เขียนบันทึกเพื่อรักตัวเอง #3

 

 

เขียนบันทึกเพื่อรักตัวเอง #3 “หมุนไปกับจักรวาล”

 

หากถามผมว่ารักตัวเองอย่างแท้จริงแล้วหรือยัง ในขณะที่ทำหน้าที่สอนเรื่องการรู้จักตัวเองและการรักตน ผมขอยอมรับว่ายัง แม้มีการรักตัวเองอยู่ไม่น้อย แต่สิ่งหม่นหมองแห่งใจหรือกิเลสซึ่งยังคงมีเชื้ออยู่มากนั้นก็ยังขัดขวางให้รักต่อตนเอง ยังมิใช่รักแท้
.
ผมพึงใจในการยอมรับข้อเสียอย่างตรงไปตรงมา รู้ว่ายังไม่รักตัวเอง ยังดีกว่าการหลอกตนว่ารักตัวเองแล้ว ขณะที่กาย วาจา และใจยังสื่อสะท้อนว่าความรักต่อตนเองนั้นบกพร่องอย่างไร
.
สิ่งใดที่บ่งบอกการรักตัวเองอย่างแท้จริง สำหรับผมแล้วพิจารณาอยู่สองทาง ทางหนึ่งคือพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจ เป็นไปอย่างก่อทุกข์หรือเป็นไปอย่างลดทุกข์ สมดุลพอดีหรือไม่ หรือใส่ใจแค่บางส่วน อีกทางหนึ่งคือสันติสุขแห่งใจ ตราบใดที่ใจเรายังมีทุกข์ นอกเหนือจากทุกข์ทางกายอันเกิดจากผัสสะธรรมชาติแล้ว เราก็ยังมีความไม่รักตัวเองอยู่
.
ผมจะกล่าวต่อไปว่าเป็นเพราะเหตุใด
.
มองย้อนกลับไป กว่าเราจะเข้าใจถึงการรักตัวเองอย่างถ่องแท้ ต้องผ่านบทพิสูจน์และบทเรียนรู้มาก บ่อยครั้งที่เชื่อว่าเรารักตัวเองแล้ว แต่จริงๆ แอบรักแค่บางด้านที่ดูดีและได้รับการชมเชยจากคนอื่น บ่อยครั้งที่เรื่องเล็กๆ ก็บั่นทอนความมั่นคงของใจได้อย่างคาดไม่ถึง
.
คืนหนึ่ง ราวหกปีที่แล้ว นับจากตอนเขียนบทความนี้ ขณะอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ทำงานในออฟฟิศห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผมกลับรู้สึกสงสัยว่าเหตุใดเวลาตนเองต้องการปรึกษาใครบ้าง จึงไม่อาจมีใครรับฟังผมอย่างที่ผมรับฟัง ไยเวลานี้ที่ต้องการใครคนหนึ่งมากที่สุด คนทุกคนกลับหายไป หัวใจก็ลากความคิดย้อนเวลากลับไปอีกว่าที่ผ่านมาตั้งแต่เด็กแล้วก็มักเป็นแบบนี้ คนทุกคนมาหาผมเพราะต้องการความช่วยเหลือ เมื่อได้แล้วก็จากไป นึกระลึกถึงกันเมื่อยามตนเองเป็นทุกข์เท่านั้น ยามสุขเบิกบานอยู่กับผู้อื่น…
.
สิ่งที่ใจคิดนั้นตามจริงแล้วก็ถูกบ้างผิดบ้าง แต่ตอนนั้น ความรู้สึกจากสงสัย คิดฟุ้งซ่าน ก็ลามกลายเป็นความเศร้าซึม เปลี่ยวเหงา โทษคนอื่น โทษโลกใบนี้ สิ่งที่คิดก็ดูจริงมาก จริงในความรู้สึก ณ ขณะนั้น มันทั้งตอกย้ำและก่อความเชื่อต่อตนเองว่า เป็นคนที่ไม่มีใครต้องการในเวลามีความสุข เป็นตัวดึงดูดทุกข์ และคิดคำนึงถึงสภาพสังคมอันเลวร้ายไปต่างๆ นานา
.
