6 อ. ที่แอบทำให้จิต…โง่ (ตอนจบ)
จิตฉลาด มีความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบาน เรียกว่า พุทธะ จิตนี้ไม่ใช่ตัวเราหรือของใคร แต่เป็นภาวะหนึ่งที่เกิดได้แก่ทุกผู้ทุกนาม
จิตเดิมแท้มีความเป็นพุทธะอยู่เช่นนั้นทุกๆ คน แต่เพราะความโง่ที่ครอบงำจิตใจด้วยกิเลสน้อยใหญ่ แปรเปลี่ยนให้กลายเป็นผู้ไม่รู้ หลับใหล และทุกข์ทน
เรารู้ตัวได้ไม่ยากว่าตอนนี้กำลังมีจิตแบบใด หากรู้สึกหนักหนา วุ่นวาย หรือยึดติดใน อ. อัตตา นั่นก็มีจิตโง่ แทนที่จะเบาสบาย สงบ และวางใจใน อ. อนัตตา คือมีจิตที่ฉลาด
บทความตอนจบของเนื้อหาชุดนี้ ขอบอกเล่าอีก 3 อ. ที่เป็นกิเลสทำให้จิตของเราหมองเศร้าและขลาดเขลา แต่ละข้อมีความเชื่อมโยงกันตามลำดับที่บทความหยิบยกขึ้นมา ขอให้ลองสังเกตดู
นอกจากนี้ขอให้อ่านเพื่อเรียนรู้ผลกระทบของแต่ละ อ. ต่อชีวิตของเราในปัจจุบันและอดีตที่ผ่านมา เพื่อขัดเกลาให้จิต เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบานอย่างแท้จริง
อ่านตอนแรกได้ที่เว็บไซต์
https://www.dhammaliterary.org/6อ-ที่แอบทำให้จิตโง่1/
.
.
อ.สี่ อคติ
เป็นคำที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี หมายถึงความลำเอียง ความไม่เป็นธรรม และความเป็นไปที่ไม่ถูกต้อง
เปรียบเหมือนส่องกล้องทางไกลหรือชมดาว หากเลนส์มีความผิดปกติ เรียกว่าเป็นไปไม่ถูกต้องของเลนส์ โค้งบิดเบี้ยวเกินไปหรือมีจุดตำหนิในนั้น ภาพที่คนเห็นก็จะไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง
ความลำเอียง คำก็บอกตรงๆ ว่ามีความเอียงของใจ ด้วยมีบางสิ่งที่ถ่วงไว้ให้เอียงไปข้างหนึ่งหรือฉุดรั้งจนต่ำตกลงมา
สิ่งที่ว่าพระไตรปิฎกได้สรุปไว้สี่ประการ *(1) ได้แก่
เอนเอียงเพราะความชอบ…น่ารักใคร่ พึงพอใจ พวกพ้องกัน น่าฝันใฝ่
เอนเอียงเพราะความชัง…น่ารังเกียจ ขุ่นข้อง มิต้องใจ คนละฝ่ายคนละพวก
เอนเอียงเพราะความกลัว…น่ากังวล ชวนวิตก หวั่นพรั่นพรึง คำนึงเกินควร
เอนเอียงเพราะความหลง…น่ามัวเมา ใจกลั้วเคล้า เขลาปัญญา ขาดสติ
ทั้งสี่นี้ถ่วงรั้งใจเมื่อใด เราก็มีอคติ มุมมองบิดเบี้ยว จิตก็โง่เขลาลงทันใด เพราะโดนยั่วยวนจากอารมณ์หรือกิเลสทั้งหลายทำให้ความคิดและการประพฤติผิดเพี้ยนจากธรรมะ หรือสิ่งที่ควรเป็น
มุมมองที่มีอคติทำให้เราเห็นความจริงผิดพลาด เพราะลำเอียงจนความเห็นเบี่ยงเบนไปจากความจริง เมื่อนั้นแล้วความคิด ความรู้สึก และการกระทำต่างๆ ก็เป็นไปอย่างโง่เขลา ด้วยเพราะไม่รู้เท่าทันการด่วนสรุปความจริงที่ผิดพลาดไปของจิตใจตนเอง
ความลำเอียงที่เรียกว่า อคติ นี้เองเป็นสิ่งสำคัญหนึ่งที่ทำให้จิตโง่ แต่มันเลวร้ายตรงที่ว่า เรามักจะรู้สึกว่าตัวเองถูกต้องแล้วในยามมีอคติ เพราะมันทำให้เราเกิดมิจฉาทิฐิ หรือความเห็นผิดจากความจริง
ผู้เขียนเคยกล่าวไว้ในบทความชื่อ 4 ธรรมะในการตัดสินตีความ ดังนี้
“อคติทั้งสี่แบบนี้ก็เกิดจากความโลภ ความโกรธ และความหลงในจิตใจเรา เมื่อมีอคติทั้งสี่นี้เราก็ไม่สามารถตัดสินตีความด้วยปัญญาที่มีได้ เพราะถูกอารมณ์และการปรุงแต่งของใจชักนำไป
.
