9 ส. (ศ) เพื่อหลุดพ้นจากบ่วงความคิด :
เรียบเรียงใหม่จาก คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 47
.
อุบายในการเป็นอิสระจากบ่วงความคิดอาจจำแนกแจกแจงได้หลายแบบหลายแนวทาง แต่ในบทความนี้ขอกล่าวถึงแนวทางและสิ่งที่จะช่วยเหลือให้เป็นอิสระจากการเป็นทาสของความคิด จำนวน 9 อย่างด้วยกัน เรียกว่า เก้า ส. (ศ) เพื่อหลุดพ้นจากบ่วงความคิด
.
ส 1. คือ “สงบ”
เพราะความคิดรวดเร็วและว่องไว บ่อยครั้งจึงทำให้รู้สึกว่าดูแลจัดการความคิดของตนเองไม่ได้เลย จะดึงความคิดให้หยุดนิ่งหรือช้าลงก็ยากมาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วเราดึงความคิดให้ช้าลงได้ ด้วยการปรับให้กายกับใจช้าลงตามลำดับ
เวลาที่กายใจวุ่นวายและร้อนรน ตอนนั้นกลไกปกป้องตนเองมักจะทำงานอยู่ ทำให้เราคิดแบบปลายปิด คิดในมุมแคบ คิดในทางที่จะปกป้องตัวตน หรือคิดอะไรไม่ได้เลย เพราะขาดความสงบ ร่างกายก็จะอยู่ในความตึงเครียด มีแต่ความยุ่งวุ่นวาย รีบร้อน และอารมณ์ต่างๆ รบกวน
ความสงบในที่นี้ไม่ใช่เพียงความสงบในสิ่งแวดล้อม แต่หมายถึงความสงบของกาย วาจา และใจของเราเอง เราควรผ่อนเกียร์ ผ่อนคันเร่ง ให้แก่การใช้ชีวิตของตนเองบ้าง เพื่อลดกลไกปกป้องตนเอง
เริ่มจากร่างกายก่อน ให้ร่างกายเราได้ช้าลงและอยู่ในความสงบก่อน เมื่อร่างกายผ่อนคันเร่งลง ใจเราก็จะช้าลงตาม ลองให้เวลาใจหรือความรู้สึกได้สงบลงและช้าลงก่อน ความคิดก็จะช้าลงตามมา และชัดเจนมากขึ้นตาม จากนั้นเราก็จะดูแลจัดการกับความคิดได้ดี เพราะเราเห็นความคิดของตนอย่างชัดเจน และมีกายใจที่ตั้งมั่น
การช้าลงก็เหมือนกับการผูกรั้งว่าวไว้ มิให้ปลิวไปไกลตามแรงลม ว่าวนั้นอาจไม่ได้หยุดนิ่งเสียทีเดียว เหมือนกับความคิดที่จะมีเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงตามปัจจัย แต่ก็อยู่ใกล้ๆ มากเพียงพอให้เรามองเห็นและดูแลจัดการได้ ดีกว่าปล่อยให้ปลิวไป โดยไม่มีสายผูกรั้งไว้เลย
กิจกรรมที่ได้กลับมาอยู่กับร่างกายหรือดึงให้เราทำอะไรช้าลงกว่าความคิด จึงเป็นอุบายสำคัญที่เราควรมีไว้ฝึกทำบ่อยๆ มิว่าจะด้วยการทำโยคะ การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม หรือการเขียนบันทึกด้วยมือ เพื่อให้เวลากลับมารู้สึกตัว และตระหนักว่าเราไม่จำเป็นต้องรีบร้อนวุ่นวายไล่ตามความคิดก็ได้ ปล่อยให้ความคิดคอยเราบ้างก็ได้
ความคิดไม่ได้มีไว้ให้เราวิ่งไล่ตาม แต่มีไว้ให้เราคอยดึงให้ช้า และดูด้วยความสงบใจ เหมือนมองว่าวที่ผูกไว้ดีแล้วลอยไหวๆ บนฟ้า
.
