อยู่ยากหรืออยู่ง่ายไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบเป็นสำคัญ อยู่ในวัดอารามแหล่งบุญหรือท่ามกลางชนบททุ่งนา อาจเป็นการอยู่ยากได้ไม่น้อยกว่าผู้ต้องขังเรือนจำ อยู่ยากหรืออยู่ง่าย ไม่ได้วัดที่ชอบความง่ายๆ หรือชอบความท้าทายซับซ้อน
แต่อยู่ที่ ยึดมั่นมาก หรือ ยึดมั่นน้อย
อยู่อย่างยึด ย่อมอยู่ยาก ใจเราก็เหมือนนักเดินทางไกลที่แบกสัมภาระมากมาย ยิ่งเดินทางไปถึงไหน ยิ่งหาสัมภาระใหม่มาแบกถือ อย่างนี้จะถึงเป้าหมายอย่างไร เราทำให้การเดินทางชีวิตนั้นยากเอง ยิ่งแบกหนักเข้าเราก็อาจเหนื่อยล้าจนลืมความสวยงามระหว่างทาง
มนุษยเรานี่เก่งนะ ทำให้ชีวิตที่ง่ายตามวิถีธรรมชาติให้ยุ่งยากซับซ้อนและก็ทนอยู่กับมันได้ แต่ความเก่งนี้แทนที่จะเพื่อช่วยให้ตัวเราและเพื่อนหลุดพ้นจากทุกข์ กลับก่อทุกข์เพราะเกาะกุมสิ่งต่างๆ อยู่ร่ำไป เอาความเก่งนั้นมาทำให้ชีวิตอยู่ยาก แทนที่จะทำให้ง่าย
อยู่อย่างยึด ย่อมยากลำบาก ต้องคอยอยากให้ได้ อยากให้เป็น อย่างที่ยึดมั่นไว้ เช่นโทรศัทพ์มือถือเราหวังให้มันเป็นอุปกรณ์พิเศษและมีรุ่นใหม่ไม่น้อยหน้าใคร เราต้องทำงานหนักเพื่อผ่อนจ่าย คอยพะวงดูแลรักษา ใช้สมองคิดแก้ปัญหาความซับซ้อนของระบบ หาเงินจ่ายค่าโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตรายเดือน และเสียค่าซ่อมเมื่อเครื่องรวนหรือเสียหาย ชีวิตเหมือนจะสบายเพราะสิ่งอำนวยความสะดวก แต่มันกลับทำให้เราอยู่ยากขึ้น เมื่อรายจ่ายมากเข้า รายรับเท่าเดิมหรือผันผวนตามเศรษฐกิจ เรามีเวลาให้หน้าจอสัมผัส แต่มีเวลายิ้มให้ตนเองและครอบครัวน้อยลง มีความสุขเมื่อได้ครองสิ่งที่หวังยึดมั่น แต่ใจเป็นทุกข์หนักเพราะภาระต่างๆ ต้องดูแล
ความยึดมั่นเกิดจากความอยาก เมื่อได้อย่างที่หวังก็ต้องอยากรักษาให้คงอยู่ สูญเสียไปก็เสียดายและใฝ่หวังหาสิ่งทดแทน ทุกข์ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และบั้นปลาย นี่อยู่อย่างง่ายหรืออยู่อย่างยาก เราต้องใคร่ครวญ
อยู่อย่างยึดมั่นความคิดตนก็ยาก ใครจะพูดจาหรือหาทางออกจากปัญหา ก็กลายเป็นความขัดแย้งหรือการทำร้ายแก่กัน ใครพูดกระทบกระเทือนเราก็รู้สึกไปเองว่าความคิดที่ตนยึดมั่นถูกกระทบกระทำ ตัวตนเราที่ยึดมั่นก็รู้สึกถูกกระทบกระแทกไปด้วย สมองเราก็ตื้นเขินเพราะเอาแต่จมปลักในปัญญาของตนเองมิฟังใครอื่น
หลายคนบอกว่ายากหนอชีวิต อุปสรรคมากมายก่ายกอง จะได้ดังหวังก็ราวไร้ฝั่ง ไยเราจึงไม่ทบทวนว่าเหตุใดมันจึงยากถึงเพียงนี้
อยู่อย่างยึดอะไรก็ถูกครอบงำด้วยสิ่งนั้น ยึดความทะเยอทะยานก็บ้าความสำเร็จไม่รู้ประมาณ ยึดความอาลัยอาวรณ์ ชีวิตก็มีแต่หยุดนิ่งในห้วงเศร้า ยึดในอุปสรรคขวากหนามก็อาจละเลยโอกาสแต่ละช่วงเวลาที่มีอยู่