พยายามบำบัดตัวเองด้วยการเขียนนิทาน เปรียบเทียบตนเองดั่งลูกโป่ง ช่วงเวลานั้นตัวผมเองยังมิได้เข้าใจกลไกและขั้นตอนการเขียนเยียวยา จึงได้เพียงระบายความรู้สึก ประชดประชันคนอื่น กับตอกย้ำลงจิตใจ แต่ที่ได้ประโยชน์ในตอนนั้นและหลังจากนั้น เป็นมุมมองของคนอ่าน ซึ่งทำให้มองตนเองหลากหลายแง่มุมมากขึ้น
.
ลองเดินทางเข้ามาในนิทานเรื่องที่กล่าวถึงด้วยกัน อ่านด้วยดวงตา ฟังด้วยหัวใจ
.
ชื่อเรื่องว่า “นิทานเรื่องแรกของคนขายลูกโป่งคนหนึ่ง —ที่เด็กดีมีความสุขไม่ควรอ่าน”
.
“ณ กาลครั้งหนึ่ง มีลูกโป่งที่น่าเกลียดใบหนึ่ง ไม่มีใครรู้ว่ามันคิดอะไร หรือต้องการอะไร มันจึงกระโดดออกมาจากลังของเล่นที่แสนสุขของเด็กหญิงน้อยๆ คนหนึ่ง ปลิวออกมาจากบ้านของเธอ แล้วพองตัวดูดเอาอากาศที่เจือปนไปด้วยสารพิษและความทุกข์ทน ที่ลอยฟ่องอยู่ในเมืองหม่นอย่างมากมายเข้าไว้ในตัวมันเอง ค่อยๆ ดูดทีละนิดทีละน้อย ตัวของมันก็ขยายใหญ่ขึ้นใหญ่ขึ้น อ้วนและน่าเกลียด เมืองที่ฟ้าขมุกขมัวและชวนอึดอัดค่อยๆ แจ่มใสและปลอดโปร่ง ส่วนตัวมันเองก็ใหญ่ขึ้นและน่าเกลียดขึ้นไปทุกทีๆ จนใหญ่ยักษ์อัปลักษณ์ ชาวเมืองมามุงล้อมดูมันด้วยความชิงชัง มันคือทุกข์ มันคือขยะ มันคือสิ่งที่ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ มันคือสิ่งที่ทำให้เมืองต้องหมองหม่น เราต้องกำจัดมันทิ้งไป
.
“ทุกคนพยายามหาหนทางวิธีการ ถ้าหากจะรุนแรงเกินไป ลูกโป่งมันก็จะเจ็บและระเบิดออก และเมืองทั้งเมืองก็จะต้องถูกซัดด้วยพายุความหม่นเศร้าที่อัดแน่นอยู่ในลูกโป่งอัปลักษณ์นี้ จนพังทลายเมืองผู้คนล้มตายอย่างน่าอนาถเป็นแน่ ชาวเมืองจึงพยายามโอบประคองไม่ให้มันกลิ้งไปทับทำลายเมืองหรือทำร้ายผู้คนที่เขารัก

“ส่วนเจ้าลูกโป่งน่าเกลียดก็ยังคงขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และไม่ใช่แค่อากาศเท่านั้นที่มันดูดเข้าไป มันยังดูดเอาคน เอาสัตว์ เอาขยะ เข้าไปในตัวของมันจนปูดโปนบวมเป่งเป็นตุ่มๆ ชาวเมืองบางครั้งลงความเห็นว่ามันจะช่วยกำจัดสิ่งเลวร้ายออกไปจากเมืองของเรา แต่หลายครั้งก็กลัวเกรงว่ามันจะดูดเอาสิ่งดีๆ และความสุขความสวยงามไปจากชีวิตของตน แม้เมืองแต่เดิมอากาศจะสกปรกและวุ่นวายอยู่บ้าง ก็ยังดีกว่ามีลูกโป่งยักษ์ถมึงทึงใหญ่โตน่าเกลียดอยู่กลางเมืองอย่างนี้ ธรรมดา แม้จะมีช่วงวันที่ฟ้าหม่นหมองและมีผู้คนต้องร้องไห้อยู่บ้างในบางครั้ง แต่ก็ดีกว่าถ้าต้องทนอยู่กับเจ้าลูกโป่งยักษ์อมทุกข์ใบนี้ ชีวิตพวกเขาคงไม่มีความสุขกันอีกต่อไป
.
