ความประทับใจ “เขียนค้นตน” จากผู้เรียน รุ่นที่ ๒๘ (๑๐)

 

 

“ความรู้สึกที่ได้เขียนหัวข้อต่างๆ ที่หลากหลายทำให้ได้ค้นพบปมแห่งปัญหา ในขณะเขียนเมื่อปล่อยใจให้เป็นอิสระและเขียนโดยไม่มีความกลัวใดๆ สภาวะต่างๆ จะหลั่งไหลออกมา ทำให้เกิดการเรียนรู้ ได้เห็นทั้งข้อดีและข้อด้อยของตัวเอง ยิ่งเขียนมาก ยิ่งได้ค้นลึกลงในในจิต ในใจ บางเหตุการณ์ได้ลืมไปแล้ว แต่ขณะเขียนจู่ๆ เหตุการณ์นั้นก็ปรากฏขึ้นมา ทำให้ได้ใคร่ครวญเรื่องราวต่างๆ อีกครั้ง เป็นการใคร่ครวญที่อยู่บนพื้นฐานของการพิจารณาอย่างละเอียด ก่อให้ปัญญา เห็นปมปัญหาและสามารถแก้ไขจนได้คำตอบในที่สุด หลังจบการเขียน..เกิดความโล่ง โปร่ง เบาสบายเหมือนได้ปลดล๊อคความคับข้องใจให้บรรเทาเบาบางลง เหมือนได้พูดคุยกับเพื่อนที่รู้ใจที่พร้อมจะรับฟังทุกเรื่องราว ทุกอารมณ์อย่างไม่มีเงื่อนไข
.
” ได้รู้จักตัวเองจากการอบรมในการเขียนหัวข้อต่างๆ ได้พบทั้งข้อดีและข้อด้อย ข้อที่ดีก็ทำให้มีกำลังใจ ส่วนข้อด้อยก็เห็นชัดเจนขึ้นจากการเขียน โดยเฉพาะเรื่องการหลงผิดคิดว่า ตัวเองเก่ง ตัวเองแน่และมีความมั่นใจเกิน 100 ทำให้ได้บทเรียนจากการอหังการเกินการของตัวเอง ทำให้ยอมรับว่า..เราเก่งบางเรื่อง ถนัดบางอย่าง ไม่ได้เก่งทุกเรื่องเสมอไป เมื่อยอมรับความเป็นได้ก็กลับมาพิจารณาตัวเองและแก้ไขความหลงผิดต่างๆ ยอมรับว่า เมื่อเราไม่สามารถทำอะไรบางอย่างให้ดีได้ก็ต้องยอมรับข้อจำกัดนั้น และไม่ต้องลงโทษตัวเอง แค่เปิดใจยอมรับตามความเป็นจริงก็เท่านั้นเอง
.
“ข้อคิดที่ได้จากการเขียน ทำให้เห็นตัวเองอย่างชัดเจนโดยไม่ต้องให้ใครมาบอก การเขียนที่ซื่อสัตย์กับตัวเองจะทำให้ได้บทเรียนอันล้ำค่า หากถึงตอนที่จะปอกเปลือกและลอกคราบตัวเองก็ต้องซื่อสัตย์มองตามความเป็นจริง เมื่อนั้นจะได้เห็นตัวเองอย่างแจ่มชัด บทเรียนที่ได้คือ การเขียนในหลายๆ เรื่องได้ช่วยเยียวยาและรักษาแผลใจให้เราได้อย่างน่าอัศจรรย์ บางเรื่องเป็นความเจ็บปวดในใจที่ไม่สามารถบอกเล่าหรือขอความเห็นจากใครได้ เมื่อได้ใช้วิธีการเขียนโดยใช้มือที่ไม่ถนัดทำให้เกิดความคิด ใคร่ครวญอย่างช้าๆ ทำให้เห็นปมปัญหาอย่างชัดเจน เหมือนได้คุยกับคนที่เราไว้ใจที่สุดและคนๆ นั้นก็เป็นที่เข้าใจเราที่สุด ทำให้เราได้พบทางออกของปัญหาได้
.