ส 2. คือ “สติ”
การคิดถือเป็นสังขารหรือการปรุงแต่งอย่างหนึ่ง *(๑) การปรุงแต่งนี้มักเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้หรือความหลงผิดไป เรียกว่า “อวิชชา” เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารเกิดขึ้น *(๒) ความไม่รู้และหลงผิดไปเกิดขึ้นก็เพราะการขาดปัญญาที่จะเข้าใจความจริงอย่างที่เป็นจริง ทำให้เราตกในบ่วงแห่งความคิดที่วนเวียนไปมาด้วยความไม่รู้
เหมือนหลงในเขาวงกตในหัวของตนเอง จนกว่าจะเกิดปัญญาให้เราหลุดพ้นออกมา
การที่จะมีปัญญาที่รู้เห็นตามความเป็นจริงมากขึ้นได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากการมีสติก่อน ดังคำสอนพระพุทธเจ้าซึ่งทรงตรัสว่า…
เมื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่ หิริและโอตัปปะ (ความรู้ผิดชอบชั่วดี รู้ควรไม่ควร) ย่อมมีแก่บุคคลผู้นั้น เมื่อหิริและโอตัปปะมีอยู่ อินทรียสังวร (ความสำรวมระวัง) ย่อมมีแก่บุคคลผู้นั้น เมื่ออินทรียสังวรมีอยู่ ศีล (การครองตน) ย่อมมีแก่บุคคลผู้นั้น เมื่อศีลมีอยู่ สัมมาสมาธิ (ความมีใจจดจ่ออย่างเหมาะสม) ย่อมมีแก่ผู้นั้น เมื่อสัมมาสมาธิมีอยู่ ยถาภูตญาณทัสนะ (การเห็นความจริงอย่างที่เป็นจริง) จึงมีแก่บุคคลผู้นั้น *(๓)
เราจะเป็นอิสระจากความคิดที่ครอบงำใจ แล้วรู้เห็นโลกตามความเป็นจริง ต้องเริ่มจากการมีสติ คือรู้ตัว รู้เท่าทันตนเองและความคิดในปัจจุบัน การมีสติรู้ตัวในที่นี้แบ่งออกเป็นสองส่วน หนึ่งคือการระลึกรู้ได้ว่า ตอนนี้กำลังคิดอยู่ และกำลังคิดอะไรอยู่อย่างไร สองคือการมีสติอยู่ที่ร่างกายของตนเองในปัจจุบัน รับรู้ถึงการหายใจ สัมผัสของลมหายใจ หรือกำหนดสติไว้ที่ร่างกายส่วนอื่นก็ได้
สติส่วนที่สองนี้จะเป็นฐานที่มั่นให้กับใจ มิให้ไหลตามไปกับส่วนแรกคือความคิดต่างๆ
เริ่มจากการรับรู้ว่ากำลังคิดก่อน รับรู้ว่ามีความคิดอะไรเกิดขึ้นก่อน และตอนนี้จำเป็นต้องครุ่นคิดหรือตั้งใจคิดหรือไม่ หากไม่แล้วพาใจมารับรู้ที่ลมหายใจ สัมผัสของลมหายใจ และการหายใจของตนเอง หรือกำหนดไว้ที่ร่างกายส่วนอื่นตามถนัดก็ได้
ความคิดมักพาให้เราหลุดออกไปจากโลกความจริง อยู่ในหัวของตนเอง แต่การพาสติกลับมาอยู่ที่ร่างกายจะช่วยให้เรากลับมาอยู่กับความจริงมากขึ้น และทำให้จิตมีที่เกาะไว้ ไม่ฟุ้งซ่านคิดเรื่อยเปื่อยไปตามการปรุงแต่ง
หากเราคิดเพลินไปอย่างขาดสติ ความคิดก็จะครอบงำกาย วาจา และใจของเรา เมื่อมีสติ เราก็จะสามารถเลือกคิดได้อย่างถูกต้อง หรือเลือกที่จะไม่คิดก็ได้ และมีปัญญาพิจารณาสิ่งต่างๆ ไปตามความจริง ดังนั้น ควรฝึกพาใจกลับมาหาลมหายใจหรือความรู้สึกในร่างกายให้มาก แม้ทำเพียงหนึ่งนาที หนึ่งนาทีนั้นก็เป็นเวลาที่มีคุณค่าแล้ว
.
ส 3. คือ “สำรวม”
ความคิดทั้งหลายเป็นการปรุงแต่งที่เกิดจากการรับรู้ อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ หากเราประมาทในการรับรู้ เพลิดเพลินใจไปกับการรับรู้ หลงไปกับการรับรู้ จิตก็จะคิดปรุงแต่งเป็นความคิดไปเรื่อยอย่างไม่รู้เท่าทัน ดังนั้นเราจึงต้องสำรวมระวังในการรับรู้ หรือเรียกว่า “อินทรียสังวร” *(๔)
เมื่อเราได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส หรือได้รู้สึก ต้องมีสติรู้ตัว รู้ยับยั้ง และรู้ระวัง ไม่ปล่อยให้เพลิดเพลินหรือหลงตามไป และรู้จักเลือกในการเสพหรือการรับข้อมูลข่าวสารทางอายตนะเฉพาะที่เกิดประโยชน์ ที่สำคัญคือเลือกเสพสิ่งที่ไม่ส่งเสริมความโลภ โกรธ และหลง อย่างนี้จึงเรียกว่า การสำรวมระวัง ในพุทธศาสนา
เปรียบจิตเหมือนดังบ้าน อายตนะก็จะเปรียบได้กับประตู หน้าต่าง รูรั่ว และช่องต่างๆ ที่ลม ฝน และคนร้ายอาจจะเข้ามาทางช่องเหล่านี้ได้ หากเราเปิดอ้าไว้ มิได้ดูแลหรือซ่อมแซม สิ่งไม่ดีทั้งหลายก็จะเข้ามาทำให้บ้านเสียหายได้ แต่จะปิดไว้หมดเลยก็อับ ขาดอากาศ และอยู่ไม่ได้ การสำรวมจึงไม่ใช่การปิดตายแต่เป็นการระมัดระวังดูแลให้ดี
เมื่อบ้านสะอาดและปลอดภัย เพราะดูแลประตูหน้าต่าง รูรั่วและช่องต่างๆ อย่างดี คนในบ้านก็ปลอดภัย และอยู่ได้อย่างสงบสุข เฉกเช่นเดียวกันหากเราได้สำรวมระวังอายตนะของตนเองแล้ว การคิดก็เป็นไปอย่างเป็นสุข เป็นประโยชน์ และนิ่งสงบ เพราะไม่ต้องคอยวิ่งวุ่นจัดการกับภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือพลังงานความรู้สึกใดๆ ที่รับเข้ามาในใจอย่างเกินจำเป็นแก่ชีวิต
.
