5 ข้อคิดพัฒนาชีวิตและจิตใจจาก พ่อหลวง ร.9 พร้อมนัยยะสำคัญ
(ตอนที่สอง)
.
ในช่วงเวลาแห่งการสูญเสีย และห้วงเวลามืดมนของชีวิต คำกล่าวของผู้รู้และบุคคลที่มีหัวใจอันประเสริฐ ย่อมเป็นดั่งตะเกียงปัญญาส่องทางแก่เรา ณ เวลาก็ตามที่จิตเราน้อมระลึกนึกถึง
.
เนื่องในวาระสวรรคตของในหลวง รัชกาลที่ 9 เราจึงควรน้อมนำพระราชดำรัสจากพระอัจฉริยภาพของพระองค์ เป็นเพื่อให้คำสอนที่ดีจากพ่อมิเพียงแนบเนาหัวใจลูก หากแต่ดำรงอยู่ในชีวิต เป็นที่พึ่งด้วยปัญญาและศรัทธา พ่อจึงอยู่กับเราเสมอ
.
บทความนี้เป็นตอนที่สอง ในหัวข้อ 5 ข้อคิดพัฒนาชีวิตและจิตใจจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมการวิเคราะห์ประเด็นสำคัญและขยายความ เพื่อให้ผู้อ่านได้ทบทวนและน้อมนำพระราชกระแสมาปรับใช้ในชีวิตของตนเอง ผู้อ่านท่านใดมีข้อคิดแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมในเนื้อหาเดียวกัน สามารถแลกเปลี่ยนได้ตามช่องทางที่สะดวกและเหมาะสม
.
.
3 : “ การขบคิดวินิจฉัยปัญหา จึงต้องใช้สติปัญญา คือคิดด้วยสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพื่อหยุดยั้งและป้องกันความประมาทผิดพลาด และอคติต่างๆมิให้เกิดขึ้นช่วยให้การใช้ปัญญาพิจารณาปัญหาต่างๆ เป็นไปอย่างเที่ยงตรง ทำให้เห็นเหตุเห็นผลที่เกี่ยวเนื่องกัน เป็นกระบวนการได้กระจ่างชัด ทุกขั้นตอน ” *
.
ประเด็นสำคัญที่ท่านทรงชี้แนะแก่เราคือ ปัญญาอย่างเดียวนั้นไม่พอ ต้องมีสติด้วย
.
การใช้ความคิดก่อนแก้ปัญหานั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่หากมีปัญญาแต่ไร้สติแล้ว เราย่อมย้ำคิด ย้ำทำ ตามร่องอารมณ์หรือความเคยชิน โดยไม่ทันพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกระจ่างและเข้าใจ การกระทำต่อต่อมาจึงอาจไม่ช่วยให้แก้ปัญหานั้นได้ หรือทำให้เราเครียดกว่าเดิมด้วยซ้ำ
.
ปัญหาทุกปัญหา ไม่สามารถแก้ไข ด้วยการคิดแบบเดียวกันกับที่สร้างปัญหาขึ้นมา ทุกปัญหาล้วนแล้วมีวิธีคิด หรือการคิดของเราเป็นหนึ่งในปัจจัยทำให้มันกลายเป็นความเครียด ทำให้แย่ลง หรือร่วมก่อปัญหานั้นขึ้นมาด้วย
.
เราจะแก้ไขเรื่องราวใดใดได้ เราต้องย้อนกลับมาแก้ที่วิธีคิดของตนเองเสียก่อน เราคิดแบบใดจึงเป็นทุกข์ เราคิดแบบใดสิ่งที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นปัญหา เราคิดแบบใดจึงทำให้เรื่องแย่ลง เมื่อเราย้อนกลับมาสำรวจตนเอง เมื่อนั้นเรากำลังมีสติและปัญญาเคียงข้างกันแล้ว
.
