มิว่าการเมืองภายนอกหรือภายในจิตใจ ต่างอยู่ในความเป็น “อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา” หมายถึง ไม่แน่นอน มีเสื่อมไป และไม่ใช่ตัวตน มีการเปลี่ยนแปลงสภาพไปตามปัจจัยมากมาย เหมือนธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายทั่วไป ใจคนเราไม่แน่นอน การเมืองก็ไม่เคยแน่นอน
.
ความเป็นธรรมชาตินั้น จากร้อนไปหนาว หนาวแล้วร้อน อ่อนไปแข็ง แข็งแล้วอ่อน มีสองขั้วของสิ่งต่างๆ สลับหมุนเวียนไปมาเป็นวัฏจักร เรียกขั้วที่มีสภาพแบบอ่อนว่า “หยิน” เรียกขั้วที่มีสภาพแบบแข็งว่า “หยาง” ตามหลักปรัชญาเต๋า
.
การเมืองก็ดี มีสองขั้วที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมีบทบาท อาจเรียกขั้วหนึ่งว่าประชาธิปไตย อีกขั้วคือเผด็จการ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ขั้วใดเหวี่ยงสุดโต่งไปทางหนึ่งแล้วก็ย่อมแกว่งกลับมาอีกขั้วหนึ่ง เมื่อสังคมสุดโต่งไปทางประชาธิปไตย จนขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย เน้นประชานิยมจนขาดวินัยการปกครอง กฎหมายย่อหย่อน เพราะสังคมมีความอ่อน หรือ “หยิน” มากเกินไป ถึงวันหนึ่งการเมืองย่อมถูกเหวี่ยงไปอีกขั้วที่แข็งกว่า เรียกว่าเป็น “หยาง” มากกว่า มิว่าด้วยการรัฐประหาร การชุมนุม หรือกลไกต่างๆ แปรสภาพการปกครองเป็นความเข้มงวดและเผด็จการมากขึ้น จนกว่าจะถูกเหวี่ยงไปเป็นอีกขั้วอีกครั้ง สลับกันเช่นนี้หยินหยางในทางการเมือง
.
ในจิตใจก็มีสองขั้วนี้อยู่ด้วย บางทีเราใจอ่อนเกินไป บางครั้งก็ใจแข็งเกินไป รับฟังคนอื่นมากบางเวลา บางคราวเราก็ยึดความเห็นตนเองเป็นหลัก บางวันเราก็ฟังเสียงหลายด้านภายในเพื่อ “ชั่งใจ” บางหนเราก็ “ช่างมัน” แล้วมุ่งหน้าทำโดยไม่ฟังเสียงกังวล จิตเรามีภาวะเป็นนักการเมืองทั้งสองขั้วนี้อยู่ ทั้งการกระทำต่อตนเองและต่อผู้อื่น
.
ยิ่งเรายึดถือตัวตนของตัวเองไว้เพียงใด เราก็เป็นเผด็จการต่อร่างกาย หัวใจ และผู้อื่นมากเท่านั้น ยิ่งเรารับฟังและเผื่อแผ่ใจแก่ทุกๆ ด้านของตนเองและคนอื่นเพียงใด ใจเราก็เป็นสังคมประชาธิปไตยมากเท่านั้น แต่หากเรารับฟังแต่ผู้อื่นโดยมิได้มีจุดยืนของตนเลย เราก็เป็นไม้ที่ปักเลนพร้อมเอนง่อนแง่น หากไม่ใช้ความเด็ดขาดเพื่อตัดสินใจในเวลาสำคัญ เราก็ไร้ภาวะผู้นำ
.
เผด็จการ คือความเป็นหยาง หรือความแข็งในธรรมชาติ เผด็จการ มีความหมายถึงการกระทำที่เด็ดขาด และการใช้อำนาจเด็ดขาดแต่ผู้เดียว สิ่งนี้หากมากเกินไปมิในตัวเราเองหรือในสังคมภายนอก ย่อมเป็นโทษมหันต์อย่างที่เข้าใจได้ทั่วไป ทว่าหากมีแต่หยินในหัวใจเราแล้ว หรือหากการกระทำ และการปกครองใจตนปราศจากหยาง ชีวิตจะเป็นอย่างไร
.
หากเราเป็นเผด็จการต่อตนเองมาก เราอาจเฝ้าคาดหวัง บีบคั้น หรือทำร้ายตนเองครั้งแล้วครั้งเล่า ยึดในความมุมานะเกินพอดี นี่เรียกว่าหยินพร่อง คือมีหยางแต่ขาดหยิน หากเราตามใจแก่ตน เป็นประชาธิปไตยที่สุดโต่ง ไม่ยอมชี้ถูกผิดที่ชัดเจน กระทำไปตามความอยากจนเกิดทุกข์ ขาดการฝึกขัดเกลาตนเองเพราะปล่อยปละละเลย นี่เป็นภาวะหยางพร่อง คือมีหยินแต่ขาดหยาง
.
