7 วิธีการ ลดความเป็น “Perfectionist”ในตัวคุณ
เรียบเรียงใหม่จากบทความคอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 34 โดยครูโอเล่
“Perfectionist” เป็นลักษณะนิสัยและพฤติกรรมที่พยายามทำให้สิ่งต่างๆ หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ใส่ใจ ดีครบถ้วนสมบูรณ์ตามมาตรฐานหรือหลักการที่ยึดถือ
ลักษณะพฤติกรรมนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะบางบุคคลเท่านั้น แม้บางคนจะมีนิสัยนี้เป็นบุคลิกประจำตัวซึ่งพยายามทำให้ “เป๊ะ” แทบทุกเรื่อง ยึดถือมาตรฐานและความถูกต้องในเรื่องต่างๆ จนเป็นคน “เนี้ยบ” อยู่แล้ว
หลายคนที่ไม่ได้มีบุคลิกนิสัยนี้ก็อาจมีบางเรื่องที่จะคาดหวังมากเป็นพิเศษ อ่อนไหวกับประเด็นนั้นๆ มากกว่าเรื่องอื่น วิตกกังวลกับมันบ่อยๆ หรือกำหนดมาตรฐานตั้งเงื่อนไขเอาไว้ เช่น บางคนไม่ต้องการให้คนรอบตัวเก็บความลับหรือปิดบังความจริงกับตนแม้แต่นิดเดียว บางคนจะออกนอกบ้านทีการแต่งหน้าแต่งกายจะทำไปอย่างลวกๆ ไม่ได้ บางคนให้คุณค่ากับงานไม่อยากให้มีข้อตำหนิผิดพลาดแม้แต่นิดเดียว บางคนไม่อยากเห็นการเปรียบเทียบคะแนนและระดับความสามารถกับเพื่อน บางคนมีข้อกำหนดว่าคนรักจะต้องทำแบบนั้นและไม่ทำแบบนี้ บางคนมีข้อชี้วัดชัดเจนว่าคนดีจะต้องเป็นอย่างไรและห้ามทำอะไร ฯ
เราต่างมีความเป็น “Perfectionist” ในตัวเองอย่างน้อยในแง่ที่ต้องการให้ตนเองและสิ่งที่ใส่ใจ “ดีพอ” ตามเงื่อนไขและมาตรฐานที่แอบมีอยู่ในจิตใจ และมีมาตรวัด “ความสมบูรณ์แบบ” ในเรื่องที่สำคัญของตนเอง ความใฝ่ในความสมบูรณ์แบบมีอยู่ในตัวเราทุกคน อาจคาดหวังอยากให้มีครอบครัวที่เพอร์เฟค อยากมีอาชีพที่ตอบโจทย์ทุกด้านของชีวิต อยากมีแฟนที่เข้าใจและยอมรับตนทุกๆ อย่าง อยากมีลูกที่อยู่ในโอวาททุกบรรทัด อยากมีเคหาอาศัยที่ไร้ข้อบกพร่อง อยากมีปีใหม่ที่มีความสุขตลอดทั้งปี ฯ
การนิยมความสมบูรณ์ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่การไม่รู้ตัวและไม่ดูแลสิ่งนี้มักทำให้เกิดความบีบคั้นและการเสียสมดุลของชีวิต จนส่งผลเสียต่อสุขภาวะของชีวิตตัวเองและคนรอบข้าง มันสามารถเป็นต้นเหตุทำให้เรารู้สึกยากที่จะพอใจและเชื่อใจในสิ่งต่างๆ เกิดความเครียด ความวิตกกังวล กระทั่งเมื่อสะสมมากเข้าก็อาจจะให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตต่างๆ ขึ้นได้
สัญญาณที่บอกว่าเราอาจกำลังใฝ่ความสมบูรณ์แบบในสิ่งๆ หนึ่ง อาทิเช่น
- กลัวความผิดพลาดและความไม่แน่นอนกับเรื่อง/คนดังกล่าวจนวิตกกังวล
- ทุ่มเทเต็มที่และตั้งใจเกี่ยวกับเรื่อง/คนดังกล่าวจนเกินพอดี พยายามเข้าไปจัดการแม้แต่เรื่องเล็กๆ สิ่งน้อยๆ
- รับผิดชอบมากเกินไปจนกลายเป็นการแบกรับและทำให้เราละเลยเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญ หรือไม่ค่อยได้พัก
- โกรธหรือหงุดหงิดง่ายหากเรื่อง/คนดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่เรียบร้อย
- ใส่ใจรายละเอียดมากเกินไป จนไม่อาจวางใจหรือปล่อยวาง
- จับผิดเล็กๆ น้อยๆ เห็นข้อตำหนิข้อบกพร่องมากมาย แต่ไม่ค่อยใส่ใจข้อดีที่มีอยู่
- แม้มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย หรือมีความคืบหน้าในทางที่ดี ก็ทำให้เครียด
- มีเสียงในหัวคิดย้ำซ้ำกับเรื่องดังกล่าว เป็นคำถามลังเลสงสัย หรือตอกย้ำวิพากษ์วิจารณ์
- ไม่สามารถโอนอ่อนผ่อนตามแม้เป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่มีผลกระทบเสียหาย
หากเราเป็นดังข้อใดข้อหนึ่งนี้ก็มักเป็นสัญญาณว่า เรากำลังถูกความเป็นนักนิยมความสมบูรณ์แบบครอบงำใจเสียแล้ว และมีโอกาสที่เราจะเกิดความทุกข์เพราะตัวเราเองอีกด้วย
หัวข้อด้านล่างนี้เป็นคำแนะนำที่ไม่สมบูรณ์แบบ เพื่อดูแลสิ่งนี้ให้ตัวเราให้สมดุล และรู้เท่าทันตนเองมากขึ้น ก่อนที่จะเผลอทำร้ายตนเองและคนรอบข้าง
1. ใส่ใจความรู้สึกแท้จริง :
เมื่อเรากำลังตำหนิต่อว่าหรือจ้องจับผิดในความไม่สมบูรณ์แบบของเรื่องใด มิว่าของตนเอง คนอื่น หรือประเด็นทางสังคมก็ตาม ลองกลับมาที่ความรู้สึกแท้จริงของตนเอง เราทำเช่นนั้นเพราะรู้สึกอย่างไร เรากำลังพยายามใช้หลักการและมาตรฐานต่างๆ เพื่อกลบเกลื่อนหรือตอบสนองต่อความรู้สึกใดในใจตนเอง
