พักจาก 6 อย่างนี้ แล้วเราจะได้พักผ่อนอย่างแท้จริง !

 

พักจาก 6 อย่างนี้ แล้วเราจะได้พักผ่อนอย่างแท้จริง !

 

📌 พักจากความอยาก : หากเราไม่ได้พักตนเองจากความอยากแล้ว เมื่อถึงเวลาว่างมันก็จะลากพาเราไปเรื่อยๆ จนไม่ได้พักผ่อนอย่างแท้จริง มันอาจชวนเราไปทำอย่างโน้น ไปทำอย่างนี้ ตามความอยาก ความน่าสนใจ ความเร้าแก่อารมณ์ ฯ ทำให้เราไม่ได้หยุดนิ่งเพื่อดูแลตนเองอย่างแท้จริง แต่ได้ไปดูแลความอยากแทน ซึ่งมักลงเอยด้วยความเหนื่อย ความป่วย หรือความเมามายขาดสติ
.
📌 พักจากการกังวลถึงอนาคต : สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันหน้ายังไม่มีอยู่จริง แต่ความกลัว ความวิตก และความสงสัยก็จะทำให้กายจิตเราไม่ได้ผ่อนพัก เพราะต้องคอยคิดคำนึงวางแผนต่างๆ นานา และคาดเดาคาดคะเน จนความคิดวุ่นวายไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน เราก็ไม่สามารถพักผ่อนอย่างเต็มที่ได้
.
📌 พักจากการอาลัยสิ่งที่ล่วงเลย : ไม่มีใครที่ฝืนกระแสความไม่เที่ยงแท้ของทุกสิ่งได้ ยิ่งหวนหาอยากให้กลับคืน ยิ่งทำให้ชีวิตและสิ่งที่มีอยู่สูญเสียไปทีละน้อย ความคิดคำนึงถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วอย่างขาดสติทำให้จิตเหนื่อยล้า การคิดถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้วอย่างไม่ก่อประโยชน์ มีแต่ทำให้จิตเศร้าโศกและหม่นหมองลง เราจึงลืมดูแลสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน
.
📌 พักจากการสอดส่องและแบกรับ : เราไม่อาจแบกทุกอย่างไว้ที่ตนเองได้ การพยายามรับผิดชอบสิ่งต่างๆ มากจนเกินไป ทำให้เราบีบคั้นตนเองทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ บางครั้งเราก็เอาเวลาในการดูแลตนเองไปสอดส่องกับเรื่องราวของคนอื่น ไปยุ่งเกี่ยวอย่างไม่เกิดประโยชน์ ไปวิจารณ์ เปรียบเทียบ หรืออิจฉาต่างๆ นานา จิตใจก็ไม่ได้อยู่กับเนื้อกับตัว วิ่งแล่นออกไปให้เหนื่อยโดยไม่จำเป็น
.
📌 พักจากการแข่งดีและโอ้อวดตน : เราไม่จำเป็นต้องอยากมีคุณค่าและตัวตนในทุกเรื่องและทุกสถานการณ์ การอยากมีคุณค่าและอยากแสดงตัวตนให้ได้รับการยอมรับบ่อยครั้งทำให้เราไม่ได้พักผ่อนเสียเอง กิเลสข้อนี้เรียกว่า “มานะ” ทำให้ต้องคอยประกาศเรื่องราวและตัวตนต่างๆ ของเราลงบนสังคมสมมติบนโลกอินเตอร์เน็ต ต้องพยายามเอาชนะในเรื่องต่างๆ จนไม่ได้ทำให้ใจให้สงบวาง
.
ดังที่ผู้เขียนเคยบรรยายไว้ในบทความคอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 42 …เราสามารถใช้คำแนะนำที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำพระโมคคัลลานะถึงสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้จิตถูกครอบงำด้วยถีนมิทธะ (เช่น ความง่วง ความซึม ความหดหู่ และความเหนื่อยล้า) ซึ่งสรุปสั้นๆ แล้วมีดังนี้…
.
🙏 ไม่ควรทำกิจหรือหน้าที่ด้วยความถือตัว หรือดูถูกตนเอง
🙏 ไม่ควรพูดถ้อยคำอันเป็นเหตุให้เกิดความบาดหมางและไร้ประโยชน์
🙏 ไม่ควรคลุกคลีกับกิจกรรม สถานที่และหมู่คนที่ไม่ส่งเสริมความสงบของจิตใจ
.
กล่าวโดยง่ายว่าทุกข้อข้างต้นต่างเป็นการหาเรื่องให้จิตไม่ได้พักผ่อน กระตุ้นให้เกิดการปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน วุ่นวาย เศร้าหมอง โกรธขึ้ง และวิตกกังวล ทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากเรารู้จักการพักอย่างหนึ่ง นั่นคือ…
.
📌 พักจากการปรุงแต่งตามผัสสะหรือสิ่งที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ :
.
เราจะพักจากมูลเหตุของความเหนื่อยล้าที่มาจากใจตนเองได้เหล่านี้ เราต้องรู้สำรวมระวังการรับรู้ และการคิด ด้วยสติและการหักห้ามใจ หากเรารู้ตัวว่าเราต้องการการพักผ่อนให้พอดีมากกว่านี้ เมื่อรู้ตัวแล้วว่ามีความอยากมาชักนำ มีความวิตกถึงอดีตและอนาคต มีความมั่นหมายที่จะแบกรับสิ่งใดจนเกินไป หรือมีความพยายามเอาชนะและโอ้อวดตนเกิดขึ้นก็ดี ให้เรารู้ตัวและกลับมามีสติที่ร่างกายหรือลมหายใจ เพียงเท่านั้นเราก็ได้พักแล้ว
.
🔔 การพักจากความอยาก พักจากความกังวลถึงอนาคต พักจากความอาลัยในอดีต พักจากการสอดส่องและแบกรับ พักการแข่งดีและโอ้อวด และพักปรุงแต่งจากผัสสะ การพักเหล่านี้แม้เพียงข้อเดียวก็ทำให้เราได้พักกายและใจอย่างแท้จริง 🔔
.
การพักที่แท้จริงเช่นนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลาและความสมบูรณ์แบบ แม้เราพักได้เพียงข้อเดียวจากข้างต้น การพักผ่อนของเราในตอนนั้นก็มีคุณภาพขึ้นมหาศาล แม้ว่าเราพักสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้เพียงชั่วครู่เดียว ชั่วครู่นั้นกายจิตเราก็ได้พักมากแล้ว มากกว่านอนฟุ้งซ่านเป็นชั่วโมงเสียด้วยซ้ำ เมื่อเราฝึกพักแบบนี้บ่อยๆ กายจิตก็จะสามารถพักให้อยู่ในความสงบได้นานขึ้น
.
.
⭐️ บทความนี้ตัดทอนจากงานเขียน “ข้อคิดและแนวทางเพื่อการ “พัก” อย่างแท้จริง” ในคอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 40 โดยครูโอเล่ สถาบันธรรมวรรณศิลป์

🧘‍♀️ อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/

🔍 สามารถสนับสนุนกิจกรรมและบทความ ผ่านการเข้าร่วมคอร์สของเรา
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/