5 ข้อคิดรับมือคำด่าและท่าทีแย่ๆ

 

5 ข้อคิดรับมือคำด่าและท่าทีแย่ๆ

เรียบเรียงใหม่จากบทความคอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 48

 

1. มองให้เห็นเป็นธรรมดา

ความจริงข้อแรกที่เราต้องมองให้เห็นคือ “ไม่มีใครเป็นที่รักแก่คนทั้งโลก” ไม่มีทางที่ทุกคนจะเคารพและเห็นคุณค่าในตัวเรา เพราะแต่ละคนล้วนมีรสนิยม ความเชื่อ มีสิ่งที่ตนเองเคารพ และมีสิ่งที่ให้คุณค่ามากกว่าสิ่งอื่น รวมทั้งมุมมองที่เขาเห็นเราก็อาจเพียงแค่ด้านเดียว ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

แต่การที่คนๆ หนึ่งไม่ได้รัก เคารพ หรือเห็นค่าในตัวเรา สิ่งนั้นไม่ได้บั่นทอนความน่ารัก น่าเคารพ หรือคุณค่าที่เรามีอยู่แล้วในตนเอง เหมือนคนไม่ชอบหนังสือเล่มหนึ่งเล่มใด ความไม่ชอบนั้นๆ ก็ไม่ได้ทำให้ข้อความดีๆ บนหน้ากระดาษหนังสือจางหาย

ความจริงข้อสองที่เราควรมองให้เห็นคือ “ไม่มีนินทาและสรรเสริญใดที่ยั่งยืน” ทั้งคำชมคำชังเพียงมาและจากไปด้วยกันทั้งสิ้น วันนี้เขาชมเรา วันหน้าเขาอาจด่าเรา ความยินดีต่อกันในวันนี้อาจแปรเปลี่ยนไปในวันหน้าได้ตลอด พุทธศาสนานั้นสอนให้เราวางเฉยต่อสิ่งเหล่านี้ เพราะการยึดถือในคำนินทาก็ดี คำสรรเสริญก็ดี ล้วนทำให้เราเป็นทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น

หลงกับคำชมเกินไปเราก็ประมาท หลงกับคำด่าเกินไปเราก็ดูถูกตนเอง ยึดถือสิ่งที่ไม่คงที่เที่ยงแท้ก็มีแต่จะทำให้ผิดหวังและเป็นทุกข์ในภายหน้า หลงกับลมปากของคนก็เหมือนพยายามคว้าสายลมไว้ในมือเท่านั้นเอง

ความจริงข้อที่สามที่เราควรมองให้เห็นคือ “เราทุกคนมีโลภ-โกรธ-หลง เป็นธรรมดา” ไม่ว่าเราจะถูกกระทำด้วยท่าทีแย่ๆ แบบใด หรือด้วยคำพูดแบบไหน สิ่งเหล่านั้นก็ไม่พ้นจากความโลภ โกรธ และหลงเป็นสาเหตุ เป็นเหมือนเส้นใยที่ชักนำจิตของผู้กระทำไว้อย่างนั้น เมื่อใดที่เจ้าสามตัวนี้เบาบางลง ท่าทีของเขาก็ย่อมอ่อนลงไปเอง

หากเราทุกข์กับท่าทีแย่ๆ หรือคำพูดเหล่านั้น เราไม่ได้ถูกทำร้ายจากสิ่งที่เขาทำ แต่เรากำลังถูกทำร้ายด้วยความโลภ-โกรธ-หลง ในใจตนเองด้วยเช่นกัน หากเราไม่โลภหรือคาดหวังอะไร ไม่โกรธเกลียดโมโหใคร และไม่หลงมัวเมาในความคิดหรือตัวตนของตนเอง เราก็จะไม่ทุกข์เลยกับท่าทีแย่ๆ เหล่านั้น

