จงมีตนเองและธรรมเป็นที่พึ่ง

 

จงมีตนเองและธรรมเป็นที่พึ่ง

 

“สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้วปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด” ***
.
เหตุใดพระองค์จึงตรัสเช่นนี้ เพราะสิ่งอื่นทั้งหลายในโลกไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้และยั่งยืน หากยึดมั่นเป็นที่พึ่งแล้วก็เหมือนจับที่เกาะเกี่ยวอันไม่มั่นคง จิตใจก็หวั่นไหวง่าย แม้เป็นทรัพย์ก็ดี ฐานะชื่อเสียงก็ดี หรือกระทั่งสิ่งที่เป็นคุณค่าภายในตัวเราก็ไม่ยั่งยืน ต้องพลัดพรากจากไปเช่นกัน ดังที่ท่านทรงตรัสถามพระอานนท์ก่อนหน้าว่า
.
“สารีบุตรพาเอาศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ หรือวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ปรินิพพานไปด้วยหรือ” ***
.
ความดีที่เรารักษาไว้ หลักการอันคร่ำเคร่ง คุณสมบัติน้อยใหญ่ สมาธิอันเป็นเลิศ ความเก่ง จนถึงปัญญาของตัวเรา อาจเป็นคุณค่าที่ทำให้เราพอใจและรักตัวเองอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แม้เป็นคุณค่าที่ทำให้ยินดีและเป็นสุขแท้มากกว่าทรัพย์นอกตัวก็จริงอยู่ แต่ท้ายที่สุดเราก็นำเอาไปด้วยไม่ได้เมื่อถึงเวลาต้องตายลง หรือแม้วันเวลาหนึ่งเมื่อร่างกายทรุดโทรมลง สิ่งเหล่านั้นก็ย่อมเลือนหายไป
.
เมื่อเรายึดเอาคุณค่าของตนเองไว้ที่สิ่งนอกตัวและในความเป็นตัวตนอันไม่ยั่งยืน เมื่อนั้นก็ยังมีความทุกข์จากการพลัดพรากและเสื่อมถอยของสิ่งเหล่านั้นอยู่ ไม่วันหนึ่งก็วันใด แม้เรายังมีสิ่งเหล่านั้นอยู่ก็ยังมีทุกข์จากการต้องเปรียบเทียบกับผู้อื่น ต้องหวนแหนรักษาไว้ ต้องคอยปกป้องไม่ให้เสื่อมถอย ไม่ว่าทรัพย์ภายนอกก็ดี หรือคุณสมบัติในตัวเราก็ดี เมื่อนั้นก็ยังเป็นทุกข์อยู่
.
ดังนั้นแล้วการพึ่งพาตนเองและธรรม ตามความหมายที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้นั้นคืออะไร ในเมื่อคุณสมบัติในตัวเราและสิ่งที่เราทำได้ก็ไม่ใช่สิ่งที่พึงยึดไว้เป็นที่ตั้งสูงสุด พระองค์ทรงตรัสต่อ ดังนี้
.
“ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่อย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ … ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ … ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรอานนท์ ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง อยู่อย่างนี้แล” ***
.
การมีตนเป็นที่พึ่ง มิได้หมายถึงเอาตัวตนของฉันเป็นที่ตั้ง หรือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองเท่านั้น การมีธรรมเป็นที่พึ่ง จึงไม่ได้หมายความว่าให้เอาหลักคิดความรู้และคำสอนทางศาสนาตามความเข้าใจของตนเป็นที่ตั้ง แต่ท่านทรงหมายถึง ให้ใช้ความเพียร การมีสติ ความระลึกรู้ตัว การพิจารณาเห็นกายใจตามความเป็นจริง การพิจารณาธรรมคือสภาวะความจริงตามความเป็นจริง และการขจัดละกิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลายเป็นที่ยึดเหนี่ยว
.
เราจะสังเกตได้ว่าสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสให้ยึดนั่นมิใช่ลักษณะของความเป็นตัวตน และเป็นการเน้นย้ำให้ยึดการขัดเกลาจิตใจ เพราะการถือในความมีตัวตนของตัวเอง และสิ่งต่างๆ ทั้งหลายนั้นยิ่งทำให้ทุกข์
.
การมีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่ได้มีความหมายต้องเฉพาะหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น เราผู้นับถือศาสนาต่างๆ สามารถกล่าวในความหมายเดียวกันได้ว่า มีพระเจ้าเป็นที่ยึดเหนี่ยว กลุ่มคนบางกลุ่มอาจใช้คำว่า วางใจในจักรวาล แทนก็ได้ หากยังคงมีจุดร่วมกันคือการมุ่งละการเอาตนเป็นศูนย์กลาง ยึดเหนี่ยวธรรมหรือพระเจ้าเป็นที่พึ่งแก่ตัว เพื่อลดความเห็นแก่ตนและวางจากการถือความเป็นตัวตน นี่ก็ถือว่าเป็นทางเดียวกัน หากเราถือว่าการมีธรรมเป็นที่พึ่งนี้คือธรรมของศาสนาพุทธเท่านั้น นั่นยังมิใช่ความหมายที่ถูกต้อง
.
ความพลัดพรากส่งข้อความบอกเราว่าสิ่งใดๆ ก็ไม่อาจยึดเหนี่ยวไว้ได้เลย ไม่เที่ยงแท้พร้อมจะแปรปรวนไปทั้งนั้น สิ่งที่เราควรใส่ใจและหันมายึดเหนี่ยวให้มากไว้ คือการใส่ใจโลกภายในตนเอง ด้วยการพิจารณากายใจเราให้รู้ความจริง มีสติกับตน อย่าได้หนีความทุกข์และความเหงาเปล่าเปลี่ยวภายในไปกับการจับจ่ายใช้สอย วัตถุภายนอกตัว ความสวยความงามและความเก่งของตัวเอง หรือกระทั่งบุคคลใดก็ตาม ไม่มีสิ่งใดเหล่านี้ที่จะอยู่กับเราได้ตลอดไป ยิ่งหมายคว้าสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ก็ไม่ช่วยให้เราพ้นจากทุกข์ได้

 

* จากบทความ “จดหมายจากการพลัดพราก”

โดย ครูโอเล่ สถาบันธรรมวรรณศิลป์

จดหมายจากการพลัดพราก

 

* เรียนฝึกสมาธิ ผ่านการเขียนภาวนา

เขียนภาวนา : เรียนการทำสมาธิเพื่อการปล่อยวาง