ยกตัวอย่าง เมื่อเราต้องตัดสินใจหรือคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ชอบ หรือมีความพอใจหรือสิ่งที่เห็นดีเห็นงามเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเรื่องนั้นๆ ก็มีแนวโน้มว่าฉันทาคติ (ลำอียงเพราะความชอบ) จะชวนเราคิดในทางที่ดีเกี่ยวกับสิ่งดังกล่าว หรือคนนั้นๆ มากเกินไป จนลืมข้อบกพร่องหรือผลเสีย
ตรงกันข้ามกับโทสาคติ (ลำเอียงเพราะความชัง) ที่อาจทำให้เรามองแต่แง่ร้ายจนลืมคุณค่าและความดีงามของสิ่งดังกล่าว เพียงเพราะมีความไม่ชอบหรือความโกรธเข้ามาเกี่ยวข้อง”
ไม่เฉพาะเรื่องบุคคลเท่านั้น แต่ทั้งเรื่องการเมือง อุดมการณ์ ปรัชญา แนวทางการใช้ชีวิต การทำงาน ฯ เมื่อมีความชอบหรือความชังมาถ่วงรั้งใจแล้ว เราก็ย่อมเอนเอียงไปทางวิธีคิดใดวิธีคิดหนึ่งมากเกินพอดี จนไม่เห็นผลเสียของมุมมองที่ตนเองใช้มองโลก
นอกจากความชอบกับความชัง ยังมีอคติเพราะความกลัว ซึ่งเปรียบเสมือนผีพรายมากระซิบข้างหลัง คอยผลักดันบ้าง ฉุดรั้งบ้าง ทำให้มุมมองกับความรู้สึกของเราไม่สอดคล้องต่อความเป็นจริง อาจรู้สึกกังวลใจเกินกว่าเหตุ คิดไปเองต่างๆ นานาในทางร้าย หรือระแวงแคลงใจจนเกิดความเครียด
กลัวคนรักจะมีคนใหม่ กลัวตัวเองไม่ดีพอ กลัวไม่ประสบความสำเร็จ กลัวคนอื่นไม่ยอมรับ ฯ ความกลัวต่างๆ ที่จิตปรุงแต่งขึ้น ทำให้ใจไม่สงบ กระสับกระส่าย มันผลักดันให้เรากระทำต่อตนเองและสิ่งต่างๆ อย่างไม่พอดี ไปในทางสุดโต่งแบบใดแบบหนึ่ง จนกลายเป็นความกดดัน ความบีบคั้น และความไม่รู้สึกพึงพอใจ
กลัวความล้มเหลว เราก็อาจไม่กล้าเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ แม้มีเวทีหรือโอกาสดีๆ เข้ามาก็อาจปล่อยมันไปเพราะคิดว่าตัวเองไม่คู่ควร นี่ก็เพราะเรามีอคติกับตัวเอง
คนเรายังตกเป็นเครื่องมือของโฆษณาต่างๆ เพราะอคติด้วยความกลัวอย่างง่ายดาย เช่นกลัวติดโรค ต้องรีบคว้าโอกาสซื้อหน้ากากอนามัยคุณภาพไม่ดีหรือยารักษาโรคที่หลอกลวงสรรพคุณต่างๆ
หรือกลัวตนเองเสียโอกาส เมื่อเห็นโฆษณาลดราคาแบบจำกัดเวลาทางโทรทัศน์ก็รีบกดโทรศัพท์ทันใด โดยที่ไม่ได้พิจารณาความจำเป็น ความคุ้มค่า หรือคุณภาพของสินค้าอย่างถ้วนถี่
กลัวไม่มีใครรัก เราก็อาจรีบคว้าคนผิดๆ มาเป็นคู่ครอง ไม่ได้ถามใจตนเองถึงความต้องการแท้จริง ไม่ได้ศึกษาดูใจกันให้ดีพอ ย่อมเจ็บช้ำกับการตัดสินใจของตัวเองในภายหน้า
เรียกได้ว่า ความกลัวทำให้จิตโง่ลงจนโดนหลอกง่าย
ยังมีอคติอีกแบบหนึ่ง คือลำเอียงเพราะความหลง ซึ่งความหลงในที่นี้หมายถึง ความไม่รู้จริง ขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วยังหมายถึงความมัวเมาไม่ได้สติ
การขาดความรู้หรือความเข้าใจในเรื่องๆ หนึ่ง หรืออาจได้ข้อมูลแค่ด้านเดียวแล้วมัวเมาอย่างขาดสติกับมัน เราก็เกิดอคติแก่ใจได้ไม่ยาก เพราะขาดความเข้าใจที่รอบด้าน
ความมัวเมาเพราะหมกมุ่น เคลิบเคลิ้ม หรือขาดสติ ปัญญาก็พร่ามัว ความคิดความเห็นก็ย่อมผิดเพี้ยนไปโดยง่าย หรือสภาพร่างกายเป็นเหตุทำให้ไม่อาจมีสำนึกรู้ตัวได้เพียงพอ การตัดสินใจหรือความคิดอ่านต่างๆ ก็ย่อมผิดพลาดไปเป็นธรรมดา
ความไม่เข้าใจจริงเกี่ยวกับชีวิต หรือเรียกว่ามีอวิชชา ก็คือตัวการสำคัญที่ทำให้เกิด โมหาคติ (ลำเอียงเพราะความหลง)