แต่หากจะมีบ้างที่เราเผลอทุกข์ สุข เศร้า ดีใจ ผิดหวัง สมหวัง ฯ ไปกับท่าทีต่างๆ ของคนอื่น นั่นก็มีความจริงข้อที่สี่ที่เราควรใส่ใจ นั่นคือ “เราก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง” ผู้ซึ่งยังมีความอยาก ความยึดมั่น ความโลภ-โกรธ-หลง และความไม่มีสติ อยู่เป็นธรรมดา เช่นเดียวกันกับคนที่ชอบหรือชังเรา ดังนั้นเราจะถูกวิจารณ์หรือว่าในทางเสียหายบ้างก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก

มองแง่นี้ เราต่างก็เป็นเพื่อนกันในความเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง ต่างฝ่ายต่างมีจุดเด่นจุดด้อย มีคุณค่าและข้อบกพร่องของแต่ละฝ่ายอยู่เป็นธรรมดา

 

2. ถือเป็นคำเตือนจากมิตร

การมองคนที่ทำแย่ๆ กับเราเป็นศัตรู หรือภัย มันอาจทำให้ใจเราเผาไหม้ไปด้วยความโกรธและความกลัว เพราะเราจะต้องพยายามตอบโต้ เอาชนะ หรือเพ่งเล็งด้านลบของอีกฝ่าย จากเรื่องกระทบกระทั่งธรรมดาก็อาจขยายบานปลายเป็นใหญ่โต จากผิดใจกันตามปกติก็อาจกลายเป็นความผิดพลาดเกินจะแก้ไข

จะเป็นอย่างไรหากเรามองสิ่งเหล่านั้นเป็นมิตร มองท่าทีแย่ๆ และคำด่าให้เป็นความพยายามของมิตรแท้ที่กำลังต้องการช่วยเหลือเราในทางอ้อม ใจเราจะร่มเย็นเป็นสุขกว่าหรือไม่ เมื่อใจเราร่มเย็นได้แม้ไฟแห่งความเกลียดชังของอีกฝ่าย กำลังหมายเผาไหม้เราอยู่ก็ตาม เราจะทุกข์ไปกับเขาด้วยหรือเปล่า มุมมองของเราที่มีต่อสิ่งต่างๆ คือปัจจัยแรกที่จะทำให้เรื่องนั้นๆ เป็นสุขหรือเป็นทุกข์

สิ่งที่เขากระทำต่อเรา ไม่ว่าทางดีหรือร้าย ย่อมผิดเพี้ยนเกินจริงได้ด้วยความโลภ-โกรธ-หลง ที่มีอยู่ในจิตใจของเขา คำพูดคำวิจารณ์เหล่านั้นจึงย่อมไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด อย่างไรก็ดี หากเราคิดแค่ว่า เขาพูดผิด ไม่ถูกต้อง ไม่มีประโยชน์… เราก็อาจไม่ได้รับอะไรจากมิตรคนนี้เลย เพราะการที่เราคิดว่าเขาพูดผิด ไม่ถูกต้อง และไม่มีประโยชน์ เราอาจตีความจากความโลภ-โกรธ-หลง ในใจเราด้วยเช่นกัน

ดังนั้นแล้วเพื่อความไม่ประมาท เราจึงควรถือว่าในทุกคำพูดและคำวิจารณ์มีความจริงอย่างน้อย 1% ที่ซ่อนอยู่ มันอาจไม่ได้จริงแบบนั้นทั้งหมดก็อาจใกล้เคียง ในบางมุมมองหรือในบางช่วงเวลา แม้สิ่งที่ตัวเราเป็นเราก็อาจไม่สามารถเห็นได้ทั้งหมดโดยไม่อาศัยตัวช่วย เราจะเห็นใบหน้าตัวเองได้ยังต้องอาศัยกระจกหรือเงาสะท้อน จะมองเบื้องหลังที่มิอาจหยั่งเห็นด้วยตนเอง เราก็ต้องอาศัยคนที่ยืนอยู่ข้างหลัง 