เราทุกคนต่างมีปัญญา มีศักยภาพในการคิดหาทางออกจากปัญหาต่างๆ ได้ แต่มัก “ขาดสติ” จึงทำให้เรามองเหตุการณ์หรือคนที่เกี่ยวข้องอย่าง “มีอคติ” ดวงตาหัวใจเราจึงแคบลง จึงเห็นสถานการณ์นั้นๆ เพียงส่วนเสี้ยวเท่านั้น
.
เมื่อเรารู้ผ่อนตนเองช้าลง มีสติกับเนื้อตัวและหัวใจ ยามพบเผชิญสถานการณ์ที่หวั่นไหว หัวใจย่อมกระจ่างและเปิดกว้างเพียงพอ เพื่อทบทวนใคร่ครวญสิ่งที่เกิดขึ้น เห็นเหตุเห็นผล จึงสามารถเลือกลงมือทำตามปัจจัยที่มีอย่างเหมาะสม
.
ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ยังทรงสอนเราผ่านถ้อยคำข้างต้นว่า การแก้ไขปัญหาใดใดเราต้องพิจารณาที่เหตุและปัจจัย สังเกตให้เห็นขั้นตอนหรือกระบวนการของการเกิดทุกข์ หรือการเกิดปัญหานั้นๆ ขึ้นมา มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
.
เมื่อเราเห็นทุกข์ พิจารณาสมุทัยกระจ่าง เราจึงสามารถมองทางออกหรือ “นิโรธ” พบ “มรรค” วิธีหนทางใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเช่นนั้นมิให้เกิดขึ้นอีก
.
ทุกสิ่งในโลกนี้ไม่ใช่ตัวตนที่คงที่ ไม่มีอะไรที่แน่นอน ปัญหาที่เราพบเจอก็เช่นกัน เป็นเหมือนสายน้ำรินไหลจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง เรียกว่าเป็นขั้นตอนหรือกระบวนการ จากเหตุไปสู่ผล ความคิดเราเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้น ทำให้หัวใจเรามีอคติต่อชีวิตและความจริง เมื่อเราเติมสติลงในกระแสน้ำนี้ เราย่อมเปลี่ยนแปลงให้การคิดนั้นเป็นนำร่องสู่หนทางใหม่ ก่อผลลัพธ์ซึ่งแตกต่างไปจากเดิม
.
“สติ” นั้นคือการรู้เท่าทันตนเอง รู้ยับยั้งชั่งใจ รู้ปรุงแต่งหัวใจไหว รู้ในปัจจุบันขณะ เมื่อเราเร็วไวด้วยการคิด การพูด และการทำ เราย่อมยากจะตามทัน มีสติไม่ทัน ฝึกชะลอผ่อนคันเร่งชีวิตบ้าง แล้วความสุขจะเกิดขึ้นง่ายๆ ณ ที่ที่เราอยู่ตรงนั้น อยู่ท่ามกลางสถานการณ์ใดก็เป็นสุข
.
.
4 : “ การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจ
และความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ
เพราะหาไม่ ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว ” **
.
ข้างต้นนี้เป็นคำสอนที่สำคัญอีกหัวข้อหนึ่งซึ่งท่านทรงมอบให้แก่เรา แต่เราได้ใส่ใจความหมายแท้จริงมากเท่าใด ด้วยกระแสสังคมล้วนมุ่งไปในทิศทางที่ตรงข้ามกับคำสอนของท่าน โดยที่เราไม่ทันได้สังเกต
.
ความสุขมีสองแบบ แบบหนึ่งคือการเติมเต็มตามความอยาก และแบบที่สองคือละความอยาก ตามที่ท่านทรงตรัสว่า “การทำความดี โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจ” ประเด็นสำคัญคือการทำความดีและการพัฒนาจิตใจ ต้องเริ่มจากสวนกระแสความอยากได้ อยากเป็น และอยากไม่เป็น หรือเรียกว่า “ตัณหา” ในจิตใจของตนเองก่อน หรืออย่างน้อยทำความดีและพัฒนาตนเองเพื่อละความอยากและกระแสความพอใจของจิตใจตนเอง
.
