5 ข้อคิดพัฒนาชีวิตและจิตใจจาก พ่อหลวง ร.9 พร้อมนัยยะสำคัญ (ตอนแรก)

 

 

5 ข้อคิดพัฒนาชีวิตและจิตใจจาก พ่อหลวง ร.9 พร้อมนัยยะสำคัญ
.
(ตอนแรก)
.
เมื่อครั้งผู้เขียน ค้นคว้าและรวบรวมข้อคิดจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นไฟล์สมุดบันทึก “ลิขิตตามรอยก้าว พ่อหลวง ร.๙” เพื่อแจกฟรีแก่บุคคลทั่วไป ผู้เขียนพบว่ามีข้อคิดและบทเรียนที่ดีในด้านการพัฒนาจิตและชีวิตระดับบุคคลอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ถูกกล่าวถึงน้อยจากประชาชนคนไทย และยิ่งน้อยไปอีกในการถูกส่งเสริมสู่การปฏิบัติจริงจากภาครัฐและความเข้าใจของพสกนิกร จึงควรค่าอย่างยิ่งที่เราจะกล่าวถึงและน้อมนำคำสอนที่ถูกละเลยและหลงลืมเหล่านี้มาใคร่ครวญและปฏิบัติในชีวิตของตนเอง
.
ในหลวง รัชกาลที่ ๙ และพระบรมศาสดาทั้งหลายต่างสอนเราถึงความพอเพียงและความพอใจในสิ่งที่ตนมี แต่ก็ทรงตรัสสอนเพื่อเติมควบคู่อีกว่า การจะมีชีวิตที่มีความสุขและบรรลุความหมายของชีวิต ต้องอาศัยวิริยะและฉันทะพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดหย่อนและไม่ย่อท้อ ดั่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้มีความเพียรจึงหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายได้
.
ทั้งการพอใจในตนเองและการมีความเพียรเป็นสองขั้วหยินหยางที่ต้องมีควบคู่กัน ขาดด้านใดไปแล้วย่อมเป็นผลเสีย หากเรามีความมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง แต่ขาดการรักตนเองตามที่เป็นจริง เราย่อมรู้สึกขัดแย้งตนเองไม่รู้สิ้นสุดแม้เข้าอบรมมากมายก็ไม่อาจรู้สึกเต็ม หากเราพึงพอใจตนเอง แต่ขาดการพิจารณาสิ่งลบที่ควรแก้ไข เราย่อมกลายเป็นคนหลงตัวเองและมีส่วนสร้างปัญหาเดิมๆ ให้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า
.
บทความต่อไปนี้จึงเป็นการรวบรวมบางข้อคิดคำสอนจาก ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ในด้านการดูแลจิตใจ การพัฒนาชีวิต และการต่อสู้กับปัญหา พร้อมการวิเคราะห์นัยยะสำคัญลึกซึ้งที่แอบซ่อน ผู้อ่านสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในประเด็นเดียวกันตามช่องทางที่สะดวกและความเหมาะสม
.
.
1 : “ ในการปฏิบัติงานนั้น ย่อมมีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นต้องแก้ไข อย่าทิ้งไว้พอกพูนลุกลามแก้ยาก ขอให้ทุกคนระลึกว่าปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ได้ ถ้าแก้คนเดียวไม่ได้ก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้หลายๆ คน หลายๆทาง 
ด้วยความร่วมมือปรองดองกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นจักได้ไม่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวาง และบั่นทอนทำลายความเจริญและความสำเร็จของการงาน ” *
.
การทำสิ่งที่ดีที่เราตั้งใจ เราย่อมพบเจออุปสรรคนับครั้งไม่ถ้วน แม้จะสำเร็จแล้วก็ตาม ปัญหาย่อมมีมาได้ หากเราไม่ได้เตรียมใจรับความจริงนี้ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจริงเราย่อมรู้สึกท้อถอยได้ง่าย เพราะจิตคาดหวังและโฟกัสที่ความตั้งใจของตนเองมากเกินไป จนลืมว่าธรรมชาติของทุกสิ่งนั้นมีความทุกข์ และปัญหาเกิดขึ้นได้เสมอ เป็นธรรมดา เมื่อใจยอมรับความเป็นธรรมดา เราย่อมมีกำลังใจหรือสามารถวางใจสบาย ค่อยๆ คิดหาทางแก้ไขอุปสรรคที่เกิดขึ้น
.