“แทนที่ท้องฟ้าเมืองจะสดใสเพราะมลพิษหายไป แต่ก็ต้องมืดมัวเพราะเจ้าลูกโป่งน่าเกลียดมันใหญ่อย่างอัปลักษณ์มากขึ้นเรื่อยๆ จนบดบังแสงสว่างและความงดงามในเมืองเสียสิ้น อากาศให้หายใจก็แทบร้างไร้หายไป ผู้คนอึดอัดและทุกข์ทน
.
“จนกระทั่ง ชาวเมืองไม่อาจนิ่งงันเฉยชาด้วยหวังว่าเดี๋ยวมันก็ดีเองได้อีกต่อไป จึงเข็นมันไปไกลๆ จากตัวเมือง (และแน่นอน จากคนที่พวกเขาห่วงใย) ช่วยกันเข็นมันไปไกลๆ และรีบกลับมาที่ชานเมือง ระดมยิงธนูและปืนไฟมากมายมหาศาลยิงเข้าใส่เจ้าลูกโป่งอัปลักษณ์ หวังจะให้มันแตกสลายและเรื่องราวทั้งหลายจะได้จบลงด้วยดี เมืองกลับสู่ความสงบอีกครั้ง (แม้อากาศจะมัวหม่นลงซะหน่อย)
.
“แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ ลูกธนู ลูกปืนไฟ และความชิงชัง ความโกรธ ความทุกข์ ความอึดอัด แม้กระทั่งเขม่าดินปืน อาการแน่นหน้าอก และพิษไข้ ก็ถูกดูดกลืนเข้าไปในพุงของลูกโป่งยักษ์นี้ ท้องฟ้ามืดครึ้ม ชาวเมืองหวั่นวิตกว่าจะถึงคราวจุดจบของชีวิตที่ดีและแสนสุขเสียแล้ว เหล่านักรบผู้กล้าที่พยายามปราบปีศาจร้ายและกอบกู้บ้านเมืองต่างรู้สึกผิดหวังในตัวเองอย่างยิ่ง
.
“แต่ชาวเมืองก็ไม่อาจเข้าใจลูกโป่งใบนี้ได้อีกเช่นกันว่าเพราะอะไร จู่ๆ มันจึงกรีดร้องออกมาด้วยความชิงชังตัวเอง ด้วยความโกรธแค้นมากมาย และสีของมันก็ดำสนิทชนิดที่ท้องฟ้าราตรียังสดใสเสียยิ่งกว่า ลึกๆ ดูมันเจ็บปวดแต่กลับวางท่าทีขึงขัง ตัวของมันน่าเกลียดมากยิ่งขึ้นไปอีกในสายตาของชาวเมืองทั้งหลาย
.
“ในที่สุดมันก็หันหลังเดินจากไปอย่างเชื่องช้า ไกลแสนไกลไปจากเมือง ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเข้าใจ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับมัน เพราะอะไรมันจึงกระโดดออกมาจากลังของเล่นที่เปี่ยมด้วยความสุขมากท้น มาเป็นขยะของเมือง มาเป็นที่ชิงชังของทุกคนอย่างนี้ ว่ากันว่าเจ้าลูกโป่งยักษ์เดินไปจนถึงทะเลแล้วกลิ้งตัวเองลงไปสู่ความลึกล้ำและมืดมิด
.