คนที่มีจุดยืนต่างจากเรานั่นแล คือคนที่สามารถเห็นตัวเราในด้านที่เราไม่เท่าทันได้ คนที่มีบุคลิกต่างกัน มีทัศนคติหรืออุดมการณ์ที่แตกต่าง พวกเขามักเห็นเราในด้านที่เราไม่เห็นตัวเอง และบางทีมันก็เป็นมุมที่ไม่อยากยอมรับด้วย

คัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง ปรัชญาโบราณของจีนกล่าวไว้ว่า “คำจริงไม่หวาน คำหวานไม่จริง” เป็นธรรมดาที่คนทั่วไปจะเลือกฟังในสิ่งที่เชื่อ เลือกฟังในสิ่งที่ตนเองชอบ นอกนั้นก็มักจะฟังแต่ไม่ได้ยิน แต่บ่อยครั้งความจริงก็เป็นสิ่งขมไม่หวาน คำพูดที่เราไม่ชอบใจ อาจแฝงคำเตือนที่สำคัญกับเรา หากมองเป็นให้เห็นประโยชน์

คนฉลาดจึงไม่เพียงรับฟังแต่คำพูดที่ทำให้พึงพอใจ แต่น้อมรับฟังคำติเตือนถึงแม้ว่ามันอาจทำให้ไม่พอใจหรือไม่เป็นความจริงทั้งหมดก็ตาม ทุกท่าทีแย่ๆ จากคนอื่น มีอย่างน้อย 1% ที่มีคุณค่าต่อชีวิต อย่างน้อยที่สุด สิ่งเหล่านั้นก็สอนเราไม่ให้ทำตาม ไม่ให้เผลอพูดหรือทำสิ่งใดๆ ด้วยความโลภ-โกรธ-หลงในใจ ซึ่งจะทำให้เบียดเบียนกันและกัน และอย่างน้อยที่สุดก็สอนให้เราเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งสิ่งทั้งหลายไม่ได้หมุนรอบตัวเราเป็นศูนย์กลาง

 

3. มีสติและไม่คาดหวัง

ไม่ว่าจะเป็นคำด่า หรือการกระทำแย่ๆ ในรูปแบบใด สิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นการกระทบต่ออายตนะ หรือประสาทสัมผัส ซึ่งประกอบด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ทั้งหกนี้เปรียบเหมือนช่องประตูหน้าต่างของบ้าน หากเราไม่ได้คอยดูแลรักษา และปิดในเวลาที่ควรปิด พวกยุง ฝน ลมพายุ หรือแม้แต่คนร้ายก็จะเข้ามาสร้างความเดือดร้อนภายในบ้านได้

เปรียบดังจิตใจที่ไม่มีสติคอยดูแลรักษาการรับรู้ของตนเอง ย่อมเดือดร้อนไปกับสิ่งภายนอกต่างๆ โดยง่าย ประเดี๋ยวคนชมก็เคลิ้ม คนด่าก็ห่อเหี่ยว เห็นสิ่งที่พอใจก็ตื่นเต้น เห็นสิ่งที่ไม่อยากให้เป็นก็กลัวเกรง ไม่ต้องถึงขั้นเจอคำด่าหรือท่าทีแย่ๆ จากใครก็เป็นทุกข์แล้ว

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า เมื่อถูกตำหนิแล้วพึงละวาง “ความพอใจและวิตกอันอาศัยเรือน”* หมายถึง อย่าไปหลงกับสิ่งที่ได้รับรู้ มิว่าน่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ และอย่าไปหลงคิดตีความปรุงแต่งจากมัน จนจิตใจหวั่นไหวแปรปรวน

การไม่มีสติรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ มันก็ทำให้เราปรุงแต่งเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นจนเกินจริง แม้คำพูดของคนๆ นั้น อาจเป็นคำพูดธรรมดาที่เขาพูดเป็นปกติ ไม่ได้มีเจตนาบั่นทอน เป็นการสอนหรือแสดงความเห็น แต่การรับรู้ที่ขาดสติก็พลอยทำให้เราคิดและรู้สึกจนเกินความเป็นจริงอย่างไม่รู้ตัว