การที่ใส่ใจความสมบูรณ์แบบมากเกินไป มักมาจากความกลัวที่ซ่อนลึกข้างใน เช่น กลัวตนจะล้มเหลว กลัวเรื่องร้ายนั้นจะเกิดแก่ตัวเอง กลัวจะไม่ดีพอ ฯ รวมทั้งความรู้สึกอื่นๆ ในด้านบวก ที่อาจเป็นความใส่ใจ ความห่วงใย และความปรารถนาดี
แต่เมื่อความรู้สึกที่แท้จริง ไม่ได้รับการรับรู้จากตัวเราเอง แต่กลับจดจ่อไปที่ความไม่ดีพอ/ความไม่สมบูรณ์แบบต่างๆ มันก็ทำให้เราเผลอทำร้ายตนเองและทำร้ายผู้อื่น แทนที่จะส่งเสริมหรือสนับสนุนกันตามความรู้สึกที่แท้จริงข้างใน เพราะเราจะอยู่กับความคิดมากเกินไป
การอยู่กับความคิดมากทำให้เราไม่ได้อยู่กับความเป็นจริง อย่างที่เป็นจริง แต่มองโลกในมุมแคบเห็นแค่เพียงในกรอบแว่นของมาตรฐานที่ใจตนเองมีอยู่เท่านั้น
เราต้องแยกแยะความคิดและความรู้สึก สิ่งที่เป็นความคิดมักเป็นการตีความ การคาดการณ์ และการประเมินผล มักแสดงออกมาเป็นข้อความยาวๆ อย่างเช่น รู้สึกว่าเรารักกันดี รู้สึกว่าทำไม่ถูกต้อง สิ่งที่เขาทำมันไม่ดี เหล่านี้เป็นความคิดหรือการตีความ แต่ความรู้สึกจริงๆ นั้นเป็นสิ่งที่มาจากหัวใจ เป็นอารมณ์ที่รู้สึกขึ้นจริง สะท้อนออกมาเป็นคำที่ชัดเจนไม่ยืดเยื้อ เช่น รู้สึกอบอุ่น มั่นคง รัก กลัว ไม่แน่ใจ กังวล นี่เป็นตัวอย่างของความรู้สึก
ความรู้สึกที่แท้จริงมักถูกความคิดกลบเกลื่อนไว้ จนทำให้เราไม่เข้าใจตนเอง บางความรู้สึกทำให้หวั่นไหวหรือเข้าใจว่าตนเองกำลังจะอ่อนแอ ทำให้คิดว่าตนเองไม่ดีพอที่รู้สึกเช่นนั้น หรือตำหนิตัวเองว่าไม่ควรรู้สึกเช่นนี้ จึงหลีกเลี่ยงที่จะยอมรับความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา ทำให้คิดปรุงแต่งยึดจับหลักการ ปิดบังไม่ให้ตัวเรารับรู้ความจริงข้างใน ซึ่งเมื่อปล่อยไว้เราก็จะยิ่งห่างไกลจากหัวใจตนเอง แปลกหน้าต่อหัวใจผู้อื่น และห่างไกลจากความเป็นจริงมากขึ้น
การใฝ่ในความสมบูรณ์แบบจนเกินพอดี มักเป็นเพียงกลไกการตอบสนองต่อความรู้สึกที่ปะปนอยู่ภายในใจตนเอง การกลับมารับรู้ความรู้สึกจริงๆ จะทำให้เราอยู่กับความเป็นจริงมากขึ้น และมีโอกาสเลือกว่าจะใส่ใจหรือดูแลสิ่งนั้นๆ อย่างถูกต้องและเหมาะสมอย่างไร
เราสามารถฝึกการรับรู้ความรู้สึกที่แท้จริงของตนเองได้ ด้วยการกลับมามีสติระลึกรู้ตัวบ่อยๆ สังเกตอาการและความรู้สึกในร่างกาย และสำรวจความรู้สึกที่มีอยู่ในใจ โดยไม่ปล่อยให้จิตถูกลากจูงไปกับความคิดและการตำหนิติเตียนต่างๆ เพียงอย่างเดียว
2. อย่าเพิ่งรีบสู้ หรือหนี :
ปกติแล้วเมื่อคนเจอความทุกข์ สิ่งที่ไม่ชอบใจ ไม่พอใจ หรือสิ่งที่เคยทำให้ทุกข์ก็มักใช้กลไกปกป้องตนเอง ซึ่งมีอยู่สองแบบหลักด้วยกันได้แก่ สู้ และ หนี แต่ละคนอาจมีท่าทีการสู้และหนี ไม่เหมือนกัน บางคนหลีกเลี่ยงด้วยการสนใจเรื่องอื่น ใส่ใจสิ่งอื่น หรือปฏิเสธโอกาสต่างๆ บางคนตอบโต้ด้วยคำโต้แย้ง โทษอีกฝ่าย หรือจ้องจับผิด
การยกหลักการ มาตรฐาน และการใส่ใจความสมบูรณ์แบบจนเกินไป เป็นลักษณะของกลไกการปกป้องตนเองอย่างหนึ่ง เป็นรูปแบบ สู้ ที่ตอกย้ำความบกพร่องของอีกฝ่ายบ้าง เป็นการ หนี จากความรู้สึกผิดในตนเองบ้าง กลไกเหล่านี้หล่อหลอมขึ้นมาจากเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่วัยเด็ก บางคนเรียนรู้ที่จะเป็นเด็กดีอยู่ในระเบียบและมาตรฐานต่างๆ ที่ครูหรือพ่อแม่มอบให้ เพื่อได้รับความรัก การยอมรับ และการชื่นชม
บางคนเจอประสบการณ์ผิดพลาดทำให้ถูกต่อว่าจากคนที่เขารัก หรือรู้สึกว่าตนเองเป็นต้นเหตุ ความรู้สึกผิดดังกล่าวก็สามารถหล่อหลอมมาเป็นการใส่ใจความสมบูรณ์แบบจนเกินพอดีได้เช่นกัน
เมื่อเรารู้สึกตัวว่ากำลังจดจ่อความสมบูรณ์แบบมากเกินไปแล้ว ลองกลับมาอยู่กับความรู้สึกที่เป็นจริงในร่างกายและหัวใจ แล้วสำรวจว่าตนเองกำลังสู้กับอะไร หรือพยายามหนีจากอะไร อาจถามไถ่ตนในใจว่า “ฉันกำลังไม่ต้องการให้อะไรเกิดขึ้น… ฉันกำลังพยายามปฏิเสธอะไรอยู่… ฉันกำลังดิ้นรนให้พ้นจากอะไร…”
ก่อนที่เราจะเลือกคิด เลือกพูด หรือเลือกทำอะไรต่อ ให้ยั้งตนเองไว้ก่อน อย่าเพิ่งรีบสู้หรือหนี หากสถานการณ์ตามความเป็นจริงไม่ได้เป็นเหตุฉุกเฉินหรือเรียกร้องให้เราต้องทำเช่นนั้น