“ทุกๆ คนค่อยๆ ลืมเจ้าลูกโป่งยักษ์ไปจากหัวใจ มีเพียงเรื่องเล่าตำนานถึงปีศาจที่ทำให้เมืองหม่นหมองแล้วมีอัศวินผู้กล้าและกองทัพชายชาตรี ยกพลช่วยปราบมันไว้ได้ พวกเขาคือฮีโร่ของทุกยุคสมัย ไม่มีใครเข้าใจว่าจริงๆ แล้วข้างในเจ้าอัปลักษณ์นั่นคิดหรือรู้สึกอะไรกันแน่ เพราะจนถึงตอนนี้ไม่มีใครรับรู้หรือสนใจเจ้าลูกโป่งใบนั้นอีกแล้ว เพียงแต่ในทุกๆ ปีจะมีพายุร้ายพัดกระหน่ำมาจากทะเลไกล บ้างพัดทำลายเมืองเสียหาย บ้างอ่อนกำลังเหลือเพียงฝนโปรยให้คู่รักเคียงข้างอย่างอบอุ่น และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือมาตรการในการรับมือกับพายุลูกแล้วลูกเล่า และเกิดพิธีกรรมหรือเครื่องรางไล่พายุร้ายนี้ไม่ให้เข้าใกล้คนที่พวกเขารัก
ในก้นบึ้งทะเลลึกที่มืดมิด ความทรงจำในวันวานที่แสนนาน ภาพใบหน้าของเด็กน้อยที่เล่นกับลูกโป่งน่าเกลียดใบหนึ่งด้วยรอยยิ้ม ความอบอุ่นในสองมือที่สัมผัสกับมันอย่างอ่อนโยน และหัวใจที่งดงาม ความทรงจำทั้งหลายนั้น วันวานที่แสนสั้น ถูกฝังไว้ใต้กองก้อนหินที่มันขนมาทับตัวเองที่ฉีกขาดแหว่งวิ่นเพื่อไม่ให้ลอยตามกระแสน้ำกลับไปหาเมืองที่เริ่มคืนสู่ความสุขสงบ และดวงตาคู่นั้น”
.
เท่าที่ผมบันทึกไว้ในหนังสือ เขียนเยียวยาชีวิต ซึ่งปัจจุบันมิได้เผยแพร่แล้ว แต่รวบรวมเป็นหลักสูตรเรียนฟรีทางไกล ในโครงการ ปัญญ์ สเปซ และสื่อในเว็บไซต์ของหลักสูตร เขียนเปลี่ยนชีวิต กล่าวถึงมุมมองของคนอ่านนิทานเรื่องนี้ ในช่วงเวลานั้น ได้แก่ข้อความด้านล่างนี้
.
บางคนตั้งข้อสังเกตว่าเจ้าลูกโป่งทำแบบนี้เพราะเป็นการ ชัดเจนกับตัวเอง ควรพอใจกับสิ่งที่เลือกจะเป็น , น้องคนหนึ่งรู้สึกว่า ลูกโป่งลืมที่จะเก็บเอาความขุ่นเคืองหม่นหมองที่ได้รับมาแปรเปลี่ยนเป็นความรักมอบให้แก่ผู้อื่นรอบๆข้าง ลูกโป่งเลยทำให้คนที่อยู่รอบข้างมีความทุกข์ไม่มีความสุขไปด้วย หากเด็กหญิงคนนั้นออกมาตามหาลูกโป่งที่หายไป แล้วพบว่าลูกโป่งเป็นแบบนี้ไปเสียแล้วเด็กหญิงคนนั้นอาจจะทุกข์ทรมาน สุดท้ายก็มีแค่ลูกโป่งที่ทำร้ายตัวเอง และหนีออกมาจากความเจ็บปวดมาเจอความอ้างว้างโดดเดี่ยว ไม่เลือกที่จะต่อสู้อย่างอ่อนโยน , อีกผู้หนึ่งกลับมองว่าลูกโป่งกำลังเสียสละตัวเอง ผลดีมีกับคนอื่นโดยอ้อม แม้ตัวเองจะโดนรังเกียจ
.