การกระทำแย่ๆ ของเขาอาจเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามเรา แต่การที่เรารับรู้และนำมาคิดตอกย้ำจนทำให้รู้สึกแย่กับตนเอง กระทั่งกลายเป็นปมฝังใจ สิ่งเหล่านั้นก็คือการปรุงแต่งที่เกินจริงด้วยเช่นกัน เพราะคำพูดและการกระทำของคนอื่นไม่ได้ทำให้เราสูงขึ้นหรือต่ำลง เป็นเพียงแค่สิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็น “อนิจจัง” หมายถึง ไม่เที่ยงแท้ 

การกระทำทางกาย วาจา และใจของเราเอง ที่ทำให้เราสูงขึ้นหรือต่ำลง ไม่ใช่คำพูด การกระทำ หรือมุมมองจากคนอื่นเลย เราจึงต้องมีสติเพื่อที่ไม่ตีค่าหรือให้ราคากับลมปาก หรือพฤติกรรมที่เกิดจากความโลภ-โกรธ-หลง จนเกินไป

เมื่อจิตรับรู้โลกอย่างขาดสติแล้ว จากสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส หรือได้รู้สึกนึกถึง เราก็จะเกิดความคาดหวังหรือความอยากขึ้นตามมา ถ้าเป็นสิ่งที่พอใจก็อาจเป็นความอยากคลุกคลี-อยากมีอยากได้ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่พอใจก็อาจเป็นความอยากผลักไส-ไม่อยากมีไม่อยากเข้าใกล้ หากเป็นสิ่งเฉยๆ ธรรมดาก็อาจจะอยากเปลี่ยนแปลง หรืออยากไปหาสิ่งใหม่แทน

ความอยากในใจเรานี้ คือการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เป็นความคาดหวังให้สิ่งต่างๆ เป็นไปดั่งใจของตน เมื่อคนอื่นมีคำพูดหรือพฤติกรรมอย่างที่ใจเราอยาก เราก็เป็นสุข พอเขาไม่ทำอย่างนั้นแล้วเราก็เป็นทุกข์เพราะมันขัดใจ

การที่เรารู้สึกแย่ หงุดหงิด ไม่พอใจ หรือเสียใจ กับท่าทีและคำพูดของผู้อื่น มันอาจไม่ใช่เพราะเขาทำร้ายเรา แต่เป็นเพราะเรากำลังเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง คาดหวังให้เขาต้องทำแบบนั้นแบบนี้ หรือเป็นคนเช่นนั้นเช่นนี้ ตามมาตรฐานหรือเงื่อนไขที่เราตั้งไว้ว่า เขาควรเป็นแบบนั้นหรือทำแบบนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการของใจเราเอง ทั้งที่เขาไม่ได้ต้องการหรือเป็นคนเช่นนั้นตั้งแต่ต้น

หากลองปล่อยวางจากมาตรฐานหรือเงื่อนไขที่ใจเรามีอยู่ ไม่เพ่งเล็งหรือกำหนดว่าคนอื่นๆ จะต้องเป็นคนอย่างไร หรือทำอย่างไร ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้งของความสัมพันธ์และโลกใบนี้ เพื่อให้เรารู้สึกพอใจหรือรู้สึกมีคุณค่า ใจเราจะเป็นสุขกว่าหรือไม่ จะเบาสบายมากกว่าหรือเปล่า ปัญหาที่มีมาแต่เดิมอาจแก้ไขได้ง่ายๆ แค่เพียงมีสติและลดความอยากของใจเราเอง

 

4. ใช้กฎแรงดึงดูด

วิธีคิดพื้นฐานที่สำคัญมากในพุทธศาสนา คือเรื่องกฎแห่งกรรม ดังใจความคำสอนว่า “เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น” **