กลไกการสู้หรือหนี ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่การปกป้องตัวเองอย่างไม่รู้ตัว ยิ่งทำให้เราและคนรอบข้างเป็นทุกข์ หรืออย่างน้อยที่สุดก็อาจทำให้เราปิดกั้นโอกาสดีๆ ของตนเอง เพราะความกลัวที่อยู่ข้างในทำให้เราตกร่อง และใช้การจ้องจับผิดหรือมองหาความไม่สมบูรณ์แบบ เพียงเพื่อปฏิเสธสิ่งดีๆ ที่เหมาะสมกับตน ด้วยการบั่นทอนให้มันดูไม่ดีพอเกินความเป็นจริง
ความผิดหวังในชีวิตที่ผ่านมาก็มักทำให้เราเป็นเช่นนี้ง่าย หัวใจเราไม่อยากให้ตนเองต้องเป็นทุกข์อีกแล้ว จึงสร้างพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมา และให้นักนิยมความสมบูรณ์แบบในจิตใจ เป็นผู้ช่วยคุ้มครองตัวเราจากความทุกข์
มิว่าจะเลือกสู้หรือหนีในสถานการณ์นั้นๆ ด้วยวิธีการใด ขอให้กลับมาที่หัวใจตนเองก่อน รับรู้และยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในตนเองนั้น แล้วจึงค่อยเลือกว่าจะใช้วิธีการใดรับมือหรือแก้ไขสถานการณ์ตรงหน้า ด้วยความตระหนักว่า การใฝ่ในความสมบูรณ์แบบ และการปกป้องตนเองนั้น เป็นเพียงเครื่องมือที่เราเลือกใช้ในปัจจุบัน มิใช่ตัวตนที่แท้จริงและไม่ใช่คำตอบเพียงหนึ่งเดียวของชีวิต
“ไม้บรรทัด” ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเสมอไป โดยเฉพาะสถานการณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ หลายๆ ครั้งเพียงการเห็นใจกัน ไม่สู้และไม่หนีต่อปัญหานั้น เพียงยอมรับและเห็นอกเห็นใจ ก็ช่วยให้สถานการณ์และความตึงเครียดในกันบรรเทาเบาบางมากขึ้นแล้ว
ไม่ประมาท แต่ก็อย่าปิดกั้นโอกาสที่จะเติบโต ไม่รีบสู้หรือหนีด้วยการตัดสินตีความสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะนั่นก็เป็นการปิดโอกาสตนเองในการเข้าใจโลกในมุมมองที่กว้างขึ้นกว่าที่ผ่านมา
นักนิยมความสมบูรณ์แบบในตัวเรา อาจทำให้มองโลกเลวร้ายหรือมีข้อบกพร่องเกินความเป็นจริง เรื่องที่เกิดขึ้นหรือแนวโน้มต่างๆ มันอาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่กลัวหรือคาดคะเน และถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้สมบูรณ์แบบและมีโอกาสผิดพลาด เราก็อาจไม่ได้อ่อนแอถึงขนาดจะไม่สามารถรับมือกับการหกล้มหรือข้อจำกัดนั้นๆ ได้
อย่าเพิ่งรีบสู้หรือหนี จนใจเราอ่อนแอลง ลองเผชิญหน้ากับความหวั่นไหวและความไม่สมบูรณ์แบบตรงหน้า เพื่อให้เราได้ประจักษ์ว่าจริงๆ แล้วตนเองมีศักยภาพ ความกล้าหาญ และความเข้มแข็ง ในการเผชิญกับโลกกว้างมากเพียงใด เราไม่ได้แย่หรืออ่อนแออย่างที่กลไกปกป้องตนเองในจิตใจตนหวั่นเกรง เราไม่ต้องให้เขาโอบอุ้มตัวเราไว้ดั่งเด็กน้อยตลอดเวลาก็ได้ ตอนนี้เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากกว่าในอดีตแล้ว เราเข้มแข็งและมีความสามารถมากกว่าอดีตที่ผ่านมาแล้ว
การสู้หรือหนีไม่ได้แย่ แต่เราต้องเลือกอย่าง “รู้ตัว” “รู้คุณค่า” และ “รู้เจตนา” ในสิ่งต่างๆ ที่ทำอยู่นั้น และต้องฝึกที่จะ “รู้วางใจ” ด้วยเช่นกัน
3. ฝึกทำอย่างไม่ทำ :
การไม่พยายามแก้ไข แม้ฟังดูเหมือนหนีปัญหา แต่ปัญหาไม่ได้มีไว้ให้แก้ไขเสมอไป บางเรื่องเพียงเกิดขึ้นให้เรายอมรับ บางเรื่องยิ่งพยายามเข้าไปแก้ไขให้สมบูรณ์ก็ยิ่งยุ่งเหยิง ยิ่งย้ำคิดกับเรื่องนั้นมากยิ่งกังวลใจ การปล่อยไว้บ้างวางไว้สักพัก มันอาจค่อยๆ ดีขึ้นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปัญหาที่ความพยายามของตัวเราเองนั้นมีส่วนสร้างขึ้นมา เรียกว่าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยสิ่งเดียวกันกับที่สร้างปัญหานั้นขึ้นมาตั้งแต่ต้น
โลกไม่ได้หมุนเพราะตัวเราอยากให้หมุน ทุกชีวิตมีทางไปของตนเอง ทุกสิ่งดำเนินไปด้วยตัวมันเอง เราเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น การเลือกหยุดลงบ้างก็เป็นการเปิดทางให้ปัจจัยอื่นๆ ช่วยผลักดัน
ขณะที่เราคลุกคลีกับปัญหาและพยายามแก้ไขแทบเป็นแทบตาย เราอาจกำลังถลำลึกลงไปในข้อบกพร่องที่ใจโฟกัส แต่ไม่ได้เห็นภาพรวมและความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นรอบด้าน เช่นนี้แล้วการพยายามจัดการกับปัญหาก็ยากจะเกิดผล จนกว่าเราจะปล่อยวางความใฝ่สมบูรณ์แบบที่ใจเรามีลงชั่วคราว หยุดโฟกัสที่ปัญหา หยุดพยายามแก้ไข และถอยออกมาดูเรื่องนี้อย่างเป็นกลาง มองให้เห็นตามความจริง