เฉกเช่น เราหลงลืมไปว่าชีวิตเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่ได้คงที่แน่นอน มีความทุกข์เป็นธรรมดา และไม่ได้มีความเป็นตัวตนของตนอยู่เลย เราก็ถูกความหลงมัวเมาในมิจฉาทิฐิ ชักนำให้นึกคิดเอนเอียงตามกิเลสตัณหา อยากให้สิ่งนั้นเป็นแบบนี้ชนิดที่ฝืนธรรมชาติความเป็นจริงของโลก
เพราะการหลงลืมความเป็นจริง เกิดเป็นอคติ จิตจึงโง่เขลา
มีจิตที่ฉลาด สำคัญกว่ามีความคิดที่เก่งกาจ เพราะอุดมการณ์ ไอเดีย หรือความคิดเลิศเลอก็อาจเป็นเพียงผลิตผลของอคติเท่านั้นเอง
แม้คิดเก่งแค่ไหนก็ยังไม่พ้นไปจากความทุกข์ ซ้ำร้ายเจ้าความคิดที่เก่งกาจนี้เองที่อาจเป็นเหตุแห่งทุกข์โดยไม่รู้ตัว ถ้ายังคิดด้วยความชอบ ชัง กลัว หรือหลงอยู่ มันก็ล่อหลอกให้เราก่อทุกข์แก่ตนเองและคนอื่นอย่างแสนฉลาด
ความลำเอียง ยังหมายถึงความไม่เป็นกลาง อคติ จึงเกิดแก่ตนเพราะเราไม่ประคับประคองตัวให้อยู่บนทางสายกลาง ใจเราจึงไม่เป็นธรรม ตัดสินใจไม่ชอบธรรม การกระทำก็ไม่อยู่ในธรรม ขาดความเป็นกลาง แต่เอียงเอนโงนเงนไปกับกิเลสชักพา
ทั้งความชอบ ความชัง ความกลัว และความหลง ต่างทำให้จิตไม่เป็นกลางมากพอที่จะมีปัญญาอย่างถูกต้องเที่ยงธรรม
การอยู่บนทางสายกลางจึงเป็นสิ่งสำคัญของการทำให้จิตฉลาดอยู่เสมอ ความเป็นกลางในที่นี้คือมีอุเบกขา (วางเฉย) และเนกขัมมะ (หลีกเร้นจากกาม) ไม่เอาตัวเอาใจไปกลั้วกับอารมณ์อันเกิดจากการรับรู้ต่างๆ ที่ทำให้จิตโง่ลง
หากเราสังเกตจะเห็นว่า อคติอันเกิดจากชอบ ชัง กลัว หรือหลง ล้วนแล้วแต่เกิดจากการรับรู้ที่ขาดสติและถลำตามการปรุงแต่งไปเองทั้งสิ้น
เมื่อความเอนเอียงทำให้จิตโง่เขลา ดังนั้นเราก็ต้องอยู่ตรงกลางอย่างมั่นคง เสมือนยืนอยู่บนเชือกขึง ต้องมีสติเท่านั้น จึงประคับประคองตัวเองให้อยู่รอดไม่ลำเอียงจนตกต่ำ
คำว่า “คติ” แปลว่าแนวทาง หรือความเป็นไป ส่วนคำว่า “อคติ” ย่อมมีความหมายในทางตรงข้ามคือ แนวทางที่ไม่ควร หรือความเป็นไปที่ไม่ควร
อคติ ไม่ใช่เพียงเรื่องของความคิด แต่เป็นทั้งมุมมองกับการกระทำที่ไม่ควรปล่อยให้เป็นไปเช่นนั้น เพราะขาดความถูกต้อง เที่ยงธรรม และเป็นกลาง จึงเรียกว่า เอนเอียง ลำเอียง
มุมมองกระเท่เร่ การกระทำก็หกคะเมตาม ชีวิตก็ล้มคว่ำคะมำหงาย เพราะอคติทั้งสี่ ทำให้เกิดการทำกรรมที่ไม่ดี *(2)
ในพระไตรปิฎกจะใช้คำว่า กรรมอันลามก ซึ่งคำว่า ลามก ไม่ได้หมายถึงส่อเค้าในทางเพศ แต่หมายถึง ต่ำช้า เลวทราม หรือไม่ดีนั่นเอง
ความเห็นที่เอนเอียง ทำให้ก่อกรรมไม่ดีไม่งาม สุดท้ายก็พาชีวิตล่มจบ สถานะความเป็นอยู่ก็เสื่อมทราม ดังพระจันทร์ข้างแรมที่ครั้งหนึ่งเคยเต็มดวง *(3)
จิตโง่เขลา เพราะความเข้าใจไม่ซื่อตรงตามความจริง มีความเห็นผิดและใช้ชีวิตเอนเอียงตามความโลภ โกรธ และหลง พาให้ชีวิตดำเนินไปอย่างโง่เขลา
หากเราปรารถนามีจิตที่ฉลาด และใช้ชีวิตได้อย่างฉลาดเฉลียว เราต้องระวังไว้อยู่เสมอว่า…
…ความชอบทำให้จิตโง่ลง จมลงในบ่อตัณหา
ความชังทำให้จิตโง่ลง จมลงในเพลิงโทสา
ความกลัวทำให้จิตโง่ลง จมลงในโคลนมายา
ความหลงทำให้จิตโง่ลง จมลงในความมืดบอด
ไม่อยากโง่ ใจโงนเงน โดน(กิเลส)หลอกง่าย
อย่ายอมให้ อคติ มา ฉุดรั้งปัญญา พามืดมน
พึงตระหนักว่า… แม้ความชอบก็ไม่จีรัง ความชังก็ไม่ยั่งยืน แค่ฝืกฝืนความกลัว ไม่เกลือกกลั้วความหลง ชีวิตก็ไม่ต่ำลง จิตมั่นคงสว่างไสว
เพราะจิตฉลาด จะพาความคิด วาจา และการกระทำไปสู่ทางสว่าง จิตโง่พาตนกับคนอื่นไปสู่ความมืดมน
.