กรรม หมายถึงการกระทำทางกาย วาจา และใจ ในที่นี้หมายถึงกรรมในอดีตและปัจจุบัน สิ่งที่เราเคยทำ เคยพูด หรือเคยนึกคิด ล้วนเป็นเหตุปัจจัยทำให้เราได้เป็น ได้มี และได้เจอ กับสิ่งทั้งหลายในชีวิตของตนเอง

กฎแห่งกรรม ก็คือ “กฎแรงดึงดูด” อย่างที่วิชาจิตใต้สำนึกสอนกัน เราดึงดูดสิ่งต่างๆ เข้ามาในชีวิต จากสิ่งที่เรากระทำ สื่อสาร และคิดเชื่อ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เราต้อนรับสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจเข้ามาด้วยตนเองอย่างไม่รู้ตัว

หากเราไม่เห็นคุณค่าในตนเอง เราก็จะดึงดูดแต่สิ่งที่ไม่มีคุณค่าเข้ามาในชีวิต เพราะการกระทำทางกาย วาจา และใจอย่างไม่เห็นคุณค่าในตนนั้น ก็จะพาตัวเองไปเจอแต่สิ่งลบ เพราะการไม่เห็นคุณค่าในตนก็จะพาให้เราใส่ใจแต่สิ่งที่บั่นทอน หรือมัวคลุกคลีกับคนที่ไม่ได้เห็นคุณค่าในตัวเรา ทั้งที่มีทางเลือกในชีวิตมากมายแต่ไม่มอง เพราะการไม่เห็นคุณค่าในตนเองก็ทำให้เชื่อว่าไม่คู่ควรกับสิ่งที่ดีพอ

ในธรรมชาติ สิ่งที่เป็นประเภทเดียวก็จะถูกจัดสรรไปให้อยู่ด้วยกัน จนกว่าสิ่งนั้นจะเปลี่ยนแปลงหรือแตกต่างจากพวก สิ่งนั้นก็จะถูกย้ายออกไปอยู่ที่อื่น เราไม่อยากเจอสิ่งใด เราต้องไม่เป็นแบบเดียวกับสิ่งนั้น ทั้งภายนอกและภายในใจของตนเอง

เพราะความโลภในใจก็จะพาให้เราไปเจอกับความโลภ ไปเจอสิ่งที่ทำให้โลภมากขึ้น และไปเจอกับคนที่โลภมากด้วยเช่นกัน ความโกรธในใจก็จะพาให้เราไปเจอกับความโกรธ พบพานกับสิ่งที่น่าหงุดหงิด การทะเลาะวิวาท และเจอกับคนที่มีความโกรธในใจมาก ความหลงมัวเมาในใจก็จะพาให้เราไปเจอกับความหลงมัวเมา ความประมาท และความมืดบอดปัญญา

ในพระไตรปิฎกมีคำตรัสสอนในเรื่องนี้ ซึ่งขอยกมาส่วนหนึ่งว่า 

“การงดเว้นจากพูดเท็จ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้พูดเท็จ
การงดเว้นจากพูดส่อเสียด เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้กล่าวส่อเสียด
การงดเว้นจากคำหยาบคาย เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้กล่าวคำหยาบ
การงดเว้นจากพูดเพ้อเจ้อ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้พูดเพ้อเจ้อ
ความเป็นผู้ไม่เพ่งเล็ง เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มักเพ่งเล็ง
ความไม่พยาบาท เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีจิตพยาบาท
ความไม่ลบหลู่คุณผู้อื่น เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มักลบหลู่คุณผู้อื่น

“ความไม่ยกตนเปรียบเทียบ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มักยกตนเปรียบเทียบ
ความไม่ริษยา เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ริษยา
ความไม่โอ้อวด เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้โอ้อวด
ความเป็นคนไม่ดื้อด้าน เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ดื้อด้าน
ความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ว่ายาก
ความเป็นผู้มิตรดี เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีความเป็นมิตรชั่ว
ความไม่ประมาท เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ประมาท” ***