ส 4. คือ “สมาธิ”
ความมีใจจดจ่อกับสิ่งที่ทำหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากพอ ถือว่าตอนนี้เรามีสมาธิแล้ว เป็นคุณลักษณะตามธรรมชาติที่ทุกชีวิตมีอยู่ แต่ถ้าไม่ได้ฝึกฝนก็จะไม่มั่นคง ไม่ยั่งยืน หรือไม่ได้ถูกใช้ให้เกิดคุณค่าอย่างแท้จริง ดังนั้น อย่าคิดว่าตนเองไม่มีสมาธิ เราทุกคนมีอยู่ แค่เราต้องฝึกฝนเท่านั้น
การมีสมาธิ แม้ในระดับเบื้องต้นก็ดี ย่อมทำให้จิตไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมไม่คิดเรื่อยเปื่อยหรือคิดกังวลใจต่างๆ นานา การจะพ้นจากทาสความคิดก็ต้องกำหนดใจให้มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งตรงหน้าที่เรากำลังกระทำ หากความคิดใดหลอกหลอนในใจเรา เราก็เพียงต้องจดจ่อกับสิ่งที่ทำตรงหน้าให้มากขึ้น อย่าไปหมกมุ่นกับความคิดนั้น
ทั้งนี้การมีสมาธิที่ถูกต้อง หรือ สัมมาสมาธิ ไม่ใช่จดจ่อสิ่งใดจนกลายเป็นการหมกมุ่น บางครั้งการเป็นทาสทางความคิดก็เกิดจากเรามีสมาธิ แต่เป็นสมาธิที่ไม่ถูกต้อง เพราะไปหมกมุ่นหรือใส่ใจบางเรื่อง หรือบางคน มากเกินไป ทำให้คิดตอกย้ำ ย้ำความคิด วนในความคิดบางเรื่องหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนเกินควร จนเป็นทุกข์ จนมิได้ใส่ใจดูแลเรื่องอื่นๆ ที่ควรใส่ใจมากกว่า
เมื่อรู้ตัวแล้วว่าเรากำลังมีสมาธิที่ไม่ถูกต้อง เราต้องย้ายสมาธินั้นมากำหนดที่อื่นที่มีประโยชน์แทน เท่านี้เราก็กำลังเป็นนายเหนือจิตตนเองมากขึ้นแล้ว
ประกอบกับการมีสติเพื่อรู้ตัวว่ากำลังจมในความคิดใดเกินไป หรือมีสมาธิกับสิ่งตรงหน้าน้อยเกินไปหรือไม่ พร้อมกับการสำรวมระวังกายใจ ไม่ไปยุ่งวุ่นวายกับสิ่งที่จะทำให้เกิดความคิดหมกมุ่นหรือฟุ้งซ่าน เลือกให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ได้รับรู้ในสิ่งที่ส่งเสริมให้ตนช้าลง สงบลง และเตือนสติ
สมาธิจะตั้งมั่น ไม่คลอนแคลนง่าย และเป็นไปอย่างถูกต้อง ต้องอาศัย ส. ทุกข้อที่ผ่านมา ทั้งสงบ สติ และสำรวม ทั้งสาม ส. นี้ต่างช่วยให้ใจมีสมาธิง่าย และประคับประคองให้มั่นคง
.