แต่เรามักตามกระแสเพื่อส่งเสริมให้ความอยากพองโตขึ้น โดยไม่รู้ตัว เพราะกระแสนี้มีมาทั้งจากภายในหัวใจตัวเอง คือกิเลสและความรู้สึกไม่ดีพอ เป็นต้น และจากสังคม อาทิเช่น โฆษณา แฟชั่นค่านิยม ระบบการศึกษา จนถึงทิศทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาลทุกสมัย ล้วนแล้วแต่ส่งเสริมให้เราต้องอยาก ต้องซื้อต้องคว้ามา ต้องเป็นผู้บริโภคที่กระตือรือล้น
.
เมื่อเราวิ่งไล่ตามความพอใจ เพียรพยายามเติมเต็มหัวใจให้พองโตอยู่เรื่อยๆ เราย่อมไม่อาจหาความพอดีและพอเพียงได้เลย ตามที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงสอนเราถึงความพอเพียงเป็นสิ่งล้ำค่ามากเพียงใด
.
ธรรมชาติของความสุขแบบแรกนี้ คือยิ่งเติมเท่าใดก็ยิ่งไม่เต็ม พองขยายออกไปเรื่อยๆ ระดับความอยากก็มากขึ้นตามที่เราสนอง ยิ่งตามกระแสความพอใจในตัวเอง ยิ่งส่งเสริมกิเลสให้เติบใหญ่ ความสุขยิ่งกลายเป็นของยากและซับซ้อนมากเท่านั้น
.
ดั่งประเทศที่เติบโตทางด้านวัตถุ ซึ่งบางคนเรียกว่าประเทศที่เจริญแล้ว ก็เติบโตมาพร้อมกับการเพิ่มขยายด้านอาชญากรรม และบ้างเพิ่มพูนอัตราการซึมเศร้าหรือการฆ่าตัวตายของคนในประเทศมากขึ้น ความเจริญที่เราชี้วัดกันไม่ใช่ความเจริญแท้จริง ความสุขจากการตามกระแสความพอใจของจิต ไม่ใช่ความสุขแท้จริง
.
เมื่อเรากลับมาหาความสุขแบบที่สอง คือการสวนทางกับความเคยชินของจิตใจ ละความอยากและหันมาหาคุณค่าที่เรามีอยู่แล้วในตัวเอง เมื่อนั้นเรากำลังทำความดีตามอย่างที่ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ท่านทรงสอนเรา
.
การละความอยากหรือสวนกระแสกิเลส ย่อมเหมือนทำได้ยาก ดั่งว่ายทวนน้ำ แต่ทำแล้วดีและมีความสุขยิ่งกว่า การปล่อยให้ตัวเองลอยตามกระแสน้ำนั้นจนเป็นเหยื่อของพราน คือ การตลาด ความมัวเมา และความทุกข์ทั้งหลาย
.
หลังจากลูกสูญเสียพ่อ ลูกควรกลับมาตั้งคำถามกับตนเองว่า ต่อไปนี้ลูกจะก้าวเดินต่ออย่างไร เราจะทิ้งคำสอนของท่านไว้เพียงตำราและความทรงจำ ใช้ชีวิตสวนกระแสพระราชดำรัสที่ท่านทรงให้ไว้ หรือเลือกกล้าหาญและเข้มแข็งเช่นท่าน เพื่อสวนกระแสความอยากได้ อยากเป็น และอยากไม่เป็นในตัวตน สู่ความเจริญและความพอดีของชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง
.
.
5 : “ ต้นเหตุของความทุกข์อยู่ที่ใจ เราสามารถที่จะสร้างทุกข์ขึ้นมาได้ให้มันเกิด เหมือนว่าเราสามารถที่จะเลือกว่าจะเอาทุกข์หรือเอาสุข…
.