.
อ.ห้า อกุศลวิตก
เรามักจะได้ยินคำสอนหรือคำแนะนำบอกกล่าวในยุคนี้กันเยอะว่า อย่าคิดลบ อย่ามองโลกในแง่ร้าย ให้คิดบวกไว้ ให้มองโลกในแง่ดี ทุกสิ่งดีหมด เราอาจจะได้เรียนรู้จากคอร์ส โค้ช หรือหนังสือต่างๆ
กิเลส อ. ข้อนี้ ก็คือการคิดลบกับมองโลกในแง่ร้าย ซึ่งควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง แต่ลึกซึ้งมากกว่าที่สอนกันโดยทั่วไปตามหลักโค้ชหรือจิตวิทยา
“อกุศล” แปลว่า ไม่ดี ไม่เกิดประโยชน์ และเสื่อมเสีย ส่วนคำว่า “วิตก” แปลว่า ความนึกคิด
การคิดลบหรือมองโลกแง่ร้าย ตามหลักพระพุทธศาสนา มิใช่การคิดถึงข้อเสีย มองมุมลบ วิตกกังวล หรือการคำนึงถึงความไม่ดี แต่เป็นทุกการนึกคิดที่ทำให้เกิดความเบียดเบียนต่อตนเองกับผู้อื่น เป็นไปทำให้ปัญญามืดมน ส่งเสริมความไม่รู้จริงในชีวิตให้มีมากขึ้น และไม่ทำให้เกิดความหลุดพ้นจากทุกข์ *(4)
โดยสรุปการคิดลบที่แท้จริง คือการคิดที่ทำให้จิตโง่เขลาลง มองโลกในแง่ร้ายที่แท้จริง ก็คือการมองโลกอย่างที่ทำให้จิตเลวทรามลง ซึ่งแบ่งออกเป็นสามประการ ได้แก่
กามวิตก…คิดในทางตอบสนองความอยากใคร่ ความลุ่มหลง ความเพลิดเพลินพอใจทางรูป รส กลิ่นเสียง สัมผัส และอารมณ์
พยาบาทวิตก…คิดในทางตอบสนองความโกรธเกลียด ความเครียดขึง ขัดเคืองอาฆาตแค้น หรือผูกใจเจ็บ
วิหิงสาวิตก…คิดในทางตอบสนองความรุนแรง ความเบียดเบียน มุ่งทำลาย อยากเอาชนะ หรืออยากทำร้ายรังแก
การมองโลกสวย หรือการคิดในเชิงบวก หากเป็นไปเพื่อตอบสนองตัณหาคือความอยาก เพื่อความลุ่มหลงในความงาม ความสุข หรือน่าเพลิดเพลินพอใจ นั่นก็ยังเป็นการคิดลบในทางพระพุทธศาสนา เพราะทำให้จิตมัวเมาขาดปัญญาที่แท้จริง
การมองโลกแง่ร้าย หรือการคิดในเชิงลบ หากเป็นไปเพื่อพิจารณาให้รอบด้าน มุ่งทำความเข้าใจความเป็นจริง เพื่อความไม่ประมาทและความเหมาะสม คิดด้วยสติมิใช่ความชังหรืออยากเอาชนะ นั่นก็ไม่ใช่ความคิดลบในทางพระพุทธศาสนา เพราะทำให้จิตสว่างขึ้น
แม้ไม่มีความชอบ หรือความชังข้องเกี่ยว แต่คิดในเชิงทำลาย เพื่อการแข่งขัน กีดกัน ขจัดคู่แข่ง คิดให้ตัวเองสูงกว่า ดีกว่า เด่นกว่าผู้อื่น นั่นก็เป็นความคิดแบบวิหิงสา เป็นความคิดลบเช่นกัน
คิดในเชิงบั่นทอนตัวเอง มองตัวเองในทางร้ายเกินไป ไม่ให้กำลังใจตน คิดทำลายชีวิต ร่างกาย จิตใจตัวเองหรือคนอื่น นั่นก็เป็น วิหิงสาวิตก เป็นความคิดลบที่ไม่พึงมี
การคิดลบทำให้ชีวิตติดลบ ปัญญาก็ลดเลือน จึงเรียกว่าการคิดแบบสามประการนี้ทำให้จิตโง่ และเพราะด้วยจิตกำลังโง่ จึงเกิดอกุศลวิตกทั้งสามนี้ด้วย
พระพุทธยังได้ตรัสสอนว่า *(5)
“อกุศลวิตกเป็นอันมาก เกิดแต่ความเยื่อใยคือตัณหา เกิดขึ้นในตนแล้วแผ่ซ่านไปในวัตถุกามทั้งหลาย เหมือนย่านไทรเกิดแต่ลำต้นไทรแล้วแผ่ซ่านไปในป่า”
วัตถุกาม หมายถึง สิ่งที่รับรู้ทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ทางใจ เมื่อมีความอยากหรือตัณหาเกิดขึ้น มันก็แผ่ขยายครอบงำการรับรู้ต่างๆ ของเรา ทำให้ใจไปเกาะเกี่ยววัตถุ บุคคล หรือสิ่งทั้งหลายที่รับรู้ เหมือนเครือเถาของต้นไม้เลื้อยรกปกคลุมไปทั่วป่า พาให้ใจรกรุงรังและมืดมัว ซึ่งก็เปรียบเหมือนความคิดที่ยุ่งเหยิงและบอดปัญญานั่นเอง