ข้อบกพร่องไม่ได้มีไว้ให้แบก เมื่อเราเห็นข้อบกพร่องหรือความไม่สมบูรณ์พอของสิ่งใดก็ตามแล้วใจเป็นทุกข์ นั่นมิใช่ความผิดของข้อบกพร่อง แต่เป็นตัวเราเองที่ทำให้ตนเป็นทุกข์ ด้วยการคาดหวังและการรับมาเป็นความรับผิดชอบของตนมากเกินไป
สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการใฝ่ในความสมบูรณ์แบบก็คือ การนำตนเองเป็นศูนย์กลาง การที่เราจ้ำจี้จ้ำไชในข้อผิดพลาดและความไม่ดีพอต่างๆ นานา นั่นก็คือการที่เรานำความคิด มาตรฐาน และความคาดหวังของตนเองเป็นที่ตั้งแก่โลกใบนี้
แก่นแท้ที่ดีงามของสิ่งนี้ จริงๆ คือความรับผิดชอบ แต่เรารับผิดชอบมากเกินไป จนแบกรับโลกไว้ทั้งใบ แล้วเราก็ตีโพยตีพายว่า… เหนื่อยจังเลย เครียดจังเลย ต้องมาลำบากแบบนี้ เพราะเขา เพราะเธอ เพราะสิ่งนั้นสิ่งนี้… แต่ที่จริงแล้วตนเองเหนื่อยเพราะการแบกรับไว้นั้นเอง เครียดเพราะความนิยมความสมบูรณ์แบบที่เราไม่รู้ตัว
การตอกย้ำข้อบกพร่องทั้งหลายมิว่าของลูก คนรัก หรือลูกน้อง ก็ไม่ได้ทำให้เขาเติบโตขึ้น การย้ำคำเชิงลบต่ออีกฝ่าย แต่ยิ่งเป็นการปลูกฝังเมล็ดพันธ์ความคิดลบลในจิตใต้สำนึก ให้เขาเชื่อและเป็นไปดั่งข้อความลบนั้นมากยิ่งขึ้น หรือผลักไสให้จิตใจเขาพยายามต่อต้านด้วยการสร้างกลไกปกป้องตนเอง เป็นพฤติกรรมเชิงลบต่างๆ ขึ้นมาแทนที่เขาจะปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น ทั้งหมดนี้ยิ่งย้ำให้เขาจ่อมจมในความรู้สึกไม่มีคุณค่าและทำพฤติกรรมลบซ้ำเติม เท่ากับว่าการพยายามแก้ไขปัญหาของเรานั้นไม่ได้เกิดผลดีขึ้นเลย
การแก้ไขปัญหาเหมือนกับการแก้มัดหรือคลายปมเชือก เราไม่อาจทำได้ด้วยการผูกย้ำเข้าไปให้หนาแน่นมากขึ้น
“ทำอย่างไม่ทำ พยายามอย่างไม่พยายาม” เป็นส่วนหนึ่งของคำสอนในคัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง ซึ่งเขียนโดยอาจารย์เล่าจื้อ การฝึกทำอย่างไม่ทำ มิใช่การไม่ทำอะไรเลย แต่เป็นการยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เป็นไป ในคนที่เรารักก็ดี งาน ชีวิต หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วทำในสิ่งที่พอทำได้โดยวางจากความคาดหวัง ซึ่งอยากให้สิ่งต่างๆ เป็นไปดั่งใจเรา
การ “ทำอย่างไม่ทำ” คือ กระทำไปตามที่ควร ไม่ทำตามที่คาดหวัง และยังหมายถึงการลงมือทำโดยไม่นำตัวเองเป็นที่ตั้ง
หากเราไม่สามารถทำสิ่งใดให้ดีขึ้นได้เลย หรือยิ่งทำแล้วยิ่งก่อผลเสีย การรู้หยุดพัก ไม่ต้องไปทำอะไร ก็เป็นการกระทำที่สำคัญ เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงโลกหรือคนอื่นได้ทั้งหมด เราเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น การดูแลปัญหา ผู้คน และภาระต่างๆ หากเราถือว่าตนเองเป็นเพียง “คนของจักรวาล” หรือเหตุปัจจัยหนึ่งของเรื่องนั้นๆ เราจะลงมือทำด้วยใจที่เบาสบายมากกว่า การทำด้วยความเชื่อว่า… มันคือเรื่องของฉัน ฉันต้องจัดการแบบนี้เท่านั้น…
ฝึกทำอย่างไม่ทำ พยายามอย่างไม่พยายาม หมายถึงการฝึกที่จะ “วางใจ” ด้วย ดังคำโบราณว่าไว้… สิ่งใดจะเกิด มันก็ต้องเกิดขึ้น… หรือมันเป็นเพียงอนิจจัง มันก็เพียงเช่นนั้นเอง… ทำสิ่งใดด้วยสติรู้ตัวรู้อารมณ์ของตนเอง อย่าไปหมกหมุ่นกับปัญหา จนตัวเราและหัวใจกลายเป็นปัญหาเสียเอง
4. ดูความจริงจากสิ่งใกล้ตัว :
นานมาแล้วในสมัยพุทธกาล นางกิสาโคตมี วิ่งร้องไห้โศกเศร้าอุ้มศพลูกร้องขอยาไปทั่ว เพื่อหวังช่วยชุบชีวิตของบุตรที่เสียชีวิตอย่างน่าเวทนา เมื่อได้เข้าพบพระพุทธเจ้า นางได้ร้องขอยาและความช่วยเหลือจากท่าน พระองค์จึงตรัสให้ไปขอเมล็ดผักกาดจากครอบครัวที่ไม่มีญาติคนใดเสียชีวิตเลย
ตอนแรกนางคิดว่าไม่น่าใช่สิ่งที่หายาก สมัยนั้นแทบทุกบ้านมีเมล็ดพันธุ์ผักกาดด้วยกันทั้งสิ้น แต่ไม่มีบ้านใดเลยที่ไม่เคยมีญาติเสียชีวิต นางจึงได้สติและกลับมาหาพระพุทธเจ้ามือเปล่า ท่านตรัสสอนว่า นางคิดว่ามีเพียงบุตรของนางคนเดียวที่เสียชีวิต แต่ความไม่เที่ยงมีอยู่คู่ทุกชีวิตและสิ่งทั้งหลาย “อนิจจาธรรม” คือความไม่แน่นอนและความตาย ซึ่งเป็นของธรรมชาติ มีอยู่ทุกบ้านทุกครัวเรือน ไม่จำกัดว่าใคร ที่ไหน และเมื่อใด เช่นนี้แล้วนางกิสาโคตมีก็บรรลุธรรม *(1)