มันไม่ใช่กฏแห่งชีวิตที่บังคับเราต้องยึดมั่นสิ่งเหล่านั้นเลย มีแต่ตัวเราที่เลือกอยู่อย่างยึดให้ทุกข์เรื่อยมา เรายึดเพราะเราอยาก และความอยากนี้ก็เป็นมหาสมุทรไร้ที่สิ้นสุด เรามัวแต่หลงอยู่ในคลื่นน้ำจนหลงลืมว่าเรามีฝั่งฝัน ความต้องการที่แท้จริงของชีวิต
การเข้าใจความต้องการที่แท้จริงนั้นไม่ยากเลย ไม่จำเป็นต้องเข้าอบรมหรือยึดมั่นทฤษฎีสวยหรู เมื่อเห็นว่าตนอยู่ยากเพราะยึดมาก อยู่ลำบากเพราะอยากมาก แล้วแก้ทุกข์ด้วยการละอย่างตรงจุด เมื่อยึดน้อย เมื่ออยากน้อย ความต้องการจริงๆ ที่ถูกปกคลุมด้วยความยุ่งยากและยุ่งเหยิงแห่งจิตใจและชีวิต ก็จะเผยให้เห็นดั่งหมอกสางจางคลาย
เมื่อเราใช้ชีวิตด้วยการยึดมั่นหวังให้ชีวิตและสิ่งต่างๆ เป็นไปอย่างที่เราต้องการ หัวใจเราจะเหนื่อยหนักมากเพียงไหนที่ต้องพยายามมากเข้า มากเข้า ให้ทุกสิ่งเป็นเช่นที่ยึด และต้องพยายามรักษาเพื่อให้คงเป็นเช่นนั้น ร่างกายคงฟ้องด้วยความเจ็บป่วย ใครอื่นคงทำให้เราโมโหยามไม่ได้ดั่งใจ ทั้งที่เราต้องการความสงบ ความสบาย และความผ่อนคลาย กลับสร้างความอึดอัดใจและความเคร่งเครียดถมทับแก่ตนเอง
ยิ่งยึดมาก เราก็ยิ่งปรุงแต่งความคิดความรู้สึกจนจิตใจพันอีรุงตุงนัง เราก็ย่อมถูกบดบังการเข้าใจตนและชีวิตอย่างที่เป็น
ยิ่งใช้ชีวิตอย่างยึดมาก บวกวิถีของจิตที่เข้าไปข้องเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ อย่างยุ่งเหยิง ชีวิตก็ยิ่งยุ่งยาก นี่คือความซับซ้อนของคนในสังคมที่อุดมด้วยความเจริญทางวัตถุ ซึ่งยั่วยวนให้เราอยากนั่นอยากนี่อยู่สม่ำเสมอ
ยิ่งอยาก ยิ่งยึด ยิ่งยุ่งยาก นี่คือชีวิตของเราหรือไม่
หากมันเป็นสิ่งที่เราเป็น แต่มิใช่สิ่งที่ควรเป็นชีวิต เราจะเลือกอะไรให้แก่ชีวิตเรา พุทธเจ้าท่านเพียงแสดงธรรม แต่ใครจะเลือกอะไร นั่นแล้วแต่เราเอง
หลัก “สันโดษ” เป็นหนทางที่เราพึงใส่ใจ สันโดษ ไม่ได้แปลว่าโดดเดี่ยวจากสิ่งแวดล้อมหรือผู้คน แต่โดดเดี่ยวจากความอยาก โดดเดี่ยวจากการไม่เห็นคุณค่าสิ่งที่มี และโดดเดี่ยวจากความเกินพอดี
เมื่อรู้จักน้อย ย่อมรู้จักมาก คือรู้จักที่จะลดละ ย่อมสามารถพิจารณาสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญามากขึ้น ด้วยไม่ถูกความอยากและการยึดปิดบังดวงตาหัวใจ มิใช่นั้นแล้วความคิดเราก็จะถูกปกคลุมด้วยการยึดมั่นมาก
ยิ่งยึดในความคิดตนเองด้วยแล้วเราก็จะมัวมองแต่ด้านเดียว แม้แบกบ่าความรู้ท่วมหัวก็ไม่อาจแก้ทุกข์ นี่ตัวอย่างของ ไม่รู้จักน้อย ไม่รู้จักมาก
บทความนี้แนะนำทางแก้เพียงน้อย เพื่อให้เราค้นคว้าในตนและในชีวิตตัวให้มาก ลิขิตเลือกความพอดีของชีวิตด้วยตัวเอง
อยู่อย่างยึด อย่างไรก็ยังยาก
อยู่อย่างละ เพื่อใจงามง่าย
ครูโอเล่
๘ กรกฏาคม ๒๕๕๙
คอลัมน์ “ไกด์โลกจิต”