ต่อมาอีกครึ่งปีนับจากวันที่เขียน ผมกับเพื่อนฉุกคิดแง่มุมหนึ่งของตัวผมเองได้ว่า ภายในกายในใจผมใช้พลังชีวิตออกไปมากเกินควร ไม่ว่าด้วยกิจกรรมที่ทำร้ายตัวเองต่างๆ และการกดดันตัวเอง จนผมห่อเหี่ยวไร้เรี่ยวแรง , บางตัวตนก็หวังได้รับพลังชีวิตจากผู้อื่น จึงดูดกลืนความทุกข์ของคนอื่นเข้าตัว ส่วนผู้เป็นอาจารย์ของผมอ่านเรื่องนี้บอกเพียงสั้นๆว่า ลูกโป่งถือตัวเองสำคัญเกินไป
.
ย้อนมองจากวันนี้ ผมรู้สึกขอบคุณทุกข้อความที่สะท้อนตัวผมจากผู้อ่านและกัลยาณมิตร ณ ช่วงเวลานั้น ยังสังเกตเห็นอีกว่า ผมยึดตัวเองเป็นที่ตั้งอยู่มาก แบกรับเอาเรื่องทั้งหลายมาอยู่ที่ตัว แม้จะดูเป็นผู้มีความเสียสละและรับผิดชอบ แต่จริงๆ แล้วก็พยายามให้จักรวาลหมุนรอบตัวเอง ให้เป็นไปดั่งใจ ถือว่าตนเองสำคัญ สิ่งที่ทำก็ต้องทำสำคัญด้วย คนต้องมองเห็นความสำคัญ ดังนั้นแม้ทำเพื่อคนอื่นแต่ก็ทำให้คนอื่นลำบากอยู่มาก
.
ความรักต่อตนเองที่ยังไม่จริงแท้ มักจะมีเงื่อนไขอยู่เสมอ ต่อตนเองบ้าง ต่อคนอื่นบ้าง ทุกข์ของคนจึงมักเหวี่ยงไปมาระหว่างการโทษตัวเองกับการโทษคนอื่นหรือสิ่งนอกตัว ประเดี๋ยววันนี้ทุกข์เพราะผิดหวังในตนเอง อีกคราวใจโมโหเพราะคนรอบข้าง เมื่อใดที่ใจตกร่องย้ำในการโทษตัวเองหรือโทษคนอื่นมากเกินไปจนสุดโต่ง อาการป่วยทางจิตก็ก่อตัวขึ้น
.
โทษตัวเองมาก ตอกย้ำด้านลบตนเองเกินไป สะสมมากเข้าก็อาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า โทษคนอื่นและสิ่งรอบตัวมากจนหลงลืมตน ก็มีแนวโน้มพัฒนาเป็นกลุ่มอาการบุคลิกภาพสับสน บางครั้งเวลาผมสอนในการอบรม ผมจะให้ทำสองหัวข้อบันทึกต่อเนื่องกัน ด้วยการให้เขียนทบทวนช่วงเวลาที่ตนเองรู้สึกไม่เห็นคุณค่าในตนเอง และ หัวข้อที่สองบันทึกทบทวนช่วงเวลาที่คนอื่นทำให้ตัวเรารู้สึกไม่มีคุณค่า
.
บางคนก็จะเขียนง่ายในหัวข้อแรก บางคนนึกได้เร็วกว่าในหัวข้อที่สอง จุดนี้ก็เป็นแนวโน้มสะท้อนตัวเขาด้วยว่า หากเขียนหัวข้อแรกง่ายก็มีแนวโน้มโทษตัวเองเยอะ หากเขียนหัวข้อที่สองง่ายก็มีแนวโน้มโทษคนอื่นมากกว่า แต่ทั้งสองด้านนี้คือเหรียญเดียวกันของการไม่รักตัวเอง
.