ปริศนาธรรมเดียวกันนี้ เรายังนำมาใช้ได้กับเรื่องปัญหาต่างๆ อย่างที่เราเคยได้รับคำแนะนำมาบ้างว่า เวลาเกิดความทุกข์ ให้มองคนที่ทุกข์กว่าเรา นอกจากเพื่อให้เห็นใจหรือคิดได้ว่ายังมีคนทุกข์กว่าเรามากนัก เรื่องที่กำลังประสบพบเจอนี้อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับพวกเขา แต่ยังเพื่อให้เราได้ปล่อยวางจากการยึดมั่นว่า… ฉันเป็นเจ้าของปัญหานี้ มีแค่ฉันคนเดียวที่เจอ และต้องแก้ไขลำพัง… แท้จริงแล้วทุกๆ คนก็มีโอกาศเจอกับปัญหานั้นได้ไม่ต่างจากเรา ความทุกข์ทั้งหลายมันเป็นเรื่องธรรมดาของโลกใบนี้ ไม่จำเป็นต้องแบกรับไว้มากเกินไป
เช่นเดียวกันกับความไม่สมบูรณ์แบบ เมื่อเรารู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอเอาเสียเลย หรือหงุดหงิดขุ่นเคืองใจกับความไม่ดีพอของเรื่องใดก็ตาม จงมองหาสิ่งใกล้ตัวที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้จริง ซึ่งไม่มีข้อตำหนิ ไม่มีจุดอ่อน หรือปราศจากข้อบกพร่องอยู่เลย แม้แต่สิ่งที่สวยงามและสามารถทำงานอย่างเที่ยงตรงก็อาจเปราะบางกับแรงกระแทก และมีวันเสื่อมสภาพไม่อาจคงความสวยงามหรือสมรรถภาพได้ตลอดกาล สิ่งของที่แข็งแรงทนทานก็อาจหนักอึ้งหรือใช้ประโยชน์บางเรื่องไม่ได้ สิ่งของที่เล็กกระทัดรัดก็อาจสั้นไปหรือเล็กไป หายง่าย หรือโดนแสงอาทิตย์เปลือกพลาสติกก็กรอบหมดสภาพ ฯ
หากเรารู้สึกว่าคนที่เราห่วงใย อาจเป็นพ่อแม่หรือคนรัก ไม่ดีพอในเรื่องนั้นเรื่องนี้ ลองสำรวจดูว่ามีครอบครัวใดที่มีสมาชิกหรือคนรักที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งไม่มีข้อพร่อง ไม่มีส่วนเสีย และไม่เคยทำผิดพลาดเลย มีครอบครัวใดบ้างที่ไม่เคยมีความเห็นแตกต่างกันหรือขัดใจกันบ้างเลย
เวลาเราไม่พอใจในข้อบกพร่องหรือความไม่สมบูรณ์ของคนใดหรือสิ่งใด ตอนนั้นเรามักลืมความจริงข้างต้น ไม่เพียงแค่ตนเองหรือเขาคนนั้นไม่สมบูรณ์แบบเท่านั้น แต่การมีข้อบกพร่องเป็นของคู่กับสิ่งทั้งหลาย ไม่จำกัดว่าจะเป็นเฉพาะคนๆ นั้น ตัวเรา หรือของๆ เราเท่านั้น
เราจึงควรมองดูสิ่งต่างๆ ด้วยความเข้าใจว่า “ไม่เที่ยงแท้” แม้สิ่งที่ดูราวสมบูรณ์แบบในวันนี้ ก็สามารถเสื่อมลงไปตามธรรมชาติ ความดีพอก็ต่างกันไปตามบริบทและมุมมอง บ้านที่ยอดเยี่ยมสำหรับการพักอาศัยก็อาจไม่ดีพอสำหรับการเป็นสำนักงาน รถยนต์ที่สมบูรณ์แบบในการพาสมาชิกครอบครัวไปท่องเที่ยวก็อาจยอดแย่ในการใช้ขนย้ายบ้าน
แม้แต่ความสมบูรณ์แบบก็เป็น “อนิจจัง” เช่นนี้แล้วเราจะขุ่นเคืองและเสียใจเพราะความไม่ดีพอไปเพื่ออะไร
5. ชื่นชมด้านมืดของตนเอง :
การเป็นผู้นิยมความสมบูรณ์แบบก็ยังมีข้อดี ช่วยให้การทำสิ่งใดก็ทำอย่างเต็มที่ ละเอียดลออ เรียบร้อย และใส่ใจการพัฒนาปรับปรุงอยู่เสมอ ชนิดที่ผู้ขาดการใส่ใจความเป็นเลิศและความสมบูรณ์แบบ อาจทำไม่ได้หรือละเลยไป สังคมจำเป็นต้องมีความนิยมความสมบูรณ์แบบ เพื่อความปลอดภัยในด้านต่างๆ ของประชาชน เช่นความรัดกุมในการดูแลจัดการโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งในความเป็นจริงก็เกิดอุบัติเหตุจากความละหลวมหลายต่อหลายครั้ง
แม้แต่สิ่งที่แย่ที่สุดก็ยังมีข้อดีที่ซ่อนอยู่ หากนำมาใช้อย่างเหมาะสมก็เกิดประโยชน์ อย่างการปล่อยปละละเลยกฏระเบียบ ยังมีความอะลุ่มอล่วยเป็นแก่นกลาง หากไม่ได้ใช้อย่างพร่ำเพรื่อไร้จุดหมายแล้ว ย่อมทำให้เกิดความยืดหยุ่นและความผ่อนคลายในการปฏิบัติงาน
ด้านต่างๆ ในตัวเราที่บกพร่อง มีข้อดีซ่อนอยู่เสมอ มักเป็นสิ่งที่ดีเกี่ยวกับตัวเราที่ยังใช้ศักยภาพนั้นอย่างไม่เหมาะสม มากไปบ้าง น้อยเกินไปบ้าง คนที่บกพร่องเพราะทำสิ่งใดไม่สม่ำเสมอ หรือเรียกว่าขาดวินัย อย่างน้อยเขาก็มีความวางใจอยู่ในตนเอง ไม่บีบคั้นหรือกดดันตนเองเกินไป คนที่ขี้กลัวไม่กล้าตัดสินใจเอง ก็เพราะเขามีความระมัดระวัง รับฟังผู้อื่น และไม่ยึดความเห็นตนเองเป็นที่ตั้ง
ด้านมืดของท้องฟ้ายังมีดวงดาว ด้านมืดของตัวเราก็มีประกายความดีงามอยู่ตรงนั้น แทนที่เราจะย้ำคิดว่าตัวเราหรือคนอื่น ไม่ดีอย่างนี้เลย ไม่ได้ความอย่างนั้นเลย เรามองแต่ความมืดบนท้องฟ้า เราก็จะเห็นแค่ความมืดเท่านั้น มองกวาดสายตาให้กว้างขึ้น จะเห็นว่ารอบๆ ยังมีแสงพริบพราวเปล่งประกายมากมาย