คนเรานั้นมักมีท่าทีหนีปัญหาได้เมื่อขาดสติ เป็นกลไกปกป้องตนเองของจิตใจเรา หากไม่สู้ก็หนีปัญหา ด้วยหนทางต่างๆ ทั้งการปล่อยปละละเลย การคิดเรื่อยเปื่อย หรือกระทั่งการโยนความผิดให้คนอื่น การหนีความทุกข์หรือหนีปัญหาเกิดจากความกลัวของจิตใจ กลัวเราจะเป็นทุกข์ หรือไม่สามารถจัดการสิ่งตรงหน้าได้ ทั้งที่เรามีข้อดีในตนเองมากมายที่สามารถนำมาใช้ได้ และมีความกล้าหาญลึกๆ ที่เราเองก็ไม่รู้ตัว
.
การหนีปัญหา ย่อมทำให้ปัญหาสะสมและเพิ่มพูน แม้เราหนีจากเรื่องนี้ไปได้ เราก็ย่อมต้องพบเจอปัญหาเดิมในบริบทหรือเหตุการณ์ใหม่ เพราะเหตุแห่งปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไข เปรียบเทียบเหมือนกับเราสอบตกบทเรียนจากจักรวาล เราก็ต้องพบเจอเหตุการณ์คล้ายๆ กันเพื่อให้ผ่านบทเรียนนั้นๆ
.
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเป็นทุกข์เกินกว่าความจำเป็น คือการแบกรับความทุกข์นั้นไว้เพียงลำพัง แม้เรื่องดังกล่าวจะเป็นเรื่องส่วนตัวของเรา แต่เมื่อหัวใจได้เปิดออก ร่วมแบ่งปันและรับฟังกัน เราอาจพบว่าความทุกข์ที่เหมือนเราเผชิญคนเดียวในโลก ก็มีอีกหลายคนมากมายเจอเหมือนกันกับเราหรือหนักหนาสาหัสกว่า
.
การมีเพื่อนหรือผู้ให้คำปรึกษารับฟังความรู้สึกต่างๆ จากหัวใจ เราย่อมเบาขึ้น สบายใจขึ้น เพราะความทุกข์เหล่านั้นไม่ได้สุมรุมอยู่ข้างในเราแล้ว เมื่อนั้นเราก็ย่อมสามารถคิดหาหนทางออกได้ชัดเจนขึ้นกว่าตอนที่ความรู้สึกต่างๆ อัดแน่นอยู่ภายใน
.
ความคิดเห็นหรือการสะท้อนจากผู้อื่นก็ช่วยให้เรามองเห็นอีกด้านหนึ่งอีกด้วย เวลาเราทุกข์ใจสิ่งที่เราคิดมักห่างไกลจากความจริงได้เสมอ เพราะความรู้สึกลบเป็นเหมือนเมฆหมอกคอยบังดวงตาของหัวใจเรา
.
การแบกความทุกข์และปัญหาใดใดไว้ลำพัง ไม่เคยทำให้เกิดการหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ เราเองก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่มีเลือดเนื้อและหัวใจ มีขีดจำกัดในตนเอง และมีคุณค่าเพียงพอสมควรที่ใครคนหนึ่งจะให้เวลารับฟังและเคียงข้างเรา เราเองก็มีคุณค่าเพียงพอที่จะเป็นใครคนนั้นแก่ผู้อื่นด้วยเช่นกัน
.
.