ส 5. คือ “สังเกต”
เมื่อมีสติและสมาธิเพียงพอแล้ว พึงให้เวลาทบทวนความคิดของตนเองบ้าง ในช่วงหนึ่งวันที่ผ่านมา หรือชั่วโมงที่ผ่านมาก็ได้ ฉันคิดอะไรบ้าง ฉันมักคิดเกี่ยวกับอะไร ลองสังเกตดูที่มาที่ไปของความคิดของตนเอง เพราะรับรู้อะไรจึงคิดแบบนี้ คิดแบบนี้เพราะอะไร ฉันคิดแบบนี้แล้วส่งผลอย่างไรต่อตัวเองบ้าง
การสังเกตความคิดทำได้หลายวิธี ทั้งการตรึกตรองในใจอย่างมีสมาธิ การบอกเล่าและปรึกษาครูอาจารย์หรือมิตรที่พร้อมช่วยเหลือ และการเขียนบันทึกจดความนึกคิดในแต่ละวัน หรือเขียนเพื่อทบทวนความคิดและเหตุการณ์ชีวิตที่ผ่านมา
ทุกความคิดมีเบื้องหลังเสมอ ลองสังเกตว่าความคิดที่ยึดถือไว้หรือกำลังวิ่งแล่นอยู่ในหัวมีเบื้องหลังอย่างไรบ้าง มีความต้องการและอารมณ์ใดที่ซ่อนอยู่ภายใต้ตรรกะนี้ เหตุการณ์ไหนในอดีตที่กระตุ้นหรือเป็นบ่อเกิดของความเชื่อแบบนี้ ลองสังเกตความคิดให้ดี ก่อนความคิดจะทำร้ายตนและคนรอบตัวมากไปกว่านี้
เมื่อเรามีสติและได้ฝึกสมาธิมากขึ้น เราก็จะสังเกตความคิดได้อย่างละเอียดและว่องไว เราจะสังเกตว่าความคิดนั้นๆ เกิดขึ้นอย่างไรและหายไปอย่างไร สลับไปมาระหว่างการเกิดขึ้นและดับไปของความคิด ซึ่งเกิดขึ้นมากมายหลายหนในแต่ละชั่วโมง และในแต่ละนาที
สังเกตดูดีๆ ก็จะเข้าใจธรรมชาติของความคิด มันไม่ได้คงที่ หรือเที่ยงแท้ ไม่ได้น่าพอใจหรือน่าเกลียดกลัว ไม่ใช่แม้เป็นตัวเราหรือของๆ เราเสียด้วยซ้ำ มันแค่เกิดขึ้นตามปัจจัย และเดี๋ยวมันก็มักจะแปรเปลี่ยนไป มิว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบมันก็ตาม
เมื่อเรารู้จักความคิดของตนดีพอ จิตก็จะเกิดปัญญา คลายจากความไม่รู้ซึ่งเป็นสาเหตุของบ่วงความคิดที่บั่นทอน เพราะได้สังเกตเห็นถึงความไม่เที่ยงแท้ของความคิด ความทุกข์จากการคิด และความไม่ใช่ตัวตนคงมั่นของการคิดแล้ว เมื่อนั้นเราก็เป็นอิสระ ไม่ใช่ทาสของมันอีกต่อไป
.
ส 6. คือ “สำรวจ”
.
การรับรู้มีผลต่อความเชื่อและความนึกคิดของเราทุกคน หากเปิดโอกาสให้ตนเองได้สัมผัสประสบการณ์และมุมมองที่แตกต่างจากเดิมบ้าง สิ่งนี้ก็จะช่วยให้ก้าวข้ามกรอบความคิดเดิมได้กว้างไกลมากขึ้น หากเปรียบจิตเหมือนบ้าน นอกจากเราควรดูแลประตูหน้าต่างและรูช่องต่างๆ แล้ว การเปิดให้โล่งโปร่งบ้างก็สำคัญ
สาเหตุที่คิดวนเวียนในแบบเดิมๆ หรือถูกครอบงำเพราะบางความคิดของตนเองมากเกินไป ส่วนหนึ่งก็เพราะเรารับรู้โลกอย่างจำกัด และยึดมั่นในสิ่งที่รับรู้ว่าเป็นที่สุดแล้ว เฉกเช่นกบในกะลาที่เชื่อว่าโลกทั้งใบมีอยู่แค่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของมันรับรู้ใต้กะลาครอบนั้นเอง
ลองอนุญาตให้ตนเองได้ซึมซับข่าวสารในมุมมองความเห็นที่แตกต่างจากตนเอง โดยไม่ด่วนตัดสินตีความถูกผิด ลองทดลองทำสิ่งที่ดีที่มีประโยชน์ต่อตนเองแต่ไม่เคยลงมือทำ ออกไปหาประสบการณ์ชีวิตด้วยการเดินทางไปในที่ที่ไม่คุ้นเคย พูดคุยและรับฟังผู้คนที่เราไม่รู้จักและใช้ชีวิตที่แตกต่างจากเรา ทำงานพิเศษที่แตกต่างจากงานหลัก มีงานอดิเรกที่ให้อารมณ์ต่างจากงานประจำ ไม่ตีกรอบตัวเองด้วยคำว่าจริต ฝืนความเคยชินให้เป็นอิสระจากความเคยตัวบ้าง
ลองเปิดรับผัสสะสัมผัสอื่นๆ ที่ไม่ค่อยได้ใส่ใจ เช่นลองดมกลิ่นของดอกไม้ใกล้ๆ ตัว ลองสัมผัสต้นไม้รอบๆ บ้าน หรือใช้มือสัมผัสสิ่งของต่างๆ ในบ้านด้วยความสงบและใส่ใจ เมื่อเราลองใช้ผัสสะอื่นๆ รับรู้มากขึ้นก็ช่วยส่งเสริมให้กระบวนการความคิดมีการเปลี่ยนแปลง
เรียกว่าหาหนทางพาสมองและจิตเราออกจากกะลาที่ครอบไว้ ด้วยการรับรู้และออกสำรวจโลก เพื่อได้รับรู้ความจริงที่แตกต่าง แล้วเราจะรู้ว่าโลกนั้นกว้างกว่ากระโหลก และใหญ่กว่าหัวใจก้อนเท่ากำปั้นของตนมากนัก สิ่งที่เราคิดกับสิ่งที่เป็นจริงมักไม่เหมือนกัน ความเป็นจริงนั้นกว้างใหญ่กว่าที่คิดเสมอ
การตรัสรู้ของเจ้าชายสิทธถะ และบรมศาสดาของโลกใบนี้ ล้วนมี ส.สำรวจ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ท่านเหล่านั้นได้ทรงตื่นรู้และเปลี่ยนแปลงความคิดอย่างสิ้นเชิง
เจ้าชายสิทธถะท่านทรงได้รับการเลี้ยงดูจากพระบิดาด้วยการให้เสพและสัมผัสแต่ความสุขและสิ่งที่เจริญตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจเพียงอย่างเดียว กระทั่งท่านทรงได้เปิดโลก เห็นการเกิด แก่ เจ็บ และตาย ของผู้คนในสังคม ทำให้ทรงแลเห็นความเป็นจริงของชีวิต สิ่งนี้ทำให้พระองค์มีดำริที่จะแสวงหาหนทางของการไม่เกิด แก่ เจ็บ และตายอีกต่อไป
เราควรสำรวจด้วย และแสวงหาการเรียนรู้ไปพร้อมกันด้วย มีคำกล่าวว่า บุคคลที่รู้ที่สุด ย่อมบอกว่าตนเองไม่รู้อะไรเลย…
.