การยึดติดความสมบูรณ์แบบมากเกินไป ส่วนหนึ่งก็เพราะความไม่พอใจในตนเองอย่างที่เป็นจริง เราพยายามทำให้ตนเองและสิ่งต่างๆ รอบข้างดีพอ มั่นคงพอ หรือปลอดภัยมากพอ ด้วยการบีบคั้น เคี่ยวเค้น และจ้องจับผิด แต่ไม่ว่าจะสมบูรณ์มากเท่าใดมันก็ไม่พอ เราก็อาจจะพยายามให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปอีกเรื่อยๆ แก้ไขแล้วแก้ไขเล่า จับผิดไม่เลิกลา เพราะเราพยายามสู้หรือหนีกับด้านมืดของตนเองมากเกินไป
ตราบใดที่เรายังไม่ชื่นชมและเคารพในสิ่งที่ตนเองเป็นอย่างแท้จริง ยากยิ่งที่จะหาความพึงพอใจในสิ่งต่างๆ ที่มีหรือเกิดขึ้นในชีวิตของเราได้ สิ่งที่น่าชื่นชมและน่าเคารพไม่ใช่สิ่งที่ปราศจากข้อติเตียนอย่างสิ้นเชิง ทุกสิ่งที่มีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง ต่างมีคุณค่าคู่ควรแก่การชื่นชมและการเคารพทั้งสิ้น
คุณค่าของสิ่งทั้งหลาย ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะข้อบกพร่อง ไม่ใช่เพียงเพราะข้อดีของสิ่งนั้นๆ กระดาษโพสอิทที่แปะได้ไม่แน่นหนา ทำให้มันมีคุณค่าที่ใช้เป็นกระดาษจดโน๊ตไว้แปะเตือนชั่วคราวได้ การเกิดขึ้นของผลิตภัณฑ์นี้ก็เป็นเพราะความล้มเหลวของการพยายามสร้างกาวที่ติดแน่นทนทาน ปีกของนกเพนกวินใช้บินไม่ได้ แต่ใช้ในการว่ายน้ำได้ แตกต่างจากปีนของนกบินได้ชนิดอื่นที่ไม่สามารถใช้ปีกของมันว่ายน้ำ
จึงกล่าวได้ว่าคนมีคุณค่าก็เพราะว่ามีข้อบกพร่องด้วย ความไม่สมบูรณ์แบบทำให้มีคุณค่าชนิดที่ความสมบูรณ์แบบไม่มี กาวที่ติดแน่นแกะออกยากก็ใช้แทนกาวที่เคลือบหลังกระดาษโพสอิทไม่ได้ ปีกที่เบาและปกคลุมด้วยขนสวยงามก็ให้นกเพนกวินใช้แทนไม่ได้
ข้อบกพร่องต่างๆ มักช่วยขับเน้นให้ข้อดีในด้านอื่นได้เฉิดฉายขึ้นมา คนเราไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่าง หรือดีพร้อมในทุกเรื่อง แม้ในเรื่องเดียวกันเราก็ไม่จำเป็นต้องฉลาดไปหมด คนอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ความไม่สมบูรณ์แบบนั้นมีคุณค่ามากมาย ข้อบกพร่องของตัวเราและคนอื่นๆ ก็มีประโยชน์เช่นเดียวกัน
เมื่อยอมรับด้านมืดของตนเอง ไม่พยายามสู้หรือหนีกับข้อบกพร่องของตนจนเกินไป เราก็จะยอมรับโลกและผู้คนต่างที่เป็นจริงมากขึ้น ความเป็นนักนิยมความสมบูรณ์แบบในตัวเราก็จะผ่อนคลายลง และใช้ได้เป็นประโยชน์มากกว่าที่ผ่านมา เราไม่จำเป็นต้องพยายามขจัดตัวตนใดข้างในให้ตายจาก แค่เพียงดึงคุณค่าที่แท้จริงของเขาออกมา
อย่ารังเกียจตนเอง จนพยายามแก้ไขชีวิตมากเกินไป มองให้เห็นสิ่งที่ดีงาม แม้ในความเป็นตัวเราที่ไม่ได้สวยงามไปทุกๆ เรื่อง แล้วเราจะมีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่ และในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย ให้แก่ตนเองและโลกรอบๆ ตัวเราได้
6. ยืดหยุ่นไปกับชีวิต :
การบังคับให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามใจตน ไม่เคยทำให้เราและคนรอบตัวสุขใจอย่างแท้จริง เปรียบชีวิตดั่งการว่ายน้ำหรือล่องเรือกลางท้องทะเล แม้จะกังวลใจหรือโกรธคลื่นน้ำและกระแสลมที่แปรปรวนไม่แน่นอนเพียงใด ท้องทะเลก็เป็นดั่งเดิม คือเป็นไปตามธรรมชาติ ชีวิตก็เป็นไปตามธรรมชาติ ทุกๆ วันเต็มไปด้วย “อนิจจัง” ให้เราอนิจจา-ปลงใจกับมัน แต่หากเราขัดขืนความจริงด้วยการพยายามบังคับให้โลกเป็นไปตามใจ เราก็จะทุกข์และเครียดกับสิ่งที่เป็นธรรมชาติเหล่านี้
เราต้องถามใจตนเองว่า… จริงๆ แล้ว ฉันต้องการอะไร… ในเวลาที่เกิดความหงุดหงิดใจหรือความทุกข์กับสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบทั้งหลาย เราอาจกำลังหลงลืมเป้าหมายที่แท้จริงในใจตนเองไป ในเวลาที่ตัวตนนักนิยมความสมบูรณ์แบบนั้นครอบงำใจอยู่ ดังนั้นแล้ว หลังจากกลับมาระลึกรู้ตัว สำรวจความรู้สึกจริงๆ ข้างใจ เราควรได้ไถ่ถามและตรวจสอบตนเองว่า ความต้องการที่แท้จริงในตอนนั้นคืออะไรกันแน่
ชีวิตต้องการสิ่งใดมากกว่ากันระหว่าง ความสุขสงบ กับ ความสมบูรณ์แบบ ด้วยศักยภาพมหาศาลของคน เราอาจสร้างสิ่งที่ใกล้เคียงความสมบูรณ์แบบได้ อาทิ การเลี้ยงลูกจนเป็นเด็กที่เป็นเลิศได้รางวัลระดับชาติ ประกอบธุรกิจการงานจนประสบความสำเร็จ เก็บรายได้รายรับเป็นหลักล้าน มีสื่อสังคมออนไลน์ผู้ติดตามท่วมท้น หรือสร้างภาพให้แก่ตนเองดีงามบริบูรณ์ แต่คุ้มค่าหรือไม่ หากต้องแลกความสมบูรณ์แบบเหล่านั้นกับความสุข ความสงบ ความรัก ความอบอุ่น และสุขภาพกายจิตที่ดี