มิว่าเราเอนไปทางด้านใดมาก เมื่อปล่อยไว้นานความทุกข์ก็จะบีบให้ตัวตนอื่นๆ ในจิตที่อยู่ฝ่ายค้านหรือคนละขั้วกับตัวตนปกติ ออกมาประท้วงและยึดอำนาจ กายใจเราก็เหวี่ยงไปอีกฝั่ง จากหยางมาก ขยันเกินไป กลายเป็นเกียจคร้าน จากหยินมาก สบายๆ กลายเป็นหมกมุ่น หากโชคดี เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วมีปัจจัยส่งเสริมก็อาจเหวี่ยงมาพอดี ชั่วครั้งชั่วคราว
.
สังคมภายในจึงไม่อาจมีความสงบสุขได้ เพราะการเหวี่ยงไปครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยการขาดสติ ไม่รู้เท่าทัน และไม่ได้เกิดจากปัญญา การสลับขั้วทางการเมืองในหัวใจจึงย่อมเป็นทุกข์ไม่มากก็น้อย มิว่าในจิตเราขณะนั้นจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการมากกว่ากันก็ตาม หากมีสติเราจะเลือกปรับสองขั้วนี้ให้พอดีแก่กาล แก่งาน แก่ตน และสิ่งทั้งหลาย
.
.
บุคคลที่จะดูแลสมดุลระหว่างสองขั้วอำนาจของการเมืองจิตใจ ได้อย่างถ่องแท้ต้องฝึกตนเป็น “สัตบุรุษ” พุทธศาสนากล่าวว่า คนแบบสัตบุรุษนี้ มีลักษณะ ๗ ประการ ได้แก่ เป็นผู้รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักหมู่คน และเป็นผู้รู้จักบุคคล ทั้ง ๗ รู้จึงทำให้เราพอดีระหว่างสองขั้ว หยิน-หยาง ประชาธิปไตยและเผด็จการ ต่อการดูแลตนเองและผู้อื่น
.
ด้วยการเป็นสัตบุรุษ จึงสามารถให้ทานอย่างแท้จริง หรือช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างแท้จริงอีกด้วย โดยมีลักษณะเป็นการให้ทานอย่างสัตบุรุษ มีดังนี้
.
“ย่อมให้ทานโดยเคารพ ทำความอ่อนน้อมให้ทาน ให้ทานอย่างบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความเห็นว่ามีผล จึงให้ทาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษ ฯ” *
.
นักการเมืองที่แท้จริงในสังคมควรมีลักษณะเช่นนี้ การเป็นนักการเมืองต่อโลกแห่งจิตตนเอง ก็ควรมีลักษณะเช่นนี้ ให้ทานตนเองเช่นนี้ ผ่านการใช้ชีวิต การประพฤติทางกาย วาจา และใจ จึงจะเป็นการปกครองกายจิตตนเองที่เป็นสุขแท้จริง
.
อำนาจในการปกครอง แบ่งในทางพุทธศาสนาได้ ๓ ประการ ได้แก่ อัตตาธิปไตย ยึดตนเป็นใหญ่ โลกาธิปไตย ยึดโลกและผู้คนเป็นใหญ่ และธรรมาธิปไตย ยึดธรรมะเป็นใหญ่ ซึ่งการใช้อำนาจฝึกตนเองก็แบ่งเป็น ๓ ประการเช่นเดียวกัน โดยที่พระพุทธเจ้านั้นมิได้ทรงตำหนิอัตตาธิปไตย หากแต่ทรงตรัสว่าเป็นทางเลือกหนึ่ง ดังข้อความต่อไปนี้
.
“เธอย่อมสำเหนียกว่า ก็ความเพียรที่ปรารภแล้ว จักไม่ย่อหย่อน สติที่เข้าไปตั้งมั่นแล้วจะไม่หลงลืม กายที่สงบระงับแล้วจักไม่ระส่ำระสาย จิตที่เป็นสมาธิแล้วจักมีอารมณ์แน่วแน่ ดังนี้ เธอทำตนเองแลให้เป็นใหญ่ แล้วละอกุศล เจริญกุศล ละกรรมที่มีโทษ เจริญกรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าอัตตาธิปไตย ฯ” **
.
กล่าวง่ายๆ ว่า ให้นำจิตกลับมาใส่ใจที่ตนเอง เห็นว่าตนเองควรแก่การพัฒนามากเพียงใด แล้วใส่ใจที่ตนเองเป็นหลัก นี่คือเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ในการฝึกตัวเอง แน่วแน่จริงจังอย่างเผด็จการในการขัดเกลาตน มิย่อหย่อน และมิหวั่นไหวไปกับเสียงจากผู้อื่นและสิ่งนอกตัว
.