คุณปาริชาติ (เล็ก) อาชีพ แม่บ้าน
.
.
“คอร์สนี้เป็นคอร์สที่ให้ความรู้สึก ว่า สามารถเข้าถึงตัวเองได้มากกว่าทุกคอร์สที่ผ่านมา เห็นการสะท้อนของตนเอง ที่เหมือนกำลังมองอีกคน มากกว่า การรู้สึกว่าตัวเองวกำลังจมอยู่ในเนือหาเรื่องราว เห็นตัวเองได้ด้วยตัวเองมากกว่าทุกๆครั้งที่ผ่านมา รู้สึกประทับใจครู ที่มีความสามารถพิเศษ (บุ๋นบู๊) สามารถรู้จริต รู้ช่องมุม สามารถเป็นผู้ชี้ทาง แง้มประตู ให้เรามองเห็นแส่งเห็นทางไปต่อ เข้าใจตนเองด้วยตนเอง รู้สึกซาบซึ้งในตัวครู จิตวิญญานการเป็นผุ้ให้ ผู้ช่วยเหลืออย่างแท้จริงอย่างที่ไม่เคยตระหนักมาก่อน เท่ากับครั้งนี้ เราเพียงแค่บันทึกและสะท้อน ทบทวน แต่ครูต้องทำหลายอย่าง กับหลายๆคน หลายๆบันทึก รู้สึกถึงการเสียสละทีมากมาย โดยให้ตัวเองพยายามพึ่งตนเองโดยมองย้อนกลับทบทวน สิ่งที่ผ่านออกมาจากบันทึกว่าเป็นเห็นอะไร ในนั้นบ้าง เมื่อถอยออกมามอง ไม่คลุกวงใน รู้สึกอย่างไร จริงๆ
.
“รู้สึกประทับใจกระบวนการ ตั้งแต่บันทึกระดับแรก เช่น รู้สึกว่าการได้วาดก่อน เวลามาเขียน แล้วเหมือนได้ขยายความที่ไหลลื่นขึ้น เป็นการเติมเต็ม ซึ่งกันและกัน ภาพช่วยสร้างขอบเขต กรอบพื้นที่ ให้ชัดเจน ไม่เกินเลย เขียนไม่หยุดปากกาสร้างรายละเอียด ภายใน และภาพช่วยย้ำเตือนคุณสมบัติที่เหมือนหรือมีในสิ่งนั้นๆให้เห็นชัดเจนมากขึ้น รู้สึกเข้าถึงตนได้มากขึ้น ตั้งแต่บันทึกระดับแรก รู้สึกถึงการขยายการเข้าถึง โดยผ่าน“เครื่องเชื่อมต่อ”ต่างๆ เช่น ผ่านสัญลักษณ์ ทั้งสิ่งมีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิต เป็นเครื่องมือสะท้อน ให้เห็นตัวเองหลากหลายด้าน อย่างไหลลื่น รู้สึกตัวเองแท้จริงไม่ได้มีข้อจำกัดใดๆมากมาย อย่างที่เคยกรอบความคิดตนไว้ มองเป็นแต่เพียงมุมหรือด้านต่างๆ ที่มีอยู่ กำลังถูกมองรอบ เปลือกขั้นซ้อนตัวแต่ละชั้นกำลังถูกลอกให้เห็นรายละเอียดที่มีอยู่ ให้ถูกเห็นได้อย่างชัดแจนขึ้น
.
“เห็นข้อดี ข้อเสีย รู้สึกยอมรับแบบเป็นกลางๆ มากขึ้น (โดยเป็นไปเอง) แม้แต่ข้อเสีย รู้แล้วก็ไม่ได้รู้สึกต้องปฎิเสธอะไร ต้องไม่ชอบอะไร ในข้อเสียนั้น เหมือนเข้าใจ ว่า การเป็นเช่นนั้น ก็เพราะมีเหตุปัจจัย ที่เกื้อหนุนให้เป็นเช่นนั้น
.
