สิ่งที่ควรสังเกตตน เมื่อเขียนภาวนา

 

๑ เผชิญหน้าและเอาชนะ นิวรณ์

สำหรับ “เขียนภาวนา” ขอให้สังเกต “นิวรณ์” หรือเครื่องขวางกั้นปัญญาและศักยภาพของจิต ว่ามีในก่อน ระหว่าง และหลังบันทึกมากน้อยอย่างไร โดย นิวรณ์ แบ่งออกเป็นดังนี้

  1. ความอยากและความเพลิดเพลินพอใจ รวมทั้งความคาดหวัง อยากเขียนดังความคิด อยากนั้น อยากนี่
  2. ความไม่พอใจ ความหงุดหงิด รำคาญ ความไม่ชอบ และการตำหนิหรือโทษสิ่งต่างๆ
  3. ความลังเลสงสัย และความกังวลใจ
  4. ความง่วง ความเบื่อ ความหมดแรง ความหมดพลังใจ และความห่อเหี่ยว
  5. ความฟุ้งซ่าน คิดนอกเรื่อง ใจออกนอกขั้นตอนหรือนอกประเด็น หรือหลุดจากการโฟกัส ขาดสมาธิ

เมื่อใดเกิดนิวรณ์ขึ้น เมื่อนั้นปัญญาและศัยกาพของจิตก็ถูกลดทอนไป การฝึกแล้วรับรู้การมีอยู่และละออกไป มิว่ามากน้อยเท่าใด ถือว่าเป็นเป้าหมายสำคัญหนึ่งของการเขียนภาวนาแล้ว

 

๒ สังเกตธรรมะฝ่ายกุศลที่ได้บ่มเพาะหรือน้อมนำมาใช้ในการเขียนภาวนา

๓ สังเกตอกุศลหรือข้อเสียที่ได้เกิดขึ้นหรือสังเกตในตนขณะเขียนภาวนา

 

๔ สังเกต กาย เวทนา จิต และธรรม

ตัวอย่างการสังเกตกาย เวทนา จิต และ ธรรม (ฐานสี่ของสติ) ขณะเขียนภาวนา

โดยเริ่มจากการสังเกตกาย เวทนา จิต และ ธรรมไปตามลำดับก่อน ให้ชัดเจนทีละส่วนตามลำดับ

การสังเกตเหล่านี้ ให้ทบทวนหลังเขียนภาวนาเสร็จแล้ว ระหว่างการเขียนภาวนานั้นจิตจะรับรู้ด้วยตนเองเมื่อองค์สมาธิถึงพร้อม โดยไม่ต้องจดจ่อหรือพยายามคิด/เขียน ขณะเขียนภาวนา

 

กาย : 

  • ลมหายใจเข้า หยุดเขียน กายเป็นอย่างไร
  • ลมหายใจออก เริ่มเขียน กายเป็นอย่างไร
  • มือ แขน รู้สึกอย่างไรขณะเขียน
  • องค์รวมของกายขณะหายใจเข้ารู้สึกอย่างไร
  • องค์รวมของกายขณะเขียนรู้สึกอย่างไร
  • ลมหายใจและการเขียนประสานกันอย่างไร

เวทนา :

  • ระหว่างจังหวะหยุด ลมหายใจเข้า ใจรู้สึกอย่างไร
  • ระหว่างจังหวะเขียน ลมหายใจออก ใจรู้สึกอย่างไร
  • ขณะเขียนภาวนา ใจมีอารมณ์ใดเกิดขึ้น
  • ช่วงที่ติดขัด ใจมีความรู้สึกอย่างไร
  • ช่วงที่เขียนต่อได้อีก ใจมีความรู้สึกอย่างไร

จิต :

  • ระหว่างจังหวะหยุด ลมหายใจเข้า ใจปรุงแต่งคิดไปอย่างไร
  • ระหว่างจังหวะเขียน ลมหายใจออก ใจจดจ่อกับอะไร
  • ความอยากเกิดขึ้นตอนไหน อยากอย่างไร
  • ความยึดติดเกิดขึ้นตอนไหน ยึดติดอะไร
  • ขณะเขียนภาวนา ช่วงใดใจปลอดโปร่ง ช่วงใดนิวรณ์ครอบคลุม

ธรรม :

  • ขณะเขียนภาวนา ความอยากเกิดขึ้นอย่างไร ดับลงไปอย่างไร
  • ขณะเขียนภาวนา ความยึดติดเกิดขึ้นอย่างไร ดับลงไปอย่างไร
  • ขณะเขียนภาวนา เกิดความตระหนักรู้ในเรื่องใด เกิดขึ้นอย่างไร
  • ขณะเขียนภาวนา จิตรู้ถึงธรรมและบทเรียนอย่างไร
  • ขณะเขียนภาวนา จิตเห็นความว่างและความไม่ใช่ตัวตนอย่างไร