หากเรารักตัวเองอย่างแท้จริงแล้ว คำติเตียนและท่าทีลบร้ายจากคนอื่นก็ไม่ทำให้เรารู้สึกด้อยค่า ขาดความมั่นคง หรือกระทบกระเทือนในทางลบต่อตนเองได้ แต่จะเข้าใจด้วยปัญญาและเป็นกลาง คนที่โทษคนอื่นมากเกินไป แท้จริงแล้วก็พยายามกลบเกลื่อนความรู้สึกไม่มั่นใจในตนเองเช่นกัน
.
จิตผมเองมีแนวโน้มที่จะเหวี่ยงไปสองขั้วนี้อย่างรุนแรง เพราะด้วยความไม่มั่นคงของบรรยากาศในครอบครัวและความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ช่วงวัยเด็ก มีส่วนทำให้จิตใจนี้เหวี่ยงไปมาจนทำให้เป็นโรคไบโพลาร์ในที่สุด ช่วงที่สุขตื่นตูมก็มองคนอื่นแย่กว่าตนเอง ช่วงที่โศกตรมตรอมก็โทษตัวเองอย่างร้ายกาจ ผมเคยผ่านการรักษาด้วยยา และคุณหมอที่ใช้เวลาในการดูแลรอบละห้านาที หลังต่อแถวรอสองถึงสามชั่วโมง แต่ก็มิได้ทำให้รู้สึกเคารพตนเองและคนอื่นมากขึ้นเลย ยิ่งทำให้รู้สึกว่าเป็นของชำรุดมากเท่านั้น
.
ดังกรณีที่ผมเขียนนิทานเพื่อดูแลใจตนเองนั้น ยังเป็นข้อคิดอีกว่า การรักตัวเอง สำคัญที่สุดต้องมีการเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้ แต่อาศัยมุมมองเดียวจากตัวเราเอง ย่อมไม่พอเพียง ต้องอาศัยการสะท้อนจากคนอื่นที่มีดวงตาอันเหมาะสม มีดวงใจเป็นมิตรแท้พร้อมรับฟัง อาการผมดีขึ้นได้ด้วยความรักและการยอมรับจากคนรอบข้าง บางคนที่ช่วยเหลือก็เป็นมิตรผู้ผ่านทางในระหว่างการอบรม ผู้รับฟังและแลกเปลี่ยนเรื่องทุกข์ของตนเอง
.
ในกระบวนการเขียนเพื่อเยียวยาหรือเพื่อเข้าใจตัวเอง เราจำเป็นต้องมีขั้นตอนการสะท้อนหลังบันทึก ด้วยตัวเอง และจากครูหรือเพื่อนผู้ร่วมเรียนรู้ หากเราเข้าใจไปเองว่าตัวเราเท่านั้นจะเข้าใจตนเองดีสุด นั่นเป็นมุมมองที่สุดโต่งเกินไป หากเป็นจริงเช่นนี้แล้ว เราคงไม่จำเป็นต้องมีหมอช่วยวินิจฉัยร่างกายและจิตใจให้แก่เรา คงไม่จำเป็นต้องมีนักเขียนเขียนหนังสือให้เราเข้าใจโลกและชีวิตมากขึ้นด้วย บ่อยครั้งที่มุมมองจากคนอื่น โดยเฉพาะมุมมองที่ขัดแย้งกับใจเรา มักจะเป็นความจริงอีกด้านที่จิตเราละเลยไป
.
หลายครั้งในการทำหน้าที่ครูสอนการเขียนเปลี่ยนชีวิต ผมมักต้องคอยชี้ชวนให้ผู้เรียนทบทวนว่า ตัวเองไม่ดีที่ตนไม่ชอบนี้ แท้จริงแล้วมีประโยชน์อย่างไร มีคุณค่าอย่างไร ลึกๆ แล้วสามารถแปรเปลี่ยนให้เป็นข้อดีอย่างไรได้บ้าง บางครั้งก็ชี้แนะบอกกล่าวตรงๆ ไปเลย เพราะลำพังสายตาของตัวเราเองก็แปรผันไปตามอารมณ์อยู่มาก จึงไม่อาจมองตนด้วยใจที่เป็นกลาง
.