“ครั้งนี้ชอบทุกหัวข้อที่เลือก ระดับ1: “ฉันเป็นคนอย่างไร” , “มองตัวเองอย่างศิลปิน” ระดับ2: “สองด้านตัวตน” , “ฉันภูมิใจเมื่อ…” , “ผู้มีรักอันกว้างใหญ่”, “สนทนากับธรรมชาติ” , “ฉันเหมือนเด็ก” , “ลำนำคำชื่นชม” , “ดั่งต้นไม้” , “ผู้เก็บเกี่ยว” , “ตัวตนที่ถูกทอดทิ้ง” ระดับ3: “ฝันกลางวัน” รู้สึกเหมือนแต่ละหัวข้อคือจิ๊กซอว์ที่เติมต่อซึ่งกันและกัน ให้การมองเห็นภาพ ชัดเจนมากขึ้น เรื่อยๆ แต่ละข้อทำให้ตัวเราเห็นตัวเราในหลากหลายด้าน บางด้านก็เป็นคุณค่าแท้ที่ปรากฏซ้ำแล้วซ้ำเล่าแม้ในบันทึกหัวข้อที่ต่างกัน เป็นหลักฐานพิสูจน์ให้ลงใจในแก่นแท้คุณค่าแห่งตน(แม้จะคิดว่ามีน้อย หรือไม่มีแล้ว)
.
“ที่ชอบเป็นพิเศษ คือ หัวข้อ “ผู้มีรักอันกว้างใหญ่” ที่ทำให้พบ Little Me Angel จากการวาดระบายของตนเอง สามารถดูภาพนี้ แล้วน้ำตาไหลได้ ลายเส้นง่ายๆใช้เวลาไม่นานแต่เหมือนถูกกลั่นมาอย่างละเอียดจากภายใน นางฟ้าประจำตัวที่ยังคงมีอยู่ในตัวเสมอมาเพียงแต่ถูกกีดกั้นบดบังไม่ให้แสดงตัวออกมาอย่างเหมาะสม และ หัวข้อ “ฉันเหมือนเด็ก” ทำให้ร่าเริง เบิกบาน สดชื่น ยิ้มได้ เมื่อระลึกถึง และเป็นที่น่าดีใจที่พบว่า ยังคงมีเชื้อพันธุ์ ร่องรอยพฤติกรรม ฝังอยู่ภายในตัวอยู่มากมาย หัวข้อ ฝันกลางวัน สนุกและอิสระมาก เมื่อถูกสะท้อนจึงพบว่า นี่หรือคือความต้องการจริงๆของเรา
.
“จากการอบรมนี้ทำให้ เห็นคุณค่าของตัวเอง เห็นเด็กน้อยภายในยังคงอยู่ แต่ไม่ได้ถูกสื่อสาร หากเราไม่ได้สร้างช่องทางเชื่อมโยงถึงเขา ให้เขาได้มีโอกาสออกมา เช่น วาดระบาย เขียนมือข้างไม่ถนัด สลับการสนทนา คุณสมบัติที่ดีงามมากมายยังมีอยู่ และมีอยู่มาก เพียงแต่เหมือนถูกบดบังจากม่านหมอกแห่งความคิด ความปรุงแต่ง กับสิ่งที่ทำให้ทุกข์ การโฟกัสในสิ่งที่ขาด มากกว่าจะตระหนักว่า มีเพียงพออยู่แล้ว คุณค่าที่ดีงามต่างๆถูกละเลยไป หลงลืมไป แม้กระทั่งไม่เชื่อว่าเคยมี พอตระหนักรู้จากบันทึก มันเกิดกำลังใจ เป็นความรู้สึกภายในที่เกิดขึ้นมาเอง เข้มแข็งขึ้นมาเอง
.