ส 7. คือ “สยบ”
บางความคิดเกิดขึ้นเพื่อปกป้องตัวเราจากความทุกข์และความเจ็บปวด เพราะการไม่สามารถยอมรับความจริงตรงหน้าอย่างตรงไปตรงมาได้ เราจึงสร้างภาพในหัวและหลักการต่างๆ บดบังความจริงที่ว่านี้ หรือทำให้มันซับซ้อนมากจนเกินไป จนบ่อยครั้งมันก็ได้กลบเกลื่อนความรู้สึกแและสิ่งที่เราเป็นจริง
ความคิดประเภทนี้เกิดจากความหลงหรือความกลัว จิตใช้ความคิดเป็นเครื่องมือในการปกป้องตัวเองจากเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันมาตั้งแต่ยังเด็ก แล้วติดตัวมาถึงยามเป็นผู้ใหญ่
เมื่อเราผิดหวัง ล้มเหลว ไม่พอใจ หรือเป็นทุกข์ มันจะเกิดความคิดต่างๆ ขึ้นมาอย่างรวดเร็วว่องไวเหมือนกับทหารองครักษ์ที่รีบเร่งออกมาคุ้มครองจิตจากภัย แม้สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่ภัยเลยก็ตาม นั่นแลจิตกำลังใช้ความคิดเพื่อสู้หรือหนีจากความทุกข์ที่เกิดขึ้น หรือเกรงว่าอาจจะเกิดทุกข์ขึ้น
มันอาจจะเป็นความคิดเช่น… ทำไมมันจึงเป็นแบบนั้น ทำไมเขาจึงทำแบบนี้ ฉันจะทำอย่างไรดี ฉันจะผ่านพ้นได้ไหม ถ้าทำอย่างนั้นแล้วจะเป็นอย่างไร… คิดวนไปมา เหมือนทหารองครักษ์ที่ยืนรักษาและลาดตะเวณอยู่ไม่ห่าง
ครั้นเป็นเช่นนี้หลายหนมากเข้า ความกล้าหาญที่จิตมีก็จะเสื่อมถอยลงไป เราจะเริ่มรับรู้โลกตามที่เป็นจริงได้น้อยลง เพราะทหารเหล่านั้นออกมาบังสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ เสียจนมองไม่เห็น และเราไม่ยอมออกไปดูความจริงด้วยตนเองด้วย
ท้ายที่สุดเราก็จะยกอำนาจให้ทหารองครักษ์ หรือกลไกปกป้องตนเอง มาครอบงำจิต แม้ว่าเดิมทีจิตใจนั้นจะเป็นผู้สร้างขึ้นมาเองก็ตาม
เวลาที่มีความทุข์ ผิดหวัง ล้มเหลว หรือไม่พอใจ ลองใช้เวลาอยู่กับความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง และภาพที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่นที่ได้ดม รสชาติที่ได้ลิ้ม ความรู้ที่สัมผัส โดยไม่ด่วนตีความและตัดสิน ไม่ด่วนใช้หลักคิดและเหตุผล ไม่รีบเรียกทหารองครักษ์ของจิตให้ออกมา เผชิญกับความจริงอย่างกล้าหาญด้วยตนเองก่อน
นี่คือฝึกให้หัวใจสยบยอมต่อความจริง ไม่หาข้ออ้าง ไม่พยายามหลบหนี ไม่ยกหลักการต่างๆ ขึ้นมา แค่สบตายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น นี่เรียกว่าการศิโรราบต่อความจริง
รับรู้ให้ใจยอมรับว่ามันเป็น “ตถตา” แปลว่า เป็นเช่นนั้นเอง เป็นแค่นั้นเอง
กลไกปกป้องตัวเองจากความทุกข์ของจิต บ่อยครั้งก็ดลบันดาลให้เราคิดมากมายไม่สิ้นสุด โยงใยกันพัวพันเป็นปมในใจ เพียงแค่การไม่สามาารถยอมรับความจริงบางเรื่องของชีวิต เช่นว่า ไม่มีสิ่งใดที่เที่ยงแท้ ไม่มีสิ่งใดๆ ที่จะพ้นไปจากความเสื่อมลงและการตายจาก ตัวเราไม่สมบูรณ์แบบ เราไม่อาจทำให้ทุกคนรักและเห็นด้วยกับเราได้ เป็นต้น
ส.สยบ นี้ยังมีอีกความหมายคือการยอมแพ้ ด้วยมานะการถือตนของคนเรา ทำให้พยายามสู้กับความเป็นจริงมากเกินไป สู้กับธรรมชาติ สู้กับสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไข พยายามเอาชนะทุกเรื่อง แม้รางวัลจากการชนะนั้นอาจไม่คุ้มกับเสียไปเลย
บางครั้งการยอมแพ้ก็เป็นชัยชนะที่กล้าหาญกว่าการพยายามเอาชนะ เพราะเราอยู่เหนือความโกรธ ความกลัว ความเกลียด ความละโมบ ไม่ปล่อยให้พวกมันอยู่เหนือใจและดลให้คิดอะไรไปต่างๆ นานา
ความจริงนั้นก็คือธรรม เรายอมรับความจริงของชีวิตมากเท่าใด เราก็เข้าใกล้ธรรมมากขึ้นเท่านั้น เมื่อเข้าใจธรรมและตถตา เมื่อยอมรับความเป็นเช่นนั้นเองแล้ว มันก็จบ เพราะไม่ต้องคิดหรือหาหลักการใดๆ มาอ้างอิงอีก มันจบลงแล้วแค่นั้นเอง
.