เมื่อเราเจอกับคำพูดที่ไม่ดี หรือท่าทีที่แย่ๆ เราไม่ควรแค่เพ่งเล็งด้านลบของเขา แต่ควรกลับมาพิจารณาตนเองด้วย ในสิ่งที่ไม่น่าพึงใจเหล่านั้น เราเคยกระทำบ้างหรือไม่ มีสักเสี้ยวส่วนใดที่เราเองก็เคยเป็น เคยทำ หรือมีอยู่ในใจตนเองด้วยเช่นกัน อย่างน้อยที่สุดก็มองไปที่ความโลภ-โกรธ-หลง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นเช่นนั้น เราเองก็มีเจ้าสามตัวนี้ในจิตใจตนเองมากน้อยเพียงใด

ตรงนี้ก็เรียกว่าเป็น “กฎแห่งกระจกเงา” ได้เช่นกัน ความชั่วร้ายหรือด้านมืดในตัวผู้อื่นที่เราโกรธ เกลียดและเพ่งเล็ง มักเป็นกระจกที่สะท้อนจิตใจของเราเอง และสิ่งที่เราก็เป็นโดยไม่รู้ตัว หากเราไม่มีหรือไม่เป็นอย่างเช่นที่เขาเป็นแล้ว เราจะไม่รู้สึกโกรธ เกลียด และเพ่งเล็งในสิ่งนั้นจนใจตนเองวุ่นวายเป็นทุกข์ แต่จะรับรู้ด้วยความเป็นกลางตามที่เป็นจริง

เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคนอื่นได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ละคนต่างมีกาย วาจา และใจของตนที่ต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง เราไม่สามารถควบคุมสิ่งภายนอกได้ทั้งหมด แต่เราดูแลกาย วาจา และใจตัวเองให้ดึงดูดสิ่งที่มีคุณค่าและมีประโยชน์เข้ามาในชีวิตตนเองได้

หากเข้าใจกฎทั้งสามอย่างข้างต้น เราแทบไม่ต้องพยายามทำอะไรกับคนอื่นที่พูดหรือทำแย่ๆ ต่อกัน เพราะกรรมจะให้ผลแก่พวกเขาเอง หากเขากระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องจองเวรหรือโกรธเกลียดต่อกัน ใครทำสิ่งใดย่อมได้รับผลของสิ่งนั้นเอง ผู้เอ่ยวาจาด้วยความโกรธ ย่อมถูกความโกรธเผาไหม้จิตใจนั้น อย่าเอาตัวเราไปเผารนกับเขาจนเป็นทุกข์ตาม อย่าเอาใจเราไปแบกรับไว้ด้วยอัตตาให้เป็นทุกข์

 

5. ไม่เอาตัวตนไปรับ

มีปริศนาธรรม 5 ประการ ซึ่งเป็นคำแนะนำจากพระพุทธเจ้า สำหรับการรับมือสิ่งลบๆ จากผู้อื่น ไม่ว่าทางวาจาหรือท่าทีใดๆ ก็ตาม *

อย่างแรก ให้ทำตนเป็นเหมือน “แผ่นดิน” ไม่ว่าเขาจะใช้จอบขุดหรือจะปัสสาวะรดแผ่นดินอย่างไร แผ่นดินก็ยังหนักแน่น ลึกประมาณมิได้ และกว้างใหญ่เช่นเดิม ผู้กระทำก็จะเหนื่อยและจากไปเอง ให้เราทำใจอย่างแผ่นดิน หนักแน่น อดทน และใจกว้างไว้

