๔ ข้อต้องรู้ ถ้าไม่อยากทำร้ายคนอื่น

 

 

[ ก่อนเริ่มบทความ ผู้เขียนขอแสดงความขอบคุณและความชื่นชมจากหัวใจ ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลการเข้าเยี่ยมชมวัดพระแก้วและผู้จำหน่ายชุดแต่งกายประจำทางเข้า ซึ่งได้กรุณาเก็บคอมพิวเตอร์ที่ผู้เขียนใช้พิมพ์บทความนี้แล้ววางลืมทิ้งไว้พร้อมทั้งออกเดินตามหาผู้เขียนจนพบ ขอบพระคุณคุณตึ๋งผู้เดินตามหาผู้เขียนและสนทนาธรรมด้วยอัธยาศัยไมตรี เมื่อช่วงบ่ายคล้อยวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ขอประโยชน์และกุศลอันดีจากบทความนี้จงมีแก่ทุกท่าน
.
อนึ่ง ชุดที่จำหน่ายในวัดพระแก้วบริเวณทางเข้านั้นเป็นการจำหน่ายเพื่อนำรายได้เพื่อการกุศล สามารถให้การสนับสนุนได้แม้แต่งกายถูกต้องก็ตาม ]

 

๑ คาดหวังตัวเองอย่างไร คาดหวังคนอื่นอย่างนั้น :
.
เหตุใดเราจึงผิดหวังในตัวผู้อื่น เหตุใดจึงหวั่นไหวกับท่าทีและบางคำพูดของใครคนนั้นจนทำให้หงุดหงิด รำคาญ หรือท้อแท้ใจ เพราะอะไรเราจึงคอยกะเกณฑ์หรือสร้างเงื่อนไขบางอย่างต่อผู้อื่นและความสัมพันธ์
.
เราจะไม่เป็นคนแพ้ ถ้าไม่คิดแข่งขันหรืออยากดีตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกันเราก็จะไม่ผิดหวังกับผู้อื่นหรือรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ หากมิได้คาดหวังในตัวเองและไม่คิดเปรียบเทียบตนกับใครก่อน สิ่งที่เรากระทำต่อตนเองมักมีผลสะท้อนมายังการกระทำต่อผู้อื่น คนที่ชอบหลอกลวงโกหกคนอื่นก็เพราะเขาก็หลอกตนเองอยู่ด้วยเช่นกัน ด้วยการกลบเกลื่อนความจริงและการไม่ยอมรับตัวเอง
.
เราต่างก็เบียดเบียนกันอย่างไม่รู้ตัวก็ด้วยความคาดหวังเป็นอันดับแรกๆ ความคาดหวัง อาจจะอยู่ในรูปของความศรัทธา ความเชื่อมั่น และความเชื่อใจ โดยมีความอยากและความยึดติดผูกมัดในใจอยู่ลึกๆ เมื่อเขาหรือสิ่งนั้นเริ่มผิดแผกไปจากที่อยากและยึดติด เราก็เริ่มที่จะไม่พอใจ เดือดร้อน จนนำมาสู่การบีบคั้นและเบียดเบียนอีกฝ่ายหนึ่ง
.
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยฝ่ามือบ้าง ก้อนดินบ้าง ท่อนไม้บ้าง ศาตราบ้าง เชือกบ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ความบีบคั้น ความบีบคั้นยิ่ง ความเบียดเบียน ความเบียดเบียนยิ่ง ความทำให้เดือดร้อน ความทำให้เดือดร้อนยิ่ง ความทำร้ายสัตว์อื่น อันใด มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่าวิเหสา ความเบียดเบียน” *(๑)
.
พุทธศาสนาและศาสนาสำคัญต่างๆ บนโลกนี้ล้วนแล้วแต่สอนให้เราหลีกเลี่ยงจากวิเหสาด้วยหนทางอหิสา คือปราศจากความเบียดเบียน ทั้งการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
.
การบีบคั้นก็เป็นการเบียดเบียนเช่นกัน หากมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์และเหมาะสมแก่กาลเทศะ ดังที่เราไปบีบคั้นหาคำตอบจากเขาว่าเหตุใดจึงทำแบบนี้หรือเป็นคนแบบนี้หรือควรจะต้องทำแบบนี้ๆ เราเองก็กำลังไปเบียดเบียนผู้อื่นอยู่เช่นกัน แต่สิ่งที่เรากระทำต่อเขาก็สะท้อนว่าเราเองก็มีความมักบีบคั้นตนเองอยู่ไม่น้อย ความกดดันภายในนำมาสู่ท่าทีภายนอก
.
ความรู้สึก “หมั่นไส้” ตัวเองก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราเสพติดการ “Bully” คือการกลั่นแกล้งและการคุกคามผู้อื่น มิว่าในฐานะผู้ชมหรือผู้กระทำ เราเบียดเบียนเขาด้วยการกลั่นแกล้งหรือเพลิดเพลินไปกับการเห็นสิ่งเหล่านี้ เพราะเราก็เกลียดบางด้านของตน และกลั่นแกล้งตัวเองอยู่บ่อยครั้งด้วยพฤติกรรมหรือการคิดที่บั่นทอน
.
พุทธศาสนา สอนว่าความคาดหวังต่อผู้คนอาจทำให้เกิดความพอใจหรือเรียกว่า รัก อาจทำให้เกิดความไม่พอใจหรือเรียกว่า โทสะ ความคาดหวังต่อคนอื่นๆ มีธรรมชาติอยู่ ๔ ประการ คือ ความรักย่อมเกิดเพราะความรัก โทสะย่อมเกิดเพราะความรัก ความรักย่อมเกิดเพราะโทสะ และโทสะย่อมเกิดเพราะโทสะ
.
ความรักย่อมเกิดขึ้นเพราะความรัก เช่นบุคคลและสิ่งที่เราพึงพอใจ หากมีใครหรือสิ่งอื่นใดกระทำต่อบุคคลนั้นหรือสิ่งนั้นๆ ด้วยอาการลักษณะที่เราพึงพอใจ ก็ย่อมเกิดความรักหรือความพึงพอใจ ในทางกลับกัน โทสะย่อมเกิดเพราะความรัก เช่นบุคคลและสิ่งที่เราพึงพอใจ หากมีใครและสิ่งใดก็ตามกระทำต่อบุคคลนั้นหรือสิ่งนั้นๆ ด้วยอาการลักษณะที่เราไม่พึงพอใจ ก็ย่อมเกิดความโกรธและความไม่พึงพอใจขึ้น
.
ส่วนความรักย่อมเกิดเพราะโทสะเป็นอย่างไร บุคคลและสิ่งที่เราไม่พึงพอใจ หากมีใครหรือสิ่งอื่นกระทำต่อบุคคลนั้นหรือสิ่งนั้นๆ ด้วยอาการลักษณะที่เราพึงพอใจว่าสมควร ความรักและความพึงพอใจก็ย่อมเกิดขึ้น ส่วนโทสะย่อมเกิดเพราะโทสะเป็นอย่างไร บุคคลและสิ่งที่เราไม่พึงพอใจ หากมีใครหรือสิ่งอื่นกระทำต่อบุคคลนั้นหรือสิ่งนั้นๆ ด้วยอาการลักษณะที่เราไม่พึงพอใจหรือเห็นว่าไม่สมควร ความโกรธและความไม่พึงพอใจก็ย่อมเกิดขึ้น *(๒)
.
ทั้งสี่ข้อนี้เป็นตัวอย่างของความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะความคาดหวัง ความคาดหวังเกิดขึ้นจากความอยาก หรือเรียกว่า ตัณหา และความยึดติด เรียกว่า อุปาทาน ความหมายมั่นนั้นเองทำให้เกิดสุขหรือทุกข์ตามมา
.