กระบวนการสะท้อนหลังบันทึกเป็นส่วนที่สำคัญไม่แพ้ขณะการเขียนเลย หากขาดส่วนนี้ไป การเขียนก็อาจเป็นเพียงการระบายและการซ้ำเติมอารมณ์อยู่แบบเดิม ในการบำบัดของคลินิกต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศที่นำการเขียนบันทึกเป็นเครื่องมือแนะนำคนไข้ ต่างก็ต้องใช้การสะท้อนทบทวนระหว่างคุณหมอและคนไข้จากบันทึกที่เขียนอยู่เสมอ
.
หน้ากระดาษหนึ่งของบันทึกบอกอะไรแก่เราได้มากมาย ทั้งลายมือ ช่องว่าง น้ำเสียง การใช้คำ รูปประโยค และอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นองค์ประกอบในบันทึกซึ่งสามารถสะท้อนตัวตนคนเขียนได้ ระหว่างบันทึกก็มีอารมณ์ มีความนึก คิด ความเชื่อมโยง และกลไกการทำงานของจิตเกิดขึ้น ซึ่งมีความหมายสะท้อนตัวเราด้วยเช่นกัน แต่เราจะไม่เห็นความหมายของสิ่งเหล่านี้เลย หากเราไม่มีขั้นตอนการทบทวนตนเองจากบันทึก
.
ถึงกระนั้น ระหว่างการเขียน ก็มิใช่ให้เราต้องคอยหยุดลงและย้อนดูเหลียวหลังบรรทัดก่อนหน้า เพื่อวิเคราะห์หรือเพื่อคิดประโยคต่อไป แต่ให้ใช้การเขียนไปเรื่อยๆ โดยลดทอนการคิดล่วงหน้าให้น้อยที่สุด มีสติอยู่กับการลงมือทำและไม่อาลัยในอดีตของอักษรที่ล่วงเลย ไว้ค่อยทบทวนเมื่อเขียนเสร็จแล้วเท่านั้น เรามิได้พยายามปลุกปั้นสร้างผลงานเป็นเลิศ แต่เรากำลังให้พื้นที่ว่างแก่หัวใจได้ปลดปล่อยและเยียวยา และกำลังให้พื้นที่ปลอดภัยแก่ตนเองได้ฝึกร่ายรำหมุนไปกับจักรวาล
.
การศึกษาการเขียนด้วยการลงมือทำด้วยตนเอง โดยมีหลักที่ถูกต้องนั้น เป็นประโยชน์แก่ตัวผมเองในหลายด้าน อย่างหนึ่งคือการ หมุนไปกับจักรวาล แทนที่เราจะเฝ้ากำหนดและหวังให้จักรวาลหมุนรอบตัวเรา แต่ได้ปล่อยใจให้วางและว่างพอที่จะเคลื่อนไหวไปกับสิ่งต่างๆ ทั้งหลายในชีวิต เมื่อจรดปากกาลง ในการเขียนแบบปกติ เราต้องคิดล่วงหน้าเพื่อสื่อสารออกมาอย่างดีที่สุด เรารู้ว่าจะเขียนอะไรแล้วได้อะไร แต่ในการเขียนแบบนี้เราต้องปล่อยตัวเอง เขียนไม่หยุดปากกา พักเพื่อหายใจบ้าง แล้วเขียนต่อโดยคิดล่วงหน้าให้น้อยที่สุด เขียนต่อเมื่อเจออุปสรรคหรือคิดว่าคิดไม่ออกแล้ว ก้าวต่อไปแม้ข้างหน้ามีหมอกมัวปกคลุม และลุ้นว่าเราจะได้พบเจอกับอะไร
.