ส 8. คือ “ศรัทธา”
.
การคิดมากเกินไปอีกแบบหนึ่งคือความลังเลใจ ความเคลือบแคลงสงสัย ความไม่อาจวางใจหรือเชื่อมั่น และความวิตกกังวลทั้งหลาย เรียกว่า “วิจิกิจฉา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิวรณ์ 5 กิเลสที่บดบังปัญญาและศักยภาพแท้จริงของจิตใจ
การแก้ความลังเลเคลือบแคลงใจแบบนี้ หนทางหนึ่งคือการพิจารณาด้วยใจอย่างแยบคาย เรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” เพราะสิ่งที่เกื้อกูลให้ความลังเลเคลือบแคลงใจเกิดก็เพราะด้วยการขาดโยนิโสมนสิการ *(๕) คือยังไม่ได้พิจารณาความเป็นจริงของเรื่องนั้นๆ จนเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง
หากพยายามคิดแล้วแต่ไม่อาจคลายความลังเลใจ หรือได้คำตอบแล้วแต่ก็ยังไม่หายเคลือบแคลง หนทางหนึ่งคือการใช้ “สัททาพละ” หมายถึง พลังแห่งศรัทธา ซึ่งเป็นหนึ่งใน พละ 5 กุศลธรรมที่เป็นคู่ปรับกับนิวรณ์ *(๖) ศรัทธา คือความวางใจ การเปิดใจ และความเชื่อมั่น บางครั้งคิดแทบตายจนหัวระเบิดก็ไม่หายลังเล ต้องลองเปิดใจให้ตนเองได้ลองพิสูจน์ก่อน ได้ลองน้อมนำมาปฏิบัติก่อน ลงมือทำไปก่อน ไม่นำความคิดมาตีกรอบตัดสินไปก่อน ลองเปิดใจตนเองแม้ยังลังเลอยู่บ้างก็ตาม
วิจิกิจฉา มักเกิดขึ้นบ่อยกับคนที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ยังเคลือบแคลงสงสัยในความสามารถและคุณค่าที่ตนเองมีอยู่ มันก็พลอยทำให้ไม่วางใจโลก และไม่เชื่อใจในผู้คนรอบข้างหรือสิ่งต่างๆ ทำให้ไม่กล้าที่จะทำสิ่งที่ควร คิดเป็นปลายปิด หรือทำให้ย้ำคิดลบในใจตนเอง
ตรงนี้ก็ต้องใช้ศรัทธาหรือความวางใจเช่นกัน วางใจในคุณค่าและความดีที่เราหรือเขามีอยู่ แม้ยังมองไม่เห็นในตอนนี้ แต่เชื่อมั่นว่าเรามีในสิ่งเหล่านี้อยู่ วางใจในการเรียนรู้และการฝึกฝนพัฒนาตนเอง วางใจในสิ่งที่เราเคารพนับถือให้เป็นแรงผลักดัน ใช้ศรัทธามาเป็นพลัง แล้วเราจะพบในสิ่งที่ลังเลสงสัยในตนเอง เมื่อเราได้ลงมือทำมากพอแล้ว
หากมัวแต่คิดสงสัย ไม่ได้ลงมือทำ หรือทำอย่างครึ่งๆ กลางๆ เพราะมัวไปหมกมุ่นกับความเคลือบแคลง เราก็จะไม่พบคำตอบที่จะให้ตนเองสิ้นสุดข้อสงสัยนั้นเลย
ยิ่งคิดมากก็ยิ่งมีเงื่อนไขต่างๆ ต่อตนเองและโลกมาก ลองฝึกกลับมาใช้หัวใจ ด้วยการวางใจ เชื่อใจ เปิดใจ ลดตรระกะลงบ้าง ความคิดต้องสมดุลกับหัวใจ หากเราใช้ความคิดเยอะแล้วก็ต้องใช้ความรู้สึกให้มากขึ้นบ้าง เราก็จะทำให้สมองกับหัวใจสมดุล
เมื่อสองด้านนี้สมดุลก็จะเหมือนการขี่จักรยาน เราจะไม่โยเยเอนไปมา เหมือนความคิดที่จะไม่เบี่ยงซ้ายเบี่ยงขวาโลเลใจ เพราะเหตุผลกับความรู้สึกสมดุลกัน สมองกับหัวใจสมดุล ตัวเราสมดุลแล้ว
หากแม้ว่าได้เชื่อมั่นในตนเองแล้ว เปิดใจกว้างแล้ว ใช้หัวใจและสมองด้วยกันก็แล้ว แต่ยังไม่อาจคลี่คลายจากความวิตกกังวลใจ อีกสิ่งหนึ่งที่เราควรศรัทธาหรือวางใจ ก็คือเชื่อมั่นใน กฎแห่งกรรม หรือกฎของจักรวาล… ทุกสิ่งมีเหตุให้เป็นไปเช่นนี้ โดยไม่เป็นเช่นนั้น ทุกสิ่งขับเคลื่อนไปตามปัจจัยต่างๆ ไม่อาจเป็นดังใจเสมอไป ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงได้ไม่คงทนถาวร… เป็นแค่เช่นนั้นเอง