เราจะรู้ว่าตนเองคาดหวังอะไรบ้าง ให้สังเกตจากความผิดหวัง มิว่าผิดหวังต่อตนเองหรือผู้อื่น มิว่ามากน้อยเพียงใดหรือจะเรียกว่าความเสียใจก็ตาม สิ่งเหล่านั้นสะท้อนถึงความหวังที่มี เป็นสิ่งที่ใจพยายามเรียกร้องจากตนเองและผู้อื่น
.
ความอยาก หรือ ตัณหาแบ่งออกเป็น อยากได้ , อยากเป็น และอยากไม่เป็น ตัณหานี้เมื่อเกี่ยวข้องกับคนอื่นแล้ว ก็จะเป็นการเรียกร้องหรือคาดหวังจากคนอื่น อยากได้รับการชื่นชม อยากเป็นคนสำคัญของเขา หรืออาจอยากไม่เป็นคนที่เขาไม่ต้องการ ความอยากนั้นเองก็นำมาสู่ความยึดติดอันบีบคั้นกันและกัน
.
การยึดติด หรืออุปทานก็คือความคาดหวังกับชีวิตและสิ่งต่างๆ ทั้งหลาย รวมทั้งเราและเขาด้วย แบ่งออกเป็นสี่อย่างคือ คาดหวังในความสวยความงามและความหลงเพลิดเพลิน , คาดหวังในความเก่ง ความฉลาด และความคิดความเห็น , คาดหวังในความดีและการตรงหลักการที่ถือมั่น และคาดหวังในความมีตัวตนกับเป็นของตน อุปาทานเหล่านี้เกิดจากความอยากนำมาสู่การบีบคั้นและเบียดเบียนตนเองจนเป็นทุกข์
.
การเบียดเบียนตัวเองนำมาสู่การเบียดเบียนคนอื่น ด้วยการคาดหวังอีกฝ่ายแบบเดียวกับที่คาดหวังตนอยู่นั้น หากเรารู้สึกลึกๆ ว่าตนเองไม่น่าพอใจ เราก็จะสร้างมาตรฐานต่างๆ ให้กับคนที่เข้ามาในชีวิต กำหนดกะเกณฑ์ว่าคนนั้นคนนี้ควรทำอะไรหรือควรเป็นอย่างไร หรือเรียกร้องให้เขาเป็นในสิ่งที่เราไม่อาจเป็นได้ เมื่ออีกฝ่ายไม่ได้เป็นไปตามใจเรา เราก็โกรธหรือผิดหวัง
.
ถ้าเราอยากเก่งอยากเป็นที่ยอมรับว่าฉลาด ก็อาจรู้สึกตำหนิรำคาญคนที่เห็นต่างหรือไม่สามารถคิดแบบที่เราคิดออก หากอยากสวยอยากเป็นที่ยอมรับในรูปร่างหน้าตา เราก็อาจมักคิดล้อเลียนร่างกายคนอื่น การอยากเป็นคนที่มีความสามารถให้คนอื่นยอมรับ สามารถทำให้เรากลายเป็นคนที่ดูถูกคนอื่นหรือรู้สึกหงุดหงิดกับความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้อื่นกระทำ
.
ความคาดหวังในตัวเองนำมาสู่การเบียดเบียนตน การเบียดเบียนนั้นก็นำมาสู่การบีบคั้นคนอื่น เหมือนไฟที่ลามไหม้จากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่งที่อยู่ใกล้กัน ไฟที่เผาไหม้อยู่ในจิตใจเรา ย่อมส่งผลไปยังร่างกาย การใช้ชีวิต และผู้คนที่เราพบเจอ
.
“ธรรมดาไฟย่อมเกิดขึ้นที่ไม้สีไฟอันบุคคลสีอยู่ ไฟเกิดขึ้นแต่ไม้ใด ย่อมเผาไม้นั้นเองให้ไหม้. ความโกรธย่อมเกิดขึ้นแก่คนโง่เขลา เบาปัญญา ไม่รู้จริง เพราะความแข่งดี แม้เขาก็ถูกความโกรธนั้นแหละเผาลน” *(๓)
.
ความแข่งดีก็คือความคาดหวังที่เรามีต่อตนเอง ประกอบด้วยความอยากดีและการเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น เมื่อเราคาดหวังในตัวเองแล้ว การเบียดเบียนตนก็เกิดขึ้น บ้างก็บีบคั้นตนเองกับบางเรื่องมากเกินไปจนลืมใส่ใจดูแลตนเองในด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม บ้างก็เบียดเบียนตนเองด้วยการหลีกหนีสิ่งดีๆ ที่คู่ควรเพราะกลัวความผิดหวัง
.
การไม่คาดหวังอะไรเลยเพราะกลัวผิดหวัง จริงๆ แล้วก็เป็นการคาดหวังเช่นเดียวกัน คือการคาดหวังที่จะไม่ทุกข์ ซึ่งก็ยังผิดไปจากไตรลักษณ์คือความเป็นจริงสามประการที่ใครหรือสิ่งใดก็มิอาจหลีกเลี่ยงได้
.
การจะแก้ความผิดหวัง เราต้องแก้ด้วยการมีปัญญาเข้าใจสิ่งต่างๆ ว่า ไม่มีอะไรเป็นไปดั่งใจเราได้เสมอไป แม้แต่ร่างกายและจิตใจของตนเองก็ตาม สิ่งทั้งหลายและเขาต่างก็อยู่ในกฎของความเป็นจริงที่เรียกว่าไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือไม่เที่ยงแท้ มีเสื่อมไป เป็นทุกข์หรือนำมาสู่ความทุกข์เป็นธรรมดา และไม่ใช่ตัวตนหรือของๆ ตน
.
ความเป็นผู้โง่เขลา เบาปัญญา ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าข้างต้น หมายถึงผู้ที่ยังไม่ยอมรับและรู้แท้จริงในไตรลักษณ์ จึงไปหมายมั่นและคาดหวังสิ่งต่างๆ ที่มิอาจเที่ยงแท้และยั่งยืน ให้เป็นไปตามความอยากกับความยึดติด
.
การไม่ยอมรับในความเป็นจริงนำมาสู่ความคาดหวัง จนกลายเป็นความเบียดเบียน เพราะการไม่ยอมรับก็จะทำให้เราพยายามฝืนธรรมชาติ พยายามเอาชนะความเป็นจริง และไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดจนเป็นทุกข์ใจ ท้ายที่สุดก็จะทำร้ายคนรอบข้างไปด้วย กล่าวได้ว่า การไม่เคารพความจริงทำให้ขาดการเคารพตนเอง เมื่อไม่เคารพตนเองแล้วก็ย่อมไม่เคารพคนอื่น
.
.
๒ การไม่รักตัวเอง ทำให้คนอื่นรู้สึกด้อยค่า :
.
เหตุใดเราจึงมองเห็นข้อเสียหรือข้อบกพร่องได้ชัดเจนกว่าคุณค่าและความดีของอีกฝ่าย เหตุใดแม้ความผิดพลาดไม่กี่ครั้งของเขา ทำให้ใจเราหลงลืมสิ่งดีๆ ของเขาไปเสียสิ้น เหตุใดเราจึงตอกย้ำกับสิ่งแย่ๆ ได้นานกว่าสิ่งที่ดีและความสุข
.
คนเรามักมองเห็นสังเกตและเฝ้าใส่ใจในจุดดำหรือจุดตำหนิบนผืนผ้าใบสีขาว มากกว่าที่จะใส่ใจในภาพสีขาวหรือส่วนที่สมบูรณ์อยู่แล้ว เพราะความคาดหวังที่มีต่อตนเองเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ
.
