หากเราปรารถนาทำตนให้เกิดประโยชน์อย่างใหญ่ การเป็นผู้มักน้อยและรู้สันโดษคือสิ่งที่พึงกระทำ

 

มีชินแสหนุ่มผู้มีเมตตามาช่วยดูฮวงจุ้ยบ้านครูโอเล่ & สำนักงานสถาบันให้ฟรีในบ่ายวันหนึ่ง เมื่อย่างก้าวเข้ามาในรั้วบ้านแล้ว แลเห็นกองลังเอกสารหน้าบ้านและต้นไม้ที่เรียงราย จึงได้เอ่ยถามครูโอเล่ว่า “อ้าว รถครูจอดตรงไหนครับ”

ครูชี้ไปยังจักรยานสามล้อที่จอดตรงข้างๆ เขาและก็ยิ้ม “นี่ไงครับ รถผม”
ดังภาพ รถประจำตำแหน่งผู้อำนวยการและที่จอดรถ ในภาพนี้เป็นตอนก่อนจะปั่นไปส่งหนังสือ “ดังนั้น จึงเป็นครู” ซึ่งเกือบทุกรอบรถคันนี้เป็นดังผีเสื้อที่พาไปส่งความหวัง

_____

“บางคนเข้าใจผิดว่า ผมทำงานเช่นนี้ได้จะต้องมีฐานะร่ำรวย ทั้งที่จริงแล้วไม่ใช่เลย แม้มีรายได้เข้ามาก็ต้องใช้จ่ายเพื่อกิจกรรมต่างๆ เพราะไม่ต้องการขอทุนจากองค์กรใด เงินเหลือเก็บกับตัวไม่มากเท่าใด

“เมื่อเศรษฐกิจย่ำแย่ลงจนถึงจุดหนึ่งก็เริ่มไม่มีรายได้พอสำหรับการจ่ายค่าเช่าบ้าน แม้ประคองผ่านมาได้ แต่ผมก็เริ่มกลับมาตั้งคำถามตัวเอง

“เราต้องมีสำนักงานหลังใหญ่และจะต้องใหญ่ขึ้น เท่านั้นหรือ ?

“คำถามข้อนี้ ทำให้ตระหนักว่าที่ผ่านมา ผมหวังให้โครงการจะต้องใหญ่ขึ้น สำนักงานจะต้องใหญ่ขึ้น ความเป็นอยู่ จนถึงความเป็นครูโอเล่ จะต้องใหญ่ขึ้น ดีขึ้น เติบโตเป็นขั้นบันไดขึ้นไป ถือเป็นครั้งแรกที่ได้สำนึกกับตนเองว่า ผมแอบใฝ่หวังถึงการปีนป่ายสู่ความสำเร็จมากเพียงใด

“ผมสังเกตตัวเองว่า แม้ในภาษาที่ใช้ในการเขียนหรือการสื่อสารทางอักษร ผมมักจะติดคำว่า “ขี้น” คำว่า “ดี” และ “ดีขึ้น” ซึ่งสำนวนภาษากับคำที่ใช้บ่อยเช่นนี้ มักสะท้อนความเชื่อกับสิ่งที่คนเขียนใส่ใจ

“ความคาดหวังของผมถึงการดีขึ้น โตขึ้น ใหญ่ขึ้น อย่างนี้ ทำให้แบกรับต้นทุนแต่ละเดือนที่มาก เป็นภาระหนักหนา ไม่ยอมวาง แม้จะเจอพิษเศรษฐกิจอย่างไร มีเงินติดตัวเพียงหลักร้อยหรือพันต้นๆ ก็ยังอุตส่าห์กัดฟันสู้ต่อจนผ่านพ้นมาตลอดรอดฝั่ง ไม่ยอมถอย ไม่ยอมเคยลดขนาดให้เล็กลงมา จนกระทั่งภาระที่แบกหนักสะสมจนเป็นหนี้สิน

“ทุกข์จากการหมุนเงินชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ จนต้องยอมรับความจริง พร้อมๆ กับบทเรียนจากการฝึกนั่งสมาธิและเขียนภาวนาอย่างต่อเนื่องก็ผุดขึ้นมาเตือนใจ – การยอมแพ้ไม่ใช่เรื่องแย่อะไร การยอมถอยบ้างเป็นเรื่องที่ดี ชีวิตไม่จำเป็นต้องขึ้นที่สูงอย่างเดียว

“มันทำให้ผมนึกถึงภาพของหนังสือ ที่ตนแปลเมื่อสมัยหนุ่มน้อย เรื่อง “ดอกไม้และความหวัง” การตัดสินใจของหนอนน้อยที่ยอมแพ้จากการปีนป่ายขึ้นที่สูง และถอยกลับมาสู่การเริ่มต้นใหม่บนพื้นดิน…”

– บทที่ 5 : ครูคือผู้ล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ หน้าที่ 177

_____

“หากเราปรารถนาทำตนให้เกิดประโยชน์อย่างใหญ่ การเป็นผู้มักน้อยและรู้สันโดษคือสิ่งที่พึงกระทำ ความเป็นผู้มักน้อยนี้เองก็จะนำไปสู่การลดมานะของตนเองด้วย เพราะการตอบสนองความอยากได้ อยากเป็นอย่างไม่รู้จักพอ ย่อมนำมาสู่ความหยิ่งผยองและยึดถือในตัวตนของตน

“อาจารย์ประชาสอนความเป็นครูแก่ผมให้ซึมซับเป็นแบบอย่าง ลดละวางตัวตนแล้วดูแลเด็กหนุ่มผู้โอหังคนนี้ มิได้วางตนไว้บนหิ้งให้คนอื่นดูแลและเคารพเลย แต่เป็นฝ่ายดูแลเสียมากในระหว่างที่อยู่กับท่านนั้น

“แม้ท่านอาจจะไม่ได้สอนเรื่องสังคม กระบวนทัศน์ใหม่ หรือศาสตร์ยากๆ ต่างๆ ให้ผมเท่าไร แต่บทเรียนชีวิตอันง่ายงาม ของผู้งามด้วยความเป็นอยู่ที่ง่ายนี้ เชื่อว่ามีความสำคัญต่อชีวิตของผมเอง มากกว่าในเรื่องเหล่านั้นมากมาย และมันคงสามารถเป็นคำจำกัดความของครูที่แท้ ในคำๆ เดียวว่า “ผู้สันโดษ””

– บทที่ 5 : ครูคือผู้ล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ หน้าที่ 189

🦋 หนังสือ “ดังนั้น จึงเป็นครู”

ราคาเล่มละ 290 บาท รวมค่าส่งในไทย
พิมพ์เพื่อบริจาค 500 เล่ม และจำหน่ายเพียง 500 เล่มเท่านั้น

📒 ติดต่อสั่งซื้อได้ที่ ไลน์ @khianpianchiwit
หรืออินบ็อกเพจเฟสบุ๊ค “สถาบันธรรมวรรณศิลป์