จักรวาลมีกลไกการจัดระเบียบให้สรรพสิ่งลงตัวในแบบที่ควรเป็น สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราหรือคนใกล้ตัว มีเหตุผลและความหมายที่ต้องเป็นเช่นนั้น แม้แต่สิ่งเลวร้ายก็สามารถนำมาสู่สิ่งที่ดีในภายหน้า เรื่องราวที่เกิดแก่ชีวิตมักเป็นบทเรียนกรรมให้เราเรียนรู้และเติบโต
.
ส 9. คือ “สละ”
ความคิดก็เหมือนของในลิ้นชัก เมื่อนำของที่ไม่จำเป็นและจำเป็นน้อยออกไป ลิ้นชักก็มีที่ว่าง เหลือแต่สิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ หัวจะโล่งและเหลือแต่ความคิดที่เป็นประโยชน์ เราต้องรู้จักสละออกไปซึ่งสิ่งเกินจำเป็นทั้งหลาย ทั้งความคิดและสิ่งไม่ดีที่อยู่ในใจ ซึ่งความคิดที่เกินจำเป็นทั้งหลายในทางพุทธศาสนา เรียกว่า “อกุศลวิตก” ได้แก่การคิดในทางโลภ โกรธ และการคิดเอาชนะหรือเบียดเบียน
สามความคิดข้างต้นนี้ ถ้าสละออกเสียได้ หัวเราก็จะโล่งขึ้นมาก จิตใจก็จะโปร่ง ชีวิตก็จะเบาขึ้นมากมาย เราจะสละอกุศลวิตกออกได้ เราจำเป็นต้องฝึกฝน ส. ทั้งแปดก่อนหน้า แต่ถ้ายังไม่สามารถสละความคิดแบบทั้งสามได้หมดจด อย่างน้อยถ้าเรารู้จักสละสิ่งที่ไม่ก่อประโยชน์หรือเกินจำเป็นทั้งหลายในชีวิตออกไปบ้าง ความคิดเกินจำเป็นทั้งสามแบบก็จะลดน้อยลงได้เช่นกัน
การที่เราจะรู้ได้ว่าสิ่งใดบ้างที่เกินจำเป็น เราก็ต้องทบทวนอาจด้วยการจดบันทึกว่า… ชีวิตขาดอะไรไม่ได้บ้าง เราไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากอะไร และตอนนี้สิ่งใดสำคัญกับฉันอย่างแท้จริง…
เราจะจดกี่ข้อมากแค่ไหนก็ตาม แต่ขั้นตอนสำคัญคือการทยอยตัดออกไป ทยอยขีดฆ่าสิ่งที่ไม่มีก็อยู่ได้ ไม่มีก็หาความสุขแบบอื่นและดำรงชีวิตต่อได้ ลองตัดออกไป ละออกไป จนเหลือน้อยข้อที่สุด แล้วสังเกตว่าอะไรสำคัญกับเราจริงๆ อะไรที่เราเลือกตัดออกไปได้ง่ายและไม่ได้จดลงไปตั้งแต่ต้น
ชีวิตที่สมบูรณ์แบบ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าฉันมีสิ่งที่ดีมากแค่ไหน แต่ขึ้นอยู่กับว่า ฉันมีสิ่งที่ดีเพียงพอแล้วอย่างไร เป็นความเพียงพอ พอใจ และพอดี ยิ่งมีสิ่งที่ดีมาก บางทียิ่งยุ่งวุ่นวาย ความคิดจะสงบได้อย่างไร ในเมื่อมีภาระมากมายที่แบกรับหรือผูกมัดไว้กับตัว
การสละสิ่งที่เกินจำเป็นทั้งหลาย ก็คือใส่ใจให้น้อยลง ทำให้น้อยลง ระลึกให้น้อยลง ลดละความพอใจกับมัน หรือเลิกข้องเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น หยุดแบกทุกอย่างไว้ที่ตัวเรา ยอมปล่อยมันออกไปจากใจและชีวิตของเราบ้าง ถ้าเป็นสิ่งที่ดีหรือคนดีๆ บริจาคให้กับโลกนี้บ้างก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้เองทุกอย่าง
ขั้นตอนสำคัญถัดมาในการทบทวนเรื่องนี้ คือดูข้อที่เหลืออยู่เหล่านี้ มีอะไรบ้างที่เที่ยงแท้ยั่งยืน มีอะไรบ้างที่ไม่เป็นทุกข์ กล่าวคือ ยึดมั่นแล้วไม่ทุกข์ คงทนสมบูรณ์แบบ และสุดท้าย ดูว่ามีข้อใดบ้างที่เป็นตัวฉันและของๆ ฉันได้อย่างแท้จริงตลอดไป…
พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนสั้นๆ แก่พระมหาโกฏฐิกะผู้ซึ่งร้องขอให้พระองค์ทรงมอบคำสอนสำคัญโดยย่อ ท่านทรงเลือกตรัสสอนด้วยใจความว่า…