เราคาดหวังว่าตัวเองจะดีพอ สมบูรณ์แบบ หรือไม่ผิดพลาดล้มเหลว เราก็จะยิ่งมองเห็นความผิดพลาดและความบกพร่องต่างๆ อย่างชัดเจน เพราะจิตนั้นก็เอาแต่มองส่วนที่ยังไม่ดีพอตามความคาดหวังในตัวเราอยู่เรื่อยๆ
.
ชีวิตดำเนินมาหลายทศวรรษ ระหว่างนั้นมีเรื่องสุขและความงดงามเกิดขึ้นมากมาย แต่หากใจเรากลับเลือกตอกย้ำกับความทุกข์ ความล้มเหลว และความไม่ได้ดังหวัง แม้จะมีสิ่งดีๆ ในตัวเราและชีวิตมากเพียงใดก็มิอาจพึงพอใจ
.
บางครั้งเราก็รู้อยู่บ้างแล้วว่าตัวเองมีสิ่งดีๆ อะไรบ้าง แต่มันดูธรรมดาเกินไป หรือเล็กน้อยเกินไป เพราะไม่ได้เป็นที่ยกย่องชื่นชมเหมือนคนอื่นที่โดดเด่นกว่า หรืออาจเพราะนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วดูต่ำต้อย หรือ “เฉยๆ” ทั้งที่จริงแล้วสิ่งเหล่านั้นมีคุณค่าอย่างที่ไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร
.
ความอยากดีและความอยากพิเศษทำให้เลือกมองจุดดำจุดเดียวในภาพวาดทั้งผืนใบเพราะเป็นจุดที่พิเศษแตกต่างไปจากจุดอื่นๆ ของภาพ และเลือกที่จะมองข้อเสียในตัวเองทั้งที่อาจเป็นเพียงส่วนน้อยของตัวเราเป็นทั้งหมด แม้เราจะมีสิ่งที่ดีๆ และสิ่งที่มีคุณค่าอย่างเป็นกลางมากกว่าจุดด้อยนั้นก็ตาม การใส่ใจแต่สิ่งที่พิเศษและดูยิ่งใหญ่นี้เองจึงทำให้เราละเลยสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่มีความสำคัญในชีวิตไปด้วย
.
การไม่รักตัวเองนั้นทำให้คนอื่นรู้สึกด้อยค่าลง เพราะมุมมองที่เรามองต่อเขาก็จะเป็นไปตามที่เรามองตนเองอย่างไม่รักตัวเอง ซึ่งเอาแต่หมกมุ่นในด้านลบและอยากดีกว่าที่เป็นหรืออยากเป็นคนพิเศษคนสำคัญ พลอยทำให้เรามีท่าทีหรือคำพูดที่บั่นทอนคุณค่าของอีกฝ่าย อาจประชดประชัน หมิ่นหยาม ดูถูก หรือให้ร้าย ทำให้เขารู้สึกไม่สำคัญ ไม่ดีพอ หรือเลวร้ายกว่าความเป็นจริง
.
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “พึงขุดรากความโกรธและความดูหมิ่น… รากแห่งความดูหมิ่นเป็นไฉน? อวิชชา อโยนิโสมนสิการ อัสมิมานะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ เป็นรากแห่งความดูหมิ่น” *(๔)
.
อธิบายตามคำตรัสได้ว่า รากเหง้าของการดูหมิ่นตนและคนอื่นนั้น เกิดจากความไม่รู้จริงหรือการไม่ยอมรับความจริง การขาดการพิจารณาใคร่ครวญอย่างดี เกิดจากการถือเขาถือเรา ขาดความเกรงกลัวและความละอายต่อความผิดบาป และเกิดจากจิตใจที่ฟุ้งซ่านวุ่นวายไม่สงบ
.
ความไม่รู้จริงและไม่ยอมรับความจริงนั้นก็คือการไม่เข้าใจในไตรลักษณ์ว่า สิ่งต่างๆ นั้นมันไม่แน่นอนและไม่อาจสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ ย่อมมีความเสื่อมและการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา การขาดการใคร่ครวญพิจารณาก็ทำให้เราตอกย้ำอยู่กับด้านๆ เดียว หรือจุดมืดบอดเพียงหนึ่งจุด มิได้วางใจว่าอีกฝ่ายก็มีคุณค่าความดีและกิเลสมิต่างจากเรา
.
การถือเขาถือเราก็ทำให้เหมารวมไปว่าอีกฝ่ายเป็นแบบนี้ๆ เท่านั้น และสิ่งที่เขาเป็นไม่ใช่สิ่งที่เราเป็น การถือเขาถือเราก็ทำให้หลงลืมว่าสิ่งที่เรามองอีกฝ่ายนั้นมาจากสิ่งที่เราเป็น คือความคาดหวังทั้งหลายและอคติที่มีอยู่
.
เมื่อเราไม่ได้เคารพในคุณค่าตนเอง สายตาและมุมมองของเรานั้นก็จะมิได้เคารพความเป็นจริงอันหลากหลายด้านของเขา แต่ยึดติดในความเป็นตัวตนของอีกฝ่ายที่เราเข้าใจ อาจเชื่อว่าเขาดีแบบนั้น เขาแย่แบบนี้ โดยมีความอยากได้ อยากเป็น และอยากไม่เป็น รวมทั้งอุปาทานทั้งสี่ข้อเป็นแรงผลักดัน ตัดสินอีกฝ่ายจากอคติและกิเลสที่มี นี่คือการถือเขาถือเรา
.
การขาดความเกรงกลัว ไร้ความละอายต่อความผิดบาป และจิตใจที่ฟุ้งซ่านวุ่นวายไม่สงบ ก็ทำให้เราหลงไปตามความอยากที่ปรุงแต่ง ซึ่งประกอบไปด้วยความแข่งดี ความแข่งดีนี้ก็คือความคาดหวังให้ตัวเองดีพอและไม่ต่ำต้อยกว่าคนอื่น หรือเรียกว่าอยากดีพอ
.
คนเราอยากดีพอก็เพราะลึกๆ แล้วรู้สึกดีไม่พอ ไม่อาจรักตัวเองได้อย่างเต็มอกเต็มใจ จึงอยากดีและได้รับหรือพบเจอสิ่งดีๆ ไม่รู้พอ ไม่รู้ที่สิ้นสุด เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราก็จะเผลอดูถูกดูหมิ่นคนอื่นในทางตรงหรือทางอ้อมได้อย่างง่ายดาย เพราะผู้ที่ไม่พอใจตนเองก็จะไม่อาจพึงพอใจในสิ่งที่คนอื่นเป็นได้อย่างแท้จริง
.
ความอยากดีรวมอยู่ในธรรมะที่เรียกว่า มานะ คือความถือตนแข่งดี พระพุทธเจ้าทรงอธิบายว่า “ความคิดแข่งดีเป็นไฉน ความคิดแข่งดี ความคิดแข่งดีเนืองๆ กิริยาที่คิดแข่งดี กิริยาที่คิดแข่งดีเนืองๆ สภาพที่คิดแข่งดีเนืองๆ ความดูถูก ความดูหมิ่น ความดูแคลน ความคอยแสวงหาโทษ (ข้อบกพร่องของคนอื่น) อันใด นี้เรียกว่า อุปารัมภจิตตตา ความเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดี” *(๕)
.