อย่างที่สอง ให้มองว่าคำพูดและท่าทีเหล่านั้น เหมือนการเขียนรูปบน “อากาศ” ไม่ได้เป็นตัวตน ของๆ ตน และสิ่งที่ยึดถือให้แน่นอนได้ เรียกว่าเป็นแค่ อนัตตา เท่านั้น เป็นเพียงความว่างเปล่า อย่าไปยึดถือเอาหรือยินดียินร้ายจนเป็นทุกข์ แต่ให้ทำใจให้กว้างใหญ่เหมือนอากาศไว้ ตั้งจิตในทางกุศล แผ่เมตตาและความดีออกไป เหมือนอากาศที่พร้อมเป็นลมหายใจให้กับทั้งคนดีและคนร้าย

อย่างที่สาม ให้ถือว่ามันเป็นเหมือนการเผา “แม่น้ำ” การกระทำที่บั่นทอนจากผู้อื่นไม่สามารถทำร้ายเราได้ หากทำใจตนเองให้เป็นเหมือนแม่น้ำ คำพูดและท่าทีแย่ๆ เหล่านั้นก็จะเหมือนการพยายามจุดไฟเผาแม่น้ำ ย่อมเหนื่อยเปล่าไปเอง แค่ทำใจให้เย็น ลึก และกว้างไว้ เจริญอยู่ในเมตตาจิต เห็นอกเห็นใจ หวังดีต่อผู้คนรอบข้างและบุคคลที่เข้ามา แม้เข้ามาในทางที่ไม่ดีก็ตาม ท่านก็ทรงสอนให้เห็นใจ เหมือนแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตไม่เลือกข้าง

อย่างที่สี่ ให้ฝึกใจเป็นเหมือน “กระสอบหนัง” เป็นถุงหรือกระเป๋าเย็บจากหนังสัตว์ซึ่งผ่านการฟอกจนนุ่ม ถูกตีถูกกระทบก็จะไม่ดังก้อง เป็นปริศนาธรรมเปรียบได้กับจิตของผู้ฝึกตนดีแล้ว ผ่านการฟอกมาแล้ว เมื่อถูกวิจารณ์ ตำหนิ หรือการกระทำที่ไม่ดีอย่างไร ก็ไม่ถือดีถือร้าย ไม่มีอาการกิริยาโกรธเกรี้ยว ร้อนรน ห่อเหี่ยว หรือเสียใจ ไม่ปรุงแต่งตีความจนเป็นทุกข์

อย่างที่ห้า ให้ปล่อยวางเหมือน “ถูกเลื่อย” ท่านทรงสอนว่า แม้ถูกโจรจับเลื่อยหั่นร่างกายออกมาจากกันก็อย่าได้มีใจคิดร้ายพยาบาท ให้แผ่เมตตาจิตกลับไปยังผู้ทำร้ายและคนอื่นๆ ไม่มีประมาณ ไม่คิดจองเวรต่อกัน ตั้งใจที่จะประกอบกรรมอันเกิดแต่ประโยชน์ต่ออีกฝ่ายเท่านั้น 

ท่านทรงย้ำให้ใส่ใจถึงโอวาทเปรียบเทียบข้อสุดท้ายนี้เป็นอย่างมาก เพราะการคิดโต้ตอบอย่างโกรธเกลียดหรือเศร้าหมอง ก็จะเป็นการทำร้ายตนเองให้เวียนว่ายในวงจรแห่งความทุกข์ไม่จบสิ้น มีแต่การปล่อยวางเท่านั้นที่จะทำให้เป็นสุขอย่างแท้จริง

ปริศนาธรรมในข้อสุดท้าย นอกจากหมายถึงการใช้เมตตาธรรมนำหน้า แม้ต่อผู้ที่ทำร้ายเราจนถึงแก่ความตายแล้ว ยังหมายถึงการฝึกละวางอัตตาตัวตน การถูกหั่นร่างก็เหมือนหั่นอัตตาให้แยกกระจายไป 