ฝึกวางใจ และปล่อยใจจากเงื่อนไข แม้เราจะเขียนอย่างมีขั้นตอนอยู่บ้างเพื่อกำกับใจว่า ณ หัวข้อนี้ เราจะฝึกหรือเรียนรู้ในเรื่องใด แต่ระหว่างเขียนจริงนั้น ทุกสิ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ
.
ทุกครั้งที่เราเขียนบันทึก แม้ไม่รู้หลักการนัก เราก็กำลังให้ “การรับฟัง” แก่ตนเองอย่างตั้งใจ บางถ้อยคำที่ดีที่เขียนลงไป ได้ให้ “กำลังใจ” แล้ว การทบทวนสิ่งที่ดีที่เราได้ทำและเป็นอยู่ “การเห็นคุณค่า” ก็ได้เพิ่มเติมลงหัวใจในตนเอง เมื่อเขียนด้วยปากกา ทำอะไรได้ช้าลงกว่าตอนอยู่กับแป้นพิมพ์และหน้าจอกระจก ตอนนั้นเรากำลังให้ “ความสงบ” และการ “ผ่อนปรน” แก่กายใจ หากไม่เร่งร้อนให้เขียนเร็วเกินไป ซึ่งบนหน้ากระดาษ ไม่มีใครบังคับไปทุกอย่าง เป็นตัวของตัวเองได้ เพราะวางเงื่อนไขแก่ตนเอง เราก็กำลังปลดปล่อยหัวใจให้เป็น “อิสระ” ด้วยความ “เปิดกว้าง” จนเมื่อเขียนหลายๆ ด้านเกี่ยวกับตนจน “ยอมรับ” ได้ ความรู้สึกที่ดีก็ก่อตัวเป็น “ความรัก” บันทึกรวบหลายคำชูช่อผลิบานในใจดังดอกไม้มอบให้แก่ตนเอง
.
ก่อนเราจะเรียกร้องและรอคอยใครสักคน ลองให้สิ่งนั้นแก่ตนเองก่อน เพราะเราเกือบทุกคน ต่างกำลังต้องการในสิ่งเดียวกัน ต่างใฝ่หาความรักและการยอมรับตัวเองทุกๆ ด้านอย่างไม่มีเงื่อนไข ต่างต้องการเป็นคนสำคัญในเวลาสุขหรือทุกข์ ในเมื่อต่างฝ่ายต่างแสวงแล้ว ใครเล่าจะสามารถเติมเต็มใจให้เราตลอดเวลา ไม่ผิดที่เขาอาจเผลอทำร้ายจิตใจเราบ้าง เพราะเขาก็ไม่รักตัวเองเหมือนกับตัวเราเช่นกัน
.
ฝึกให้ปากกาดำเนินไปพาใจตามติด ปล่อยชีวิตวางเงื่อนไขหมุนเดินทางไปกับจักรวาล เมื่อเราเป็นผู้ให้แก่ตนเองอย่างแท้จริงแล้ว โดยไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขใดมากเกินไป เราก็ไม่ต้องเฝ้ารอใครอื่น ไม่คอยอิจฉา หรือใจขึ้นลงไปกับความไม่แน่นอนของโลก มุมมองต่อตนเองย่อมเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกันกับมุมมองที่เรามองคนอื่นและสังคม
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
.
บทความนี้จะรวบรวมร่วมกับสื่อวิดีโอและแบบฝึกหัด เพื่อเผยแพร่เป็นคอร์สออนไลน์ฟรี “เขียนบันทึกเพื่อรักตัวเอง” ผ่านโครงการ ปัญญ์ สเปซ ในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒
.
สามารถเรียนรู้ผ่านสื่อของหลักสูตร เขียนเปลี่ยนชีวิต หรือเข้าร่วมการอบรมแบบมีค่าใช้จ่าย โดยอ่านรายละเอียดได้ที่ www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/