การมีจิตคิดแข่งดีนี้ที่คอยทำร้ายกันและกัน ทำให้พยายามยกตนข่มหรือบั่นทอนความรู้สึกของกันและกัน ความแข่งดี ความถือตน ความดูหมิ่น ฯ เราทุกคนต่างมีกิเลสเหล่านี้อยู่ในตนเอง มาจากความอยากดี อยากเด่น อยากให้ตนเป็นไปตามที่ตัวเองคาดหวัง เมื่อขาดสติแล้ว คำพูด การกระทำ และความนึกคิด ย่อมเกิดจากความแข่งดี เป็นดั่งมีดคมเชือดเฉือน บั่นทอนให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่กับตัวเอง ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าน้อย มิว่าจะด้วยการพูดเหน็บแนม ประชดประชัน หมิ่นหยามดูถูก วิจารณ์ให้ร้าย ฯ แม้เคยรักใคร่หรือมีความสัมพันธ์ที่ดีกันก็ตาม เมื่อขาดสติ ความแข่งดีในเราก็ปรากฎ เมื่อนั้นความเคารพในคุณค่าของกันและกันก็จางหาย
.
การไม่รักตัวเอง ไม่เคารพตนเอง ทำให้เราหล่อเลี้ยงกิเลสเหล่านี้ไว้ภายใน บ่มเพราะปลูกฝังไว้ด้วยความคิด คำพูด และการกระทำที่ส่งเสริมการแข่งดี ความอยาก และความคาดหวัง ปล่อยปละสติให้พวกมันครอบงำ เป็นผู้เบียดเบียนตัวเองด้วยการเป็นทุกข์เพราะกิเลสของใจแล้ว ยังเป็นผู้เบียดเบียนคนอื่นอีกด้วย
.
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า มีบุคคลสี่จำพวกอยู่บนโลก บางคนป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน บางคนเป็นผู้ทำคนอื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน บางคนทำตนและคนอื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนและคนอื่นให้เดือดร้อน  บางคนเป็นผู้ไม่ทำตนและคนอื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำตนและผู้อื่นเดือดร้อน
.
บุคคลจำพวกสุดท้าย “เป็นผู้ไม่หิว (ทะยานอยากด้วยตัณหา) ดับร้อน (ความกลุ้มรุมจากกิเลส) เย็นใจ เสวยสุข มีตนอันประเสริฐ อยู่ในปัจจุบัน” *(๖) ผู้ที่ไม่เบียดเบียนตนและคนอื่น จึงมีชีวิตอยู่ได้อย่างเย็นใจ และไม่ต้องดิ้นรนทะยานอยากอยู่เรื่อยไป มีจิตใจที่สงบและพึงพอใจกับตนอย่างแท้จริง
.
ยิ่งบั่นทอนคุณค่าในตัวผู้อื่น ยิ่งมิอาจพึงพอใจกับตนเองได้เลย เพราะสิ่งที่กระทำลงไปอย่างไม่เห็นคุณค่าของอีกฝ่าย ย่อมทำให้ผู้กระทำนั้นไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะขาดความเคารพมาตั้งแต่ต้น ยิ่งทำเช่นนั้นก็ยิ่งตอกย้ำให้จิตเราดำดิ่งในกิเลส ยิ่งเพ่งเล็งแต่ข้อด้อยของเขาจิตก็ยิ่งเพ่งมองแต่จุดดำมืดบนผืนผ้าใบของชีวิตตนมากขึ้น ผู้ที่ประกอบด้วยการทำตนและคนอื่นให้เดือดร้อน มิอาจห่างไกลไปจากความหิวคือความทะยานอยาก มีความร้อนรนข้างใน เต็มเปี่ยมด้วยทุกข์ และไม่อาจอยู่กับปัจจุบันได้เลย
.
การเคารพตนเอง ด้วยการยอมรับความเป็นจริง มีสติ และไม่ปล่อยให้กิเลสครอบงำใจ จึงเป็นหนทางที่ทำให้เราไม่เป็นผู้กระทำตนให้ตัวเองและคนอื่นเดือดร้อน เป็นผู้ไม่เบียดเบียน เมื่อประกอบพฤติกรรมทั้งทางกาย วาจา และใจต่อผู้อื่นและสิ่งต่างๆ ด้วยความเคารพอยู่เสมอๆ ย่อมเป็นผู้รักตนเอง และมีชีวิตที่พึงปรารถนา เสมือนผู้แสดงกิริยาเคารพผู้อื่น ย่อมได้รับกิริยาเคารพกลับมา
.
.
๓ โทษเขาเกินไป เพราะใจแสวงอำนาจและการสรรเสริญ :
.
การเบียดเบียนผู้อื่นที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือการกล่าวโทษอีกฝ่ายเกินพอดี และการเฝ้าเพ่งเล็งในข้อบกพร่องของผู้อื่น ซึ่งไม่เป็นเพียงการเบียดเบียนเขาเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำร้ายตนเองอีกด้วย
.
พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงเรื่อง กำลัง หรือ อำนาจ ดังนี้ “ทารกทั้งหลายมีการร้องไห้เป็นกำลัง , มาตุคาม (ผู้หญิง) ทั้งหลายมีความโกรธเป็นกำลัง , โจรทั้งหลายมีอาวุธเป็นกำลัง , พระราชาทั้งหลายมีอิสริยยศเป็นกำลัง , คนพาลทั้งหลายมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง , บัณฑิตทั้งหลายมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลัง , พหุสุตบุคคลทั้งหลายมีการพิจารณาเป็นกำลัง , สมณพราหมณ์ทั้งหลายมีขันติเป็นกำลัง” *(๗)
.
การเพ่งโทษ คือการคิดร้าย การหวังประทุษร้าย การกล่าวถึงผู้อื่นด้วยจิตอกุศล และการเฝ้าตำหนิหรือมองแต่แง่ลบของผู้อื่น คนพาลดังคำที่ท่านกล่าวถึงคือคนที่มีจิตใจต่ำทรามหรือยังถูกครอบงำด้วยกิเลสอยู่มาก มักเป็นผู้ชอบวิวาทและก่อความเบียดเบียนแก่ผู้อื่น ย่อมใช้การเพ่งโทษคนอื่นเป็นการสร้างอำนาจให้กับตนเอง ย่อมเบียดเบียนผู้อื่นด้วยการเพ่งโทษเขาอยู่เสมอๆ
.
ในทางกลับกัน ผู้เป็นบัณฑิต คือบุคคลที่มีปัญญาพาออกจากทุกข์ มีการไม่เพ่งโทษคนอื่นเป็นอำนาจของตนเอง ไม่เที่ยวเทียวให้ร้ายใคร ไม่คิดอกุศลต่อคนอื่น หรือเพ่งจับผิดข้อบกพร่องของใคร ย่อมมากด้วยความเคารพและมีจิตใจที่สงบมั่น แตกต่างจากบุคคลพวกแรกที่มิอาจหาความสงบร่มเย็นให้แก่จิตใจได้เลย เพราะมัวแต่ควานหาข้อผิดพลาดของผู้อื่น
.
การใช้ชีวิตของคนเรานั้นย่อมต้องเกี่ยวข้องผูกพันกับโลกธรรมทั้งหลาย หนึ่งในนั้นคือการมีอำนาจ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของสถานะหรือยศ การยอมรับหรือสรรเสริญ และลาภทั้งหลายที่เป็นสมบัติภายในคือศักยภาพ กับสมบัติภายนอกคือวัตถุต่างๆ จิตเรามักถูกผลักดันให้แสวงหาในอำนาจเหล่านี้เพื่อทำให้รู้สึกมั่นคงและมีตัวตน ซึ่งบ่อยครั้งที่การเสาะแสวงในโลกธรรมเหล่านี้ทำให้เกิดการเบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม
.