การขจัดความคิดลบหรือทำให้อกุศลวิตกทั้งหลายดับสิ้นไป พระองค์ทรงแนะนำไว้อย่างน้อยสองประการ
อย่างหนึ่งคือการมีความพากเพียร เพราะความเพียรไม่ยอมแพ้ต่อความอยากอันยั่วยวนใจทั้งหลาย จึงทำให้ มิจฉาวิตก คือการคิดอันไม่สมควร สงบลงเหมือนฝนที่ชะล้างให้ฝุ่นที่ฟุ้งทั้งหลายสงบลงได้ *(4)
ฝน ที่ท่านทรงเปรียบเปรย ยังสามารถสื่อความเย็นใจอีกด้วย ถ้าเรามีเมตตากับกรุณา ความคิดแบบพยาบาทหรือวิหิงสาย่อมไม่เกิดขึ้น มีแต่ความรักความเห็นอกเห็นใจ โอกาสที่จะเกิดความคิดบวกย่อมมีมากกว่า สำหรับใจผู้ประกอบด้วยเมตตากรุณา
การขจัดความคิดลบ อย่างที่สอง คือการเจริญสติปัฏฐาน ฝึกจิตรู้กาย เวทนา จิต และธรรม จนมีสมาธิที่นิ่งแท้มากพอจะดับอกุศลวิตกได้
สมาธิชนิดที่ปราบ อกุศลวิตก ที่ท่านทรงกล่าวถึงนี้ คือ “อนิมิตตสมาธิ” *(6) เป็นสมาธิพิจารณาสิ่งที่เรียกว่า อนิจจลักษณะ หรือความเป็นอนัจจัง
อ. อนิจจัง คือความไม่เที่ยงแท้ มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป แปรเปลี่ยนสภาพไปเรื่อยๆ ไม่คงอยู่ เป็นแค่ของชั่วคราว
เพื่อขจัดความคิดอันมืดมัว เพื่อให้ชีวิตและจิตใจสว่างไสว พึงเฝ้าดูไว้ว่า…
ไม่มีอะไรที่น่าลุ่มหลงพึงพอใจจะคงอยู่เช่นนั้นได้ตลอดไป
ไม่มีอะไรที่น่าโกรธเกลียดจะคงอยู่เช่นนั้นได้ตลอดไป
ไม่มีอะไรที่น่าเอาชนะจะคงอยู่เช่นนั้นได้ตลอดไป
เป็นแค่อนิจจัง ตัวเราก็อนิจจา ไม่เที่ยงแท้
เมื่อจิตเป็นสมาธิมากพอที่จะหยั่งเห็นความไม่ยั่งยืนในชีวิตแล้ว ความอยากกับความหมายมั่น ซึ่งจะทำให้เกิดความคิดลบทั้งหลายก็จะน้อยลงจนดับไปเอง
เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ววางใจเป็นกลาง ไม่มัวยุ่งพัวพันกับความไม่จีรังยั่งยืนทั้งหลาย ความคิดบวกจึงเกิดขึ้น เหมือนขจัดเครือเถาอันรกเลื้อยออก ป่าก็สว่างขึ้น
คิดบวกที่จริงแท้ ต้องเป็น “กุศลวิตก” คือคิดในทางตรงกันข้ามกับอกุศล ดังนี้ *(7)
เนกขัมมวิตก… คิดในทางเสียสละความเห็นแก่ได้ สงัดสงบจากความอยากใคร่ สลัดสะบัดจากความเพลิดเพลินพอใจทั้งหลาย
อพยาบาทวิตก… คิดในทางเมตตา การให้อภัย ด้วยความรักและความเปิดใจ ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามความชังหรือความขุ่นเคือง
อวิหิงสาวิตก… คิดในทางกรุณา เห็นอกเห็นใจ ปรารถนาดีต่อกัน อดทนอดกลั้น ไม่บั่นทอนเบียดเบียนหรือมุ่งเอาชนะ
ความคิดเชิงบวกเหล่านี้ พาให้จิตใจสงบ เกิดเป็นปัญญา เป็นจิตฉลาด เพราะการคิดทั้งสามนี้ไม่ส่งเสริมยุยงให้เกิดกิเลสใหม่ๆ อันจะทำให้ใจมืดมนขลาดเขลา
เราทุกคนสามารถคิดในทางที่ดีได้ ทุกคนมีจิตที่ฉลาดแอบซ่อนอยู่แล้ว เพียงมีสติ สมาธิ และการวางใจที่เป็นกลาง ความคิดลบร้ายกับมุมมองอันบิดเบี้ยวจะไม่เกิดขึ้นมารบกวนปัญญาในตน เราก็สามารถใช้ชีวิตด้วยความหวังและกำลังใจอยู่เสมอ โดยไม่ต้องเป็นคนโลกสวยเลย
.