ทั้งรูป การมองเห็น, กลิ่น การรับกลิ่น, รส การลิ้มรส. สัมผัส–การรับรู้สัมผัส, อารมณ์และความคิด ใจที่รับรู้อารมณ์และคิด, ความสุข ความทุกข์, และความไม่สุขไม่ทุกข์ ที่เป็นผลจากอายตนะและสิ่งที่เข้ามาให้รับรู้ทั้งหลาย ล้วนแต่ไม่เที่ยงแท้ …สิ่งใดที่ไม่เที่ยงแท้ ควรละความพอใจในสิ่งนั้น *(๗)
สิ่งที่อยู่ในตัวเราก็ดี นอกกายก็ดี อะไรก็ตามที่พิจารณาสังเกตแล้วเห็นความไม่เที่ยงแท้ เป็นความทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนหรือของๆ ตนอย่างแท้จริง ถือว่าเป็นสิ่งที่เกินจำเป็นทั้งสิ้น คือเกินจำเป็นที่จะยึดมั่นไว้เป็นตัวฉันและของๆ ฉัน
เราพึงลดละความเพลิดเพลินพอใจในสิ่งเหล่านั้น เช่นเดียวกันกับความคิด การคิด การได้คิด จนถึงใจที่คิด ล้วนแต่ไม่เที่ยงแท้ นำมาซึ่งความทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนหรือเอาเป็นของตนได้ ควรละความพอใจในสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน
การละความพอใจในสิ่งใดก็คือการสละทิ้งเสียจากใจ รับรู้ถึงมันด้วยใจกลางๆ ไม่ยินดียินร้ายกับมัน เมื่อลดละความพอใจในสิ่งเกินจำเป็นทั้งหลายลงแล้ว เราก็จะปลดโซ่ตรวจความเป็นทาสของความคิดลงได้ เพราะไม่มีความหลงไปเกาะเกี่ยวสิ่งโน้นสิ่งนี้ ซึ่งทำให้เกิดความคิดต่างๆ มากมาย หรือแม้มีความคิดเกิดขึ้นแล้วก็ไม่หลงไปพอใจหรือหมกมุ่นกับมัน
สังเกตตนดูว่าเรากำลังใช้ชีวิตด้วยการกอบเก็บอะไรมากมายไว้จนล้นลิ้นชักใจหรือไม่ ด้วยการซื้อหามา การแสวงหามา การยุ่งวุ่นวายเอาตัวไปใส่ใจ การไปยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งเกินจำเป็นทั้งหลาย พึงทำให้ลิ้นชักใจตนเองว่างลง สละคืนออกไปบ้าง ยิ่งใช้ชีวิตด้วยการลดการสั่งสม ทั้งวัตถุรูปธรรม และสิ่งนามธรรม ให้น้อยลงเท่าใด ก็มีสิ่งเร้าที่พาให้เราเป็นทาสความคิดน้อยลงเท่านั้น
ลดละสิ่งต่างๆ ในลิ้นชักไป ลิ้นชักย่อมว่างขึ้น สละคืนสิ่งต่างๆ ที่หมายมั่นไว้มากเท่าใด ชีวิตก็เข้าใกล้ความว่างอันเป็นสุขแท้จริงเท่านั้น
.
.
ครูโอเล่
สถาบันธรรมวรรณศิลป์
.
> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์–ไกด์โลกจิต/
> > > เรียนรู้การสะกดจิตบำบัดและการโปรแกรมจิตตนเอง :
www.dhammaliterary.org/mindpower/
> > > เรียนรู้การเขียนภาวนาขัดเกลากิเลส :
www.dhammaliterary.org/เขียนภาวนา/
.
.
*(๑) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๕ พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๒ วิภังคปกรณ์ อัพยากตนิเทส [๓๗๓]
*(๒) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑
*(๓) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก–อัฏฐก–นวกนิบาต สติวรรคที่ ๔ สติสูตร [๑๘๗]
*(๔) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค อินทรียสังวร
*(๕) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๕๒๖]
*(๖) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๑ ธรรมสังคณีปกรณ์ [๔๐]
*(๗) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค มหาโกฏฐิกสูตรที่ ๑