บางครั้งเราก็แสวงหาความมั่นใจตนเองด้วยการเพ่งโทษคนอื่น กลั่นแกล้งคุกคามเพื่อให้ตนเองรู้สึกมีอำนาจชดเชยความขาดแคลนในจิตใจ บางครั้งเราก็ต้องการการยอมรับเพื่อรู้สึกถึงความมีตัวตน จึงร่วมขบวนการก่นด่าสาปแช่งผู้อื่น หรือแสดงความเห็นคล้อยตามไปกับคนอื่นๆ ให้เป็นที่รับรู้ หลายครั้งที่การเพ่งโทษคนอื่นเป็นกลไกของจิตที่หวังให้ตัวเราเองรู้สึกมีคุณค่าและความมั่นคงมากขึ้น แต่เป็นเหมือนเกราะกลวงๆ ที่ไว้บังหน้า มิอาจให้ความมั่นคงทางจิตใจที่แท้จริงได้เลย
.
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่สอนให้เราไม่คอยจับผิดคนอื่น ด้วยเหตุผลหนึ่งคือ “โทษของผู้อื่นเห็นได้ง่าย ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก เพราะว่าบุคคลนั้นย่อมโปรยโทษของคนอื่น ดุจบุคคลโปรยแกลบแต่ปกปิดโทษของตนไว้ เหมือนพรานนกปกปิดอัตภาพด้วยกิ่งไม้ ฉะนั้น อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลผู้ตามเพ่งโทษผู้อื่น” *(๘)
.
ยิ่งเพ่งโทษคนอื่นมากเพียงใด เรายิ่งหลงลืม “อาสวะ” หรือกิเลสหม่นหมองที่หมักหมมอยู่ในตนมากเท่านั้น จึงยิ่งโทษคนอื่นเพียงใด เราก็ยิ่งเป็นผู้น่าถูกกล่าวโทษมากเท่านั้น เพราะขณะที่เรากล่าวโทษคนอื่นอยู่ จิตก็ส่งออกไปนอกตัว จึงไม่ทันได้หันกลับมาแลเหลียวพิจารณาตนเองอย่างถี่ถ้วน จึงกล่าวว่าโทษคนอื่นเห็นง่าย โทษตนเองเห็นยาก เมื่อมีการส่งจิตออกไปข้างนอกตัวบ่อยๆ แล้วการจะพิจารณาหรือรู้เท่าทันข้อบกพร่องของตนเองก็เป็นไปได้ยาก มัวแต่มองผู้อื่นจนลืมตนอยู่นั่นเอง
.
ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้า การกล่าวโทษคนอื่นอย่างขาดสติปัญญา เป็นเหมือนการเอาแกลบมาปกปิดโทษหรือข้อบกพร่องของตนเองไว้ การโทษคนอื่นก็เป็นกลไกการปกป้องตนเองจากการยอมรับโทษที่ตนก่อ ความผิดพลาดที่กระทำ กิเลสและข้อเสียที่ตนมีอยู่ จิตใจเราอาจไม่อยากยอมรับ จึงโทษคนอื่นหรือเฝ้าเพ่งเล็งข้อบกพร่องของคนอื่นๆ ไม่สิ้นสุด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเราเองได้สบตากับด้านมืดภายใน
.
ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงอันตรายสองแบบ คือ อันตรายที่ปรากฏ กับ อันตรายที่ปกปิด
.
อันตรายที่ปรากฏ เช่น สัตว์ร้าย สัตว์มีพิษ โรคทางร่างกายทั้งหลาย อากาศร้อน อากาศหนาวจัด แดดร้อน ความหิวกระหาย ความเจ็บไข้ได้ป่วย และสิ่งที่อาจเป็นอันตรายอันอยู่นอกตัวเราและเกี่ยวกับร่างกาย เป็นอันตรายที่สังเกตได้ง่าย
.
อันตรายที่ปกปิด เช่น กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต คือการกระทำไม่ดีทางกาย วาจา และใจ , นิวรณ์อันบดบังปัญญา ได้แก่ ความรัก ความชัง ความลังเล ความฟุ้งซ่าน และความห่อเหี่ยว , กิเลส ได้แก่ โลภ โกรธ หลง ความอาฆาตแค้น ความลบลู่คุณ การตีเสมอ อิจฉาริษยา ความตระหนี่ การหลอกลวงความโอ้อวด ความหัวดื้อ การแข่งดี การถือตัว การดูหมิ่นคนอื่น มัวเมาหลงใหล ความประมาท เป็นต้น รวมทั้งความกระวนกระวาย ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุศลธรรมทั้งปวง อันตรายเหล่านี้ เรียกว่าอันตรายที่ปกปิด เพราะสังเกตได้ยากและมักเผลอไผลไม่ระวัง
.
อันตรายในธรรมะของพระพุทธเจ้า หมายถึง สิ่งที่สามารถครอบงำ บั่นทอน ทำร้าย หรือย่ำยีตัวเรา มิว่าทางกายหรือทางใจ ให้เป็นไปในทางเสื่อม เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงชื่อว่าอันตราย *(๙)
.
หากเรามัวแต่โทษคนอื่น เพ่งเล็งข้อบกพร่องและข้อผิดพลาดของผู้อื่นอยู่บ่อยๆ เราก็จะไม่ทันระวังอันตรายที่ปกปิดไว้ในตัวเราเอง อกุศลที่หมักดองไว้ก็จะทำให้กาย วาจา และใจตนค่อยๆ เน่าเสีย เสื่อมลงช้าๆ เพราะไม่ระวังในอกุศล เช่น กิเลสทั้งหลายที่มีอยู่ ระหว่างที่มัวจับผิดคนอื่นเขา เราจึงค่อยๆ แย่ลงเรื่อยๆ ในทางธรรมและการพัฒนาจิตใจตนเอง
.
การเปรียบเทียบตนกับคนอื่น การแข่งดี การโอ้อวดตัวเอง การดูหมิ่นคนอื่น ต่างก็เป็นหนึ่งในอันตรายใกล้ตัวที่ปกปิดไว้ ด้วยความไม่รู้ตัว ด้วยเอาจิตส่งออกนอกไปใส่ใจสิ่งนอกกายเกินไป หรือด้วยการโปรยแกลบโทษของคนอื่นอำพลางไว้ ทำให้ตัวเราเองคือผู้ที่เบียดเบียนตนกับคนอื่นโดยไม่รู้ตัว เป็นผู้ร้ายที่น่ากลัวที่สุดผู้หนึ่ง
.
“ดูกรภัททิยะ ก็บุคคลผู้โลภมาก ถูกความโลภครอบงำย่ำยีจิต ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน
.
“ดูกรภัททิยะ บุคคลผู้แข่งดี ถูกความแข่งดีครอบงำย่ำยีจิต ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ ชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน
.
“ดูกรภัททิยะ ก็บุคคลผู้ไม่โลภนี้ ไม่ถูกความโลภครอบงำย่ำยีจิต ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ และชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน
.
“ดูกรภัททิยะ ก็บุคคลผู้ไม่แข่งดีนี้ ไม่ถูกความแข่งดีครอบงำย่ำยีจิต ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ และชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน
.
“จงปราบปรามความโลภเสียเถิด เมื่อปราบปรามความโลภได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิดแต่ความโลภด้วยกายวาจาใจ จงปราบปรามความโกรธเสียเถิด เมื่อท่านปราบปรามความโกรธได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิดแต่ความโกรธด้วยกาย วาจา ใจ จงปราบปรามความหลงเสียเถิด เมื่อปราบปรามความหลงได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิดแต่ความหลงด้วยกาย วาจา ใจ จงปราบปรามความแข่งดีเสียเถิด เมื่อปราบปรามความแข่งดีได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิดแต่ความแข่งดีด้วยกาย วาจา ใจ ฯ” *(๑๐)
.