2 : “ คนโดยมาก แม้ผู้ที่เคยฝึกฝนมาให้เป็นคนหนักแน่นแล้วก็ตาม บางครั้งเมื่อต้องประสบเหตุ ประสบปัญหากระทบกระเทือนอย่างหนักเข้า ก็อาจบังเกิดความหวั่นไหว หรือสับสนฟุ้งซ่านได้ และเมื่อเกิดหวั่นไหวฟุ้งซ่าน ความคิดสติปัญญาก็จะสั้นตัว หรือดับวูบลง ความหลงและอคติก็เข้ามาแทนที่ทำให้จนปัญญา คิดไม่ออก ทำไม่ถูก และที่สุดก็อาจผิดพลาดเสียหายได้ต่างๆ
.
“ ท่านจึงสอนให้ทุกคนรู้จักสงบใจ คือบังคับใจให้หยุดคิดเรื่องที่กำลังคิด และกำลังทำให้ฟุ้งซ่านหรือสับสนอยู่นั้น เสียชั่วขณะ เมื่อหยุดคิดสับสนได้ก็จะอำนวยโอกาสอันประเสริฐ ให้สติความระลึกรู้ และปัญญาความเฉลียวฉลาด กลับคืนมาใหม่ ช่วยให้ใจแจ่มใส หนักแน่น เข้มแข็งเข้า ความคิดเห็นก็เข้ารูป เข้ารอย คือมีความเที่ยงตรง เป็นกลาง สุขุม
.

“ ปราศจากอคติ สามารถพิจารณา เห็นเหตุเห็นผลได้กระจ่างแจ่มชัด หาทางปฏิบัติได้ถูกต้องพอเหมาะพอดี ถึงขั้นนี้ ปัญหาทั้งปวงก็จะคลี่คลาย เรื่องที่จะเสียหายก็จะแก้ได้ตก กลับกลายเป็นดีโดยตลอด ” **
.
การฝึกฝนบังคับใจจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดตามคำสอนจากในหลวง รัชกาลที่ ๙ ซึ่งสอดคล้องกับหลักพุทธศาสนาและจิตวิทยา เมื่อคนเรายามเกิดความทุกข์ใจหรือประสบเหตุไม่ทันคาดคิด จิตย่อมเสส่ายบังเกิดความขุ่นมัวและสับสน เมื่อนั้นการจะคิดหาทางออกหรือพิจารณาเหตุการณ์ ย่อมเป็นไปได้ยาก เราจึงควรตั้งหลักให้แก่หัวใจก่อน
.
การตั้งหลักให้แก่หัวใจก็คือการกลับมาหาความสงบ ความมั่นคง และการมีสติระลึกรู้ หากเราปล่อยให้ใจคิดไปต่างๆ นานาตามอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น จิตย่อมเหมือนใบไม้ที่ปลิวไปตามแรงลม อย่างไม่อาจหยุดนิ่งหาความสงบใดใดได้ การกลับมาตั้งหลักให้แก่หัวใจสามารถทำได้หลายวิธีการ ทั้งการกลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออกอย่างสงบสักครู่หนึ่ง การกลับมาอยู่กับความรู้สึกที่ร่างกาย การเขียนบันทึกทบทวนความรู้สึกและเหตุการณ์ก็เป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง ประเด็นสำคัญคือการพาให้ใจ หยุดนิ่ง จากการไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายภายนอกตัวและมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ
.
คนเราทุกคนนั้นมีปัญญญาหรือกุญแจที่จะหาทางออกจากเรื่องราวใดใดได้อยู่แล้ว เพียงแต่ในช่วงเวลาที่เกิดปัญหาขึ้นนั้น ใจเราถูกบดบังด้วยม่านหมอกทางอารมณ์ จนไม่อาจแลเห็นสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริง และใจปรวนแปรจนไม่อาจใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ บางความคิดอาจรบกวนใจเกินไปจนเราไม่ได้พินิจสิ่งต่างๆ อย่างเพียงพอ ฉะนั้นเวลาเกิดปัญหาใดขึ้น เราจึงไม่ควรรีบเร่งร้อนเข้าจัดการแก้ไขหรือพยายามหนีปัญหา แต่ให้เวลาตนเองได้สงบใจก่อน หยุดหัวใจจากความคิดและการสนใจสิ่งต่างๆ กลับมาอยู่กับตนเองสักครู่หนึ่ง แล้วค่อยๆ ใคร่ครวญทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
.