“เห็นตัวเองที่ผ่านมาเอาใจไปไว้ที่คนอื่นโดยส่วนมาก เอาใจใส่กับเรื่องราวต่างๆ ซึ่งอันที่จริงล้วนแต่จบลงไปแล้วในแต่ละช่วงเวลานั้นๆ แต่กลับถูกยื้อให้กลับคิดวนเวียนซ้ำไปมาด้วยตัวเองอยู่อย่างนั้น
เห็นตัวเองมีคุณสมบัติของการเป็นผู้ให้ที่สูงมาก จนแปลกใจ ว่าทำไมจึง มีมากขนาดนั้น และแสดงออกมาในหลากหลายบันทึกในแบบเดียวกัน แค่ต่างกรรมต่างวาระ คล้ายเป็นการยืนยันให้ตัวเองเชื่อเสียที
รู้สึกถึงการเอาใจใส่ สิ่งที่ควรเอาใจใส่จริงๆ เป็นความรู้สึกที่ดี เพราะสังเกตเห็น ความทุกข์ จากความคิดสะเปะสะปะลดน้อยลง การให้ค่า กับสิ่งที่ไม่ควรให้ค่า ลดน้อยลง
.
“การทำงาน(ภายใน) กับตัวเองเป็นสิ่งสำคัญเหมือนเมื่อเราเข้าใจตนเองมากขึ้นเราจะไม่ค่อยรู้สึกถือสาหาความกับคนอื่นมากนัก มองว่าเป็นเพียงอารมณ์ อาการหลงยึด ดังนัน้จึงควรแบ่งเวลาหมั่นบันทึก ทบทวน ด้วยตนเองเสมอๆ การละตัวตน การก้าวข้าม ที่ครูชอบสะท้อนให้บ่อยๆ เป็นโจทย์ที่เก็บไว้ระลึกในใจเสมอ ความอิ่มเต็มหรือความพอในเรา ทำให้เราชัดเจน กับสิ่งที่เคยคิดว่า มีน้อย ไม่เท่าเทียมคนอื่น ดูด้อยค่าลงไป เพราะเรารู้สึกมีพอไม่ได้ขาด (มองในสิ่งที่เรามีมากกว่า ไม่มี)
เมื่อทราบความต้องการที่แท้จริง ของตัวเอง มันเกิดความรู้สึก ขึ้นมา ว่าความต้องการที่คนอื่นมีต่อเรา มันไม่ได้สำคัญกว่า ที่เราต้องการอะไรจริงๆ
.
“ความรู้สึกไม่มีเหมือนคนอื่นก็ไม่ได้สั่นสะเทือนเราเหมือนก่อน เพราะเกิดความรู้สึกที่ว่า ก็เราไม่ได้อยากเป็นหรือมีเหมือนเขาสักหน่อย มันสำคัญกับเขา เขาก็ไขว่คว้าหามา แต่มันไม่ได้สำคัญกับเรา เราก็ไม่ได้กระตือรือร้น อยากทำอะไรให้ได้มา มันก็ไม่แปลกอะไรที่เรากับเขาจะมีจะเป็นไม่เท่ากัน
.
“กลับมาที่การละตัวตน รู้สึกเข้าถึงความหมายมากขึ้น รู้สึกเขียนบันทึกแบบจากใจ ไหลลื่นออกมามากขึ้น รู้สึกอะไร นึกอะไรขึ้นได้ในตอนนั้นก็บันทึกไปเช่นนั้นตรงๆ”
.
คุณ Jinnutcha (leng) อาชีพ พนักงานบริษัทเอกชน
.
.
ความประทับใจ และ บทเรียน จากการอบรม “เขียนค้นตน” ในหลักสูตร #เขียนเปลี่ยนชีวิต กึ่งออนไลน์ รุ่นที่ ๒๘ การอบรมการเขียนบันทึกเพื่อการเข้าใจตัวตน ติดตามการอบรมและบทความได้ที่ www.dhammaliterary.org