมอก็ดี การมีสิ่งเสพติด เช่นบุหรี่เป็นต้น ติดอยู่ที่เนื้อที่ตัวก็ดี เหล่านี้เป็นการไม่อดทนต่อการบีบคั้นของกิเลส เป็นสิ่งที่จะต้องชำระให้หมดไป ภายในห้าวันเจ็ดวัน (บอกแก่ภิกษุผู้มาอบรมพระธรรมทูต) จึงจะมีสภาพที่เหมาะสมในตัวเรา ที่จะประพฤติปฏิบัติในกรรมฐานภาวนาที่สูงขึ้นไปตามลำดับ
“เพราะฉะนั้นขอวิงวอนเพื่อนพรหมจารี นักศึกษา นักปฏิบัติทั้งหลาย ว่าจงได้ใช้ขันติขุดรากเหง้าของกิเลสประเภทนี้ไปในอันดับต้นๆ ให้เป็นกำลังของเรา ผู้บำเพ็ญพรต และเป็นตบะคือเป็นสิ่งร้อนที่จะเผาผลาญกิเลส ซึ่งก็เป็นสิ่งร้อนด้วยเช่นกัน ให้ค่อยๆ ไหม้หมดไป ตามลำดับ ถือเอาเป็นสิ่งที่เป็นเครื่องมืออันแท้จริงของพุทธบุตร ด้วยอาศัย อธิวาสนขันติ นี้…”
“แม้ว่าจะมีความอดทนทางกายเป็นรากฐาน ก็ต้องมีความอดทนในทางจิตในทางวิญญาณเป็นยอด คือเป็นยอดสูงสุดนั่นเอง และก็ต้องเป็นเนื้อเป็นตัวเป็นลำตัวอยู่ด้วยตลอดเวลา… เราอดทนตั้งแต่นาทีแรกหรือชั่วโมงแรกแล้วก็ขอให้สืบต่อไปจนถึงนาทีสุดท้ายหรือชั่วโมงสุดท้าย”
เทศนาเรื่องความอดทน เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2510 โดยท่านพุทธทาสภิกขุ
อ้างอิง https://www.youtube.com/watch?v=e_-V7-PyTmQ