.
อ.หก อบายมุข
ข้อสุดท้ายนี้เป็นผลพวงจากความโง่ที่เกิดขึ้น ใน อ. ทั้งห้าที่ผ่านมา และยิ่งเสริมเติมความโง่ให้ครอบงำจิตมากเป็นทวีคูณ
อบายมุข คือช่องทางแห่งความเสื่อม เหตุแห่งความหายนะ ไม่เพียงต่อทรัพย์สินต่างๆ หากแต่ยังเสื่อมจนหายนะถึงปัญญา และบ้างก็สูญเสียถึงชีวิต
อ. สุดท้ายนี้ เหมือนเป็นเรื่องเข้าใจง่าย เป็นสิ่งใกล้ตัว แต่ก็พลาดกันได้อย่างง่ายดาย เพราะมันใกล้ตัวด้วยเช่นกัน
จากข้อที่ผ่านๆ มา มักเป็นเรื่องทางใจ กับความนึกคิด แต่ข้อสุดท้ายนี้เป็นเรื่องของพฤติกรรม ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากจิตโง่ ที่ทำให้ตนโง่ลงกว่าเดิม
ซ้ำร้าย มันนำไปสู่อีก อ. หนึ่งที่เรียกว่า อบาย หรือ อบายภูมิ
เริ่มจาก อบายมุข ก่อน หากแบ่งเป็นหกประการ *(8) ตามสมัยพุทธกาล (ซึ่งสมัยนี้อาจจะมีมากกว่านัก) จะได้ดังนี้
เสื่อมเพราะการเสพติดสิ่งมึนเมา… มิว่า สุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด หรือแม้แต่ สิ่งที่ไม่มึนเมาแต่มัวเมาในการเสพ เช่น สมุนไพร ยาขนานต่างๆ การกินการดื่มอย่างขาดสติจนเกินความสมควร
เสื่อมเพราะการเที่ยวเตร่และไปแหล่งอโคจร… ทั้งการเที่ยวกลางคืน การไปในที่ๆ มีความมึนเมาขาดสติ การเดินเตร่ในตรอกซอกซอยเปลี่ยวหรือใกล้แหล่งมั่วสุม หรือการเดินทางที่ไม่รักษาตัวให้ดี
เสื่อมเพราะการลุ่มหลงสื่อบันเทิงและกิจกรรมนันทนาการ… การติดละคร ภาพยนตร์ เกม สื่อลามก หรือติดเสพสื่อต่างๆ อย่างหมกมุ่น รวมทั้งกิจกรรมนันทนาการที่เน้นความสนุกเพลิดเพลินจนลืมตัว
เสื่อมเพราะการพนันเสี่ยงโชค… การพนันทั้งหลายทั้งปวง หวยบนดินใต้ดิน การเสี่ยงโชครูปแบบต่างๆ และรวมถึงการลงทุนเล่นแชร์ที่หวังได้ผลตอบแทนที่มากเกินความเป็นจริง
เสื่อมเพราะคบคนพาล… มีเพื่อน แฟน สมาคมหรือเข้ากลุ่มก๊วนที่ไม่จรุงปัญญา เป็นนักเลง นักสุรา นักหลอกลวง นักโอ้อวด นักในทางชั่วช้านานา ที่ลากพาให้เราทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งามและโง่เขลาลง
เสื่อมเพราะความเกียจคร้าน… ไม่ขวนขวายทำงาน ไม่พากเพียรศึกษา ไม่หมั่นขัดเกลาตัว ไม่มุ่งมั่นตั้งใจทำสิ่งที่ดี ชีวิตก็มีแต่จะยากเข็ญลง ปัญญา ความรู้ หรือความสามารถที่มีก็พลอยแต่จะเสื่อมทรามลงไป
อบายมุขหลายอย่าง เช่น สิ่งเสพติด แหล่งอโคจร สิ่งบันเทิง ความเกียจคร้าน ล้วนแล้วแต่ส่งเสริมให้เกิด โมหะ หรือความลุ่มหลงมัวเมาและขาดสติให้มีแก่ใจมากขึ้น ความสามารถในการคิดพิจารณาความเป็นจริงในชีวิตก็จะพลอยพร่ามัว ส่งผลทำให้เป็นคนคิดไม่ชัดเจน ขาดวิจารณญาณ
ขณะที่การพนันเสี่ยงโชค กับ การคบคนเลวทรามก็ส่งเสริมให้เกิด โลภะ คือความละโมบ และโทสะ คือความโกรธเกลียด ต่างก็บั่นทอนปัญญาที่มีทำให้ขาดการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ และทำให้คิดไปในทางมุ่งร้าย เกิดพยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตก ทำให้เป็นคนเครียดง่าย
จุดร่วมอย่างหนึ่งของอบายมุขทั้งหกประการ คือความประมาทในการใช้ชีวิต ยิ่งประมาทยิ่งเข้าหาอบายมุข ยิ่งคลุกคลีกับมันเราก็ยิ่งประมาทมากกว่าเดิม ชีวิตก็จะพาเสื่อมเสียเพราะความไม่ระมัดระวัง
สิ่งใดๆ ก็ตาม บุคคล หรือสถานที่ใด ซึ่งส่งเสริมให้เกิดโลภ โกรธ หลงมากยิ่งขึ้น เป็นเหตุทำให้เกิดจิตโง่ แล้วส่งผลทำให้เสียทรัพย์ เสียการงาน เสียครอบครัว หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต นั่นก็คือ อบายมุข ช่องทางแห่งความเสื่อมที่พึงหลีกเลี่ยง