อย่าคิดปรุงแต่งจากสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยอัตตา เช่น ฉันกำลังถูกด่า ฉันกำลังถูกทำร้าย เขากำลังด่าว่าฉัน เขากำลังทำร้ายฉัน… แต่ให้รับรู้ไปตามความจริงว่า ตาเห็นอะไร หูได้ยินอะไร ร่างกายรู้สึกอะไร ยอมรับในความจริงที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และกำลังดับไปในตอนนั้น 

อย่าไปคิดปรุงแต่งว่าเขาพูดหรือทำแบบนั้นเพราะเป็นคนอย่างไร หรือเพราะฉันเป็นคนอย่างไร อย่าไปแบกรับอัตตาตัวตนของใครไว้ มองเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ด้วยเหตุปัจจัย ตามกิเลสโลภ-โกรธ-หลง อย่าไปถือคำพูดหรือท่าทีเป็นตัวตนของใคร เพราะนั่นจะถ่วงใจเราไว้ให้หนักอึ้งเสียเอง 

ยิ่งเราละวางตัวตนได้มากเท่าใด เราก็จะมีใจที่เบาสบายมากเท่านั้น ยิ่งตั้งจิตไว้ในทางที่เป็นกุศลและเมตตาเพียงใดแล้ว เราก็ทุกข์น้อยลงจากการทำร้ายของคนอื่นมากเท่านั้น เสียงและการกระทำใดๆ จากอีกฝ่ายก็จะเพียงกระทบที่ร่างกายแต่ไม่ได้สะเทือนจิตใจ บั่นทอนชีวิตแต่ไม่ได้ลดทอนคุณค่า พรากไปได้เพียงลมหายใจ แต่ไม่อาจพรากความสงบสุขภายในไปได้

พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้นิ่งเฉยต่อความชั่วร้าย แต่ชี้ให้เห็นว่าถ้ารับมือและโต้ตอบความชั่วร้ายด้วยสิ่งเดียวกัน มีแต่จะซ้ำร้ายทำให้ตัวเราและสังคมเป็นทุกข์และมีปัญหามากขึ้น เราต้องหักห้ามใจมิให้รับมือกับกิเลสด้วยกิเลส มิให้รับมือกับความเลวร้ายด้วยความเลวร้าย เราต้องเห็นคุณค่าในตนเองมากกว่านั้น

การละวางตัวตน คือหัวใจสำคัญของการรับมือกับสิ่งไม่ดีจากผู้อื่น เพราะไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนอกตัวจะเป็นสิ่งที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจก็ตาม เมื่อใดเอาตัวตนไปรับหรือยึดมั่น ทุกข์ก็เกิดขึ้นแล้ว เพราะจิตไปแบกรับคำพูดต่างๆ ที่เป็นเพียงการสั่นสะเทือนในอากาศ หรือเป็นเพียงภาพที่กะพริบบนหน้าจอชั่วคราว เป็นแค่ความว่างและความไม่เที่ยงแท้แน่นอน แต่กลับยึดถือเป็นของเที่ยงแท้ หรือกอดรัดเป็นตัวตนกับของๆ ตน

การฝึกรับมือกับคำวิจารณ์และการกระทำที่ไม่ดีจากคนอื่น คือหนทางหนึ่งในการฝึกละวางอัตตา ไม่ว่าจะจริงเท็จเพียงใดก็ใช้ปัญญาพิจารณา เพื่อให้เราได้เติบโตทางจิตวิญญาณหรือบนเส้นทางธรรมมากขึ้น เขาอาจไม่ได้เลวร้าย แค่กำลังเป็นครูในแบบที่เราไม่ชอบเท่านั้นเอง

 

ครูโอเล่

สถาบันธรรมวรรณศิลป์

 

> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :

www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/

> > > ติดตามกิจกรรมอบรม :

www.dhammaliterary.org/open-course/

 

* พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค กกจูปมสูตร [๒๖๘]

** พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ฐานสูตร [๕๗]

*** พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สัลเลขสูตร [๑๐๖]