“ เพื่อที่จะไม่ให้มีทุกข์ เราก็ต้องไม่สร้าง ข้อสำคัญอยู่ตรงนี้ ให้เข้าใจให้ดี คนโดยมากมีความทุกข์แล้วจะทำลายความทุกข์ คือขจัดความทุกข์ มันทำไม่ได้ ทุกข์มันมีแล้ว
.
“ แต่ว่าทุกข์ที่ยังไม่มีอย่าให้เกิด ถ้าเราไม่ยอมให้เกิดขึ้น หมายความว่าทำจิตใจให้ผ่องใสตลอดเวลา ทำอะไรที่สุจริตตลอดเวลา ความทุกข์เกิดยาก เมื่อเกิดยากแล้ว ทุกข์เก่าที่มีอยู่ มันก็ค่อยๆ หายไป ” ***
.
เมื่อคนเราเจอความทุกข์ ก็มักจะหนีหรือพยายามสู้ ตามกลไกปกป้องตนเองในหลักจิตวิทยา แต่ท่านทรงชี้ให้เรามองเห็นว่า ทุกข์เกิดแล้ว หนีหรือพยายามทำลายก็ไม่เป็นผล เราเศร้าโศกหรือเสียใจมากเพียงใด เราหนีหรือพยายามผลักไส ก็ไม่ช่วยแก้ปัญหา
.
สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว เราไม่อาจแก้ไขได้ ท่านทรงสอนให้เรายอมรับ อยู่กับความทุกข์ที่เกิดขึ้น โอบกอดความจริงที่ปรากฏ ไม่นำความชอบชังมาบดบังหัวใจ ไม่ได้ให้เราหนีหรือพยายามต่อสู้กับความรู้สึก เพียงแค่ยอมรับและอยู่ตรงนั้นใกล้ๆ หัวใจตนเอง
.
เราเลือกสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วไม่ได้ เลือกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ได้ แต่เลือกอยู่กับปัจจุบันอย่างไรและหลีกเลี่ยงสิ่งลบในอนาคตได้
.
เราอาจกลัวที่จะยอมรับหรืออยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเชื่อว่าเข้มแข็งไม่มากพอ หรือเราไม่อาจไปต่อได้ แต่ที่จริงแล้วเมื่อหันกลับมาสบตากับทุกข์ เราจะรู้ว่าเรามีความกล้าหาญซ่อนอยู่ในตัวเองมากเพียงใด เราจะเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ต่อเมื่อกล้าที่จะทบทวนและยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นตามจริง
.
ประเด็นสำคัญที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงชี้แนะคือ ทุกข์และสุข เกิดจากการ “สร้าง” ของจิตใจ กล่าวในทางพุทธศาสนาก็คือการ “ปรุงแต่ง” นั่นเอง ขอให้สังเกตว่าบางคนเจอเหตุการณ์เดียวกัน รู้สึกและมีท่าทีอย่างหนึ่ง แต่บางคนเจอเรื่องเดียวกันกลับมีทีท่าและผลกระทบแตกต่างกัน เพราะใจนั้นสร้างหรือปรุงแต่งแตกต่างผิดแผกกัน สุขหรือทุกข์อยู่ที่ใจเราเลือกมองและคิดต่ออย่างไร
.
“สร้าง” ในที่นี้ก็คือการการเลือกคิด ระลึก และรู้สึก ในหัวใจเรา สืบเนื่องต่อจากที่พบประสบเหตุการณ์นั้นๆ เราเลือกคิดอย่างไร ระลึกนึกถึงและปรุงแต่งความรู้สึกต่ออย่างไร หัวใจเราก็เป็นไปตามนั้น ชีวิตเราก็ได้ผลจากการสร้างของหัวใจนั้น
.
หลายครั้งเราไม่ทันรู้ตัวว่า ที่ทุกข์เช่นนี้ เครียดมากเหลือเกินเช่นนี้ ล้วนแล้วแต่เกิดจากการ “ย้ำคิด” ย้ำปรุงแต่งของหัวใจ ก่อให้เกิดการ “ย้ำทำ” คือกระทำและมีท่าทีเดิมๆ ในแบบที่ก่อให้เกิดความทุกข์ต่อตนเองและต่อผู้อื่น
.
เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เราพยายามทำลายหรือหนีก็ไม่ช่วยทำให้เราดีขึ้น ท่านทรงสอนให้เราเรียนรู้และกลับมาขัดเกลาหัวใจตนเองให้ ผ่องใส ด้วยการทำสิ่งที่สุจริตตลอดเวลา คือรู้เท่าทันตลอดเวลา มีสติเสมอ
.
การกระทำที่สุจริตนี้ ไม่ได้หมายถึงการทำดี เท่านั้น ในทางพุทธศาสนาแล้ว การทำสิ่งที่สุจริต มีความหมายทั้งการกระทำทางกาย วาจา และใจ คือการคิด การพูด และพฤติกรรมทั้งหลาย ต้องเป็นไปในเชิงบวก เชิงสร้างสรรค์ และเชิงสร้างสุข ความทุกข์ใดใดในใจจึงผ่อนคลายเบาบางลง และเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก
.
เชิงบวก คือการมองเห็นโอกาส เห็นคุณค่า และเคารพ มิใช่ “โลกสวย” เหมือนที่เราเข้าใจกัน การมองเชิงบวกเวลาเกิดปัญหาขึ้นคือการมองให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสำคัญต่อเราอย่างไร ช่วยส่งเสริมเราอย่างไร เป็นต้น
.
เชิงสร้างสรรค์ คือการคิดย้ำในทางดี และคิดเพื่อต่อยอดไปสู่การกระทำและการปรับเปลี่ยนตนเอง เราสามารถทำสิ่งใดได้ในขณะนี้ สิ่งใดที่เราไม่สามารถทำได้หรือไม่อาจควบคุมได้ ก็มิควรไปคิดถึงสิ่งเหล่านั้น เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไร
.
เชิงสร้างสุข คือการรู้เท่าทันความรู้สึก นึก และคิดในจิตใจตนเอง แล้วกำกับดูแลให้เป็นไปในทางก่อความสุขและหลุดพ้นจากความทุกข์ตามลำดับ หากเราเคยคิดอย่างนี้แล้วก่อความทุกข์อย่างนั้น ก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด บอกกับตนเองใหม่
.
เราไม่จำเป็นต้องย้อนอดีตคลายปม หากเรากำกับหัวใจเราในปัจจุบันได้ เติมน้ำดีลงในหัวใจ ทุกข์และความหม่นเศร้าทั้งหลายย่อมคลายลงทุเลาลงไปเอง ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่วิเศษเพื่อมีความสุขกว่านี้ จิตใจเป็นผู้ลิขิตอยู่แล้ว เราเท่านั้นที่เลือกให้ชีวิตตนว่าจะสุขหรือทุกข์อย่างไร
.
ย้อนกลับมาที่หัวใจเรา คำตอบอยู่ในนั้น เช่นเดียวกับพ่อของเรา ปัญญาจากท่านอยู่ในหัวใจของลูกที่ระลึกตรึกตรองคำสอนจากท่านเสมอ
.
.
#คอลัมน์ #ไกด์โลกจิต
อนุรักษ์ ครูโอเล่
.
( ตอนแรก ) www.dhammaliterary.org/5ข้อคิดจากในหลวง1/
( ติดตามบทความ และ การอบรม #เขียนเปลี่ยนชีวิต ) www.dhammaliterary.org
.
* พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันที่ 1 สิงหาคม 2539
** พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตร แก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรีฯ โรงเรียนนายร้อยตำรวจฯ วันที่ 10 มีนาคม 2529
*** พระราชดำรัส ในโอกาสที่คณะชาวห้วยขวาง พญาไท เฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศล และต้นเทียนพรรษา ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ 5 กรกฎาคม 2521