อบายมุข เป็นเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ “อบาย” หรือ “อบายภูมิ” คือภาวะ พื้นเพ และระดับของจิตที่ย่ำแย่เสื่อมทราม
โดยทั่วไปแล้ว คนทั่วไปจะเข้าใจกันว่า เมื่อทำเลวตอนมีชีวิต ตายไปก็จะเกิดในอบายภูมิ เช่นตกนรก เป็นต้น สอนกันให้กลัวเกิดในอบายภูมิเมื่อตายลง เพื่อใช้ชีวิตด้วยการทำดีเป็นที่ตั้ง
แต่ความจริงแล้ว คนเราไม่จำเป็นต้องตายก่อนเพื่อเกิดในอบายภูมิ หากแค่ติดกับดักของกิเลส จากจิตที่เป็นมนุษย์ก็กลายเป็นสัตว์ได้ทันที จากที่อยู่บนดินหรือสุขสบายดังแดนสวรรค์ก็ตกลงสู่อบายได้ทันใด
อบาย หรือระดับภาวะจิตอันย่ำแย่นี้แบ่งออกเป็นสี่แบบคือ *(9)
จิตเป็นนรก… รุ่มร้อนใจ กระวนกระวาย ทุกข์ตรม ไม่พบความสงบ
จิตเป็นเดรัจฉาน… มัวเมาในความโง่งมงาย เขลาเบาปัญญา
จิตเป็นเปรต… หิวกระหายไม่สิ้นสุด ทะยานอยากไม่รู้อิ่ม
จิตเป็นอสุรกาย… ขลาดกลัว เศร้าหมอง วิตกระแวงแคลงใจ
เราไม่ต้องตายก่อนเพื่อเป็นสิ่งเหล่านี้ แค่เพียงถูกครอบงำด้วยความโลภ โกรธ หรือหลงในชั่วขณะ เราก็ตกลงสู่อบายแล้ว มีภาวะจิตที่ระดับลดลง ต่ำทรามกว่าความเป็นมนุษย์ในตอนนั้นแล้ว
ขอให้ลองนึกถึงจิตของผู้ที่เสพติดสิ่งมึนเมา หรือสิ่งบันเทิงเริงรมย์ต่างๆ จนเคยตัว จิตของเขาเป็นอย่างไร การกระทำยังมีความเป็นมนุษย์หรือไม่ เมื่อถูกสิ่งเหล่านั้นครอบงำ
คนที่ชอบเที่ยวเตร่ไม่รักษาตัว มักเล่นพนัน คบคนที่มักทำสิ่งเลวทราม หรือชอบเกียจคร้านไม่ขวนขวาย สุดท้ายแล้วจิตของเขาเป็นอย่างไร
บ้างก็ต้องเศร้าหมอง บ้างก็ทุกข์ร้อนไร้ความสุข บ้างก็ไม่อาจพอใจสิ่งที่มีอยู่ บ้างก็เป็นโรคทางจิตต่างๆ เพราะการไม่รักษาตัวให้ปลอดภัยจากสิ่งที่พาเสื่อมทราม
ไม่มีจิตฉลาดใดที่อยากเป็นนรก เดรัจฉาน เปรต หรืออสุรกาย ยกเว้นจิตโง่แล้วคิดว่าฉลาดเท่านั้น เราจึงไม่ควรเข้าหาอบายมุข และ อ. อื่น ทั้งหลายที่ทำให้จิตโง่ลง
ความรู้จักประมาณตน เป็นหนทางสำคัญในการหลีกเลี่ยงการตกลงสู่อบาย *(10) หรือเรียกว่าเป็นแนวทางที่ช่วยให้จิตไม่ตกอยู่ในสภาวะที่ย่ำแย่
ผู้ตกลงสู่อบายเพราะความไม่รู้จักประมาณตน เหมือนลูกนกแขกเต้าในนิทานชาดกที่กินผลไม้มากเกินความพอดี จนเกิดความมึนเมาบินไม่ได้ทิศทาง และขาดการประมาณตนว่ากำลังวังชาเหมาะสมหรือไม่ในการการบินข้ามทะเลตอนนั้น สุดท้ายก็ตกลงสู่ท้องน้ำถึงแก่ความตาย
ความรู้จักประมาณก็คือความพอเพียง การอยู่บนทางสายกลาง และรู้จักความพอสมควรในการกระทำต่างๆ สามารถพิจารณาได้ว่าอะไรเหมาะสมกับตัวเองหรือไม่ ควรระมัดระวังอย่างไร และไม่ถลำทำสิ่งที่มากเกินควร
จึงเรียกได้ว่าการอยู่บนทางสายกลาง ยึดถือความพอดีหรือการรู้จักประมาณตน คือผู้มีจิตที่ฉลาด
สุดท้ายนี้ การจะใช้ชีวิตที่หลีกเลี่ยงจาก อบายมุข ทั้งปวง เป็นส่วนหนึ่งของธรรมะที่เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือเรียกชื่อเต็มยาวๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม แปลว่า ความเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขเบื้องต้นของชีวิต
ประกอบด้วยสี่ประการ คือ *(11)
เป็นผู้เต็มเปี่ยมด้วยความขยันหมั่นเพียร… ในการทำงาน หล่อเลี้ยงชีพ และประกอบกิจกรรมใดๆ ด้วยความตั้งใจ
เป็นผู้เต็มเปี่ยมด้วยการดูแลรักษา… ทรัพย์สิน ครอบครัว ความสัมพันธ์ ผลงาน และปัจจัยเลี้ยงชีพ ให้มีสภาพที่ดี คงอยู่อย่างเพียงพอ เหมาะแก่การใช้ชีวิต
เป็นผู้รู้จักการคบคนที่เกื้อกูล… สามารถเข้าหา สนทนา รับฟังและเรียนรู้จากผู้เป็นตัวอย่างที่ดีในด้านต่างๆ รู้จักเลือกคบคนที่เป็นกัลยาณมิตร มิใช่คนพาล