ในพระไตรปิฎก พุทธศาสนามิได้ชี้ว่าอำนาจ ๓ แบบนี้ข้อใดดีที่สุด บางครั้งเราต้องทำตนเป็นที่ตั้ง บางครั้งต้องใส่ใจมุมมองและความรู้สึกของคนในโลก และบางคราวก็ต้องยอมขัดใจตนและคนอื่นเพื่อความจริง หรือธรรม
.
บางหนพระพุทธเจ้าต้องแสดงอิทธิฤทธิ์เหนือข้อพระธรรมวินัย ซึ่งกำหนดห้ามมิให้ทำ เพื่อกำราบจิตของผู้มาที่ครอบงำด้วยทิฐิมานะ ในการตัดสินใจบางเรื่องระหว่างหมู่สงฆ์ ท่านก็มิได้บังคับ ปล่อยภิกษุตัดสินใจร่วมกันเอง บางครั้งท่านก็กำหนดขึ้นเองโดยมิได้ระดมความเห็น เราจักรู้ว่าเมื่อใดควรใช้อำนาจแบบใด เราต้องฝึกความเป็นสัตบุรุษในตนเอง เพื่อรู้ปัจจัยต่างๆ อย่างมีสติแล้วจึงเลือกใช้อำนาจได้อย่างเหมาะสม
.
หนทางสู่การสร้างสันติสุขในสังคมภายนอก และโลกภายในตัวเราเอง อยู่ในทางเดียวกันกับหนทางสู่การดับทุกข์ในพุทธศาสนา นั่นคือ “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือเรียกว่า “ทางสายกลาง” ซึ่งตอนหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า
.
“การประกอบความพัวพันกามสุขในกามทั้งหลาย อันเป็นของเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ การประกอบการทำตนให้ลำบาก เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย มัชฌิมาปฏิปทาอันไม่เกี่ยวข้องส่วนสุดทั้ง ๒ ประการนี้” ***
.
สุดโต่งไปในทางตามใจกิเลส ก็ไม่ใช่ทางที่เจริญ สุดโต่งไปในทางเบียดเบียนตนที่ไร้ประโยชน์ ก็ไม่ใช่ทางที่เจริญ หากสังคมในใจเราสุดโต่งไปทางประชาธิปไตย แล้ว เราก็จะสนองความอยากของตัวตนทั้งหลายในตัวเรา ใช้ชีวิตอย่างขาดวินัยและการอดทน นี่ก็จะเป็นทางแห่งความเสื่อม หากเราสังคมในใจเราสุดโต่งไปทางเผด็จการ ไม่รักตัวเอง เบียดเบียน กดดัน อยู่แต่ในกรอบ และละเลยการดูแลตนเองอย่างอ่อนโยน นี่ก็เป็นทางแห่งความเสื่อมเช่นกัน
.
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย มัชฌิมาปฏิปทานี้นั้นแล ตถาคตตรัสรู้แล้ว ทำจักษุ ทำญาณ ย่อมเป็นไป เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯ” ***
.
ด้วยหนทางแห่งความพอดีเช่นนี้ จึงทำให้เกิดสันติสุขแห่งสังคมภายใน เพื่อการดับความทุกข์ในโลกแห่งจิตตนเอง เมื่อโลกภายในของเราแต่ละคนสงบสุขมากขึ้นแล้ว ลดการสุดโต่งทั้งหลายลงแล้ว สังคมภายนอกก็จะสงบสุขมากขึ้นและสมดุลขึ้นตามลำดับเช่นกัน
.
เราทุกคนมีส่วนร่วมช่วยให้สังคมดีขึ้นได้ ด้วยการกลับมาพัฒนาการเมืองในจิตใจของตนเอง ฝึกตนบนหนทางที่ไม่ย่อหย่อนและไม่เบียดเบียน ตระหนักรู้ในตัวตนต่างๆ ภายในจิตที่ยื้อแย่งแข่งกันมีอำนาจ รับฟังทุกเสียงภายในจิตใจอย่างเห็นคุณค่า เลือกด้วยสติปัญญา ผลัดการใช้อำนาจทั้งสามแบบอย่างเหมาะสม
.
การเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่เริ่มต้นในจิตของเราอีกด้วย เสียงของทุกคนในสังคมมีคุณค่ามากกว่าหนึ่งเสียงในคูหาเลือกตั้ง ทุกการกระทำด้วยกาย วาจา และใจ นั่นคือคูหาที่จิตเราเข้าไปร่วมกำหนดอนาคตของสังคมโลกใบนี้แล้ว
???? อ่านฉบับเต็มได้ที่
“๙ แง่คิดประชาธิปไตยในกายจิต (ตอนสอง)”
คอลัมน์ #ไกด์โลกจิต ตอนที่ ๔๑
.
www.dhammaliterary.org/ประชาธิปไตยในกายจิต2/
.
.
???? สนับสนุนโครงการ ผ่านหลักสูตรต่างๆ ของเรา
.
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/