ตราบใดที่ใจเรายังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง และการแข่งดี เราก็สามารถทำร้ายตนเองและคนอื่นได้เสมอ มิว่าด้วยกาย วาจา หรือใจ ไม่เพียงแค่นั้นยังอาจชักชวนหรือเป็นปัจจัยให้ผู้อื่นก่ออกุศลกรรมตามตนเองอีกด้วย เป็นหนทางที่นำไปสู่ความทุกข์ มิอาจอยู่อย่างเป็นสุขและร่มเย็นในจิตใจ
.
หากเราพึงหวังให้ตนเองไม่เป็นผู้เบียดเบียน ปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขและร่มเย็น พึงปราบปรามหรือกำราบความโลภ ความโกรธ ความหลง และการแข่งดีในจิตใจตนเอง ไม่มัวเพ่งโทษของผู้อื่นจนหลงลืมตน
.
บางครั้งเรารู้สึกว่าจำเป็นต้องเพ่งโทษคนอื่น เพราะสิ่งที่เขาเป็นหรือที่แสดงออกมาทำให้เราทุกข์ แต่การกระทำที่เขาแสดงเป็นความรับผิดชอบของเขา แต่อารมณ์ของเรา กิเลสของใจ ความขุ่นข้องรำคาญกับข้อผิดพลาดคนอื่นไม่ใช่ความรับผิดชอบของคนอื่น แต่เป็นของตัวเราเอง
.
ขณะที่เราว่าร้ายหรือวิจารณ์คนอื่นนี้ จิตใจเราเองอาจทำลงไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง และการแข่งดี มีความอยากเด่น อยากมีคุณค่า อยากมีตัวตน อยากโอ้อวด อยากได้รับการยอมรับ และกิเลสน้อยใหญ่ที่ผลักดันอยู่เบื้องหลัง ทำให้การกระทำนั้นๆ เป็นอกุศล ทำให้เกิดความเบียดเบียน ทำร้ายซึ่งกันและกัน
.
การที่เราเฝ้าจับผิด คิดลบร้าย มองแต่ข้อบกพร่องของผู้อื่นและสิ่งทั้งหลาย แง่หนึ่งก็เป็นเพราะว่าตัวเราอยากมีคุณค่า อยากดีพอ หรืออยากเป็นที่ชื่นชมสรรเสริญ ความอยากดีพอที่ว่านี้ ย่อมทำให้จิตโลเล วุ่นวาย ไม่ตั้งมั่น ทำให้เกิดอกุศลกรรมต่างๆ ตามมา เช่น การแข่งดี การโอ้อวดตนเอง และการดูหมิ่นผู้อื่น เป็นต้น ดังคำสอนในพระไตรปิฎก ดังนี้
.
“เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ มีความว่า เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ คือ เมื่ออยากได้ ยินดี ปรารถนา ชอบใจ รักใคร่ ความสรรเสริญ คือความชม ความมีเกียรติ ความยกย่องคุณ… ย่อมเป็นผู้มีความสงสัย ลังเลใจ คือ ก่อนแต่โต้ตอบ ย่อมเป็นผู้สงสัย ลังเลใจอย่างนี้ว่า เราจักมีชัยหรือไม่หนอ หรือเราจักปราชัย เราจักข่มเขาอย่างไร จักทำลัทธิของเราให้เชิดชูอย่างไร จักทำลัทธิของเราให้วิเศษอย่างไร จักทำลัทธิของเราให้วิเศษเฉพาะอย่างไร จักทำความผูกมัดเขาอย่างไร จักทำความปลดเปลื้องอย่างไร จักทำความตัดรอบวาทะเขาอย่างไร เราจักขนาบวาทะเขาไว้อย่างไร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ
.
“ย่อมขัดเคืองเพราะความติเตียน ย่อมเป็นผู้แสวงหาช่องทางแก้ตัว มีความว่า เพราะความติเตียน คือ เพราะความนินทา ครหา ไม่ชมเชย ไม่สรรเสริญคุณ คำว่าย่อมขัดเคือง คือ ขัดเคือง ขัดใจ หมายแก้แค้น ย่อมทำความโกรธ ความเคือง ความไม่ยินดีให้ปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมขัดเคืองเพราะความติเตียน
.
“คำว่า ย่อมเป็นผู้แสวงหาช่องทางแก้ตัว คือ ย่อมเป็นผู้แสวงหาช่องทางแก้ตัว แสวงหาความผิด ความพลั้ง ความพลาด ความเผลอ และช่องทาง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมขัดเคืองเพราะความติเตียน ย่อมเป็นผู้แสวงหาช่องทางแก้ตัว
.
“เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ชนผู้ประกอบถ้อยคำในท่ามกลางบริษัท (พูดท่ามกลางหมู่คน) เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน ในเมื่อถ้อยคำของตนถูกเขาค้านตกไป ย่อมขัดเคืองเพราะความติเตียน ย่อมเป็นผู้แสวงหาช่องทางแก้ตัว” *(๑๑)
.
เมื่อแสวงหาการชื่นชมสรรเสริญ เราย่อมขัดเคืองเพราะการถูกตำหนิติเตียนจากผู้อื่น และย่อมเป็นผู้คอยหาข้อแก้ตัวต่างๆ นานา ซึ่งหลายครั้งก็เป็นการแสวงหาความผิดพลาก พลั้งเผลอ และข้อบกพร่องของผู้อื่นมาเป็นช่องทางหนีจากความผิดของตนเอง
.
หากเราปรารถนาขจัดตะกอนในใจอันเป็นรากเหง้าของการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่พึงใส่ใจแต่เสียงสรรเสริญหรือชื่นชมยกยอแต่ส่วนเดียว พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ความสรรเสริญนั้นเป็นของน้อยนัก ดังความว่า
.
“ความสรรเสริญนั้นเป็นของน้อย ไม่พอเพื่อสงบกิเลส ความว่า ความสรรเสริญนั้นเป็นส่วนน้อย ต่ำช้า นิดหน่อย ลามก(หยาบช้า) สกปรก ต่ำต้อย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า  ความสรรเสริญนั้นเป็นของน้อย
.
“คำว่า ไม่พอเพื่อสงบกิเลส  ความว่า ไม่พอเพื่อยังราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ  ความริษยา ความตระหนี่ มารยา ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา ความมัวเมา กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุศลาภิขารทั้งปวง ให้สงบ เข้าไปสงบ ดับ สละคืน ระงับไปทั้งปวง… เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความสรรเสริญนั้นเป็นของน้อย ไม่พอเพื่อสงบกิเลส” *(๑๒)
.
บุคคลทั่วไปย่อมใช้ชีวิตไปตามกระแสการแสวงหาโลกธรรมทั้งหลาย อยากได้รับการยอมรับ คำชื่นชม และการมีตัวตน ย่อมอยากได้ใคร่มีในคำสรรเสริญเยินยอทั้งหลาย ย่อมเคลิ้มหรือหวั่นไหวไปกับคำสรรเสริญเยินยอทั้งหลาย แต่สิ่งนี้เป็นของน้อย ไม่ได้ทำให้เราขจัดปราบปรามอันตรายอันปกปิดในตัวเราเองได้เลย และอาจยิ่งส่งเสริมให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นไปด้วยความหลงอีกด้วย
.