เป็นผู้รู้จักใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม… ดูแลรายรับรายจ่ายให้อยู่บนความพอดี รู้จักอดออม ไม่ฟุ่มเฟือย หลีกเลี่ยงการทำให้สูญเสียทรัพย์สินโดยใช่เหตุอันควร
จิตฉลาด จะพาเราใช้ชีวิตให้เกิดกุศล หลีกเลี่ยงจากความเสื่อมเสียทั้งหลาย ไม่ตกหลุมพลางกิเลสนานา เพื่อไม่ให้ตนตกลงสู่อบาย หรือภาวะจิตอันย่ำแย่
จิตฉลาด จักรู้รักษาตัว ตามคำพังเพยไทยที่ว่า “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”
รักษาตัวรอด ในที่นี้ ไม่ใช่ใช้ อ. อุบายเหลี่ยมเล่ห์เอาตัวรอด แต่หมายถึงรักษาตัวพ้นจาก อบาย และ อบายมุข ทั้งหลาย ให้รอดปลอดภัย
เราทุกคน สามารถ อ. อบรม จิตให้เกิดปัญญา เพื่อเป็นจิตที่ฉลาดมากขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ แต่ต้องรู้เอาตัวรอดจาก อ. อันฉุดรั้งทั้งหลาย ทั้งที่กล่าวในบทความทั้งสองตอนแล้ว กับที่ยังไม่ได้กล่าวถึง
ความผิดพลาด ความประมาทเลินเล่อ จนทำให้จิตโง่เขลาลงเพราะอบายมุขหรือเหตุแห่งความเสื่อมทรามทั้งหลาย เป็นเรื่องธรรมดาที่คนทั่วไปจะเผชิญ แต่เราเริ่มต้นใหม่ได้ หากรู้ตัว รู้ผิด รู้แก้ไข ยังมีโอกาสที่จะผันตัวกลับมาใช้ชีวิตอย่างฉลาด บนทางสว่างไปหาแสงสว่าง
โง่ไปแล้ว โง่ไปลับ อย่ากลับไปโง่อีก อย่าเลือกทำสิ่งที่โง่กว่า จงฉลาดหลังจากเคยโง่ เมื่อตะวันและจันทราเคยมัวหมองแล้วกลับมาเจิดจ้าได้ คนทุกคนก็ทำได้เช่นกัน
เราอาจถูกกิเลสต่างๆ ครอบงำจนจิตตกลงสู่ อบาย มีภาวะระดับใจที่ย่ำแย่เลวร้าย แต่เราก็ปีนขึ้นมาใหม่ได้ หรือบินขึ้นมาได้ทุกเมื่อ หากมีสติ ใช้ปัญญา และไม่ยอมแพ้ความโลภ โกรธ หลง ที่ราวีรบกวน
ต่อให้แม้แสงสว่างข้างบนจะริบหรี่แค่ใด เราก็ยังมีโอกาสหลุดพ้นจากภาวะใจที่เลวร้าย หากยังให้โอกาสตัวเอง ไม่ถอดใจจากตัวเอง เราจะรู้ในที่สุดว่าจิตเดิมแท้นั้นทั้งฉลาดและเข้มแข็งปานใด
เราไม่ใช่จิต และเราก็ไม่ใช่จิตฉลาด แต่เราคือผู้เลือกว่าจะมีจิตเป็นอย่างไร
ความเพียร คือธรรมะข้อสำคัญที่สุดหนึ่งในพระพุทธศาสนา เพราะพระองค์ตรัสถึงบ่อยมากที่สุด ความเพียรนอกจากหมายถึง ความมุ่งมั่นพยายาม ยังแปลได้อีกว่า ไม่ยอมแพ้
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 64
> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/
> > > ติดตามหลักสูตรอบรม และหนังสือออนไลน์
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/
อ้างอิง
(1) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค [๒๔๖]
(2) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค [๑๗๖]
(3) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต อคติสูตรที่ ๓ [๑๙]
(4) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต ๘. อันธการสูตร [๒๖๖]
(5) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สูจิโลมสูตรที่ ๓ [๘๑๐]
(6) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑๖๘]
(7) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ๓. วิตักกสูตร [๓๘๐]
(8) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค [๑๗๘]
(9) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) [๑๙๘]
(10) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑ ๕. สุกชาดก โทษของการไม่รู้ประมาณ [๓๖๔]
(11) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต ทีฆชาณุสูตร [๑๔๔]