ในบทความตอนก่อนหน้า (อย่าควบคุมลูกมากเกินไป : กรณีศึกษา แคเรน คาร์เพนเทอร์ และงานวิจัยอื่น) ผู้เขียนได้ยกกรณีศึกษาการเลี้ยงลูกของผู้ปกครองที่ใส่ใจความสมบูรณ์แบบ จนบังคับกะเกณฑ์และครอบงำชีวิตลูกเกินไป ซึ่งมีผลเสียทางด้านจิตใจและการใช้ชีวิตของลูกอย่างมหาศาล แม้เขาหรือเธอจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม
ในฐานะพ่อแม่อาจต้องการให้ลูกประสบความสำเร็จ เป็นคนดี และทำให้ตนเองรู้สึกภาคภูมิใจ แต่ผลที่ตามมานั้นกลับทำให้ลูกมิอาจรู้สึกถึงความรักและการมีคุณค่า นำมาสู่พฤติกรรมการทำร้ายตนเองในทางตรงและอ้อม ความรักที่บีบบังคับในกรอบอันสมบูรณ์แบบตามใจพ่อแม่บั่นทอนสุขภาพกายและจิตของลูกให้ทรุดโทรม แม้จะประสบความสำเร็จเป็นนักร้องชื่อดังก็ตาม กลับยากจะหาความสุขและความพึงพอใจในตนเองได้อย่างแท้จริง จนนำมาสู่โศกนาฎกรรม ครั้งแล้วครั้งแล้ว
การสร้างกฏเกณฑ์ เงื่อนไข และมาตรฐานให้แก่ตนเองและคนรอบข้าง เช่นการหวังให้คนรอบข้างเป็นแบบนี้ ทำกับเราแบบนี้ หรือตัวฉันจะต้องเป็นแบบนี้ ทำได้แบบนี้ มีเงินมากเท่านี้ ประสบความสำเร็จมากเท่านี้ ทำงานได้เท่านี้ ฯ จริงๆ เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อเติมเต็มความต้องการในใจเรา อาทิ ความรัก ความอบอุ่น การเห็นคุณค่าในตนเอง ความสุข ความมั่นคง ความวางใจ ความเคารพ เป็นต้น
หากเรายึดติดกับเครื่องมือ คือกฏเกณฑ์ เงื่อนไข และมาตรฐานต่างๆ เหล่านี้แล้ว แทนที่เราจะเติมเต็มความต้องการจริงๆ ในใจ เรากลับทำให้ตนเองห่างไกลออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะใจเราหลงทางไปมัวหมกมุ่นกับความไม่สมบูรณ์แบบต่างๆ จนลืมเป้าหมายที่แท้จริง
จำเป็นหรือ ที่เราจะต้องตึงเครียดและทำลายความสุข ความรัก ความสัมพันธ์ และความสงบใจ เพียงเพื่อหวังให้ได้มาซึ่งความสมบูรณ์แบบตามความคิดของตนเอง มันคุ้มค่าที่จะแลกมาจริงๆ หรือ ในเมื่อความสมบูรณ์แบบเป็นแค่เครื่องมือและทางเลือกในการเติมเต็มความต้องการของเราเท่านั้น
การผ่อนคลายและการยืดหยุ่น ก็เป็นเครื่องมือและทางเลือกในการไปถึงเป้าหมายที่ใจเราต้องการจริงๆ ได้เช่นเดียวกัน ไม่ใช่แค่ความ “เป๊ะ” หรือความ “เนี้ยบ” เท่านั้นที่ทำได้ ชีวิตของคนเรานั้นกว้างขวางและไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว แค่ความยึดติดที่มักทำให้รู้สึกว่ามีเพียงทางเลือกเดียวเท่านั้น
“ยืดหยุ่น” คือการไม่ยึดติดในไม้บรรทัดเดียว เพราะไม้บรรทัดเดียวสั้นและเล็กเกินไปที่จะใช้ได้กับทุกเรื่องและทุกคนในชีวิต เราไม่จำเป็นต้องมีไม้บรรทัดเดียวที่คอยชี้วัดและกะเกณฑ์ทุกสิ่ง ซึ่งหลายครั้งเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องวัดด้วยซ้ำไป
การยืดหยุ่นเหมือนกับการว่ายน้ำ การแหวกว่ายไปให้ถึงฝั่งอย่างมีความสุขท่ามกลางมวลคลื่น เราต้องรู้จักการผ่อนปรนกับธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งกับสายลมกับคลื่นทะเล โอนอ่อน ปรับตัว และไหลลื่นไปด้วยกัน แหวกว่ายกายใจเคลื่อนไหวกับน้ำทะเล หรือปล่อยตัวผ่อนคลายนอนให้มวลน้ำช่วยพยุง ยิ่งเกร็งยิ่งฝืนต้านเราก็จะยิ่งจมลง
ความกลัวในหัวใจก็จะพาให้เราตึงเครียดมากเกินไป เหมือนว่ายน้ำแล้วรู้สึกกลัวน้ำและความลึก ยิ่งเกร็งตัวเองก็ยิ่งลำบาก เราต้อง “เชื่อใจ” และ “วางใจ” ปล่อยให้ตัวเราเป็นส่วนหนึ่งกับท้องทะเล ปล่อยให้ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มิใช่พยายามควบคุมชีวิต เดินทางไปกับชีวิตไม่ใช่พยายามควบคุมมัน ให้เราเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันกับคนรัก และสิ่งที่เรารักที่จะทำ มิใช่เจ้าของที่พยายามสั่งการและบีบบังคับกันอย่างเป็นทุกข์
ความเชื่อใจกับความวางใจเป็นกุญแจสู่ความยืดหยุ่น อย่างน้อยที่สุดคือการวางใจว่าตัวเราเองนั้นได้ทำสิ่งต่างๆ อย่างดีที่สุด แล้วเชื่อใจว่าไม่ว่าผลออกมาจะเป็นอย่างไร เราสามารถก้าวเดินต่อไปบนหนทางที่เหมาะสม และสามารถรับมือหรือปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ และเชื่อมั่นว่าเรามีคุณค่าเสมอ ไม่ว่าสิ่งที่ทำหรือเจอนั้นจะสมบูรณ์แบบหรือไม่ก็ตาม
7. เว้นช่องว่าง :