การจะลดละการเพ่งโทษผู้อื่น เราต้องหมั่นสำรวจโทษในตนเอง รับฟังในคำตำหนิติเตียน ไม่เพลิดเพลินและแสวงหาแต่การสรรเสริญ พิจารณาและยอมรับในความผิดพลาดไปตามความเป็นจริง ย่อมทำให้อยู่บนทางของการระงับอกุศลทั้งหลายภายในจิตใจ แล้วนำไปสู่ชีวิตที่มีความสุขสงบอย่างแท้จริง
.
สมัยพุทธกาล นักพรตชื่อ นิโครธะ ได้กล่าวดูหมิ่นและโอ้อวดตนต่อพระพุทธเจ้าในที่ลับหลังกับเหล่านักพรตผู้อื่น ครั้นพระองค์ทรงได้ยินและเสด็จมาสนทนาธรรมด้วย จึงบังเกิดความเลื่อมใสและถูกตำหนิจากนักพรตผู้อื่นด้วยกันที่พากันฟ้องว่าลับหลังได้กล่าวว่าพระพุทธเจ้าอย่างไร จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยยอมรับความผิด ความเขลา และความหลงของตนเอง
.
“พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จริง จริง นิโครธะ ความผิดได้ครอบงำท่าน ซึ่งเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด จึงได้กล่าวกะเราอย่างนี้ เราขอรับทราบความผิดของท่าน เพราะท่านได้เห็นความผิดโดยเป็นความผิดแล้วสารภาพตามเป็นจริง ก็การที่บุคคลเห็นความผิดโดยเป็นความผิดจริง แล้วสารภาพตามเป็นจริง รับสังวรต่อไปนี้ เป็นความเจริญในพระวินัยของพระอริยเจ้าแล ดูกรนิโครธะ ก็เรากล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา มีชาติตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เขาปฏิบัติอยู่ตามคำสั่งสอน จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม” *(๑๓)
.
ผู้ยอมรับความผิดพลาดและความลุ่มหลง เมื่อเห็นความผิดโดยเป็นความผิดแล้วสารภาพหรือยอมรับไปตามความเป็นจริง มิได้เสแสร้งหลบเลี่ยงด้วยการมารยา ข้ออ้าง การคิดอันสวยหรู หรือการโทษคนอื่น ย่อมได้โอกาสเข้าถึงธรรม ย่อมเกิดความเจริญก้าวหน้าในการศึกษาพัฒนาตนเอง
.
เราจะลดละการเพ่งโทษคนอื่นและยอมรับตนเองได้นั้น เราต้องเข้าใจความเป็น “อิทัปปัจยตา” ของโลก คือความเป็นเหตุปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และความดับไป มิใช่ตัวตนและมิใช่สิ่งที่ไร้สาเหตุเป็นมา
.
พฤติกรรมการกระทำที่เขาก่อ ล้วนแต่มีสาเหตุเป็นมาอันมากมาย เราไม่อาจกล่าวได้ว่าความผิดพลาดและความเลวร้ายที่เกิดเป็นเพราะเขาโดยส่วนเดียวได้ หากมิได้คำนึงถึงเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โลกนี้เป็นเพียงอิทัปปัจยตา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงอิทัปปัจยตา เกิดแต่เหตุปัจจัยอันมากมายที่ส่งเสริมกันมาให้เกิดขึ้นและสูญสิ้นลง แม้แต่ตัวเราตัวเขาเองก็เป็นอิทัปปัจยตาเกิดจากปัจจัยต่างๆ ประกอบเข้าด้วยกัน มิใช่ความเป็นตัวตนของตนให้ยึดติด
.
เมื่อมองเห็นข้อบกพร่องของเขา พึงพิจารณาว่ามันเป็นเพียงอนิจัง ทุกขัง และอนัตตา เป็นไปตามอิทัปปัจยตาที่เรารู้ได้และไม่อาจรู้ได้ ที่เขาต้องทำแบบนี้หรือเป็นแบบนี้มีปัจจัยหนุนส่งมา หากไม่มีปัจจัยเหล่านั้นแล้วสิ่งเหล่านี้ก็ไม่เกิดขึ้น
.
ท่านพุทธทาส อินทรปัญโญได้บรรยายธรรมว่า “อิทัปปัจจยตา คือตัวจริงของทุกสิ่ง หัวใจของทุกสิ่ง อิทัปปัจจยตาคือคําสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง ทีนี้ถ้านอกไปจากนั้น อิทัปปัจจยตาก็เป็นทุกอย่างที่มันเป็นอยู่ หรือมีอยู่ในโลกนี้ อย่างที่ได้บอกแล้วเมื่อตะกี้นี้ว่า อะไร ๆ มันเป็นอิทัปปัจจยตา แม้แต่ก้อนหิน ก้อนดินขึ้นไป
.
“ทีนี้ ก็อยากจะให้ย้ำหรือให้ทําความเข้าใจย้ำตรงคําว่า ตถตา เพื่อประหยัดเวลา ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า เราพูดว่า อิทัปปัจจยตา ๖ พยางค์ แต่ถ้าว่าเรา พูดว่า ตถตา มันจะมี ๓ พยางค์ ถ้าพูดอย่างจีนพูดว่า “ยู่สี” ก็เหลือ ๒ พยางค์ (หมายถึง) ความเป็นอย่างนั้น
.
“ตถตา ในภาษาบาลี ตถ แปลว่า อย่างนั้น ตา แปลว่า ความเป็น (รวมกันคือ) ความเป็นอย่างนั้น
.
“ฉะนั้นคนที่มีการตรัสรู้แล้วก็คือตรัสรู้ ตถตา เหลียวไปทางไหน ก็เหมือน กันหมด จึงไม่เกิดความรัก ความชัง ไม่เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ในสิ่งใดได้ แล้วก็ไม่ทําอะไรให้ผิด หรือให้ถูกได้ มันเหนือความผิด เหนือ ความถูก เรียกอีกอย่างหนึ่งก็ว่า มันเหนือความทุกข์ ไม่มีความทุกข์ เพราะเห็นตถตา หรือว่าเห็น อิทัปปัจจยตา” *(๑๔)
.
.
๔ มีสติ จึงไม่มีความเบียดเบียนใครๆ :
.
ในวันอันเหนื่อยล้า ผู้เขียนติดตามครอบครัวไปวัดพระแก้วเพื่อดูแลภรรยาและแม่ของเธอ ด้วยความยึดในภาระการงานที่มีไม่คลาย ก็พบพาคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คไปด้วย เพื่อตรวจการบ้านคอร์สออนไลน์และเขียนบทความนี้ จนกระทั่งวางลืมทิ้งไว้บริเวณทางเข้าวัด ทำให้เจ้าหน้าที่เป็นกังวลแทนและช่วยกันตามหาเจ้าของ ผู้เขียนไม่มีสิ่งใดจะตอบแทนน้ำใจนี้ได้เลย ได้แต่เพียงขอบคุณและตั้งจิตที่จะเขียนบทความนี้ให้แล้วเสร็จเพื่อเป็นกุศลตอบแทน
.
การถูกตามตัวและพูดคุยสนทนากันกับเจ้าหน้าที่ระหว่างการเดินไปรับของคืนนั้นเองที่เตือนสติของผู้เขียน การขาดสติมิว่าเพราะด้วยสาเหตุใด เราก็สามารถทำให้คนอื่นเดือดร้อนได้ ต้องรับผลจากกรรมที่เราก่อ แม้เคยปฏิบัติธรรม มีความรู้ หรือมีความดีงามมาอย่างไรก็ไม่มีข้อยกเว้น ข้างต้นนี้เป็นตัวอย่างกรณีที่มิใช่เรื่องร้ายแรงมาก แต่การขาดสติแม้ครู่เดียวก็อาจทำร้ายผู้อื่นจนถึงความเจ็บปวดและความตายได้ โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับเรื่องที่มีความเสี่ยงภัย หรือเป็นไปตามอำนาจของโทสะ
.