การเยียวยาบำบัดด้วยศิลปะก็ดี การเขียนก็ดี การสะกดจิต และการทำสมาธิภาวนา ล้วนแล้วแต่มุ่งหมายให้เรากลับมาใช้ปัญญาที่มีอยู่ข้างใน เพื่อแก้ไขปัญหาใดใดในชีวิตได้อย่างดีที่สุด โดยเริ่มต้นจากการผ่อนคลายความรู้สึกและตั้งจิตให้เป็นกลาง ปราศจากการรบกวนทางอารมณ์และมุมมองเก่าๆ เมื่อเรามีใจเป็นกลางได้ เราย่อมสามารถมองเหตุการณ์โดยปราศจากอคติและเข้าใจหลากหลายมุมมอง เราก็ย่อมไม่เป็นทุกข์เหมือนเดิมและสามารถปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างเหมาะสมได้
.
ก่อนทำ ก่อนพูด และก่อนคิดสิ่งใด เราจึงควรกลับมาอยู่กับตนเอง เพื่อบ่มความสงบมั่นและใจเป็นกลางก่อน เราจึงจะสามารถทำสิ่งต่างๆ อย่างสมคุณค่าและศักยภาพที่เรามีอยู่แล้วในตนเอง ปัจจุบันมีสิ่งเร้าและความเคยชินมากมายที่พาให้ใจรีบร้อนและเร่งเร้าเกินไป จนขาดการคิด การพูด และการทำอย่างมีสติ เมื่อเราต้องใช้ชีวิตอย่างขาดสติและรีบเร่งเช่นนี้เราย่อมเป็นทุกข์ง่าย เพราะใจจะคอยปรุงแต่งต่อสิ่งต่างๆ ง่ายจนขาดปัญญา เหมือนใบไม้ที่พร้อมจะปลิวตามสายลม ฉะนั้น
.
เราทุกคนสามารถหาทางที่เหมาะสมได้อยู่แล้ว หากเรารู้จักช้าลงบ้าง ตั้งหลักให้หัวใจบ้าง การบำบัดทางจิตใจไม่ว่าแขนงใดล้วนแล้วแต่เพียงช่วยปรับหัวใจให้นิ่งมากพอที่จะคิดด้วยตนเอง มีหัวใจเป็นกลางเพียงพอ เราทุกคนมีศักยภาพมากพอที่จะมีความสุขได้ด้วยตัวเราเอง โดยไม่ต้องหวังพึ่งพาสิ่งภายนอกจนเกินพอดี หรือทุกข์ตามสิ่งทั้งหลายที่ไม่อาจหาความแน่นอนใดใดได้
.
จิตนั้นเป็นสิ่งที่สามารถฝึกได้ แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่เราเลือกเองว่าจะปล่อยให้จิตเป็นดั่งใบไม้ตามลมพา หรือไหลไปตามสิ่งกระทบ หรือหมั่นบังคับและฝึกฝนความนึกคิดให้สามารถสงบและใช้งานตามควรได้ ความเชื่อที่ว่าจิตเราหยุดคิดไม่ได้เป็นแค่ความเชื่อเท่านั้น เราทุกคนมีช่วงเวลาที่ปราศจากการคิดและการปรุงแต่งอยู่ เพียงแค่เราไม่ทันมีสติได้สังเกตเท่านั้น
.
.
#คอลัมน์ #ไกด์โลกจิต
อนุรักษ์ ครูโอเล่
( ตอนสอง ) www.dhammaliterary.org/5ข้อคิดจากในหลวง2/
( ติดตามบทความ และ การอบรม #เขียนเปลี่ยนชีวิต ) www.dhammaliterary.org
.
* พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๓
** พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๔