ความเต็มที่ ความเต็มเปี่ยม และความครบถ้วน ไม่ใช่คุณค่าที่สมบูรณ์แบบที่สุด บ้านอยู่ได้ เพราะบ้านมีพื้นที่โล่งให้เราอยู่อาศัยและหายใจ งานเขียนต้องมีช่องไฟระหว่างอักษรและการเว้นวรรค ดนตรีไพเราะเพราะมีจังหวะความเงียบที่สลับกับเสียงเครื่องดนตรีอย่างพอดี การออกแบบที่ดีนั้นต้องมีช่องว่าง ชีวิตที่ดีต้องมีพื้นที่ว่างให้หัวใจและการรู้จักเว้นช่องว่างบ้าง
การเต็มที่กับสิ่งต่างๆ อย่างทุ่มเทและตั้งใจจนถึงที่สุด รวมถึงการพยายามทำให้สิ่งที่ดีที่ใส่ใจมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม แม้เป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็เป็นเพียงคุณค่าด้านเดียวเท่านั้น การเว้นช่องว่างให้ตัวเราและคนอื่นมีพื้นที่เป็นของตนเอง ได้พักผ่อน สงบใจ และพอใจกับสิ่งที่มี เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน
การมีช่องว่างเป็นอีกด้านหนึ่งของความเต็มเปี่ยมที่ต้องเติมให้สมดุล บ้านที่เต็มไปด้วยข้าวของเครื่องเรือนอันเลิศเลอต่างๆ จนอัดแน่น เราจะเข้าไปใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอยู่ในนั้นได้อย่างไร แม้แต่โกดังเก็บของยังต้องเว้นช่องว่างสำหรับการถ่ายเทเคลื่อนย้าย เราจะออกแบบชีวิตให้สมบูรณ์ได้ เราต้องมีพื้นที่ว่างอยู่ในนั้น
ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรากับคนที่รัก หรือเรากับงานก็ดี ต้องรู้จักเว้นช่องว่างระหว่างกัน หรือมีช่วงเวลาให้ถอยห่างจากกันเพื่อมีพื้นที่ส่วนตัวของตนเอง เพื่อให้ต่างดูแลความต้องการในใจ โดยที่ทั้งสองฝ่ายยังคงส่งเสริมกันและกันให้มีความสุข ความอบอุ่นไม่ใช่นำพื้นที่ทั้งสองฝ่ายมาแออัดกัน เบียดกันตลอดเวลาก็จะกลายเป็นเบียดเบียน เราต้องถอยออกมามองสถานการณ์ในมุมใหม่บ้าง
ต้นไม้ที่เติบโตใกล้กันเกินไป ย่อมบั่นทอนซึ่งกันและกัน ชีวิตเราจะเติบโตต้องอาศัยพื้นที่ว่างและระยะห่างที่เหมาะสม เราทั้งสองฝ่ายเปรียบเหมือนนกรักเสรีและเต็มเปี่ยมด้วยศักยภาพแห่งการโบยบิน เราต้องเว้นพื้นที่กางปีกของกันและกัน มิเช่นนั้นแล้วต่างฝ่ายต่างก็จะไม่บรรลุในศักยภาพที่เกิดมาเพื่อจะเป็น ความรักก็จะขังกันไว้ในความอบอุ่นที่อึดอัด
การใฝ่ในความสมบูรณ์ ไม่ใช่สิ่งที่ผิด ทว่าต้องใฝ่ในความสมดุลด้วย การเป็นคนเต็มที่นั้นน่าชื่นชม ทว่ากายกับใจก็มิใช่เครื่องจักรไร้ชีวิต ที่มีไว้ใช้งานหนักจนเสื่อมทรุด เราคิดเรื่องนั้นเยอะแล้ว เราทำเรื่องนั้นมากแล้ว ควรให้ช่วงเวลาพักกับกายใจนี้บ้าง เมื่อคิดมากเกินไปก็ลองพักคิดกลับมาอยู่กับลมหายใจ ความรู้สึก หรือการเคลื่อนไหว เพื่อเว้นช่องว่างให้ความคิดได้ผ่อนพัก แล้วค่อยๆ สยายปีกของตนเองออกมา
หากเรื่องใดทำให้เครียด กังวล และรบกวนใจมากเกินไป เราสามารถเว้นพื้นที่ด้วยการถอยออกมา ใส่ใจสิ่งอื่นที่สำคัญไม่แพ้กัน รับฟังมุมมองผู้อื่น ทำงานอดิเรกให้เกิดสมาธิ ยิ่งหมกมุ่นอาจยิ่งคิดหาหนทางไปต่อยาก การปลีกตัวออกมาเว้นช่องว่างกับเรื่องนั้นๆ อาจทำให้เราได้คิดมุมมองใหม่ๆ มากขึ้น
การเว้นพื้นที่ให้กับสิ่งทั้งหลาย ช่วยส่งเสริมให้จิตใจเรามีความสงบ ยอมรับความเป็นจริง แล้วยินยอมให้ตนเองและสิ่งทั้งหลายมีตำหนิ เพื่องดงามในแบบของตนเอง ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอันซ้ำซากจำเจ
ชีวิตที่สมบูรณ์แบบ ไม่จำเป็นต้องมีแต่สิ่งที่สมบูรณ์แบบ การมีข้อบกพร่องด่างพร้อย หรือความไม่ดีพอในบางเรื่องบ้าง นั่นก็ทำให้เป็นชีวิตที่สมบูรณ์อย่างแท้จริงได้เช่นเดียวกัน
บทความนี้ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด การฝึกขัดเกลาความใฝ่สมบูรณ์แบบ ต้องทำงานหนักกับการฝึกใจยับยั้งความอยากและการยึดติด โดยบางทีเราอาจไม่ทันรู้ตัวว่ากำลังใฝ่ความสมบูรณ์แบบหากไม่มีสติเพียงพอ ต้องใช้อุบายฝึกตนทั้งทางกาย วาจา และใจอีกมาก แต่พื้นที่ว่างจากอักษรและเนื้อความหลังบทความนี้ คือพื้นที่ว่างแห่งการเติบโตของผู้อ่าน และผู้เขียน เว้นช่องว่างให้แก่ดวงตาและดวงใจได้พัก แล้วหยั่งเห็นในสิ่งที่ไม่ได้เขียนไว้…
*(1) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก กิสาโคตมีเถริยาปทานที่ ๒ [๑๖๒]
ครูโอเล่
14. ธ.ค. 2566
ติดตามกิจกรรมของโครงการ
เรียนออนไลน์ฟรี
https://punnspace.com/learning/
บทความคอลัมน์ ไกด์โลกจิต