การมีชีวิตอยู่บนโลกก็เหมือนเราอยู่ท่ามกลางกระแสน้ำที่ท่วมท้นและพัดพา เมื่อขาดสติแล้วเราก็ไร้เครื่องป้องกัน พร้อมที่จะถูกกระแสนั้นพัดให้ไหลไปตามอำนาจของมัน กาย วาจา และใจก็จะเป็นไปอย่างไม่อาจกำกับควบคุม ทำให้เกิดการกระทำที่ประมาทส่งผลเสียต่อตนเองและผู้อื่นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
.
กระแสที่พยายามพัดพาเราอยู่ตลอดเวลาในการใช้ชีวิต ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว หมายถึง ตัณหา ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต อวิชชา ฯ
.
ท่านทรงตรัสว่า “สวนฺติ สพฺพธิ โสตา” โดย “สพฺพธิ” คือ ในอายตนะทั้งปวง ส่วน “สวนฺติ” ความว่า ย่อมไหลไป ย่อมไหลหลั่ง ย่อมเลื่อนไป ย่อมเป็นไป รวมกันจึงหมายถึง “ย่อมไหลไป ย่อมหลั่งไป ย่อมเลื่อนไป ย่อมเป็นไปในรูปทางจักษุ ในเสียงทางหู ในกลิ่นทางจมูก ในรสทางลิ้น ในโผฏฐัพพะทางกาย ย่อมไหลไป ย่อมหลั่งไป ย่อมเลื่อนไป ย่อมเป็นไปในธรรมารมณ์ทางใจ รูปตัณหา ย่อมไหลไป ย่อมหลั่งไป ย่อมเลื่อนไป ย่อมเป็นไปทางจักษุ สัททตัณหาย่อมไหลไป … ทางหู คันธตัณหาย่อมไหลไป … ทางจมูก รสตัณหาย่อมไหลไป … ทางลิ้น โผฏฐัพพตัณหาย่อมไหลไป … ทางกาย ธรรมตัณหาย่อมไหลไป ย่อมหลั่งไป ย่อมเลื่อนไป ย่อมเป็นไปทางใจ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในอายตนะทั้งปวง”
.
ความข้างต้นนี้หมายถึง การรับรู้โลกเป็นไปตามอายตนะทั้งหก ได้แก่ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ย่อมมีความหลงเพลิดเพลินในการรับรู้นั้น มีกระแส คือ ตัณหา ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต อวิชชา ฯ ไหลคล้อยไปกับการรับรู้เหล่านั้น ปรุงแต่งให้เกิดอารมณ์ ความคิด และการกระทำต่างๆ มากมายที่เป็นไปในอำนาจของกระแสและความลุ่มหลง
.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กระแสเหล่าใดในโลก สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น
เรากล่าวธรรมเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านี้อันปัญญาย่อมปิดกั้นได้” *(๑๕)
.
สติที่นำมาสู่ปัญญา เป็นเสมือนเขื่อนกำแพงที่ช่วยขวางกั้นกระแสจากการพัดพาเราไปสู่ความทุกข์และการก่อทุกข์ให้กับผู้อื่น ถ้าไม่มีสติแล้ว ปัญญาก็ไม่มี ความลุ่มหลงก็จะพาให้กาย วาจา และใจของเราก็จะไหลไปกับกระแสทั้งหลายทำให้เกิดความประมาท การกระทำที่สุดโต่ง การกระทำที่ไม่เหมาะสม การเบียดเบียนบั่นทอนตนเองด้วยการบีบคั้นหรือการแข่งดี
.
สติเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการมีชีวิตโดยปราศจากความเบียดเบียน เพราะว่า
“เมื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่ หิริและโอตตัปปะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสติและสัมปชัญญะ เมื่อหิริและโอตตัปปะมีอยู่ อินทรียสังวรชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ เมื่ออินทรียสังวรมีอยู่ ศีลชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรียสังวร” *(๑๖)
.
เมื่อไม่มีสติแล้ว หิริโอตตัปปะ ซึ่งหมายถึงความรู้ผิดชอบชั่วดีก็จะไม่มี เมื่อหิริโอตตัปปะไม่มี อินทรียสังวร คือการสำรวมระวังในการรับรู้ทั้งหลายก็จะไม่มี เมื่อนั้นแล้วก็ทำให้ ศีล คือการครองตนไม่ให้เป็นที่เดือดร้อนก็จะไม่มี หลังจากนั้นแล้วทั้ง สมาธิ และ ปัญญา ก็จะไม่มีตามไปด้วย
.
ดังนั้นเมื่อใดที่ขาดสติไป การรู้เคารพตนเองและผู้อื่นก็จะขาดไป เราก็จะขาดการสำรวมระวังในหู ตา ลิ้น จมูก กาย และใจ ทำให้หลงไปกับกระแสต่างๆ ที่พัดพาจิต เป็นผลทำให้เกิดความทุกข์ ความเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เพราะการใช้ชีวิตที่ขาดศีล สมาธิและปัญญา
.
สติจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องย้อนกลับมาทุกครั้ง เมื่อเราประมาทพลาดพลั้งทำให้ตนเองหรือคนอื่นเป็นทุกข์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องย้อนกลับมานับหนึ่งใหม่ เมื่อใดก็ตามที่เกิดปัญหาและไม่อาจหาทางออกไป เมื่อกลับมามีสติแล้ว เราก็จะสำรวมตนจนมีความสงบใจ การมีสมาธิก็จะเกิดขึ้น จิตมีความตั้งมั่น เมื่อนั้นปัญญาในการพัฒนาตนเองและการแก้ไขปัญหาก็จะเกิดขึ้นเองโดยมิต้องไปแสวงหาจากที่ใด
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ ๕๔

 

> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/
.
> > > สามารถสนับสนุนกิจกรรมและบทความ ผ่านการเข้าร่วมคอร์สของเรา
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/

 

*(๑) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๕  พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๒ วิภังคปกรณ์ ติกนิเทศ [๙๕๐]
*(๒) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต มหาวรรคที่ ๕ [๒๐๐]
*(๓) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑ ๕. จุลลโพธิชาดก ว่าด้วยความโกรธ [๑๓๗๖]
*(๔) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส [๙๔๙]
*(๕) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๕  พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๒ วิภังคปกรณ์ ติกนิเทศ [๙๕๘]
*(๖) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต มหาวรรคที่ ๕ [๑๙๘]
*(๗) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต พลสูตรที่ ๑ [๑๑๗]
*(๘) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต คาถาธรรมบท มลวรรคที่ ๑๘ [๒๘]
*(๙) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส [๒๒]
*(๑๐) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต มหาวรรคที่ ๕ [๑๙๓]
*(๑๑) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส [๒๘๐]
*(๑๒) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส มหาวิยูหสุตตนิเทสที่ ๑๓ ว่าด้วยทิฏฐิ [๖๐๖]
*(๑๓) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ๒. อุทุมพริกสูตร (๒๕) [๓๑]
*(๑๔) หนังสือ อิทัปปัจยตา คำบรรยายวันเสาร์ ในสวนโมกขพลาราม ภาคมาฆบูชา ประจำปี ๒๕๑๕ [หน้า ๒๓-๒๔]
*(๑๕) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [๗๐]
*(๑๖) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต สติวรรคที่ ๔ สติสูตร [๑๘๗]