ตามเรื่องราวในพระไตรปิฎก เมื่อพระอธิมุตตเถระ ถูกโจรจับตัวไปได้กล่าวว่า
.
“ดูกรนายโจร ทุกข์ทางใจย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ห่วงใยในชีวิต ความกลัวทั้งปวงอันเราผู้สิ้นสังโยชน์ (กิเลสที่ผูกมัดใจ) ล่วงพ้นได้แล้ว เมื่อตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพสิ้นไปแล้ว ความกลัวตายในปัจจุบันมิได้มีด้วยประการใดประการหนึ่งเลย ดุจบุรุษไม่กลัวความหนัก เพราะวางภาระแล้วฉะนั้น พรหมจรรย์ (การครองชีวิตปราศจากเมถุน) เราประพฤติดีแล้ว แม้มรรคเราก็อบรมดีแล้ว เราไม่มีความกลัวตายเหมือนบุคคลไม่กลัวโรคเพราะโรคสิ้นไปแล้วฉะนั้น…
.
“ภพทั้งหลายอันไม่น่ายินดีเราได้เห็นแล้วเหมือนบุคคลดื่มยาพิษแล้วคายทิ้งฉะนั้น บุคคลผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ไม่มีความถือมั่น เสร็จกิจแล้ว หมดอาสวะ (กิเลสอันหมักหมม) ย่อมยินดีต่อความสิ้นอายุเหมือนบุคคลพ้นแล้วจากการถูกประหารฉะนั้น บุคคลผู้บรรลุธรรมอันสูงสุดแล้ว ไม่มีความต้องการอะไรในโลกทั้งหมด ย่อมไม่เศร้าโศกในเวลาตาย ดุจบุคคลออกจากเรือนที่ถูกไฟไหม้ฉะนั้น
.
“สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งมีอยู่ในโลกนี้ก็ดี ภพที่สัตว์ย่อมได้ในโลกนี้ก็ดี พระพุทธเจ้าแสวงหาคุณอันใหญ่ยิ่งได้ตรัสไว้ว่า สิ่งทั้งหมดนี้ไม่เป็นอิสระ ผู้ใดรู้แจ้งธรรมข้อนั้นเหมือนดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ผู้นั้นย่อมไม่ยึดถือภพอะไร ดังบุคคลผู้ไม่จับก้อนเหล็กแดงอันร้อนโชน ฉะนั้น ฯ *[๒]
.
คนทั่วไปมักรักตัวกลัวตายเพราะความหมายมั่นต่างๆ ในชีวิตที่ผูกมัดตนเองไว้ในโลกบนความโง่เขลา เพราะไม่รู้จริงว่าสิ่งที่เราพยายามยึดมั่นถือมั่นไว้ มิว่าร่างกาย อารมณ์ ของรักของหวง ฯ ต่างผูกรัดไว้กับตน สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นอิสระ เป็นของทุกข์ร้อนดั่งเผาไฟมา การดูแลกายใจด้วยความโลภ โกรธ และหลง ไม่เรียกว่ารักตัวเองจริง เพราะไปยึดถือในสิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ไม่สิ้นสุด
.
คนที่เข้าใจความเป็นจริงของชีวิต ปล่อยวางจากความอยากและการยึดมั่น แลเห็นว่าแม้แต่ร่างกาย อารมณ์ ของรักของหวง ฯ ก็มิใช่สิ่งที่น่าพึงใจหมายมั่นไว้ให้เป็นทุกข์ ย่อมไม่กลัวตาย ย่อมไม่ตื่นตระหนกเมื่อจะต้องตาย เมื่อเผชิญกับปัญหาหรือแม้แต่โรคระบาดก็ไม่ประสาทเสีย
.
การหมั่นระลึกถึงความเป็นจริงในธรรมทั้งหลายก็จะช่วยให้เราคลายจากความวิตกต่างๆ ซึ่งนำมาสู่ความตึงเครียดและโรคทางจิตทั้งหลาย เพราะช่วยให้ใจเรานั้นไม่ตกอยู่ในร่องของความคิดที่ปรุงแต่งจากความไม่รู้หรืออวิชชา
.
ยังมีความจริงอีกหลายข้อที่เราสามารถน้อมระลึกเป็น “อนุสติ” เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจมิให้ความกลัวและกิเลสใดๆ ทำให้เราเป็นทุกข์เสียจนป่วยใจ หรือไม่สามารถรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บอันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตได้อย่างถูกต้อง ความจริงที่พึงระลึกไว้มีหลักสามประการ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง , ทุกขัง เป็นทุกข์และเสื่อมลง และ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน รวมเรียกว่า “ไตรลักษณ์” ผู้ไม่รู้ในประโยชน์ของการมองความจริงให้ถูกต้องก่อน ย่อมถูกความเชื่อ อารมณ์ และข้อมูลข่าวสารต่างๆ ชักนำลากพาไป
.
เมื่อใดกำลังตื่นตระหนก พึงกลับมารับรู้ความเป็นจริงของชีวิตอย่างมีสติ สัตว์โลกล้วนเป็นไปตามกรรม มิได้เป็นไปตามความอยากใคร่ได้มี ชีวิตมิใช่ของๆ เรา มีกรรมเป็นเจ้าของครอบครองมิได้ แต่เราสามารถก่อกรรมเพื่อให้พ้นไปจากสิ่งที่ไม่เป็นอิสระและทุกข์ร้อนเหล่านี้ได้ในตอนนี้ ในปัจจุบันนี้เท่านั้น
.
.
???? อ่านต่อได้ที่ บทความ “4 ธรรมะรับมือสรรพโรค”
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 51
เผยแพร่ มีนาคม 2563
https://www.dhammaliterary.org/ธรรมะรับมือสรรพโรค/